ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 182) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขรวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday December 29, 2009 10:28 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๑๘๒)

เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขรวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของ

ผู้มีเงินได้ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย

ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพตามมาตรา ๔๗(๑)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร

--------------------------------------------------------------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๗(๑)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๗) พ.ศ.๒๕๕๒ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขรวมทั้งจำนวนคนพิการและคนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา สามีหรือภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ บิดามารดาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ หรือบุคคลอื่นที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ คนละ ๖๐,๐๐๐ บาท โดยบุคคลดังกล่าวต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพ ตามมาตรา ๔๗(๑)(ฎ) แห่งประมวลรัษฎากร ให้หักลดหย่อนได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข รวมทั้งจำนวนคนพิการและ คนทุพพลภาพในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อน สำหรับบุคคลซึ่งเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือบุคคลซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ และอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้

(ก) บิดามารดา ของผู้มีเงินได้

(ข) บิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

(ค) สามีหรือภริยา ของผู้มีเงินได้

(ง) บุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้

(จ) บุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้

(ฉ) บุคคลอื่นนอกจาก (ก) (ข) (ค) (ง) และ (จ) ที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ จำนวน ๑ คน

กรณีทุพพลภาพ ต้องเป็นกรณีที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม (ก) (ข) (ค) (ง) (จ) และ (ฉ) มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน

(๒) บุคคลตาม (๑) ที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท ในปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อน โดยไม่รวมถึงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา ๔๒ แห่งประมวลรัษฎากร

กรณีบุคคลตาม (๑) เป็นทั้งคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ และเป็นคนทุพพลภาพ ให้ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว

(๓) ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนคนพิการซึ่งเป็นบุคคลตาม (๑) ผู้มีเงินได้นั้นต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการโดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษีให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน

(๔) ผู้มีเงินได้ที่จะใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพซึ่งเป็นบุคคลตาม (๑) ผู้มีเงินได้นั้นจะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้มาแสดงเพื่อขอใช้สิทธิหักลดหย่อน

(ก) ใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าบุคคลตาม (๑) มีภาวะจำกัดหรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพหรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑๘๐ วัน และใบรับรองแพทย์ดังกล่าวต้องเป็นใบรับรองแพทย์ที่ออกในปีภาษีที่ขอใช้สิทธิหักลดหย่อน

กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าว ตกลงกันเพื่อยินยอมให้ผู้มีเงินได้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้ และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยผู้มีเงินได้ทุกคนที่มีใบรับรองแพทย์ดังกล่าวเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น เพื่อให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้ใช้สิทธิหักลดหย่อนคนทุพพลภาพ ใช้เป็นหลักฐานในการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูตามประกาศนี้

(ข) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุคคลตาม (๑) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ โดยผู้รับรองต้องเป็นสามีภริยาหรือบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมหรือหลาน หรือบิดามารดา หรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือพี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน หรือปู่ย่าตายาย หรือลุงป้าน้าอา ของบุคคลตาม (๑) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ หรือกำนันผู้ใหญ่บ้าน หรือบุคคลที่เป็นสมาชิกขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องที่ที่บุคคลตาม (๑) ซึ่งเป็นคนทุพพลภาพอยู่อาศัย โดยหนังสือรับรองดังกล่าว ผู้รับรองต้องรับรองของแต่ละปีภาษีที่ผู้มีเงินได้ได้ใช้สิทธิหักลดหย่อนผู้รับรองตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ ได้ไม่เกิน ๑ คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด

(๕) การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพตามประกาศนี้ให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ ทั้งนี้ การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของวรรคสองของ (๑) ด้วย

(๖) กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทยให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้เฉพาะคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย

ข้อ ๒ บุคคลตามข้อ ๑ (๑) ที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนตามประกาศนี้จะต้องเป็นบุคคลที่มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร

ข้อ ๓ การหักลดหย่อนตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องแนบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.๐๔) ซึ่งมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้ และแนบหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(๑) กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการให้แนบภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการของบุคคลที่ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิหักลดหย่อนพร้อมทั้งภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการด้วย

(๒) กรณีหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ให้แนบหลักฐานดังต่อไปนี้

(ก) ใบรับรองแพทย์ตามข้อ ๑(๔)(ก)

(ข) หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.๐๔-๑) ตามข้อ ๑(๔)(ข) โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่แนบท้ายประกาศนี้

ข้อ ๔ กรณีผู้มีเงินได้ซึ่งมีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพตามหลักเกณฑ์ตามข้อ ๑ และคนพิการหรือคนทุพพลภาพดังกล่าวเป็นบุตรตามข้อ ๑ (๑) (ง) และ (จ) และผู้มีเงินได้และสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้และอยู่ร่วมกันตลอดปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว โดยภริยามีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑) แห่งประมวลรัษฎากร และใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ซึ่งสามีและภริยาต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ได้คนละ ๓๐,๐๐๐ บาท สำหรับบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพนั้น ตามมาตรา ๕๗ เบญจ (๒) แห่งประมวลรัษฎากร สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต้องแนบหลักฐานดังต่อไปนี้ พร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(๑) ภาพถ่าย แบบ ล.ย. ๐๔ ของผู้มีเงินได้ตามข้อ ๓ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น

(๒) ภาพถ่ายหลักฐานตามข้อ ๓ (๑) และ (๒) (ก) และ (ข) ของผู้มีเงินได้ ซึ่งสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ได้ลงลายมือชื่อรับรองภาพถ่ายนั้น

ประกาศ ณ วันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

วินัย วิทวัสการเวช

(นายวินัย วิทวัสการเวช)

อธิบดีกรมสรรพากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ