คำสั่ง
(ตาม พ.ร.บ.ฯ ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ)
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ที่ 5019/2551 ศาลฎีกา
วันที่ 8 เดือน กรกฎาคม พุทธศักราช 2551
ความแพ่ง
คณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ร้อง
ระหว่าง
นายยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ 1
นางสาวละออง ติยะไพรัช ที่ 2 ผู้คัดค้าน
เรื่อง คดีที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง (ขอให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งและสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่)
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 และในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ผลปรากฏว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็น
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ ๓ ได้รับเลือกตั้งผู้ร้องได้ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๕๑ ให้ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ ๓ ต่อมานายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ ๓ พรรคชาติไทย ยื่นคำร้องคัดค้านว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๑ และ ๒ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทำการสืบสวนสอบสวนแล้วได้ความว่าเมื่อวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.๒๕๕๐ กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน ๑๐ คน และนายบรรจง ยางยืนนายกเทศมนตรีตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นตัวแทน (หัวคะแนน) ของผู้คัดค้านที่ ๑ ได้โดยสารเครื่องบินจากจังหวัดเชียงรายไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ ที่กรุงเทพมหานคร และผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือสนับสนุนผู้คัดค้านที่ ๒
และนายอิทธิเดช แก้วหลวง ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๐ แล้วผู้คัดค้านที่ ๑ ให้นายบรรจงนำเงินมามอบให้แก่กลุ่มกำนันคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท และให้นายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนันตำบลจันจว้า อีก ๔๐,๐๐๐ บาท เป็นค่าโดยสารเครื่องบินของกลุ่มกำนันที่นายชัยวัฒน์ได้ทดรองจ่ายไปก่อน ผู้ร้องพิจารณาแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ได้กระทำการดังกล่าวจริงจึงเป็นการให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้อื่นเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองใดอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนผู้คัดค้านที่ ๒ ไม่ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้ก่อให้ผู้อื่น กระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว แต่การกระทำของผู้คัดค้านที่ ๑ มีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๒ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ควรให้มีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายเขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่ จำนวน 1 คน แทนผู้คัดค้านที่ 2 ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 และสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายเขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่จำนวน 1 คน แทนผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเนื่องจากนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริง และต่อมานายวิจิตรก็ได้ยื่นคำร้องขอถอนร้องคัดค้านการเลือกตั้งซึ่งนายวิจิตรมีสิทธิที่จะขอถอนได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามและการคัดค้านการเลือกตั้งหากก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกคัดค้านย่อมมีผลต่อความรับผิดในทางกฎหมายเฉพาะตัวของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งได้เพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้อง ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ที่ผู้ร้องอ้างในการมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเป็นระเบียบที่ใช้บังคับไม่ได้เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และในทางปฏิบัติที่ผ่านมาผู้ร้องก็เคยอนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งผู้ร้องจึงไม่ชอบและเป็นการเลือกปฎิบัติ ถือว่าไม่มีการคัดค้านการเลือกตั้งอีกต่อไป การที่ผู้ร้องอาศัยเหตุแห่งการร้องคัดค้านการเลือกตั้งและพยานหลักฐานของนายวิจิตรมาพิจารณาและมีมติว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมจึงไม่ชอบ และมติของผู้ร้องดังกล่าวยังขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๘ วรรคสอง เนื่องจากมีกรรมการการเลือกตั้ง ๑ คน งดออกเสียง ผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้นัดหมายหรือเรียกกลุ่มกำนันในพื้นที่อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ให้ไปพบที่กรุงเทพมหานครเพื่อให้ช่วยเหลือผู้สมัครพรรคพลังประชาชน แต่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อขอให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ช่วยเจรจาทวงหนี้จากนายชูชาติ จันทะวาลย์ อดีตสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายที่ค้างชำระค่ารับเหมาขุดลอกคูคลองและทำถนนตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำรวมเป็นเงิน ๑,๙๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่กลุ่มกำนัน ผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้จ่ายเงินหรือมอบให้ผู้หนึ่งผู้ใดจ่ายเงิน จัดเลี้ยงอาหารและจ่ายค่าเช่าห้องพักโรงแรมเอส ซี ปาร์ค ให้แก่กลุ่มกำนันและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มกำนันในการเดินทางไป
กรุงเทพมหานคร พยานหลักฐานที่ผู้ร้องได้รับจากนายวิจิตรเป็นพยานที่เกิดจากการสร้างหรือปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ นายวิจิตรจึงขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเนื่องจากพยานหลักฐานทั้งปวงในคดีเป็นเท็จ แต่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนและผู้ร้องมิได้รับฟ้องข้อโต้แย้งและคำให้การแก้ข้อกล่าวหาตลอดจนพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ ๑ เกี่ยวกับเรื่องการสร้างหรือปรุงแต่งพยานหลักฐานดังกล่าว การพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ร้องมีลักษณะรวบรัดและรับฟังพยานหลักฐานไม่เสร็จสิ้นกระแสความ มิได้ใช้ดุลพินิจรับฟังข้อเท็จจริงที่เป็นพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดีในสำนวนความทั้งหมดเพื่อพิสูจน์ว่ามีการกระทำตามคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผู้ร้องกลับเลือกเอาข้อเท็จจริงบางตอนและคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ผู้ร้องกลับเลือกเอาข้อเท็จจริงบางตอนและบางช่วงของเหตุการณ์มาวินิจฉัยเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ หากมีการพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า พยานหลักฐานถูกปรุงแต่งให้มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเกินกว่าความเป็นจริงและมีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาดำเนินการกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ ๑ การใช้อำนาจการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ร้องไม่ชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวน และการวินิจฉัย
ชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๕0 เนื่องจากมีการนำเอางานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่กระทำโดยไม่มีอำนาจการรับฟังเป็นพยานหลักฐานตามมติ กกต.ที่ ๑๒๒/๒๕๕0 โดยที่ผู้ร้องมิได้ออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลให้เป็นกรรมการสืบสวนสอบสวนแต่อย่างใด และเมื่อผู้ร้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ ๒๕/๒๕๕๑ คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดนี้ได้นำคำให้การพยานที่เกิดจากการสืบสวนสอบสวนโดยมิชอบมาให้พยานรับรองคำให้การเดิมโดยมิได้สอบคำให้การใหม่ มิได้สืบสวนสอบสวนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด การนำคำให้การพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ชอบ และตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๕0 ข้อ ๕๙ และข้อ ๖๒ กำหนดให้ผู้ร้องต้องจัดให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นประกอบสำนวนการสืบสวนเสนอต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเลขาธิการแล้วแต่กรณี และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีโอกาสให้ความเห็นท้ายรายงานการสืบสวนสอบสวนแล้วเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ
จังหวัดเพื่อพิจารณาและทำความเห็นโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบนำเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดทำความเห็นโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบนำเสนอผู้ร้อง เพื่อผู้ร้องจะได้นำความเห็นของบุคคลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกคัดค้าน ซึ่งทำให้การพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม แต่ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวกลับออกคำสั่งให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนรายงานผลการสืบสวนสอบสวนต่อผู้ร้องโดยตรง เป็นการลดขั้นตอนการอำนวยความยุติธรรม เร่งรัดการพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างผิดปกติวิสัย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม อีกทั้งการกระทำที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายของผู้คัดค้านที่ ๑ ก็เกิดขึ้นก่อนวันสมัครรับเลือกตั้งซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ ยังไม่อยู่ในฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรณีไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๓ และไม่ต้องด้วยมาตรา ๑๑๑ ที่ผู้ร้องจะยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ นอกจากนี้ตามคำร้องของ
ผู้ร้องก็ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าหลังจากผู้คัดค้านที่ 1 พบกับกลุ่มกำนันแล้วกลุ่มกำนันได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ช่วยเหลือในการหาเสียง หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนแขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงราย กรณียังถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดที่ 1 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมประกอบกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนเป็นการเลือกพรรคการเมืองไม่ได้เน้นตัวผู้สมัครแต่คำนึงถึงนโยบายและผลงานของพรรคการเมืองเป็นหลัก ผู้สมัครมิได้มีบทบาทหรือความสำคัญเท่าพรรคการเมือง เขตเลือกตั้งกว้างว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต การที่ผู้สมัครคนใดคนหนึ่งในบัญชีรายชื่อกระทำการอันฝ่าฝืนต่อกฎหมายแทบจะไม่มีผลกระทบต่อการเลือกตั้ง หากถือว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งดังกล่าวมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมย่อมไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของมาตรา 111 ซึ่งใช้บังคับแก่การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเพราะการกระทำฝ่าฝืนต่อกฎหมายของผู้สมัครมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งโดยตรงเนื่องจากเขตเลือกตั้งเล็กและการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่
ก็ไม่มีความยุ่งยาก กรณีไม่เข้าเงื่อนไขของกฎหมายที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมเพราะไม่แสดงซึ่งสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตลอดทั้งข้อเท็จจริงที่กล่าวอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับประโยชน์อย่างไรจากการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ในอันที่จะทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายเขตเลือกตั้งที่ 3 ในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเนื่องจากนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงและต่อมาได้ขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อผู้ร้องแล้วซึ่งนายวิจิตรมีสิทธิจะขอถอนได้เพราะการคัดค้านมีผลต่อความรับผิดในทางกฎหมายเฉพาะตัวของผู้คัดค้านหาก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกคัดค้านและไม่มีกฎหมายห้ามมิให้ถอนคำร้องคัดค้าน และผู้ร้องก็ไม่อาจใช้ดุลพินิจให้ถอนคำร้องคัดค้านดังกล่าวเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้อง แต่ผู้ร้องกลับมีมติไม่อนุญาตโดยอ้างระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด
พ.ศ.2550 ซึ่งระเบียบดังกล่าวใช้บังคับไม่ได้เพราะเป็นการออกมาจำกัดสิทธิของบุคคลขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และในทางปฏิบัติที่ผ่านมาผู้ร้องก็เคยอนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ร้องจึงไม่ชอบและเป็นการเลือกปฏิบัติ การที่ผู้ร้องไม่อนุญาตให้นายวิจิตรถอนคำร้องคัดค้านแล้วอาศัยเหตุแห่งการร้องคัดค้านและพยานหลักฐานของนายวิจิตรมาพิจารณาและมีมติว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมจึงเป็นการไม่ชอบ ทั้งในการลงมติดังกล่าวก็ปรากฎว่ามีกรรมการการเลือตั้งงดออกเสียง 1 คน ขัดต่อมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 นอกจากนี้ในการสืบสวนสอบสวนก็ปรากฎว่าผู้ร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลซึ่งไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทำการสืบสวนเรื่องนี้โดยไม่มีอำนาจแล้วนำมาเอาสำนวนการสืบสวนสอบสวนดังกล่าวมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน การพิจารณาและการแจ้งข้อหาเป็นไปโดยเร่งด่วน รีบร้อน ไม่สุจริต ไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ 2 นำพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ และรับฟังพยานหลักฐานทั้งที่ยังไม่
เสร็จสิ้นกระแสความ มีการลดทอนการรับฟังข้อเท็จจริงและเหตุผลโดยมิให้เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งทำความเห็นสรุปข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบเสนอต่อผู้ร้องตามขั้นตอน การสืบสวนสอบสวนและการวิจัยชี้ขาดของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ พระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๕๐ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ และ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๕๐ มติของผู้ร้องจึงขัดต่อกฎหมายและใช้บังคับไม่ได้ ผู้คัดค้านที่ ๒ มิได้เป็นผู้กระทำการฝ่าฝืนมาตรา ๕๓(๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการมาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐ มิได้เป็นผู้ก่อ ให้การสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว มิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องและมิได้รับประโยชน์จากการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ ๑ ทั้งในวันที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้ร้องก็ยังไม่ได้กำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง ผู้คัดค้านที่ ๒ ยังไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ยังไม่ยุติว่าพรรค
พลังประชาชนจะมีมติส่งผู้คัดค้านที่ ๒ ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดหรือไม่ และผู้ร้องจะรับรองคุณสมบัติผู้คัดค้านที่ ๒ หรือไม่ ระยะเวลานับแต่วันที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการกระทำความผิดจนถึงวันเลือกตั้งก็ไม่ปรากฎว่ากลุ่มกำนันได้ไปหาเสียงช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ ๒ และใช้สิทธิลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ หรือกลุ่มกำนันมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ในลักษณะใดที่จะปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๒ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านที่ ๒ ได้รับประโยชน์จากการที่กลุ่มกำนันไปพบกับผู้คัดค้านที่ ๑ เพราะเป็นพี่น้องกันจึงเป็นเพียงการสันนิษฐานหรือคาดคะเนของผู้ร้องและเป็นเรื่องไกลเกินกว่าเหตุ ผู้ร้องจะอาศัยเหตุแห่งการกระทำของบุคคลอื่นใปนผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ ๒ หาได้ไม่ และการที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ ๑ ได้คะแนนมากกว่าผู้สมัครพรรคชาติไทยซึ่งเป็นคู่แข่งถึง ๑๓,๔๖๙ คะแนน เป็นผลมาจากความนิยมในพรรคพลังประชาชนและตัวผู้คัดค้านที่ ๒ หาใช่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่กลุ่มกำนันไปพบกับผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ และกำนันทั้ง ๑๐ คนก็มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง ๑๐ เสียง
เท่านั้น ไม่อาจทำให้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ยังไม่มีเหตุที่จะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ กรณีถือไม่ได้ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ไม่มีเหตุต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดตรวจพยานหลักฐานผู้คัดค้านที่ 2 แถลงสละข้อต่อสู้ประเด็นเรื่องคำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม
ศาลกีฎาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นตามทางไต่สวนและที่คู่ความแถลงรับกันฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 โดยกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ต่อมาวันที่ 28 ตุลาคม 2550 กลุ่มกำนันในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย รวม 10 คน ซึ่งประกอบด้วยนายชัยวัฒน์ ฉางข้าวคำ กำนันตำบลจันจว้า นายอดิศร เรือนคำ กำนันตำบลศรีค้ำ
นายพัฒน์ ก้างออนตา กำนันตำบลจอมสวรรค์ นายบุญธรรม คำคะ กำนันตำบลแม่คำ นายดวงแสง มูลกาศ กำนันตำบลแม่จัน นายจรินทร์ วงศ์ธานี กำนันตำบลป่าตึ้ง นายพรชาติ สุวรรณรัตน์ กำนันตำบลแม่ไร่ นายประสิทธิ์ จินตาธรรม กำนันตำบลจันจว้าใต้ นายชด บุตรชา กำนันตำบลป่าซาง และนายสมบูรณ์ อรินด๊ะทราย กำนันตำบลสันทราย ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปกรุงเพทมหานคร โดยสายการบินไทย แอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ เอฟดี 3255 ซึ่งเที่ยวบินดังกล่าวมีนายบรรจง ยางยืน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันจว้า และดาบตำรวจมานิตย์ สุฉายา ร่วมเดินทางไปด้วย เมื่อไปถึงสนามบินสุวรรณภูมินายบรรจงและกลุ่มกำนันโดยสารรถยนต์ตู้หมายเลข ทะเบียน อว 39 กรุงเทพมหานคร ไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชน ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ กรุงเทพมหานคร โดยมีพันตำรวจเอกประภาส ปิยะมงคล ดาบตำรวจสุเทพ ศรีสุข และนางกัญชรส ชาภู่พวง ซึ่งรออยู่ที่สนามบินใช้รถยนต์อีกคันหนึ่งรับดาบตำรวจมานิตย์ติดตามกลุ่มกำนันดังกล่าวไปด้วย จากนั้นนายบรรจงและกลุ่มกำนันโดยสารรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ออ 1660 กรุงเทพมหานคร ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากที่ทำการพรรคพลังประชาชนไปที่โรงแรม
เอส ซี ปาร์ค ถนนรามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง กรุงเทพมหานคร นายบรรจง และกลุ่มกำนันได้พบและพูดคุยกับผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่โรงแรมดังกล่าวและพักที่โรงแรม 1 คืน วันรุ่งขึ้นกลุ่มกำนันโดยสารรถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ออ 1660 กรุงเทพมหานคร ไปสนามบินดอนเมืองและโดยสารเครื่องบินของสายการบินนกแอร์ เที่ยวบินที่ดีดี 8714 กลับจังหวัดเชียงราย ต่อมาเมื่อผู้ร้องประกาศรับสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนและแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ผู้คัดค้านที่ 1 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดที่ 1 ในนามพรรคพลังประชาชน ผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้คัดค้านที่ 1 สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงรายในนามพรรคพลังประชาชนเขตเลือกตั้งที่ 3 แต่ก่อนถึงวันเลือกตั้งนายวิจิตร ยอดสุวรรณ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 พรรคชาติไทย ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อผู้ร้องเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2550 ว่าการที่กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2550 ดังกล่าว
น่าเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 จะต้องมีการให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่กลุ่มกำนันดังกล่าวเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครพรรคพลังประชาชน หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น ซึ่งเป็นการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งอันน่าจะเป็นผลให้การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านทั้งสองมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ตามเอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 5 ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ปรากฏว่าผู้คัดค้านทั้งสองได้รับเลือกตั้ง ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2551 นายวิจิตรยื่นคำร้องขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง แต่ผู้ร้องไม่อนุญาต วันที่ 18 มกราคม 2551 ผู้ร้องประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนให้ทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงตามคำร้องคัดค้านของนายวิจิตรแล้วเสนอความเห็นต่อผู้ร้องว่าผู้คัดค้านทั้งสองกระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 53 (1) และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 เห็นควรให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านทั้งสอง และให้มีการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่ ตามสรุปความเห็นกรรมการสืบสวนสอบสวนเอกสารหมาย ร.1 แผ่นที่ 4 ถึงแผ่นที่ 18 ผู้ร้องมีคำวินิจฉัยชี้ขาดว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เห็นควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 และให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านที่ 1 มาตรา 53 ประกอบมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่จำนวน 1 คน แทนผู้คัดค้านที่ 2 ตามความเห็นคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ 28/2551 เอกสารท้ายคำร้องหมายเลข 6
พิเคราะห์แล้ว คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยข้อแรกว่า การที่ผู้ร้องไม่อนุญาตให้
นายวิจิตร ยอดสุวรรณ ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งชอบหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า นายวิจิตรยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริง และต่อมานายวิจิตรได้ยื่นคำร้องขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งนายวิจิตรมีสิทธิที่จะขอถอนได้ เพราะไม่กฎหมายห้ามและการคัดค้านการเลือกตั้งหากก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถูกคัดค้านย่อมมีผลต่อความรับผิดในทางกฎหมายเฉพาะตัวของผู้คัดค้าน ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเพราะไม่มีกฎหมายให้อำนาจผู้ร้อง ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ที่ผู้ร้องอ้างในการมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเป็นระเบียบที่ใช้บังคับไม่ได้เพราะเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และในทางปฏิบัติที่ผ่านมาผู้ร้องก็เคยอนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ร้องจึงไม่ชอบและเป็นการเลือกปฏิบัติ ถือว่าไม่มีการคัดค้านการเลือกตั้งอีกต่อไป การที่ผู้ร้องอาศัยเหตุแห่งการร้องคัดค้านการเลือกตั้งและพยานหลักฐานของนายวิจิตรมาพิจารณาและมีมติว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านทั้งสอง
เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมจึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 114 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองซึ่งมีสมาชิกสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่งมีสิทธิยื่นคัดค้านต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนวิธีการยื่นคำคัดค้านการเลือกตั้งและการพิจารณานั้นมาตรา 114 วรรคท้าย บัญญัติให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ซึ่งระเบียบดังกล่าวได้วางข้อกำหนดเกี่ยวกับการถอนเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งไว้ใน ข้อ 42 วรรคหนึ่งว่า ผู้คัดค้านจะถอนเรื่องคัดค้านเสียเวลาใดก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเลขาธิการจะมีความเห็นเสนอต่อคณะกรรมการเลือกตั้งก็ได้ และข้อ 42 วรรคสอง กำหนดไว้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนเรื่องคัดค้านก็ได้ หากอนุญาตให้ถอนให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือ
เลขาธิการยุติการดำเนินการแล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาพร้อมสำนวยการสืบสวนสอบสวน ส่วนข้อ 42 วรรคสาม กำหนดไว้ว่า ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นด้วยกับการถอนเรื่องคัดค้านให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการสั่งจำหน่ายเรื่องคัดค้านนั้นและแจ้งผู้คัดค้านทราบ หากคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าควรดำเนินการต่อไปให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการปฏิบัติไปตามนั้น จะเห็นได้ว่าแม้ระเบียบดังกล่าวมิได้ห้ามผู้คัดค้านการเลือกตั้งขอถอนคำร้องคัดค้านก็ตาม แต่การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านในเบื้องต้นให้อยู่ในดุลพินิจของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการแล้วรายงานให้ผู้ร้องเพื่อพิจารณา ส่วนการจะอนุญาตให้ผู้คัดค้านการเลือกตั้งถอนคำร้องคัดค้านหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของผู้ร้อง ซึ่งการให้อำนาจผู้ร้องใช้ดุลพินิจอนุญาตให้ถอนหรือไม่ให้ถอนคำร้องคัดค้านหาใช้เรื่องการจำกัดสิทธิบุคคลดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างไม่ ทั้งนี้เพราะการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งซึ่งทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมมิได้มีผลเฉพาะบุคคลใด
บุคคลหนึ่ง ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดผู้หนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเท่านั้นแต่เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากความปรากฏต่อผู้ร้องว่ามีการกระทำใดอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งเกิดขึ้นไม่ว่าจะโตผู้ร้องเห็นเองหรือมีการยื่นคำร้องคัดค้านต่อผู้ร้องก็ตาม ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 235 ย่อมมีอำนาจดำเนินการให้มีการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงตามรัฐธรรมนูยแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 236 (5) และตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ได้ การถอนคำร้องเรื่องคัดค้านของผู้คัดค้านการเลือกตั้งจึงมิใช่เป็นเงื่อนไขเด็ดขาดให้ผู้ร้องต้องใช้ดุจพินิจอนุญาตเสมอไป การที่ผู้ร้องไม่อนุญาตให้นายวิจิตรถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งและยังคงดำเนินการสืบสวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงต่อไปว่ามีการกระทำตามคำร้องดังกล่าวหรือไม่แล้ววินิจฉัยชี้ขาดหรือมีมติเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมและดำเนินการจัด หรือจัด
ให้มีการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของนายวิจิตรแต่อย่างใด และกรณีหาได้มีปัญหาว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช พ.ศ.2550 ดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างไม่ ทั้งในทางปฏิบัติที่ผ่านมาผู้ร้องก็เคยไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งมาแล้ว มิใช่เพิ่งมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งเฉพาะกรณีของนายวิจิตร การที่ผู้ร้องไม่อนุญาตให้นายวิจิตรถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งจึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้าง ส่วนการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งของนายวิจิตรจะทำให้นายวิจิตรต้องรับผิดในทางกฎหมายต่อผู้คัดค้านทั้งสองหรือไม่อย่างไรเป็นเรื่องระหว่างนายวิจิตรกับผู้คัดค้านทั้งสองที่จะต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หาใช่เรื่องที่ผู้ร้องจำต้องนำมาพิจารณาในชั้นนี้ไม่ การที่ผู้ร้องไม่อนุญาตให้นายวิจิตรถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งจึงชอบแล้ว คำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า กระบวนการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งของผู้ร้องชอบหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่าการใช้อำนาจการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องการคัดค้านการเลือกตั้งของ
ผู้ร้องไม่ชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 เนื่องจากมีการนำเอางานสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลที่กระทำโดยไม่มีอำนาจมารับฟังเป็นพยานหลักฐานตามมติ กกต.ที่ 122/2550 โดยที่ผู้ร้องมิได้ออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลให้เป็นกรรมการสืบสวนสอบสวน และเมื่อผู้ร้องแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามคำสั่ง กกต.ที่ 25/2551 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดนี้ได้นำคำให้การพยานที่เกิดจากการสืบสวนสอบสวนโดยมิชอบมาให้พยานรับรองโดยมิได้สอบคำให้การใหม่ มิได้สืบสวนสอบสวนตามขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนด การนำคำให้การพยานดังกล่าวมารับฟังเป็นผลร้ายแก่ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ชอบอีกทั้งการพิจารณาและการแจ้งข้อหาก็เป็นไปโดยเร่งด่วน รีบร้อน ไม่สุจริต ไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ 1 นำพยานหลักฐานมาแก้ข้อกล่าวหาได้อย่างเต็มที่ และตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ข้อ 59 และข้อ 62 กำหนดให้ผู้ร้องต้องจัดให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนสรุปข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นประกอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนเสนอ
ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หรือเลขาธิการแล้วแต่กรณี และให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีโอกาสให้ความเห็นท้ายรายงานการสืบสวนสอบสวนแล้วเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาและทำความเห็นโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบนำเสนอต่อเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อให้เลขาธิการคณะกรรมการเลือกตั้งจัดทำความเห็นโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบนำเสนอผู้ร้องเพื่อผู้ร้องจะได้นำความเห็นของบุคคลดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาด อันเป็นการอำนวยความยุติธรรมแก่ผู้ถูกคัดค้าน ซึ่งทำให้การพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดเป็นไปโดยถูกต้องและเที่ยงธรรม แต่ผู้ร้องมิได้ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวกลับออกคำสั่งให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนรายงานผลการสืบสวนต่อผู้ร้องโดยตรง เป็นการลดขั้นตอนการอำนวยความยุติธรรม เร่งรัดการพิจารณาและการวินิจฉัยชี้ขาดอย่างผิดปกติวิสัย เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมนั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า หลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 ผู้รองได้มีมติ กกด.ที่ 92/2550 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2550 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเพื่อทำการสืบสวนเรื่องคัดค้าน
การเลือกตั้ง ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2550 ผู้ร้องมีคำสั่ง กกต.ที่ 300/2550 แต่งตั้ง กรรมการสืบสวนสอบสวนตามมติดังกล่าว วันที่ 18 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องมีมติ กกต.ที่ 114/2550 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชการตำรวจสันติบาลที่ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนผู้ร้องให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งเพื่อดำเนินการสืบสวนสอบสวนกรณีมีการกระทำการอันฝ่าผืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง วันที่ 20 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องมีคำสั่ง กกต.ที่ 358/2550 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาล จำนวน 708 นาย เป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งตามมติดังกล่าว และในวันดังกล่าวนายวิจิตรได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งต่อผู้ร้อง ผู้ร้องส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงรายดำเนินการ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งรับเป็นเรื่องคัดค้านแล้วส่งคำร้องคัดค้านให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนประจำจังหวัดเชียงรายดำเนินการสอบสวนสอบสวนตามระเบียบ วันที่ 27 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนประจำจังหวัดเชียงรายลาออกจากการเป็นกรรมการสืบสวนสอบสวน วันที่ 28 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องมีมติ กกต.ที่ 121/2550 แต่งตั้งให้
เจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นสัญญาบัตรกองบัญชาการตำรวจสันติบาลซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานในการเลือกตั้งเป็นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนด้วยในวันดังกล่าวกองบัญชาการตำรวจสันติบาลมีคำสั่งที่ 397/2550 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลเป็นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามมติ กกต.ดังกล่าว โดยมีพันตำรวจเอกสุวรรณ เอกโพธิ์ เป็นประธานกรรมการ วันที่ 29 ธันวาคม 2550 ผู้ร้องมีมติ กกต.ที่ 122/2550 ให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนประจำจังหวัดเชียงรายลาออกและให้เอาสำนวนการสืบสวนสอบสวนมารวมพิจารณากับเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งของนายวิจิตรที่ผู้ร้องมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลดำเนินการสืบสวนสอบสวน วันที่ 10 มกราคม 2550 ผู้ร้องมีมติ กกต.ที่ 8/2551 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนโดยมีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธานกรรมการดำเนินการสืบสวนเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งของนายวิจิตรเนื่องจากผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลไม่มีความเป็นกลาง วันที่ 14 มกราคม 2551 แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนโดยมีนายสุวิทย์เป็นประธานกรรมการตามมติดังกล่าว เห็นว่า แม้การสืบสวนสอบสวนคำร้อง
คัดค้านการเลือกตั้งที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลซึ่งผู้ร้อง มีเพียงมติแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสืบสวนสอบสวนโดยยังมิได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมสืบสวนสอบสวนตามมติดังกล่าวดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองกล่าวอ้างจะชอบด้วยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 หรือไม่ก็ตาม เมื่อปรากฎว่าต่อมาผู้ร้องได้มีมติและคำสั่ง กกต.ที่ 8/2551 และ 25/2551 ตามลำดับ แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดใหม่โดยมีนายสุวิทย์ ธีรพงษ์ เป็นประธานกรรมการเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนคำร้องคัดค้านการเลือตตั้งดังกล่าว และในการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดใหม่นี้ได้เรียกพยานที่เคยให้การหรือให้ปากคำต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลมาสอบโดยให้พยานแต่ละคนอ่านบันทึกถ้อยคำของตนตามที่เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสันติบาลได้ทำการสอบปากคำและบันทึกไว้ ปรากฎว่าพยานบางปากยังคงยืนยันที่จะให้การเช่นเดิม บางปากมีการสอบคำให้การเพิ่มเติม และบางปากขอให้การใหม่พร้อมกับทำบันทึกถ้อยคำมามอบให้แทนการให้ถ้อยคำด้วยวาจา ซึ่งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนก็ได้ทำบันทึกถ้อยคำเพิ่มเติมและให้พยานลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน กรณี
ดังกล่าวถือได้ว่าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้ทำการสืบสวนสอบสวนตามระเบียบแล้วหาจำต้องสอบปากคำพยานและทำบันทึกถ้อยคำของพยานใหม่ทั้งหมดดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างไม่ สำหรับระยะเวลาในการสืบสวนสอบสวนเนื่องจากระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ. ๒๕๕๐ ข้อ ๔๕ ได้กำหนดกรอบเวลาให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนต้องทำการสืบสวนสอบสวนและสรุปสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน ๑๐ วันนับแต่วันที่ได้สั่งรับเป็นเรื่องคัดค้าน หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดก็ให้ขอขยายระยะเวลาทำการสืบสวนสอบสวนออกไปได้โดยแสดงเหตุผลความจำเป็น ข้อเท็จจริงได้ความตามเอกสารหมาย ร.1 ถึง ร.3 ว่าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้ทำการสืบสวนสอบสวนโดยมีการแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้คัดค้านทั้งสองทราบ ผู้คัดค้านทั้งสองได้มาให้ปากคำต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตลาดจนนำเสนอพยานหลักฐานแก้ข้อกล่าวหาโดยไม่ปรากฎว่าไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านทั้งสองในการนำเสนอพยานหลักฐานแต่ประการใดคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้ทำการสอบพยานฝ่ายนายวิจิตร ๑๙ ปาก พยานฝ่าย
ผู้คัดค้านทั้งสอง 24 ปาก อีกทั้งให้โอกาสผู้คัดค้านที่ 1 ได้ตรวจสอบแผ่นซีดีที่นายวิจิตร ผู้คัดค้านการเลือกตั้งอ้างส่งประกอบการคัดค้านการเลือกตั้งอีกด้วย และคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้ขอขยายระยะเวลาในการสืบสวนสอบสวนถึง 2 ครั้ง เนื่องจากไม่สามารถสรุปสำนวนให้แล้วเสร็จภายใน 10 วัน กรณีเห็นได้ว่าคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้ให้โอกาสผู้คัดค้านทั้งสองได้แก้ข้อกล่าวหาและเสนอพยานหลักฐานเพื่อแก้ข้อกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้ว มิได้ทำการสืบสวนสอบสวนอย่างรีบเร่งโดยไม่สุจริตและผิดปกติวิสัยแต่อย่างใด กระบวนการสืบสวนสอบสวนของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนชุดดังกล่าวจึงชอบแล้ว ส่วนข้อที่ผู้คัดค้าน ทั้งสองอ้างว่า การที่ผู้ร้องออกคำสั่ง กกต.ที่ 25/2551 ให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนรายงานผลการสืบสวนสอบสวนต่อผู้ร้องโดยตรง ไม่ให้มีการทำความเห็นประกอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนตามขั้นตอนนั้นตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาด พ.ศ.2550 ข้อ 59 ได้วางข้อกำหนดไว้ว่า
"เมื่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้วให้ทำรายงานการสืบสวนสอบสวนตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยสรุป
ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นประกอบสำนวนการสืบสวนสอบสวนเสนอต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือเลขาธิการ แล้วแต่กรณี
เมื่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับสำนวนการสืบสวนสอบสวนตามวรรคหนึ่งแล้วให้มีความเห็นท้ายรายงานสืบสวนสอบสวน แล้วเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาโดยเร็ว
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดได้รับสำนวนการสืบสวนสอบสวนจากผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ให้พิจารณาและจัดทำความเห็นโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดโดยเร็ว
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดอาจสั่งให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมก็ได้
ภายใต้ข้อบังคับ 71 เมื่อเลขาธิการได้รับสำนวนการสืบสวนสอบสวนจากคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามวรรคหนึ่ง หรือได้รับสำนวนการสืบสวนสอบสวนตาม
วรรคสาม ให้เลขาธิการจัดทำความเห็นโดยระบุข้อเท็จจริงและเหตุผลประกอบแล้วเสนอต่อคณะกรรมการเลือกตั้งโดยเร็ว ในกรณีที่เลขาธิการเห็นสมควรอาจทำการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมหรือแจ้งข้อกล่าวหา หรือขอให้คณะกรรมการเลือกตั้งประจำจังหวัดทำการสืบสวนเพิ่มเติมหรือแจ้งข้อกล่าวหาก็ได้"
เห็นว่า ระเบียบข้อดังกล่าวเป็นเพียงการกำหนดขั้นตอนในการเสนอสำนวนการสืบสวนเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณากลั่นกรองตามลำดับชั้นว่าสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนทำขึ้นมานั้นมีความสมบูรณ์ครบถ้วนหรือไม่ หากยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนก็อาจสั่งให้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติม หากสมบูรณ์ครบถ้วนแล้วก็เสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมทำความเห็นให้ผู้ร้องได้พิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้น แม้จะไม่มีการเสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนพร้อมความเห็นของผู้เกี่ยวข้องตามลำดับชั้นตามที่ระเบียบกำหนดไว้ดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างก็ไม่มีผลทำให้สำนวนการสืบสวนสอบสวนที่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนดำเนินมาทั้งหมดต้องเสียไป
หรือทำให้ข้อเท็จจริงในสำนวนการสืบสวนสอบสวนเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีผลกระทบต่อการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งซึ่งเป็นอำนาจของผู้ร้องแต่อย่างใด ส่วนในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องดังกล่าวผู้ร้องจะรับฟังพยานหลักฐานในสำนวนการสืบสวนสอบสวนในส่วนไหนอย่างไรเป็นดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานซึ่งเป็นอำนาจของผู้ร้อง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าผู้ร้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวนหรือฝ่าฝืนต่อพยานหลักฐานในสำนวนจึงถือไม่ได้ว่าผู้ร้องปฏิบัติหน้าที่โดยไม่สุจริต ไม่ถูกต้องหรือไม่เที่ยงธรรมแต่อย่างใด กระบวนการสืบสวนสอบสวนและการวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ร้องชอบแล้ว คำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า มติคณะกรรมการการเลือกตั้งครั้งที่ 32/2551 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยผู้คัดค้านทั้งสองอ้างว่า มติดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 เนื่องจากกรรมการการเลือกตั้ง 1 คน งดออกเสียง ผู้ร้องจึงนำมาเป็นเหตุยื่นคำร้องคดีนี้ไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2550 มาตรา ๘ วรรคสอง บัญญัติว่า "การลงมติในการประชุมของ
คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ใช้คะแนนเสียงข้างมาก ...โดยประธานในที่ประชุมและกรรมการการเลือกตั้งที่มาประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติ..." บทกฎหมายดังกล่าว บังคับให้กรรมการการเลือกตั้งที่เข้าร่วมประชุมต้องลงคะแนนเสียงเพื่อมีมติทุกคน จะงดออกเสียงหรือไม่ยอมลงมติหาได้ไม่ และในการพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งกฎหมายก็มิได้บังคับว่าหากมีการเสนอสำนวนการสืบสวนสอบสวนให้ผู้ร้องพิจารณาแล้วกรรมการการเลือกตั้งจะต้องลงความเห็นหรือมีมติแต่เพียงว่าต้องยกคำร้องหรือให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเท่านั้น จะลงมติหรือมีความเห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ดังนั้น หากกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่าสำนวนการสืบสวนสอบสวนที่เสนอมาให้พิจารณายังไม่สมบูรณ์ครบถ้วน จำเป็นต้องสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมในบางเรื่องบางประเด็นกรรมการการเลือกตั้งก็ย่อมลงความเห็นให้มีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมได้ ซึ่งการลงความเห็นดังกล่าวถือว่าเป็นการลงมติอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะการลงมติหมายถึงการลงความเห็นร่วมกันอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ ในการประชุมของผู้ร้องเพื่อลงมติครั้งที่ 32/2551 ว่าผู้คัดค้านทั้งสอง
กระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตามที่มีการร้องคัดค้านหรือไม่นั้น ได้ความตามเอกสารหมาย ร.๔ ว่ามีกรรมการการเลือกตั้งเข้าร่วมประชุมครบ ๕ คน คือนายอภิชาต สุขัคคานนท์ นายประพันธ์ นัยโกวิท นายสุเมธ อุปนิสากร นางสดศรี สัตยธรรม และนายสมชัย จึงประเสริฐ กรรมการดังกล่าวพิจารณาความเห็นของคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนและหลักฐานต่างๆ ในสำนวนการสืบสวนสอบสวนแล้วปรากฏว่านายอภิชาต นายประพันธ์ และนายสุเมธ มีความเห็นว่าผู้คัดค้านที่ ๑ กระทำการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ และการกระทำของผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นเหตุให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ ๓ ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ ๒ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เห็นควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ ๑ และให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ตามมาตรา ๕๓ ประกอบมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.๒๕๕๐ กับให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย
เขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่จำนวน 1 คน แทนผู้คัดค้านที่ 2 นายสมชัยมีความเห็นว่าการกระทำของ ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 แต่ให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้คัดค้านที่ 1 ฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ส่วนนางสดศรีมีความเห็นโดยทำเครื่องหมายในแบบพิมพ์มติกรรมการการเลือกตั้งเอกสารหมาย ร.4 แผ่นที่ 3 ในช่อง สืบสวนสอบสวน/ไต่สวนเพิ่มเติมตามระเบียบฯ และบันทึกต่อท้ายข้อความดังกล่าวว่า ให้สอบสวนเพิ่มเติมโดยให้รวมพิจารณากับเรื่องคัดค้านการเลือกตั้งกรณีพลเอกสมเจตน์ บุญถนอม ร้องคัดค้าน และให้นำเรื่องเอกสารลับมารวมพิจารณาด้วย เห็นว่า การที่นางสดศรีมีความเห็นเช่นนี้ถือว่าได้ลงมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิได้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่ถูกแล้ว ซึ่งมีผลเท่ากับว่าผู้คัดค้านที่ 1 มิได้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายตามที่ถูกกล่าวหาและการเลือกตั้งในเขตเลืกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงรายมิได้เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรม มิใช่นางสดศรีงดออกเสียงหรือไม่ให้ความเห็นแต่อย่างใด มติของผู้ร้องครั้งที่ 32/2551 จึงมิได้ขัดต่อกฎหมาย คำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งสองในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มิได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหา พยานหลักฐานที่ผู้ร้องได้รับจากนายวิจิตรเป็นพยานที่เกิดจากการสร้างหรือปรุงแต่งขึ้นมาเพื่อกลั่นแกล้งกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 และมีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐมาดำเนินการกลั่นแกล้งพรรคพลังประชาชนและผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่า และตามคำร้องของผู้ร้องก็ไม่มีข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าหลังจากผู้คัดค้านที่ 1 พบกับกลุ่มกำนันแล้วกลุ่มกำนันได้เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งหรือมีพฤติการณ์ช่วยเหลือในการหาเสียง หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชน เขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงราย กรณียังถือไม่ได้ว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งแบบสัดส่วนกลุ่มจังหวัดที่ 1 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านทั้งสองยอมรับข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 มีกลุ่มกำนันในเขตอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย รวม 10 คน ซึ่งประกอบด้วยนายชัยวัฒน์ นายอดิศร นายพัฒน์ นายบุญธรรม นายดวงแสง นายจรินทร์ นายพรชาติ นายประสิทธิ์ นายชด และนายสมบูรณ์ได้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปพบผู้คัดค้านที่ 1
ซึ่งเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพมหานคร ส่วนเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นเองหรือเกิดจากการจัดฉากสร้างสถานการณ์หรือสร้างพยานหลักฐานขึ้นมาโดยใช้นายชัยวัฒน์เป็นเครื่องมือเพื่อกลั่นแกล้งหรือสกัดกั้นผู้คัดค้านที่ 1 และพรรคพลังประชาชนซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มอำนาจเก่ามิให้กลับมาเป็นรัฐบาลบริหารประเทศดังที่ผู้คัดค้านทั้งสองอ้างหรือไม่นั้น ได้ความจากเอกสารหมาย ร.1 แผ่นที่ 19 ถึง 21 และ 24 ถึง 27 ซึ่งเป็นบันทึกคำให้การของนายวิจิตรผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งที่ให้การต่อพนักงานสอบสวนสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดเชียงราย และต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2550 และวันที่ 27 ธันวาคม 2550 ตามลำดับ เกี่ยวกับสาเหตุในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม 2550 นายวิจิตรได้ลงพื้นที่ตามอำเภอต่างๆ ในจังหวัดเชียงรายเพื่อสำรวจความนิยมของประชาชนที่มีต่อตนก่อนตัดสินใจสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรอีกครั้ง ในการลงพื้นที่ดังกล่าวนายวิจิตรได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่าจะมีการนำกำนันตำบลต่างๆ ในอำเภอ แม่จัน 10 ตำบล เข้าพบผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 นายวิจิตรจึงรายงานให้นายมณฑล สุทธาธนโชติ หัวหน้าทีมผู้ที่จะสมัคร
รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย พรรคชาติไทยทราบ หลังจากปรึกษาหารือกันแล้วได้ตกลงให้ผู้สังเกตการณ์เฝ้าติดตามพฤติกรรมของกลุ่มกำนันดังกล่าวในทางลับว่าจะมีเหตุการณ์ดังที่ได้รับแจ้งหรือไม่พร้อมกับแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดเจ้าหน้าที่ร่วมเฝ้าติดตามด้วย ผลการตรวจสอบของผู้สังเกตการณ์ปรากฎว่าในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน 10 คน ได้โดยสารเครื่องบินจากจังหวัดเชียงรายไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่กรุงเทพมหานครจริง และผู้สังเกตการณ์ได้บันทึกภาพเคลื่อนไหว (วิดีโอ) เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันไว้เป็นหลักฐานด้วย จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ได้รวบรวมมานายวิจิตรเชื่อว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชาชนได้กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงได้ยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งโดยมีทีมงานผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคชาติไทย จังหวัดเชียงราย เป็นผู้จัดทำคำร้องและส่งมอบแผ่นซีดีที่บันทึกภาพเหตุการณ์ไปพร้อมกับคำร้องด้วย ซึ่งในเรื่องนี้นางกัญชรส ชาภู่พวง อาสาสมัครผู้สังเกตณ์การณ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พ.ศ. 2550 ของว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย
พรรคชาติไทย ได้ให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.๑ แผ่นที่ ๑๑๕ ถึง ๑๑๘ สอดคล้องต้องกันว่า ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ นางกัญชรสได้รับมอบหมายจากนายมณฑลให้ไปสังเกตการณ์และบันทึกภาพเกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันจากจังหวัดเชียงรายไปกรุงเทพมหานครเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง นางกัญชรสจึงเตรียมอุปกรณ์บันทึกภาพแล้วเดินทางไปที่สนามบินสุวรรณภูมิและได้พบกับดาบตำรวจสุเทพ ศรีสุข ซึ่งไปสังเกตพฤติการณ์ของกลุ่มกำนันเช่นกัน จากนั้นได้ร่วมกันติดตามกลุ่มกำนันซึ่งเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชนและโรงแรม เอส ซี ปาร์ค พร้อมกับบันทึกภาพเคลื่อนไหวและส่งมอบให้นายมณฑลเก็บไว้เป็นหลักฐาน จากคำให้การของนายวิจิตรและนางกัญชรสแสดงให้เห็นว่าในการยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งดังกล่าวนายวิจิตรมิได้กระทำไปโดยลำพังและกระทำไปเพียงเพราะเหตุได้รับคำบอกเล่ามาจากแหล่งข่าวเท่านั้น แต่ได้มีการปรึกษาหารือกันและมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากข่าวที่ได้รับโดยตั้งนางกัญชรสเป็นผู้สังเกตการณ์ไปทำการตรวจสอบพร้อมกับมีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวเป็นหลักฐานด้วย ซึ่งนางกัญชรสก็ยืนยันว่าภาพเคลื่อนไหวที่คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ดูดังกล่าวตนเองเป็นผู้บันทึกไว้ การที่
นายวิจิตรขอถอนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งในเวลาต่อมาโดยอ้างว่าเอกสารและแผ่นซีดีที่ยื่นประกอบคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งตนเองได้รับมาจากบุคคลอื่นซึ่งไม่ทราบว่าเป็นใครและเกรงว่าจะเป็นพยานหลักฐานเท็จย่อมเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง นอกจากนี้สภาพเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันที่มีการบันทึกลงในแผ่นซีดีดังกล่าวกลุ่มกำนัน และผู้คัดค้านทั้งสองมิได้ปฏิเสธว่ามิใช่ภาพของกลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน คงโต้แย้งเกี่ยวกับวันเวลาที่มีการบันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีว่ามีพิรุธ โดยอ้างว่าจาก การตรวจสอบคุณสมบัติของข้อมูลในแผ่นซีดีหมาย ร.6 ปรากฏว่ามีการบันทึกข้อมูลหรือ ภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2550 ซึ่งเป็นวันก่อนวันที่กลุ่มกำนันจะเดินทางไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 แสดงว่ามีการจัดฉากถ่ายภาพขึ้นมาอันเป็นการสร้างพยานหลักฐานเพื่อกล่าวหาผู้คัดค้านที่ 1 นั้น จากภาพเหตุการณ์เกี่ยกับการเดินทางของกลุ่มกำนันตามแผ่นซีดีหมาย ร.5 เป็นภาพถ่ายกลุ่มกำนันขณะอยู่ที่สนามบินจังหวัดเชียงราย ส่วนแผ่นซีดีหมาย ร.6 เป็นภาพถ่ายผู้โดยสารรวมทั้งกลุ่มกำนันขณะเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิไปรอรถยนต์โดยสาร เมื่อพิจารณารูปร่างและลักษณะการแต่งกายของกำนันบางคนที่ปรากฏในแผ่นซีดีทั้งสองแผ่น
ดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าเป็นภาพถ่ายเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันจากจังหวัดเชียงรายมากรุงเทพมหานครในคราวเดียวกัน แม้ซีดีหมาย ร.6 จะไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ขณะกลุ่มกำนันเดินทางจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชนและโรงแรมเอส ซี ปาร์ค แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ยอมรับว่ากลุ่มกำนันได้โดยสารรถยนต์ตู้จากสนามบินสุวรรณภูมิไปสถานที่ดังกล่าวจริง เมื่อแผ่นซีดีหมาย ร.5 ระบุว่ามีการบันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีดังกล่าวในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการบันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีหมาย ร.6 ในวันที่ 25 ตุลาคม 2550 การที่แผ่นซีดีหมาย ร.6 ระบุวันเวลาบันทึกข้อมูลเป็นวันที่ดังกล่าวอาจมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการตั้งวันเวลาของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้บันทึกข้อมูลหรือภาพเคลื่อนไหวลงแผ่นซีดีโดยมีการตั้งวันเวลาผิดไปจากวันที่ถูกต้องแท้จริง พยานหลักฐานของผู้ร้องที่ปรากฏตามแผ่นซีดีดังกล่าวนั้นเป็นเหตุการณ์การเดินทางของกลุ่มกำนันที่เดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 สำหรับสาเหตุที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ได้ความจากคำเบิกความของ
นายชัยวัฒน์ว่า ดาบตำรวจเทพรัตน์ เขื่อนคุณา เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอแม่จันซึ่งเป็นผู้ติดตามผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ติดต่อประสานงาน โดยครั้งแรกดาบตำรวจเทพรัตน์บอกให้กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จันเดินทางโดยรถยนต์ตู้ แต่นายชัยวัฒน์และกลุ่มกำนันไม่ยอม ดาบตำรวจเทพรัตน์จึงให้เดินทางโดยเครื่องบินและให้นายชัยวัฒน์ทดลองจ่ายเงินค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปก่อนและจะคืนให้เมื่อเดินทางถึงกรุงเทพมหานครเนื่องจากขณะนั้นดาบตำรวจเทพรัตน์อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ในการเดินทางครั้งนี้นายบรรจง ยางยืน ร่วมเดินทางไปด้วยและเป็นผู้จัดหารถยนต์ตู้พากลุ่มกำนันจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชนโดยบอกว่าจะพาไปพบผู้คัดค้านที่ 1 กลุ่มกำนันรอยู่ที่ที่ทำการพรรคพลังประชาชนประมาณ 3 ชั่วโมง แต่ไม่พบผู้คัดค้านที่ 1 นายบรรจงจึงพากลุ่มกำนันไปที่โรงแรมเอส ซี ปาร์ค เมื่อไปถึงโรงแรมมีคนนำกุญแจห้องพักซึ่งมีการจัดเตรียมไว้แล้วมามอบให้ ต่อมานายบรรจงมาตามกลุ่มกำนันในห้องพักให้ไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่ห้องรับรองของโรงแรมดังกล่าว ในการพบกันดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 บอกว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ให้ช่วยผู้คัดค้านที่ 2 กับนายอิทธิเดช แก้วหลวง ด้วย นายชัยวัฒน์และกลุ่มกำนันรับว่าจะช่วยเฉพาะคัดค้านที่ 2 แต่ปฏิเสธจะช่วย
นายอิทธิเดชเนื่องจากต้องการช่วยสิบตำรวจตรีชมชาติ กัปปะหะ ซึ่งเป็นคนอำเภอแม่จันด้วยกัน จากนั้นนายชัยวัฒน์และกลุ่มกำนันขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ช่วยติดตามทวงหนี้ จากนายชูชาติ จันทะวาลย์ อดีตที่ปรึกษาของผู้คัดค้านที่ 1 โดยเมื่อครั้งที่ผู้คัดค้านที่ 1 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อำเภอแม่จัน ได้รับงบประมาณเกี่ยวกับงานก่อสร้างสาธารณูปโภคและมีการแบ่งงานให้กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จันทำและนายชูชาค้างชำระหนี้ค่าก่อสร้างดังกล่าวแก่กลุ่มกำนัน ผู้คัดค้านที่ 1 รับว่าจะช่วยติดตามทวงหนี้ให้ หลังจากพูดคุยและร่วมรับประทานอาหารประมาณ 30 นาที ผู้คัดค้านที่ 1 ขอตัวกลับโดยมีนายบรรจงตามไปด้วย อีกประมาณ 10 นาทีต่อมานายบรรจงได้ย้อนกลับมาที่ห้องอาหารและบอกนายชัยวัฒน์ให้ออกไปคุยข้างนอก เมื่อนายชัยวัฒน์ตามนายบรรจงออกไปกลุ่มกำนันได้ตามออกไปด้วย นายบรรจงหยิบซองปิดผนึกส่งให้นายชัยวัฒน์ 10 ซอง พร้อมกับพูดว่านายซึ่งหมายถึงผู้คัดค้านที่ 1 ฝากมาให้นายชัยวัฒน์แจกซองให้กลุ่มกำนัน เมื่อนายชัยวัฒน์และกลุ่มกำนันเดินไปเปิดซองดังกล่าวในห้องน้ำปรากฏว่าในแต่ละซองมีเงินอยู่ 20,000 บาท หลังจากนั้นนายชัยวัฒน์ได้ทวง
ค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินจากนายบรรจง นายบรรจงมอบเงินสดให้นายชัยวัฒน์อีก 40,000 บาท คืนนั้นนายชัยวัฒน์กับกลุ่มกำนันนอนพักที่โรงแรมดังกล่าวและเดินทางกลับจังหวัดเชียงรายในวันรุ่งขึ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นายอดิศร นายประสิทธิ์ นายดวงแสง นายชด นายจรินทร์ นายสมบูรณ์ นายพรชาติ และนายบรรจง อ้างว่าสาเหตุที่กลุ่มกำนันเดินทางไปกรุงเทพมหานครในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 เนื่องจากนายชัยวัฒน์เป็นผู้ชักชวนโดยอ้างว่าเพื่อไปติดตามทวงหนี้ค่าขุดลอกคูคลองจากนายชูชาติซึ่งเป็นผู้รับเหมาและค้างชำระหนี้แก่กำนันในอำเภอแม่จันทุกคน นายชัยวัฒน์บอกว่าจะออกค่าตั๋วโดยสารเครื่องบินไปก่อนและเมื่อติดตามทวงหนี้ได้แล้วให้กลุ่มกำนันชดใช้คืนในภายหลัง เมื่อเดินทางถึงสนามบินสุวรรณภูมินายชัยวัฒน์เป็นผู้ติดต่อรถยนต์ตู้พากลุ่มกำนันไปยังที่ทำการพรรคพลังประชาชนเพื่อพบผู้คัดค้านที่ 1 แต่ไม่พบเพราะมิได้นัดหมายกันมาก่อน ต่อมานายชัยวัฒน์บอกให้ไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ที่โรงแรมแห่งหนึ่งซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ได้ไปรออยู่แล้วเมื่อพบกับผู้คัดค้านที่ 1 ณ ห้องอาหารในโรงแรมนายชัยวัฒน์ได้ขอให้ผู้คัดค้านที่ 1 ทวงถามเงินจากนายชูชาติที่ค้างชำระแก่กลุ่มกำนัน แต่ผู้ที่คัดค้านที่ 1 ปฏิเสธโดยบอกว่า
มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2550 ออกมาแล้ว ในการพบกันดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ให้เงินแก่กลุ่มกำนัน และมิได้ช่วยเรื่องค่าที่พักกับค่าอาหารนายชัยวัฒน์เป็นผู้ดำเนินการเรื่องค่าที่พักและค่าอาหาร เห็นว่า แม้ดามเอกสารหมายค.9 จะปรากฏว่านายชัยวัฒน์เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองคู่แข่งกับพรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่นายชัยวัฒน์ก็โต้แย้งปฏิเสธว่าตนมิได้เป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และยืนยันว่าตนเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน ส่วนคำเบิกความของนายชัยวัฒน์เกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวแม้จะแตกต่างจากกำนันคนอื่นๆ ก็ไม่มีกฏหมายห้ามมิให้รับฟัง คำเบิกความของนายชัยวัฒน์จะมีน้ำหนักน่าเชื่อถือหรือไม่เพียงใดขึ้นอยู่กับความมีเหตุมีผลของคำเบิกความซึ่งศาลต้องพิจารณาประกอบกับพฤติกรรมอื่นทั้งปวงในคดีการรับฟังพยานหลักฐานหาใช่ขึ้นอยู่กับจำนวนพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีมากน้อยกว่ากันไม่สำหรับเรื่องที่กลุ่มกำนันคนอื่นๆ อ้างว่าเดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำชักชวนของนายชัยวัฒน์โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้คัดค้านที่ 1 ช่วยติดตามทวงหนี้จากนายชูชาติ มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น หากข้อเท็จจริงเป็น
ดังที่กลุ่มกำนันอ้างก็น่าจะมีการชักชวนนายอุดม กัปปะหะ กำนันตำบลท่าข้าวเปลือกซึ่งอยู่ในอำเภอแม่จันให้ร่วมเดินทางไปติดตามทวงหนี้ในครั้งนี้ด้วย เพราะนายชูชาติก็ค้างชำระหนี้นายอุดมเกี่ยวกับค่าขุดลอกคูคลองเช่นเดียวกับกำนันคนอื่นๆ การที่นายอุดมไม่ได้ถูกชักชวนไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ จึงอาจเป็นเพราะนายอุดมเป็นพี่ชายสิบตำรวจตรีชมชาติ กัปปะหะ ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต จังหวัดเชียงราย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ดังที่นายอุดมให้การต่อคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนตามเอกสารหมาย ร.๑ แผ่นที่ ๑๓๑ ถึง ๑๓๗ นอกจากนี้ยังได้ความด้วยว่านายชูชาติค้างชำระหนี้กลุ่มกำนันมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ แต่ไม่ปรากฎว่ามีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนประการใดที่กลุ่มกำนันทั้ง ๑๐ ตำบลในอำเภอแม่จันจึงต้องรีบเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ ที่กรุงเทพมหานครเพียงเพื่อให้ช่วยติดตามทวงถามหนี้ให้ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ยิ่งกว่านั้นภาพและเสียงที่ปรากฎตามแผ่นซีดีหมาย ร.๙ ก็ปรากฎว่ากลุ่มกำนันรวม ๘ คน ยกเว้นนายชดและนายดวงแสงซึ่งมิได้ไปให้การในครั้งนั้นต่างให้การต่อพันตำรวจเอกสุวรรณ เอกโพธิ์ ด้วยความสมัครใจว่านายบรรจง ยางยืน นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลจันจว้า อำเภอแม่จันเป็นผู้ติดต่อประสานงานให้กลุ่มกำนันไป
พบผู้คัดค้านที่ ๑ และเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายให้ และยอมรับว่านายบรรจงนำเงินมาให้กำนันคนละ ๒๐,๐๐๐ บาท โดยบอกว่าให้เอาไปเที่ยวกัน สอดคล้องกับที่นายชัยวัฒน์เบิกความอีกทั้งนายบรรจงก็ยอมรับว่าในวันเกิดเหตุได้เดินทางไปที่โรงแรมเอส ซี ปาร์ค ซึ่งเป็นสถานที่ที่กลุ่มกำนันได้พบกับผู้ที่คัดค้านที่ ๑ จริง เพียงแต่อ้างว่าตนเองไม่ได้พบกับผู้ที่คัดค้านที่ ๑ และไม่มีส่วนรู้เห็นในการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ โดยในวันดังกล่าวตนเองพบกับกลุ่มกำนันที่สนามบินจังหวัดเชียงรายโดยบังเอิญเนื่องจากตนจะเดินทางจากจังหวัดเชียงรายไปปรึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับสารพิษตกค้างในอำเภอแม่จันกับผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่กรุงเทพมหานคร และเมื่อทราบว่ากลุ่มกำนันจะเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ ที่กรุงเทพมหานครจึงได้เดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ กับกลุ่มกำนันด้วย แม้นายบรรจงจะมีหลักฐานมาแสดงว่าในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ นายบรรจงเดินทางไปปรึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมแต่ก็มิใช่ข้อที่ยืนยันว่านายบรรจงมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวกับการเดินทางของกลุ่มกำนันดังกล่าว เมื่อพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่ว่า
นายบรรจงได้เดินทางจากจังหวัดเชียงรายโดยสายการบินเที่ยวเดียวกับกลุ่มกำนัน เมื่อไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิก็เดินทางไปที่ทำการพรรคพลังประชาชนและโรงแรมเอส ซี ปาร์คพร้อมกับกลุ่มกำนันและนอนพักที่โรงแรมดังกล่าวเช่นเดียวกับกลุ่มกำนัน เช้าวันรุ่งขึ้นก็เดินทางไปสนามบินดอนเมืองคลอดจนโดยสารเครื่องบินกลับจังหวัดเชียงรายเที่ยวเดียวกับกลุ่มกำนัน พฤติการณ์ของนายบรรจงที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเดินทางของกลุ่มกำนันดังกล่าวไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่น่าเชื่อว่านายบรรจงจะไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับได้ความจากผู้คัดค้านที่ 1 ว่า หลังเกิดเหตุรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2549 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาในปีดังกล่าวและกลับมาประเทศไทยเมื่อปลายเดือนกันยายน 2550 เนื่องจากได้รับคำเชิญชวนให้มาทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชาชน และระหว่างอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาผู้คัดค้านที่ 1 มิได้ติดต่อกับบุคคลใดเลยที่อยู่ในอำเภอแม่จันนอกจากมารดาผู้คัดค้านที่ 1 ดังนั้น เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนในเขตจังหวัดเชียงราย จึงต้องมีการตระเตรียมการเลือกตั้งซึ่งต้องได้รับความช่วยเหลือจากคนในพื้นที่ การที่กลุ่มกำนันใน
อำเภอแม่จันรวม ๑๐ คน ยกเว้นนายอุดมซึ่งเป็นพี่ชายสิบตำรวจตรีชมชาติสมาชิกพรรครวมใจไทยพัฒนาเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บริหารพรรคพลังประชาชนที่กรุงเทพมหานคร ในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๐ อันเป็นเวลาภายหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.๒๕๕๐ ใช้บังคับแล้วและเป็นช่วงเวลาที่ผู้คัดค้านที่ ๑ เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อมาทำงานการเมืองในนามพรรคพลังประชาชนจึงมีเหตุให้เชื่อได้ว่ากลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ ตามคำเชื้อเชิญของผู้คัดค้านที่ ๑ โดยมีจุดประสงค์เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดเชียงราย โดยขอให้กลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้านช่วยเหลือพรรคพลังประชาชนซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้บริหารพรรค และช่วยเหลือสมาชิกพรรคพลังประชาชนที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดเชียงราย ซึ่งรวมถึงผู้คัดค้านที่ ๒ ด้วย และการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ ๑ เพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งของพรรคพลังประชาชนในครั้งนี้เชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ ๑ จะต้องมีการให้เงินแก่กลุ่มกำนันเป็นการตอบแทน พฤติการณ์แห่งคดีดังที่ได้วินิจฉัยมาดังกล่าวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ให้เงินหรือ
ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่กลุ่มกำนันในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแก่พรรคพลังประชาชนและผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย สังกัดพรรคพลังประชาชน ตามคำร้องของผู้ร้องและแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าหลังจากกลุ่มกำนันได้พบกับผู้คัดค้านที่ 1 แล้ว กลุ่มกำนันได้ไปเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง หรือมีพฤติการณ์ช่วยเหลือในการหาเสียง หรือลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคพลังประชาชนก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกกลุ่มกำนันในพื้นที่อำเภอแม่จันถึง 10 ตำบล ไปพบเพื่อพูดคุยเรื่องการเลือกตั้งที่กรุงเทพมหานครนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมเล็งเห็นแล้วว่ากลุ่มกำนันซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นผู้นำหมู่บ้านที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับลูกบ้านสามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชาชนและสมาชิกพรรคที่จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้โดยการไปชักจูงลูกบ้านช่วยเหลือสนับสนุนพรรคพลังประชาชน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดในวันที่ 28 ตุลาคม 2550 จึงเชื่อได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง หาใช่เป็นการจัดฉากสร้างสถานการณ์เพื่อกลั่นแกล้งผู้คัดค้านที่ 1 และพรรคพลังประชาชนดังที่ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างไม่ ส่วนที่ผู้คัดค้าน
ที่ 1 อ้างว่า การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวไม่ต้องด้วยมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 เนื่องจากขณะที่มีการกระทำดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 1 ยังไม่มีฐานะเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั้น เห็นว่า มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง หรือผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองใด หรือให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด..."
บทบัญญัติดังกล่าวแม้อยู่ในส่วนที่ 6 ซึ่งว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งและวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ก็เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งกฎหมายห้ามมิให้กระทำการต่างๆ ตามกฎหมายกำหนดไว้เนื่องจากเป็นการกระทำที่ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และบุคคลที่กฎหมายห้ามมีทั้งผู้สมัครรับ
เลือกตั้งและผู้ที่มิใช่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งตามบทบัญญัติดังกล่าวมิได้หมายความแต่เพียงว่าผู้นั้นได้กระทำการอันฝ่าฝืนที่กฎหมายกำหนดในขณะที่ตนเองมีฐานะเป็นผู้สมัครับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แม้ในขณะที่กระทำการดังกล่าวผู้ร้องยังมิได้มีการประกาศรับสมัครรับเลือกตั้งแล้วเท่านั้น แม้ในขณะที่กระทำการดังกล่าวผู้ร้องยังมิได้มีการประกาศรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือมีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งแล้วแต่ผู้นั้นยังมิได้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม หากการที่กระทำไปได้กระทำภายหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้วและต่อมาผู้นั้นได้สมัครรับเลือกตั้งก็ถือได้ว่าการที่กระทำไปก่อนหน้านี้ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมในที่สุดแล้วก็เป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งนั่นเอง นอกจากนี้บทบัญญัติดังกล่าวมิได้ห้ามเฉพาะผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนก็ถูกห้ามด้วยเพราะการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ว่าจะเป็นแบบใดก็ตามหากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัครผู้ใดผู้หนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งแล้วก็ย่อมมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเช่นเดียวกัน ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาก่อนที่จะมีการประกาศสมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่ต่อมา
ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วน กลุ่มจังหวัดที่ 1 พรรคพลังประชาชน การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 จึงถือว่าเป็นการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้งอันต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1 ในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยข้อต่ไปมีว่า การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่ และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ โดยผู้คัดค้านที่ 2 อ้างว่า ผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นผู้กระทำการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และมิได้เป็นผู้ก่อให้การสนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทำการตามที่ถูกกล่าวหา มิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องและมิได้รับประโยชน์จากการที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 ในวันที่กลุ่มกำนันเดินทางไปพบผู้คัดค้านที่ 1 ยังไม่มีการกำหนดหน่วยเลือกตั้ง ที่เลือกตั้ง ผู้คัดค้านที่ 2 ยังไม่ได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ยังไม่ยุติว่าพรรคพลังประชาชนจะมีมติส่งผู้คัดค้านที่ 2 ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดหรือไม่ และผู้รับรองคุณสมบัติผู้คัดค้านที่ 2 หรือไม่ ระยะเวลานับแต่วันที่ผู้ร้องอ้างว่ามีการกระทำความผิดจนถึงวันเลือกตั้งก็ไม่ปรากฎว่ากลุ่มกำนันได้ไปหาเสียง
ช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ 2 และใช้สิทธิลงคะแนนเสียงให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 หรือกลุ่มกำนันมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งในลักษณะใดที่จะปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะทำให้การเลือกตั้งในส่วนที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม การที่ผู้ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับประโยชน์จากการที่กลุ่มกำนันไปพบกับผู้คัดค้านที่ 1 เพราะเป็นพี่น้องกันจึงเป็นเพียงการสันนิษฐานหรือคาดคะเนของผู้ร้องและเป็นเรื่องไกลเกินกว่าเหตุ ผู้ร้องจะอาศัยเหตุแห่งการกระทำของบุคคลอื่นมาเป็นผลร้านแก่ผู้คัดค้านที่ 2 หาได้ไม่ และการที่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับ 1 ได้คะแนนมากกว่าผู้สมัครพรรคชาติไทยซึ่งเป็นคู่แข่งถึง 13,469 คะแนน เป็นผลมาจากความนิยมในพรรคพลังประชาชนและผู้คัดค้านที่ 2 หาใช่เป็นผลสืบเนื่องมาจากที่กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 และกำนันทั้ง 10 คน ก็มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียง 10 เสียงเท่านั้น ไม่อาจทำให้ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ยังไม่มีเหตุที่จะต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่ กรณีถือไม่ได้ว่าการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 เป็นไปโดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมไม่มีเหตุต้องให้มีการเลือกตั้งใหม่นั้น เห็นว่า แม้ขณะนี้กลุ่มกำนันไปพบผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ผู้คัดค้านที่ 2 จะยังมิได้เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งก็ตาม แต่การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เรียกให้กลุ่มกำนันไปพบและขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือผู้คัดค้านที่ 2 ดังกล่าวเป็นการแจ้งให้กลุ่มกำนันทราบล่วงหน้าผู้คัดค้านที่ 2 จะสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการขอความช่วยเหลือดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นการขอให้กลุ่มกำนันช่วยเหลือสนับสนุนเมื่อผู้คัดค้านที่ 2 สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง เมื่อปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการตามที่ถูกกล่าวหาแล้วแม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะมิได้รู้เห็นเป็นใจหรือสนับสนุนให้ผู้คัดค้านที่ 1 กระทำการดังกล่าวก็ตาม แต่การกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวย่อมเป็นการเอื้อเพื่อประโยชน์ให้แก่พรรคพลังประชาชนและผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในนามพรรคพลังประชาชนโดยตรงอันมีผลทำให้การเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และแม้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในครั้งนี้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 มากกว่าผู้สมัครพรรคการเมืองคู่แข่งถึง 13,469 คะแนนก็ตาม แต่เมื่อการเลือกตั้งในส่วนของผู้คัดค้านที่ 2 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเสียแล้ว ผู้คัดค้านที่ 2 ก็ไม่อาจถือเอาคะแนนเสียงที่ได้รับมาเป็นข้ออ้างเพื่อมิให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ คำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 2 ในประเด็นข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 53 และการกระทำดังกล่าวมีผลทำให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดเชียงรายมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมตามคำร้องของผู้ร้องดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น กรณีจึงต้องเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้คัดค้านที่ 1 และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 จำนวน 1 คน ใหม่แทนผู้คัดค้านที่ 2 ตามบทบัญญัติมาตรา 111 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาพ.ศ.2550
จึงได้มีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของนายยงยุทธ ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 1 มีกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่มีคำสั่ง และให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย เขตเลือกตั้งที่ 3 ใหม่ จำนวน 1 คน แทนนางสาวละออง ติยะไพรัช ผู้คัดค้านที่ 2
นายกำธร โพธิ์สุวัฒนากุล
นายดิเรก อิงคนินันท์
นายวีระวัฒน์ ปวรจาจารย์