ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
วันที่ ๓ เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๒
อัยการสูงสุด โจทก์
ระหว่าง
พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ที่ ๑ กับพวกรวม ๕ จำเลย
องค์คณะผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีเวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา
คำสั่ง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ร่วมกับจำเลยที่ ๒ ใช้และจ้างวานให้จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นหน่วยงานของรัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบการบันทึกข้อมูลในฐานข้อมูลนายทะเบียนพรรคการเมืองให้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยมอบเงินให้จำเลยที่ ๔ จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วจำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ กับพวกนำข้อมูลสมาชิกพรรคพัฒนาชาติไทยที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนการรับเอกสารจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งและการอนุมัติของนายทะเบียนพรรคการเมืองไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงในฐานข้อมูลนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยมิชอบ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๖,๑๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓,๘๓,๘๔,๘๖ และริบเงินสด ๓๐,๐๐๐ บาท ของกลาง
องค์คณะผู้พิพากษาพิจารณาแล้ว เห็นว่า คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาผู้กระทำความผิดในฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามความในมาตรา ๒๗๕ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๙(๒)แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้น ต้องเป็นการกระทำในฐานเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ตามมาตรา ๒๗๕ วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๙(๑) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ แต่ตามคำบรรยายฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ ๔ ในฐานะพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งอันเป็นหน่วยงานของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๖,๑๑ โดยมีจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันเป็นผู้ใช้และจ้างวานให้จำเลยที่ ๔ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ ๔ แล้วจำเลยที่ ๔ กับจำเลยที่ ๓ และที่ ๕ ร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องดังกล่าว ซึ่งพฤติการณ์ตามข้อกล่าวหาในคำฟ้องไม่ปรากฎการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแต่อย่างใด ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งจำเลยที่ ๔ สังกัด มีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐบาลที่มีจำเลยที่ ๑ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะฝ่ายบริหารที่จะกำกับดูแลหรือควบคุมสั่งการใด ๆ ได้อีกด้วย ดังนั้น มูลแห่งคดีตามข้อกล่าวหาในคำฟ้องโจทก์จึงไม่อยู่ในความหมายของการกระทำความผิดของตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดพลาดทางอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามความในมาตรา ๒๗๕ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ และมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังกล่าว คดีนี้จึงไม่อยุ่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลนี้ แต่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลซึ่งมีเขตอำนาจที่โจทก์ต้องฟ้องเพื่อดำเนินคดีอาญาจำเลยทั้งห้า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙๗ วรรคหนึ่ง องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
แจ้งคำสั่งให้โจทก์ทราบโดยเร็ว และยกเลิกวันนัดฟังคำสั่งวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เวลา ๑๐ นาฬิกา./อ่านแล้ว
(นายฐานันท์ วรรณโกวิท)
(นายมานัส เหลืองประเสริฐ) (นายสุทัศน์ ศิริมหาพฤกษ์) (นายอร่าม เสนามนตรี) (นายนพวรรณ อินทรัมพรรย์) (นายสมศักดิ์ ตันดิภิรมย์) (นายวีระวัฒน์ ปวราจารย์) (นายชินวิทย์ จินดา แด้มแก้ว) (นายศิริชัย วัฒนโยธิน)
...............โจทก์
.......................เจ้าพนักงานศาล