นโยบายรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร : นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน

ข่าวการเมือง Monday February 26, 2001 16:29 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

๑๕. นโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน 
รัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาการเมืองของประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถปกครองตนเองและพิทักษ์สิทธิของตนได้เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจะมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพ สร้างความโปร่งใส และขจัดการทุจริตในการบริหารราชการแผ่นดินและการให้บริการประชาชน ทั้งนี้ เพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม และเอื้อต่อการพัฒนาประเทศทั้งในปัจจุบันและอนาคต ดังนี้
๑๕.๑ ด้านการปฏิรูปการเมือง
(๑) เร่งรัดการตราและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง โดยกำหนดขั้นตอนระยะเวลา และหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง และการจัดทำแผนพัฒนาการเมือง
(๒) ส่งเสริมให้ใช้หลักสิทธิมนุษยชนในการบริหารราชการ และสนับสนุนให้มีการเรียนรู้ ด้านสิทธิมนุษยชนและหน้าที่พลเมืองในสถานศึกษา
(๓) สนับสนุนการทำงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และถูกตรวจสอบได้
(๔) ส่งเสริมและสนับสนุนการรวมกลุ่มของประชาชนขึ้นเป็นองค์กรประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ และส่งเสริมให้องค์กรประชาชนสามารถมีกิจกรรมทางการเมือง รวมทั้งมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและประเมินผลในโครงการสำคัญที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ การตรวจสอบการทำงานภาครัฐ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสำคัญ
(๕) ส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรประชาชนของไทยมีความร่วมมืออันดีกับประชาชนและองค์กรประชาชนในประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์ระหว่างประเทศและระหว่างประชาชน
๑๕.๒ ด้านการบริหารราชการ
(๑) ปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพและมีโครงสร้างที่กระชับ เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ พร้อมทั้งเร่งตรากฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างกระทรวง ทบวง กรม เพื่อให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในกระแสโลก และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม
(๒) ปรับปรุงบทบาทของภาครัฐจากผู้ปฏิบัติและควบคุมมาเป็นผู้สนับสนุนและอำนวยความสะดวก และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชนและประชาชน โดยส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการปฏิรูประบบราชการ เพื่อวางแนวทางดำเนินการให้ชัดเจนและต่อเนื่อง
(๓) ปรับกระบวนการบริหารราชการโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวาง รวดเร็ว และเท่าเทียมกัน พร้อมกันนี้จะปรับปรุงพระราชบัญญัติ ข้อมูลข่าวสารของทางราชการให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง
(๔) เร่งพัฒนาคุณภาพของข้าราชการ ให้มีทัศนคติที่เอื้อต่องานบริการประชาชน รวมทั้งทบทวนกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอน และวิธีปฏิบัติงาน เพื่อให้การบริหารราชการมีความยืดหยุ่นมีประสิทธิผล โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการประเมินผลที่เป็นระบบและเป็นธรรม
(๕) เร่งรัดการปรับเปลี่ยนกระบวนจัดทำและจัดสรรงบประมาณ ให้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ และส่งเสริมให้กระทรวง ทบวง กรมมีบทบาทในการตัดสินใจมากขึ้น พร้อมทั้งจัดให้มีระบบควบคุมตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
๑๕.๓ ด้านการกระจายอำนาจ
(๑) ให้ความสำคัญกับการจัดเก็บรายได้ของท้องถิ่น และการกระจายอำนาจทางการคลังลงสู่ท้องถิ่น เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดการบริหารงบประมาณของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการพัฒนาท้องถิ่น
(๒) ส่งเสริมการกระจายอำนาจการปกครองจากส่วนกลางลงสู่ท้องถิ่นให้มีความชัดเจนเหมาะสมตามขั้นตอนของการกระจายอำนาจ ในขณะเดียวกัน จะเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละท้องถิ่นรวมถึงการมีอิสระในการจัดการด้านงบประมาณของท้องถิ่น การแสวงหารายได้ และการจัดการทรัพย์สินของท้องถิ่น
(๓) ส่งเสริมให้ประชาชน ภาคประชาสังคม และองค์กรเอกชนมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งจัดให้มีการตรวจสอบ และประเมินผลการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ การกำหนดนโยบาย การจัดซื้อจัดจ้าง และการแต่งตั้งถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งเพื่อความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น ตลอดจนเร่งส่งเสริมความเข้าใจในบทบาทและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประสานให้การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเกิดประสิทธิผล
๑๕.๔ ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๑) ดำเนินมาตรการลงโทษทั้งทางวินัย ทางปกครอง ทางเพ่ง ทางอาญาและทางภาษี อย่างเด็ดขาด รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่ผู้ทุจริตหรือมีส่วนปกป้องผู้ทุจริต รวมทั้งจะผลักดันให้มีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและพัฒนากระบวนการติดตามตรวจสอบ เพื่อให้สามารถลงโทษผู้ทุจริตอย่างเด็ดขาดและสามารถชดเชยความเสียหายแก่ภาครัฐหรือประชาชนที่ต้องได้รับความเสียหายจากการกระทำทุจริตที่เกิดขึ้น
(๒) รณรงค์อย่างจริงจังและปลูกฝังจิตสำนึกและค่านิยมของสังคมให้ประชาชนร่วมกันต่อต้านการทุจริตและการประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาคราชการและภาคเอกชน รวมทั้งส่งเสริมขวัญและกำลังใจแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต
(๓) ส่งเสริมให้มีการรวมตัวเป็นองค์กรภาคประชาชนและส่งเสริมให้ประชาชนมีบทบาทและส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ รวมทั้งการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่าง ๆ
(๔) ปฏิรูปกระบวนการจัดและการใช้งบประมาณแผ่นดิน และระบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยรัฐ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพในการอนุมัติงบประมาณ โดยสนับสนุนให้ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาชนสามารถมีส่วนร่วมเพิ่มมากขึ้นในการตรวจสอบและวิเคราะห์การเสนอของงบประมาณและการใช้งบประมาณ
๑๕.๕ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมและการปฏิรูปกฎหมาย
(๑) เร่งรัดการจัดโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมให้มีบทบาทและหน้าที่ครอบคลุมกระบวนการยุติธรรมอย่างกว้างขวางและมีประสิทธิภาพ
(๒) ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้มาตรการระงับข้อพิพาทนอกเหนือจากการระงับข้อพิพาทโดยศาล เพื่อให้เป็นเครื่องมือของประชาชน ผู้บริโภค ผู้ด้อยโอกาส และผู้เสียเปรียบ ให้มีโอกาสเข้าถึงและได้ใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของตนเองมากขึ้น
(๓) ปรับปรุงระบบและวิธีการปฏิบัติต่อผู้กระทำความผิดให้มีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด
(๔) ส่งเสริมให้ชุมชน ประชาชน และเครือข่ายองค์กรประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้นในกระบวนการยุติธรรม และการกำหนดนโยบายการบริหารงานยุติธรรม
(๕) เร่งดำเนินการปฏิรูปกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ล้าสมัย ให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบัน และยืดหยุ่นต่อสถานการณ์ในอนาคต
(๖) สนับสนุนการศึกษาวิจัยทางด้านนิติศาสตร์และศาสตร์สาขาอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปรับปรุงหรือการเสนอร่างกฎหมายที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ