ประกาศ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30

ข่าวการเมือง Tuesday September 19, 2006 16:23 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

          ประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 
เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
ตามที่ได้มีประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549 นั้น โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการดำเนินการตรวจสอบ เพื่อให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตรวจสอบการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐได้กว้างขวางขึ้น คณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจึงมีประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1.ให้ยกเลิกประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549
ข้อ 2.ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่งประกอบด้วย 1.นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นกรรมการ 2. นายแก้วสรร อติโพธิ เป็นกรรมการ 3.คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา เป็นกรรมการ 4.นายจิรนิติ หะวานนท์ เป็นกรรมการ 5.นายนาม ยิ้มแย้ม เป็นกรรมการ 6.นายบรรเจิด สิงห์คะเนติ เป็นกรรมการ 7.นายวิโรจน์ เลาหพันธ์ เป็นกรรมการ 8.นายสวัสดิ์ โชติพาณิช 9.นายสัก ก่อแสงเรือง เป็นกรรมการ 10.นางเสาวนีย์ อัศวโรจน์ เป็นกรรมการ 11.นายอุดม เฟื่องฟุ่ง เป็นกรรมการ 12.นายอำนวย ธันธรา เป็นกรรมการ ในกรณีที่กฎหมายห้ามมิให้บุคคลใดดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการหรือห้ามการปฎิบัติหน้าที่อื่นในการดำรงตำแหน่ง มิให้นำกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่การแต่งตั้งและการปฎิบัติหน้าเป็นกรรมการตรวจสอบ ให้กรรมการตรวจสอบวรรคหนึ่งเลือกกรรมการด้วยกันเองคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ และมีอำนาจแต่งตั้งเลขานุการหนึ่งคน และ ผู้ช่วยเลขานุการตามความจำเป็น ในกรณีที่มีกรรมการว่างลงให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฎิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดและให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนกรรมการที่ว่างลง
ข้อ 3.ให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินรับงานธุรการของคณะกรรมการตรวจสอบและปฎิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการตรวจสอบมอบหมาย ให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการการฟอกเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ร่วมมือดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบร้องขอ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลบุคลากรหรือการอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการปฎิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบ ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดหาสถานที่ที่ทำการของคณะกรรมการตรวจสอบตามความเหมาะสม และในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบร้องขอให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการให้เจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐมาช่วยปฎิบัติงานตามที่คณะกรรมการตรวจสอบได้
ข้อ 4.ให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน โดยเจียดจ่ายเงินที่เหลือจ่ายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งตามจำนวนที่เห็นสมควรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบในกรณีที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย ให้คณะรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณตามที่จำเป็น ค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดในการปฎิบัติหน้าที่ของกรรมการตรวจสอบและค่าตอบแทนหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดของเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในกับคณะกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดโดยความเห็นชอบของนายกรัฐมนตรี
ข้อ 5.ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ 1.ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบ โดยบุคคลใดในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 2.ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทานหรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบ 3.ตรวจสอบการปฎิบัติราชการใดของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ 4.ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปด้วยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรอันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ในกรณีที่เห็นว่าการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบและมีพฤติการว่ามีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออาญัติทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น ควรสมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศนี้ นอกจากอำนาจตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการมีอำนาจตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย 1.พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟองเงินและคณะกรรมการธุรกรรม 2.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 3.ประมวลรัชดากรโดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรเฉพาะที่เกี่ยวกับการยึดอาญัติและการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสาม คณะกรรมการมีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบเรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูลหรือเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด และให้มีอำนาจเรียกสำนวนหรือเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือเรียกสำนวนการสอบสวนหรือการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถ้ามีมาพิจารณาและให้ใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบ โดยจะสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเรื่องเดียวกันอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันการทุจริตแห่งชาติหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือคณะกรรมการธุรกรรม ให้ประสานงานเพื่อดำเนินการตามสมควรแก่กรณี 6.ให้คณะกรรมการตรวจสอบแจ้งรายชื่อบุคคลตามข้อ5 แก่สถาบันการเงินสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมที่ดิน กรมสรรพากร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง และผู้ครอบครองทรัพย์สิน หรือเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้นั้น เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลนั้นแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินและการเสียภาษีอากร ตลอดจนการทำธุรกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องบุคคลตามข้อ 5 คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นให้คณะกรรมการตรวจสอบทราบภายในเวลา และตามวิธีการที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนด ในการปฎิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ มีอำนาจสั่งให้บริษัทหลักทรัพย์ส่งข้อมูลและเอกสารให้แก่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อแจ้งแก่คณะกรรมการตรวจสอบได้ มิให้นำบทบัญญัติของกฎหมายที่ห้ามมิให้เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่งและวรรคสองมาใช้บังคับกับการแจ้งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ข้อ7.ในกรณีที่บุคคลที่ถูกยึดและอาญัติทรัพย์ตามข้อ 5 หรืออาญัติทรัพย์สินตามข้อ 5 ไม่แจ้งข้อมูลตามข้อ 6 หรือไม่ส่งมอบทรัพย์สินที่ถูกยึดยักย้ายจำหน่ายหรือจ่ายโอนทรัพย์สินที่ถูกอาญัติให้ถือว่าทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบ และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากความร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดว่าการป้องกันและปราบปรามการฟองเงิน ในกรณีที่หน่วยงานหรือบุคคลตามข้อ 6 ไม่ดำเนินการตามที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดตามข้อ 6 หากมีกรณีเกิดความเสียหายขึ้นจากการไม่ดำเนินการนั้น ให้หน่วยงานหรือบุคคลดังกล่าวรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้น ข้อ 8.บรรดาทรัพย์สินที่ถูกหรืออาญัติตามข้อ 5 ถ้าเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นมิใช้ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ไม่มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์เพิ่มขึ้นผิดปกติหรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนการยึดหรืออาญัติทรัพย์สินนั้น ข้อ 9.ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และพระราชบัญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันตามความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแล้วแต่กรณี ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดกระทำผิดกฎหมายและเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น ข้อ 10.ในการปฎิบัติหน้าที่ตามประกาศนี้ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อปฎิบัติการตามที่มอบหมายได้ ข้อ 11. ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่งและการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นเพื่อดำเนินการตามอำนวจหน้าที่ของตนแล้วแต่กรณี ข้อ 12.การแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 23 เรื่องการตรวจสอบทรัพย์สิน ลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2549 โดยประกาศฉบับนี้ไม่กระทบกระเทือนการใดๆ ที่คณะกรรมการตรวจสอบได้กระทำไปก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2549 พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ