เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๗๙)
เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
ตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร
------------------------------------
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๐) พ.ศ. ๒๕๓๔ อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความใน (ก) และ (ข) ของวรรคสองของ (๔) ของข้อ ๒ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๔๒) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๖๓) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(ก) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่กระทำกับลูกหนี้ของสถาบันการเงิน โดยได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และได้กระทำภายในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓
(ข) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้อื่นที่กระทำกับลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น โดยนำหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนดมาใช้โดยอนุโลม และเป็นหนี้ที่ต้องดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด และได้กระทำภายในวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๓”
ข้อ ๒ ให้ยกเลิกคำนิยาม “สถาบันการเงิน” ของข้อ ๒ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๔๒) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๖๓) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “ใน(ก) และ (ข) ของวรรคสอง
“สถาบันการเงิน” หมายความว่า
(๑) ธนาคารออมสินตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารออมสิน
(๒) บรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย
(๓) บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยตามกฎหมายว่าด้วยบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย
(๔) บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์
(๕) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(๖) สถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม
(๗) นิติบุคคลอื่นที่อธิบดีประกาศกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
“เจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า เจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการเจรจาร่วมกับสถาบันการเงินในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่ลูกหนี้ และได้ทำความตกลงเป็นหนังสือร่วมกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นสถาบันการเงิน
“ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน” ให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย
“ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น” หมายความว่า ลูกหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ซึ่งเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินด้วย และให้หมายความรวมถึงผู้ค้ำประกันของลูกหนี้ด้วย
ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความใน (จ) ของวรรคสองของ (๔) ของข้อ ๒ ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๔๒) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ ๑๕๕) เรื่อง การกำหนดภาษีซื้อที่ไม่ให้นำไปหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา ๘๒/๕(๖) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(จ) การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรของบริษัทมหาชนจำกัด หรือบริษัทจำกัด ที่ได้โอนกิจการบางส่วนระหว่างกันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้ออกตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๘๔) พ.ศ. ๒๕๕๒ และพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๔๙๖) พ.ศ. ๒๕๕๓”
ประกาศ ณ วันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๓
วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร