พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 446) พ.ศ.2548

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday January 17, 2006 14:00 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

                              พระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 446)
พ.ศ. 2548
_____________________
ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.
ให้ไว้ ณ วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2548
เป็นปีที่ 60 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ประกาศว่า
โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 446) พ.ศ. 2548”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น (38) ของมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกา
ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500
“(38) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร
นายกรัฐมนตรี
_________________________________________________
หมายเหตุ :-เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เป็นธนาคารที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจทางการเงินและประกอบกิจการอื่นให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลามซึ่งห้ามมิให้ดำเนินธุรกิจทางการเงินที่ผูกพันกับดอกเบี้ย ธนาคารจึงต้องดำเนินการจัดหาสิ่งที่ลูกค้าต้องการทั้งสินทรัพย์หมุนเวียนและอสังหาริมทรัพย์แทนการให้เป็นตัวเงิน ทำให้การทำธุรกรรมการให้สินเชื่อเพื่อการซื้ออสังหาริมทรัพย์เกิดภาระภาษีธุรกิจเฉพาะค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์ถึงสองครั้งเป็นเหตุให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมสูงกว่าการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของลูกค้าอันเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และเป็นการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สมควรยกเว้นอากรแสตมป์ให้แก่ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เฉพาะการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้รับโอนเนื่องจากการให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 122 ตอนที่ 127 ก วันที่ 30 ธันวาคม 2548)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ