กกต.ให้ความรู้การเตรียมตัวไปเลือกตั้งทั่วไป ปี 2548

ข่าวการเมือง Tuesday February 1, 2005 10:47 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

          ทำไมต้องไปเลือกตั้ง
การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชน
แท้จริงแล้ว ประชาชนจะต้องปกครองกันเอง ออกกฎหมายเอง บริหารเอง แต่ประชาชนมีจำนวนมากไม่สามารถหาสถานที่
และเวลาในการประชุมหารือกันได้จึงต้องมีการเลือกตั้ง มอบอำนาจให้บุคคลหรือคณะบุคคลไปทำหน้าที่แทนตน
การมอบอำนาจหรือการเลือกตั้งของแต่ละประเทศแตกต่างกัน บางประเทศมอบอำนาจทั้งหมดให้แก่ผู้ที่จะไปทำหน้าที่แทนตน
แต่บางประเทศมอบอำนาจให้บางส่วน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มอบอำนาจให้บุคคลหรือคณะบุคคล
เพียงบางส่วนประชาชนยังมีช่องทางแห่งอำนาจที่จะเสนอกฎหมายได้โดยตรง
ดังนั้นการมอบอำนาจให้ใครก็ตามทำหน้าที่แทนเราจะต้องมอบด้วยความระมัดระวัง เพราะผลกระทบจากการที่เราใช้อำนาจ
ในทางที่ผิดหรือใช้ไม่เกิดประสิทธิภาพจะส่งผลต่อตัวเรา ครอบครัว และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ กำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนที่เราต้องไปใช้สิทธิลงคะแนน
ในการเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ปกครองผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน
การเสียสิทธิทางการเมือง
รัฐธรรมนูญกำหนดให้คนไทยทุกคนที่มีอายุครบ ๑๘ ปีบริบูรณ์ในวันที่ ๑ มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้งถือเป็นหน้าที่ต้องไปเลือกตั้ง
เมื่อกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่แล้ว ผู้ใดไม่ไปเลือกตั้งตามหน้าที่และไม่ไปแจ้งสาเหตุที่ไม่ไปเลือกตั้งจะเสียสิทธิทางการเมือง ๘ ประการดังนี้
๑. สิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ส.ก. ส.อบจ. ส.ท. ส.อบต. และสมาชิกเมืองพัทยารวมทั้งผู้บริหารท้องถิ่น
เช่น นายกเทศมนตรี นายกอบจ. ถ้าเห็นว่ามีการทุจริตการเลือกตั้ง
๒. สิทธิร้องคัดค้านการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเห็นว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต
๓. สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่น
๔. สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
๕. สิทธิเข้าชื่อร้องขอ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมาย
๖. สิทธิขอเข้าชื่อร้องขอเพื่อให้ ส.ว.มีมติถอดถอนบุคคลในตำแหน่งสำคัญ เช่น นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริต
๗ .สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้สภาท้องถิ่น เช่น สภาอบต. สภาเทศบาล พิจารณาออกข้อบัญญัติท้องถิ่น
๘ .สิทธิเข้าชื่อร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น เช่น สภาเทศบาล หรือผู้บริหารท้องถิ่น เช่น นายกอบจ.
สิทธิจะได้กลับคืนอย่างไร
เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ส.หรือ ส.ว. เราก็ต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง สิทธิ ๘ ประการ ก็จะกลับคืนมาให้เราใช้สิทธิเหล่านั้นได้
พบทุจริตแจ้งใคร
ให้จดจำข้อมูลว่าใคร ทำอะไร อย่างไร ที่ไหน เมื่อไร และเพื่อใครและหากมีหลักฐานให้เก็บรวบรวมไว้ด้วย นำข้อมูลและหลักฐานการทุจริต
แจ้งต่อตำรวจในพื้นที่หรือรายงานให้ กกต. รับทราบโดยการโทรศัพท์ สายด่วนเลือกตั้ง ๑๑๗๑ หรือโทรสาร
มาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ๗๖ จังหวัดทั่วประเทศ
แนวทางการเลือกตั้งผู้แทนที่ดี
ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้มอบอำนาจอธิปไตย คือไม่รู้จะตัดสินใจเลือกคนที่เหมาะสมที่จะเป็นผู้แทนของตน
เพื่อตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ แทนตน จึงควรเลือกคนโดยพิจารณาจากคนที่มีลักษณะต่อไปนี้
มีประวัติการทำงานหรือผลงานที่ผ่านมาดี และเป็นที่ยอมรับ
มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละ คือ เป็นที่ยอมรับของคนในหมู่บ้านท้องถิ่น โดยส่วนรวมว่าเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริตทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน
มีความรู้ ความสามารถ คือ มีการศึกษาพอสมควร และรู้จักวางแผนการพัฒนาหมู่บ้าน ท้องถิ่นให้ตรงกับความต้องการและความจำเป็นของประชาชนในท้องถิ่น
และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ให้ประชาชนในท้องถิ่นมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
เคารพกฎหมายและระเบียบ และกติกาของบ้านเมือง
มีบทบาทในการส่งเสริม และพัฒนาประชาธิปไตย คือ ต้องเป็นผู้ที่เคารพเสียงส่วนมากยอมรับฟังความคิดเห็นของคนหมู่มากไม่ถือเอาความคิดของ
ตนเองเป็นความคิดที่ถูกต้องแต่เพียงฝ่ายเดียว
มีการหาเสียง หรือการแนะนำตัวอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ทำผิดกติกาเลือกตั้ง
เข้าถึงประชาชนในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และนำมาแก้ไขโดยเสนอนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน
เป็นแบบอย่างของการรู้จักรักษาประโยชน์ส่วนรวม เช่น ไม่เป็นผู้บุกรุก เบียดบัง และเบียดเบียนสาธารณประโยชน์และประโยชน์สุขของประชาชน
กระตุ้น ส่งเสริม ให้ประชาชนรู้จักรวมกลุ่ม และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
อำนาจหน้าที่ของ ส.ส.
ส.ส. คือตัวแทนของประชาชนที่เราเลือกเข้าไปทำหน้าที่สำคัญ คือ
ออกกฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และแผ่นดิน ดูแลทุกข์สุข ปัญหา ความต้องการของประชาชนในเขตของเรา แล้วนำไปเสนอรัฐบาลแก้ไข
หรือเสนอรัฐบาล ออกกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เข้าบริหารประเทศ ตรวจสอบรัฐบาลโดยตั้งกระทู้ถาม อภิปรายทั่วไป
อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือคณะ ถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ถ้ากระทำผิด
ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินและการใช้จ่ายของรัฐบาล ในปีหนึ่งงบประมาณแผ่นดินสำหรับพัฒนาประเทศ มีประมาณไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
ส.ส. มีกี่ประเภท
ส.ส. แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
ส.ส. แบบแบ่งเขต คือ แบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น ๔๐๐ เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้ง มี ส.ส. ได้ ๑ คน รวมทั้งประเทศจึงมี ส.ส. ๔๐๐ คน
หลักการนี้มาจากเหตุผลที่ว่าแต่ละเขตเลือกตั้งควรมีจำนวน ส.ส. เท่ากันอย่างสม่ำเสมอประชาชนหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงเท่ากันมีความเสมอภาคกัน ไม่ว่าจะมีภูมิลำเนาอยู่
ในพื้นที่ใดหรือยากดีมีจน เป็นชาวไร่ ชาวนา หรือเศรษฐี ซึ่งแตกต่างกับการเลือกตั้งแบบเดิมที่แต่ละเขตมี ส.ส. ไม่เท่ากัน บางเขตมี ๑ คน บางเขตมี ๒ คน หรือ ๓ คน
ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ คือ ส.ส. ที่ทุกพรรคการเมือง ต้องส่งบัญชีรายชื่อพรรคละไม่เกิน ๑๐๐ คนเรียงลำดับไว้ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกควบคู่กับการ
เลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต เหตุผลของการมี ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ก็คือ พรรคการเมืองจะคัดผู้สมัครที่มีความรู้ ความสามารถของพรรคมาลง ส.ส. ประเภทนี้ เมื่อ
พรรคได้เสียงข้างมากก็จะแต่งตั้ง ส.ส. จากบัญชีนี้เป็นรัฐมนตรี แล้วแต่นโยบายของแต่ละพรรคการเมือง
ทั้งนี้เพื่อให้ ส.ส. แบบแบ่งเขต ทำหน้าที่ ส.ส. ด้านนิติบัญญัติหรืออาจแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดูแลทุกข์สุขของประชาชนในพื้นที่แต่เพียงอย่างเดียว ส่วน ส.ส.
แบบบัญชีรายชื่อให้ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรี ถ้าพรรคได้เสียงข้างมาก
ขั้นตอนการลงคะแนน
- ตรวจลำดับที่ของตนในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ปิดประกาศไว้
- ยื่นบัตรประจำตัวประชาชนลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อ
- ลงลายมือชื่อ หรือพิมพ์ลายนิ้วหัวแม่มือขวาที่ต้นขั้วบัตร
- กรรมการจ่ายบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ คือ บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ
- เข้าคูหาลงคะแนน ทำกากบาทบัตรละ ๑ กากบาท ถ้าไม่ต้องการเลือกใครก็กากบาทที่ช่องไม่ลงคะแนน
หย่อนบัตรทั้ง ๒ ในลงในหีบบัตร
- บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต ให้หย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต
- บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้หย่อนลงหีบบัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
- การลงคะแนนล่วงหน้าได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางของเขตเลือกตั้ง
- ถ้าไม่อาจอยู่เลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งของเขตที่ตนเองก็มีสิทธิเลือกตั้งได้ก็ให้ไปเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งตามทะเบียนบ้านได้
ณ ที่เลือกตั้งกลางของเขตเลือกตั้ง ซึ่งมีทุกเขตเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งละ ๑ แห่ง รวม ๔๐๐ แห่ง เพื่อให้ผู้ที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง
ออกจากเขตเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง หรืออาศัยอยู่ต่างเขตเลือกตั้งที่อาจกลับมาเพื่อลงคะแนนล่วงหน้า โดยไม่ต้องขอลงทะเบียน มีขั้นตอนดังนี้
เดินทางกลับไปลงคะแนนในเขตเลือกตั้งตามทะเบียนบ้าน และนำหลักฐานว่าจะไม่อยู่ในเขตเลือกตั้ง หรืออยู่นอกเขตเลือกตั้งไปแสดงด้วย
กรณีไม่มีหลักฐานไปแสดงว่าอยู่นอกเขตเลือกตั้ง ให้ไปกรอกแบบ ทก.๑ เพื่อขอลงคะแนน ณ ที่เลือกตั้ง
เลือกผู้สมัครของเขตเลือกตั้งที่มีชื่อตามทะเบียนบ้าน ๑ คน และเลือกบัญชีรายชื่อ ๑ พรรค
ผู้ที่ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ไม่สามารถไปลงคะแนนเลือกตั้งในวันจริงเป็นการซ้ำสองได้ เพราะจะได้รับโทษตามกฎหมาย
การลงคะแนนล่วงหน้า ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัดที่อาศัยอยู่
กรณีการเลือกตั้งทั่วไป (พร้อมกันทั่วประเทศ) ถ้าไปเลือกตั้งวันจริงไม่ได้ สามารถไปเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ณ ที่เลือกตั้งกลางของจังหวัด
มีทุกจังหวัด ๆ ละ ๑ แห่ง รวม ๗๖ แห่ง มีไว้ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่อยู่ ปัจจุบันซึ่งไม่ได้อยู่ในจังหวัดที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ได้ลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้ากัน โดยไม่ต้องเดินทางกลับภูมิลำเนา แต่ต้องยื่นคำร้องขอลงทะเบียนก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า ๒๐ วัน ดังนี้
ขอรับแบบพิมพ์ลงทะเบียนและยื่นต่อนายอำเภอ ปลัดเทศบาล และ ผอ.เขตของ กทม. ในจังหวัดที่เราอาศัยอยู่ด้วยตนเองทางไปรษณีย์
หรือทำหนังสือมอบหมายให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอื่นทำแทน
หลักฐาน สำเนาบัตรประชาชน หรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายซึ่งทางราชการออกให้ และมีหมายเลขประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน
หนังสือรับรองสถานที่อยู่ปัจจุบันจากบริษัท นายจ้าง สถานศึกษา หรือผู้ให้เช่าบ้าน ฯลฯ (กรณีที่ย้ายทะเบียนบ้านมาแล้ว แต่ไม่ถึง ๙๐ วัน
ไม่ต้องมีหนังสือรับรองนี้) พร้อมซองเปล่าติดแสตมป์จ่าหน้าซองถึงตนเอง เพื่อรอคำตอบรับจาก อำเภอ เทศบาล หรือเขต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ