ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 186) เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

ข่าวการเมือง Tuesday June 8, 2010 17:04 —ข้อบังคับและประกาศภาษีสรรพากร

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร

เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ ๑๘๖)

เรื่อง กำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

-------------------------------------------

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๕๐ ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๒๑ อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดแบบหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ใช้ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังต่อไปนี้

ข้อ ๑ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ผู้จ่ายมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมิน ตามข้อ ๑๗/๑ ของกฎกระทรวง ฉบับที่ ๒๗๓ (พ.ศ. ๒๕๕๓) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ ลงวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๓ ต้องออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย จำนวนสามฉบับมีข้อความตรงกันนั้น อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบท้ายประกาศนี้

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามวรรคหนึ่ง ต้องมีข้อความแต่ละฉบับ ดังนี้

(๑) ฉบับที่ ๑ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย / สำเนาใบเสร็จรับเงิน มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้ขาย) ใช้แสดงพร้อมแบบแสดงรายการนำเข้า ส่งออกอัญมณีที่ยังมิได้เจียระไนต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร เพื่อผ่านพิธีการศุลกากรขาออก ขณะเดินทางออกนอกประเทศไทย”

(๒) ฉบับที่ ๒ สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย / สำเนาใบเสร็จรับเงิน มีข้อความว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้ขาย) เก็บไว้เป็นหลักฐาน”

(๓) ฉบับที่ ๓ สำเนาหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย / ใบเสร็จรับเงิน มีข้อความว่า “สำหรับผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย (ผู้ซื้อ) เก็บไว้เป็นหลักฐาน”

ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำสำเนาคู่ฉบับไว้ เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับออกใบแทนในกรณีที่หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ที่ออกให้แก่ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว แต่ชำรุด สูญหาย โดยการออกใบแทนให้ใช้วิธีถ่ายเอกสารหรือพิมพ์เอกสารจากเครื่องคอมพิวเตอร์ ในกรณีจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และมีข้อความว่า “ใบแทน”

หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องมีหมายเลขลำดับของหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย และหมายเลขลำดับของเล่ม เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ได้จัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นเล่มจะไม่มีหมายเลขลำดับของเล่มก็ได้

การลงชื่อของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย จะใช้วิธีประทับลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายด้วยตรายาง หรือจะพิมพ์ลายมือชื่อผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย โดยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ได้มีการเก็บลายมือชื่อไว้ (SCAN) ก็ได้

ข้อ ๒ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ ๑ ต้องทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องมีคำแปลภาษาไทยกำกับ ส่วนตัวเลขให้ใช้เลขไทยหรืออารบิค

ข้อ ๓ ผู้ใดประสงค์จะทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายเป็นอย่างอื่นนอกจากที่กล่าวในข้อ ๑ และข้อ ๒ ต้องยื่นคำขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ให้ปฏิบัติตามนั้นได้

ข้อ ๔ การออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามข้อ ๑ ข้อ ๒ และข้อ ๓ ให้ถือเป็นการออกใบรับตามมาตรา ๑๐๕ แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อ ๕ ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๓

วินัย วิทวัสการเวช

(นายวินัย วิทวัสการเวช)

อธิบดีกรมสรรพากร


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ