ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา (กรณีประสาทพระวิหาร)

ข่าวการเมือง Wednesday July 9, 2008 10:00 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

          คดีหมายเลขดำที่ ๙๘๔/๒๕๕๑
คดีหมายเลขแดงที่ /๒๕๕๑ ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ ศาลปกครองกลาง วันที่ ๒๗ เดือน มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๕๑
นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ที่ ๑ ผู้ฟ้องคดี
นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ ๒
นายนคร ชมพูชาติ ที่ ๓
นายสุริยะใส กตะศิลา ที่ ๔
นายคำนูณ สิทธิสมาน ที่ ๕
นายคณิศร ฑปภูผา ที่ ๖
นายกิ่งแก้ว โยมเมือง ที่ ๗
นายประภาส บุรีศรี ที่ ๘
นางรัศมี ไวยเนตร ที่ ๙
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่ ๑ คณะรัฐมนตรี ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี
เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา(ต. ๒๐)ระหว่าง
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าฟ้องสรุปได้ว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นประชาชนไทย
และเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยของชาติ มีหน้าที่ป้องกันประเทศรักษาผลประโยชน์ของ
ชาติตามมาตรา ๓ ประกอบมาตรา ๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช ๒๕๕๐ ผู้ฟ้องคดีที่ ๔ มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดศรีสะเกษ ใกล้ชายแดนประเทศ
กัมพูชาอันเป็นที่ตั้งปราสาทพระวิหารและมีความผูกพันยึดมั่นในปราสาทพระวิหาร
ซึ่งเป็นมรดกทางอารยะธรรมล้ำค่า ผู้ฟ้องคดีที่ ๕ เป็นสมาชิกวุฒิสภาและเป็นผู้แทน
ปวงชนชาวไทย ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม
รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก
พร้อมแผนที่แนบท้าย โดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) เป็น
ผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ต่อมาวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ลงนาม
ในแถลงการณ์ร่วมเพื่อให้ประเทศกัมพูชาเสนอต่อองค์การยูเนสโกในวันที่ ๕ กรกฎาคม
๒๕๕๑ ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
ข้อ ๑. ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร
ในบัญชีมรดกโลก ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชาตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ ๓๒
ของคณะกรรมการมรดกโลก (ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๘)
เขตรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. ๑ ในแผนที่ที่แนบ
ท้ายที่จัดทำขึ้นโดยรัฐบาลกัมพูชา แผนที่ดังกล่าวให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone)
ในด้านทิศตะวันออกและด้านทิศใต้ของปราสาทตามที่ระบุไว้ตามเครื่องหมาย N. ๒ ด้วย
ข้อ ๒. ในบรรยากาศแห่งความปรารถนาดีและประนีประนอมต่อกัน
ราชอาณาจักรกัมพูชายอมรับให้ปราสาทพระวิหารถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลก
โดยขั้นตอนนี้ยังไม่ให้รวมถึงพื้นที่กันชน (buffer zone) ตามพื้นที่ด้านทิศเหนือและ
ทิศตะวันตกของปราสาท
ข้อ ๓. แผนที่แนบท้ายตามที่ระบุในย่อหน้าที่ ๑ ข้างต้น ให้ใช้แทนแผนที่
เดิมที่เกี่ยวกับและรวมถึง “Schema Directeur pour la Zonage de Preah Vihear” และ
รวมถึงผังหรือแผนแบบอ้างอิงทั้งเก้าที่ระบุถึงเขตพื้นที่สำคัญ (Core zone) และเขตอื่นๆ
(zonage) เขตพื้นที่อื่นของปราสาทพระวิหารที่ปรากฏในคำร้องขอขึ้นทะเบียนของประเทศกัมพูชา
ข้อ ๔. ในระหว่างรอผลปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน
(JBC) เพื่อกำหนดอาณาเขตเกี่ยวกับพื้นที่รอบปราสาทด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก
รอบปราสาทพระวิหาร ซึ่งระบุโดยเครื่องหมาย N.๓ ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ ๑
ข้างต้น ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่าง
รัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านการ
อนุรักษ์ เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนการจัดการ
ดังกล่าวจะถูกรวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้น
ซึ่งจะต้องนำเสนอต่อศูนย์กลางมรดกโลกก่อนวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๒๐๑๐ เพื่อนำเข้า
พิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกในการประชุมครั้งที่ ๓๔ ในปี ค.ศ. ๒๐๑๐
ข้อ ๕. การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก จะเป็นไป
โดยไม่กระทบกระเทือนต่อสิทธิของราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ในการ
กำหนดเส้นเขตแดนของคณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสองประเทศ
ข้อ ๖. ราชอาณาจักรกัมพูชาและราชอาณาจักรไทย ขอแสดงความขอบคุณ
อย่างลึกซึ้งต่อผู้อำนวยการยูเนสโก ฯพณฯ นายโคอิชิโร มัตซุอุระ สำหรับความช่วยเหลือ
ในการอำนวยความสะดวกแก่กระบวนการในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลก
เมื่อพิจารณาถ้อยคำเนื้อหาและสาระในแถลงการณ์ร่วม ตามที่กล่าวมา
ข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแถลงการณ์ร่วมมีลักษณะเป็นหนังสือสัญญาที่มีบท
เปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่ของอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือ
มีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออก
พระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคง
ทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน
หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ การดำเนินการดังกล่าวจึงต้องอยู่ภายใต้
บังคับมาตรา ๑๙๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
ซึ่งแถลงการณ์ร่วมมีผลดังนี้
๑. แถลงการณ์ร่วม ข้อ ๑. มีผลให้ประเทศไทยสละสิทธิในข้อสงวน
ที่ประเทศไทยจะเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาในอนาคต เนื่องจาก
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิพากษาเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕)
ให้ประเทศกัมพูชามีอธิปไตยเหนือซากของปราสาทพระวิหาร แต่ประเทศไทยได้สงวนสิทธิ
ที่มีหรืออาจมีในอนาคต เพื่อเรียกร้องเอาปราสาทพระวิหารกลับคืนมาโดยอาศัย
กระบวนการกฎหมายที่มีอยู่หรือที่จะพึงนำมาใช้ได้ในภายหลัง และตั้งข้อประท้วงต่อ
คำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ตัดสินให้ปราสาทพระวิหารเป็นของประเทศ
กัมพูชา ซึ่งได้ยื่นหนังสือแถลงการณ์ต่อนายอูถั่น เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ ๑๓
กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) และมีผลเป็นการยอมรับว่าปราสาทพระวิหารเป็น
ของประเทศกัมพูชาอย่างสมบูรณ์ถาวรตลอดไป นอกจากนี้ยังมีผลเป็นการยอมรับพื้นที่กันชน
(buffer zone) ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของตัวปราสาทพระวิหารเป็นอำนาจอธิปไตย
ของประเทศกัมพูชา ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเหนือคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
๒. หากพิจารณาข้อความในแถลงการณ์ร่วมข้อ ๒. โดยรอบคอบ ประเทศกัมพูชา
ไม่ได้สละสิทธิของความมีอยู่ในอำนาจอธิปไตยในพื้นที่กันชน (buffer zone) ทางด้านทิศเหนือ
และทิศตะวันออกของตัวปราสาทพระวิหาร เพราะเป็นเพียงข้อตกลงเพื่อเสนอปราสาท
พระวิหารขึ้นทะเบียนในบัญชีมรดกโลกเท่านั้น
๓. แถลงการณ์ร่วม ข้อ ๓. มีผลเป็นการเพิ่มน้ำหนักในการยอมรับอำนาจ
อธิปไตยของประเทศกัมพูชา การแสดงเจตนาสละสิทธิในบรรดาข้อโต้แย้งต่างๆ ของ
ประเทศไทย และประเทศไทยก็ต้องยึดถือแผนที่ตามที่ระบุในย่อหน้าที่ ๑ แทนตาม
แถลงการณ์ร่วมอย่างมิอาจปฏิเสธได้อีกต่อไป
๔. แถลงการณ์ร่วม ข้อ ๔. มีผลให้ประเทศไทยยอมรับอำนาจอธิปไตยของ
ประเทศกัมพูชาในพื้นที่ N.๓ ซึ่งเป็นการยอมรับการขยายอาณาเขตของประเทศกัมพูชา
นอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และมีผลทำให้เป็นการยุติ
การปฏิบัติงานของคณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน (JBC) ตามพื้นที่ N.๓ ไปโดย
ปริยาย และเมื่อประเทศกัมพูชาได้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารและพื้นที่รอบตัวปราสาท
เป็นมรดกโลกแต่ฝ่ายเดียวแล้ว การบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลกย่อมเป็นสิทธิของประเทศ
กัมพูชาแต่ฝ่ายเดียว
๕. หากพิจารณาแถลงการณ์ร่วมข้อ ๕. โดยรอบคอบแล้ว ข้อตกลง
ในแถลงการณ์ร่วมจะเป็นข้อตกลงที่คณะกรรมการร่วมกำหนดเขตแดน (JBC) ของทั้งสอง
ประเทศต้องปฏิบัติตาม
๖. แถลงการณ์ร่วม ข้อ. ๖ การแสดงความขอบคุณเป็นมารยาทอันสำคัญที่
ต้องแสดงให้ปรากฏอย่างชัดเจน แต่ขณะเดียวกันการระบุชื่อนายโคอิชิโร มัตซุอุระ
ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูเนสโก เป็นการแสดงให้ปรากฏต่อคณะกรรมการมรดกโลกและ
ประชาชนโลกด้วยว่ากระบวนการในการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร ในบัญชีมรดกโลก
ตามความตกลงของแถลงการณ์ร่วมได้กระทำด้วยน้ำใจแห่งมิตรภาพและความร่วมมือต่อ
กันที่ต่างจะถือข้อกำหนดตามแถลงการณ์ร่วมเป็นข้อมูลผูกพันของทั้งสองประเทศอย่าง
มั่นคงต่อหน้าพยาน
การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดังกล่าวข้างต้น เป็นการกระทำโดยอาศัย
อำนาจตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ และพระราชบัญญัติ
ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๔๕ แต่เป็นการกระทำในลักษณะ
ปกปิด บิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริงความหมายแห่งถ้อยคำในสาระสำคัญของแถลงการณ์ร่วม ไม่
แสดงสถานะของแถลงการณ์ร่วมที่แท้จริงอันจะมีผลต่อกระบวนการขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติ
ตามกฎหมาย ทั้งไม่แสดงผลความผูกพัน ความเสียหาย อันจะเกิดแก่ประเทศไทยอย่างชัด
แจ้ง โดยมุ่งหวังให้สมเจตนาแห่งตนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายด้านอาณาเขตดินแดน
และอำนาจอธิปไตยของประเทศไทย โดยเจตนาไม่สุจริต จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็น
การกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็น
สาระสำคัญ สร้างภาระให้เกิดแก่ประเทศชาติ แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและปวงชนชาวไทยทุกคน
ดังนั้น มติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่เห็นชอบร่างแถลงการณ์
ร่วม โดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) เป็นผู้ลงนาม จึงไม่ชอบด้วย
กฎหมาย และการใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ตามพระราชบัญญัติ
บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ โดยความเห็นชอบตามมติคณะรัฐมนตรีไม่ชอบด้วย
กฎหมาย จึงมีผลให้การลงนามในแถลงการณ์ร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อาศัยเหตุผลตามที่กล่าวมาข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดแจ้งถึงการร่วมกัน
กระทำการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่เจตนาใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบริหารราชการ
แผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ กระทำการทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ยึดถือปฏิบัติ
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มีผลเสียหายต่อ
อาณาเขตดินแดนของประเทศไทย กระทบกระเทือนต่อพระราชอำ นาจขององค์
พระมหากษัตริย์และกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าและปวงชนชาวไทยทุกคน
ทั้งการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้ามีเจตนาที่จะปกป้องอาณาเขตดินแดน อำนาจอธิปไตยของ
ประเทศไทย ปกป้อง พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของ
ปวงชนชาวไทยทุกคน อีกทั้งเป็นคดีที่ศาลปกครองกลางสามารถออกคำบังคับได้ตาม
กฎหมาย จึงฟ้องศาลให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งดังนี้
๑) เพิกถอนการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ที่เสนอ
ร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อพิจารณาและมีมติเห็นชอบ
๒) เพิกถอนมติผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่มีมติ
เห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวโดยมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ)เป็นผู้ลงนาม
๓) เพิกถอนการลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
(นายนพดล ปัทมะ) เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๑
๔) มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ยุติความผูกพันตาม
แถลงการณ์ร่วมดังกล่าว ต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโก
ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครอง
เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ สรุปได้ว่า การลงนาม
ในแถลงการณ์ร่วมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า
และประชาชนอาจสูญเสียดินแดนประเทศไทยโดยไม่อาจแก้ไขกลับคืนสู่สภาพเดิม
อีกทั้งหากศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครองชั่วคราวก็ไม่ก่อให้เกิด
ผลกระทบต่อความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ เนื่องด้วยเป็นการตรวจสอบตาม
กระบวนการยุติธรรม และไม่กระทบกระเทือนต่ออาณาเขตดินแดนอำนาจอธิปไตยของ
ประเทศกัมพูชา รวมทั้งไม่มีผลเป็นการยุติการขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดก
โลกของประเทศกัมพูชา แต่หากปล่อยให้กระบวนการดังกล่าวดำเนินการไปอย่างต่อเนื่อง
แล้ว ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ยกเลิกเพิกถอนการกระทำที่ไม่ชอบด้วย
กฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง จะก่อให้เกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าปัจจุบัน จนไม่อาจ
แก้ไขเยียวยาได้ในภายหลัง ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าจึงขอให้ศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการคุ้มครอง
ชั่วคราวไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง ดังนี้ (๑) ให้ศาลปกครองกลางมี
คำสั่งระงับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทั้งการเสนอเรื่องต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ และการ
ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเป็นอันสิ้นผลเป็นการชั่วคราว (๒) ให้ศาลมีคำสั่งระงับผลมติของ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ กรณีเห็นชอบแถลงการณ์ร่วม และมอบหมาย
ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล ปัทมะ) ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเป็นอันสิ้นผล
เป็นการชั่วคราว (๓) ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองกระทำการใดๆ อันเป็นการแจ้ง
การยุติความผูกพันตามแถลงการณ์ร่วมต่อประเทศกัมพูชาและองค์การยูเนสโกไว้เป็นการ
ชั่วคราว
ศาลได้ไต่สวนฝ่ายผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า นายกฤต ไกรจิตติ นายเชิดชู รักตะบุตร
และ นายพิษณุ สุวรรณะชฎ พยาน เมื่อวันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๑ โดยพยานให้ถ้อยคำ
และเอกสารประกอบดังนี้
นายกฤต ไกรจิตติ พยานให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า คำพิพากษาของศาลยุติธรรม
ระหว่างประเทศ ซึ่งตามธรรมนูญของศาลดังกล่าวกำหนดให้วินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่คู่กรณี
อ้างโต้แย้งกันเท่านั้น ในคดีพิพาทปราสาทพระวิหารระหว่างประเทศไทยกับประเทศ
กัมพูชา ประเทศไทยอ้างแนวเขตแดนอยู่ที่เส้นสันปันน้ำ แต่ประเทศกัมพูชาอ้างแผนที่
ที่ประเทศฝรั่งเศสทำขึ้นขณะยึดครองประเทศกัมพูชา ซึ่งแนวเขตแดนไม่ได้เป็นไปตาม
แนวสันปันน้ำ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจึงพิพากษาว่าปราสาทพระวิหารอยู่ในอาณา
เขตภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชา แต่ไม่ได้พิพากษาเกี่ยวกับเส้นเขตแดนทำให้มีพื้นที่
ทับซ้อนกันอยู่ส่วนหนึ่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น เคยโต้แย้งว่าคำ
พิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ไม่เป็นไปตามสนธิสัญญาปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี
ค.ศ. ๑๙๐๗ และขัดต่อหลักความยุติธรรม อย่างไรก็ตามการขอทบทวนคำพิพากษา
สามารถทำได้แต่ต้องดำเนินการภายใน ๑๐ ปี นับจากวันที่ศาลมีคำพิพากษาซึ่งในปัจจุบัน
ล่วงเลยเวลาดังกล่าวแล้ว
มติคณะรัฐมนตรีมีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ให้ปฏิบัติตามคำพิพากษา
ของศาลโลกโดยจัดทำ ป้ายแสดงเขตและทำ รั้วลวดหนาม แนวเขตแดนตามมติ
คณะรัฐมนตรีดังกล่าว ปรากฏตามแผนที่ท้ายเอกสารดังกล่าว ซึ่งจะเห็นได้ว่าปราสาท
พระวิหารอยู่ในเขตประเทศกัมพูชา โดยปรากฏตามวารสารของกระทรวงการต่างประเทศ
ฉบับเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ เอกสารดังกล่าวถือเป็นเอกสารที่เป็นทางการ
และเผยแพร่ไปทั่วโลก ประเทศไทยได้จัดทำป้ายแสดงเขตและรั้วลวดหนามตามแนวเขต
ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวแต่เพียงฝ่ายเดียว ซึ่งมีแนวเขตมากกว่าตัวปราสาทพระวิหาร
โดยทิศตะวันตกจะอยู่ห่างจากแกนปราสาทพระวิหารประมาณ ๑๐๐ เมตร ส่วนทิศเหนือจะเป็น
เส้นเฉียงจากทิศเหนือไปทางทิศตะวันออกโดยครอบคลุมถึงช่องบันไดหักโดยอยู่เหนือช่อง
บันไดหักประมาณ ๒๐ เมตร ส่วนพื้นที่ด้านทิศตะวันออกใต้ช่องบันไดหัก ซึ่งเป็นพื้นที่
สามเหลี่ยมนั้นไม่ได้กั้นเป็นเขตแดน
ในการลงนามในแถลงการณ์ร่วมพร้อมแผนที่แนบท้ายของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ตามที่กระทรวง
การต่างประเทศเสนอ ซึ่งกรมแผนที่ทหารได้ตรวจสอบแล้วว่าไม่มีการล้ำเข้ามาในเขตแดนไทย
หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีการประชุมเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ มีมติให้กระทรวง
การต่างประเทศแก้ไขถ้อยคำในเอกสารต่างๆ จากคำว่า “แผนที่” เป็น “แผนผัง” ส่วน
รูปลักษณ์และขอบเขตต่างๆ ยังคงเดิม เหตุที่มีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำดังกล่าวเพื่อให้ตรง
กับความเป็นจริง และผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ได้แจ้งการแก้ไขเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไปยัง
ประเทศกัมพูชา เนื่องจากเป็นการแก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องเท่านั้น ทั้งนี้ เมื่อประเทศไทย
ลงนามในแถลงการณ์ร่วมแล้ว เป็นเรื่องที่ประเทศกัมพูชาจะต้องไปยื่นเรื่องต่อ
คณะกรรมการมรดกโลกโดยประเทศไทยไม่ต้องดำเนินการใดๆ
เหตุที่การขึ้นทะเบียนมรดกโลกของประเทศกัมพูชาต้องให้ประเทศไทย
รับรองเนื่องจากอนุสัญญาองค์การการศึกษาและวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก
ข้อ ๑๑ วรรคสาม กำหนดว่า การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะต้องรับความยินยอมจากรัฐ
ที่เกี่ยวข้อง เมื่อประเทศกัมพูชานำพื้นที่ที่ประเทศไทยอ้างสิทธิอยู่ในครั้งแรกไปขึ้นทะเบียน
มรดกโลก ประเทศไทยได้คัดค้านจนในที่สุดประเทศกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก
และเมื่อตัดพื้นที่ทับซ้อนออกแล้ว ประเทศกัมพูชาสามารถยื่นขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลก
ได้เองโดยไม่ต้องให้ประเทศไทยให้ความยินยอม และไม่จำเป็นต้องใช้แถลงการณ์ร่วมที่
จัดทำขึ้น การที่ประเทศไทยลงนามในแถลงการณ์ร่วมมีผลเท่ากับการให้การสนับสนุนใน
ฐานะประเทศสมาชิกประเทศหนึ่งเท่านั้น ดังนั้น การที่คณะกรรมการมรดกโลกจะยินยอม
ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารหรือไม่ จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับประเทศไทย
หากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์
ชั่วคราวตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งเก้า จะมีผลกระทบต่ออำนาจอธิปไตยของประเทศไทย
เนื่องจากประเทศไทยได้เจรจากับประเทศกัมพูชาไว้แล้ว หากไม่มีการลงนามหรือใช้
แถลงการณ์ร่วมที่ลงนามไว้แล้ว จะทำให้ประเทศกัมพูชายื่นขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกโดยใช้
แผนที่ฉบับเดิมซึ่งรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนด้วย หากไม่มีการเจรจาและคัดค้านการขึ้นทะเบียน
มรดกโลกของประเทศกัมพูชา คณะกรรมการมรดกโลกอาจยอมรับให้ขึ้นทะเบียนปราสาท
พระวิหารซึ่งครอบคลุมพื้นที่ทับซ้อนซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเสียอำนาจอธิปไตยและกระทบ
ต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา
นายเชิดชู รักตะบุตร พยาน ให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า ศาลยุติธรรมระหว่าง
ประเทศพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารอยู่ในดินแดนภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชา
ซึ่งมีความหมายถึงดินแดนและตัวปราสาทพระวิหาร แต่คำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุถึง
เส้นเขตแดนส่วนที่เป็นพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ทำให้เป็นปัญหาของเขตแดนบริเวณ
ดังกล่าว หลังจากนั้นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ในขณะนั้นได้มีมติให้จัดทำป้ายแสดงเขตและทำรั้ว
ลวดหนาม โดยเลือกวิธีที่กำหนดขอบเขตของปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบันไดหัก โดย
แนวเขตอยู่เหนือช่องบันไดหัก ๒๐ เมตร พื้นที่ซึ่งเป็นรูปสามเหลี่ยมใต้ช่องบันไดหักมีสระ
น้ำ อยู่ใกล้กับตัวปราสาท นอกจากนั้น เป็นป่าสลับกับลานหิน สูงชัน ตามหลักฐานราชการ
ระบุว่ามีการปักป้ายตามแนวเขตแดนไว้ ๕ ป้าย และสั่งการให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทำรั้วลวด
หนาม ซึ่งในปัจจุบันไม่มีซากรั้วเหลืออยู่ พื้นที่ทางด้านทิศใต้ของปราสาทพระวิหาร
ระหว่างตัวปราสาทพระวิหารกับเส้นสันปันน้ำจะอยู่ห่างกันประมาณไม่เกิน ๑๐๐ เมตร
ซึ่งมีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชัน ส่วนบันไดขึ้นปราสาทพระวิหารทั้งหมดอยู่ในเขตประเทศ
กัมพูชา เพียงแต่ถนนที่เข้าสู่ปราสาทพระวิหารอยู่ในประเทศไทย
การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาได้
ดำเนินการมาเป็นเวลาประมาณ ๒ ปี แล้ว หากประเทศไทยไม่มีการลงนามแถลงการณ์ร่วม
แล้ว จะทำให้ประเทศกัมพูชากลับไปใช้แผนที่ฉบับเดิม ซึ่งรวมถึงพื้นที่ทับซ้อนในการขอขึ้น
ทะเบียนปราสาทพระวิหารและคณะกรรมการมรดกโลกอาจขึ้นทะเบียนมรดกโลกไปตาม
แผนที่ของประเทศกัมพูชา และในปีนี้ประเทศไทยไม่ได้มีตัวแทนในคณะกรรมการมรดก
โลก ซึ่งหากเกิดกรณีดังกล่าว ประเทศไทยก็อาจจะต้องเผชิญหน้ากับประเทศกัมพูชาใน
พื้นที่ทับซ้อน ในการเจรจาระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาเพื่อจัดทำแถลงการณ์
ร่วม ณ กรุงปารีส แต่มีข้อตกลงให้มีการลงนามเมื่อประเทศกัมพูชาส่งแผนที่ให้ประเทศ
ไทยก่อน จึงไม่ได้ลงนามกันต่อหน้าทั้งสามฝ่าย แถลงการณ์ร่วมไม่ใช่สนธิสัญญาแต่เป็น
เพียงเอกสารทางการทูตอย่างหนึ่ง ซึ่งเอกสารดังกล่าวนั้นไม่จำเป็นต้องนำเข้าสู่การ
พิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ส่วนกรณีแถลงการณ์ร่วมที่ผ่านการพิจารณาของหน่วยงาน
ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงนำเข้าเสนอผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ พิจารณา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วไม่
จำเป็นจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก็ได้ และการทำแถลงการณ์ร่วมไม่ได้
ทำให้ประเทศไทยเสียประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น
แผนที่ท้ายแถลงการณ์ร่วมจัดทำโดยประเทศกัมพูชาแต่ฝ่ายเดียวโดยกำหนด
พื้นที่ N. ๑ เป็นเขตประสาทพระวิหาร มีเนื้อที่น้อยกว่าแผนที่ที่จัดทำตามมติคณะรัฐมนตรี
เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ บริเวณพื้นที่ N. ๒ เป็นพื้นที่ในเขตอนุรักษ์ซึ่งอยู่ในประเทศกัมพูชา
พื้นที่ N. ๓ เป็นพื้นที่ทับซ้อนที่อยู่ระหว่างการตกลงเรื่องเขตแดน และไม่มีการกำหนด
ขอบเขตพื้นที่ที่ชัดเจน การทำความตกลงเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศเป็นไปตามบันทึก
ความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีเขตแดน
ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชายาวประมาณ ๗๙๘ กิโลเมตร การบริหารจัดการในพื้นที่ N. ๓
เป็นการหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา และในพื้นที่
ดังกล่าวมีประชาชนกัมพูชาสร้างวัดและอยู่อาศัย ซึ่งเดิมไม่มีปัญหาใดต่อกัน แต่เริ่มมีข้อ
พิพาทกัน เมื่อเกิดปัญหาขัดแย้งตามคดีนี้
ปัจจุบันมีคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาเขต
แดนที่ติดต่อกับประเทศกัมพูชา ซึ่งจะรวมถึงพื้นที่บริเวณ N. ๓ ด้วย คณะกรรมาธิการ
ดังกล่าวจัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชาเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๔๓ ซึ่งมีมติคณะรัฐมนตรีรองรับโดยดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาระหว่าง
ประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี ค.ศ. ๑๙๐๗
นายพิษณุ สุวรรณะชฎ พยาน ให้ถ้อยคำสรุปได้ว่า การจดทะเบียนปราสาท
พระวิหารเป็นมรดกโลกได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบัน กระทรวงการ
ต่างประเทศได้ดำเนินการติดตามการขอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกของประเทศกัมพูชาและ
ทราบว่ามีการทำแผนที่โดยมีการกำหนดเส้นเขตแดนล้ำเข้ามาในประเทศไทย ประเทศไทย
จึงได้คัดค้านในการประชุมครั้งที่ ๓๑ ที่นครไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือน
มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นผลให้ประเทศกัมพูชาชะลอการขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดก
โลก คณะกรรมการมรดกโลกมีมติให้ประเทศไทยและประเทศกัมพูชาไปทำความตกลงกัน
ในปัญหาเขตแดนและข้อขัดแย้งต่างๆ เพื่อให้ประเทศกัมพูชาสามารถจดทะเบียนปราสาท
พระวิหารเป็นมรดกโลกได้ในการประชุมครั้งที่ ๓๒ ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา
ภายหลังการประชุมสมัยที่ ๓๑ ประเทศไทยได้พยายามให้ความร่วมมือกับประเทศกัมพูชา
ตามมติที่ประชุม แต่ไม่บรรลุผลเนื่องไม่ได้รับความร่วมมือจากประเทศกัมพูชา ประเทศไทย
ก็ได้ใช้วิธีทางการทูตผ่านทางองค์การยูเนสโก คณะกรรมการมรดกโลกและประเทศสมาชิก
ที่มีอิทธิพลเป็นผลให้ประเทศกัมพูชายอมผ่อนปรนท่าทีโดยขอขึ้นทะเบียนเฉพาะบริเวณ
ปราสาทพระวิหาร ซึ่งไม่รวมพื้นที่ทับซ้อน
การตัดสินใจของคณะกรรมการมรดกโลกจะขึ้นอยู่กับสมาชิก ๒๑ ประเทศ
ซึ่งในการพิจารณาจะมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกัน บางประเทศให้ความสำ คัญ
ด้านโบราณคดี บางประเทศจะมีเหตุผลทางการเมือง ด้วยเหตุนี้การพิจารณาของ
คณะกรรมการมรดกโลกอาจมีเหตุผลทางการเมืองประกอบ การที่ประเทศกัมพูชาไม่
ยินยอมจดทะเบียนมรดกโลกร่วมกับประเทศไทยเป็นเหตุผลทางการเมืองของประเทศกัมพูชา
การขึ้นทะเบียนมรดกโลกจะทำให้ประเทศกัมพูชาได้ประโยชน์ในด้าน
ภาพลักษณ์ว่ามีวัฒนธรรมสูง มีอารยธรรม มีความเอื้อเฟื้อเปิดกว้างรับความร่วมมือจาก
นานาชาติและเปิดกว้างในการพัฒนามรดกโลก ได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจใน
ด้านความช่วยเหลือจากนานาชาติ สำหรับปราสาทพระวิหาร จากการประเมินของนัก
โบราณคดีที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกประมาณได้ว่า ปราสาทพระวิหารจะได้รับงบประมาณใน
การบูรณปฏิสังขรณ์ ประมาณ ๑,๔๐๐ ล้านบาท ในระยะเวลา ๑๐ ปี โดยเป็นการประเมิน
ของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการบูรณปฏิสังขรณ์มรดกโลก ส่วนประเทศไทยจะได้
ประโยชน์ด้วยเพราะทางขึ้นประสาทพระวิหารอยู่ในเขตแดนประเทศไทย และประเทศไทย
อยู่ระหว่างดำเนินการขอขึ้นทะเบียนมรดกโลกในโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงกับปราสาท
พระวิหาร เช่น แหล่งตัดหิน สระตราว ซึ่งเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์ของปราสาทพระวิหาร ทำนบ
โบราณ ซึ่งเป็นส่วนเชื่อมโยงระหว่างชุมชนกับปราสาทพระวิหาร สถูปคู่ ซึ่งกำลังตรวจสอบ
ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับปราสาทพระวิหารอย่างไร และภาพสลักนูนต่ำที่ผามออีแดง
แต่ประเทศไทยจะไม่เสียประโยชน์ใดๆ เว้นแต่อาจจะเสียความเป็นอิสระในการดำเนินการ
พัฒนาโบราณสถานและพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยต้องดำ เนินการตามหลักเกณฑ์ของศูนย์มรดกโลก
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า กระทรวงการต่างประเทศ เป็นหน่วยงานของรัฐ
มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการต่างประเทศ ตามมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุง
กระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดและมีอำนาจ
บริหารราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบ
บริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหน้าที่
บริหารราชการแผ่นดินตามบทบัญญัติของกฎหมาย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงเป็นเจ้าหน้าที่
ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๒ เมื่อผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำเสนอร่างแถลงการณ์ร่วม
ต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กรณีการขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของประเทศ
กัมพูชาพร้อมแผนที่แนบท้าย โดยไม่สุจริต ใช้อำนาจหน้าที่และกระทำนอกเหนือจาก
อำนาจหน้าที่ บิดเบือนข้อเท็จจริง ไม่แสดงสถานะของแถลงการณ์ร่วม ทั้งไม่แสดงผลความ
ผูกพันที่อาจเกิดแก่ประเทศชาติ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ประชุมพิจารณาโดยไม่ตรวจสอบ
ข้อมูลอย่างรอบคอบ ใช้ดุลพินิจไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและ
ปวงชนชาวไทย เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้มีมติเมื่อ
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ เห็นชอบแถลงการณ์ร่วมและให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ (นายนพดล
ปัทมะ) เป็นผู้ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ซึ่งเป็นการให้ความเห็นชอบในการกระทำของ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย
กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ที่อยู่ในอำ นาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑)
แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาล
เห็นสมควรมีคำสั่งรับคดีนี้ไว้พิจารณาแล้ว
คดีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า ศาลสมควรมีคำสั่งกำหนด
มาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาหรือไม่
ในการพิจารณาคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของ
ผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าในกรณีนี้ต้องใช้หลักเกณฑ์ตามที่กำ หนดไว้ในมาตรา ๖๖ แห่ง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และข้อ ๗๗
ของระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง
พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดไว้ว่า ให้นำความในลักษณะ ๑ ของภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความแพ่ง มาใช้บังคับกับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขอ เงื่อนไขในการออก
คำสั่งของศาลและผลของคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทา
ทุกข์ชั่วคราวก่อน การพิพากษา หรือวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอในระหว่างการ
พิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาโดยอนุโลมเท่าที่สภาพของเรื่องจะเปิดช่องให้กระทำ
ได้และโดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้ และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง เมื่อ
ศาลได้พิจารณาบทบัญญัติในลักษณะ ๑ ของภาค ๔ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ
แพ่งแล้ว เห็นว่า บทบัญญัติที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวของ
ผู้ฟ้องคดีในกรณีนี้โดยไม่ขัดต่อระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่า
ด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๓ และหลักกฎหมายทั่วไปว่าด้วยวิธีพิจารณาคดี
ปกครอง ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๒๕๔ วรรคหนึ่ง (๒)
ที่บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งห้ามชั่วคราวมิให้จำเลยกระทำซ้ำหรือกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิด
หรือผิดสัญญาหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง หรือมีคำสั่งอื่นใดในอันที่จะบรรเทาความ
เดือดร้อนเสียหายที่โจทก์อาจได้รับต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย.. และมาตรา ๒๕๕
วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติไว้ว่า ในการอนุญาตตามที่ขอตามคำขอที่ยื่นไว้ ตามมาตรา ๒๕๔ ต้อง
เป็นที่พอใจของศาลว่า คำฟ้องมีมูลและมีเหตุเพียงพอที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอมา
นั้น...(๒) (ข) โจทก์จะได้รับความเดือดร้อนเสียหายต่อไปเนื่องจากการกระทำของจำเลย
ศาลได้ตรวจพิจารณาคำขอเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา
ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๑ และเอกสารอื่นๆ ในสำนวนคดีด้วยแล้ว เห็นว่า เมื่อ
พิจารณาคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศคดีปราสาทพระวิหารที่พยานของ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่งต่อศาล โดยคณะผู้พิพากษาเก้าต่อสาม ลงความเห็นว่าปราสาทพระวิหาร
ตั้งอยู่ในอาณาเขตภายใต้อธิปไตยของประเทศกัมพูชา โดยเหตุนี้ จึงพิพากษาว่าประเทศ
ไทยมีพันธะที่จะต้องถอนกำลังทหารและตำรวจ ผู้เฝ้ารักษาหรือผู้ดูแลซึ่งประเทศไทยส่งไป
ประจำอยู่ที่ปราสาทพระวิหารหรือในบริเวณใกล้เคียงบนอาณาเขตของประเทศกัมพูชา
จะเห็นได้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวไม่ได้ระบุเขตแดนระหว่างปราสาทพระวิหารกับเขตแดนไทย
อย่างชัดแจ้ง แม้ว่าคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๐๕
กำหนดบริเวณปราสาทพระวิหารเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าครอบปราสาทพระวิหารมีแนว
เขตจากปีกขวาของตัวปราสาทพระวิหารตั้งแต่ช่องบันใดหัก (ช่องบันใดหักอยู่ภายใน
บริเวณปราสาทพระวิหาร) แล้วลากเส้นตรงผ่านชิดบันไดนาคตรงไปจนถึงตัวปราสาท
แล้วลากเส้นตรงขนานกับตัวปราสาทพระวิหาร ไปสุดที่หน้าผาชันด้านหลังปราสาทพระ
วิหาร จะเป็นเนื้อที่ปราสาทพระวิหารประมาณ เศษหนึ่งส่วนสี่ตารางกิโลเมตร ตามแผนที่
ที่พยานของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ส่งต่อศาล ก็ตาม แต่ก็เป็นการกำหนดบริเวณปราสาทพระ
วิหารโดยประเทศไทยฝ่ายเดียว ประกอบกับ นายกฤต ไกรจิตติ พยานให้ถ้อยคำยืนยันว่า
ประเทศไทยได้จัดทำป้ายแสดงเขตและรั้วลวดหนามตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นแต่
เพียงฝ่ายเดียว และนายเชิดชู รักตะบุตร พยาน ได้ให้ถ้อยคำว่า การปักปันเขตแดน
ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา มีคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชาที่
จัดตั้งขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา พ.ศ. ๒๕๔๓ โดย
ดำเนินการภายใต้สนธิสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศฝรั่งเศส ปี ค.ศ. ๑๙๐๔ และปี
ค.ศ. ๑๙๐๗ รวมความยาวพื้นที่ชายแดนประเทศไทยที่ติดต่อประเทศกัมพูชา ๗๙๘
กิโลเมตรที่ยังเจรจาปักปันเขตแดนยังไม่สำเร็จ ซึ่งรวมทั้งเขตแดนในบริเวณปราสาท
พระวิหารด้วย จึงเชื่อว่ายังไม่มีการปักปันเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา
ในบริเวณเขตแดนปราสาทพระวิหารโดยคณะกรรมาธิการร่วมชายแดนไทย-กัมพูชา
ซึ่งเป็นที่ยอมรับของประเทศทั้งสองแต่ประการใด อีกทั้งเมื่อพิจารณาแถลงการณ์ร่วมในข้อ ๑
ที่ระบุว่า “ราชอาณาจักรไทยสนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารในบัญชีมรดกโลก
ซึ่งเสนอโดยรัฐบาลกัมพูชาตามที่จะได้มีขึ้นในการประชุมสมัยที่ ๓๒ ของคณะกรรมการ
มรดกโลก (ที่นครควิเบก ประเทศแคนาดา ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๘) เขตรอบพื้นที่
ของปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. ๑ ..” ซึ่งปรากฏว่าในแผนที่แนบ
ท้ายแถลงการณ์ร่วมที่ประเทศกัมพูชาเป็นผู้จัดทำขึ้นมีการกำหนดเขตรอบพื้นที่ปราสาท
พระวิหารอย่างชัดแจ้ง โดยระบุในแผนที่ว่าเป็นพื้นที่ N. ๑ แม้พื้นที่ดังกล่าวจะมีบริเวณ
จำนวนน้อยกว่าบริเวณปราสาทพระวิหารตามมติคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๑๐
กรกฎาคม ๒๕๐๕ ก็ตาม อาจถือได้ว่าประเทศไทยได้ยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ของ
ปราสาทพระวิหารปรากฏตามที่ระบุไว้ ณ บริเวณ N. ๑ โดยปริยาย นอกจากนี้แถลงการณ์
ร่วมในข้อ ๔. ที่ระบุว่า “..เครื่องหมาย N. ๓ ไว้ในแผนที่ที่กล่าวถึงในย่อหน้าที่ ๑ ข้างต้น
ให้มีการจัดเตรียมแผนการจัดการพื้นที่ดังกล่าวโดยวิธีการประสานกันระหว่างรัฐบาล
กัมพูชาและรัฐบาลไทยอย่างสอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ ด้านการอนุรักษ์
เพื่อที่จะธำรงไว้ซึ่งคุณค่าที่โดดเด่นเป็นสากลของทรัพย์สินนี้ แผนการจัดการดังกล่าวจะถูก
รวมเข้าไว้ในแผนจัดการสุดท้ายสำหรับปราสาทและพื้นที่รอบๆ ปราสาทนั้น..” ข้อตกลงใน
ลักษณะดังกล่าวอาจมีผลผูกพันประเทศไทยและอาจทำลายน้ำหนักในการอ้างอิงเขตแดนที่
ประเทศไทยยึดถือสันปันน้ำเป็นเส้นแบ่งเขตแดนมาโดยตลอด ดังนั้น คดีจึงมีมูลรับฟังได้
ตามคำฟ้อง และการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและ
ประชาชนซึ่งรวมถึงผู้ฟ้องคดีทั้งเก้าได้รับความเสียหายต่อไป อันเป็นความเสียหายที่ยาก
แก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง อีกทั้งหากศาลมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการ
คุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาแล้ว ก็ไม่มีผลกระทบต่อการบริหารงาน
ของรัฐ และยังเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยที่ยังคงสงวนสิทธิโต้แย้งคำพิพากษาของ
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ในคดีประสาทพระวิหารไว้เช่นเดิม จึงมีเหตุเพียงพอที่ศาล
จะกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาได้
จึงมีคำสั่งห้ามมิให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือ
ใช้ประโยชน์จากมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ที่เห็นชอบ
แถลงการณ์ร่วมรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชา และการดำเนินการตามมติดังกล่าว จนกว่า
คดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
นายชาชิวัฒน์ ศรีแก้ว ตุลาการเจ้าของสำนวน
ตุลาการศาลปกครองกลาง
นายประวิตร บุญเทียม
ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง
นายณัฐ รัฐอมฤต
ตุลาการศาลปกครองกลาง
หมายเหตุ เนื่องจากการพิมพ์ผิดพลาดเล็กน้อยในหน้าที่ ๑๒ ศาลจึงแก้ไขข้อความจาก
“...ตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๓๔...พระราชบัญญัติ
จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๕๒ ...” เป็น “...ตามมาตรา ๑๒ แห่ง
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕...พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธี
พิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ...” ท่านสามารถตรวจสอบต้นฉบับได้ที่ศาลปกครอง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ