ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ข่าวการเมือง Thursday October 25, 2007 12:02 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

                                        ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง 
เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 236(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 5 และมาตรา 10(2) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 มาตรา 49 มาตรา 50 และมาตรา 162 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และมาตรา 51 มาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ประกอบกับมติคณะกรรมการเลือกตั้ง ครั้งที่ 88/2550 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2550 คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงออกประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไว้ดังนี้
ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2550"
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับนับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
ข้อ 3 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละครั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ดังนี้
(1) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแต่ละคนที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
(2) จำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้งแบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วน
ข้อ 4 ในการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ะครั้ง ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณา ประกอบด้วย
(1) ดัชนีราคาผู้บริโภคตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์
(2) อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำตามประกาศของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
(3) ราคาวัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการใช้ในการหาเสียง
(4) ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง
(5) อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งเห็นสมควร
ข้อ 5 เมื่อมีการประกาศผลการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประชุมหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง เพื่อกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและของผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ทั้งนี้ ภายในสามเดือนนับแต่วันที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครบจำนวนในการเลือกตั้งทั่วไปดังกล่าว
ข้อ 6 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง นำผลการหารือตามข้อ 5 มาประกอบการพิจารณาในการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
ข้อ 7 ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนจะใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเงินที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดตามข้อ 6
ข้อ 8 พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนในเขตเลือกตั้งใดเลือกตั้งหนึ่งที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครแบบสัดส่วนแต่ละเขตเลือกตั้ง ได้ไม่เกินจำนวนเงินตามข้อ 7 คูณด้วยจำนวนผู้สมัครที่พรรคการเมืองนั้นส่งสมัครรับเลือกตั้งแบบสัดส่วนและใช้จ่ายได้อีกไม่เกินร้อยละยี่สิบของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนทุกเขตเลือกตั้งรวมกัน
ในกรณีที่ผู้สมัครแบบสัดส่วนในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดได้ใช้จ่ายไปเพื่อการเลือกตั้งเป็นจำนวนเท่าใด ให้นับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองด้วย ซึ่งรวมแล้วต้องไม่เกินจำนวนเงินตามวรรคหนึ่ง
ข้อ 9 ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 ที่บุคคลใดๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน หรือนำมาให้ใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยความยินยอมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นด้วย ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนปกติในท้องที่นั้นๆ
ข้อ 10 การใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีผลใช้บังคับในระยะเวลา ดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปอันเนื่องมาจากการครบอายุของสภาผู้แทนราษฎรให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่เก้าสิบวันก่อนวันครบอายุจนถึงวันเลือกตั้ง
(2) ในกรณีที่เป็นการเลือกตั้งอันเนื่องมาจากเหตุอื่นนอกจาก(1) ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจนถึงวันเลือกตั้ง
ข้อ 11 กรณีการดำเนินการของรัฐในการสนับการเลือกตั้ง ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 ไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งตามข้อ 7 และข้อ 8
ข้อ 12 ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใด ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่จำนวนเงินไม่เกินหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายตามข้อ 7
ข้อ 13 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน โดยรับสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน โดยรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เฉพาะตำแหน่งที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละยี่สิบ ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ประสงค์จะลงคะแนน โดยรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้จำนวนเงินไม่เกินหนึ่งในสองของค่าใช้จ่ายตามข้อ 7
ข้อ 14 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ตามมาตรา 88 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติปรกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้ซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 เนื่องจากผู้สมัครได้รับคะแนนเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น หรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน โดยรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ เฉพาะตำแหน่งที่ได้รับคะแนนน้อยกว่าร้อยละยี่สิบของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือไม่มากกว่าจำนวนบัตรเลือกตั้งที่ไม่ประสงค์จะลงคะแนน ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้จำนวนเงินไม่เกินหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายตามข้อ 7
ประกาศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2550
(นายอภิชาต สุขัคคานนท์)
ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ