๒. นโยบายเศรษฐกิจ
๒.๑ นโยบายด้านการคลัง
(๑) เร่งรัดการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีผลต่อการยกระดับรายได้ของประชาชนและหยุด การทรุดตัวทางเศรษฐกิจ โดยคงภาวะการขาดดุลการคลังต่อไปอีกระยะหนึ่ง ในกรอบการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพและวินัยการคลังที่เหมาะสม และจะปรับนโยบายการคลังให้เข้าสู่การคลังที่สมดุล เมื่อเศรษฐกิจสามารถขยายตัวขึ้นมารองรับได้อย่างเพียงพอ
ในการแก้วิกฤตเศรษฐกิจนี้ รัฐบาลจะจัดทำงบประมาณ โดยยึดยุทธศาสตร์ การพัฒนาประเทศเป็นที่ตั้ง และจะปฏิรูประบบและกระบวนการจัดสรร พร้อมทั้งจัดทำระบบ การเบิกจ่ายงบประมาณใหม่ โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ที่รัดกุม และประเมินผลได้อย่างต่อเนื่อง และทันต่อเหตุการณ์ โดยปรับลำดับความจำเป็นเร่งด่วนในการใช้งบประมาณให้เหมาะสม และปรับ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น และไม่เป็นผลในการกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันให้ขยายตัว ลดการลงทุนที่มี มูลค่าการนำเข้าสูงลดรายจ่ายที่เป็นภาระต่อประชาชน และนำงบประมาณที่ปรับลดไปลงทุนในโครงการและกิจกรรมที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานสร้างรายได้ทันทีตามเป้าหมายที่ชัดเจน
(๒) ปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นภาคเศรษฐกิจจริง ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ และเป็นพื้นฐานในการปฏิรูปโครงสร้าง ทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต พร้อมทั้งสนับสนุนการอบรม การระดมลงทุน และการสร้าง ผู้ประกอบการใหม่ ทั้งนี้ จะปรับโครงสร้างภาษีอากร ทำแผนที่ภาษีและวางระบบการจัดเก็บที่ประหยัด สะดวก และโปร่งใสสำหรับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะจะขจัดการตีความซ้ำซ้อน ลดอำนาจผู้จัดเก็บสร้างความ ชัดเจน และโปร่งใส เพื่อขจัดการฉ้อราษฎร์บังหลวง
(๓) บริหารการคลังอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยเฉพาะการรักษาวินัยการคลังในการ ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ จะจัดทำแผนการบริหารทรัพย์สินและหนี้สินสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และจะกู้เงินเฉพาะเพื่อการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างฐานรายได้ให้แก่ ประชาชนและภาคเอกชนเป็นหลัก รวมทั้งเพื่อสร้างความมั่นคั่งให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน ๒.๒ นโยบายการเงิน สถาบันการเงิน และตลาดทุน
(๑) ดำเนินนโยบายการเงินที่เอื้อต่อการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเพื่อให้เกิด การขยายตัวของภาคธุรกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ส่งเสริมการออมของประชาชน และสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลังและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(๒) ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในลักษณะที่เอื้ออำนวยต่อกระบวนการสร้าง รายได้ของประชาชนทุกระดับ และเอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสามารถส่งเสริมภาคการผลิต และบริการที่พึ่งพาทรัพยากรในประเทศให้มีความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก
(๓) เร่งพัฒนาและฟื้นฟูระบบสถาบันการเงินของประเทศให้สามารถทำหน้าที่เกื้อกูลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจได้ตามปกติ โดยก่อภาระด้านการเงินการคลังให้น้อยที่สุด รวมทั้งส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของสถาบันการเงินในระยะยาว ตลอดจนมุ่งพัฒนาและปรับบทบาทสถาบันการเงินของรัฐ ให้เป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมกิจการที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้อย่างเร่งด่วน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ
(๔) เร่งพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน เพื่อให้เป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพในการะดมทุนและส่งเสริมการออมระยะยาวของภาคธุรกิจและประชาชน ตลอดจนจัดโครงสร้างภาษีอากรให้สอดคล้องและเสมอภาค รวมทั้งส่งเสริมให้องค์กรธุรกิจที่ดีและมีศักยภาพสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เพื่อให้ภาคเศรษฐกิจที่สำคัญและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสามารถใช้ประโยชน์จากตลาดเงินและตลาดทุนได้อย่างเต็มที่
(๕) เร่งพัฒนาตลาดตราสารหนี้ เพื่อสร้างทางเลือกและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินของภาคเอกชน และสร้างความเสมอภาคระหว่างตลาดเงิน ตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และเงินฝากในสถาบันการเงิน เพื่อพัฒนาภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศอย่างสมบูรณ์ รวมทั้งส่งเสริมการออมและการลงทุนที่หลากหลายแก่ประชาชนในระยะยาว