ถาม-ตอบ เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2007 15:58 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

เรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งตอบข้อหารือผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง
๑. คำถาม บุคคลที่ต้องคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เพิกถอนสิทธิ
เลือกตั้งในคดียุบพรรคการเมืองจะสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดพรรค
การเมืองหนึ่ง ที่ตั้งขึ้นแล้ว หรือตั้งขึ้นใหม่ โดยไม่มีตำแหน่งในการบริหารพรรค
การเมืองได้หรือไม่
คำตอบ ตามมาตรา ๑๙ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า ผู้ซึ่งจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องไม่เป็น
บุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามมาตรา ๑๐๐ ของรัฐธรรมนูญแห่ง
ราชอาณาจักรไทย ดังนั้น บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงไม่สามารถ
เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้
๒. คำถาม บุคคลผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจะสามารถขึ้นเวทีร่วม
ปราศรัยหรือโฆษณาสนับสนุนการเลือกตั้งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมี
พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และอภิปรายแนวทางแก้ไขปัญหาของชาติในการ
รณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ร่วมกับพรรคการเมืองจะสามารถกระทำได้หรือไม่
คำตอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะเหตุตามมาตรา ๙๔
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป จะเป็นกรรมการบริหาร
พรรคการเมืองอีกไม่ได้ ดังนั้น หากบุคคลใดที่ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง
หรือมีตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นในพรรคการเมือง ได้เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่หรือ
กระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรคการเมือง ก็อาจถือได้ว่าเป็น
การกระทำดังเช่นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการ
บริหารพรรคการเมืองดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย
นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งหากข้อบังคับพรรคการเมืองนั้น
กำหนดให้การรณรงค์การหาเสียงเลือกตั้งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหาร
พรรคการเมืองด้วย ดังนั้น กรณีบุคคลซึ่งถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทำการปราศรัยหาเสียง
เลือกตั้งร่วมกับพรรคการเมืองบนเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรคการเมืองดังกล่าว ก็อาจ
ถือได้ว่าเป็นการกระทำดังเช่นกรรมการบริหารพรรคการเมืองตามมาตรา ๙๗ แห่ง
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
๓. คำถาม บุคคลผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจะสามารถดำรงตำแหน่ง
เป็นที่ปรึกษาในพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง หรือดำรงตำแหน่งอื่น ๆ ใน
องค์กรต่าง ๆ ของพรรคการเมือง เช่น เป็นสมาชิกสภายุทธศาสตร์ สมาชิกสถาบัน
อภิวัฒน์การเมือง สภาอาชีพ ซึ่งองค์กรเหล่านี้เป็นองค์กรที่ประกอบไปด้วย
บุคลากรผู้ทรงคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งจะเป็นผู้ให้คำแนะนำทิศทาง
การเมือง แนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีของพรรค หรือข้อแนะนำต่าง ๆ แก่
คณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง ได้หรือไม่ อย่างไร
คำตอบ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
มาตรา ๙๗ บัญญัติว่า ในกรณีที่พรรคการเมืองต้องยุบไปเพราะเหตุตามมาตรา ๙๔
ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบไป จะเป็นกรรมการบริหาร
พรรคการเมืองอีกไม่ได้ ดังนั้น หากบุคคลใดที่ไม่มีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง
หรือมีตำแหน่งที่เรียกชื่อเป็นอย่างอื่นในพรรคการเมืองนั้น ได้เข้าไปใช้อำนาจหน้าที่หรือ
กระทำการอันมีลักษณะเช่นเดียวกับกรรมการบริหารพรรคการเมือง ก็อาจถือได้ว่าเป็น
การกระทำดังเช่นกรรมการบริหารพรรคการเมือง และในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการ
บริหารพรรคการเมืองดำเนินกิจการของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย
นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับพรรคการเมือง ซึ่งหากข้อบังคับพรรคการเมืองนั้น
กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยการต่าง ๆ
และกระทำการหรือสั่งการใด ๆ เพื่อให้การดำเนินงานของพรรคการเมืองเป็นไปด้วย
ความเรียบร้อย และเพื่อส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของพรรค ดังนั้น หากบุคคลซึ่งถูก
เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาในพรรคการเมือง
หรือตำแหน่งต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น โดยมีลักษณะเป็นการอำนวยการต่าง ๆ และกระทำการ
หรือสั่งการใด ๆ เพื่อให้การดำเนินงานของพรรคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเพื่อ
ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของพรรค ก็อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำดังเช่นกรรมการบริหาร
พรรคการเมือง ตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค
การเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
๔. คำถาม บุคคลผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจะสามารถถ่ายรูปคู่กับ
ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง และมีลายมือชื่อของ
บุคคลนั้น พร้อมตำแหน่งหรือผลงานในอดีตบนป้ายหรือเอกสารหาเสียงของพรรค
การเมืองนั้น หรือปรากฏตัวและร่วมแสดงในภาพยนตร์รณรงค์หาเสียงของพรรค
การเมืองที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ได้หรือไม่ อย่างไร
คำตอบ ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการหาเสียงข้อควรปฏิบัติ
และข้อห้ามมิให้ปฏิบัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการ
ดำเนินการใดๆ ของพรรคการเมือง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐
ข้อ ๔ (๔) กำหนดว่า ในการหาเสียงเลือกตั้งผู้สมัครหรือพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี
อาจดำเนินการจัดทำแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งโดยมีชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำตัว
ผู้สมัคร รูปถ่ายที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร ดังนั้น การที่บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ
เลือกตั้ง ถ่ายรูปคู่กับผู้สมัครรับเลือกตั้งติดบนแผ่นป้ายหาเสียง โดยบุคคลนั้นมิได้เป็นผู้สมัคร
จึงไม่สอดคล้องกับข้อ ๔ (๔) ของระเบียบดังกล่าว และอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนใน
การออกเสียงเลือกตั้ง จึงควรหลีกเลี่ยงการกระทำดังกล่าว
๕. คำถาม บุคคลผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจะสามารถเป็นตัวแทนของ
ผู้สมัคร รับเลือกตั้งพรรคการเมืองใด พรรคการเมืองหนึ่ง ในการช่วยเหลือ
เกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งกับผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นซึ่งเป็นญาติพี่น้อง คู่
สมรส ตลอดทั้งบุคคลอื่น ๆ หรือจัดพิมพ์แผ่นพับหาเสียงซึ่งมีข้อความทำนองว่า
“ผมถูกตัดสิทธิทางการเมือง หากรักและสนับสนุนผมขอได้โปรดให้การสนับสนุน
ผู้สมัครหมายเลข .... พรรค ....” จะสามารถกระทำการได้หรือไม่
คำตอบ ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
พ.ศ. ๒๕๕๐ บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองดำเนินกิจการของพรรค
การเมืองให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย นโยบายพรรคการเมือง และข้อบังคับ
พรรคการเมือง ดังนั้น หากข้อบังคับพรรคการเมืองนั้นกำหนดให้การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง
เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วย การที่บุคคลผู้ซึ่งอยู่ใน
ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไปปราศรัยหาเสียงสนับสนุนผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
หรือพิมพ์แผ่นพับหาเสียง ข้อความทำนองว่า “ผมถูกตัดสิทธิทางการเมือง หากรักผม
สนับสนุนผมขอได้โปรดให้การสนับสนุนผู้สมัครหมายเลข .... พรรค ....” หรือเป็นตัวแทน
ผู้สมัครในการช่วยหาเสียงเลือกตั้งหรือเป็นผู้อำนวยการเลือกตั้ง ก็อาจถือได้ว่าเป็นการ
กระทำดังเช่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ตามมาตรา ๙๗ แห่งพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐
๖. คำถาม บุคคลผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังกล่าวจะมีขอบเขตในการที่จะ
ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้มากน้อยเพียงใดหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะดำเนินกิจกรรมการเมืองได้เพียงใดนั้น ในการ
พิจารณาเรื่องดังกล่าวต้องพิจารณาจากพฤติการณ์ของการกระทำและข้อเท็จจริงเป็น
กรณี ๆ ไป
*สำนักกฎหมายและคดี**
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๐

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ