คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑๔ /๒๕๕๑
คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑/๒๕๕๓
ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
วันที่ ๒๖ เดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓
อัยการสูงสุด ผู้ร้อง ระหว่าง พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา
คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ที่ ๑
นายพานทองแท้ ชินวัตร ที่ ๒
นางสาวพินทองทา ชินวัตร ที่ ๓
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ ๔
นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ ๕
นางบุษบา ดามาพงศ์ ที่ ๖
นายสมพร พงษ์สุวรรณ ที่ ๗
คณะบุคคลวิวิธวร แชมเบอร์ ที่ ๘
บริษัทพี.ที.คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ ๙
บริษัทเอสซี ออฟฟิซ พลาซ่า จำกัด ที่ ๑๐
บริษัทโอเอไอ แมนเนจเม้นท์ จำกัด ที่ ๑๑
บริษัทโอเอไอ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ที่ ๑๒
บริษัทโอเอไอ คอลซัลแต้นท์แอนด์แมนเนจเม้นท์ จำกัด ที่ ๑๓
บริษัทที่ปรึกษากฎหมายธีรคุปต์ จำกัด ที่ ๑๔
บริษัทเวิร์ธ ซัพพลายส์ จำกัด ที่ ๑๕
บริษัทเอส ซี เค เอสเทต จำกัด ที่ ๑๖
มูลนิธิไทยคม ที่ ๑๗
บริษัทประไหมสุหรี พร้อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ ๑๘
บริษัทสมพร แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ที่ ๑๙
บริษัทบี.บี.ดี.ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ที่ ๒๐
บริษัทบี.บี.ดี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ที่ ๒๑
บริษัทไว้ท์ แอนด์ เคส (ประเทศไทย) จำกัด หรือบริษัทวีระพงศ์,
ชินวัฒน์ และเพียนพนอ จำกัด ที่ ๒๒ ผู้คัดค้าน
เรื่อง ขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสองสมัยติดต่อกัน สมัยแรกตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และสมัยที่สองตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ เป็นต้นไป ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ มาตรา ๑๑ และมีอำนาจหน้าที่กำหนดและกำกับนโยบายสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดินตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่แถลงต่อรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๘๘, ๒๑๑ และมาตรา ๒๑๒ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร และมีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแลและบังคับบัญชาให้เจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทในฝ่ายบริหารตระเตรียมและปฏิบัติการให้เป็นไปตามนโยบายที่ฝ่ายบริหารกำหนด บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทชินคอร์ปเดิมจดทะเบียนนิติบุคคล ใช้ชื่อว่าบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ อินเวสเมนท์ จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ จำกัด และบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ตามลำดับ ต่อมาจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ และเปลี่ยนชื่อครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ เป็นหุ้นสามัญจำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาพาร์หุ้นละ ๑ บาท เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมจากรัฐโดยตรง ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ และยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐ ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ จากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย หรือบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือบริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า ทศท. นอกจากนี้ บริษัทเอไอเอสยังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่จำนวนกว่าร้อยละ ๙๐ ในบริษัทดิจิตอลโฟน จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทดีพีซี ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย ปัจจุบันแปรสภาพและเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า กสท. และบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นผู้รับสัญญาสัมปทานจากรัฐ ตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ ยังเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทไทยคม โดยบริษัทไทยคมร่วมลงนามเป็นคู่สัญญาด้วย บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจโดยเข้าไปถือหุ้นบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ ได้แก่สายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สาย สายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศ สายธุรกิจสื่อและโฆษณา สายธุรกิจอี - บิวซิเนส (E - Business) และอื่นๆ
ผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรียังคงไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปและบริษัทที่รับสัมปทานจากรัฐ อันเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม โดยเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ พี่ชายบุญธรรมของผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖,๘๔๗,๓๙๕ หุ้น รวม ๗๔,๔๑๗,๓๙๕ หุ้น ในปี ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปมีการเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ ๑๕ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของตนซื้อเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ จำนวน ๓ ฉบับ ชำระค่าจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามตนเอง จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๕๑๙,๗๕๐,๐๐๐ บาท ในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๔๙๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท และในนามผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น เป็นเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ดังนั้น ณ วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น รวม ๑๓๕,๑๔๐,๐๐๐ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๔๘.๗๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้บุคคลต่างๆ ถือแทน ดังนี้ วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้น จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริช อินเวสท์เมนท์ จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทแอมเพิลริช วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๒ บุตรชาย จำนวน ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น และโอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๔ น้องสาว จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น และโอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ซึ่งเมื่อรวมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนเมื่อปี ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้น จำนวน ๓๓,๖๓๔,๑๕๐ หุ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงเป็นเจ้าของหุ้นที่แท้จริง ต่อมาวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ บริษัทชินคอร์ปจดทะเบียนลดมูลค่าหุ้นจากที่ตราไว้หุ้นละ ๑๐ บาท เหลือหุ้นละ ๑ บาท ทำให้จำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ และวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ผู้คัดค้านที่ ๒ โอนหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๓ บุตรสาวของผู้ถูกกล่าวหาถือแทน จำนวน ๔๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น คงเหลือหุ้นที่ถือแทนในนามผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๒๙๓,๙๕๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นแทน จำนวน ๓๓๖,๓๔๐,๑๕๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๔ ถือหุ้นแทน จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และบริษัทแอมเพิลริชถือหุ้นแทน จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น ต่อมาวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ บริษัทแอมเพิลริชโอนหุ้นดังกล่าวให้ ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๓ จำนวน ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น รวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ให้บุคคลต่างๆ ดังกล่าวถือหุ้นแทนทั้งหมด ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยะ ๔๘ ของจำนวนหุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมดที่จำหน่ายได้ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในนามบริษัทวินมาร์ค จำกัด อีกด้วย การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ทั้งในการยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินผู้ถูกกล่าวหาไม่แสดงรายการหุ้นบริษัทชินคอร์ปดังกล่าวของตนและคู่สมรสต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑๐, ๒๐๘, ๒๐๙, ๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔, ๕ และมาตรา ๖ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒, ๓๓, ๑๐๐, ๑๑๙ และมาตรา ๑๒๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นชินคอร์ปขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงินสุทธิหลังหักค่าใช้จ่าย รวมเป็นเงิน ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปจ่ายเงินปันผลตามจำนวนหุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถืออยู่ เป็นเงิน ๖,๘๗๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าว ๗๖,๖๒๑,๖๐๒,๐๖๑.๐๕ บาท อันเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้ปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือรวม ๕ กรณีดังนี้
๑.กรณีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต โดยเมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ผู้ถูกกล่าวหาเริ่มกระบวนการตรากฎหมาย แก้ไขพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต จนกระทั่งมีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๔๖ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ พ.ศ.๒๕๔๖ และการออกประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพาสามิต (ฉบับที่ ๖๘) ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ โดยให้ลดพิกัดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากอัตราร้อยละ ๕๐ เหลือร้อยละ ๑๐ ตามบัญชีท้ายประกาศ และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อหักค่าภาษีสรรพสามิตออกจากส่วนแบ่งรายได้ที่คู่สัญญาจะต้องนำส่งให้คู่สัญญาภาครัฐ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาได้ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นำแนวทางการแปรสัญญาร่วมการงานด้วยการแปลงส่วนแบ่งรายได้ให้อยู่ในรูปแบบของภาษีสรรพสามิต โดยไม่มีวัตถุประสงค์ในการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เป็นการกระทำเพื่อป้องกันมิให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือเรียกโดยย่อว่า กทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมาย เพื่อเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กิจการของผู้ถูกกล่าวหาและพวกพ้อง อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยคณะรัฐมนตรีไม่มีอำนาจให้นำภาษีสรรพสามิตดังกล่าวมาหักออกจากค่าสัมปทานซึ่งผู้ประกอบการมีภาระต้องชำระให้แก่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐบาลข้อตกลงในสัญญาสัมปทานทำให้รัฐหรือหน่วยงานของรัฐได้รับเงินค่าสัมปทานลดน้อยลงจากข้อตกลงในสัญญา และเป็นการบิดเบือนการใช้อำนาจนิติบัญญัติใช้กฎหมายเพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอส นอกจากนี้ การไม่กำหนดให้มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการดาวเทียม ทั้งๆ ที่เป็นกิจการโทรคมนาคมและเป็นกิจการที่ได้รับสัมปทานจากรัฐเช่นเดียวกับโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถือว่าเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเป็นการใช้อำนาจของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยไม่สุจริต ซึ่งเมื่อนำภาษีสรรพสามิตมาหักจากค่าสัมปทานที่บริษัทเอไอเอส บริษัททรูมูฟ จำกัด หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัททรูมูฟ และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเรียกโดยย่อว่า บริษัทแทค ต้องชำระให้แก่ ทศท. และ กสท. ในอัตราร้อยละ ๑๐ ทำให้รายได้ของ ทศท. และ กสท. ลดลง ทั้งผู้ถูกกล่าวหายังเสนอแก้ไขกฎหมายการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ชาวต่างชาติถือหุ้นในบริษัทประกอบกิจการโทรคมนาคมในสัดส่วนที่สูงขึ้น เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาสามารถขายหุ้นของตนกับพวกพ้องแก่ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติได้อีกด้วย
๒.กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือพรีเพด (Prepaid Card) ให้แก่บริษัทเอไอเอส เดิมเมื่อปี ๒๕๔๒ บริษัทเอไอเอสได้เริ่มบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด โดยใช้ชื่อในทางการค้าว่า "วันทูคอล" ("One-๒-Call!") โดยคณะกรรมการบริหารงาน (กบง.) กำหนดให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท. ตามข้อกำหนดในสัญญาหลักจนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ ซึ่งในขณะนั้นบริษัทเอไอเอสต้องจ่ายส่วนแบ่งรายในอัตราร้อยละ ๒๕ และจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในอัตราร้อยละ ๓๐ ในปีสัมปทานที่ ๑๖ (ตุลาคม ๒๕๔๘ ถึงกันยายน ๒๕๔๙) แต่ในวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสมีหนังสือขอให้ ทศท. พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด ต่อมาวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ มีการนำเรื่องที่บริษัทเอไอเอสขอลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการ ทศท. และมีการลงนามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไป ส่งผลให้บริษัทเอไอเอสจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้แก่ ทศท. ในอัตราร้อยละ ๒๐ คงที่ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๔ เป็นต้นไป อันเป็นการมิชอบเพราะการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) เพื่อปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้นั้น คณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยตามบันทึกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๕๐ แล้วว่า สัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นสัญญาที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ แม้สัญญาดังกล่าวจะได้ดำเนินการไปก่อนที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ใช้บังคับ แต่การทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) ดังกล่าวมิได้เสนอเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาต่อคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา ๒๒ พิจารณา และมิได้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในกรณีที่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญของโครงการแต่อย่างใดทั้งที่ในขณะนั้น ทศท.ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานกำกับดูแลดำเนินงานตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามคำสั่งคณะกรรมการ ทศท.ที่ ๒๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ แล้ว และเหตุผลในการขอลดส่วนแบ่งรายได้ของบริษัทเอไอเอสที่ว่าบริษัทแทคขอลดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดจากเดิมอัตรา ๒๐๐ บาท ต่อเลขหมายต่อเดือน เป็นอัตราร้อยละ ๑๘ ของราคาหน้าบัตรนั้นฝ่ายบริหารผลประโยชน์ ทศท. เห็นว่าเป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผล เนื่องจากบริษัทเอไอเอสมิได้เสียค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และบริษัทแทคยังมีความสามารถด้อยกว่าบริษัทเอไอเอส เนื่องจากมีภาระค่าใช้จ่ายมากกว่าบริษัทเอไอเอส เหตุผลที่บริษัทเอไอเอสอ้างต่อ ทศท.เพื่อขอให้ ทศท.พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ดังกล่าวไม่อาจรับฟังได้ และเป็นการสร้างความได้เปรียบในทางธุรกิจให้แก่บริษัทเอไอเอส ไม่ได้ส่งผลโดยตรงให้มีการลดค่าใช้บริการให้แก่ประชาชนไม่ใช่ผลโดยตรงที่จะทำให้มีผู้ใช้บริการมากขึ้นและทำให้ ทศท.มีรายได้มากขึ้น เป็นการลดที่มากเกินไปหากเปรียบเทียบกับส่วนแบ่งรายได้ในอัตราร้อยละ ๓๐ ตามสัญญาหลัก ซึ่งจะทำให้ ทศท.เสียประโยชน์ สูญเสียรายได้ที่ควรได้รับ ๑๔,๒๑๓,๗๕๐,๐๐๐ บาท(ปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๙)และความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ๕๖,๖๕๘,๒๘๐,๐๐๐ บาท (ตุลาคม ๒๕๔๙ ถึงกันยายน ๒๕๕๙) ส่งผลโดยตรงให้บริษัทเอไอเอสสามารถที่จะทำกำไรมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าสัมปทานลดลง และสามารถถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วกว่าคู่แข่ง จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในจำนวนที่มากกว่าคู่แข่งในทางธุรกิจ ทำให้หุ้นของบริษัทเอไอเอสมีราคาสูงขึ้นและเป็นที่น่าสนใจของนักลงทุน เป็นการดำเนินการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสได้รับประโยชน์แล้วตั้งแต่มีการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) ถึงเดือนกันยายน ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๑๔,๒๑๓,๗๕๐,๐๐๐ บา และจะได้รับประโยชน์ในอนาคตถึงวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทานอีกเป็นเงิน ๕๖,๖๕๘,๒๘๐,๐๐๐ บาท รวมประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับจากการจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๖) เป็นเงิน ๗๐,๘๗๒,๐๓๐,๐๐๐ บาท ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ทศท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ และมีการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสที่มีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นอยู่คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๙๐ เมื่อผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทชินคอร์ปในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา ทำให้ ทศท.สูญเสียรายได้ที่ควรจะได้รับประมาณ ๗๐,๘๗๒,๐๓๐,๐๐๐ บาท
๓. กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่อนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม(Roaming)และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอส แยกได้ ๒ กรณี คือ
กรณีที่ ๑ กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗) เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ เมื่อวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ บริษัทเอไอเอสเข้าร่วมดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับ ทศท. มีกำหนดอายุสัญญา ๒๐ ปี โดยบริษัทเอไอเอสจะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท.เป็นรายปี ตามจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำหรือในอัตราร้อยละโดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า และจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาหลัก (ครั้งที่ ๔) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๙ ขยายระยะเวลาสัญญาเป็น ๒๕ ปี และเมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสมีหนังสือขอเปิดการให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปให้ผู้อื่นร่วมใช้กับบริษัทดีพีซี ตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ต่อ ทศท. โดยจะนำมาแบ่งผลประโยชน์ให้ ทศท. ตามอัตราร้อยละในสัญญาหลัก มีหนังสือลงวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๔ ขอเปิด National Roaming กับบริษัทเอเซียส รีเยนแนล เซอร์วิส จำกัด(ARS) ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๔๔ โดยคิดค่าใช้เครือข่ายร่วมในอัตราพื้นที่เดียวกัน ๖ บาท/นาที และต่างพื้นที่ ๑๒ บาท/นาที โดยจะนำมาแบ่งผลประโยชน์ให้ ทศท.ตามอัตราในสัญญาหลัก และมีหนังสือลงวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ เสนอหลักการใช้เครือข่ายร่วมกัน ทั้งกรณีที่ผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอส และบริษัทเอไอเอสไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นโดยขอหักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมออกจากรายรับก่อนนำส่ง ทศท.เพื่อพิจารณาในการประชุมคณะกรรมการ ทศท. ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ เมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ ว่ารายได้จากผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอสยังต้องนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ตามสัญญาหลัก ส่วนรายจ่ายของบริษัทเอไอเอสจากการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่นถือเป็นภาระหน้าที่สำหรับรายจ่ายของบริษัทเอไอเอสที่จะต้องขยายเครือข่ายให้สามารถรองรับการให้บริการ ต่อมาบริษัทเอไอเอสมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๔๕ เสนอขอปรับหลักการการใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอสและกรณีบริษัทเอไอเอสเข้าไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๔๕ คณะกรรมการ ทศท. อนุมัติให้บริษัทเอไอเอสดำเนินการตามที่ขอได้ในอัตรานาทีละไม่เกิน ๓ บาท ทั่วประเทศ โดยกรณีที่บริษัทเอไอเอสให้ผู้ให้บริการรายอื่นมาใช้เครือข่ายร่วมกัน บริษัทเอไอเอสจะนำมาใช้คำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท.กรณีที่บริษัทเอไอเอสไปใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น บริษัทเอไอเอสจะนำรายได้จากค่าใช้บริการที่บริษัทเอไอเอสเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการหักด้วยค่าใช้เครือข่ายร่วมกันที่บริษัทเอไอเอสจ่ายให้แก่เจ้าของเครือข่ายก่อน แล้วจึงจะนำมาคำนวณส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ ทศท.ต่อไป ทศท.และบริษัทเอไอเอสได้ลงนามในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ โดยนายสุธรรม มลิลา ในฐานะผู้แทนฝ่าย ทศท. และ นายบุญคลี ปลั่งศิริ ในฐานะผู้แทนฝ่ายบริษัทเอไอเอส มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๕ เป็นต้นไป
กรณีที่ ๒ กรณีการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท. กับบริษัทดีพีซีตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (PERSONAL COMMUNICATION NETWORK) ๑๘๐๐ ลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ กับ กสท. รวมระยะเวลา ๑๗ ปี ซึ่งบริษัทดีพีซีจะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ กสท.เป็นรายปี ตามจำนวนเงินผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำหรือในอัตราร้อยละ โดยถือเอาจำนวนเงินที่มากกว่า ต่อมาในเดือนธันวาคม ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสเข้าถือหุ้นในบริษัทดีพีซีเกินกว่าร้อยละ ๙๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้กลุ่มบริษัทดังกล่าวเป็นกลุ่มเดียวกัน วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ กสท.มีหนังสือลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ อนุมัติให้บริษัทดีพีซีใช้โครงข่ายร่วมกับบริษัทเอไอเอส นับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ โดยมีเงื่อนไขว่า กสท. จะคิดผลตอบแทนรายได้ที่บริษัทเอไอเอสใช้โครงข่ายร่วมกับเครือข่ายของบริษัทดีพีซีในอัตรานาทีละ ๒.๑๐ บาท นับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เป็นต้นไป และบริษัทดีพีซีจะต้องจัดส่งแผ่นบันทึกข้อมูล CDR การใช้งานให้ กสท. ตรวจสอบทุกไตรมาส ต่อมาบริษัทดีพีซีมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๔๘ ถึงกสท. แจ้งขอปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมจากอัตรานาทีละ ๒.๑๐ บาท เหลือนาทีละ ๑.๑๐ บาท และมีหนังสือลงวันที่ ๙ มกราคม ๒๕๔๙ ถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ขอปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมจากอัตรานาทีละ ๒.๑๐ บาท เหลือนาทีละ ๑.๑๐ บาท กับมีหนังสือลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๙ ขอให้ทบทวนเพื่อให้ กสท. อนุมัติคำขอของบริษัทดีพีซี วันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ นายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ได้อนุมัติปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมแก่บริษัทดีพีซี ซึ่งบริษัทดีพีซีนำส่งรายได้แก่ กสท. ในอัตราที่ปรับลด (๑.๐๐ ถึง ๑.๑๐ บาทต่อนาที) ก่อให้เกิดความเสียหายต่อ กสท. จากการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมดังกล่าวเป็นเงิน ๗๙๖,๒๒๐,๓๑๐ บาท จนกระทั่งวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ กสท. จึงมีหนังสือลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ แจ้งให้บริษัทดีพีซีดำเนินการคำนวณค่าใช้บริการเครือข่ายร่วมตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๐ จนถึงปัจจุบันในอัตรานาทีละ ๒.๑๐ บาท และให้นำส่งผลตอบแทนแก่ กสท. ต่อไป การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗) เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วมไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ ตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) เรื่องเสร็จที่ ๒๙๑/๒๕๕๐ ขัดต่อข้อกำหนดตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ ข้อ ๙ ข้อ ๑๖ และข้อ ๓๐ และปรากฏว่าจากเดือนตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงเมษายน ๒๕๕๑ ที่มีการยินยอมให้หักค่าใช้เครือข่ายร่วม พบว่ามีการเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมระหว่างบริษัทเอไอเอสกับบริษัทดีพีซี ๑๓,๒๘๓,๔๒๐,๔๘๓ นาที ทศท. ขาดรายได้ไปกว่า ๖,๙๖๐,๓๕๙,๔๐๑ บาท และ ทศท.จะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับจนสิ้นอายุสัญญาสัมปทานไม่น้อยกว่า ๑๘,๑๗๕,๓๕๙,๔๐๑ บาท และกรณีที่บริษัทดีพีซีซึ่งเป็นเจ้าของเครือข่ายที่บริษัทเอไอเอสเข้าไปใช้เครือข่ายร่วมมากคิดเป็นปริมาณ ๑๓,๒๘๓,๔๒๐,๔๘๓ นาที บริษัทเอไอเอสสามารถหักค่าใช้จ่ายต่อ ทศท. จากการใช้เครือข่ายร่วมดังกล่าวได้ ในทางกลับกันบริษัทดีพีซีเข้าไปใช้เครือข่ายของบริษัทเอไอเอสในปริมาณ ๓๘๔,๓๒๓,๑๔๖ นาที ไม่สามารถหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่ กสท. แต่อย่างใด ทั้งที่เป็นกรณีเดียวกัน และจากการตรวจสอบทางทะเบียนผู้ถือหุ้นปรากฏว่าเมื่อปี ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทดีพีซีมีสัดส่วนเกินกว่าร้อยละ ๙๐ และมีการถือหุ้นดังกล่าวต่อเนื่องจนกระทั่งปัจจุบันในสัดส่วนร้อยละ ๙๘.๕๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ประกอบกับผู้บริหารของบริษัทดีพีซีเป็นผู้บริหารที่มาจากบริษัทเอไอเอสประมาณร้อยละ ๙๐ จึงถือได้ว่าบริษัททั้งสองเป็นบริษัทเดียวกัน และบริษัทเอไอเอสมีเจตนาที่จะใช้เครือข่ายของบริษัทตนเองโดยที่บริษัทเอไอเอสไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการใช้เครือข่ายร่วมดังกล่าวตามข้อกำหนดในสัญญาหลักเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามสัญญาหลักข้อ ๑๖ เนื่องจากต้องมีการลงทุนสูงและต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่สร้างขึ้นให้แก่ ทศท. โดยผู้บริหารระดับสูงของ ทศท. ดำเนินการปรับแก้มติการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองฯ จากร่างวาระเดิมซึ่งฝ่ายบริหารผลประโยชน์มีความเห็นว่าไม่อนุญาตให้บริษัทแอไอเอสหักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายของบริษัทดีพีซี ปรับแก้เป็นให้สามารถหักค่าใช้จ่ายดังกล่าวก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้แก่ ทศท. ได้ ตามข้อเสนอของบริษัทเอไอเอสและมีการนำร่างแก้ไขดังกล่าวเสนอคณะกรรมการ ทศท. เพื่อพิจารณาอนุมัติ โดยมีพฤติการณ์ที่ส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอส ทั้งที่ขัดต่อสัญญาหลักข้อ ๔ ข้อ ๙ ข้อ ๑๖ และข้อ ๓๐ ส่งผลให้ ทศท. และ กสท. ต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงจะได้รับรวมทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า ๑๘,๙๗๐,๕๗๙,๗๑๑ บาท เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสที่มีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นอยู่จำนวน ๑,๒๖๓,๗๑๒,๐๐๐ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๐๖ ทั้งนี้ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทชินคอร์ปในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา การที่ ทศท. และ กสท. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ดำเนินการดังกล่าวอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอสมีความได้เปรียบคู่แข่งขันในกิจการโทรคมนาคม เป็นเหตุให้หุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีมูลค่าสูงขึ้นจนกระทั่งได้มีการขายหุ้นดังกล่าว เงินที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสได้จากการขายหุ้นจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่
๔. กรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยมิชอบหลายกรณีเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม แยกได้ ๓ กรณี ดังนี้
(๑) กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ (IPSTAR) โดยมิชอบ โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการกำหนดให้มีดาวเทียมหลักและระบบดาวเทียมสำรอง ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะประธานบริษัทชินคอร์ปได้เข้าแข่งขันรับสัมปทานกับเอกชนรายอื่นๆ และมีการเสนอเพิ่มเติมว่าจะลงทุนมากขึ้นโดยตลอดอายุสัญญา ๓๐ ปี จะสร้างและส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศระยะเวลาห่างจากดาวเทียมดวงหลักไม่เกิน ๑๒ เดือน ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๔ ยืนยันข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ทำให้กระทรวงคมนาคมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทาน และมีการลงนามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ โดยระบุถึงการดำเนินการตามแผนงาน คุณสมบัติของดาวเทียม ระบบดาวเทียมสำรอง และการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมก่อนเฉพาะแผนดำเนินการนั้นได้ระบุรายละเอียดไว้ว่า ตามระยะเวลาสัญญาสัมปทาน ๓๐ ปี จะส่งดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง จำนวน ๒ ชุด แต่ละชุดมีดาวเทียม ๒ ดวง รวมมีดาวเทียมทั้งหมด ๔ ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองจะส่งขึ้นสู่อวกาศมีระยะเวลาห่างจากดาวเทียมหลักไม่เกิน ๑๒ เดือน มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นตามสัญญาสัมปทานคือบริษัทไทยคมเพื่อบริหารโครงการ ได้ส่งดาวเทียมไทยคม ๑ ขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๓๖ ดาวเทียมไทยคม ๒ ในปี ๒๕๓๗ ตามแผนงานแนบท้ายสัญญาสัมปทาน และได้รับอนุมัติให้ส่งดาวเทียมไทยคม ๓ เร็วขึ้นกว่ากำหนดตามแผนงานที่บริษัทไทยคมร้องขอ โดยส่งดาวเทียมไทยคม ๓ ขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๐ และมีกำหนดส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรองในปี ๒๕๔๑ ทั้งนี้ ตามแผนงานใหม่ที่ได้รับอนุมัตินั้นจะมีดาวเทียมชุดที่ ๓ ด้วย(เนื่องจากส่งชุดที่ 2 เร็วขึ้น) บริษัทไทยคมขออนุมัติสร้างและส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ โดยมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๑ แต่เมื่อถึงกำหนดได้ขอเลื่อนการส่งดาวเทียม ๒ ครั้ง และเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์โดยร้องขอเป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม ตามหนังสือลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แต่มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม ๓ ต่อมากระทรวงคมนาคมมอบให้กรมไปรษณีย์โทรเลขศึกษาข้อเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ซึ่งผลการศึกษากรมไปรษณีย์โทรเลขได้พิจารณาจากข้อเทคนิคแล้วเห็นว่าเป็นดาวเทียมดวงหลักดวงใหม่ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองซึ่งจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม ๔ และนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้าประชุมในคณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ในคราวพิจารณาโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ที่ประชุมได้มีมติว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานฯครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ปรากฏว่ามีการขอแก้ไขมติ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ โดยมีการเปลี่ยนแปลงและอนุมัติให้เป็นดาวเทียมสำรองตามที่บริษัทร้องขอ และให้เสนอขออนุมัติโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยที่ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ แต่มีการทำหนังสือเสนอขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งได้มีการอนุมัติในเวลาต่อมาเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ โดยนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการประสานงานฯ ได้ทำหนังสือเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงานฯ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่อขอให้รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ พร้อมกันนี้กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือแจ้งบริษัทไทยคมว่าได้รับอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ต่อมาวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ บริษัทไทยคมยื่นขอส่งเสริมการลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ มูลค่า ๑๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ระบุว่าได้สร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมต่อกับภาคพื้นดินสำหรับใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศต่างๆ ๑๘ แห่ง มากกว่า ๑๔ ประเทศ โดยมีแผนการตลาดจำหน่ายภายในประเทศร้อยละ ๖ ต่างประเทศร้อยละ ๙๔ และส่งขึ้นสู่อวกาศสำเร็จเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘
(๒) กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศครั้งที่ ๕ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคมจากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๖ บริษัทไทยคมร้องขออนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานโดยให้เหตุผลว่าต้องใช้เงินลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์สูงมาก ต้องหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนจึงทำให้ต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(รับโอนงานจากกระทรวงคมนาคมตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ) ซึ่งมีการหารือกรณีการขอแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นแล้วสำนักงานอัยการสูงสุดมีข้อสังเกตว่า กรณีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาและเป็นส่วนหนึ่งแห่งที่มาของการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรี ควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนลงนามในสัญญา กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงทำหนังสือถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องคืน โดยเห็นว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงทำหนังสือหารือสำนักงานอัยการสูงสุดอีกครั้ง ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้ตอบหนังสือหารือว่า เมื่อสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาได้ ต่อมานายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน โดยมีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗
(๓) กรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม ๓ ที่ได้รับความเสียหาย ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญาณสำรองตามหนังสือลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมร้องขอ และอนุมัตินำค่าสินไหมทดแทนอีกส่วนหนึ่งจำนวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนชื่อว่า ดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R โดยหากค่าสร้างสูงกว่าก็ให้บริษัทไทยคมรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่ม เมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ตามหนังสือลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ จึงมีประเด็นเกี่ยวกับการเอื้อประโยชน์รวม ๓ กรณี ดังนี้ (๑) กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์โดยมิชอบ เพราะดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถใช้เป็นสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทานเนื่องจากดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลักมีช่องสัญญาณความถี่ ซี-แบน (C-band) จำนวน ๒๕ Transponder และเคยู-แบน (Ku-band) จำนวน ๑๔ Transponder แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น คุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลกซึ่งมีการลดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ความถี่ เคยู-แบน รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอตบีม ๘๔ บีม เชพบัม ๓ บีม และบรอดคาสต์บีม ๗ บีม และใช้ความถี่ เคเอ-แบน (Ka-band) ในการสื่อสารรับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เนต ทั้งนี้ ไม่มีความถี่ ซี-แบน แต่อย่างใด จึงทำให้ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถเปิดดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ดวงต่อดวงตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน ซึ่งแตกต่างจากดาวเทียมดวงอื่นๆ และไม่สามารถสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ ได้เพราะมีเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน ทั้งกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ความเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ประกอบกับการประชุมคณะกรรมการประสานงานฯ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ได้มีมติว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงใหม่ แต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุมและอนุมัติให้ดาวเทียมดวงใหม่ แต่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานประชุมและอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามผลการประชุมของคณะกรรมการประสานงานฯ ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งขัดแย้งกัน นอกจากนี้ ยังมีการเสนอความเห็นของคณะกรรมการประสานงานฯ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ยังไม่ได้มีการับรองรายงานการประชุมทั้งสองครั้งแต่อย่างใด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ หน้า 22 กระทรวงคมนาคมได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ให้เป็นดาวเทียมสำรองตามที่เสนอเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ โดยจัดหนังสือเวียนเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ ให้คณะกรรมการประสานงานฯ รับรองรายงานการประชุมทั้งสองครั้ง เมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่สามารถเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ตามสัญญาสัมปทาน ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหาย ไม่มีดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อเป็นสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ทั้งดวงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน การอนุมัติดังกล่าวจึงไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทไทยคมไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระกู้ยืมเงินหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นมูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และรัฐต้องหาย จากการไม่ได้รับมอบทรัพย์สินจากโครงการดาวเทียมไทยคม ๔ มูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท การอนุมัติโครงการโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัปทานจึงไม่ได้สร้างเพื่อการสื่อสารภายในประเทศ ต้องดำเนินการให้มีการแข่งขันใหม่อย่างเป็นธรรมทั้งด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ซึ่งต้องดำเนินการตามกระบวนการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ ดังนั้น การอนุมัติของเจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลและควบคุมตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวเป็นการอนุมัติโดยไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมของผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องมีการแข่งขันเพื่อยื่นข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการใหม่อย่างเป็นธรรม มูลค่าโครงการ ๑๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หน้า 23 (๒) กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ นั้น สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งบริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคมระบุเงื่อนไขต่างๆ ไว้ในสัญญา โดยในข้อ ๔ ของสัญญาสัมปทานกำหนดให้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ โดยบริษัทชินคอร์ปต้องเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัทใหม่ที่เป็นผู้ดำเนินการบริหารโครงการ แต่ปรากฎว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เมื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นดังกล่าว ไม่มีการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งที่เงื่อนไขในข้อ ๔ ของสัญญาสัมปทานเป็น นัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาได้รับสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานจึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหา เพราะในกรณีที่บริษัทไทยคมทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงกว่า ๑๖,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท นั้นบริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคมไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ ๕๑ ของตนเอง และมีผลเป็นการลดทอนความเชื่อมั่นและมั่นคงในการดำเนินโครงการของบริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัทไทยคม ซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทานอีกชั้นหนึ่ง (๓) กรณีการอนุมัติให้ใช้ค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม ๓ จำนวน ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศนั้น สัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศระบุเงื่อนไขให้มีดาวเทียมสำรองไว้ในข้อ ๕.๑.๔ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ให้ทำประกันภัยทรัพย์สินทุกชนิดไว้ในข้อ ๒๕ และการจัดการทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหายไว้ในข้อ ๓๗ ของสัญญาสัมปทาน กล่าวคือ เมื่อเกิดความเสียหายขึ้นจะต้องรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันที โดยกระทรวงคมนาคมจะมอบเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยให้บริษัทไทยคมเพื่อจัดการดังกล่าวเมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้วจะต้องตกเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัญญาสัมปทาน มิได้กำหนดให้มีการเช่าดาวเทียมเพื่อใช้เป็นระบบสำรองไว้ ในปี ๒๕๔๖ เกิดเหตุการณ์ดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายเป็นส่วนใหญ่ บริษัทไทยคมได้ร้องขอให้นำวงเงินบางส่วนที่ได้รับจากค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศประมาณ ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ทดแทนช่องสัญญาณเดิมและใช้เป็นสำรอง ซึ่งเป็นการขัดต่อสัญญาสัมปทานเนื่องจากบริษัทไทยคมทำผิดสัญญาไม่มีดาวเทียมสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ มาโดยตลอด จึงต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการให้มีดาวเทียมใช้ได้อย่างพอเพียงและโดยต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีสิทธินำเงินค่าสินไหมทดแทนไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศแต่ต้องนำเงินค่าสินไหมทดแทน ๓๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับทั้งหมดไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามเงื่อนไขแห่งสัญญาสัมปทาน เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหากลับอนุมัติตามที่ร้องขอ อันเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคม เพราะในช่วงเวลานั้นบริษัทไทยคมไม่ต้องระดมทุนตนเองหรือกู้ยืมเงินในช่วงเวลานั้นไปเช่าดาวเทียมจากต่างประเทศมูลค่าประมาณ ๒๖๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท(๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ณ ค่าเงิน ๔๐ บาทต่อ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ) และทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐเนื่องจากทรัพย์สินที่ทำประกันภัยเป็นของรัฐ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวรัฐต้องเป็นผู้ควบคุมดูแลและคงไว้เป็นหลักประกันความมั่นคง กรณีไม่สามารถซ่อมแซมหรือหาทรัพย์ทดแทนเพื่อใช้ดำเนินการต่อไปได้ โดยต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามสัญญาสัมปทานให้แล้วเสร็จก่อน ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มีเหตุเชื่อได้ว่าหน่วยงานของรัฐได้ใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย สัญญาสัมปทานและไม่สมเหตุสมผลทั้ง ๓ กรณี อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษ้ทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานโดยตรง ผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทั้ง ๓ กรณี จึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม
๕. กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคมโดยเฉพาะนั้น ระหว่างวันที่ ๖ ถึง ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่เมืองบาหลี สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในการหารืออย่างเป็นทางการกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่า ไม่มีการหารือเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่สหภาพพม่า แต่หลังจากประชุมดังกล่าวกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ ถึงกระทรวงการต่างประเทศ อ้างการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างผู้ถูกกล่าวหากับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าว่า ผู้ถูกกล่าวหาแสดงความพร้อมของประเทศไทยที่จะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่สหภาพพม่าขอวงเงินสินเชื่ออย่างน้อย ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เพื่อซื้อเครื่องจักรก่อสร้างและวัสดุอุปกรณ์จากประเทศไทยเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาอนุมัติให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ร่วมเดินทางเป็นคณะทางการในการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกัมพูชาและบริษัทเอไอเอส ๒ คน เข้าสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียมก่อนการประชุมด้วย ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าต้องการให้มีความร่วมมือด้านโทรคมนาคมกับประเทศไทย แต่นายสุรเกียรติ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไม่เห็นด้วยเนื่องจากนายกรัฐมนตรีของไทยมีส่วนเกี่ยวข้องเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในปฏิญญาพุกามจึงไม่มีความร่วมมือด้านโทรคมนาคม ระหว่างนั้น นายสุรเกียรติ เสถียรไทย ได้หารือกับผู้ถูกกล่าวหา แล้วนายสุรเกียรติ เสถียรไทย แจ้งรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพพม่าว่าไทยไม่ขัดข้องที่จะให้สหภาพพม่ากู้เงิน ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หลังจากการประชุมผู้นำที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม สหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ถึง สถานเอกอัครราชทูตไทยประจำสหภาพพม่าเสนอโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกลของกระทรวงการสื่อสารสหภาพพม่า และขอรับความช่วยเหลือจากประเทศไทยมูลค่า ๒๔,๐๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยแจ้งว่าผู้ถูกกล่าวหาพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งคณะเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมได้เข้าพบเอกอัครราชทูตไทยและผู้อำนวยการกองเอเชียนะวันออก ๒ กรมเอเชียตะวันออก กระทรวงการต่างประเทศแจ้งเรื่องการดำเนินธุรกิจตามโครงการดังกล่าวกับสหภาพพม่าด้วย ต่อมาสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ขอเพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ติดตามผลรวมทั้งการขอลดดอกเบี้ย ผู้ถูกกล่าวหาสั่งการต่อนายสุรเกียรติ เสถียรไทย ว่าให้เพิ่มวงเงินกู้เป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งนายสุรเกียรติ เสถียรไทย ได้มีหนังสือถึงกระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าแจ้งให้ทราบว่าประเทศไทยพร้อมทีจะเพิ่มวงเงินกู้จาก ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจะให้การอุดหนุนในส่วนอัตราดอกเบี้ยด้วยและกระทรวงการต่างประเทศได้มีหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย แจ้งเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่ขัดข้องที่จะให้เงินกู้สกุลบาทแก่สหภาพพม่าในลักษณะเครดิตไลน์ (Credit line) ตามที่สหภาพพม่าขอวงเงินกู้เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๕.๗๕ ต่อปีเป็นร้อยละ ๓ ต่อปี ปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้น ๒ ปี คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยอนุมัติวงเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่รัฐบาลสหภาพพม่าตามเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๔๗ แต่ต่อมาฝ่ายรัฐบาลสหภาพพม่าได้ขอให้ปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นเป็น ๕ ปี ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาก็เห็นชอบ คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจึงมีมติเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดเป็นระยะเวลากู้ ๑๒ ปี โดย ๕ ปีแรกชำระเฉพาะดอกเบี้ย สำหรับ ๗ ปี ที่เหลือชำระต้นและดอกเบี้ย โดยการอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อมูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขดังกล่าวเป็นการดำเนินการบริหารสั่งการของผู้ถูกกล่าวหา เป็นการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน ไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๓๖ ธนาคารจึงขอคุ้มครองความเสียหายตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งคณะรัฐมนตรีที่มีผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมประชุมด้วยมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยแก่ธนาคารตามจำนวนที่เสียหาย และให้ชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยที่ได้รับจากรัฐบาลสหภาพพม่า (ร้อยละ ๓ ต่อปี) กับต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคาร แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ หลังจากนั้นธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าผู้กู้เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ ซึ่งประมาณการความเสียหายจากดอกเบี้ยส่วนต่างที่จะต้องขอชดเชยจากงบประมาณรายจ่ายตั้งแต่ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ ถึงปี ๒๕๔๙ เป็นเวลา ๑๒ ปี เป็นเงิน ๖๗๐,๔๓๖,๒๐๑.๒๕ บาท และงบประมาณชดเชยความเสียหายในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และปี ๒๕๕๐ จำนวน ๑๔๐,๓๔๙,๖๐๐ บาท หลังจากมีการลงนามในสัญญาเงินกู้การให้สินเชื่อเพื่อการส่งออกดังกล่าวแล้วธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าได้ยื่นคำขอให้อนุมัติสัญญาจัดซื้อจัดจ้างระหว่างบริษัทไทยคมกับกระทรวงสื่อสารสหภาพพม่าเพื่อส่งมอบอุปกรณ์ไอพีสตาร์ (IPSTAR) และ อุปกรณ์ต่อพ่วงที่เกี่ยวข้องสำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลชนบท จำนวนเงิน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้เห็นชอบตามสัญญาดังกล่าว และได้จ่ายเงินกู้โดยตรงให้แก่บริษัทไทยคมกับบริษัทฮาตาริ (HATARI) ที่ได้รับโอนสิทธิบางส่วน รวมเป็นเงิน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยจ่ายเป็นเงินบาทจำนวนทั้งสิ้น ๕๙๓,๔๙๒,๘๑๕.๙๖ บาท ครบถ้วนแล้วเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๔๙ ในระหว่างนั้นบริษัทไทยคมมีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้น จำนวน ๒๒๕,๔๓๕,๔๖๗ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๕๑.๔๘ ของหุ้นทั้งหมด ผู้ถูกกล่าวหาในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทไทยคมที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวชินวัตรกับพวกมีผลประโยชน์ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่าโดยให้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย
การที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ กับบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ถือหุ้นแทน และได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการ มอบนโยบายร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลผู้ถูกกล่าวหา กระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือทั้ง ๕ กรณีดังกล่าว และตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๘ วรรคสาม (๑) ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวและต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลดังกล่าวจะเป็นบุคคลต่างด้าวได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ แต่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เสนอกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ แก้ไขมาตรา ๘ วรรคสาม(๑) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปซึ่งประกอบธุรกิจโทรคมนาคมสามารถถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ ๕๐ โดยพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ปรากฏว่าในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงโดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นแทนให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาทและในระหว่างปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวรวมเป็นเงินจำนวน ๖,๘๙๘,๗๒๒,,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐหรือ คตส. ทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนวจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ จึงดำเนินการออกคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินดังกล่าวรวม ๑๕ ครั้ง ซึ่งได้รับแจ้งยืนยันสามารถอายัดเงินและทรัพย์สินไว้ได้บางส่วนเป็นเงิน ๖๖,๖๘๙,๒๓๔,๓๖๕.๘๑ บาท ส่วนเงินและทรัพย์สินที่เหลืออีก ๙,๙๒๓,๓๖๘,๖๙๕.๒๔ บาท ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดสภาพเงินและทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อและที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ คตส.ส่งรายงานเอกสารและหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นให้ผู้ร้อง ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าคดียังมีข้อไม่สมบูรณ์และได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานผู้แทนระหว่างผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรับผิดชอบดำเนินการต่อ จาก คตส. ตามกฎหมายขึ้นพิจารณาแล้วมีข้อยุติให้ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้ โดยผู้ร้องมีนายแก้วสรร อติโพธิ นายนัก กอแสงเรือง และบุคคลอื่นเป็นพยานบุคคลจำนวนมาก รวมทั้งพยานเอกสารซึ่ง คตส. รวบรวมไว้ อันจะพิสูจน์การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้ ขอให้พิพากษายึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าว เป็นเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการร่ำรวยผิดปกติและมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ และขอให้มีคำสั่งอายัดเงินและทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาพร้อมดอกผลไว้ต่อไปจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามมติของคตส.ด้วย
ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำคัดค้านว่า เงินปันผลและเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท ไม่ใช่เงินของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คู่สมรสของผู้ถูกกล่าวหา และไม่ใช่เงินที่ได้จากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ร่ำรวยผิดปกติหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ แต่เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของบุคคลในครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งประกอบธุรกิจโดยสุจริต ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเงินงบประมาณหรือเงินอื่นใดของรัฐ เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๘ ขณะผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น รวม ๖๗,๕๗๐,๐๐๐ หุ้น ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปเปลี่ยนแปลงเพิ่มทุน ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น รวมเป็น ๑๓๕,๑๔๐,๐๐๐ หุ้น มูลค่า ๑๐,๖๐๘,๔๙๐,๐๐๐ บาท ในปี ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทแอมเพิลริชตามกฎหมายของประเทศบริติชเวอร์จิน ไอส์แลนด์ เพื่อรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป และวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาได้โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริชในราคาพาร์ ๑๐ บาท เป็นเงิน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท โดยสุจริตและเปิดเผยในตลาดหลักทรัพย์ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นชินคอร์ป ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท เป็นเงิน ๓๐๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๔ เป็นเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และผู้คัดค้านที่ ๑ โอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ กับโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ และเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น (ราคาพาร์ ๑ บาท) ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑ บาท ซึ่งได้กระทำโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน มิได้ปกปิด ซ่อนเร้น อำพราง ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้เข้าไปเกี่ยวข้องในการดำเนินกิจการของบริษัทชินคอร์ปอีก รวมทั้งไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ การโอนขายหุ้นมีเจตนาโอนกันอย่างแท้จริงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางตามข้อกล่าวหาของผู้ร้อง การกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติต้องกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกิน ๒ ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งรักษานายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘ เกินกว่า ๒ ปี ก่อนที่ คตส.จะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และก่อนที่จะแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้เมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ คำร้องของผู้ร้องไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช ไม่ได้วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ให้เสร็จเด็ดขาดไปก่อนกลับส่งเรื่องให้ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลโดยรีบด่วนสรุปในคำร้องนี้กล่าวหาเป็นทรัยพ์สินของผู้ถูกกล่าวหา จึงเป็นการกระทำข้ามขั้นตอนของกฎหมายขัดแย้งกับประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ความเห็นของ คตส. ขัดแย้งกันเองเนื่องจาก คตส. ส่งเรื่องให้กรมสรรพากรเก็บภาษีจากผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ เท่ากับยอมรับว่าบุคคลทั้งสองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นบริษัทชินคอร์ป แต่เมื่อ คตส. ต้องการให้เงินที่ได้มาจากการขายหุ้นดังกล่าวทั้งหมดตกเป็นของแผ่นดิน กลับวินิจฉัยข้อเท็จจริงเดียวกันว่าหุ้นดังกล่าวเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คตส. ไม่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนใหม่เพื่อไต่สวนคดีนี้ กลับแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหา ในคดีอาญาเรื่องการตราพระราชกำหนดภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม และมติคณะรัฐมนตรีแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตเป็นคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ ทั้งๆ ที่เป็นข้อกล่าวหาคนละเรื่องกันทำให้การไต่สวนของ คตส. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องยื่นคำร้องโดยรู้อยู่แต่แรกว่าสำนวนการไต่สวนของ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีข้อไม่สมบูรณ์ ทั้งไม่อาจแจกแจงได้ว่าทรัพย์สินหรือหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนใดเป็นทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือได้มาโดยไม่สมควร ภาระการพิสูจน์ว่าทรัพย์สินเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จริงหรือไม่ตกอยู่กับผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเรื่องกรรมสิทธิ์ขัดแย้งกับเอกสารราชการ คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมไม่ได้บรรยายว่าผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้องอย่างไร และเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อย่างไร ทั้งไม่บรรยายให้เข้าใจถึงสภาพแห่งข้อหาว่าผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการและมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองและพวกพ้องเมื่อใด อย่างไรและประโยชน์ที่เกิดขึ้นมีความชัดเจนแน่นอนในรูปแบบใด มีจำนวนเท่าใด มีพยานหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวอ้างอย่างไร เพียงใด ประกอบกับผู้ร้องไม่ได้กล่าวอ้างให้ชัดเจนว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหาอย่างใด ก่อให้เกิดผลในการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติต่อทรัพย์สินหรือมูลค่าหุ้นนั้นอย่างไร เพียงใด เป็นจำนวนเท่าใด โดยในแต่ลละมาตรการทำให้มูลค่าหุ้นสูงขึ้นผิดปกติจำนวนเท่าใด เมื่อใด อย่างไร มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติอย่างไร หุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมด ๑,๔๘๗,๗๔๐,๑๒๐ หุ้น ที่ขายให้กลุ่มเทมาเส็กเมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นหุ้นจำนวนเดิมที่บุตรและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหามีอยู่ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรกในปี ๒๕๔๔ และราคาหรือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามปกติของราคาตลาดมีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในแต่ละช่วงเวลาตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเช่นเดียวกับหุ้นของบริษัทอื่นๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ไม่เกี่ยวข้องกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา และมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติขณะผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รวมทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๕,๑๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่ได้ระบุการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้แต่อย่างใด โดยมูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ครอบครัวชินวัตรและครอบครัวดามาพงศ์ถืออยู่ในตลาดหลักทรัพย์ก่อนผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรก ณ วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ คิดเป็นเงิน ๓๑,๘๓๗,๖๓๘,๕๖๘ บาท หากหุ้นบริษัทชินคอร์ปยังเป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จริงตามที่ถูกกล่าวหา แสดงว่าก่อนเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีนั้นผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีทรัพย์สินอยู่แล้วเป็นเงิน ๔๖,๙๖๑,๖๓๘,๕๖๘ บาท ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกพ้องตามที่ผู้ร้องกล่าวหารวม ๕ กรณี คือ
๑. การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต
๒. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัท เอไอเอส
๓. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอส
๔. การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม
๕. การอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคม
มาตรการต่างๆ เป็นการกระทำของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบมิได้เกิดจากการสั่งการหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่ได้มีผลทำให้ราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปมีมูลค่าสูงขึ้นหรือได้รับประโยชน์ใดๆ ตามที่ผู้ร้องกล่าวหา เงินปันผลจากหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท ไม่ได้เป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ แต่เป็นของบุตรและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหา และไม่ได้เป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้เงินปันผลดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน มติให้ยื่นคำร้องคดีนี้ของผู้ร้องและคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งประกาศ คปค. ฉบับที่ ๑๙ ก็ให้งดการบังคับใช้เฉพาะที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. เท่านั้น การกล่าวไต่สวนและยื่นคำร้องต่อศาลเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจหน้าที่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ที่กำหนดให้ คตส. มีอำนาจตรวจสอบเฉพาะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น คำร้องไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อ และที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในเงินและทรัพย์สินส่วนที่ไม่ได้อายัดไว้ชั่วคราวจำนวน ๙,๘๕๘,๖๗๖,๐๓๖.๘๐ บาท ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ ข้อ ๒๓ คำร้องส่วนนี้จีงไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องไม่มีอำนาจร้องขอให้เงินบัญชีเงินฝากของผู้ถูกกล่าวหา ๕๔๘,๕๑๙,๓๑๒.๒๗ บาทและเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๒,๘๕๒,๙๓๓,๙๓๑.๗๖ บาท ที่ คตส. อายัดไว้ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีอยู่ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แสดงไว้ในบัญชีทร้พย์สินและหนี้สินที่ยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๔ แล้ว การกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป หาจะเป็นความผิดก็เพียงมีโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ และมาตรา ๑๒๒ ที่มีโทษทางอาญาและต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่มีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้ เนื้อหาตามคำร้องเป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐและขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการกระทำละเมิดเป็นการดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ โดยดำเนินการตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ประกอบกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ และมูลคดีเรื่องละเมิดและเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลนี้ ศาลจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องและมีคำสั่งเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา
ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอให้เงินฝากในบัญชีธนาคารซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้ที่คัดค้านที่ ๑ รวม ๒๖ รายการ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ได้มาโดยสุจริตและมีมาก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองและมิได้เป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ผู้ถูกกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๕ ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปรวมกัน ๗๔,๔๑๗,๓๙๕ หุ้น มูลค่ารวมเป็นเงิน ๒๐,๐๙๒,๖๙๖,๖๕๐ บาท ไม่ใช่หุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาให้ผู้คัดค้านที่ ๑ หรือที่ ๕ ถือแทน ต่อมาในปี ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปมีการเพิ่มทุนผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้นเพิ่มเป็น ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นเพิ่มเป็น ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้นและผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นเพิ่มเป็น ๓๓,๖๓๔,๑๕๐ หุ้น รวมหุ้นทั้งสิ้น ๑๖๘,๗๗๔,๑๕๐ หุ้น มูลค่ารวมเป็นเงิน ๑๕,๑๓๒,๒๙๐,๒๘๙ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑ และผู้ถูกกล่าวหาในขณะที่ยังไม่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการที่ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนวจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านที่ ๑ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ ชำระค่าหุ้น ๔๒๔,๗๕๐,๐๐๐ บาทโดยออกตั๋วสัญญาใช้มอบให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ผู้คัดค้านที่ ๑ ยกหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔,๕๐๐,๐๐๐ หุน ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ โดยหน้าที่ธรรมจรรยาผู้คัดค้านที่ ๑ จึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นดังกล่าวนั้นแล้ว ในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนบริษัทคอร์ปของผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๕ กู้ยืมจากผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ไว้ แต่ผู้คัดค้านที่ ๑ ทำตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับดังกล่าวสูญหายไป ผู้คัดค้านที่ ๕ จึงออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนฉบับเก่าให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นผู้คัดค้านที่ ๑ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า และใช้คำนำหน้านามว่าคุณหญิงแล้ว และในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้คัดค้นที่ ๑ ยังขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ ห้น ให้แก่ผู้คัดค้นที่ ๕ ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๕ ชำระค่าหุ้น ๒๖๘,๒๕๐,๐๐๐ บาทโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินมอบให้ไว้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ไม่ได้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปแทนผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ตามคำร้อง เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ได้ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ เรียบร้อยแล้วขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยแรก ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ รวมทั้งบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะจึงได้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่ามีทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น ๑๕,๑๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท ไม่มีรายการหุ้นบริษัทชินคอร์ปรวมอยู่ด้วย โดยมูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวดามาพงศ์ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ รวมเป็นเงิน ๔๓,๓๖๖,๕๔๒,๕๒๐ บาท ราคาหุ้นที่เพิ่มขึ้นภายหลังจากนั้นเป็นการเพิ่มขึ้นตามกลไกของตลาดหลักทรัพย์และภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ไม่ใช่เกิดจากการเอื้อประโยชน์ตามคำร้อง คตส. และผู้ร้องตรวจสอบกล่าวหานอกขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ เนื่องจากเป็นการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติโดยได้กระทำการเอื้อประโยชน์ต่างๆ เมื่อพ้นเวลา ๒ ปี นับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมตรีเมื่อวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๘ คดีจีงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง และไม่มีอำนาจตรวจสอบคณะรัฐมนตรีชุดที่พ้นจากตำแหน่งเพราะอายุสภาสิ้นสุดลง คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้บรรยายถึงพฤติการณ์ที่รำรวยผิดปกติและทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นอย่างไร ผู้ร้องไม่ได้แยกทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีอยู่ก่อนผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติอยู่จำนวนเท่าใด ทำให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่สามารถต่อสู้คดีได้ กระบวนการพิสูจน์ทรัพย์ยังไม่แล้วเสร็จว่าทรัพย์สินที่ คตส. มีคำสั่งอายัดไว้เป็นของผู้พิสูจน์ทรัพย์สินหรือไม่ เป็นการข้ามขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ เนื้อหาตามคำร้องของผู้ร้องเป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐและขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากการกระทำละเมิดซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ศาลนี้จึงไม่มีอำนาจพิจารณาคำร้องนี้ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนคำสั่งอายัดสินทรัพย์ของ คตส.
ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๕๘,๕๕๐,๒๒๐ หุ้น ที่ขายให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ซื้อหุ้นดังกล่าวมาจากผู้ค่าทนายความให้แก่ผู้คัดค้านที่๑ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ และขายไปในราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท ได้รับเงินหลังจากหักค่านายหน้าและภาษีเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๒๒,๕๒๓,๑๘๗,๑๐๙.๔๙ บาท โอนเข้าบัญชีของผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๓๐๐๘-๘ โดยก่อนโอนเงินค่าหุ้นเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๒ มีเงินฝากอยู่แล้ว ๒,๑๕๑,๖๖๗.๑๖ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ แบ่งเงินจากการขายหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๑๘ กู้ยืมไป ๑,๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๕ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อที่ดินที่ตำบลหมูสี อำเภแปกช่อง จังหวัดนครราชสีมา ๔ แปลง ในราคา ๒๗,๒๒๗,๒๐๐ บาท และชำระค่าที่ปรึกษากฎหมายและค่าทนายความให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒๒ จำนวน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติ หรือเพิ่มขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของบุคคลใด ราคาหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่เพิ่มขึ้นจากราคา ๒๑ บาท ณ วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ เป็น ๔๙.๒๕ บาท ณ วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ เป็นการปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานดีอยู่แล้ว ไม่ได้เป็นผลมาจากการกระทำที่ขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ได้บรรยายว่ามูลค่าหุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร มีความผิดปกติของการซื้อหุ้นดังกล่าวในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างไร หรือมูลค่าหุ้นที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมีความผิดปกติอย่างไร เกิดขึ้นในช่วงเวลาใดและสาเหตุของการขึ้นลงของราคาหุ้นมาจากปัจจัยใดบ้าง เงินที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของเป็นกิน ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท มีเงินของผู้คัดค้านที่ ๒ รวมอยู่ด้วย ๑๗,๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ ขอให้ยกคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ และเพิกถอนการอายัดและที่ดินของผู้คัดค้านที่ ๒
ผู้คัดค้านที่ ๓ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๓ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นบริษัท ชินคอร์ป จำนวน ๖๐๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น โดยซื้อมาจากผู้คัดค้านที่ ๒ และบริษัทแอมเพิลริช โดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๓ ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน ๒๙,๖๙๖,๘๙๗,๗๒๘.๗๕ บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารที่ คตส.อายัด นำไปร่วมลงทุนในบริษัทต่างๆ บริจาคให้ผู้คัดค้านที่ ๑๗ และให้ผู้มีชื่อกู้ยืม บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจในลักษณะการเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือซึ่งมีผลประกอบการที่ดี ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดีทำให้หุ้นบริษัทชินคอร์ปมีราคาเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติหรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๓ ตกเป็นของแผ่นดิน เนื่องจากผู้คัดค้านที่ ๓ ไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคำร้องผู้ร้องเคลือบคลุม ไม่ได้บรรยายข้อเท็จจริงและรายละเอียดให้เห็นว่ามูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปก่อนหรือขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหลังพ้นจากตำแหน่งแล้วมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีความผิดปกติของการซื้อขายหุ้นดังกล่าวอย่างไร การเพิ่มขึ้นหรือลดลงมีความผิดปกติอย่างไร เกิดขึ้นในช่วงใด และเกิดจากสาเหตุใด ขอให้ยกคำร้องและเพิดถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๓
ผู้คัดค้านที่ ๔ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๔ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น โดยซื้อมาจากผู้ถูกกล่าวหาโดยชอบไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๔ ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน ๙๘๒,๓๖๕,๑๒๕ บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน เลขที่ ๐๑๔-๑-๑๑๓๐๐-๙ ที่ คตส. อายัด โดยมีเงินฝาก ๖๐๒,๙๗๙.๐๕ บาท ของผู้คัดค้านที่ ๔ รวมอยู่ด้วย ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ คตส. ที่ดำเนินการตรวจสอบไม่มีความเป็นกลาง คตส.บางคนเป็นปฏิปักษ์กับผู้ถูกกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดำเนินการต่อจาก คตส.ไม่ได้การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายไม่มีอำนาจดำเนินการ ผู้ร้องยื่นคำร้องคดีนี้โดยไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ ๔ นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สอน ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๔
ผู้คัดค้านที่ ๔ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๐๔,๔๓๐,๓๐๐ หุ้น โดยซื้อและได้รับโอนยกให้มาโดยชอบ ไม่ได้ถือหุ้นแทนผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๕ ขายหุ้นดังกล่าวให้บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นเงิน ๑๙,๘๒๗,๗๕๐,๓๘๔.๓๖ บาท แล้วนำเงินเข้าฝากในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๔-๖๔๔๓๓-๓ ที่ คตส. อายัดโดยมีเงินฝากเดิม ๑,๓๓๙,๖๘๔,๙๘๗.๒๒ บาท รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านที่ ๕ นำเงินที่ได้มาดังกล่าวไปลงทุนและนำเข้าฝากในบัญชีเงินฝากอื่นๆ บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจในลักษณะการเข้าร่วมถือหุ้นบริษัทในเครือซึ่งมีผลประกอบการที่ดี จึงเป็นที่ต้องการของนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ดีทำให้หุ้นบริษัทชินคอร์ปมีราคาเพิ่มขึ้นโดยไม่ได้เป็นการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติหรือสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้เนื่องจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ดำเนินการต่อจาก คตส. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามกฎหมายไม่มีอำนาจดำเนินการ ผู้ร้องยื่นคำร้องดคีนี้โดยไม่ให้โอกาสผู้คัดค้านที่ ๕ นำพยานเข้าไต่สวนเพื่อพิสูจน์ทรัพย์สิน และคดีขาดอายุความเนื่องจากไม่ได้กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาภายในเวลา ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา ๗๕ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ขอให้ยกคำรเองและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๕
ผู้คัดค้านที่ ๖ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ ซึ่งเป็นสามีผู้คัดค้านที่ ๖ ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๔๐๔,๕๘๙,๙๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิงส์ จำกัด ราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท เป็นเงิน ๑๙,๙๑๘,๑๙๒,๒๗๕ บาท รวมกับหุ้นบริษัทชินคอร์ปของผู้คัดค้านที่ ๖ อีก ๑๕๙,๖๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๗,๘๖๐,๓๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้ง ๑๙,๙๒๖,๐๕๒,๕๗๕ บาท เมื่อหักค่านายและภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วคงเหลือเงินสุทธิรวม ๑๙,๘๗๒,๗๕๐,๓๘๔.๓๖ บาท โดยเป็นส่วนของผู้คัดค้านที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ผู้คัดค้าน ๕ โอนเงินเข้าบัญชีให้ผู้คัดค้านที่ ๖ ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐-๙๑๑๕๗-๙ จำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีเงินจากการขายหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๖ จำนวน ๗,๘๓๙,๒๗๓.๗๐ บาท รวมอยู่ด้วย ผู้คัดค้านที่ ๕ และที่ ๖ ไม่ได้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปแทนผู้คัดค้านที่ ๑ หรือผู้ถูกกล่าวหา เงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวที่ คตส. อายัดเป้นของผู้คัดค้านที่ ๖ ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้คัดค้านที่ ๕ และที่ ๖ มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้ยื่นคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินและดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์สินต่อ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว แต่ผู้ยื่นคำร้องโดยยังไม่มีการดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จสิ้น เป็นการข้ามขั้นตอนตามกฎหมาย และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจปฏิบัติหน้าที่พิจารณาสำนวนการสอบสวนของ คตส. รวมทั้งมีมติให้ยื่นคำร้อง ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ ขอให้ยกคำร้องและเพิกถอนการอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๖
ผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๙ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากในธนาคารบัญชีไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก และสาขามีนบุรี รวม ๓ บัญชี ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาราชวัตร และธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ รวม ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๙ ซึ่งประกอบวิชาชีพทางด้านกฎหมายได้รับค่าจ้างจากครอบครัวชินวัตรและครอบครัวดามาพงศ์ โดยผู้คัดค้านที ๒ ให้ทำหน้าที่ทนายความแก้ต่างคดีและเป็นที่ปรึกษากฎหมาย รวม ๕ คดี ผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ และที่ ๑๙ ไม่ทราบว่าผู้ว่าจ้างได้เงินดังกล่าวมาจากที่ใด เป็นการได้เงินมาโดยสุจริต และ คตส. มีมติให้เพิกถอนอายัดเงินฝากทั้ง ๕ บัญชี ของผู้คัดค้านทั้งสามแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในส่วนนี้
ผู้คัดค้านที่ ๙ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐๗๐๑๘๕-๔ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย เลขที่ ๐๑๓-๑-๗๐๑๘๕-๕ จำนวน ๑,๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ คตส. อายัดเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๙ ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนคดีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ ผู้คัดค้านที่ ๙ ดำเนินกระบวนการพิสูจน์ทรพย์สินโดยโต้แย้งไว้ต่อ คตส. แต่ คตส.และคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ การยื่นคำร้องคดีนี้เป็นการข้ามขั้นตอนการพิสูจน์ทรัพย์สินไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องได้ คตส.กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ เกิน ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้ว คดีของผู้ร้องจึงขาดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง เงินฝากที่ คตส. อายัดดังกล่าวเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๓ ชำระซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๙ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพื่อใช้จ่ายลงทุนในธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๙ ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและโดยสุจริต ก่อนที่ คตส.จะมีคำสั่งอายัด เงินในบัญชีไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๐ ยื่นคำคัดค้านว่า คตส.กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ จึงเกิน ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้ว จึงไม่มีอำนาจกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจดำเนินการ และการพิสูจน์ทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐-๗๑๗๐๙-๑ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และธนาคารธนชาติ จำกัด (มหาชน) สาขารัชดาภิเษก รวม๒ บัญชีเป็นเงิน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ ๑๐ ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๓ ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๐ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ เพื่อใช้จ่ายลงทุนในธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของการเพิ่มทุน จึงเป็นทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านที่ ๑๐ ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายและสุจริตก่อนที่ คตส. จะมีคำสั่งอายัดไม่เกี่ยวกับผู้ถูกกล่าวหา ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๑ ยื่นคำคัดค้านว่า คตส. กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ เกินกว่า ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้ว คตส.จึงไม่มีอำนาจกล่าวหาและไต่สวน คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจดำเนินการ และผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้เนื่องจากไม่มีคำสั่งพิสูจน์ทรัพย์สินให้เสร็จสิ้นขบวนการตามที่กฎหมายบังคับก่อนมีการยื่นคำร้องคดีนี้ จึงข้ามขั้นตอนตามกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐-๗๐๑๘๔-๘ จำนวน ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ คตส.อายัดเป็นของผู้คัดค้านที่ ๑๑ ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๕ ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๑ เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๕๐ ผู้คัดค้านที่ ๑๑ ออกใบสำคัญรับเงินค่าหุ้นและออกใบหุ้นจำนวน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ตั้งหมายเลข ๑๕๐๐๐๐๐๑-๕๑๕๐๐๐๐๐๐ ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ แล้วไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกิดจากร่ำรวยผิดปกติหรือเพิ่มมากขึ้นผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๒ ยื่นคำคัดค้านว่า คตส. กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ จึงเกินกว่า ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากจากตำแหน่งรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้วจึงอำนาจกล่าวหา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจดำเนินการ และการพิสูจน์ทรัพย์สินยังไม่เสร็จสิ้นกระบวนการตามที่กฎหมายบังคับ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๔-๓๒๐๘๗-๖ ที่ คตส.อายัดครั้งแรก ๔๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และครั้งที่สอง ๑๘๗,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นของผู้คัดค้านที่ ๑๒ ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๓ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจากผู้คัดค้านที่ ๑๒ และออกได้ใบหุ้นเพิ่มทุนให้ผู้ซื้อเรียบร้อยแล้ว ก่อนที่ คตส. จะสั่งอายัด การชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนทำโดยสุจริตเปิดเผยผ่านระบบธนาคารสามารถตรวจสอบได้ มิใช่ทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๓ ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนร่วมกับผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ ๑๓ ได้ดำเนินการพิสูจน์ทรัพย์สินจนเสร็จสิ้นลงแล้ว แต่ผู้มีอำนาจหน้าที่ไม่มีคำสั่งใดในเรื่องการพิสูจน์ทรัพย์สิน การยื่นคำร้องต่อศาลขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้ามขั้นตอนในการพิสูจน์ทรัพย์สินคดีนี้ คตส. กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ เกิน ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แล้ว คดีจึงขาดอายุความ เงินฝากบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เลขที่ ๑๒๗-๐๗๒๕๐๖-๐ จำนวน ๑๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นจำนวนเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๑๓ จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและมีมติพิเศษให้เพิ่มทุน ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนทั้งหมดในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑๓ จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นนำส่งสำนักทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่ใช่เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ และไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือได้มาจากผู้กระทำความผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ขอให้ยกคำร้องและปล่อยทรัพย์สินของคัดค้านที่ ๑๓
ผู้คัดค้านที่ ๑๔ ยื่นคัดค้านว่า เงินฝากจำนวน ๑๓๒,๑๒๓,.๖๐ บาท ในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดา - ลาดพร้าว เลขที่ ๑๗๗-๐-๔๒๑๑๒-๙ ผู้คัดค้านที่ ๑๔ ได้รับเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาด้านภาษีอากรกรณีที่ คตส. ตรวจสอบการซื้อขายหุ้นเมื่อได้ให้คำปรึกษากฎหมายแก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ โดยผู้คัดค้านที่ ๑๔ ออกใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าบริการเข้าร่วมประชุมประจำเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ๒๕๕๐ รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน ๖๖,๐๖๑.๘๐ บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๕ ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ ผู้คัดค้านที่ ๑๕ ได้พิสูจน์ทรัพย์สินตามที่กระบวนการที่บังคับใช้ก่อนมีการยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว แต่ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มีคำสั่งใดๆ การยื่นคำร้องคดีขาดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง เนื่องจากมูลเหตุที่กล่าวหาเกิดขึ้นขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แต่ คตส. กล่าวหาเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งเกินกว่าสองปีนับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งแล้ว เงินในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๐๗๐๑๘๙-๗ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๓ ได้ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๕ โดยออกเป็นหุ้นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจของผู้คัดค้านที่ ๑๕ ตามมติที่ประชุมผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๐ เงินในบัญชีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย บัญชีเลขที่ ๐๑๓-๑-๒๕๒๒๐-๐ จำนวน ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนร้อยละ ๕๐ ของหุ้นทั้งหมดที่ซื้อจากผู้คัดค้านที่ ๑๕ ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ และครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๖ ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ให้ยกคำร้อง แต่งตั้งตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ ผู้คัดค้านที่ ๑๖ ได้พิสูจน์ทรัพย์สินจนเสร็จสิ้นตามกระบวนการที่บังคับใช้ก่อนมีการยื่นคำร้องคดีนี้แล้ว แต่ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้มีคำสั่งใด ๆ การยื่นคำร้องของผู้ร้องจึงข้ามขั้นตอนกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สิน ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องคดีขาดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๓๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง เนื่องจากมูลเหตุที่กล่าวหาเกิดขึ้นขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แต่ คตส. กล่าวหาเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งเกินกว่า ๒ ปีนับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งแล้ว เงินในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๓ ได้ชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑๖ เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ โดยออกเป็นหุ้นจำนวน ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท เพื่อขยายการดำเนินธุรกิจของผู้คัดค้านที่ ๑๖ ตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ และครั้งที่ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐ และวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ ตามลำดับ ซึ่งการชำระค่าหุ้นดำเนินการเสร็จสิ้นก่อนที่ คตส. จะมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑๖ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๗ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากจำนวน ๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี เป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑๗ ที่ได้รับการบริจาคมาจากผู้คัดค้านที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๐ ตามแคชเชียร์เช็คธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักเพชรบุรี เลขที่ ๖๕๙๐๔๔๓ เพื่อนำไปใช้จ่ายบริจาคให้แก่เด็กผู้ยากไร้และนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ รวมถึงครอบครัวและองค์กรสาธารณะกุศลอื่นตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิ ได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์ทรัพย์สินจาก คตส. แล้วว่าผู้คัดค้านที่ ๑๗ เป็นเจ้าของที่แท้จริงได้รับบริจาคมาโดยสุจริตและตามสมควรในทางกุศลสาธารณะ โดย คตส. มีมติให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑๗ ตกเป็นของแผ่นดิน คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๒๔๖ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๒๔๗ วรรคหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนสอบสวนของ คตส. และมีมติให้ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๑๘ ยื่นคำคัดค้านว่า เงินฝากในบัญชีธนาคารและแคชเชียร์เช็ครวม ๑๐ รายการ ที่ คตส. มีคำสั่งอายัดเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑๘ ซึ่งได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย และมิได้เกิดจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ร้องไม่อาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินได้ เนื่องจากเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. รับมอบสำนวนจาก คตส. แล้วยังไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับการพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๑๘ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้ามขั้นตอนในการพิสูจน์ทรัพย์สินคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖ และ มาตรา ๑๒ จึงไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวน ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องและไม่มีอำนาจพิจารณาสำนวนร่วมกับผู้ร้อง คำร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์ขณะผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ แต่ คตส. กล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติเมื่อวันที่ ๓ มกราคม ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งเกิน ๒ ปี ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง คดีจึงขาดอายุความแล้วเงินฝากในบัญชีของผู้คัดค้านจำนวน ๘๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เกิดจากการที่ผู้คัดค้านที่ ๑๘ ขายหุ้นเพิ่มทุน ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และได้เรียกเก็บเงินค่าหุ้นเพิ่มทุนครั้งแรกในราคาหุ้นละ ๒.๖๖ บาท ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๐ ด้วยแคชเชียร์เช็ค ๔ ฉบับ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๒๐ ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการ คตส. ยังไม่ได้มีการดำเนินการตามขั้นตอนพิสูจน์ทรัพย์สินจนครบถ้วนตามกฎหมายในชั้นพิสูจน์ทรัพย์ โดยผู้คัดค้านที่ ๒๐ ได้แสดงหลักฐานพิสูจน์ความเป็นเจ้าของทรัพย์ต่อ คตส. แล้ว แต่ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังมิได้มีคำสั่งใด ๆ เพื่อชี้ชัดว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่อายัดเป็นของผู้คัดค้านที่ ๒๐ หรือไม่ และคดีนี้มีการกล่าวหาเกิน ๒ ปี นับแต่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งแล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องผู้คัดค้านที่ ๒๐ มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๔๙ และครั้งที่ ๒/๒๕๔๙ เมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๙ และวันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ให้เพิ่มทุนอีก ๑,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๕ ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ๑,๒๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และผู้คัดค้านที่ ๖ ซื้อหุ้นเพิ่มทุน ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้วชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนร้อยละ ๖๐ เป็นเงินรวม ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒๐ นำเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๒๐ ที่ คตส. อายัดและออกใบสำคัญรับชำระค่าหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๕ และที่ ๖ พร้อมจดทะเบียนต่อนายทะเบียนเป็นทุนจดทะเบียน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๐ ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ ๒๑ ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๕๒ มาตรา ๖ และมาตรา ๑๒ ไม่มีอำนาจส่งเรื่องให้ผู้ร้องดำเนินการ นอกจากนี้ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนพิสูจน์ทรัพย์สินจนครบถ้วนตามกฎหมาย ทั้งการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่าร่ำรวยผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง ต้องกระทำในขณะผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากตำแหน่งไปไม่เกิน ๒ ปี แต่คดีนี้เป็นการกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการเพื่อเอื้อประโยชน์ในช่วงระหว่างปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๘ เป็นเวลาเกิน ๒ ปี แล้ว ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้ เงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาสำนักรัชโยธิน ของผู้คัดค้านที่ ๒๑ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๒๑ ครั้งที่ ๑/๒๕๕๐ และ ๒/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๐ และวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่ให้เพิ่มทุนอีก ๙๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีผู้ถือหุ้น กับการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๓/๒๕๕๐ เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน ๒๕๕๐ และวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ที่ให้เพิ่มทุนอีก ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒๑ ออกใบสำคัญรับชำระค่าหุ้นให้ผู้คัดค้านที่ ๕ พร้อมจดทะเบียนต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครเรียบร้อยแล้ว เงินในบัญชีธนาคารดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๑ ที่ได้มาโดยสุจริตตามปกติในทางธุรกิจและเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้ถือหุ้น ประกอบกับข้อกล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปแทนผู้ถูกกล่าวหายังขัดกับคำวินิจฉัยของ คตส. ที่ว่าการรับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นประโยชน์ที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ได้รับและให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้คัดค้านที่ ๕ อีกด้วย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้ค้านที่ ๒๒ ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่า เงินตามแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สำนักนานาเหนือ ๑๒ ฉบับ ทุกฉบับลงวันที่สั่งจ่ายวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ รวมเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่ง คตส. มีคำสั่งอายัดไว้เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒๒ ได้รับชำระหนี้จากการประกอบกอบกิจการด้านกฎหมายโดยสุจริต โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ชำระเป็นค่าว่าจ้างให้ผู้คัดค้านที่ ๒๒ เป็นที่ปรึกษากฎหมายและจัดหาทนายความเข้าแก้ต่างดำเนินคดีให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ 5 กับนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ในคดีที่บุคคลทั้งสามถูกพนักงานอัยการฟ้องต่อศาลอาญาเกี่ยวเนื่องกับการเสียภาษี ผู้คัดค้านที่ ๒๒ และผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ร่วมกันชี้แจงและยื่นคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินต่อ คตส. แล้วแต่ คตส. ไม่ได้มีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใดตามคำร้องขอการพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๒ โดยแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ ๒๒ รอฟังผลคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.แทน เนื่องจาก คตส. ส่งสำเนาให้อัยการสูงสุดเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ส่วนคณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็มิได้แจ้งผลการพิจารณาโดยระบุว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพิกถอนคำสั่งอายัดของ คตส.ผู้คัดค้านที่ ๒๒ และผู้คัดค้านที่ ๒ มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน คตส.จึงไม่มีอำนาจออกคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒๒ ทั้งเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ใช้ซื้อแคชเชียร์เช็ค ๑๒ ฉบับ เป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้มาโดยถูกต้องจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปและนำมาชำระค่าบริการทางกฎหมายโดยไม่มีพฤติการณ์ยักย้ายเงินตามที่ คตส.กล่าวหา ขอให้ยกคำร้อง
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงจากทางไต่สวนของศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประกอบรายการไต่สวนของ คตส. และที่คู่ความไม่โต่เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ถูกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๖ มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นภริยาของผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ เป็นบุตรของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๔ เป็นน้องของผู้ถูกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๕ เป็นบุตรบุญธรรมของบิดาผู้คัดค้านที่ ๑ ส่วนผู้คัดค้านที่ ๖ เป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ ๕ ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อ "ไทยรักไทย" ซึ่งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่งไป พ.ศ.๒๕๔๔ และ พ.ศ.๒๕๔๘ พรรคไทยรักไทยได้ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ๒๔๘ ที่นั่ง และ ๓๗๕ ที่นั่ง ตามลำดับ จากจำนวนทั้งหมด ๕๐๐ ที่นั่งส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมสองสมัยตั้งแต่วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ และวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๔๘
บริษัท ชินคอร์ป บริษัทเอไอเอส บริษัทดีพีซี และบริษัทไทยคมเป็นนิติบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทเอไอเอสและบริษัทไทยคมส่วนบริษัทเอไอเอสเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทดีพีซี ทั้งต่างมีส่วนเกี่ยวข้องกับสัญญาสัมปทานโครงการของรัฐ โดยบริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ โดยบริษัทไทยคมเป็นผู้บริหารโครงการตามสัญญา บริษัทเอไอเอสดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยได้รับอนุญาตจาก ทศท.ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่นที่ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ ส่วนบริษัทดีพีซีเป็นผู้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่าโดยได้รับอนุญาตจาก กสท.ตามสัญญาได้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า ๑๘๐๐ ฉบับลงวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ เดิมผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ ๑ และที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น และจำนวน ๖,๘๔๗,๓๙๕ หุ้น ตามลำดับ เมื่อปี ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ 1 และที่ ๕ ต่างใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน เมื่อรวมกับหุ้นที่ถืออยู่เดิมแล้วผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นจำนวน ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้น จำนวน ๑๓,๖๑๘,๐๓๐ หุ้น เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๔๒ มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทแอมเพิลริชตามกฎหมายของหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน มีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก ๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นหุ้นจำนวน ๕๐,๐๐๐ หุ้น มูลค่าหุ้นละ ๑ ดอลลาร์สหรัฐ เรียกชำระค่าหุ้นเพียง ๑ หุ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว และมีนายเลา วี เตียง เป็นกรรมการผู้เดียว วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๒ บริษัทแอมเพิลริชได้เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ แต่มิได้มีการเรียกชำระค่าหุ้นเพิ่ม เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนของผู้ถูกกล่าวหาให้แก่บริษัทแอมเพิลริช จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ชำระค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาแทนบริษัทแอมเพิลริช กับจัดให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เข้าร่วมเป็นกรรมการบริษัทแอมเพิลริชในวันเดียวกัน ต่อมาผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ ได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือ กลต.ว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ต่างโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ถืออยู่ทั้งหมดเมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ โดยผู้ถูกกล่าวหาขายหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ส่วนผู้คัดค้านที่ ๑ ขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ต่อมาบริทชินคอร์ปจดทะเบียนลดมูค่าหุ้นจากที่ตราไว้หุ้นละ ๑๐ บาท เหลือหุ้นละ ๑ บาท โดยยื่นคำขอจดทะเบียนเมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อ กลต.ว่า เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ และวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้โอนขายหุ้นบริษัทชินคอมร์ปจำนวน ๓๖๗,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ ในราคาหุ้น ๑ บาท ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ กับบริษัทแอมเพิลริชได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อ กลต.ว่า เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ บริษัทแอมเพิลริชโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ถืออยู่ จำนวน ๓๒๙,๒๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑ บาท ณ วันดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงมีชื่อถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปรวมกันเป็นจำนวน ๑,๔๑๙,๑๕๐ หุ้น ระหว่างมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษชินคอร์ตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ ผู้คัดค้านที่ ๑ ถึง ๕ และบริษัทแอมเพิลริชต่างได้รับปันผลค่าหุ้นจากบริษัทชินคอร์ปโดยคัดค้านที่ ๒ ได้รับ ๑,๔๖๑,๔๔๗,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๓ ได้รับ ๒,๑๐๕,๕๕๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๔ ได้รับ ๙๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๕ ได้รับ ๑,๖๓๔,๖๑๓,๑๒๙ บาท และบริษัทแอมเพิลริชได้รับ ๑,๕๙๙,๙๑๒,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที ๕ ถืออยู่จำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ในราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วได้เงินสุทธิ ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕
ต่อมาวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ คณะปฏิรูปการปรกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มีผู้ถูกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรี และมีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ แต่งตั้ง คตส.ให้มีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอัควรสงสัยว่าจจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทานหรือการจีดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีเหตุอันควรสวสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัตราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่รัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และตรวจสอบการกระทำใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากรอันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ต่อมาสภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทศท.ได้มีหนังสือร้องเรียนต่อ คตส.เพื่อขอให้ตรวจสอบการตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗(ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๔๖ ซึ่งดำเนินการโดยรัฐบาลที่กูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีว่าเป็นโดยไม่ถูกต้องตามระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดความเสียหายต่อกิจการโทรคมนาคมของชาติ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทที่เป็นกิจกรรมของครอบครัวผู้ถูกกล่าวหา คตส.ได้มีคำสั่งแต่ตั้งกลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งกลุ่มพนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ดำเนินการแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงมีมูล คตส.จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินในส่วนของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมและเรื่องอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองครอบครัวหรือพวกพ้อง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือเป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นกรณีที่ทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ และระหว่างการตรวจสอบไต่สวน คตส.มีมติว่ามีหลักฐานคอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้กระทำการโดยทุจริต หรือประพฤติมิชอบหรือร่ำรวยผิดปกติ จึงมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่มีชื่อผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๒๒ หลายรายการ รวมเป็นเงิน ๖๖,๗๖๒,๙๒๘,0๒๔.๒๕ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๒๒ ต่างยื่นคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินและคัดค้านการอายัดทรัพย์สินดังกล่าว คตส.พิจารณาแล้วมีมติให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินที่อยู่ในชื่อผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ และที่ ๑๙ คณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนและเสนอรายงานการไต่สวนพร้อมความเห็นต่อ คตส.ว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปโดยให้ผู้อื่นถือแทน และระหว่างผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยแรกได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาที่ให้บริษัทชินคอร์ป บริษัทไทยคมและบริษัทเอไอเอสมีสิทธิดำนเนินการในกิจการต่างๆ ดังกล่าว รวมทั้งแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิต และเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้วงเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลพม่าสำหรับโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของสหภาพพม่าอันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าวซึ่งเป็นกิจการของผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัว คตส.ได้ร่วมประชุมพิจารณารายงานการไต่สวนดังกล่าวแล้วเห็นว่า ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกกล่าวหาได้ปกปิดการถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔0 มาตรา ๑00,๒0๘,๒0๙,๒๙๑ และมาตรา ๒๙๒ พระราชบัญญัติการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๔๓ มาตรา ๔,๕ และมาตรา ๖ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๒,๓๓ และมาตรา ๑00 ซึ่งมีโทษทางอาญาตามมาตรา ๑๑๙ และมาตรา ๑๒๒ ทั้งผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่สั่งการ มอบนโยบายรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐบาลภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหาการกระทำการอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือเป็นจำนวนมาก่อนที่จะขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กเป็นจำนวนเงินสุทธิ ๖๙,๗๒๒,๘๘0,๙๓๒.0๕ บาทและตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลให้รวม ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ กับมีมติให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นให้ผู้ร้องยื่นคำร้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓0 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ กำหนดให้ คตส.มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑) ตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(๒) ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อ จัดจ้างของส่วนราชการรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ ที่มีเหตุอันสมควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(๓) ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(๔) ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
ในกรณีที่เห็นว่ามีการดำเนินการในเรื่องที่ตรวจสอบมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ และมีพฤติการณ์ว่าบุคคลใดเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้นั้น คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้
เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามประกาศนี้ นอกจากอำนาจตามวรรคหนึ่งให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย
(๑) พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.๒๕๔๒ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมป้องกันและปราบปรามการการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม
(๒) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ
(๓) ประมวลรัษฎากร โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบใช้อำนาจของอธิบดีกรมสรรพากร เฉพาะที่เกี่ยวกับการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สิน
ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสาม คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูลหรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นใด และให้มีอำนาจเรียกสำนวนหรือเรื่องที่อยู่ในการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ หรือเรียกสำนวนการสอบสวยหรือการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินถ้ามีพิจารณาและให้ใช้เป็นสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบโดยจะสอบสวนเพิ่มเติมหรือไม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเรื่องเดียวกันอยู่ในการดำเนินการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือคณะกรรมการธุรกรรม ให้ประสานงานเพื่อดำเนินการตามควรแก่กรณี
และข้อ ๙ วางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ คตส.มีมติและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไว้ว่า
"ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างแต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี
ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าบุคคลใดกระทำผิดกฎหมายและเป็นกรณีที่ไม่อยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานนั้นต่อไป โดยถือผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นการสอบสวนตามกฎหมายนั้น"
ส่วนอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) และ(๔) ดังนี้
(๑) คดีที่มีมูลแห่งคดีเป็นการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่น ร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ฯลฯ
(๔) คดีที่ร้องขอให้ทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นผิดปกติของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมืองอื่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติตกเป็นของแผ่นดิน
คดีนี้ผู้ร้องกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองร่ำรวยผิดปกติโดยมีทรัพย์สินเพิ่มมากขึ้นหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ และมีคำขอให้ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดิน เป็นการดำเนินการตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓0 เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ๙ และเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๑) และ (๔) หาใช่เป็นการฟ้องคดีละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่จะต้องดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองก่อน ซึ่งจะอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ และพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.๒๕๓๙ ไม่ และมิใช่เป็นการร้องขอให้วินิจฉัยถอดถอนจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕0 มาตรา ๑๑0,๒0๘ และมาตรา ๒0๙ ซึ่งอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญดังที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านกล่าวอ้างกรณีตามคำร้องเป็นเรื่องซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเฉพาะองค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่าศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจพิพากษาคดีนี้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้หรือไม่ที่ผู้ถูกกล่าวหาโต้แย้งว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ออกประกาศฉบับที่ ๓ กำหนดให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง ดังนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ จึงถูกยกเลิกและไม่มีผลใช้บังคับกับความผิดที่ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำมาแล้วก่อนที่จะมีการยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น เห็นว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขยึดอำนาจในการปกครองประเทศได้เรียบร้อยแล้วก็ออกประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓ มีใจความสำคัญว่า ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ สิ้นสุดลง วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีและศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ส่วนศาลทั้งหลายนอกจากศาลรัฐธรรมนูญคงมีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามบทกฎหมาย แสดงให้เห็นว่า บรรดาบทบัญญัติกฎหมายต่างๆ ซึ่งได้ตราขึ้นและมีผลใช้บังคับอยู่แล้วในขณะที่มีการยึดอำนาจนั้น หาได้ถูกยกเลิกไปด้วยแต่ประการใดไม่ ดังนั้นแม้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ จะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเนื่องจากเป็นกฎหมายที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๔๐ บัญญัติให้ตราขึ้นใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อมีการตราขึ้นใช้บังคับโดยชอบแล้ว พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมมีสถานะเทียบเท่าพระราชบัญญัติทั่วไป กล่าวคือ หากไม่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดแล้ว ย่อมมีความสมบูรณ์และยังคงดำรงความเป็นกฎหมายอยู่ในตัวเอง สามารถนำไปใช้บังคับแก่กรณีต่างๆ ได้โดยหาจำต้องอาศัยความดำรงอยู่ของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ จึงไม่มีผลทำให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญสิ้นผลไปด้วยแต่อย่างใด ส่วนผู้ที่ถูกกล่าวหาต่อสู้ในคำคัดค้านว่า คตส.และคณะอนุกรรมการไต่สวนไม่มีอำนาจตรวจสอบไต่สวน และกระบวนการตรวจสอบไต่สวนกระทำนอกขอบอำนาจของประกาศ คปค.ไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลได้นั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ให้อำนาจ คตส.ในการตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรี หรือคณะมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทาน หรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
นอกจากนี้ประกาศ คปค.ฉบับดังกล่าวยังให้ คตส.มีอำนาจพิจารณาเรื่องใดๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่น อันเป็นการเปิดกว้างให้ คตส.มีอำนาจตรวจสอบได้ทุกเรื่องที่เห็นควรตรวจสอบ ดังนั้น ประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ จึงเป็นประกาศที่ให้อำนาจ คตส.ตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ โดยมิได้จำกัดให้ตรวจสอบเฉพาะคณะรัฐมนตรีคณะใดคณะหนึ่ง หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง การตรวจสอบไต่สวนของ คตส.ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการภายในขอบอำนาจตามประกาศ คปค.ที่ให้อำนาจไว้แล้ว ส่วนกรณีที่ คตส.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาคดีอาญาเป็นอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้ด้วยนั้น เห็นว่า การกล่าวหากรณีนี้ คตส.ใช้อำนาจตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ 5 โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนตามข้อ ๑๐ ซึ่งตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ คตส.๐๑๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ระบุชัดเจนว่าให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ในเรื่องของการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคมและเรื่องอื่นๆ เพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเองและครอบครัวหรือพวกพ้อง รวมทั้งทำให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากหรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ซึ่งเป็นกรณีร่ำรวยผิดปกติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ หมวดที่ ๖ และหมวดที่ ๗ แม้คณะอนุกรรมการไต่สวนคดีนี้จะเป็นคณะเดียวกันกับคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อกล่าวหาคดีอาญา ก็ไม่ต้องห้ามประกาศ คปค. ฉบับดังกล่าวหรือระเบียบอื่นใด และผู้ที่ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านอ้างว่า คตส.ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลาที่กล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกตินั้น ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ วรรคหนึ่ง ได้กำหนดกรอบเวลาในการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันประกาศนี้ใช้บังคับ และข้อ ๑๑ วรรคสอง กำหนดว่า "เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง และการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี" แต่ต่อมามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคสองของข้อ ๑๑ ของประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "เมื่อครบกำหนดเวลาตามวรรคสอง แต่การตรวจสอบเรื่องการสอบสวนเรื่องใดที่ดำเนินการอยู่ยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ แต่ต้องไม่ช้ากว่าวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑"
และมาตรา ๕ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของข้อ ๑๑ ของประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการการตรวจสอบดำเนินการเรื่องใดตามวรรคสองไม่แล้วเสร็จ ภายในวันที่ ๓o มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๑ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้นให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นดังกล่าว เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี และถือว่าการดำเนินการ สำนวนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบที่คณะกรรมการตรวจสอบได้ดำเนินการแล้ว เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายขอิองคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือหน่วยงานอื่นดังกล่าว แล้วแต่กรณี"
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนการไต่สวนของ คตส. ว่า คตส.ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาจนถึงวันที่ ๓o มิถุนายน ๒๕๕๑ หลังจากนั้น คตส.ได้ส่งมอบสำนวนเรื่องที่ยังค้างอยู่นั้นให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่กรณีถือได้ว่า คตส. ได้ดำเนินการตรวจสอบทรัย์สินของผู้ถูกกล่าวหาภายในกรอบเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหาและฝ่ายคัดค้านอ้างว่า คตส.ดำเนินการไต่สวนล่วงเลยระยะเวลาสองปีเป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๗๕ วรรคสอง นั้น เห็นว่า กรณีการกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติซึ่งต้องการกระทำในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เกินสองปีตามมตรา ๗๕ วรรคสอง ดังกล่าวนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติขึ้นสำหรับให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้ปฏิบัติในกรณีที่มีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดร่ำรวยผิดปกติตามาตรา ๗๕ วรรคสอง จะนำมาบังคับใช้แก่การตรวจสอบทรัพย์สินของ คตส. ที่มีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นไม่ได้ ข้ออ้างของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านจึงฟังไม่ขึ้น ดังนั้นเมื่อปรกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ให้อำนาจ คตส. ในการตรวจสอบการกระทำใด ๆ ที่ก็ให้เกิดความเสียหายแก่รัฐและ คตส. ได้ดำเนินการไต่สวนภายในกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐ การตรวจสอบในกรณีกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติจึงเป็นการกระทำโดยชอบแล้วส่วนข้อที่อ้างว่า คณะอนุกรรมให้การไต่สวนจำกัดสิทธิของผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการนำพยานเข้าไต่สวนโดยมิชอบนั้น เห็นว่า การกำหนดเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและการนำพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแก้ข้อกล่าวหานั้น ระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.๒๕๔๙ ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของคณะอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ.๒๕๔๗ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ กำหนดให้คณะอนุกรรมการไต่สวนให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาที่จะชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและนำสืบแก้ข้อกล่าวหาภายในเวลาอันสมควรแต่อย่างช้าไม่เกินสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับทราบข้อกล่าวหา และในกรณีที่คณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าพยานหลักฐานใดที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างไม่เกี่ยวกับประเด็นที่กล่าวหาหรือเป็นการประวิงให้ชักช้า คณะอนุกรรมการไต่สวนจะไม่ทำการไต่สวนพยานหลักฐานนั้นก็ได้ ข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการให้คณะอนุกรรมการไต่สวนใช้ดุลพินิจได้ตามสมควรแก่พฤติการณ์ในแต่ละกรณีในข้อนี้ก็ได้ความว่า ในส่วนการแจ้งข้อกล่าวหาและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้น คตส.ได้มีมติให้ดำเนินคดีแก่ผู้ถูกกล่าวหาและได้แจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้วโดยมีผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกกล่าวหารับบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๑ ผู้ถูกกล่าวหาก็ได้แยกดำเนินการในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาออกเป็น ๒ ส่วน กล่าวคือ ทำคำชี้แจ้งแก้ข้อกล่าวหาและยังทำคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินยื่นต่อ คตส. อีกด้วย โดยในส่วนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหานั้นผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาได้มีหนังสือขอเลื่อนการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาออกไปเป็นเวลา ๖๐ วัน รวม ๒ ครั้ง โดยในครั้งที่ ๒ ได้ขอใช้สิทธิตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนก็ได้มีมติให้ขยายเวลาออกไปได้ ๓๐ วัน ส่วนที่ขอตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสารนั้นได้มีมติให้ผู้ขอตรวจสอบแจ้งว่าต้องการตรวจสอบหลักฐานเรื่องใดเพื่อจะได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่งต่อไป ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาได้ขอตรวจสอบหลักฐานอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๐/๒๕๕๑ วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ แล้วมีมติให้ยกคำร้อง ต่อมาในวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ผู้รับมอบอำนาจของผู้กล่าวหามีหนังสือขอให้เพิกถอนคำสั่งการขอใช้สิทธิ์ตรวจเอกสาร คณะอนุกรมการไต่สวนก็ได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๑/๒๕๕๑ วันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ มีมติยืนตามมติเดิม และผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๑ ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย รวมทั้งแนบบัญชีรายชื่อพยานบุคคลและพยานเอกสารภายในเวลาที่กำหนดได้ แต่ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือลงวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๑ ขอระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ ๑ และขอให้ออกหมายเรียกพยานเอกสาร คณะอนุกรรมการไต่สวนได้พิจารณาในการประชุมครั้งที่ ๑๕/๒๕๕๑ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ วันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑ แล้วเห็นว่าเป็นเอกสารที่คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอยู่แล้ว และเอกสารบางส่วนที่อ้างก็สามารถตรวจสอบได้จากคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดตรวจภาษีชินคอร์ป จึงให้ยกคำร้องขอดังกล่าวทั้งหมด ในส่วนการยื่นคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น ผู้ถูกกล่าวหาได้ยื่นคำร้องเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๑๕๕๐ และอ้างพยานบุคคลมาท้ายคำร้องด้วย โดยได้นัดพิจาณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาไว้ในวันที่ ๑๒, ๑๙ และ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ในวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๕๐ ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนการพิจารณาคำร้องออกไปอ้างว่าพยานเอกสารที่สำคัญและจำเป็นที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการและบุคคลภายนอกยังไม่ได้มา และขอให้หมายเรียกพยานเอกสาร กับขอยกเลิกวันนัดในวันที่ ๑๙ ที่นัดไว้แล้ว ซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินก็อนุญาตให้เลื่อนนัดและให้นัดเพิ่มเป็นวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ตามที่ฝ่ายผู้ถูกกล่าวหามีวันว่าง ต่อมาในวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๐ ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดโดยอ้างว่าขอถ่ายเอกสารจากหน่วยงานราชการแล้วแต่ยังไม่ได้รับ คณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินอนุญาตให้เลื่อนนัดไปในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ แต่เมื่อถึงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๐ ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดและกำหนดวันนัดใหม่อีก โดยอ้างว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่อนุญาตให้คัดถ่ายเอกสารเนื่องจากต้องดำเนินการมอบอำนาจใหม่โดยมีการเลื่อนนัดไปวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ตามวันว่างของผู้ถูกกล่าวหา และให้นัดพร้อมเพื่อตรวจพยานเอกสารในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ ครั้งถึงวันนัดตรวจพยานเอกสาร ผู้ถูกกล่าวหาขอให้เรียกพยานเอกสารจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินเห็นว่าเป็นเอกสารที่มีอยู่ที่ คตส. อยู่แล้ว จึงให้มาตรวจดูก่อนและกำชับให้ผู้ถูกกล่าวหาตั้งคำถามพยานล่วงหน้า๓ วัน กับให้เตรียมพยานมาให้พร้อมในวันนัด แต่เมื่อถึงวันนัดในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑ พยานที่เรียกมาให้ถ้อยคำไม่มา ผู้ถูกกล่าวหาขอเลื่อนนัดโดยอ้างว่าพยานจะมาในวันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๑ ครั้นถึงวันนัดสามารถไต่สวนพยานได้เพียงปากเดียวแล้วเลื่อนนัดพิจารณาออกไป หลังจากนั้นมีการไต่สวนพยานตามคำขอของผู้ถูกกล่าวหาต่ออีกหลายนัดจนถึงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้ถูกกล่าวหาแถลงขอนำคำให้การของนางสาวอรัญญา คงเจริญสถาพร ที่เคยให้ถ้อยคำไว้ในสำนวนคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นพยานของผู้ถูกกล่าวหาด้วยซึ่งคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินก็อนุญาต แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงติดใจขออ้างพยานอีก ๘ ปาก และขอนัดเพิ่มรวม ๔ นัด แต่เนื่องจาก คตส. จะหมดวาระการทำงานในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ จึงส่งสำนวนพร้อมเอกสารทั้งหมดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการต่อเห็นว่า ในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา การตรวจสอบพยานหลักฐานและเอกสาร และการขอพิสูจน์ทรัพย์สินในชั้นคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนได้มีการประชุมพิจารณาเป็นลำดับมาและมีมติที่กระทำไปโดยมีเหตผลประกอบการพิจารณา กับได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว เมื่อเห็นว่าได้พยานหลักฐานเพียงพอแล้วก็มีอำนาจที่จะงดการไต่สวนในส่วนพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาเสียได้ หากคณะอนุกรรมการไต่สวนเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการประวิงให้การไต่สวนชักช้าจะไม่ไต่สวนพยานหลักฐานนั้นเสียก็ย่อมได้ ทั้งข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่ามีการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบแต่อย่างไรด้วย ในส่วนการขอพิสูจน์ทรัพย์สินนั้น คณะอนุกรรมการการพิจาณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินก็ได้ให้โอกาสนำพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหาเข้านำสืบพอสมควรแล้วโดยได้เรียกพยานให้ และอนุญาตให้เลื่อนนัดไปหลายครั้งตามที่ผู้ถูกกล่าวหาร้องขอ หรืออนุญาตให้ผู้ถูกกล่าวหานำคำให้การพยานบางปากที่เคยให้การในอีกสำนวนหนึ่งมาเป็นพยานในสำนวนของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ร้องขอ ตลอดจนส่งพยานเอกสารเพิ่มเติมเป็นระยะตลอดการพิจารณาคำร้องของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งก็ได้รับอนุญาตตลอดมา ถือได้ว่าคณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะอนุกรรมการพิจารณาคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินได้ให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาในเรื่องดังกล่าวนี้โดยได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ. ๒๕๔๙ ประกอบระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๕ และข้อ ๑๖ โดยชอบแล้ว ส่วนข้อคัดค้านของผู้ถูกกล่าวหาที่อ้างว่า การแต่งตั้งนายกล้านรงค์ จันทิก นายบรรเจิด สิงคะเนติ และนายแก้วสรร อติโพธิ ที่เป็นปรปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวนเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในการตรวจสอบของคตส. นอกจากอำนาจหน้าที่ที่มีตามประกาศ คปค. แล้ว ยังต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ ด้วย กรณีดังกล่าวบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นอนุกรรมการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔๖ และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๑ ได้แก่ บุคคล ผู้รู้เห็นเหตุการณ์เกี่ยวกับเรื่องที่กล่าวหามาก่อน หรือมีส่วนได้เสียในเรื่องที่กล่าวหา หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้กล่าวหาหรือผู้ถูกกล่าวหา การรู้เห็นเหตุการณ์จำกัดเฉพาะการเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องโดยตรงในเหตุการณ์หรือพฤติการณ์ที่กล่าวหานั้น เช่น การมีส่วนร่วมในการดำเนินการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาด้านโทรคมนาคมต่างๆที่มีการกล่าวหาในคดีนี้ เป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า การที่นายกล้านรงค์ จันทิก เมื่อครั้งเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเคยกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาในกรณีปกปิดการถือครองหุ้นนั้น กรณีดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามกฏหมาย ส่วนกรณีที่นายกล้านรงค์ จันทิก ไปร่วมรับฟังการปราศรัยของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยก็เป็นการเข้าร่วมในฐานะผู้รับฟังซึ่งเป็นการแสดงออกโดยใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับประชาชนโดยทั่วไป ส่วนการที่เคยให้ข่าวรับเป็นทนายว่าความให้กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาจำนวน ๒๘ คน ที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหาสิ้นสุดลง กับการจะไปเข้าร่วมการแสดงศาลจำลองโจมตีการบริหารงานของผู้ถูกกล่าวหานั้น เป็นการดำเนินการโดยใช้ความรู้ความสามารถในวิชาชีพที่ทำได้ แต่ในที่สุด นายกล้านรงค์ จันทิก ก็หาได้ไปร่วมกิจกรรมกับกลุ่มสมาชิกวุฒิสภาดังกล่าวหรือกิจกรรมศาลจำลองแต่อย่างใด ส่วนการกระทำของนายบรรเจิด สิงคเนติ ตามข้อคัดค้านเป็นการแสดงออกในฐานะนักวิชาการและประชาชนคนหนึ่ง มิได้โกรธเคืองเป็นการส่วนตัวต่อผู้ถูกกล่าวหา อีกทั้งการยื่นคำร้องต่างๆ ก็เป็นการใช้สิทธิทางกฏหมายในการตรวจสอบการบริหารประเทศของรัฐบาล สำหรับการกระทำของนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นการแสดงออกในฐานะสมาชิกวุฒิสภาที่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัย ซึ่งเป็นการดำเนินการตามสิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองการขึ้นเวทีปราศรัยและเขียนหนังสือเป็นการแสดงความคิดเห็นทางวิชาการ และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความชอบธรรมตามสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรอง ไม่มีเหตุโกรธเคืองเป็นการส่วนตัวกับผู้ถูกกล่าวหา ทั้งไม่มีส่วนรู้เห็นเหตุการณ์โดยตรงเกี่ยวกับเรื่องที่มีการกล่าวหา ซึ่งการคัดค้านอนุกรรมการไต่สวนนี้ คตส. ได้ให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๒๔ และ คตส. ได้พิจารณาคำคัดค้านให้แล้วโดยเห็นว่าอนุกรรมการไต่สวนที่ถูกคัดค้านไม่มีพฤติการณ์หรือเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และระเบียบคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการไต่สวน พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑๑ อันเป็นปรปักษ์ต่อผู้ถูกกล่าวหา และมีมติให้ยกคำคัดค้านพร้อมทั้งได้แจ้งผลการพิจารณาคำคัดค้านให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว ส่วนในการพิจารณาคำคัดค้านนั้น อนุกรรมการที่ถูกคัดค้านแต่ละรายก็มิได้อยู่ร่วมในการวินิจฉัยข้อคัดค้านเฉพาะส่วนของตนแต่อย่างใด ทั้งในระหว่างที่มีการคัดค้านจนกระทั่ง คตส. มีมติยกคำคัดค้านก็ไม่ปรากฏว่าอนุกรรมการทั้งสามได้มีการดำเนินการใดเกี่ยวกับการไต่สวนในเรื่องนี้ ดังนั้น การแต่งตั้งนายกล้านรงค์ จันทิก นายบรรเจิด สิงคเนติและนายแก้วสรร อติโพธิ เป็นประธานและอนุกรรมการไต่สวนจึงชอบแล้ว ที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านโต้แย้งว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยชอบ จึงไม่มีอำนาจเข้าดำเนินการแทน คตส. นั้น เห็นว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่งอยู่นี้เป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๑๙ ซึ่งตามข้อ ๑ ของประกาศ คปค.ดังกล่าวกำหนดให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มีผลใช้บังคับต่อไป โดยให้งดการบังคับใช้บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการป.ป.ช. ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งมิได้มาจากการสรรหาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๗ จึงไม่จำต้องดำเนินการให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการแต่ประการใด และถือว่าเป็นคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งโดยชอบด้วยกฏหมายแล้วเมื่อระยะเวลาตามประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ และพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ. ๒๕๕๐ สิ้นสุดลง คตส. ไม่อาจใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ได้อีกต่อไป จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่จะดำเนินคดีแทนคตส. และถือว่าสำนวนการตรวจสอบและผลการตรวจสอบที่ คตส. ได้ดำเนินการไปแล้ว เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฏหมายของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วยตามประกาศดังกล่าว ดังนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจดำเนินการแทน คตส. ได้ การดำเนินการของ คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชอบแล้ว ส่วนที่ว่า คตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ในการพิสูจน์ทรัพย์สินให้เสร็จเด็ดขาดก่อนยื่นคำร้อง เป็นการข้ามขั้นตอนของกฏหมายนั้น เห็นว่า ประกาศ คปค. ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๘ กำหนดว่า บรรดาทรัพย์สินที่ถูกยึดหรืออายัดตามข้อ ๕ ถ้าเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อคณะกรรมการตรวจสอบภายในเวลาที่คณะกรรมการตรวจสอบกำหนดไว้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการ กระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ หรือมิได้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจสั่งเพิกถอนยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้น และในข้อ ๑๑ กำหนดว่า ให้คณะกรรมการตรวจสอบดำเนินการตามประกาศนี้ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่งและการตรวจสอบหรือสอบสวนเรื่องใดยังไม่แล้วเสร็จ ให้คณะกรรมการตรวจสอบส่งมอบสำนวนคืนให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือหน่วยงานอื่น เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตน แล้วแต่กรณี ตามประกาศ คปค.ทั้งสองข้อนี้ให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินพิสูจน์ต่อ คตส.ได้ว่า ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริงและทรัพย์สินนั้นมิใช่ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด หรือมิได้เป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการร่ำรวยหรือเพิ่มขึ้นผิดปกติ ซึ่ง คตส.ก็ได้แต่งตั้ง คณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านแล้ว แต่เนื่องจากครบกำหนดเวลาตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๑๑ ที่แก้ไขเพิ่มเติมในวรรคสาม ก่อนที่ คตส.จะพิจารณาเรื่องพิสูจน์ทรัพย์ให้เสร็จสิ้นไปได้ทุกกรณี สำหรับกรณีที่วินิจฉัยได้ คตส.ก็มีคำสั่งเพิกถอนการยึดหรืออายัดแล้ว ส่วนกรณีที่ไม่แล้วเสร็จก็ส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป เป็นเรื่องที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านต้องพิสูจน์ต่อศาลและเป็นอำนาจของศาลที่จะพิจารณาสั่งต่อไป ดังนั้น การกระทำของคตส. และคณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว นอกจากนี้ที่ผู้ถูกกล่าวหาต่อสู้ว่า ผู้ร้องยังไม่มีอำนาจยื่นคำร้องเนื่องจากอัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่องที่ส่งมายังมีข้อไม่สมบูรณ์นั้น เห็นว่า ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ กำหนดว่า ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ให้ส่งรายงาน เอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการตรวจสอบเป็นมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างแต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิมให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี แล้วแต่กรณี คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นในครั้งแรกว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ของสำนวนการตรวจสอบไต่สวน แต่เมื่อ คตส.ยืนยันความเห็นให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อัยการสูงสุดได้พิจารณาแล้วดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ จึงต้องถือว่าข้อไม่สมบูรณ์ในครั้งแรกได้มี การแก้ไขและได้ข้อยุติแล้ว ส่วนที่ว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่ต้องรอฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญา ก่อนตามข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหานั้น เห็นว่า มูลคดีนี้เป็นการกล่าวหาผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ โดยได้กระทำการต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนเอง ครอบครัวและพวกพ้อง เป็นเหตุให้มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ มิใช่การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนที่มีมูลเหตุมาจากการกระทำความผิดทางอาญาของผู้ถูกกล่าวหา แม้ผู้ร้องจะกล่าวมาในคำร้องว่าการกระทำดังกล่าวมีมูลความผิดทางอาญาด้วย แต่ประเด็นสำคัญที่ศาลจะต้องพิจารณาให้ได้ความคือ ผู้ถูกกล่าวหามีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่จริงหรือไม่ หากได้ความตามนี้แล้ว ศาลย่อมมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินได้โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดทางอาญาหรือไม่แต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่ใช่คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๔๖ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๘ วรรคสอง ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้ต่อไปได้โดยไม่จำต้องรอฟังผลคดีส่วนอาญาก่อน ทั้งคดีนี้ผู้ถูกกล่าวหาก็ระบุในคำคัดค้านเป็นข้อต่อสู้มาด้วยว่าเป็นคดีแพ่ง มิใช่คดีอาญา ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจพิจารณาคดีของศาลที่ต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาแต่ประการใด ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านโต้แย้งว่า ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องให้ทรัพย์สินของผู้คัดค้านตกเป็นของแผ่นดินเนื่องจากผู้คัดค้านไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้นเห็นว่า ตามประกาศ คปค.ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ วรรคสอง ให้อำนาจ คตส.สั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องของผู้ถูกตรวจสอบ คู่สมรสและบุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะของผู้นั้นไว้ก่อนได้ โดยตามคำร้อง คตส.กล่าวหาว่าทรัพย์สินที่ทำการอายัดไว้เป็นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สมรส และร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเฉพาะทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติของผู้ถูกกล่าวหาเท่านั้น หาได้กล่าวอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของผู้คัดค้านอื่นทั้งหลายไม่องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องคดีนี้
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คำร้องเคลือบคลุมหรือไม่ ตามคำร้องบรรยายว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตลอดมา โดยผู้มีคัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริซเป็นผู้ถือหุ้นแทน และผู้ถูกกล่าวหาได้ปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ สั่งการมอบนโยบายในการออกพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗(ฉบับที่ ๔)พ.ศ.๒๕๔๖ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.๒๕๒๗ พ.ศ.๒๕๔๖ ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ลดอัตราและยกเว้นภาษีสรรพสามิต(ฉบับที่ ๖๘)ลงวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๕๔๖ และออกมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ กรณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากกิจการโทรคมนาคมโดยให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทาน สั่งการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคม รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหาตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓(ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า กระทำการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓(ครั้งที่ ๗)ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม และกรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี ทั้งนี้ เป็นการกระทำที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ โดยที่บริษัทชินคอร์ปประกอบธุรกิจในกิจการ๋โทรคมนาคมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ฉบับลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ จากกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น ซึ่งตามสัญญาดังกล่าว ข้อ ๑ ระบุว่ากระทรวงคมนาคมตกลงให้บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมีสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม(Transponder)เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ และมีสิทธิเก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้ สิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมเป็นของบริษัทชินคอร์ป โดยในการแก้ไขสัญญาดังกล่าวจำนวน ๕ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๓๕ วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๖ วันที่ ๓๐ มกราคม ๒๕๔๑ วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๓ และวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ลงนามเป็นคู่สัญญา ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ มาตรา ๘ วรรคสาม(๑)บัญญัติว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าว และต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของบุคคลผู้มีสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๕ ของทุนจดทะเบียนทั้งหมดในนิติบุคคลนั้น รวมทั้งต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนทั้งหมด นอกจากนี้ผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นยังต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ซึ่งหมายถึงบุคคลต่างด้าวจะเป็นผู้ถือหุ้นในนิติบุคคลดังกล่าวได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕ ดังนั้น หุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ ๔๘ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริซเป็นผู้ถือหุ้นแทน ย่อมไม่สามารถขายให้แก่บุคคลต่างด้าวได้ เนื่องจากจะมีผู้ถือหุ้นเป็นบุคคลต่างด้าวเกินกว่าร้อยละ ๒๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ แต่ในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้ารัฐบาลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เสนอกฎหมายแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวจนผ่านการเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และออกเป็นพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๔๔ ซึ่งได้แก้ไข(๑)ของมาตรา ๘ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ดังกล่าวเป็นว่า ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องมิใช่เป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยไม่มีบทบัญญัติให้ต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของจำนวนกรรมการทั้งหมด และผู้มีอำนาจกระทำการผูกพันนิติบุคคลนั้นต้องเป็นผู้มีสัญชาติแต่อย่างใด เป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปซึ่งประกอบธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมสามารถมีผู้ถือหุ้นที่เป็นบุคคลต่างด้าวได้ถึงไม่เกินร้อยละ ๕๐ และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม(ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๔๙ ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ มีผลใช้บังคับในวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๙ ปรากฎว่าในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้นที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ โดยมีบริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสแพน โฮลดิ้งส์ จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างด้าวเป็นผู้ซื้อ เป็นจำนวนเงินสุทธิหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ บริษัทชินคอร์ปได้จ่ายเงินปันผลตามหุ้นจำนวนดังกล่าวรวม ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม และเป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควรสืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ ขอให้ยึดเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปดังกล่าวหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วรวม ๖๙,๗๒๒,๘๘๐,๙๓๒.๐๕ บาท และเงินปันผลจำนวน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับเนื่องจากหุ้นดังกล่าวทั้งสิ้น ๗๖,๖๒๑,๖๐๓,๐๖๑.๐๕ บาท พร้อมดอกผลให้ตกเป็นของแผ่นดิน เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปผ่านบุคคลซึ่งเป็นญาติพี่น้องและนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นกับมาตรการต่างๆ ที่ได้กระทำอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทดังกล่าว ส่งผลให้หุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ผู้ถูกกล่าวหาถือครองอยู่มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ทั้งได้ระบุจำนวนเงินที่ได้จากการขายหุ้นรวมทั้งเงินปันผลซึ่งเป็นรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ขอให้ตกเป็นของแผ่นดิน พร้อมกับแนบเอกสารแสดงรายละเอียดยอดเงินที่อายัด ชื่อผู้ครอบครองหรือมีชื่อเป็นเจ้าของซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำร้องโดยครบถ้วน ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๘ วรรคสอง และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๓ ข้อ ๒๓ แล้ว และคดีนี้ผู้ร้องขอให้ศาลสั่งให้เงินทั้งจำนวนจากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปและเงินปันผลพร้อมดอกผลของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ตกเป็นของแผ่นดิน ผู้ร้องจึงไม่จำต้องบรรยายคำร้องโดยแยกทรัพย์สินที่มีอยู่ก่อนการดำรงตำแหน่งทางการเมืองของผู้ถูกกล่าวหาว่ามีอยู่เท่าใด ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหามีการเพิ่มขึ้นผิดปกติอย่างไร และผู้ถูกกล่าวหาได้สั่งการหรือมอบหมายให้ผู้ใดกระทำการใดอันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ป เพราะเป็นรายละเอียดที่จะต้องทำการไต่สวนเพื่อให้ปรากฏในการพิจารณาของศาล สำหรับคำร้องในส่วนที่เกี่ยวกับเงินหรือทรัพย์สินที่เหลือจำนวน ๙,๙๒๓,๓๖๘,๖๙๕.๒๔ บาท ที่ไม่ได้มีการอายัดไว้ซึ่งไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับ ชื่อ ที่อยู่ของผู้ครอบครองหรือเป็นเจ้าของมาในคำร้องนั้นก็เป็นเพราะ คตส. ยังไม่อาจตรวจสอบให้ทราบได้นั่นเอง ทั้งหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เงินที่ได้จากการ ขายหุ้นบริษัทชินคอรป์และเงินปันผลของผู้ถูกกล่าวหาตกเป็นของแผ่นดินแล้วก็เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ครบถ้วนต่อไปองค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า คำร้องไม่เคลือบคลุม
ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น โดยให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชถือแทนตามคำร้องหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวนายวิโรจน์ เลาหะพันธุ์ ในฐานะกรรมการตรวจสอบ(คตส.) และประธานอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายและโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปเบิกความประกอบบันทึกข้อความเรื่องข้อมูลและประเด็นเรื่องการถือครองหุ้นบริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหากับพวกและรายงานการไต่สวนว่า ตามบัญชีผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทชินคอร์ป ณ วันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๔๑ ปรากฏการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหากับพวกในราคาพาร์หุ้นละ ๑๐ บาท ดังนี้ ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๔๗,๓๙๕ หุ้น เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ บริษัทชินคอร์ปมีมติให้เปลี่ยนแปลงทุนชำระแล้วของบริษัทด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจากหุ้นที่ยังมิได้จัดสรรเสนอขายแก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน ๑ หุ้นเดิมต่อ ๑ หุ้นสามัญเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ ๑๕ บาท วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ ผู้คัดค้านที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน เพื่อซื้อเช็คธนาคาร ๓ ฉบับ นำไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนในนามผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๕๑๙,๗๕๐,๐๐๐ บาท ในนามผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น เป็นเงิน ๔๙๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท และในนามผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๙ หุ้น เป็นเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๕ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ สัญญาจะจ่ายเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย หลังจากมีการเพิ่มทุนแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาถือหุ้น จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้น จำนวน ๑๓,๖๑๘,๐๓๐ หุ้น วันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริชราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๑ สั่งจ่ายเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน ลงวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๕๒ จ่ายบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด จำนวน ๓๓๐,๙๖๑,๒๒๐ บาท เพื่อชำระค่าหุ้น แล้วบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด สั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษก (สุขุมวิท-พระรามสี่) ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๒ จำนวน ๓๒๗,๔๓๘,๗๘๐ บาท เป็นค่าขายหุ้นให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แล้วเช็คฉบับดังกล่าวได้นำฝากเข้าเรียกเก็บเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน
ต่อมาผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๕ รายงานต่อสำนักงาน กลต.ตามแบบ ๒๔๖-๒ ว่า เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้ซื้อโดยตรงในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้ถูกกล่าวหาขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๓๐,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น และขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๑ ขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้นและขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ สัญญาจะจ่ายเงิน ๓๐๙,๒๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา และสัญญาจะจ่ายเงิน ๔๒๔,๗๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ ๔ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ สัญญาจะจ่ายเงิน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาเมื่อทวงถาม โดยไม่มีดอกเบี้ย ผู้คัดค้านที่ ๕ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ สัญญาจะจ่ายเงิน ๒๖๘,๒๕๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๔ บริษัทชินคอร์ปยื่นคำขอจดทะเบียนเปลี่ยนมูลค่าหุ้นที่ได้ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ ๑๐ บาทเป็นหุ้นละ ๑ บาท เป็นผลให้ผู้ถือหุ้นเดิมมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐ เท่า คือ ผู้คัดค้านที่ ๒ ถือหุ้น จำนวน ๗๓๓,๙๕๐,๒๒๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นจำนวน ๔๐๔,๔๓๐,๓๐๐ หุ้น บริษัทแอมเพิลริชถือหุ้น จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๔ ถือหุ้น จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ต่อมาผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ รายงานต่อสำนักงาน กลต.ว่า ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้ซื้อโดยตรงในราคาหุ้นละ ๑ บาท โดยขายเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ จำนวน ๓๖๗,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๔๖ จำนวน ๗๓,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๒ คงเหลือหุ้นจำนวน ๒๙๓,๙๕๐,๒๒๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๓ ถือหุ้นรวม จำนวน ๔๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริชได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่บริษัทแอมเพิลริชถืออยู่ทั้งหมด จำนวน ๓๒๙,๒๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑๖๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น
เมื่อวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ หุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมดที่มีชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ถืออยู่ได้ขายให้แก่บริษัทซีดาร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด และบริษัทแอสเพน โอลดิ้งส์ จำกัด รวมจำนวน ๑,๔๘๗,๗๔๐,๑๒๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๔๙.๒๕ บาท โดยรายการเฉพาะหุ้นที่รับโอนมาจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ ที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ และที่รับโอนจากบริษัทแอมเพิลริชในชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๔๕๘,๕๕๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๓ จำนวน ๖๐๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น ผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และผู้คัดค้านที่ ๕ จำนวน ๓๓๖,๓๔๐,๑๕๐ หุ้น รวมจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น เมื่อหักค่านายหน้าร้อยละ ๐.๒๕ และภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ ๗ แล้ว คงเหลือค่าหุ้นสุทธิ ๖๙,๗๒๒,๘๘๐๙๓๒.๐๕ บาท และหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๑,๔๑๙,๑๕๐ หุ้น ดังกล่าวได้รับเงินปันผลระหว่างปี ๒๕๔๖ ถึงปี ๒๕๔๘ รวม ๖ ครั้ง เป็นเงิน ๖,๘๙๘,๗๒๒,๑๒๙ บาท
คณะอนุกรรมการไต่สวนได้รวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาคงถือหุ้นไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ป รวมทั้งบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้อง เอกสารจากสำนักงาน กลต. และรายงานประจำปี ๒๕๔๓ ถึงปี ๒๕๔๙ ของบริษัทชินคอร์ป กับการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว สรุปความเห็นว่า เมื่อครั้งผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังถือหุ้นไว้ซึ่งหุ้นในบริษัทชินคอร์ปโดยใช้ชื่อผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ และบริษัทแอมเพิลริชเป็นผู้ถือหุ้นแทน ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ ผู้ถูกกล่าวหาได้รวบรวมหุ้นดังกล่าวทั้งหมด ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็ก
ที่ผู้ถูกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๕ ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ จนหมดสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ โดยได้รับชำระเงินค่าหุ้นตามตั๋วสัญญาใช้เงินครบถ้วยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ โดยได้รับชำระค่าหุ้นเรียบร้อยแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้ขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ โดยผู้คัดค้านที่ ๓ สั่งจ่ายเช็คชำระค่าหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ครบถ้วนแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๕ ได้กู้ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ ๑ ไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ปโดยได้ชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินครบถ้วนแล้ว และผู้ถูกกล่าวหายื่นคำแถลงการณ์ปิดคดีว่า คตส.ไม่ยอมรับความมีอยู่จริงของเอกสารตามกฎหมาย แม้แต่เอกสารที่รายงานต่อสำนักงาน กลต.นั้น ปรากฏว่า การโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่มีการรายงานต่อสำนักงาน กลต.ในคดีนี้เป็นการรายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ตามพระราชบัญญติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๒๔๖ วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติ "บุคคลใดได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการใดในลักษณะที่ทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้นเพิ่มขึ้นหรือลดลง เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทุกร้อยละ ๕ ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น ไม่ว่าจะมีการลงทะเบียนโอนหลักทรัพย์หรือไม่ และไม่ว่าการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของหลักทรัพย์นั้นจะมีจำนวนเท่าใดในแต่ละครั้งบุคคลนั้นต้องรายงานถึงจำนวนหลักทรัพย์ในทุกร้อยละ ๕ ดังกล่าวต่อสำนักงานคณะกรรมการ กลต. ทุกครั้งที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์..." มาตรา ๒๔๗ วรรคหนึ่งซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลใดเสนอซื้อหรือกระทำการอื่นใดอันเป็นผลให้ตนได้มาหรือเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ ๒๕ ขึ้นไปของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ ให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ..." และมาตรา ๒๔๗ วรรคสองซึ่งบัญญัติว่า "การเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการตามวรรคหนึ่งให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่คณะกรรมการ กลต.ประกาศกำหนด ในการนี้คณะกรรมการ กลต.จะกำหนดให้บุคคลดังกล่าวจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ได้" ประกอบกับเลขาธิการ กลต. ได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๕๐ แจ้งข้อมูลต่อประธานอนุกรรมการตรวจสอบว่า "ในการพิจารณาหน้าที่ตามมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.๒๕๓๕ นั้น การได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งหลักทรัพย์อันเป็นผลให้เกิดหน้าที่รายงานตามมาตรา ๒๔๖ และทำคำเสนอซื้อตามมาตรา ๒๔๗ นั้น เป็นการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในกิจการ ไม่ว่าธุรกรรมนั้นจะเป็นการให้เปล่าหรือการซื้อขายในราคาใด หากเป็นการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนดก็จะมีหน้าที่หรือความรับผิด (กรณีฝ่าฝืน) ไม่แตกต่างกัน ข้อมูลเกี่ยวกับการชำระราคาจึงไม่ใช่สาระสำคัญในแง่ของบทบัญญัติดังกล่าวตามกฎหมายหลักทรัพย์ สำนักงานจึงไม่ได้ตรวจสอบการชำระค่าซื้อขายหลักทรัพย์ของผู้รายงานหรือผู้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์" การรายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ จึงไม่ใช่หลักฐานแสดงการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนที่รายงาน ดังนั้น ในปัญหาว่าผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีพฤติการณ์คงถือไว้ซึ่งหุ้นชินคอร์ปหรือไม่ ต้องวินิจฉัยจากพฤติการณ์ระหว่างผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ กับผู้คัดค้านที่ ๒ ถึง ที่ ๕ ตั้งแต่มีการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ป การโอนหุ้นระหว่างกัน และการถือครองหุ้นตั้งแต่มีการโอนจนขายหุ้นให้แก่กองทุนเทมาเส็กเป็นสำคัญ ผู้คัดค้านที่ ๑ เบิกความว่า เมื่อปี ๒๕๔๐ ได้ยกหุ้นบริษัทชินคอร์ป จำนวน ๔,๕๐๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๕ ในโอกาสที่ผู้คัดค้านที่ ๕ แต่งงานและครบรอบวันเกิด ๑ ปีของบุตรผู้คัดค้านที่ ๕ โดยทำการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์จากหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๑ ในบัญชีของนางสาวดวงตา วงศ์ภักดี หุ้นส่วนนี้กับหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๕ มีอยู่เดิม คณะอนุกรรมการไต่ส่วนเห็นว่าข้อเท็จจริงจริงฟังไม่ได้ชัดเจนว่าเป็นหุ้นที่ถือไว้แทนผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้คัดค้านที่ ๑ ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความรับว่า ในปี ๒๕๔๒ ซึ่งซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทชินคอร์ปหุ้นละ ๑๕ บาท จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้นนั้น ผู้คัดค้านที่ ๕ กับคู่สมรสมีทรัพย์สินมูลค่ามากกว่า ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แต่การใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนเป็นเงิน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่าจะทำกำไรให้ กลับใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ มาชำระค่าซื้อหุ้นเพิ่มทุน โดยผู้คัดค้านที่ ๑ ถอนเงินจากบัญชีออมทรัพย์เพื่อนำมาซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้คัดค้านที่ ๕ พร้อมกับการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จำนวน ๓๒,๙๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๓๔,๖๕๐,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ข้ออ้างที่ว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ ยืมเงินจากผู้คัดค้านที่ ๑ มาซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยออกตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๒ สัญญาจะจ่ายเงินจำนวน ๑๐๒,๑๓๕,๒๒๕ บาท ให้แก่คุณหญิงพจมาน ชินวัตร เมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ยกลับทำให้เป็นพิรุธ เพราผู้คัดค้านที่ ๑ เพิ่งได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ที่จะใช้คำนำนามว่า "คุณหญิง" เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ที่ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่าเป็นตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่ซึ่งทำขึ้นเมื่อปลายปี ๒๕๔๓ เนื่องจากได้รับแจ้งจากนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ว่าตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมที่ระบุชื่อนางพจมาน ชินวัตร หายไป เป็นข้ออ้างที่ไม่มีเหตุผลให้น่าเชื่อ เพราะในทางไต่สวนปรากฎว่า ผู้ถูกกล่าวและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังได้รับตั๋วสัญญาใช้เงินเนื่องจากการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปและหุ้นบริษัทอื่นอีกหลายฉบับ แต่กลับหายไปจนเกิดข้อพิรุธฉบับเดียว เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้น จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น ให้แก่บริษัทแอมเพิลริชในราคาพาร์ ๑๐ บาท โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระให้แก่บริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด เพื่อทำรายการซื้อหุ้นให้บริษัทแอมเพิลริช เมื่อบริษัทหลักทรัพย์แอสเซทพลัส จำกัด ชำระค่าขายหุ้นซึ่งหักค่านายหน้าแล้วเป็นเงิน ๓๒๗,๔๓๘,๗๘๐ บาท ก็นำเงินดังกล่าวเข้าฝากในบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ สำหรับการโอนหุ้นซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถืออยู่ในวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๔๓ จำนวน ๓๒,๙๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ได้โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งขณะนั้นเป็นบุตรคนเดียวที่บรรลุนิติภาวะแล้วในราคาพาร์ ๑๐ บาท จำนวน ๓๐,๙๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๔๒,๔๗๕,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ โดยผู้คัดค้านที่ ๑ ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ยให้ ผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งรับโอนหุ้นไว้รอบ ๗๓,๓๙๕,๐๐๐ หุ้น ได้รายงานตามแบบ ๒๔๖-๒ ต่อสำนักงาน กลต. เมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๔๓ และรายงานแก้ไขเพิ่มเติมเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ ว่า จำนวนหุ้นที่รับโอนดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ ๒๔.๙๙ ของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า หากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จะโอนหุ้นให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ มากกว่านี้ก็จะทำให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ถือหลักทรัพย์ถึงร้อยละ ๒๕ ขึ้นไป ซึ่งตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๔๗ บัญญัติให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๔๗ บัญญัติให้ถือว่าเป็นการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ และคณะกรรมการ กลต. จะกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ ๑ จัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ก็ ได้ เชื่อว่าด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จึงต้องโอนหุ้นที่เหลืออีกจำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และ ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ตามลำดับ ให้แก่บุคคลใกล้ชิดที่ตนไว้วางใจคือผู้คัดค้านที่ ๔ และ ๕ ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เมตตาขายหุ้น จำนวน ๒๖,๘๒๕,๐๐๐ หุ้น ในราคาพาร์ ๑๐ เพื่อให้ผู้คัดค้านที่ ๕ มีหุ้นรวมกับหุ้นที่มีอยู่เดิมแล้วเป็นจำนวน ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น แต่ผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความรับว่าในปี ๒๕๔๓ ผู้คัดค้านที่ ๕ และคู่สมรสมีทรัพย์สินอาจจะถึง ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ก็มิได้ชำระค่าหุ้นในราคาพาร์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ กลับออกตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน ๒๖๘,๒๕๐,๐๐๐ บาท สัญญาจะใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย เช่นเดียวกับตั๋วสัญญาใช้เงินที่อ้างว่าชำระหนี้เงินยืมไปซื้อหุ้นเพิ่มทุน ส่วนผู้คัดค้านที่ ๔ เบิกความว่า ขอซื้อหุ้นจากผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๒,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น เพื่อเก็บไว้เป็นทุนในอนาคต โดยซื้อตามกำลังเงินที่มีอยู่ แต่ผู้คัดค้านที่ ๔ ก็มิได้ชำระเงินค่าหุ้นในราคาพาร์ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา คงออกตั๋วสัญญาใช้เงินไว้เช่นเดียวกัน
นอกจากหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๔๓ ผู้ถูกกล่าวหาโอนหุ้นบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ จำนวน ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท ผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จำนวน ๙,๔๔๕,๙๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท หุ้นบริษัทไทยคม จำนวน ๓,๗๑๓,๓๙๘ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๐ บาท หุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน ๑๕๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้น จำนวน ๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาหุ้นละ ๑๐ บาท โดยผู้คัดค้านที่ ๒ ออกตั๋วสัญญาใช้เงิน ๓ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๔,๖๒๑,๕๙๘,๘๔๐ บาท สัญญาจะใช้เงินเมื่อทวงถามโดยไม่มีดอกเบี้ย ต่อมาวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๔๕ หลังจากที่บริษัทชินคอร์ปเปลี่ยนมูลค่าหุ้นเป็นพาร์ ๑ บาท ทำให้ผู้ถือหุ้นมีหุ้นเพิ่มขึ้น ๑๐ เท่า และผู้คัดค้านที่ ๓ บรรลุนิติภาวะแล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ ได้โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๓๖๗,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ในราคาพาร์ ๑ บาท ให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๓ โดยผู้คัดค้านที่ ๓ ใช้เงินที่อ้างว่าได้รับในโอกาสวันเกิดจากผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มิได้เรียกเก็บเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๔ และที่ ๕ จนเมื่อมีการจ่ายเงินปันผลของบริษัทชินคอร์ป โดยได้ความจากนายอเนก พนาอภิชน ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านการเงินและบัญชีว่า ภายหลังปี ๒๕๔๐ บริษัทชินคอร์ปงดจ่ายเงินปันผล มาเริ่มจ่ายเงินปันผลในปี ๒๕๔๖ ปีละ ๒ งวด เงินปันผลงวดแรกเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ จากหุ้นที่โอนมาจากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ และผู้คัดค้านที่ ๕ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยใช้เงินของผู้คัดค้านที่ ๑ ได้จ่ายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึง ๕ และบริษัทแอมเพิลริช เป็นเงิน ๑๖๕,๑๒๗,๕๐๐ บาท ๑๖๕,๑๕๐,๐๐๐ บาท ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๑๕๑,๓๕๓,๐๖๗ บาท และ ๑๔๘,๑๔๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรก ผู้คัดค้านที่ ๔ และที่ ๕ ก็เริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ตามรายการชำระเงินค่าหุ้นเอกสารหมาย ค.๑๕๐ และ ค.๑๔๓ ตามลำดับ ในเดือน พฤษภาคม ๒๕๔๖ ผู้คัดค้านที่ ๒ โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ป ให้ผู้คัดค้านที่ ๓ จำนวน ๗๓,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น โดยผู้คัดค้านที่ ๓ ใช้เงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทชินคอร์ปจ่ายให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ และ ผู้คัดค้านที่ ๓ ยังใช้เงินปันผลที่ได้รับมาจำนวน ๔๘๕,๘๒๙,๘๐๐ บาท ไปจ่ายเป็นค่าซื้อหุ้นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ ๕ บริษัท ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ขายให้แก่บริษัทวินมาร์ค จำกัด คืนมาจากบริษัทวินมาร์ค จำกัด สำหรับผู้คัดค้านที่ ๒ ซึ่งเริ่มชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ก่อนที่จะได้รับเงินปันผลในเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖ นั้น ผู้คัดค้านที่ ๒ ก็เบิกควมรับว่า นำเงินที่ได้จากการขายหุ้นธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่รับโอนมาจากผู้คัดค้านที่ ๑ มาชำระ และเมื่อได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปแล้ว ผู้คัดค้าน ๒ ก็ยังทยอยโอนเงินเข้าบัญชีผู้คัดค้านที่ ๑ จนถึงเดือนมกราคม ๒๕๔๙ ปรากฏตามรายการชำระเงินเอกสารหมาย ค.๑๔๓ สำหรับผู้คัดค้านที่ ๔ ซึ่งอ้างว่าได้รับเงินปันผลรวม ๖ งวด เป็นเงิน ๙๗,๒๐๐,๐๐๐ บาท เมื่อได้รับเงินปันผลงวดแรกจำนวน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ได้สั่งจ่ายเช็คชำระให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด เงินปันผลงวดที่ ๒ จำนวน ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้สั่งจ่ายเช็คชำระหนี้ให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่เลขานุการเขียนตัวเลขใน เช็คผิดจึงแก้ไขไปจาก ๑๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เงินปันผลงวดที่ ๒ ที่เหลืออีก ๒,๕๐๐,๐๐๐ บาท ได้สั่งจ่ายเช็คให้ผู้คัดค้านที่ ๓ เป็นการคืนเงินที่ฝากผู้คัดค้านที่ ๓ ซื้อนาฬิกาจากต่างประเทศ ส่วนเงินปันผลงวดที่ ๓ ถึง ๖ ได้สั่งจ่ายเช็ครวม ๔๔ ฉบับ เป็นการสั่งจ่ายเข้าบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๔ จำนวน ๒ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๒,๑๐๐,๐๐๐ บาท เช็คอีก ๔๒ ฉบับเป็นเช็คเบิกเงินสดรวม ๖๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท นำมาตกแต่งบ้าน ทำสวน สนามฟุตบอล และสระว่ายน้ำ ประมาณ ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายส่วนตัว ๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อทองคำแท่ง ๑๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อเครื่องเพชรและเครื่องประดับ ๑๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อเงินตราต่างประเทศประมาณ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และสำรองไว้ที่บ้าน ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยมิได้ส่งเงินให้แก่ผู้ถูกกล่าวหา แต่ผู้คัดค้านที่ ๔ ไม่มีหลักฐานใดที่เกี่ยวกับการใช้เงินสดจำนวนมากถึง ๖๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทมาแสดง ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ ๔ จึงรับฟังไม่ได้ พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ กับผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ได้วินิจฉัยมาเป็นเหตุผลประการหนึ่งให้เชื่อว่า ผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นเพิ่มทุนบริษัทชินคอร์ป ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ โอนให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ไว้แทนผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ และรับเงินปันผลในหุ้นดังกล่าวจากบริษัทชินคอร์ปไว้แทนผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑
ส่วนข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๓ ว่า คตส. ดำเนินการสองมาตรฐาน นอกจากให้กรมสรรพากรเรียกเก็บภาษีจากผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ แล้ว กลับกล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหายังคงถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในหุ้นจำนวนเดียวกันเป็นคดีนี้อีก เห็นว่า การให้เรียกเก็บภาษีอากรจากผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ที่ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากบริษัทแอมเพิลริช เป็นการดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรอันเป็นกฎหมายพิเศษที่กำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรกำหนด นอกจากนี้มาตรา ๖๑ แห่งประมวลรัษฎากรก็บัญญัติหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไว้ว่า บุคคลใดมีชื่อในหนังสื่อสำคัญใดๆ แสดงว่า (๑) เป็นเจ้าของทรัพย์สินอันระบุไว้ในหนังสือสำคัญและทรัพย์สินก่อให้เกิดเงินได้พึงประเมิน หรือ(๒) เป็นผู้ได้รับเงินพึงประเมินโดยหนังสือสำคัญเช่นว่านั้น เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีทั้งหมดจากผู้มีชื่อในหนังสือสำคัญนั้นก็ได้ การดำเนินการทางภาษีอากรกับผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ จึงเป็นการดำเนินการตามหลักการแห่งประมวลรัษฎากร ส่วนการกล่าวหาว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติในคดีนี้เป็นการดำเนินการกับเจ้าของที่แท้จริงในหุ้นบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับความรับผิดทางภาษีอากร โดยมีหลักกฎหมายในการพิจารณาที่แตกต่างกัน ข้อต่อสู้ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๓ จึงฟังไม่ขึ้น
สำหรับบริษัทแอมเพิลริชซึ่งมีสถานที่ติดต่ออยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ได้รับโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากผู้ถูกกล่าวหาเมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ จำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น โดยใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ ๑ ชำระราคาแทนบริษัทแอมเพิลริช ในวันเดียวกัน ผู้คัดค้านที่ ๑ ได้ให้นางกาญจนาภา หงษ์เหิน เข้าเป็นกรรมการในบริษัทแอมเพิลริชร่วมกับ นายเลา วี เตียง ซึ่งเป็นกรรมการอยู่เดิม และในวันดังกล่าวบริษัทแอมเพิลริชโดยนายเลา วี เตียง และนางกาญจนาภา หงษ์เหิน ในฐานะกรรมการบริษัทได้เปิดบัญชีที่ธนาคารยูบีเอส เอจี ที่ประเทศสิงคโปร์ บัญชีเลขที่ ๑๑๙๔๔๙ โดยมีเงื่อนไขว่า "ผู้มีอำนาจเบิกถอนแต่ผู้เดียวคือ ดร.ที.ชินวัตร" จากการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวนปรากฏว่านับตั้งแต่วันเปิดบัญชีจนถึงเดือนเมษายน ๒๕๔๖ ก่อนที่บริษัทแอมเพิลริชจะได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปมีเงินโอนเข้าบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชหลายครั้งคิดเป็นเงินไทยประมาณ ๔,๒๐๐,๐๐๐ บาท แต่ นางกาญจนาภา หงษ์เหิน ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการตรวจสอบว่า จำไม่ได้ว่าเป็นเงินของใครที่นำมาชำระค่าใช้จ่าย เพราะบริษัทแอมเพิลริชไม่ได้ประกอบกิจการใดจึงไม่มีการทำบัญชีแต่ต่อมาบริษัทแอมเพิลริชได้รับเงินปันผลจากบริษัทชินคอร์ปในปี ๒๕๔๖ ปี ๒๕๔๗ และงวดแรก ของปี ๒๕๔๘ ในเดือนเมษายน ๒๕๔๘ รวม ๕ งวด รวมเป็นเงินมากกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แล้ว ผู้ถูกกล่าวหาก็ยังเป็นผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินของบริษัทแอมเพิลริชแต่ผู้เดียว ผู้คัดค้านที่ ๒ และ ที่ ๓ ในฐานะกรรมการบริษัทแอมเพิลริชเพิ่งทำการเปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจเบิกถอนเงินในบัญชีของบริษัทแอมเพิลริชในเดือนมิถุนายน ๒๕๔๘ เป็นผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ที่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างว่าได้ขายหุ้นบริษัทแอมเพิลริชให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ตั้งแต่วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๓ ทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหายังเป็นผู้มีอำนาจแต่ผู้เดียวในการเบิกถอนเงินจากบัญชีของบริษัทต่อมาอีกถึง ๔ ปีเศษ ประกอบกับราคาที่อ้างว่าซื้อขายกัน ๑ ดอลล่าร์สหรัฐ เท่ากับที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกเรียกเก็บค่าหุ้น ๑ หุ้น ทั้งที่การขายหุ้น ๑ หุ้น ดังกล่าวเป็นผลให้ผู้ซื้อได้ไปซึ่งหุ้นของบริษัทชินคอร์ปจำนวนหุ้นในปี ๒๕๔๓ ถึงจำนวน ๓๒,๙๒๐,๐๐๐ หุ้น โดยชำระเงินเพียง ๑ ดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นข้อกล่าวอ้างที่ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง
สำหรับบริษัทวินมาร์คนั้น คดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า หุ้นบริษัทชินคอร์ปซึ่งผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ใช้ชื่อผู้อื่นถือไว้แทนมีจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น แยกเป็นหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๒ รับโอนจากผู้ถูกกล่าวหา ผู้คัดค้านที่ ๑ และบริษัทแอมเพิลริชรวม ๔๕๘,๕๕๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๓ รับโอนจากผู้คัดค้านที่ ๒ และบริษัทแอมเพิลริชรวม ๖๐๔,๖๐๐,๐๐๐ หุ้น หุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๔ รับโอนจากผู้ถูกกล่าวหา จำนวน ๒๐,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น และหุ้นที่ผู้คัดค้านที่ ๑ รวม ๓๓๖,๓๔๐,๑๕๐ หุ้น กับมีคำขอให้รับเงินที่ได้ริบเงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลตามหุ้นจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้นดังกล่าว ส่วนที่ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่าผลการตรวจสอบของกรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงาน กลต.รับฟังได้ว่า บริษัทวินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ นั้น จำนวนหุ้นที่บรรยายไว้ไม่รวมอยู่ในยอดรวมของหุ้นที่มีคำขอให้ริบคดีนี้ กรณีจึงไม่มีเหตุต้องวินิจฉัยในคดีนี้ว่า บริษัทวินมาร์คเป็นนิติบุคคลที่อำพรางการถือหุ้นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ หรือไม่
สำหรับการบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ปภายหลังจากผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ โอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายื่นคำแถลงการณ์เปิดคดีว่า บริษัทชินคอร์ปเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงและมีผู้บริหารมืออาชีพที่มีความรู้ความสามารถอยู่แล้ว ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ มิได้เป็นกรรมการบริษัทชินคอร์ปจึงไม่จำเป็นต้องเข้าบริหารจัดการด้วยตนเอง แต่ได้มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนทุกครั้งนั้น ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๓ ของ บริษัทชินคอร์ปปรากฎว่า บริษัทมีสินทรัพย์รวม ๓๗,๘๓๙,๐๙๖,๓๑๘ บาท บริษัทประกอบธุรกิจโดยการเข้าไปลงทุนและมีส่วนร่วมในการบริหารในบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมการสื่อสารโทรคมนาคม โดยในสายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมไร้สายบริษัทที่สำคัญได้แก่บริษัทเอไอเอสประกอบธุรกิจให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ ๙๐๐ เมกะเฮิรตซ์ โดยได้รับสัมปทานจาก ทศท. มีทุนจดทะเบียน ๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียกชำระแล้ว ๒,๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๔๐.๕๐ บริษัทดีพีซีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดิจิตอล GSM ๑๘๐๐ โดยได้รับสัมปทานจาก กสท. มีทุนจดทะเบียน ๘,๖๒๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียกชำระแล้ว ๘,๕๕๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๔๗.๕๕ เทเลคอมมาเลเซียถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ ๔๙.๙๙ ในสายธุรกิจสื่อสารดาวเทียมและธุรกิจต่างประเทศบริษัทที่สำคัญได้แก่ บริษัทไทยคมประกอบธุรกิจให้บริการโทรคมนาคมผ่านดาวเทียมภายใต้สัญญาสัมปทานระหว่างบริษัทชินคอร์ปกับกระทรวงคมนาคมมีทุนจดทะเบียน ๕,๕๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เรียกชำระแล้ว ๔,๓๗๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ ๕๑.๕๓ ตามเอกสารสรุปการโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปหมาย ค.๑๔๔ ปรากฏว่า หลังจากบริษัทชินคอร์ปเพิ่มทุนในปี ๒๕๔๒ และก่อนโอนหุ้นบริษัทชินคอร์ปไปยังบริษัทแอมเพิลริช กับผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ นั้น ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถือหุ้น จำนวน ๖๕,๘๔๐,๐๐๐ หุ้น (ร้อยละ ๒๕) และ ๖๙,๓๐๐,๐๐๐ หุ้น (ร้อยละ ๒๓.๗๕) ตามลำดับ รวมกันเป็นสัดส่วนของหุ้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงร้อยละ ๔๘.๗๕ เมื่อรวมกับหุ้น จำนวน ๖,๘๐๙,๐๑๕ หุ้น ซึ่งผู้คัดค้านที่ ๕ ใช้เงินจากบัญชีธนาคารของผู้คัดค้านที่ ๑ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนด้วยแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีสิทธิออกเสียงรวมกันทั้งทางตรงและทางอ้อมเกินกว่ากึ่งหนึ่งของหุ้นที่มีสิทธิออกเสียง ถือเป็นผู้มีอำนาจในการควบคุมนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ป รวมทั้งอำนาจในการแต่งตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๓ ของบริษัทชินคอร์ปปรากฏว่า คณะกรรมการของบริษัทมีกรรมการ ๘ คน ประกอบด้วย ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ๖ คน ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ไม่ได้ร่วมเป็นกรรมการด้วย ในคณะกรรมการทั้ง ๘ คน มีผู้คัดค้านที่ ๕ ซึ่งเป็นประธานกรรมการเท่านั้นที่ถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ป ส่วนรองประธานกรรมการและกรรมการอีก ๖ คน ไม่มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทชินคอร์ปผ่านทางคณะกรรมการที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ แต่งตั้งและกำหนดอำนาจหน้าที่ของกรรมการไว้ในปี ๒๕๔๔ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๔ ของบริษัทชินคอร์ปก็ปรากฏรายชื่อคณะกรรมการของบริษัท ๙ คน โดยกรรมการในปี ๒๕๔๓ พ้นจากตำแหน่ง ๑ คน แต่งตั้งใหม่ในปี ๒๕๔๔ อีก ๒ คน กรรมการที่แต่งตั้งใหม่มีผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปคนเดียวคือนายนิวัฒน์ บุญทรง โดยถือหุ้นในสัดส่วนเพียงร้อยละ ๐.๐๐๔๗ แสดงว่าการควบคุมนโยบายและการดำเนินงานของบริษัทชินคอร์ปยังคงอยู่ที่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ผ่านทางคณะกรรมการของบริษัทซึ่งเป็นผู้รับนโยบายตลอดมา ตามรายงานประจำปี ๒๕๔๔ ถึง ๒๕๔๙ ของบริษัทชินคอร์ปปรากฏว่า บริษัทชินคอร์ปมีพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญหลายประการ เช่น ปี ๒๕๔๔ ได้จัดโครงสร้างการถือหุ้นในกิจการโทรคมนาคมไร้สายโดยการซื้อหุ้นในบริษัทเอไอเอสเข้าถือหุ้นในบริษัทดีพีซีเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนร้อยละ ๙๘.๑๗ บริษัทชินคอร์ปซื้อหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด เพิ่มจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทชินคอร์ปเพิ่มเป็นร้อยละ ๗๗.๔๘ ปี ๒๕๔๕ บริษัทไอทีวี จำกัด เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยออกหุ้นสามัญขายให้นักลงทุนทั่วไป และบริษัทชินคอร์ปนำหุ้นบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) บางส่วนออกขาย ทำให้สัดส่วนการลงทุนลดลงเหลือ ร้อยละ ๕๕.๕๓ ปี ๒๕๔๖ บริษัทชินคอร์ปร่วมกับบริษัทแอร์เอเชีย จำกัด จากประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งบริษัทไทยแอร์เอเชีย จำกัด ในสัดส่วนร้อยละ ๕๐ และ ๔๙ ตามลำดับ และร่วมกับธนาคารดีบีเอส ประเทศสิงคโปร์ก่อตั้งบริษัทแคปปิตอลโอเค จำกัด เพื่อดำเนินธุรกิจการให้สินเชื่อส่วนบุคคล โดยลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๖๐ และ ๔๐ ตามลำดับ ปี ๒๕๔๘ บริษัทไทยคมเพิ่มทุนโดยเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนแก่นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยรวม ๒๐๘,๐๐๐,๐๐๐ หุ้น ราคาหุ้นละ ๑๕.๓๐ บาท ทำให้สัดส่วนการลงทุนของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมลดลงเหลือร้อยละ ๔๑.๓๔ การจัดโครงสร้างการถือหุ้น การซื้อหุ้นเพิ่ม และการลงทุนในธุรกิจใหม่ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงย่อมไม่ใช่การตัดสินใจของกรรมการซึ่งมิได้มีส่วนได้เสียในความเสี่ยงนั้นด้วยผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ มิได้กล่าวอ้างข้อเท็จจริงใดว่าได้ร่วมบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ปในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นจำนวนมาก การที่ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ มอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าร่วมประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปีของบริษัทชินคอร์ป ประจำปี ๒๕๔๕ ถึงปี ๒๕๔๘ ปีละครั้งตามเอกสารหมาย ค.๒๘ ไม่เป็นข้อสนับสนุนว่าผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ ส่วนการรวบรวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนั้นผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ เบิกความว่า ตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กด้วยตนเองในฐานะเจ้าของหุ้น โดยผู้คัดค้านที่ ๕ เบิกความว่า เมื่อกลางเดือนธันวาคม ๒๕๔๘ ตัวแทนของกลุ่มเทสาเส็กมาติดต่อขอซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปจากกลุ่มชินวัตรและดามาพงศ์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพื่อจะมีอำนาจบริหารจัดการบริษัทชินคอร์ป ผู้คัดค้านที่ ๕ ตัดสินใจจะขาย จึงแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ ๒ และที่ ๓ ทราบ และแจ้งให้ผู้คัดค้านที่ ๔ ทราบเมื่อกลางเดือนมกราคม ๒๕๔๙ เหตุที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ต้องการขายหุ้นเพราะอายุมากแล้ว การบริหารงานเดือนมกราคม ๒๕๔๙ เหตุที่ผู้คัดค้านที่ ๕ ต้องการขายหุ้นเพราะอายุมากแล้ว การบริหารงานในบริษัทชินคอร์ปต่อไปจะลำบากเพราะจะต้องลงทุนในโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ๓G เกือบแสนล้านบาทนั้น เห็นว่า ตามเอกสารสรุปการโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปหมาย ค.๑๔๔ ปรากฏว่า กลุ่มดามาพงศ์มีผู้คัดค้านที่ ๕ ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่ร้อยละ ๑๓.๗๗ ส่วนผู้คัดค้านที่ ๖ ถือหุ้นอยู่เพียง ๓๕.๔๔ การลงทุนโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ ๓G ก็ปราฏฎข้อเท็จจิรงจากรายงานประจำปี ๒๕๔๖ ของบริษัทชินคอร์ปในสายธุรกิจโทรคมนาคมไร้สายว่า บริษัทเอไอเอสมีแนวโน้มที่จะพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบดิจิตอล GSM ในปัจจุบันเพื่อปรับเปลี่ยนให้รองรับกับเทคโนโลยี ๓G โดยการปรับปรุงระบบชุมสายและระบบสื่อสัญญาณเดิมที่มีอยู่ และรายงานประจำปี ๒๕๔๘ ของบริษัทชินคอร์ปเรื่องแนวโน้มตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี ๒๕๔๙ ว่า บริษัทเอไอเอสเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมในอนาคตจะมีการพัฒนาไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ ๓ หรือ ๓G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการรับส่งสัญญาณ ซึ่งบริษัทเอไอเอสมีความสนใจและความพร้อมทั้งในด้านเงินลงทุนและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาไปสู่การให้บริการ ๓G ต่อผู้บริโภคในประเทศไทย ข้ออ้างในการขายหุ้นของผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงรับฟังไม่ได้ ทั้งในข้อเท็จจริงเรื่องการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กนี้ผู้ถูกกล่าวหาได้ยืนยันไว้ในเอกสารท้ายคำร้องพิสูจน์ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาหมาย ค.๓๒ แผ่นที่ ๔๒๘ ถึง ๔๓๐ เรื่อง "ขายหุ้น ชินคอร์ป ไม่ได้ขายชาติ ไม่ได้ขายดาวเทียม" ว่า "ในส่วนหุ้นของบริษัทชินคอร์ปมีการเตรียมการขายหุ้นและการเจรจาขายหุ้นต่อเนื่องมานานนับปีและมีกลุ่มผู้สนใจเสนอซื้อหุ้นหลายราย ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการขายในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙" เป็นพิรุธว่า ผู้ที่เจรจาและตกลงขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กคือผู้ถูกกล่าวหา มิใช่ผู้คัดค้านที่ ๕ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ยังคงถือไว้ซึ่งหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ตามคำร้องในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสองวาระ
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนนตรีตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพาสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ พ.ศ. ๒๕๔๖ สำหรับกิจการโทรคมนาคม โดยคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวมีมติเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ เห็นชอบให้คู่สัญญาภาคเอกชนที่ทำสัญญาสัมปทานในการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องจ่ายค่าสัมปทานให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่เป็นคู่สัญญาต้องชำระภาษีสรรพสามิตให้แก่กรมสรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลังที่ออกตามความในพระราชกำหนดดังกล่าว แต่ให้คู่สัญญาภาคเอกชนนำภาษีสรรพสามิตที่เสียให้แก่กรมสรรพสามิตมาหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานภาครัฐได้ นั้น เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่า เมื่อวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ ผู้ถูกกล่าวหากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกับผู้บริหารระดับสูงของ ทศท. และ กสท. ได้ประชุมหารือร่วมกัน โดยมีแนวคิดที่จะแปรสภาพ ทศท. และ กสท. เป็นบริษัทโทรคมนาคม จำกัด บริษัทบริหารสัญญาร่วมการงาน จำกัด บริษัทไปรษณีย์ จำกัด และกำหนดให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งสามบริษัท รวมทั้งหาแนวทางในการนำระบบภาษีสรรพสามิตมาใช้กับธุรกิจโทรคมนาคม ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้าขึ้นเพื่อพิจารณาทรัพย์สิน หนี้สินและภาระผูกพันที่ ทศท. และ กสท. มีอยู่ทั้งหมด คณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้ามีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้น เพื่อพิจารณาโอนทรัพย์สิน หนี้สินและภาระผูกพันของ ทศท. และ กสท. ที่จะโอนไปยังบริษัทที่ตั้งขึ้นใหม่ รวมทั้งความเป็นไปในการนำระบบภาษีสรรพสามิตมาใช้กับกิจการโทรคมนาคม ในที่สุดคณะกรรมการชุดนั้นเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารกิจการร่วมค้าว่า ในการแปลงส่วนแบ่งรายได้ของหน่วยงานภาครัฐเป็นภาษีสรรพสามิตจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ส่วนหลักเกณฑ์และผลกระทบจากการแปรรูป ทศท. กับ กสท. ต้องเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอย่างรอบคอบ หลังจากนั้นจึงมีการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับออกมาใช้บังคับ ซึ่งผู้ร้องเห็นว่า การตราพระราชกำหนดดังกล่าวรวมถึงการออกประกาศกระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่หน่วยงานภาคเอกชนต้องเสียให้แก่กรมสรรพสามิต และการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ภาคเอกชนที่ทำสัญญาสัมปทานกับหน่วยงานของรัฐต้องชำระภาษีสรรพสามิตให้แก่กรมสรรพสามิต แต่ให้นำภาษีที่ชำระแล้วตลอดทั้งปีไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐเป็นการกีดกัดลิดรอนอำนาจของ กทช. มิให้เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริหารในกิจการโทรคมนาคม ทั้งยังเป็นการขัดขวางมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมรายใหม่เข้าแข่งขันในการประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่ เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครืออย่างมาก ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาทั้งสองข้อดังกล่าวไปพร้อมกัน ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานมูลนิธิสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือเรียกโดยย่อว่า ทีดีอาร์ไอว่า เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นมีมติเห็นชอบกับแผนแม่บทการพัฒนากิจการโทรคมนาคม รวมทั้งการแปรรูป ทศท. และ กสท. โดยจัดตั้งองค์กรขึ้นกำกับดูแล ต่อมา วันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๑ คณะรัฐมนตรีมีมติให้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนในการแปรรูป ทศท. และ กสท. โดยกำหนดโครงสร้างการแปรรูปสัญญาร่วมการงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนเพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคมอย่างเสรี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้บริการโทรคมนาคม ในวันนั้นเองกระทรวงคมนาคมได้ว่าจ้างบริษัท ๓ รายศึกษาแนวทางในการแปรรูป ทศท. และ กสท. เพื่อเสนอความเห็นต่อกระทรวงคมนาคม ในระยะนั้นเองคณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจได้ประชุมและมีมติ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๑ ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาศึกษาเรื่องนี้ด้วย แต่ปรากฎว่าความเห็นของบริษัทที่ปรึกษาทั้งสามบริษัทกับความเห็นของคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวแตกต่างกันบางส่วน คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจมีมติให้ว่าจ้างทีดีอาร์ไอศึกษาและเสนอความเห็นต่อกระทรวงการคลัง พยานกับนายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ และนักวิชาการอีกสิบกว่าคนได้ร่วมกันศึกษาอยู่หลายเดือนแล้วมีความเห็นว่าการแปรหรือไม่แปรสัญญาสัมปทานหรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการแก้ไขสัญญาสัมปทานต้องเป็นไปตามความสมัครใจของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ที่แต่ละฝ่ายจะได้รับจากการแปรหรือไม่แปรสัญญาสัมปทานว่าแตกต่างกันหรือไม่ เพราะไม่มีเหตุผลที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะได้รับผลประโยชน์เพิ่มมากขึ้นจากการแปรสัญญาสัมปทาน ส่วนการที่คณะรัฐมนตรีชุดที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับดังกล่าว รวมทั้งออกประกาศกระทรวงการคลังกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจในด้านกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเสียภาษีสรรพสามิตให้แก่กรมสรรพสามิตนำภาษีดังกล่าวไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐ พยานปากนี้เบิกความว่าหลักการและเหตุผลที่ผู้ถูกกล่าวหากับคณะรัฐมนตรีชุดดังกล่าวดำเนินการเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกันอยู่ในตัว เพราะการที่คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นตราพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพาสามิต พ.ศ. ๒๕๔๗ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๔๖ และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. ๒๕๒๗ พ.ศ. ๒๕๔๖ ย่อมเป็นเหตุผลที่แสดงว่าประสงค์จะหารายได้เข้ารัฐ แต่การที่คณะรัฐมนตรีชุดนั้นยอมให้ภาคเอกชนที่ประกอบธุรกิจในด้านกิจการโทรคมนาคมซึ่งเสียภาษีสรรพสามิต สามารถนำภาษีที่ชำระให้แก่กรมสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่หน่วยงานของรัฐได้จึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ในการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับอย่างเห็นได้ชัด พยานปานนี้ยังเบิกความต่อไปอีกว่า กิจการโทรคมนาคมถือเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมอย่างมาก กทช. มีมติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อส่งเสริมการให้บริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง เพื่อนำเงินไปอุดหนุนให้มีการให้บริการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลให้เกิดประโยชน์แก่สังคมด้วย คำเบิกความของพยานปากนี้เจือสมกับคำเบิกความของนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นพยานของผู้ร้อง ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้าน ที่ยอมรับว่า การใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนที่อยู่ในประเทศเดียวกันหรือการติดต่อระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่รัฐควรให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะสามารถติดต่อสื่อสารถึงกันได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมาหากันด้วย การใช้โทรศัพท์ติดต่อสื่อสารจึงเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน ไม่ใช่สิ่งที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็นที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ยังให้ความเห็นตรงกับความเห็นของนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ว่า หากเก็บภาษีสรรพสามิตในสินค้าหรือธุรกิจประเภทใดย่อมเป็นการผลักภาระในเรื่องภาษีสรรพสามิตให้ตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคสินค้าหรือผู้ใช้บริการนั้นๆ พยานทั้งสองปากเป็นผู้มีความรู้ในเรื่องภาษีสรรพสามิต เพราะนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เคยดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสรรพสามิตมาก่อน ส่วนนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นผู้ทำงานวิจัยทั้งส่วนบุคคลและร่วมกับกลุ่มนักวิชาการมาเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี มีผลงานวิจัยมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง คำเบิกความของพยานทั้งสองปากมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ เมื่อคำนึงถึง เจตนารมณ์ในการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับและประกาศกระทรวงการคลับฉบับดังกล่าวกับมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ แล้ว เห็นได้ว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารดำเนินการให้ภาคเอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่เสียภาษีสรรพสามิตสามารถนำภาษีไปหักออกจากค่าสัมปทานที่ต้องชำระให้แก่ ทศท. และ กสท. ย่อมขัดแย้งกับเจตนารมณ์ในการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับอย่างเห็นได้ชัด เพราะหากรัฐประสงค์จะเก็บภาษีสรรพสามิตจากการให้บริการโทรศัพท์เพื่อหารายได้เข้าสู่ประเทศจริง ก็ไม่มีเหตุผลที่จะยอมให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์ที่ทำสัญญาสัมปทานกับ ทศท. หรือ กสท. นำภาษีที่เสียไปหักออกจากค่าสัมปทานได้ ตรงกันข้ามการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเช่นนี้ย่อมส่งผลให้ ทศท. ซึ่งทำสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่กับบริษัทเอไอเอสอ่อนแอลง เพราะนอกจาก ทศท. จะได้รับค่าสัมปทานจากบริษัทเอไอเอสน้อยลงกว่าเดิม เนื่องจากต้องหักค่าสัมปทานบางส่วนไปชดใช้ค่าภาษีสรรพสามิตที่บริษัทเอไอเอสเสียไปแล้ว หาก ทศท. ไปขอรับใบอนุญาตจาก กทช. เป็นผู้รับสัมปทานที่ถือใบอนุญาต ทศท. ก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามประกาศกระทรวงการคลับฉบับนั้นด้วย ทั้งที่ตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง ทศท. กับบริษัทเอไอเอสเอกสารหมาย ร.๒๖๔ ให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทไอเอเอสหลายประการ ทั้งในเรื่องการใช้ทรัพย์สินและเครื่องอุปกรณ์ซึ่งเป็นของ ทศท. ได้ตลอดระยะเวลาในสัญญา รวมไปถึงการประกอบธุรกิจในลักษณะที่ผูกขาดแต่ผู้เดียวด้วย ในสัญญาฉบับนั้นจึงระบุไว้ในข้อที่ ๓๐ ให้บริษัทเอไอเอสเสียค่าสัมปทานให้แก่ ทศท. ในอัตราก้าวหน้า โดยปรับเพิ่มค่าสัมปทานทุกรอบระยะเวลา ๕ ปีในขณะที่คณะรัฐมนตรีมีมติเป็นผลให้บริษัทเอไอเอสสามารถหักภาษีสรรพสามิตออกจากค่าสัมปทานได้เป็นช่วงเวลาที่บริษัทเอไอเอสต้องชำระค่าสัปทานให้แก่ ทศท. ในอัตราร้อยละ ๒๕ ก่อนหักค่าใช้จ่ายหรือภาษี เมื่อบริษัทเอไอเอสต้องเสียภาษีให้แก่กรมสรรพสามิตในอัตราร้อยละ ๑๐ หลังจากนำไปหักออกจากค่าสัมปทานแล้วทำให้ ทศท. ได้รับค่าสัมปทานจากบริษัทเอไอเอสในอัตราร้อยละ ๑๕ เท่านั้น นอกจากนี้ หากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงการคลังออกประกาศกระทรวงการคลังเพิ่มอัตราภาษีให้สูงขึ้นถึงร้อยละ ๒๕ บริษัทเอไอเอสซึ่งเสียภาษีแล้วก็สามารถนำไปหักออกจากค่าสัปทานที่ต้องชำระแก่ ทศท. ได้ แต่ ทศท.จะไม่ได้รับประโยชน์จากค่าสัมปทานเลย เพราะต้องนำไปหักเป็นค่าภาษีสรรพสามิตจนหมดสิ้น หากกรณีเป็นเช่นนี้ย่อมเห็นได้ว่าบริษัทเอไอเอสไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตเลย เพราะเอาค่าสัมปทานที่ ทศท. ได้รับไปหักออกจากษีจนครบถ้วน แต่ถ้า ทศท. ประสงค์จะขอใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทช. ทศท.ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ ๒๕ มติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาเช่นนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานะและความมั่นคงของ ทศท. อย่างรุนแรง ส่วนผู้ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์รายใหม่ ซึ่งนอกจากต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมให้แก่ กทช.แล้ว ยังต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย ทั้งที่ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ยังไม่มีลูกค้าเลยหรือมีลูกค้าน้อยกว่าบริษัทเอไอเอสซึ่งครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว การที่ผู้ประกอบการรายใหม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตกับค่าธรรมเนียมและค่าบริการในกิจการโทรคมนาคมให้แก่ กทช. เป็นผลให้ต้นทุนในการดำเนินการที่สูงกว่าบริษัทเอไอเอสอย่างมาก ทั้งที่ยังไม่มีลูกค้าเลยหรือมีลูกค้าน้อยกว่าบริษัทเอไอเอส จึงเป็นการยากที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเกิดขึ้นได้ ทั้งปรากฏจากรายงานประจำปี ๒๕๔๔ ของบริษัทชินคอร์ปหัวข้อความเสี่ยงจากการมีคู่แข่งจากผู้ประกอบการรายใหม่ว่า "ในปี ๒๕๔๕ คาดว่าจะมีผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะขึ้นมาเป็นคู่แข่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัททีเอออเร้นจ์ จำกัด และบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมิเดีย จำกัด รวมทั้งระบบโทรศัพท์พีซีทีของบริษัทเทเลคอม เอเชีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งอาจมาทดแทนโทรศัพท์เคลื่อนที่ แต่อย่างไรก็ตามการแข่งขันจากผู้ให้บริการรายใหม่และบริการทดแทนในช่วง ๑ ถึง ๒ ปี ข้างหน้า อาจจะยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเอไอเอสมากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่ยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเข้าสู่ตลาด (Barrier to Entry) เช่น การสร้างฐานลูกค้าและเงินลงทุน การพัฒนาระบบเครือข่ายและช่องทางการตลาด" ดังนั้น การดำเนินการของคณะรัฐมนตรีที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีในการมีมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ นายสิทธิชัย โภไคยอุดม ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารภายหลังการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเบิกความว่า พยานคิดคำนวณแล้วปรากฏว่ามีภาษีสรรพสามิตขาดหายไปรวมเป็นเงินถึง ๖๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษ เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเป็นนายกรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมกับคณะรัฐมนตรีและมีมติดังกล่าวทั้งที่ผู้ถูกกล่าวหากับผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทชินคอร์ปซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัทเอไอเอสถึงร้อยละ ๔๒.๙๐ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหาได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ในการตราพระราชกำหนดทั้งสองฉบับ และออกประกาศกระทรวงการคลังรวมทั้งมีมติคณะรัฐมนตรีให้นำภาษีสรรพสามิตหักออกจากค่าสัมปทานซึ่งเป็นการกีดกันผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายใหม่ เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปจนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความดังนี้ รูปคดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการลิดรอนอำนาจของ กทช. หรือไม่ อีกต่อไป
กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๓๓ (ครั้งที่ ๖) ลงวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัทเอไอเอส ข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทเอไอเอสได้รับสัญญาให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก ทศท. เป็นระยะเวลา ๒๕ ปี นับแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๓ อันเป็นวันแรกที่เปิดกิจการ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๒๒๙ หน้า ๙๑๐๘ - ๙๑๒๘ และ ๙๑๓๙ - ๙๑๔๕ ในการนี้บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทศท. ตามอัตราที่คิดจากรายได้และผลประโยชน์อื่นใดที่บริษัทเอไอเอสพึงได้รับในรอบปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใด ๆ ทั้งสิ้น แต่จำนวนเงินดังกล่าวจะต้องไม่น้อยไปกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญา สำหรับเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่คิดจากเงินรายได้นี้กำหนดเป็นอัตราก้าวหน้าตามช่วงของปีสัมปทาน ในปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๕ เป็นอัตราร้อยละ ๑๕ ปีที่ ๖ ถึงปีที่ ๑๐ ร้อยละ ๒๐ ปีที่ ๑๑ ถึงปีที่ ๑๕ ร้อยละ ๒๕ และปีที่ ๑๖ ถึงปีที่ ๒๕ ร้อยละ ๓๐ ในระยะเริ่มแรกนั้น บริษัทเอไอเอสได้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบจดทะเบียนหรือโพสเพด (Postpaid) ต่อมาในปี ๒๕๔๒ บริษัทเอไอเอสได้รับอนุมัติจาก ทศท. ให้เปิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า หรือพรีเพด (Prepaid) โดยใช้ชื่อทางการค้าว่าวันทูคอล และยังคงต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทศท. ตามจำนวนและอัตราที่กำหนดในสัญญาร่วมการงาน ต่อมาวันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๔๔ บริษัทเอไอเอสมีหนังสือขอให้ ทศท. พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้แก่บริษัทเอไอเอส ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๒๖๐ หน้า ๑๑๒๘๒ เมื่อ ทศท. พิจารณาแล้วได้อนุมัติให้ลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดเป็นอัตราร้อยละ ๒๐ ของมูลค่าราคาหน้าบัตรคงที่ตลอดอายุสัญญา และได้มีการทำบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๖) เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๒๒๙ หน้า ๙๑๔๙-๙๑๕๒ ทศท. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานกำกับดูแลการดำเนินงานตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยคณะกรรมการประสานงานที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงดำเนินการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้โทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดตามข้อกล่าวหาเป็นคณะกรรมการประสานงานที่ได้รับแต่งตั้งตามคำสั่งที่ ๒๔/๒๕๔๑ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๔๑ คำสั่งที่ ๑๑/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๔ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๒๖๐ หน้า ๑๑๔๗๓, ๑๑๔๗๔, ๑๑๕๑๐ และ ๑๑๕๑๑ แต่การดำเนินการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด และการแก้ไขสัญญาโดยทำเป็นบันทึกข้อตกลงต่อท้ายสัญญาในกรณีนี้ ไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการประสานงานดังกล่าวพิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบเสียก่อน จึงมีข้อที่จะต้องวินิจฉัยว่า การอนุมัติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้แก่บริษัทเอไอเอสเป็นการดำเนินการไปโดยชอบหรือเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอสตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ซึ่งในเรื่องนี้ปรากฏถึงความเป็นมาว่า การดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นอกจากบริษัทเอไอเอสแล้วยังมีผู้ให้บริหารที่ได้รับสัญญาให้ดำเนินในทำนองเดียวกันนี้อีก คือ บริษัทแทคซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายหนึ่ง โดยบริษัทแทคได้รับสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมจาก กสท. เป็นระยะเวลา ๒๗ ปี นับแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๔ อันเป็นวันแรกที่เปิดให้บริการ ปรากฎตามเอสสารหมายเลขร.๒๒๖ หน้า ๘๙๔๑-๘๙๖๘ และ ๘๙๘๔-๘๙๙๒ บริษัทแทคต้องจ่ายเงินปันผลประโยชน์ตอบแทนแก่กสท.เป็นรายปี คิดเป็นอัตราร้อยละของรายได้จากการให้บริการก่อนหักค่าใช้จ่าย ค่าภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆในอัตราก้าวหน้า โดยในปีที่ ๑ ถึงปีที่ ๔ เป็นร้อยละ ๑๒ ปีที่ ๕ ร้อยละ ๑๕ ปีที่ ๖ ถึงปีที่ ๑๕ ร้อยละ ๒o ปีที่ ๑๖ ถึงปีที่ ๒o ร้อยละ ๒๕ และปีที่ ๒๑ ถึงปีที่ ๒๗ ร้อยละ ๓o ทั้งนี้เงินปันผลประโยชน์ตอบแทนในแต่ละปีดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดในสัญญา แต่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในส่วนของบริษัทแทคมีข้อขัดข้องเนื่องจาก กสท.ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ จึงต้องขอใช้หมายเลขโทรศัพท์จาก ทศท.ซึ่งการให้บริการโดยบริษัทแทคผ่านเข้าไปยังเครือข่ายโทรคมนาคมของ ทศท.นั้นบริษัทแทคต้องจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่าย(Access Charge)ให้แก่ ทศท.เจ้าของโครงข่ายในอัตรา ๒oo บาท ต่อเดือน ต่อลูกค้า ๑ ราย ปรากฎตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมายร.๒๒๖ หน้า ๘๙๗o และ ๘๙๙๕ ถึง ๙ooo การให้บริการของบริษัทแทคในระยะเริ่มแรกเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสเพด ต่อมาได้เปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พรีเพดเช่นเดียวกับบริษัทเอไอเอสใช้ชื่อทางการค้าว่าพร้อมท์ ซึ่งบริษัทแทคยังคงจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ กสท.และยังต้องจ่ายเงินค่าเชื่อมโยวโครงข่ายให้แก่ ทศท.ตามจำนวนและอัตราที่กำหนดในสัญญา บริษัทแทคได้ขอลดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดไปยัง ทศท.เจ้าของโครงข่าย เพราะเห็นว่าการกำหนดค่าเชื่อมโยงสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดในอัตราเดียวกับแบบโพสเพดนั้นไม่เหมาะสม ซึ่งในเวลาต่อมาก็ได้รับการพิจารณาปรับลดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้เหลือเพียงอัตราร้อยละ ๑๘ ของราคาหน้าบัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ปรากฎตามเอกสารหมายร.๒๒๖ หน้า ๙o๑๓ ถึง ๙o๑๖ การที่ ทศท.ได้พิจารณาปรับลดอัตราค่าเชื่อมโยงโครงข่ายสำหรับโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าให้แก่บริษัทแทคในครั้งนี้ เป็นเหตุให้บริษัทเอไอเอสยกขึ้นเป็นข้ออ้างในการขอให้ ทศท.ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของบริการที่ใช้ชื่อว่าวันทูคอลบ้าง เห็นว่า การที่บริษัทเอไอเอสดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาที่ทำกับ ทศท.นั้นสิทธิและหน้าที่ระหว่างบริษัทเอไอเอสกับทศท.ซึ่งเป็นคู่สัญญาจะมีอยู่ต่อกันอย่างไร ย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญา ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผลประโยชน์ตอบแทนที่กำหนดไว้ในข้อ ๓o โดยได้ความในเรื่องที่บริษัทเอไอเอสให้ทศท.พิจารณาปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในกรณีนี้ว่า การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัทเอไอเอสและบริษัทแทคมีข้อแตกต่างกันในด้านองค์ประกอบและความพร้อมของระบบที่ตนเป็นผู้ให้บริการเพรากสท.ซึ่งเป็นคู่สัญญากับบริษัทแทคไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ที่จะให้บริษัทแทคนำไปให้บริการแก่ลูกค้าจนต้องไปขอใช้เลขหมายโทรศัพท์โดยจ่ายเงินค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้แก่ทศท.ซึ่งเป็นเจ้าของโครงข่าย ทั้งการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสเพด และแบบพรีเพดนั้นยังมีวิธีการจ่ายค่าใช้บริการที่แตกต่างกัน โดยผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสเพดต้องจ่ายค่าเลขหมายรายเดือนและจ่ายค่าใช้บริการอีกส่วนหนึ่งต่างหาก แต่เป็นการเรียกเก็บหลังจาก มีการใช้บริการแล้ว ส่วนแบบพรีเพตนั้นผู้ที่ใช้บริการจะจ่ายเฉพาะค่าใช้บริการและต้องจ่ายโดยซื้อบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าจึงจะสามารถใช้บริการได้ ซึ่งบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าจะมีราคาแตกต่างกันรายได้จากการให้บริการแบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าจึงขึ้นอยู่กับว่าผู้ใช้บริการด้วยการซื้อบัตรจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นจำนวนที่มากน้อยเพียงใด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอน ดังนั้นการที่จะให้บริษัทแทคจ่ายค่าเชื่อมโยงโครงข่ายในอัตรา ๒๐๐ บาท ต่อเดือน ต่อลูกค้า ๑ รายในบริการแบบพรีเพตย่อมไม่เป็นธรรมต่อบริษัทดีแทค เพราะหากเดือนใดมีลูกค้าใช้บริการโดยมีค่าใช้บริการต่ำกว่า ๒๐๐ บาท หรือมากกว่าเพียงเล็กน้อยซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นผลให้บริษัทแทคขาดทุนหรือสูญเสียรายได้ การที่ ทศท. พิจารณาปรับลดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายให้แก่บริษัทดีแทคจึงเป็นการดำเนินการที่ชอบแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทเอไอเอสไม่มีภาระที่จะต้องจ่ายค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้แก่ ทสท. เหมือนเช่นบริษัทดีแทค ดังนั้น บริษัทเอไอเอสจึงไม่อาจนำเอาเหตุดังกล่าวมาเป็นข้ออ้างเพื่อขอให้ ทศท. ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสหาก ทศท. ปฏิเสธไม่ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสก็เป็นการชอบด้วยเหตุผลแล้วแต่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้กลับปรากฏจากเอกสารหมาย ร. ๒๖๐ หน้า ๑๑๒๘๓ ถึง ๑๑๒๘๕ ว่านอกจากฝ่าย ทศท. จะชี้แจงเหตุผลในชั้นแรกที่ไม่อาจปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้บริษัทเอไอเอสได้แล้ว นายวิเชียร นาคสีนวลผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลประโยชน์ของ ทศท. ในขณะนั้นยังแจ้งแก่บริษัทเอไอเอสด้วยว่า หากบริษัทเอไอเอสประสบภาวะขาดทุนจากการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ในส่วนของบริการ วันทูคอล และสามารถชี้แจงตัวเลขประกอบการพิจารณาได้ ทศท. ก็จะพิจารณาให้ ซึ่งความจริงแล้วคู่สัญญาฝ่ายที่เป็นผูรับเงินส่วนแบ่งตรามสัญญาไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องแจ้งไปเช่นนั้น แต่การที่แจ้งไปเช่นนั้นก็เท่ากับว่าฝ่าย ทศท. ได้เปิดช่องให้บริษัทเอไอเอสเสนอเรื่องเพื่อขอให้ ทศท.พิจารณาปรับลดอัตราแบ่งรายได้ให้แก่บริษัทเอไอเอสได้อีก และมีความเป็นไปได้ที่จะได้รับการปรับลดตามที่ร้องขอ ซึ่งต่อมาปรากฏว่าบริษัทเอไอเอสได้ดำเนินการไปตามที่ ทศท. แจ้งไปดังกล่าว โดยบริทเอไอเอสได้มีหนังสือชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างรายได้และต้นทุนต่อ ทศท.เพื่อประกอบการพิจารณาปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๒๓๑ หน้า ๙๔๘๓ ถึง ๙๔๘๗ และ ร. ๒๖๐ หน้า ๑๑๒๘๖ ถึง ๑๑๒๘๘ โดยข้อที่บริษัทเอไอเอสยกขึ้นอ้างประกอบข้อมูลที่เสนอต่อทศท. ในครั้งนี้เป็นไปในทำนองที่ว่าในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพด บริษัทเอไอเอสต้องลงทุนเพิ่มขึ้น อัคราส่วนแงรายได้ที่กำหนดตามสัญญาหลักจะทำให้เกิดการขาดทุน อันเป็นเหตุผลที่ยังไม่มีน้ำหนักพอให้รับฟัง เนื่องจากในการประกอบธุรกิจนั้นย่อมมีการลงทุนในระยะเริ่มแรก การตัดสินใจว่าจะลงทุนห รือไม่ อย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการพิจารณาและตัดสินใจของผู้ประกอบการนั้นๆเอง บริษัทเอไอเอสก็รับทราบถึงข้อผูกพันตามสัญญาหลักที่ทำกับ ทศท. ดีและพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจึงตัดสินใจเข้าร่วมการงานกับ ทศท. ตามเงื่อนไขสัญญาดีงกล่าวนอกจากนี้ ยังปรากฎจากเอกสารหมายเลข ร. ๒๖๐ หน้า ๑๑๑๘๔ ถึง ๑๑๒๘๑ ว่า บริษัทเอไอเอสได้ลงทุนและเริ่มให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ แล้ว โดยในช่วงนั้นบริษัทเอไอเอสมีข้ออ้างต่อ ทศ?. ว่าเป็เพียงมาตรการในการส่งเสริมการขายของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งบริษัทเอไอเอสให้บริการอยู่ เมื่อครบกำหนดเวลาที่ส่งเสริมการขายตามที่ทศท. อนุมัติให้ดำเนินการแล้ว บริษัทเอไอเอสยังขอขยายเวลาการดำเนินต่อไปอีกจนถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๔ โดยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ ทศท. ตามอัตราที่กำหนดในสัญญาหลักตลอดมา แสดงให้เห็นว่าผลประกอบการในการให้บริการส่งเสริมขายในส่วนนี้เป็นที่พอใจของบริษัทเอไอเอส มิฉะนั้นแล้วบริษัทเอไอเอสก็คงจะไม่ขอขยายกำหนดเวลาในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวเป็นเวลาต่อเนื่องกันเกินกว่า ๓ ปี สำหรับโครงสร้างรายได้ของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดซึ่งไม่มีเงินค่าประกันเลขหมายและค่าเลขหมายรายเดือนแตกต่างไปจากแบบโพสเพด ซึ่งดูเหมือนว่าอาจทำให้บริษัทเอไอเอสต้องขาดรายได้ไปบางส่วน ก็ได้ความจากนายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาดบริษัทเอไอเอสและเอกสารหมาย ร. ๒๖๐ หน้า ๑๑๑๙๖ ว่า การกำหนดอัตราค่าใช้บริการทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดเป็นการรวมเอาค่าเลขหมายรายเดือนในส่วนของโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโพสเพดและค่าใช้โทรศัพท์เข้าด้วยกัน จึงเท่ากับว่ารายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองแบบมิได้มีความแตกต่าง มากนัก ส่วนรายได้ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองแบบในภาพรวมของแต่ละปีที่มีความแตกต่างกันน่าจะอยู่ที่จำนวนลูกค้าและปริมาณการใช้เบริการของแต่ละแบบ ซึ่งเป็นไปตามความนิยมของผู้ใช้บริการมากกว่า นอกจากนี้ยังได้ความจากนายธนำ เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทแทค และนางเนติมา เอื้อธรรมาภิมุข ผู้อำนวยการฝ่ายกฏหมายบริษัทแทค ประกอบเอกสารหมาย ร.๒๒๕ และ ร.๒๒๖ อีกว่า บริษัทแทคซึ่งลงทุนเริ่มให้บริการโทรศัพท์แบบพรีเพดในชาวงเวลาเดียวกัน ได้รับการปรับลดเฉพาะค่าเชื่อมโยงโครงข่ายจากทศท. ส่วนเงินผลประโยชน์ตอบแทนคงยังต้องจ่ายให้แก่ กสท. ตามอัตราที่กำหนดในสัญญาหลักโยไม่ได้รับการปรับลดเหมือนเช่นบริษัทเอไอเอสแต่อย่างใด แต่บริษัทแทคก็ยังคงดำเนินกิจการต่อไปได้ แสดงว่ากิจการใดจะมีผลประกอบการกำไรหรือขาดทุนย่อมขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและการบริหารจัดการเป็นสำคัญ การได้รับสัมปทานอนุญาตให้ดำเนินกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้ช่วงระยะเวลาตามที่กำหนด ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าต้นทุนของการดำเนินการจะลดลงเป็นลำดับตามระยะเวลาของอายุสัมปทานที่ได้รับ และในขณะเดียวกันย่อมเป็นผลให้ได้มาซึ่งกำไรเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับเช่นกัน โดยเฉพาะในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเช่นที่บริษัทเอไอเอสดำเนินกิจการอยู่นี้ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าบริษัทเอไอเอสมีการเจริญเติบโตของตลาดเพิ่มขึ้นเป็นระยะและเป็นผู้ให้บริการที่ครองตลาดที่มีผู้ใช้บริการซึ่งเป็นลูกค้าชั้นดีเป็นจำนวนมากที่สุด การที่กำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ต้องจ่ายให้แก่คู่สัญญาภาครัฐในแบบอัตราก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันไดจึงเป็นการกำหนดอัตราที่มีความเป็นธรรมแก่คู่สัญญาภาครัฐผู้ให้สัญญา โดยจะต้องกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่คู่สัญญาภาครัฐผู้ให้สัญญาตามสัดส่วนของรายได้ที่คู่สัญญาภาคเอกชนผู้รับสัญญาจะได้รับจากกิจการ และเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาของอายุสัมปทาน ซึ่งสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่าง ทศท.กับบริษัทเอไอเอสก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ค่าผลประโยชน์ตอบแทนในหลักการนี้ แต่หลังจากได้รับหนังสือชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับต้นทุนจากบริษัทเอไอเอสดังกล่าวแล้ว ได้ความว่านายวิเชียร นาคสีนวล ได้ทำบันทึกเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานพิจารณาคณะกรรมการบบริหารงานจึงมีคำสั่งให้ฝ่ายการเงินและงบประมาณพิจารณาความเหมาะสมของข้อมูลต้นทุนที่บริษัทเอไอเอสเสนอมาทั้งให้ประสานงานกับฝ่ายบริหารผลประโยชน์เพื่อเชิญบริษัทเอไอเอสมาร่วมหารือ เมื่อได้ข้อมูลสมบูรณ์แล้วก็ให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารงานอีกครั้งหนึ่ง ปรากฎตามเอกสารหมายร.๒๖o หน้า ๑๑๒๘๙ ถึง ๑๑๒๙๑,๑๑๒๙๓ และ ๑๑๒๙๔ ฝ่ายการเงินและงบประมาณได้ดำเนินการตามคำสั่งของคณะกรรมการบริหารโดยประชุมร่วมกับฝ่ายบริหารผลประโยชน์และบริษัทเอไอเอส ได้มีการมีชี้แจงรายละเอียดและวิธีคำนวณต้นทุนโครงข่ายและค่าใช้จ่าย แล้วใช้ข้อมูลที่ได้มาประกอบการศึกษาวิเคราะห์การกำหนดส่วนแบ่งรายได้ และได้จัดทำเป็นกรณีศึกษากับเสนอเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการการกลั่นของวาระการประชุมของคณะกรรมการ ทศท.ปรากฎตามเอกสารหมายร.๒๓๑ หน้า ๙๕o๘ ถึง ๙๕๙๓ โดยกรณีศึกษาที่เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระได้ความจากนายสายัณห์ ถิ่นสำราญ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินและงบประมาณ และนางปรียา ด่านชัยวิจิตร ผู้อำนวยการส่วนวางแผนการเงิน กับนางสาวประภาศรี กาญจนาภัทร หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจ และนางสุรัสวดี เมฆาพงศ์พันธุ์ ผู้อำนวยการกองวิเคราะห์เศรษฐกิจในขณะนั้นซึ่งเป็นผู้จัดทำรายงานการศึกษาวิเคราะห์ว่า ได้อาศัยข้อมูลที่ได้จากบริษัทเอไอเอส ข้อมูลเกี่ยวกับประมาณการเลขหมายและประมาณการรายได้ต่อเลขหมายตามรายงานวิจัยของบริษัท CS First Boston ตามเอกสารหมายร.๒๓๑ หน้า ๙๔๘๘ ถึง ๙๕o๗ และจากข้อมูลบริษัท Arthur Andersons ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาของทศท.ในการแปรสัญญาสัมปทานมาประกอบการศึกาวิเคราะห์ ก็เป็นการศึกษาวิเคราะห์ในการกำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้เป็นแบบคงที่ ซึ่งไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นเป็นลำดับตามระยะเวลาของสัญญาแต่อย่างใด การที่คณะกรรมการทศท.พิจารณาแล้วมีมติให้ปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้เป็นแบบคงที่ในอัตราร้อยละ ๒o แล้วแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาโดยไม่กำหนดให้ เพิ่มอัตราส่วนแบ่งรายได้ตามระยะเวลาของสัญญาจึงไม่เป็นไปตามหลักการที่กล่าวมา ทั้งยังเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในสัญญาในสาระสำคัญทำให้ ทศท.จะต้องขาดผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับตามสัญญาหลักอยู่แล้ว แต่กลับเป็นผลให้บริษัทเอไอเอสได้รับผลประโยชน์เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๕ อันเป็นวันที่สัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาหลักในครั้งที่ ๖ นี้มีผลบังคับเป็นต้นไปซึ่งหากนับถึงวันที่ ๓o กันยายน ๒๕๕๘ อันเป็นวันสิ้นสุดของสัญญาหลักเป็นเวลาเกินกว่า ๑๔ ปี ส่วนที่ปรากฎจากเอกสารหมายร.๒๖o หน้า ๑๑๓๓๙ ถึง ๑๑๓๕o ว่าในการมีมติในเรื่องการลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ คณะกรรมการ ทศท.กำหนดเงื่อนไขให้ ทศท.เจรจากับบริษัทเอไอเอสให้ได้ยุติในเรื่องการนำส่งส่วนแบ่งรายได้ให้ ทศท.เป็นรายเดือน และการนำผลประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับในครั้งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับผู้ใช้บริการ ทั้งให้กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาที่จะจัดทำขึ้นกับให้ ทศท.ติดตามผลการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า ทั้งของวันทูคอล และพร้อมท์ เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาความเหมาะสมของการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์เรียกเก็บส่วนแบ่งรายได้ในโอกาสต่อไป ซึ่งเป็นไปในทำนองว่า ทศท.มุ่งถึงผลประโยชน์ของทศท.ที่จะได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดตามสัญญาหลัก ข้อ ๓๑.๒ ไว้ว่าให้ชำระผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำทุก ๓ เดือน และเมื่อครบรอบปีแล้วหากปรากฎว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่คำนวณจากอัตราร้อยละของรายได้มากกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำที่กำหนดไว้ในสัญญา ก็ให้ชำระเพิ่มให้ครบภายใน ๖o วัน นับแต่วันครบกำหนดในรอบปีนั้นๆ และมุ่งถึงประโยชน์ของผู้ใช้บริการที่จะจ่ายค่าใช้บริการถูกลง โดยมีพยานไม่ว่าจะเป็นนายอนันต์ วรธิติพงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการบริษัทเอไอเอส หรือพยานที่เป็นกรรมการ ทศท.และพนักงานทศท. เช่นพลตำรวจเอกบุญฤทธิ์ รัตนพร นายโอฬาร เพียรธรรม นายศุภชัย พิศิษฐวานิช นายสุธรรม มลิลา ให้การและเบิกความในทำนองเดียวกันว่า หลังจากได้รับการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้แล้ว บริษัทเอไอเอสได้ปรับลดค่าใช้บริการให้แก่ผู้ใช้บริการมากกว่าอัตราที่กำหนดในสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ทศท.มีรายได้เพิ่มมากขึ้นด้วย เป็นข้อสนับสนุนให้เห็นว่าการดำเนินในกรณีนี้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายแล้วนั้น เห็นว่า แม้จะได้ความตามนั้นก็ตาม แต่ผลของการดำเนินการในกรณีนี้เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายแล้วนั้น เห็นว่า แม้จะได้ความตามนั้นก็ตาม แต่ผลของการดำเนินก็ทำให้ภาระต้นทุนของบริษัทเอไอเอสลดน้อยลงและที่สำคัญได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทเอไอเอสในด้านจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดทำให้รายได้จากค่าใช้บริการที่ได้รับเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากเอกสารหมายร.๒๔๘ หน้า ๑๑o๒๕ และ ๑๑o๒๖ และร.๒๖o หน้า ๑๑๑๕๙ ถึง ๑๑๑๖๒ ว่าตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๔๙ บริษัทเอไอเอสมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดเพิ่มขึ้นในแต่ละปีเป็นจำนวนมากจากที่มีจำนวน ๒๙๗,ooo รายในปี ๒๕๔๓ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวน ๒,๒๘๘,๕oo รายได้ปีถัดมาแล้วทวีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จนถึงปี ๒๕๔๙ มีผู้ใช้บริการถึง ๑๗,๒๗๙,๑oo ราย กับมีรายได้จริงสำหรับค่าใช้บริการโทรศัพท์โทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับจำนวนมากเช่นกัน โดยจากที่มีรายได้ในปีสัมปทานที่ ๑๑ ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ ถึงกันยายน ๒๕๔๔ จำนวน ๒,๒๒๕,๕๖o,ooo บาท เพิ่มขึ้นเป็น ๑๗,o๙๘,๘๙o,ooo บาท ในปีสัมปทานที่ ๑๒ ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๔๔ ถึงกันยายน ๒๕๒๕ และทวีจำนวนขึ้นในแต่ละปีสัมปทาน จนกระทั่งในปีสัมปทานที่ ๑๖ ในช่วงเดือนตุลาคม ๒๕๔๘ ถึงกันยายน ๒๕๔๙ มีรายได้เพิ่มขึ้นถึงจำนวน ๕๗,๓๗๕,๘๘o,ooo บาท แต่รายได้ในส่วนที่ให้บริการแบบโพสเพดนั้นกลับลดลงจากที่เคยได้รับในสัมปทานที่ ๑๑ จำนวน ๓๔,๗๕๒,o๘o,ooo บาท เพิ่มเป็น ๓๗,๗๖๗,๗๑o,ooo บาทในปีสัมปทานที่ ๑๒ แล้วลดลงเป็นลำดับในแต่ละปีสัมปทานจนกระทั่งลดลงเหลือ ๒๑,๑๗๑,๓๙o,ooo บาทในปีสัมปทานที่ ๑๖ แม้รายได้ในภาพรวมที่เพิ่มขึ้นจะเป็นผลให้ ทศท.ได้รับค่าผลประโยชน์ตอบแทนมากขึ้นก็ตาม แต่หากปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดให้เป็นจำนวนที่เหมาะสมและเป็นแบบอัตราก้าวหน้าผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัทเอไอเอสต้องจ่ายให้แก่ทศท. ย่อมมีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากที่เป็นอยู่ด้วย ส่วนการปรับลดค่าใช้บริการให้แก่ลูกค้านั้น ก็ปรากฎจากเอกสารหมายร.๒๓๒ ร.๒๓๓ และ ร.๒๖๑ ว่า บริษัทเอไอเอสและบริษัทแทคได้จัดรายการส่งเสริมการขายสำหรับบริการโทรศัพท์แบบพรีเพดในหลายรูปแบบต่อเนื่องกันมา ในบางรูปแบบมีการปรับลดค่าใช้บริการลงเป็นจำนวนมากเพื่อจูงใจให้มีผู้ใช้บริการพรีเพดในหลายรูปแบบต่อเนื่องกันมา ในบางรูปแบบมีการปรับลดค่าใช้บริการลงเป็นจำนวนมากเพื่อจูงใจให้มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของการตลาดในการแข่งขันกันทางค้า ดังนั้น การที่บริษัทเอไอเอสปรับลดค่าใช้บริการลให้แก่ลูกค้าจึงเป็นไปตามกลไกตลาด หาใช่เป็นผลจากการที่บริษัทเอไอเอสได้รับการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากทศท.และที่ผู้ถูกกล่าวอ้างว่า บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดเป็นบริการรูปแบบใหม่ซึ่งไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทนกันไว้ การที่กำหนดอัตราส่วนแบ่งรายได้ในกรณีนี้จึงเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน ไม่ใช่การปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามที่กำหนดในสัญญาหลักนั้น เห็นว่าการที่บริษัทเอไอเอสดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาหลักที่ทำกับทศท. สิทธิและหน้าที่จะมีอย่างไรย่อมเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญา แม้การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดจะไม่มีรายได้จากค่าเลขหมายรายเดือนก็ตาม แต่การกำหนดค่าใช้บริการก็ได้รวมเอาค่าโทรศัพท์และค่าเลขหมายรายเดือนเข้าด้วยกันแล้ว โทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งสองแบบคงแตกต่างกันเฉพาะวิธีการและเงื่อนไขในการจ่ายค่าใช้บริการเท่านั้น ทั้งปรากฎจากเอกสารหมายร.๒๖o หน้า ๑๑๑๙๖ ด้วยว่าก่อนที่จะเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดในครั้งแรกนั้นบริษัทเอไอเอสได้มีหนังสือชี้แจงไปยังทศท. ว่ามีลักษณะเป็นการส่งเสริมการขายแก่ผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามปกติ โดยอำนวยความสะดวกเพิ่มเติมแก่ผู้ใช้บริการ ซึ่งเท่ากับเป็นการยอมรับแล้วว่าโทรศัพท์ทั้งสองแบบเป็นการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาหลักที่ทำไว้นั่นเอง แม้การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบพรีเพดจะทำให้บริษัทเอไอเอสมีรายจ่ายเป็นต้นทุนเพิ่มขึ้นก็หาเป็นเหตุให้ต้องกำหนดค่าผลประโยชน์ตอบแทนกันใหม่ โดยอ้างว่าเป็นการให้บริการรูปแบบใหม่ที่ไม่มีกำหนดไว้ในสัญญาหลักดังที่กล่าวอ้าง องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า เป็นการดำเนินการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทเอไอเอส ทั้งนี้ โดยไม่จำต้องวินิจฉัยว่าการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการประสานงานพิจารณาอนุมัติเสียก่อนเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติพระราชบัญญัติตามว่าด้วยให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยในเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงไป
กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(Cellular Mobile TelePhone)ฉบับลงวันที่ ๒๗ มีนาคม ๒๕๕๓ (ครั้งที่ ๗)ลงวันที่ ๒o กันยายน ๒๕๔๕ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม หรือโรมมิ่ง (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับ และการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอสหรือไม่ ในข้อนี้ปรากฏว่า บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทเอไอเอสคิดเป็นร้อยละ ๔๒.๙๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เมื่อปี ๒๕๓๓ บริษัทเอไอเอสได้เข้ารับสัญญาสัมปทานอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จาก ทศท. มีกำหนดอายุสัญญา ๒๐ ปีและในปี ๒๕๓๙ ทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่๔) ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๙ ขยายกำหนดอายุสัญญาเป็น ๒๕ ปี ต่อมาบริษัทเอไอเอสต้องการขยายการให้บริการลูกค้า ได้ทดลองเข้าไปร่วมใช้เครือข่ายของบริษัทดีพีซีที่บริษัทเอไอเอสเป็นผู้มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๙๘.๕๕ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยบริษัทดีพีซีได้สัมปทานการจัดสรรคลื่นความถี่และเป็นคู่สัญญากับกสท.ครั้นวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ ทศท. และบริษัทเอไอเอสตกลงแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ครั้งที่ ๗ ) เกี่ยวกับการใช้เครือข่ายร่วม มีสาระสำคัญ คือ ทศท.อนุมัติให้บริษัทเอไอเอสสามารถนำค่าใช้เครือข่ายร่วมที่ต้องจ่ายให้แก่ผู้ให้บริการรายอื่นมาหักออกจากรายได้ค่าบริการและเงินอื่นใดที่เรียกเก็บจากผู้ใช้บริการก่อนนำส่งส่วนแบ่งรายได้แบบอัตราก้าวหน้าตามสัญญาหลัก ข้อ ๓๐ และข้อตกลงต่อท้ายสัญญา (ครั้งที่ ๔) ข้อ ๗ โดยบริษัทเอไอเอสอ้างว่าเหตุที่ต้องใช้เครือข่ายร่วมกับบริษัทดีพีซีเป็นบริษัทเอไอเอสมีปริมาณเลขหมายที่เปิดให้บริการจำนวนมากไม่เพียงพอกับความถี่ที่ได้รับจัดสรรจาก ทศท. ๗.๕ เมกะเฮิรตซ์ ทำให้มีขีดความสามารถของโครงข่ายจำกัดกว่าโครงข่ายอื่น และมีข้อจำกัดทางเทคนิคทำให้ไม่สามารถวางโครงข่ายเพิ่มเติมได้อีก และเพื่อเป็นการลดข้อจำกัดทางเทคนิคของบริษัทเอไอเอส จึงต้องไปใช้เครือข่ายร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่น ซึ่ง ทศท. ควรรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบจัดหาคลื่นความถี่ ข้ออ้างของบริษัทเอไอเอส ดังกล่าวนี้เป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทเอไอเอสเอง ซึ่งเป็นเรื่องของการแข่งขันในทางการค้าในการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม ส่วนการกล่าวอ้างที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับความถี่ที่ได้รับจาก ทศท. นั้น เป็นเรื่องที่บริษัทเอไอเอสสามารถคาดหมายได้อยู่แล้วในขณะที่เข้าทำสัญญาสัมปทานกับ ทศท.เพราะสัญญาสัมปทาน ข้อ ๒๙.๙ ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า ทศท. จะต้องจัดหาคลื่นความถี่ย่าน ๙๐๕ ถึง ๙๑๕ เมกะเฮิรตซ์ และ ๙๕๐ ถึง ๙๖๐ เมกะเฮิรตซ์ สำหรับระบบ NMT ๙๐๐ ให้แก่บริษัทเอไอเอส ๔๐๐ ช่วงสัญญาณส่วนความถี่ที่จะใช้กับระบบ GSM ทศท. จะดำเนินการขอและจัดสรรให้ต่อไปเมื่อได้รับแจ้งจากบริษัทเอไอเอส ทั้งปรากฏจากรายงานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมของคณะกรรมการบริหาร ทศท. ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ วันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๕ วาระที่ ๔.๑๒ เรื่อง ขออนุมัติหลักการใช้เครือข่ายร่วมกันในส่วนข้อพิจารณาของที่ประชุม ข้อ ๒ ว่า สำหรับรายจ่ายของบริษัทเอไอเอสจากการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น ถือเป็นภาระหน้าที่ของบริษัทเอไอเอสที่จะต้องขยายโครงข่ายให้สามารถรองรับการให้บริการ โดยบริษัทเอไอเอสจะเลือกวิธีการลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มเติม หรือการใช้เครือข่ายของผู้ให้บริการรายอื่น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ทศท.ได้จัดสรรคลื่นความถี่ให้กับบริษัทเอไอเอสจนเต็มความสามารถของ ทศท. เท่าที่ ทศท. ได้รับมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขแล้ว ย่อมเป็นการปฏิบัติไปโดยถูกต้องสมบูรณ์ตามสัญญาสัมปทานแล้ว เนื่องจากคลื่นความถี่ดังกล่าวมิได้อยู่ภายใต้อำนาจการบริหารจัดการ ทศท. โดยตรง แต่ได้รับมาจากกรมไปรษณีย์โทรเลขอีกทอดหนึ่ง และข้อสัญญาสัมปทานก็ไม่มีสภาพบังคับไว้แต่อย่างใดว่า ทศท. จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าใช้จ่ายในเรื่องใด ๆ หากไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นที่เพียงพอกับการแก่ลูกค้าของบริษัทเอไอเอส เพราะการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการแข่งขันสูงและต่อเนื่อง ย่อมมีความไม่แน่นอนจากสภาพการแข่งขันทางการตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตลอดเวลา และบริษัทผู้ให้บริการมักจะมีรายการส่งเสริมการขายในรูปแบบที่ต่างกันไป โดยมักจะใช้วิธีการขอให้ผู้ให้สัมปทานอนุมัติให้ทดลองให้บริการไปก่อน แล้วจึงเจรจากับผู้ให้สัมปทานต่อเนื่องกันไป ซึ่งส่วนใหญ่การเจรจามักประสบผลสำเร็จตามที่ผู้รับสัมปทานร้องขอ อันเป็นการปฏิบัติไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาฝ่ายที่รับสัมปทานไปแล้ว แต่ก็มักไม่ตรงตามข้อสัญญา ดังที่สำนักงานอัยการสูงสุดเคยพิจารณาแจ้งไว้ซึ่งปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองวาระการประชุมของคณะกรรมการ ทศท.ครั้งที่ ๓/๒๕๔๕ วันที่ ๒๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ ดังนั้น การที่บริษัทเอไอเอสเลือกการขยายเครือข่ายการให้บริการเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการด้วยวิธีการใช้เครือข่ายร่วมกับบริษัทดีพีซีซึ่งถือได้ว่าเป็นบริษัทเดียวกันกับบริษัทเอไอเอส แทนที่จะลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มเติมซึ่งเป็นการประหยัดเงินลงทุนการสร้างโครงข่ายและเป็นค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมของบริษัทตนเอง บริษัทเอไอเอสไม่อาจที่จะกล่าวอ้างในเรื่องจำนวนคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรจาก ทศท.ได้ ทั้งไม่อาจปัดให้เป็นความรับผิดชอบของ ทศท.ที่จะต้องจัดหาคลื่นความถี่มาให้เพียงพอแก่การให้บริการของบริษัทเอไอเอส ประกอบกับบริษัทเอไอเอสมีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร.๒๖๔ ข้อ ๙ ข้อ ๑๖ และข้อ ๓๐ เมื่อสัญญาสัมปทาน ข้อ ๙ กำหนดว่า บริษัทเอไอเอสต้องเป็นผู้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาและรับผิดชอบเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้บริการและค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ทั้งหมด ข้อ ๑๖ กำหนดว่า ต้องจัดหาอุปกรณ์เซลลูล่า Cellular ๙๐๐ เพื่อให้เปิดบริการได้ตามประมาณการลงทุนแผนการติดตั้งและสามารถบริการได้เพียงพอกับความต้องการของผู้ใช้บริการ และต้องให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพ และข้อ ๓๐ กำหนดว่า ต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท. เป็นรายปีตามหลักประกันขั้นต่ำ หรืออัตราร้อยละของรายได้ และผลประโยชน์อื่นใดที่บริษัทเอไอเอสพึงได้รับในรอบปีก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าภาษีใดๆ ทั้งสิ้น จำนวนไหนมากกว่าให้ถือเอาจำนวนนั้น บริษัทเอไอเอสจึงต้องเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเอง การแก้ไขสัญญาเพื่อปัดความรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายที่ตนเองต้องรับผิดชอบจึงขัดต่อสัญญาหลัก และถือว่ารายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการโดยผ่านการใช้เครือข่ายร่วม เป็นรายได้และผลประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสพึงได้รับในรอบปีที่จะต้องจ่ายเงินผลประโยชน์ตอบแทนให้ ทศท.ตามสัญญาหลัก ข้อ ๓๐ มิใช่เป็นรายได้พิเศษนอกสัญญาดังที่บริษัทเอไอเอสจะต้องรับผิดชอบตามสัญญามาหักออกจากส่วนแบ่งรายได้ ย่อมเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ทศท.ที่ไม่ได้รับส่วนแบ่งรายได้ จากการใช้บริการของลูกค้าเท่าจำนวนครั้งต่อนาทีที่มีการใช้บริการเครือข่ายร่วมกับเครือข่ายอื่นนับจากการใช้บริการของลูกค้าเท่าจำนวนครั้งต่อนาทีที่มีการใช้บริการเครือข่ายร่วมกับเครือข่ายอื่น นับจากวันที่สัญญาแก้ไขมีผลบังคับเดือนตุลาคม ๒๕๔๕ ถึงเดือนเมษายน ๒๕๕๑ ปรากฏจากรายงานการตรวจสอบว่า บริษัทเอไอเอสใช้เครือข่ายร่วมรวม ๑๓,๒๘๓,๔๒๐,๔๘๓ นาที คิดเป็นเงิน ๖,๙๖๐,๓๕๙,๔๐๑ บาท เงินจำนวนดังกล่าวเป็นประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับจากการแก้ไขสัญญาที่ไม่ชอบด้วยสัญญาหลัก ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่แท้จริงอยู่ในบริษัทชินคอร์ป และในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.๒๕๓๔ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ส่วนข้อที่ว่า การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(ครั้งที่ ๗) จะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา ๒๒ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐพ.ศ.๒๕๓๕ หรือไม่ ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคำวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท.กับบริษัทดีพีซี ปัญหาที่ควรวินิจฉัยเป็นประการแรกมีว่า ขณะเกิดเหตุ ผู้ถูกกล่าวยังถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปหรือไม่ ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าหน่วยงานรัฐภายใต้อำนาจหน้าที่บังคับบัญชาหรือกำกับดูแลของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ใช้อำนาจโดยไม่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สมเหตุผลเพราะการที่ กสท.ปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมให้กับบริษัทดีพีซี เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอไอเอสที่มีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นอยู่จำนวน ๑,๒๖๓,๗๑๒,๐๐๐ หุ้น คิดเป็นร้อยละ ๔๓.๐๖ ผู้ถูกกล่าวหายังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปอยู่ในระหว่างดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีผลประโยชน์ดังกล่าวจึงตกแก่ผู้ถูกกล่าวหา นอกจากนี้ผลประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับจากการปรับลดยังตกแก่หุ้นบริษัทชินคอร์ป เป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้นจนกระทั่งมีการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ป เงินที่ได้จากการขายหุ้นจึงเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา เห็นว่า ตามคำร้องของผู้ร้องได้ความว่าผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปทั้งหมดขายให้แก่กลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๔๙ แม้กรณีปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมเริ่มดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๔๘ ด้วยการที่บริษัทเอไอเอสมีหนังสือตามเอกสารหมาย ร.๓๕๓ หน้า ๑๓๗๗๓ ถึงบริษัทดีพีซีขอปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม จากเดิม ๒.๑๐ บาท เป็น ๑.๑๐ บาท อันเป็นเวลาก่อนผู้ถูกกล่าวหารวบรวมหุ้นบริษัทชินคอร์ปขายให้กับกลุ่มเทมาเส็กก็ตาม แต่ที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าบริษัทเอไอเอสได้รับประโยชน์จาก กสท.ดำเนินการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมให้กับบริษัทดีพีซีตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๐ เป็นเงินรวม ๗๙๖,๒๒๐,๓๑๐ บาท รวมทั้งที่ได้ความจากทางไต่สวนว่า ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ ซึ่งนายพิศาล จอโภชาอุดม กรรมการผู้จัดการใหญ่ กสท. ได้อนุมัติให้ปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมตามที่ฝ่ายพันธมิตรธุรกิจ กสท.โดยนายกิติศักดิ์ ศรีประเสริฐ มีหนังสือลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ เสนอ และให้มีผลตั้งแต่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ถึง ๓๐ กันยายน ๒๕๔๙ เป็นระยะเวลา ๓ เดือน นั้น เป็นเวลาหลังจากวันที่มีขายการหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กแล้วผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่ได้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปในขณะที่มีการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วม ดังนั้น หากผลประโยชน์ที่บริษัทเอไอเอสได้รับจากการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมตกแก่หุ้นบริษัทชินคอร์ปเป็นเหตุให้หุ้นมีมูลค่าสูงขึ้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ย่อมมิใช่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่ผู้รัองกล่าวอ้าง แต่เป็นกลุ่มเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ที่ซื้อหุ้นบริษัทชินคอร์ปไปแล้วและเป็นผู้ถือหุ้นดังกล่าวอยู่ในขณะนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผลประโยชน์อันเกิดจากการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมไม่เกี่ยวข้องกับผู้ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นในเรื่องปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมอีกต่อไป
กรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุน กิจการดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและกิจการของครอบครัวของผู้ถูกกล่าวหา สำหรับในปัญหานี้มีข้อที่จะต้องพิจารณาตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมการตรวจสอบและตามคำร้องของผู้ร้องอยู่ ๓ กรณีด้วยกัน กล่าวคือ กรณีอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์(iPSTAR) กรณีอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน(ครั้งที่ ๕) เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ เรื่องการลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมจากที่จะต้องถือครองหุ้นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ ๔๐ และกรณีอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนจากการที่ดาวเทียมไทยคม ๓ เกิดความเสียหาย จำนวน ๖,๗๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาต่างประเทศ ซึ่งในเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศนี้เป็นโครงการของประเทศไทยที่มีวัตถุประสงค์หลักจะให้มีดาวเทียมสื่อสารเพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศเท่านั้น โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้ดำเนินการในระยะเริ่มแรกก่อนที่จะมีการปรับปรุงระบบราชการแล้วมีการตั้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขึ้นมารับงานส่วนนี้จากระทรวงคมนาคมในเวลาต่อมา โดยมีบริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ได้รับสัมปทานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ ระหว่างกระทรวงคมนาคม กับบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ซึ่งเป็นชื่อของบริษัทชินคอร์ปที่ใช้อยู่ในขณะนั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๔๙ ตามสัญญาดังกล่าวได้ระบุรายละเอียดไว้บทนำว่า สัญญาฉบับนี้ทำขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ ณ กระทรวงคมนาคม โดยนายนุกูล ประจวบเหมาะ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "กระทรวง" ฝ่ายหนึ่ง กับ บริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัดโดย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ซึ่งต่อไปในสัญญานี้ เรียกว่า "บริษัท" อีกฝ่ายหนึ่ง โดยที่กระทรวงคมนาคมได้ออกประกาศเรื่อง ข้อกำหนดในการทำข้อเสนอขอรับสัมปทานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๓๑ ให้ภาคเอกชนที่สนใจยื่นเสนอแสดงความจำนงที่จะขอรับสัมปทานเพื่อดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ และบริษัทเป็นผู้หนึ่งที่ได้ยื่นข้อเสนอต่อกระทรวง และโดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติให้โครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าวข้างต้นเป็นโครงการของประเทศ ซึ่งเมื่อรัฐให้สัมปทานแก่บริษัทแล้ว และดาวเทียมที่บริษัทจัดส่งขึ้นไปตลอดจนสถานีภาคพื้นดินที่บริษัทสร้างขึ้นจะต้องตกเป็นของรัฐทันที และโดยที่กระทรวงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอของบริษัทเป็นข้อเสนอซึ่งเป็นที่พอใจของกระทรวง ดังนั้น กระทรวงโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงได้คัดเลือกและตกลงให้บริษัทเป็นผู้ได้รับสัมปทานโครงการนี้ และตามข้อสัญญา ข้อ๑ สิทธิให้บริการวงจรดาวเทียม กระทรวงตกลงให้บริษัทเป็นผู้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ โดยกระทรวงตกลงให้บริษัทมีสิทธิในการบริหารกิจการและการให้บริการวงจรดาวเทียม (Transponder) เพื่อการสื่อสารภายในประเทศ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "วงจรดาวเทียม" และมีสิทธิ์เก็บค่าใช้วงจรดาวเทียมจากผู้ใช้วงจรดาวเทียม ทั้งนี้ ภายใต้ข้อกำหนดและเงื่อนไขแห่งสัญญานี้ ข้อ๒ ระยะเวลาการดำเนินกิจการและการคุ้มครองสิทธิ กระทรวงตกลงให้บริษัทมีสิทธิในการดำเนินกิจการในข้อ๑ มีกำหนดสามสิบ (๓๐) ปี นับแต่วันลงนามสัญญา ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "อายุสัญญา" และกระทรวงตกลงจะคุ้มครองสิทธิในการดำเนินกิจการและให้บริการวงจรดาวเทียมของบริษัทไม่ให้บุคคลอื่นเข้ามาดำเนินกิจการแข่งขัน และจัดให้ผู้ใช้บริการวงจรดาวเทียมและสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินใช้วงจรดาวเทียมมีกำหนดระยะเวลาแปด (๘) ปี นับแต่วันลงนามในสัญญา หากพ้นกำหนดระยะเวลาแปด (๘) ปี ดังกล่าวแล้ว การคุ้มครองสิทธิของบริษัทเป็นอันหมดไป ข้อ ๕ การดำเนินงานและแผนการดำเนินงาน ๕.๑ บริษัทตกลง ๕.๑.๑ จัดสร้างและจัดส่งดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดวงที่หนึ่งขึ้นสู่วงโคจร (Orbital Position) ของกระทรวงตามที่กำหนดในข้อ ๑๒ ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า "ตำแหน่งวงโคจร" พร้อมกับจัดให้มีระบบดาวเทียมสำรอง (Back up) ในลักษณะดาวเทียมภาคพื้นดิน (Ground Back up) รวมทั้งจัดให้มีดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่สองและดวงต่อๆ ไปขึ้นใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องกับการสิ้นอายุของดาวเทียมดวงก่อน ๕.๑.๔ จัดส่งดาวเทียมสำรองตามข้อ ๕.๑.๑ ขึ้นอยู่ในตำแหน่งวงโคจร (In-Orbit Back up) หลังจากดาวเทียมดวงแรกเริ่มให้บริการแล้วไม่เกินสิบสอง (๑๒) เดือน ข้อ ๖ คุณสมบัติของดาวเทียม รายละเอียดคุณสมบัติ เฉพาะของดาวเทียม (Satellite Technical Specification) ทุกดวงที่บริษัทสร้างและจัดส่งตามสัญญานี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงก่อน และอุปกรณ์ทั้งหมดของดาวเทียมจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติงานได้อย่างดี ทั้งนี้ คุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองตั้งแต่ดวงที่สองเป็นต้นไปจะต้องมีคุณสมบัติการใช้งานไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งตามที่กำหนดในข้อ ๗ แต่จำนวนวงจรดาวเทียมและชนิดย่านความถี่ (C-Band หรือ Ku-Band) ตามข้อ ๗.๑.๑ ให้เป็นไปตามที่กระทรวงและบริษัทจะตกลงกัน และบริษัทรับรองว่าดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองของบริษัททุกดวงจะไม่ทำ Inclined Orbit เว้นแต่ดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองซึ่งมิได้ใช้เป็นดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองแล้ว แต่ยังสามารถให้บริการวงจรดาวเทียมได้ ข้อ ๗.๒ ดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่ง คุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมสำรองดวงที่หนึ่งอย่างน้อยจะต้องไม่ด้อยกว่าคุณสมบัติการใช้งานของดาวเทียมหลักดวงที่หนึ่งและทดแทนดาวเทียมหลักดวงที่หนึ่งเพื่อให้ใช้งานต่อเนื่อง ข้อ ๑๓ การนำวงจรดาวเทียมไปให้ประเทศอื่นใช้ บริษัทรับที่จะให้โอกาสเท่าเทียมกันในการขอใช้วงจรดาวเทียมของผู้ใช้วงจรดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศทุกราย และในกรณีที่มีวงจรเหลือจากปริมาณการใช้ในประเทศ บริษัทด้วยความเห็นชอบของกระทรวงสามารถนำวงจรดาวเทียมที่เหลือใช้ไปให้ประเทศอื่นใช้ได้ ข้อ ๑๕ การโอนกรรมสิทธิ์ การส่งมอบและรับมอบทรัพย์สิน บริษัทยอมให้ดาวเทียมทุกดวงที่บริษัทจัดตั้งตามสัญญานี้ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงในวันที่ผ่านการทดสอบใช้งานจากทั้งสองฝ่ายหลังจากดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรแล้ว ส่วนสถานีควบคุมดาวเทียมรวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ตามข้อ ๕ หลังจากบริษัทจัดตั้งและได้ทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานเรียบร้อยแล้ว บริษัทยอมให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบทรัพย์สินดังกล่าวให้บริษัทครอบครองเพื่อใช้ในการดำเนินการตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาฉบับนี้ อุปกรณ์ที่บริษัทจัดหามาภายหลังการส่งมอบทรัพย์สินตามวรรคแรกเพื่อใช้เกี่ยวกับการให้บริการวงจรดาวเทียมตามสัญญานี้จะต้องเป็นอุปกรณ์ที่เป็นที่ยอมรับแล้วว่าสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีและได้รับความเห็นชอบจากกระทรวง ทั้งนี้ บริษัทยอมให้อุปกรณ์ดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงทันที และกระทรวงจะมอบให้บริษัทครอบครองไว้เพื่อใช้ดำเนินกิจการเช่นเดียวกับวรรคแรก และข้อ ๒๗ การใช้วงจรดาวเทียมโดยไม่เสียค่าตอบแทน บริษัทตกลงให้กระทรวงหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบใช้วงจรดาวเทียมแบบ Non Pre-emptible Transponder ของดาวเทียมที่บริษัทจัดตั้งขึ้นซึ่งใช้เป็นดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองในย่านความถี่ C-Band จำนวนหนึ่ง (๑) วงจรดาวเทียม (Transponder) ตลอดอายุสัญญานี้ โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใดๆ แก่บริษัท ทั้งนี้ กระทรวงส่วนราชการ หรือหน่วยงานดังกล่าวจะไม่นำวงจรดาวเทียมไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ทั้งไม่ปรากฏว่า กระทรวง ส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบมีสิทธิ์ที่จะใช้ในย่านความถี่ KU-Band ซึ่งได้ระบุไว้ในข้อ ๖ ในเรื่องคุณสมบัติของดาวเทียมด้วย นอกจากข้อกฏหมายดังกล่าวแล้ว ในส่วนของข้อเท็จจริงสำหรับกรณีการอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้ส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศเพื่อให้เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ นั้น ในการจัดส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศที่บริษัทเป็นผู้รับสัมปทานได้จัดสร้างและจัดส่ง โดยโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กระทรวงคมนาคมตามสัญญาสัมปทาน ปรากฏว่า วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๓๖ ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๑ วันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๓๗ ได้จัดส่งดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๒ และวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๔๐ ได้จัดส่งดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๓ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๔๒ แล้วกระทรวงคมนาคมซึ่งดูแลโครงการดาวเทียมอยู่ในขณะนั้นได้อนุมัติให้มีการจัดสร้างดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ที่จะจัดส่งขึ้นสู่อวกาศต่อไป คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ แต่เมื่อถึงกำหนดที่จะต้องจัดส่งขึ้นสู่อวกาศนั้นบริษัทผู้รับสัมปทานได้ขอเลื่อนกำหนดหลายครั้ง ซึ่งต่อมาบริษัทผู้รับสัมปทานก็ได้ขอแก้ข้อกำหนดทางด้านเทคนิค โดยขอเปลี่ยนคุณสมบัติของดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติแล้วก็ได้มีการจัดส่งดาวเทียมดวงนี้ขึ้นสู่อวกาศในวงโคจรเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๘ รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๔๒ ร.๔๔๓ ร.๕๑๐ ร.๕๑๙ ร.๕๒๑ ร.๕๒๒ และ ร.๕๑๘ ในเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศดังกล่าว ตามข้อกำหนดประกาศแข่งขันสัมปทานดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ได้กำหนดวัตถุประสงค์เพื่อใช้สำหรับการสื่อสารภายในประเทศไว้อย่างชัดเจน และกำหนดให้มีดาวเทียมหลักและระบบดาวเทียมสำรอง แต่ในส่วนของระบบดาวเทียมสำรองนั้นมิได้มีการระบุถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนว่าจะเป็นระบบเช่าหรือสร้างอยู่ที่พื้นโลกหรือส่งขึ้นบนอวกาศปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๙๐ ถึง ร.๔๙๒ ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาในขณะที่ยังมิได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ในฐานะประธานบริษัทชินคอร์ปในขณะนั้น ได้เข้าร่วมการแข่งขันรับสัมปทานกับเอกชนรายอื่นๆ และเสนอเงื่อนไขดีที่สุด กระทรวงคมนาคมจึงเชิญเข้าร่วมเจรจาเพิ่มเติมอีกหลายประเด็น รวมถึงประเด็นดาวเทียมสำรอง ซึ่งข้อเสนอเดิมในการยื่นแข่งขันเพื่อรับสัมปทานระยะเวลา ๓๐ ปี นั้น บางช่วงจะเป็นระบบเช่า โดยเช่าจากดาวเทียมประเทศอื่นเพื่อเป็นระบบสำรอง บางช่วงจะมีการสร้างไว้ที่ภาคพื้นดิน และอีกบางช่วงจะสร้างและส่งขึ้นสู่อวกาศ แต่เมื่อผู้ถูกกล่าวหาเข้าร่วมเจรจาด้วยตนเองในการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาข้อเสนอครั้งที่ ๙/๒๕๓๓ ในวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๓๓ ได้มีการเสนอเพิ่มเติมว่าจะลงทุนมากขึ้นโดยตลอดอายุสัญญา ๓๐ ปี จะสร้างและส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่อวกาศระยะเวลาห่างจากดาวเทียมดวงหลักไม่เกิน ๑๒ เดือน ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ร.๔๗๔ ซึ่งต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้ทำหนังสือที่ ชว.๐๐๑/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๓๔ และที่ ชว.๔๓๙/๒๕๓๔ ลงวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๓๔ เอกสารหมาย ร.๔๗๓ และ ร.๔๖๐ ตามลำดับ ยืนยันข้อเสนอเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ข้อเสนอดังกล่าวนั้นเป็นข้อเสนอที่ทำให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอคณะรัฐมนตรีจนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปได้รับสัมปทานและมีการลงนามในสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ โดยได้ระบุเกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานคุณสมบัติของดาวเทียม ระบบดาวเทียมสำรอง และการเปลี่ยนแปลงแผนการดำเนินงานนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงคมนาคมก่อน ตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๕ ข้อ ๖ และข้อ ๗ ของสัญญาสัมปทาน ส่วนการที่จะนำวงจรดาวเทียมที่เหลือใช้จากในประเทศไทยไปให้ต่างประเทศใช้บริการต้องอยู่ภายใต้ความเห็นชอบของกระทรวงคมนาคมตามที่ระบุไว้ในข้อ ๑๓ ของสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาหลักซึ่งจะมีเอกสารต่างๆแนบท้ายไว้ โดยเฉพาะแผนดำเนินการนั้นได้ระบุรายละเอียดไว้ว่า ตามระยะเวลาสัญญา ๓๐ ปี จะส่งดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรอง จำนวน ๒ ชุด แต่ละชุดมีดาวเทียม ๒ ดวง รวมมีดาวเทียมทั้งหมด ๔ ดวง ซึ่งดาวเทียมสำรองจะส่งขึ้นสู่อวกาศมีระยะเวลาห่างจากการส่งดาวเทียมหลักไม่เกินกำหนด ๑๒ เดือน สำหรับการที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์นั้นก็ได้ร้องขอโดยให้เป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม ปรากฏตามที่หนังสือ ช.ซ. (ส) ๐๑๐ ลงวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๔๕ แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์มีรายละเอียดทางเทคนิคที่ไม่เหมือนกับดาวเทียมไทยคม ๓ กระทรวงคมนาคมจึงมอบหมายให้กรมไปรษณีย์โทรเลขศึกษาข้อมูลทางเทคนิคของดาวเทียมไอพีสตาร์ กรมไปรษณีย์โทรเลขเห็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงหลักดวงใหม่ซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมสำรองที่จะจัดสร้างแทนดาวเทียมไทยคม ๔ แต่อย่างใด ปรากฏตามหนังสือที่ คค ๐๗๐๔ (ปว.)/๑๔๒๒๑ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ เอกสารหมาย ร.๕๑๔ เมื่อนำผลการศึกษาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการประสารงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่แต่งตั้งขึ้นตามสัญญาสัมปทานในคราวพิจารณาโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ ปรากฏตามรายงานการประชุมเอกสารหมาย ร.๕๑๓ ที่ประชุมได้มีมติว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่เช่นเดียวกับความเห็นของกรมไปรษณีย์โทรเลข แต่เมื่อมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ ปรากฏตามรายงานการประชุมว่ามีการขอแก้ไขมติครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ข้างต้น เป็นว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมดวงหลักหรือสำรอง มิใช่ประเด็นหลัก แต่ต้องมีการทำแผนสำรอง และคุณสมบัติของดาวเทียมไอพีสตาร์นั้นไม่ด้อยไปกว่าดาวเทียมดวงอื่นและเป็นไปตามสัญญาแล้ว ซึ่งเท่ากับมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงและ อนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองได้ตามที่บริษัทผู้รับสัมปทานร้องขอ และให้เสนอขออนุมัติโครงการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๕๑๕ ทั้งที่ยังไม่มีการรับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการประสานงานครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ ครั้นเมื่อมีการทำหนังสือเสนอขออนุมัติต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตามหนังสือ ที่ คค ๑๒๐๘/สนผ.๑๘๖๓ ลงวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาเป็นหัวหน้าพรรคก็ได้มีการอนุมัติ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๕๐๙ ทั้งนี้ เลขานุการคณะกรรมการประสานงานใช้วิธีทำหนังสือเวียนไปยังคณะกรรมการประสานงานปรากฏตามหนังสือ ที่ คค ๐๒๐๘/ว.๗๓๗๙ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เพื่อขอให้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ โดยเป็นการให้รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ ด้วยและกำหนดไว้ว่า ขอให้แก่ไขภายในวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๕ โดยมิได้มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อลงมติ พร้อมกันนี้ในวันเดียวกันนั้นกระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือแจ้งบริษัทไทยคม ว่าได้อนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์แล้ว ปรากฏตามหนังสือที่ คค ๐๒๐๘.๔/๗๓๗๙ ลงที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เอกสารหมาย ร.๕๑๐ เห็นว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ตามที่ปรากฏถึงพฤติการณ์ในการกระทำดังกล่าวเห็นได้ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการลัดขั้นตอนในการปฏิบัติราชการในลักษณะที่รวบรัดและรีบเร่งซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดปกติวิสัย ทั้งต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ บริษัทผู้รับสัมปทานรายนี้ก็ยังได้นำโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์มูลค่า ๑๖,๕๔๓,๐๐๐,๐๐๐ บาท ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมีผู้ถูกกล่าวหาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเป็นผู้พิจารณา โดยบริษัทเป็นผู้รับสัมปทานได้แนบรายงานศึกษาความเป็นไปได้ซึ่งระบุว่าได้มีการพัฒนาดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นครั้งแรกของโลก และได้มีการสร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมกับภาคพื้นดินสำหรับระบบอินเตอร์เน็ตในประเทศต่างๆ ๑๘ แห่ง มากกว่า ๑๔ ประเทศ โดยมีในประเทศไทย ๑ แห่ง และมีแผนการตลาดที่จะจำหน่ายในประเทศเพียงร้อยละ ๖ แต่จะจำหน่ายในต่างประเทศมีปริมาณสูงถึงร้อยละ ๙๔ ต่อมาวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗ บริษัทผู้รับสัมปทานได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนสำหรับโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ดังนั้น จากข้อเสนอของผู้ถูกกล่าวหาเองก่อนที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในฐานะตัวแทนบริษัทชินคอร์ปที่ยื่นแข่งขันเพื่อเข้ารับสัมปทาน รวมทั้งเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้รับสัมปทานด้วยวาจาและทำหนังสือยืนยันอย่างเป็นทางการว่าจะลงทุนเพิ่มขึ้นตลอดอายุสัญญา และจะส่งดาวเทียมสำรองขึ้นสู่วงโคจรเพื่อเป็นการสำรองดาวเทียมดวงหลักและมีระยะเวลาห่างจากดวงแรกไม่เกิน ๑๒ เดือน อยู่คู่กันเพื่อให้ใช้งานได้โดยต่อเนื่อง จึงได้ระบุระบบดาวเทียมสำรองไว้ในสัญญาสัมปทานข้อที่ ๕.๑.๔ ข้อ ๖ และ ข้อ ๗ ดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณย่านความถี่ ซี-แบน (C-band) จำนวน ๒๕ Transponder และ เคยู-แบน (Ku-band) ๑๔ Transponder โดยเฉพาะข้อ ๒๗ ได้ระบุให้ กระทรวงคมนาคม หรือส่วนราชการหรือหน่วยงานที่กระทรวงเห็นชอบใช้วงจรดาวเทียมหลักและดาวเทียมสำรองเฉพาะแต่ในย่านความถี่ ซี-แบน จำนวน ๑ วงจรดาวเทียม ได้ตลอดอายุสัญญาโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใดๆ แต่ปรากฏว่าดาวเทียมไอพีสตาร์มีคุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลกตามที่จดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ย่านความถี่ เคยู-แบน รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอร์ตบีม ๘๔ บีม เชพบีม ๓ บีม และบรอดคาสต์บีม ๗ บีม และใช้ย่านความถี่ เคเอ-แบนด์ ในการสื่อสารรับข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ ไม่มีย่านความถี่ ซี-แบน ที่จะให้กระทรวงคมนาคมใช้ จำนวน ๑ วงจรดาวเทียม ได้ตลอดอายุสัญญา โดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทน และไม่มีข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรเพื่อทดแทน ทั้งที่ดาวเทียมไทยคม ๓ ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณย่านความถี่ ซี-แบน และ เคยู-แบน จึงเห็นว่า ดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ดวงต่อดวงได้ด้วยเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ปรากฏว่ากรมไปรษณีย์โทรเลขได้พิจารณาคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์แล้วเห็นว่าเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ ไม่ใช่ดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ตามหนังสือที่ คค ๐๗๐๔ (ปว.)/๑๔๒๒๑ ลงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ หากดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่บริษัทไทยคมก็จะต้องจัดสร้างดาวเทียมสำรองดาวเทียมไอพีสตาร์อีก ๑ ดวง ตามสัญญาสัมปทานข้อ ๕.๑.๑ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับสร้างดาวเทียมไอพีสตาร์อีก ๑ ดวง ประกอบกับในคราวพิจารณาอนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ของคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ ๑/๒๕๔๕ วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๕ มีการลงมติว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่แต่ต่อมาได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการประชุมโดยอนุมัติให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามผลการประชุมของคณะกรรมการประสานงานตามสัญญาสัมปทาน ครั้งที่ ๒/๒๕๔๕ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๕ จึงขัดแย้งกัน ต่อมาได้มีการเสนอความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ทั้งที่ยังไม่ได้มีการรับรองรายงานการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมโดยนายวันมูหะมัด นอร์ มะทา ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทย ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ได้อนุมัติคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองตามที่เจ้าหน้าที่เสนอเมื่อวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ โดยปรากฏว่าในภายหลังได้มีการจัดทำหนังสือเวียนในคณะกรรมการประสานงานแต่ละคนรับรองรายงานการประชุมทั้ง ๒ ครั้ง เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๕ เช่นนี้เมื่อดาวเทียมไอพีสตาร์ไม่เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมหลัก คือ ดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ ทำให้ความมั่นคงในการสื่อสารดาวเทียมของชาติต้องเสียหายจากการที่ไม่มีดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ได้ทั้งดวงจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทำให้บริษัทผู้รับสัมปทาน คือ บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญาสัมปทาน โดยไม่มีภาระที่จะต้องใช้เงินทุนหรือระดมทุน โดยการกู้ยืมหรือเพิ่มทุนเพื่อนำเงินมามาลงทุนในการส่งดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นมูลค่าถึง ๔,000,000,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างดาวเทียมไทยคม ๓ ตามเอกสารการยื่นขอส่งเสริมการลงทุน และในทางกลับกันภาครัฐก็ต้องเสียหายจากการที่ไม่ได้รับมอบทรัพย์สินตามสัญญาสัมปทาน คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ มูลค่าถึง ๔,000,000,000 บาท เช่นกัน นอกจากนี้การอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นโครงการที่ให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลักดังที่ปรากฏจากคุณสมบัติดาวเทียมไอพีสตาร์ที่บริษัทผู้รับสัมปทานได้ยื่นประกอบการยื่นคำร้องขอรับการส่งเสริมการลงทุนปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๐๑ ที่ได้ระบุถึงแหล่งหารายได้ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อมุ่งหวังทางการค้าและรองรับการใช้งานอินเตอร์เน็ตสำหรับผู้ใช้งานในต่างประเทศ โดยได้มีการลงทุนสร้างอุปกรณ์เชื่อมต่อ (Gateway)ในประเทศต่างๆ ๑๘ แห่ง รวมกว่า ๑๔ ประเทศ โดยสร้างไว้ในประเทศไทยเพียง ๑ แห่ง เท่านั้น ส่วนแผนการจำหน่ายระบุไว้ว่าการจำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ แต่จำหน่ายในประเทศเพียงอัตราร้อยละ ๖ จึงเห็นได้ว่า ส่วนที่จำหน่ายในต่างประเทศถึงร้อยละ ๙๔ ดังกล่าวนั้นมิใช่ส่วนที่เหลือใช้จากอัตราร้อยละ ๖ ที่ใช้ในประเทศตามสัญญาสัมปทาน โดยส่วนที่ใช้ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่นั้นเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากส่วนที่ใช้ในประเทศ ดังนั้น ดาวเทียมไอพีสตาร์จึงเป็นดาวเทียมหลักที่จัดสร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารระหว่างประเทศเป็นหลัก มิได้สร้างขึ้นเพื่อการสื่อสารภายในประเทศตามวัตถุประสงค์ของสัญญาสัมปทาน และเป็นเรื่องที่อยู่นอกกรอบแห่งสัญญาที่ว่าจะใช้เพื่อเป็นดาวเทียมสำหรับสื่อสารภายในประเทศและหากเหลือใช้จึงจะให้ต่างประเทศใช้บริการได้ ตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขข้อกำหนดการเข้ารับสัมปทาน ซึ่งได้ระบุไว้ในบทนำและข้อ ๑๓ ของสัญญาสัมปทาน ทั้งพ้นระยะเวลาคุ้มครองสิทธิผูกขาดที่กระทรวงคมนาคมผู้ให้สัมปทานจะไม่ให้ภาคเอกชนรายอื่นเข้ามาดำเนินกิจการแข่งขันกับบริษัทผู้รับสัมปทานมีกำหนดระยะเวลา ๘ ปี ตามสัญญา ข้อ ๒ จึงต้องถือว่าเป็นโครงการใหม่ที่อยู่นอกกรอบของสัญญาสัมปทาน และจะต้องเปิดให้มีการประมูลแข่งขันโดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนเสนอโครงการใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรมทั้งในด้านการบริหารงานและอัตราการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐ ตามกระบวนการของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ ด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้นการที่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมได้ร้องขอและเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ควบคุม ตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาได้พิจารณาอนุมัติดาวเทียมไอพีสตาร์ว่าอยู่ในกรอบสัญญาสัมปทาน จึงเป็นการอนุมิติให้บริษัทไทยคมของผู้ถูกกล่าวหาได้สัมปทานดาวเทียมสื่อสารระหว่างประเทศไปโดยไม่ต้องมีการประมูลแข่งขันกัน ซึ่งหากมีการขอรับสัมปทานโดยเปิดให้มีการประมูลแข่งขันกันใหม่อย่างเสรีและเป็นธรรม โดยให้ผู้ประกอบการรายอื่นได้มีโอกาสยื่นข้อเสนอเพื่อแข่งขันกันก็จะมีมูลค่าโครงการเป็นเงินถึงจำนวน ๑๖,๕๔๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท เป็นรายได้เข้ารัฐ ดังนั้น ตามที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีผู้ถูกกล่าวหาเป็นประธานคณะกรรมการโดยตำแหน่งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๖ ได้อนุมัติคำขอส่งเสริมการลงทุนโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๙๘ การอนุมัติให้แก้ไขข้อกำหนดทางด้านเทคนิคของดาวเทียมสำรอง คือ ดาวเทียมไทยคม ๔ โดยอนุมัติให้เปลี่ยนคุณสมบัติเป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ซึ่งเป็นดาวเทียมหลักดวงใหม่ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า เป็นการเอื้อประโชยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม
ในส่วนการอนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้ง ๕)เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ โดยมีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคม จากที่บริษัทชินคอร์ปต้องมีสัดส่วนการถือครองหุ้นในบริษัทไทยคมเป็นจำนวนที่ไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ นั้น ในเบื้องต้นเห็นว่า ตามสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ครั้งที่ ๑) ข้อ ๑ ระบุว่า "บริษัท (บริษัทชินคอร์ป)ตกลงที่จะดำเนินการให้บริษัทใหม่(บริษัทไทยคม)ดำรงทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท และบริษัทจะต้องถือหุ้นในบริษัทใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ตลอดอายุสัญญาของสัญญาหลัก" การขออนุมัติแก้ไขสัญญาเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปต้องถือในบริษัทไทยคม จึงเป็นกรณีที่บริษัทชินคอร์ปต้องดำเนินการขออนุมัติเอง การที่บริษัทไทยคมยื่นหนังสือต่อกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคม และนำส่งข้อมูลด้านกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับบริษัทชินคอร์ปประสงค์จะลดสัดส่วนการถือหุ้น จนต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอนุมัติให้แก้ไขสัญญาแล้ว บริษัทชินคอร์ปซึ่งได้รับประโยชน์จากการอนุมัติให้แก้ไขสัญญาได้เข้าทำสัญญาแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ (ครั้งที่ ๕) ที่ยอมให้บริษัทชินคอร์ปถือหุ้นในบริษัทไทยคมไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ ของจำนวนหุ้นทั้งหมดเท่ากับบริษัทชินคอร์ปเชิดให้บริษัทไทยคมเป็นตัวแทน การที่บริษัทไทยคมขออนุมัติลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมจึงเป็นการกระทำในนามของบริษัทชินคอร์ปซึ่งเป็นตัวการ โดยที่ปรากฏว่ามีข้อกำหนดในสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร.๔๔๙ ข้อ ๔ การจัดตั้งบริษัทเข้าดำเนินงาน บริษัทจะต้องตั้งบริษัทใหม่ขึ้นเพื่อดำเนินงานตามสัญญานี้ โดยบริษัทต้องดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ให้เสร็จสิ้นภายในสิบสองเดือน นับจากวันเริ่มให้บริการวงจรดาวเทียมตามสัญญานี้ และให้อยู่ภายใต้เงื่อนไขต่อไปนี้ตลอดอายุสัญญาด้วย คือ ๔.๑ บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ต้องมีทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า หนึ่งพันล้านบาท ๔.๒ บริษัทจะต้องเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของจำนวนหุ้นทั้งหมด และ ๔.๓ บริษัทต้องดำเนินการให้บริษัทที่จัดตั้งใหม่รับผิดชอบตามสัญญาฉบับนี้ต่อกระทรวงร่วมกันและแทนกันกับบริษัท ซึ่งในเรื่องนี้ก็ได้ความว่า บริษัทที่ชินคอร์ปผู้รับสัมปทาน (ครั้งที่ ๑) เพื่อให้บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมรับผิดร่วมกันและแทนกัน โดยทำเป็นสัญญาสามฝ่ายโดยฝ่ายผู้รับสัมปทานมีบริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมได้ร่วมลงนามกัน ต่อมาบริษัทไทยคมได้ร้องขออนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทาน ให้เหตุผลว่าต้องใช้เงินลงทุนในโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นจำนวนสูงมากจึงจำเป็นที่จะต้องหาพันธมิตรเข้ามาเพื่อร่วมลงทุนจึงทำให้จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นปรากฏตามหนังสือที่ ชช(ส)๑๓๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๔๖ เอกสารหมาย ร. ๕๓๔ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งรับโอนงานจากกระทรวงคมนาคมตามกฏหมายปฏิรูประบบราชการได้ทำหนังสือหารือกรณีการขอแก้สัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ป ที่จะต้องถือหุ้นในบริษัทไทยคม ซึ่งสำนักอัยการสูงสุดได้ตอบหนังสือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโดยมีข้อสังเกตว่าเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาซึ่งเป็นสาระสำคัญของสัญญาอันเป็นที่มาของการอนุมัติสัมปทานโครงการนี้โดยคณะรัฐมนตรี จึงควรที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาก่อนลงนามในการแก้ไขสัญญา ปรากฏตามเอกสารหมาย ร. ๕๓๑ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้ทำหนังสือถึงสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเรื่องดังกล่าว แต่สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องคืน โดยแจ้งว่าไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ของเรื่องที่จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาประกอบกับคณะรัฐมนตรีมีนโยบายที่จะลดเรื่องที่จะเสนอ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๕๓๐ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีหนังสือหารือกรณีการส่งเรื่องคืนของสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานอัยการสูงสุดเห็นว่า เมื่อสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรีมีความเห็นว่าเรื่องนี้ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะเสนอคณะรัฐมนตรีดังข้อเสนอแนะของสำนักงานอัยการสูงสุด กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจึงมีดุลพินิจที่จะแก้ไขสัญญาได้ ปรากฏตามหนังสือ ที่ อส ๐๐๑๗/๑๖๕๒๒ ลงวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๗ ซึ่งในเรื่องดังกล่าวนี้ได้ความจากบันทึกถ้อยคำของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอยู่ในขณะนั้นที่ให้ไว้ต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๕๐ ว่า ได้เกี่ยวข้องกับกรณีดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยจำได้ว่ามีการทำบันทึกเสนอเจ้าหน้าที่ แต่ตนเองเห็นว่าไม่สมควรเนื่องจากสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่ทำกันขึ้นเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๔ นายกรัฐมนตรีเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ ประกอบกับบันทึกเสนอเรื่องไม่ชัดเจนว่าขออนุมัติอะไร จึงไม่มีการลงนามในบันทึกที่เจ้าหน้าที่เตรียมมาให้และถอนเรื่องคืนไป และว่ากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารไม่เคยมาชี้แจงด้วยวาจา และตนเห็นสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศมีนายกรัฐมนตรีเป็นคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐ จึงไม่เหมาะสมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเมื่อรัฐมนตรีโทรศัพท์มาตามเรื่องก็ได้อธิบายเหตุผลให้ฟังรายละเอียดปรากฏตามบันทึกทำให้การของพยานเอกสารหมาย ร. ๔๐๓ ต่อมาวันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๔๗ นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติแก้ไขสัญญาสัมปทานในเรื่องดังกล่าวปรากฏตามหนังสือ ที่ ทก.๐๒๐๔.๓/๘๑๖ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๔๗ โดยมีการลงนามแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕)เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ ตามปรากฏเอกสารหมาย ร.๕๒๙ โดยที่การแก้ไขสัญญาสัมปทานเพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัทไทยคมจากไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ นั้น ไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแต่อย่างใด เห็นว่า การที่มีกำหนดเรื่องการถือครองหุ้นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ไว้ในข้อ ๔ ของสัญญาสัมปทานนั้น เป็นนัยสำคัญประการหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้บริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาได้รับสัมปทานการอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานลดส่วนข้างต้นโดยนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งเป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ โดยที่ไม่ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ จึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบและการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปผู้รับสัมปทาน เนื่องจากกรณีที่บริษัทไทยคมทำการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินโครงการใดๆ โดยเฉพาะโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนสูงถึงจำนวน ๑๖,๕๔๓,๘๐๐,๐๐๐ บาท นั้นบริษัทชินคอร์ปของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคม จึงไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนร้อยละ ๕๑ ของตนเอง ดังจะเห็นได้ว่าในวันที่ ๗ มกราคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ บริษัทไทยคมได้ทำการเพิ่มทุน แต่บริษัทชินคอร์ปไม่ต้องซื้อหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้น ๘๔,๗๐๖,๘๐๑ หุ้น เป็นเงิน ๑,๒๙๖,๐๑๔,๐๕๕.๓๐ บาท แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการลงสัดส่วนการถือครองหุ้นลงประมาณร้อยละ ๑๑ ดังกล่าวย่อมเป็นผลให้บริษัทชินคอร์ปได้รับเงินทุนคืนจากการโอนขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปจำนวนดังกล่าวออกไปให้แก่ผู้ถือหุ้นกลุ่มอื่นด้วยทั้งการลดสัดส่วนดังกล่าวมีผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของบริษัทชินคอร์ปในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้ และต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริษัทไทยคมซึ่งเป็นผู้บริหารโครงการดาวเทียมตามสัญญาสัมปทาน แม้ว่าบริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมจะยังต้องร่วมกันรับผิดตามสัญญาสัมปทานอยู่ แต่การลดสัดส่วนการถือครองหุ้นดังกล่าวก็ย่อมที่จะมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นคงในการกำกับดูแล การประกอบกิจการโทรคมนาคมของรัฐ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากกว่า การอนุมัติให้ลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของบริษัทชินคอร์ปในบริษัทไทยคมจึงเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมผู้รับสัมปทานจากรัฐโดยไม่สมควร
สำหรับกรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม ๓ จำนวน ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศเมื่อดาวเทียมไทยคม ๓ เกิดเสียหายนั้น ปรากฏตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร. ๔๔๙ ข้อ ๒๕ การประกันภัยทรัพย์สินตลอดระยะเวลาที่สัญญายังมีผลบังคับอยู่ ซึ่งข้อ ๒๕.๑ บริษัทต้องเอาประกันภัยประเภทการคุ้มครองการเสี่ยงภัยทุกชนิดต่อทรัพย์สินในข้อ ๕ และทรัพย์สินเพิ่มเติมตามข้อ ๑๕ ที่บริษัทโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงแล้วเต็มมูลค่าของทรัพย์สินนั้นๆ โดยเอาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยและเงื่อนไขการประกันที่ผู้ประกอบธุรกิจดาวเทียมในลักษณะเดียวกันใช้อยู่ โดยให้กระทรวงเป็นผู้รับประโยชน์ร่วม และบริษัทเป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆข้อ ๒๕.๒ ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยตามวรรคแรกหรือที่เพิ่มเติมให้กระทรวงภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่บริษัทเอาประกันภัยในแต่ละปีหรือวันที่เอาประกันเพิ่มเติมแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ กระทรวงยินยอมให้บริษัทเป็นผู้เจรจาต่อรองค่าเสียหายและความรับผิดของผู้รับประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวโดยความเห็นชอบของกระทรวง และบริษัทจะต้องแจ้งผลการเจรจาให้กระทรวงทราบเป็นระยะโดยทันที และข้อ ๓๗ การจัดการทรัพย์สินที่สูญหายและเสียหายหรือสูญหาย เมื่อเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินตามข้อ ๕ หรือข้อ ๑๕ หรือทรัพย์สินดังกล่าวสูญหายไป บริษัทจะต้องรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันที เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงจะมอบเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยตามข้อ ๒๕ ให้บริษัท และถ้าค่าซ่อมแซมหรือราคาทรัพย์สินที่จัดหามีราคาสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทน บริษัทตกลงเป็นผู้รับผิดชอบเงินจำนวนที่เพิ้มขึ้นนั้นทั้งหมด วรรคสอง ในกรณีจัดหาทรัพย์สินทดแทน ให้นำความในข้อ ๑๕ ในเรื่องการโอนกรรมสิทธิ์และการส่งมอบรับมอบทรัพย์สินมาใช้บังคับในกรณีนี้ด้วย และวรรคสาม การจัดหาทรัพย์สินทดแทนดังกล่าวในวรรคแรก บริษัทต้องจัดหาทรัพย์สินทดแทนให้สามารถดำเนินการตามสัญญาได้โดยต่อเนื่อง แม้บริษัทจะพิจารณาเห็นว่าการลงทุนจัดหาทรัพย์สินทดแทนดังกล่าวผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินงานตามสัญญาที่เหลืออยู่จะไม่คุ้มกับการลงทุนก็ตาม ซึ่งบริษัทอาจเสนอว่าขอให้กระทรวงพิจารณาขยายเวลาสัญญาออกไป นอกจากข้อสัญญาที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว ในส่วนข้อเท็จจริงนั้นก็ปรากฏว่า ในคราวที่บริษัทไทยคมได้ร้องขอเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของดาวเทียมไทยคม ๔ เป็นดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยร้องขอเป็นดาวเทียมสำรองเช่นเดิม และได้รับการอนุมัติในวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๔๕ ซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นสู่อวกาศในปี ๒๕๔๗ นั้น ก็ได้มีการอนุมัติแผนสำรองของดาวเทียมไทยคม ๓ ด้วย หากเกิดกรณีเสียหาย ครั้นในวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ได้เกิดเหตุดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายขัดข้องเกี่ยวกับระบบพลังงานบางส่วน ต่อมาบริษัทไทยคมได้เจรจากับบริษัทประกันภัย ปรากฏว่าดาวเทียมไทยคม ๓ เสียหายเป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีบางส่วนใช้งานได้ และได้มีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้วได้รับเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐ โดยบริษัทไทยคมได้ขออนุมัติสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทน ปรากฏตามหนังสือ ที่ ชช(ส) ๐๖๕/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๗ กรกฏาคม ๒๕๔๖ และต่อมาได้ร้องขออนุมัตินำเงินประมาณ ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมจากต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนไทยคม ๓ พร้อมทั้งใช้เป็นช่องสัญญาณสำรอง ปรากฏตามหนังสือ ที่ ชช(ส)๗๑/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติให้บริษัทไทยคมนำเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน ๖,๗๖๕,๒๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ไปเช่าช่องสัญญาณต่างประเทศเพื่อทดแทนและสำรอง และอีกส่วนจำนวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนชื่อว่า ดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R โดยหากค่าสร้างสูงกว่า ให้บริษัทไทยคมรับผิดชอบในส่วนต่างที่เพิ่มขึ้น นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้อนุมัติในเรื่องดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือ ที่ อช ๔๐๙/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๖ ต่อมาบริษัทไทยคมแจ้งว่าจะได้รับเงินสินไหมทดแทน จำนวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะต้องลงนามในหนังสือรีลิสแอนด์ดิสชาร์จ (Release&Discharge) เพื่อปลดภาระผูกพันให้แก่บริษัทประกันภัย และเปิดบัญชีเอสโคร แอคเคาท์ (Escrow Account)กับธนาคารที่ประเทศสิงคโปร์เพื่อรับเงินค่าสินไหมทดแทนเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐข้างต้น นายสุรพงศ์ สืบวงศ์ลี ได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมร้องขอเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ปรากฏตามหนังสือ ที่ อช ๔๒๓/๒๕๔๖ ลงวันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ บริษัทไทยคมได้นำหลักฐานการสร้างดาวเทียมดวงใหม่มาเบิกใช้เงินจากบัญชีเอสโคร แอคเคาท์ เพื่อนำไปสร้างดาวเทียมไทยคม ๕ หรือ ๓ R จนกระทั่งขึ้นสู่วงโคจรเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ ซึ่งค่าสร้างมากกว่าค่าสินไหมทดแทน จำนวน ๒๖,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐนั้น บริษัทไทยคมได้นำหลักฐานไปเบิกใช้เงินดังกล่าวแต่ยังไม่หมด โดยในปัจจุบันยังมียอดเงินคงเหลือค้างอยู่ในบัญชีเอสโคร์ แอคเคาท์ ที่ประเทศสิงคโปร์ประมาณ ๑,๘๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ เห็นว่า ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการกรณีที่เกิดความเสียหายแก่ดาวเทียมและอุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น ตามสัญญาสัมปทานเอกสารหมาย ร.๔๔๙ ข้อ ๓๗ ได้กำหนดให้บริษัทผู้รับสัมปทานรีบซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายหรือจัดหาทรัพย์สินทดแทนทรัพย์สินที่สูญหายโดยทันทีเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และกระทรวงผู้ให้สัมปาทานก็จะมอบเงินค่าสินไหมทดแทนที่ได้รับจากบริษัทประกันภัยให้ และถ้าค่าซ่อมแซมหรือราคาทรัพย์สินที่จัดหามีราคาสูงกว่าเงินค่าสินไหมทดแทน บริษัทผู้รับสัมปทานตกลงเป็นผู้รับผิดชอบจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมด ดังนั้น เมื่อพิจารณาถึงข้อสัมปทาน ข้อ ๓๗ ดังกล่าว กรณีที่เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ซึ่งกรณีนี้ก็คือดาวเทียมไทยคม ๓ ถ้าเกิดความเสียหายบางส่วน บริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องดำเนินการซ่อมแซม แล้วจึงมารับค่าสินไหมทดแทนจากทางกระทรวงผู้ให้สัมปทาน แต่ถ้าเกิดความเสียหายทั้งดวงจนไม่สามารถที่จะใช้งานหรือดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง บริษัทผู้รับสัมปทานาจะต้องจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นทดแทน แล้วจึงรับค่าสินไหมทดแทนจากทางกระทรวงผู้ให้สัมปทาน ทั้งนี้หากค่าซ่อมแซมหรือราคาดาวเทียมดวงใหม่มีราคาสูงกว่าจำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนทางบริษัทผู้รับสัมปทานจะต้องรับผิดชอบในจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นทั้งหมดตามข้อสัญญาดังกล่าว การที่มีการอนุมัติให้บริษัทผู้รับสัมปทานนำวงเงินบางส่วน จำนวน ๖,๗๖๕,๑๙๙ ดอลลาร์สหรัฐ ที่ได้รับจากค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศ เพื่อใช้ทดแทนช่องสัญญาณเดิมและใช้เป็นสำรอง จึงขัดต่อสัญญาสัมปทานเนื่องจากบริษัทไทยคมทำผิดสัญญาไม่มีดาวเทียมสำรองไทยคม ๓ มาโดยตลอด และบริษัทไทยคมผู้รับสัมปทานจะต้องเป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินการให้มีดาวเทียมใช้ได้อย่างพอเพียงและโดยต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีสิทธินำเงินไปช่วยเช่าช่องสัญญาณดาวเทียมต่างประเทศ แต่ต้องนำเงินค่าสินไหมทั้งหมดจำนวน ๓๓,๐๒๘,๙๖๐ ดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับไปสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล ควบคุมตรวจสอบของผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติตามที่บริษัทไทยคมผู้รับสัมปทานร้องขอ การอนุมัติให้นำเงินบางส่วนที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เกิดความเสียหายดังกล่าวไปเช่าดาวเทียมของต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทน และใช้สำรองจึงเป็นการอนุมัติที่ไม่ชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคม และบริษัทชินคอร์ป เพราะในช่วงเวลานั้นบริษัทไทยคมคงไม่ต้องใช้เงินทุนของตนเอง หรือไม่ต้องระดมทุน โดยกู้ยืมเงินหรือดำเนินการเพิ่มทุนเพื่อดำเนินการซ่อมแซมดาวเทียมไทยคม ๓ หรือจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ตามสัญญาสัมปทาน แล้วยกกรรมสิทธ์ให้กระทรวงผู้ให้สัมปทาน ในทางกลับกันยังทำให้เกิดความเสียหายแก่ภาครัฐ เนื่องจากทรัพย์สินที่ทำประกันภัยเป็นของรัฐ ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวรัฐจะต้องเป็นผู้ควบคุมดูแล และคงไว้เป็นหลักประกันความมั่นคง หากเกิดกรณีไม่สามารถซ่อมแซมหรือจัดหาสินทรัพย์ทดแทนเพื่อใช้ดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องสร้างดาวเทียมดวงใหม่ทดแทนตามสัญญาของสัมปทานโดยตรงได้ประโยชน์จากการไม่ต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน หรือกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุนในโครงการดาวเทียมไทยคม ๔ เพื่อใช้เป็นสำรองดาวเทียมไทยคม ๓ มูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท จากการไม่ต้องดำเนินกระบวนการสัมปทานใหม่จากโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์มูลค่า ๑๖,๔๕๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินงานกิจการของภาครัฐ พ.ศ.๒๕๓๕ จากการที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้จากกำไรเป็นเวลา ๘ ปี มูลค่าไม่เกิน ๑๖,๔๕๙,๐๐๐,๐๐๐ บาทจากการไม้ต้องจัดสร้างดาวเทียมสำรองดาวเทียมไอพีสตาร์อีก ๑ ดวง จากการไม่ต้องใช้เงินทุน หรือระดมทุน หรือกู้ยืมเงินมาเพื่อรักษาสัดส่วนที่บริษัทชินคอร์ปจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ ๕๑ ในบริทไทยคมโดยการแก้ไขสัญญาสัมปทาน (ครั้งที่ ๕)ให้คงเหลือสัดส่วนที่จะต้องถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ ๔๐ และจากการไม่ต้องซ่อมแซมหรือจัดหาดาวเทียมมาทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เสียหาย ซึ่งเมื่อซ่อมแซมและจัดหามาทดแทนแล้วจะต้องตกลงเป็นทรัพย์สินของรัฐตามสัมปทาน แต่ได้นำเงินค่าสินไหมทดแทนที่กระทรวงคมนาคมได้รับจากบริษัทประกันภัยไปใช้ในการเช่าดาวเทียมต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม ๓ ที่เสียหาย จำนวนเงิน ๒๖๘,๐๐๐,๐๐๐บาท ซึ่งบริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมผู้ได้รับสัญญาดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศจากรัฐโดยตรง และมีภาระต้องรับผิดร่วมกันและแทนกัน องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยสียงข้างมากว่า เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคม
กรณีอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ซึ่งเรื่องนี้มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า การดำเนินการให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้วงเงินกู้ยืมแก่สหภาพพม่าดังกล่าวนี้เป็นไปโดบยชอบ และเป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทไทยคมหรือไม่ ข้อนี้ปรากกข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการที่ผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีได้รับบริหารราชการในเรื่องความสำพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งผู้บริหารประเทศจะต้องดำเนินการบริหารราชการแผ่นดินไปเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวมแต่เพียงอย่างเดียว โดยผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่ดำเนินการไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนด้วย แต่ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนพยานหลักฐานกลับปรากฎถึงพฤติการณ์ต่างๆ ของผู้ถูกกล่าวหาและผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นลำดับมาตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้ เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๔๖ เอกอัคราชฑูตสหภาพพม่าประจำประเทศไทยได้นำส่งหนังสือจากนายวิน อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศพม่า ถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอให้ประเทศไทยพิจรณาสินเชื่อจำนวน ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทแก่รัฐบาลสหภาพพม่า เพื่อการก่อสร้างโครงการขึ้นพื้นฐานปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๕๖๐ หน้า ๑๖๘๖๘ ถึง ๑๖๘๗๓ แต่ระหว่างการพิจรณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว กระทรวงการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติสหภาพพม่าได้มีหนังสือลงวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ถึง สถานเอกอัคราชฑูตไทย แจ้งว่ากระทรวงสื่อสารและไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่ามีโครงการจะพัฒนาการให้บริการระบบโทรคมนาคมในเขตชนบท และพื้นที่ห่างไกลโดยการใช้ Boradband Satellite Terminails และระบบ Fibre Optic Cable จึงขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในลักษณะเงินกู้ผ่อนปรน(Soft loan)มูลค่า ๒๓,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาห์สหรัฐ ปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๔๖๕ หน้า ๑๖๙๐๒ ถึง ๑๖๙๐๕ ต่อมากระทรวงการคลังได้เสนอเรื่องดังกล่าวในฐานะรัฐมนตรีพิจารณาและคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ เห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้เงินกู้ในการซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศแก่รัฐบาลสหภาพพม่าในวงเงิน ๔,๐๐๐ ล้านบาท ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ จากนั้นวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๔๗ จึงมีการทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กับธนาคารการค้าต่างประเทศทีสหภาพพม่า โดยกระทรวงการคลังและรัษฎากรแห่งสหภาพพม่าเป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๕๘๖ถึง๕๘๙ ถึง ๑๗๒๒๘ ในการรับเงินตามสัญญาเงินกู้ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ส่งคำขอรับบริการให้สินเชื่อพร้อมสัญญาจัดซื้อจัดจ้างสินค้าทุนหรือบริการให้แก่ผู้พิจรณาอนุมัติก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๔๗ ธนาคารการค้าต่างประเทศสหภาพพม่าก็ได้ส่งคำขอรับการให้สินเชื่อพร้อมสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง ลงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ระหว่างกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขสหภาพพม่า กับบริษัทไทยคม ใธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเพื่อพิจรณาอนุมัติสินเชื่อบางส่วนจำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้อนุมัติคำขอดังกล่าวให้แจ้งกับธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าทราบเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๔๗ ปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๕๙๐ และ ร.๕๙๑ หน้า ๑๗๒๒๙ ถึง ๑๗๒๔๗ ต่อมาธนาคารการค้าต่งประเทศแห่งสหภาพพม่ามีหนังสือลงวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ แจ้งการโอนสิทธิรับเงินของบริษัทไทยคมให้แก่บริษัทฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้จ่ายเงินสินเชื่อให้ธนาคารการค้าต่างประเทศแห่งสหภาพพม่าโดยจ่ายตรงให้แก่บริษัทไทยคม จำนวน ๕,๔๒๒,๗๓๓.๐๓ ดอลลลาร์สหรัฐ และให้แก่บริษัทฮาตาริ ไวร์เลส จำกัด จำนวน ๕,๕๗๗,๒๖๖.๙๗ ดอลลลาร์สหรัฐปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๕๙๒ ถึง ร.๕๙๖ หน้า ๑๗๒๔๘ ถึง ๑๗๒๗๑ เห็นว่าการดำเนินงานเรื่องนี้เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายด้านการต่างประเทศของรัฐบาลในสมัยแรกที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรับมนตรี โดยผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสพบและหารือข้อราชการกับผู้นำของสหภาพพม่าหลายครั้ง โดยระหว่างวันที่ ๑๙ ถึง ๒๐ มิถุนายน ๒๕๔๔ผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางเยื่อยสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการตามคำเชิญของพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐและนายกรัฐมนตรีสหภาพม่า ซึ่งได้พบและหารือข้อราชการกับพลโท ขิ่น ยุ้น เลขาธิการสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ ต่อมาระหว่างวันที่ ๙ ถึง ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาได้เดินทางเยือนสภาพพม่าอีกครั้ง ซึ่งก็ได้พบและหารือข้อราชการกับ พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย และพลโท ขิ่น ยุ้น โดยปราศจากเอกสารหมาย ร.๕๕๘ และ ร.๕๕๙ หน้า ๑๖๘๒๐ ถึง ๑๖๘๕๙ ว่าทั้งสองฝ่ายได้หารือและเสนอความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนสหภาพพม่าเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติต ทั้งด้านการพัมนาโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุน การตลาด และความร่วมมือทางวิชาการ ต่อมาระหว่างวันที่ ๖ ถึง ๘ ตุลาคม ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาได้พบ และหารือกับนายกรัฐมนตรีสหภาพพม่าได้มีหนังสือถึงนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เพื่อขอวงเงินสินเชื่อจำนวน ๓,๐๐๐ ล้านบาท ในการซื้อเครืองจักรกลการก่อสร้างและวสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ปรากฎจากเอกสารหมาย ร.๕๖๐ ซึ่งนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายอภิชาติ ชินวรรณโณ อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกกระทรวงการต่างประเทศ และนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยในขณะนั้นได้ให้เจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องพิจรณาคำขอของรัฐบาลสหภาพพม่า ในระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ได้มีการจัดการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจขึ้นที่กรุงย่างกุ้ง และเมืองพุกามสหภาพพม่า ปรากฎผลการประชุมได้มีการทำปฎิญญาพุกามว่าด้วยยุธทศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษรฐกิจระหว่างประเทศไทย กัมพูชา สหภาพพม่า และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวโดยประเทศทั้งสี่ จะให้ความร่วมมือกันในการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน ด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกกรม การเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมในภูมิภาค การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ปรากฎตามเอกสารหมาย ร.๕๖๓ และ ร.๕๖๔ ซึ่งการให้ความช่วยเหลือแก่สหภาพพม่า ตลอดจนการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งสี่ด้านดังกล่าวนั้น มิได้ระบุถึงการ พัฒนาระบบคมนาคม โดยที่รัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอวงเงินสินเชื่อจากรัฐบาลไทยในครั้งแรกก็ด้วยความประสงค์ที่จะใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนาด้านการคมนาคม ซึ่งอยู่ในกรอบความร่วมมือที่ประเทศไทยเคยเสนอในชั้นผู้ถูกกล่าวหาเดินทางไปเยือยสหภาพพม่าใน ๒ ครั้งแรก และข้อตกลงร่วมกันตามปฎิญญาพุกามว่าด้วยยุทธศาสตร์และความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย และนายอภิชาติชินวรรณโณ เบิกความประกอบเอกสารหมาย ร.๕๖๙ ใน ร.๕๗๖ ได้ความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อรัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอวงเงินสินเชื่อเพื่อพัฒนาระบบคมนาคม กรมเอเชียตะวันออกได้พิจรณาและเสนอรายงานพร้อมข้อคิดเห็นทั้งข้อดีและข้อเสียไว้ ซึ่งปรากฎข้อเสียในเรื่องที่อาจจะมีข้อครหาว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการนี้ และเมื่อระหว่างวันที่ ๗ ถึง ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ได้มีการพบปะหารือข้อราชการแบบทวิภาคีในการประชุมรัฐมนตรีซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดภูเก็ต นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยยังได้แจ้งเรื่องที่อาจจะมีข้อขรหาว่าผู้ถูกกวล่าวหาว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไทยมี ผลประโยชน์เกี่ยวข้องในกรณีนายวิน อ่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหภาพพม่าทราบ และขอให้โครงการดังกล่าวอยู่ในวงเงินสินเชื่อ ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แม้จะปรากฎในหน้งสือโต้ตอบระหว่างหน่วยงานภายในของประเทศไทยเอง และที่มีไปยังหน่วยงานของรัฐบาลสหภาพพม่า รวมทั้งที่มีปรากฎในรายการประชุมรัฐมนตรีในการพิจรณาให้ความเห็นชอบการให้วงเงินกู้สินเชื่อแก่รัฐบาลสหภาพพม่าว่าเป็นการให้วงเงินสินเชื่อเพื่อซื้อเครื่องจักรและพัฒนาประเทศ แต่ก็ยังไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการดำเนินการเรื่องนี้เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากการขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมการพัฒนาระบบโทรคมนาคมตามที่รัฐบาลสหภาพพม่าร้องขอและติดตามสอบถามความคืบหน้าเป็ฯระยะ ตลอดมา การระบุวัตถุประสงค์ของการใช้เงินสินเชื่อว่าเพื่อซื้อเครื่องจักร และพัฒนาประเทศมีลักษณะเป้นทำนองหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่าเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมอันอาจจะทำให้เกิดข้อครหาแก่ผู้ถูกกล่าวหาตามที่กรมเอเชียตะวันออกเสนอรายงานไว้ดังกล่าว ดังนั้นการพิจรณาและอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าในครั้งนี้ นอกจากจะไม่เป็นไปตามกรอบความร่วมมือของทุกเรื่องดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า เป็นการดำเนินงานที่มีผลต่อผลประโยชน์การประกอบธุรกิจของบริษัทไทยคม ซึ่งได้ความจากนายณัฐพงษ์ เต็มศิริพงศ์ และนายเผด็จ ว่องพยาบาล พนักงานของบริษัทไทยคมเบิกความต่อศาลว่า บริษัทไทยคมได้ไป ประกอบกิจการด้านโทรคมนาคมในสหภาพพม่ามาก่อนแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๑ และในการประชุมระดับผู้นำว่าด้านยุธทศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม เจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมและบริษัทเอไอเอสยังได้สาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียมแข่งกับบริษัทต่างชาติ และได้รับคำชมเชยจากกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสภาพพม่าจนได้กระทั่งมีการทำสัญญา Roaming Agreement กับกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่า และบริษัทไทยคมผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากสหภาพพม่าในการขยายการให้บริการโทรศัพท์มาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๖ แล้วและปรากฎต่อมาจากเอกสารหมาย ร.๕๖๕ ถึง ร.๕๖๘ ว่าหลังจากมีการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกกามแล้ว รัฐบาลสหภาพพม่าโดยกรมความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจต่างประเทศ กระทรวงการวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติได้มีหนังสือขอรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยเพื่อใช้เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบโทรคมนาคม และหลังจากมีการเจรจาหรรือกันแล้ว กระทรวงการต่างประเทศสหภาพพม่าได้แจ้งโครงการที่จำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพการบริการโทรคมนาคม ได้แก้แผนพัฒนาโทรคมนาคมสหภาพพม่าผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตด้วยสัญญานดาวเทียม (Broadband Satellite) โครงการการส่งสัญญาณทั่วประเทศของสหภาพพม่า โดยแบ่งเป็นระบบใยแก้วนำแสง ๑,๕๐๐ กิโลเมตร และโครงการพัฒนาเทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารสหภาพม่า ซึ่งยังมีบริษัทไทยคมเป็นผู้จัดหาที่มีสิทธิได้รับเลือกในทุกโครงการ โดยจัดหาอุปกรณ์ Broadband Satellite และอุปกรณ์เพิ่มเติม เป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมและเทคนิคในสองโครงการหลัง อันแดสงให้เห็นว่าบริษัทไทยคมได้มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการนี้มาตั้งแต่ต้นแล้ว ส่วนข้อที่ผู้กล่าวหาอ้างว่าบริษัทไทยคมขายสินค้าค้าให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าตามพันธะสัญญาที่มีต่อกันมาตั้งแต่เดิม และเป็นการซื้อขายกันตามปกติ ไม่ว่าจะได้รับสินเชื่อหรือไม่ รับบาลสหภาพพม่าก็จำเป็นต้องซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นประจำอยู่แล้วนั้น เห็นว่าการประชุมระดับผู้นำระหว่างวันที่ ๑๐ ถึง ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ผู้ถูกกล่าวหาได้อนุมัติให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ร่วมเดินทางเป็นคณะทางการด้วยระหว่างการประชุมยังมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคม จำนวน๘ คน และบริษัทเอไอเอส จำนวน ๒คน เข้าทำการสาธิตระบบเคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียม ต่อมาทางสหภาพพม่าได้มีหนังสือวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงสถานเอกอัคราชฑูตไทยเสนอโครงการพัฒนาระบบโทรคมนาคมในเขตชนบทและพื้นที่ห่างไกลของกระทรวงสื่อสารไปรษณีย์และโทรเลขแห่งสหภาพพม่า และขอรับความช่วยเหลือจากไทยมูลค่า ๒๕.๐๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสหภาพพม่าได้มีหนังสือลงวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ขอเพิ่มวงเงินกู้สินเชื่อจาก ๓,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท เป็น ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาทและมีหนังสือลงวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ติดตามผลรวมทั้งการขอลดดอกเบี้ยซึ่งผู้ถูกกล่าวหาสั่งการต่อ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ให้แจ้งไปว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งการว่าให้เพิ่มเป็น ๕,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยจะให้การอุดหนุนชดเชยในส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยด้วย และภายหลังที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจรณาจากการประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๔๗ และวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๗ ในวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๔๗ ได้มีการประชุมร่วมระหว่างนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศและหน่วยงานที่ เกี่ยวข้องได้ข้อสรุปเกี่ยวกับวงเงินสินเชื่อ ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่สหภาพพม่าโดยลดอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ ๕.๗๕ เป็นอัตราร้อยละ ๓ ต่อปี ปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้น ๒ ปี ซึ่งคณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยมีมติอนุมัติวงเงิน จำนวน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท แก่สหภาพพม่าตามเงื่อนไขดังกล่าว แต่ต่อมาฝ่ายสหภาพพม่าได้ขอให้ปลอดการชำระหนี้การจ่ายเงินต้นเป็น ๕ ปี ซึ่งผู้ถูกล่าวหาเห็นชอบ คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจึงต้องมีมติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเป็นระยะเวลากู้ ๑๒ ปี ๕ ปี แรกชำระเฉพาะดอกเบี้ย สำหรับ ๗ ปีที่เหลือชำระเงินต้นและดอกเบี้ย โดยที่การอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อมูลค่า ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามเงื่อนไขดังกล่าว เป็นการให้กู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน ซึ่งไม่ใช่วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๓๖ การให้กู้ดังกล่าวจะเกิดความเสียหายแก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จึงต้องขอคุ้มครองความเสียหายตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ผู้ถูกกล่าวหายังสั่งการให้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ให้เงินกู้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า ในวงเงิน ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท หากได้รับความเสียหายให้กระทรวงการคลังจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยแก่ธนาคารตามจำนวนที่เสียหาย และให้ชดเชยส่วนต่างดอกเบี้ยที่ได้รับจากรัฐบาลสหภาพพม่ากับต้นทุนดอกเบี้ยของธนาคาร และกระทรวงการคลังได้รับความเสียหายที่จะต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีชดเชยความเสียหายแก่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ ๒๕๔๙ และปีงบประมาณ ๒๕๕๐ รวมเป็นเงินจำนวน ๑๔๐,๓๔๙,๖๐๐ บาท การขอวงเงินกู้สินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมเพิ่งเกิดขึ้นหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมระดับผู้นำว่าด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่กรุงย่างกุ้งและเมืองพุกาม ซึ่งเจ้าหน้าที่ของบริษัทไทยคมและบริษัทเอไอเอสได้ไปสาธิตระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ GSM ผ่านดาวเทียมในการประชุมด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า การขอวงเงินสินเชื่อเพิ่มเติมมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อสินค้าและบริการจากไทยคมนั่นเอง ส่วนที่ได้ความว่า มีการใช้เงินที่ได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อไปซื้อสินค้าต่าง ๆ จากผู้ประกอบการอื่นในประเทศไทยอีกหลายราย ก็ไม่อาจรับฟังหักล้างข้อที่ว่าบริษัทไทยคมจะได้รับประโยชน์จากการดำเนินการกรณีนี้ได้ และที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างว่าการจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อหรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การพิจารณาและดุลพินิจของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยนั้น เห็นว่า ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๓๖ และอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จัดเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ปฎิบัติตามนโยบายรัฐบาล ในการพิจารณาและอนุมัตวงเงินสินเชื่อให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่าครั้งนี้ก็ได้ความจากนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยาและนายสถาพร ชินะจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยว่า เป็นการดำเนินการไปตามนโยบายรัฐบาล และโดยที่การให้สินเชื่อดังกล่าวได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในอัตราที่ต่ำซึ่งก่อให้เกิดความเสียหาย จึงต้องขอให้กระทรวงการคลังจัดสรรเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชดเชยความเสียหาย ซึ่งเห็นได้ว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะสำหรับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยมิได้รับการชดเชยในส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของธนาคารอีกด้วย ส่วนที่ผู้ถูกกล่าวหากล่าวอ้างว่า การดำเนินการกรณีนี้พิจารณาถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติและการดำเนินการเป็นผลให้บริษัท ปตท.สผ.จำกัด(มหาชน)ได้รับสัมปทานบ่อแก๊สธรรมชาติที่สหภาพพม่านั้น เป็นการนำเอาเรื่องที่มิได้เกี่ยวข้องกันมากล่าวอ้าง ดังนั้น เมื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คู่สมรสยังคงถือหุ้นรายใหญ่อยู่อย่างแท้จริงในบริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ปจึงเป็นผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกัน บริษัทชินคอร์ปเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทไทยคมโดยมีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ถึงกว่าร้อยละ ๕๑ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๕๙๙ กรณีจึงเป็นการไม่สมควรที่จะอนุมัติวงเงินกู้สินเชื่อเพิ่มเติมให้แก่รัฐบาลสหภาพพม่า องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า การดำเนินการในกรณีนี้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทไทยคมและบริษัทชินคอร์ป
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า การดำเนินการทั้งห้ากรณีดังกล่าวเป็นผลจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ เห็นว่า ในช่วงเวลาที่มีการดำเนินการทั้งห้ากรณีตามคำร้องนั้น ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินร่วมกับรัฐมนตรีอื่นตามบทบัญญัติธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่แถลงต่อรัฐสภา และจะต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๒๐๑ และมาตรา ๒๐๒ ในการบริหารราชการแผ่นดินมีพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น ๓ ส่วน ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น โดยความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีอำนาจกำกับโดยทั่วไปซึ่งการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจสั่งให้ราชการ ส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และส่วนราชการซึ่งมีหน้าที่ควบคุมราชการส่วนท้องถิ่น ชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการ ในกรณีที่จำเป็นจะยับยั้งการปฏิบัติราชการใดๆ ที่ขัดต่อนโยบายหรือมติคณะรัฐมนตรีก็ได้ มีอำนาจสั่งสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น มีอำนาจบังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งซึ่งสังกัดกระทรวง ทบวง กรม และส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นในการปฏิบัติตามนโยบาย ส่วนการจัดระเบียบราชการในกระทรวงต่างๆ มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงไว้ต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ แต่มีข้อจำกัดว่าอำนวจดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๑๑ กล่าวคือต้องไม่เป็นการขัดหรืออแย้งหรือลดทอนอำนาจที่มีอยู่ของนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้บทบัญญัติมาตรา ๒๑๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ในการให้รัฐมนตรีพ้นจากการเป็นรัฐมนตรี แสดงให้เห็นถึงอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการบริหารราชการแผ่นดินว่ามีขอบเขตกว้างขวางมากโดยมีอำนาจเหนือข้าราชการฝ่ายบริหารทุกตำแหน่งในทุกกระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจต่างๆซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทบวงต่างๆเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารราชการ กำกับ ดูแล กระทรวง ทบวงและรัฐวิสาหกิจนั้นๆ โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจกำกับดูแลตามลำดับชั้นผ่านทางรัฐมนตรี หรือโดยเข้าเป็นประธานกรรมการเสียเองในบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ในส่วนของ ทศท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดนั้น ปรากฎตามประกาศบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เรื่องโครงสร้างองค์กร สายการบังคับบัญชา อำนาจหน้าที่ และสถานที่ติดต่อ ซึ่งประกาศ ณ วันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ ว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๕ อนุมัติให้แปลงสภาพองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) เมื่อวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยยังคงให้มีอำนาจและสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย และปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง แต่งตั้งกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน) ว่า กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทนี้ และกระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งกรรมการ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ โดยให้ถือว่าความเห็นของกระทรวงการคลังในเรื่องดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ตามนัยมาตรา ๒๓ ดังกล่าว สำหรับในส่วนของ กสท.ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้วเช่นกันนั้น เมื่อวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๖ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)โดยการแปลงสภาพจาก กสท.ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ และได้รับโอนกิจการ สิทธิ หนี้ ความรับผิด และสินทรัพย์ของ กสท.ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดเพื่อให้กิจการดำเนินไปโดยต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้บริษัทยังคงมีสภาพเป็นรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยมีกระทรวงการคลังถือหุ้นทั้งหมดร้อยละ ๑๐๐ ของทุนจดทะเบียน และยังปรากฏตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ว่า อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๒๒ และมาตรา ๒๓ ซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่เปลี่ยนทุนเป็นหุ้นตามกฎหมายดังกล่าวถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังทั้งหมด และในระหว่างที่กระทรวงการคลังยังมิได้โอนหุ้นตามกฎหมายดังกล่าวถือหุ้นโดยกระทรวงการคลังทั้งหมด และในระหว่างที่กระทรวงการคลังยังมิได้โอนหุ้นที่ถือให้แก่บุคคลอื่น มิให้นำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ และกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด ในส่วนที่ว่าด้วยผู้ถือหุ้นและจำนวนที่ผู้ถือหุ้นแต่ละคนพึงถือไว้ได้มาใช้บังคับ และให้ถือว่าความเห็นของกระทรวงการคลังเกี่ยวกับบริษัทนั้นเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ประกอบกับข้อบังคับของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ข้อ ๒๗ กำหนดให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นกรรมการบริษัท และข้อ ๒๕ กำหนดให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ วรรคสอง กระทรวงการคลังเห็นว่าเพื่อให้องค์ประกอบของคณะกรรมการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน)ข้อ ๒๗ กำหนดให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นแต่งตั้งบุคคลเพื่อเป็นกรรมการบริษัท และข้อ ๒๕ กำหนดให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นอาจลงมติให้กรรมการคนใดออกจากตำแหน่งก่อนถึงคราวออกตามวาระได้ วรรคสอง กระทรวงการคลังเห็นว่าเพื่อให้องค์ประกอบของคณะกรรมการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) เป็นไปด้วยความเหมาะสมจึงเห็นสมควรให้คณะกรรมการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งกรรมการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) พ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งกรรมการของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) ใหม่ ดังนี้ ฯลฯ วรรคสามโดยให้ถือความเห็นของกระทรวงการคลังดังกล่าวเป็นมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นตามนัยมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ สำหรับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๓๖ โดยมาตรา ๔ ให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๗ ให้ธนาคารมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจอันเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการส่งออก การนำเข้า และการลงทุนนั้นในและต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อการพัฒนาประเทศโดยการให้สินเชื่อค้ำประกัน รับประกันความเสี่ยง หรือให้บริการที่จำเป็นตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๑๓ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย" ประกอบด้วย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง อธิบดีกรมการการเกษตร อธิบดีกรมเศรษฐกิจ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนหนึ่งซึ่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยมอบหมาย และผู้จัดการเป็นกรรมการ และกรรมการอื่นอีกไม่เกินห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี โดยในจำนวนนี้ต้องเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนอย่างน้อยสามคม วรรคสอง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่งคนหนึ่งเป็นประธานกรรมการด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี การให้ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งให้รัฐมนตรีเป็นผู้สั่งด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี มาตรา ๑๕ นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามมาตรา ๑๔ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ(๓) รัฐมนตรีให้ออกด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรี มาตรา ๑๙ ให้ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารได้รับประโยชน์ตอบแทนตามที่รัฐมนตรีกำหนด ดังนั้น เมื่อได้พิจารณาถึงที่มา การแต่งตั้ง และการให้คุณให้โทษตามบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องดังกล่าว ก็ยิ่งเป็นข้อสนับสนุนทำให้ได้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และนายกรัฐมนตรีเองมีความเกี่ยวข้องอยู่ด้วยทั้งสิ้น ดังนั้น นอกจากนายกรัฐมนตรีจะมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล โดยผ่านทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตามลำดับชั้น รวมทั้งผ่านคณะกรรมการคณะต่างๆ ที่รับผิดชอบกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐนั้นๆ อยู่ด้วย ในห้ากรณีที่กล่าวหานั้น ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกกล่าวหามีส่วนเกี่ยวข้องสั่งการที่เป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรัฐมนตรีโดยชี้แจ้งอยู่ ๒ กรณี คือ กรณีการแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิตและให้นำค่าภาษีสรรพสามิตไปหักออกจากค่าสัมปทานเมื่อจะต้องแบ่งส่วนแบ่งรายได้ให้แก่หน่วยงานภาครัฐผู้ให้สัมปทานโดยเป็นการสั่งการและมอบนโยบายให้ปฏิบัติเป็นลำดับชั้นตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ข้าราชการ และคณะกรรมการในชุดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยให้วงเงินสินเชื่อแก่รัฐบาลสหภาพพม่าโยผู้กล่าวหาได้สั่งการและมอบนโยบายผ่างทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ข้าราชการ และคณะกรรมการของธนาคารดังกล่าว ส่วนอีก ๓ กรณีการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้า กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและให้นำค่าใช้เครือข่ายร่วมหักออกจากส่วนแบ่งค่าสัมปทานก่อนที่จะนำส่งให้หน่วยงานภาครัฐผู้ให้สัมปทาน ลแกรณีการละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศนั้น ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาล้วนแต่เป็นผู้กำกับดูแลในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นลำดับชั้นลงไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหน่วยงานของรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว ทั้งผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอยู่ด้วย สำหรับคณะกรรมการประสานงานโครงการดาวเทียมสื่อสารภายใน ประเทศ สัญญาสัมปทาน ข้อ ๓๙ ระบุให้ปลัดกระทรวงคมนาคมและผู้แทนกระทรวงคมนาคมซึ่งเป็นข้าราชการประจำ หรือพนักงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม รวม ๔ คน ร่วมเป็นคณะกรรมการดังกล่าว รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย ร.๔๔๙ ส่วน ทศท. และ กสท.แม้จะได้แปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดย ทศท. เป็นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ กสท. เป็นบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) แต่ทั้งสองหน่วยงานนี้ก็ยังคงมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ทั้งหมด การแต่งตั้งและถอดถอนกรรมการบริษัททั้งสองเป็นอำนาจของกระทรวงการคลัง โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ เพียงแต่ ทศท. และ กสท. อยู่ในสังกัดของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมกำกับดูแลเรื่องโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศในช่วงแรก ต่อมาได้โอนงานส่วนนี้ให้กระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศและการสื่อสารดูแลรับผิดชอบตามกฎหมายปฏิรูประบบราชการ ผู้ที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดังกล่าวต่างก็เป็นสมาชิกพรรคไทยรักไทยที่มีผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ในขณะนั้น ประกอบกับทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นเรื่องที่เริ่มต้นมาจากการร้องขอของบริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือที่มีไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรณีการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าและกรณีอนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและอนุมัติให้บรริษัทเอไอเอสหักค่าใช้จ่ายการใช้เครือข่ายร่วมออกจากส่วนแบ่งรายได้ก่อนที่จะนำส่งให้ ทศท. ได้นั้น ตามคำให้การและคำเบิกความของนายโอฬารเพียงธรรม ผู้จัดการผลประโยชน์ นายพิชัย อยู่คง ผู้อำนวยการสำนักเลขานุการคณะกรรมการ ทศท. นายพิพัฒน์ ประทุมวงศ์ ผู้จัดการส่วนผลโยชน์ และนางพจนีย์ ไทยจินดา ผู้อำนวยการกองผลประโยชน์ ที่ ๑ ฝ่ายผลประโยชน์ ได้ความในทำนองเดียวกันว่า คณะกรรมการกลั่นกรองได้มีการพิจารณาหลักการที่บริษัทเอไอเอสเสนอต่อ ทศท. เพื่อพิจารณารวม ๒ ครั้ง ในวันที่ ๒๑ และ ๒๘ สิงหาคม โดยวาระเพื่อพิจารณาเป็นวาระจรทั้ง ครั้ง มีนายสุธรรม มลิลา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทศท. เป็นผู้ที่นำเรื่องเข้าที่ประชุมในการประชุมครั้งแรก ซึ่งไม่ได้เสนอโดยฝ่ายบริหารผลประโยชน์ดังที่เคยปฏิบัติมา และการนำเสนอปัญหาทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการที่บริษัทเอไอเอสได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่พอ และ ทศท. ควรรับผิดในค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เครือข่ายร่วมก็เกิดขึ้นจากการหารือกันระหว่างนายสุธรรม มลิลา กับนายวรุธสุวกร ซึ่งเป็นข้อเสนอต่อ ทศท. ว่าควรอนุมัติให้บริษัทเอไอเอสหักค่าใช้จ่ายจากการใช้เครือข่ายร่วมออกจากส่วนแบ่งรายได้ก่อนที่จะนำส่งให้ ทศท.ภายหลังจากที่คณะกรรมการ ทศท. ได้อนุมัติในเรื่องนี้แล้ว การดำเนินการต่อจากนั้นก็ไม่เป็นไปตามขั้นตอนการปฏิบัติโดยมีพฤติการณ์ของฝ่ายผู้บริหารของ ทศท. ที่จะสนองตอบการร้องขอของบริษัทเอไอเอสอย่างรวดเร็วทั้งในกรณีที่ขอปรับลดส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงินล่วงหน้าและกรณีอนุมัติให้ใช้เครือข่ายร่วมและหักค่าใช้เครือข่ายร่วมออกจากส่วนแบ่งรายได้ก่อนที่จะนำส่งให้ ทศท. กรณีโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศที่บริษัทชินคอร์ปขออนุมัติให้บริษัทไทยคมลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปก็มีพฤติการณ์ทำนองเดียวกันโดยปรากฏว่าได้มีการเสนอรายงานและมติที่ประชุมคณะกรรมการประสานงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมอนุมัติไปก่อนที่คณะกรรมการประสานงานจะได้รับรองรายงานการประชุม ทั้งมิได้ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยแม้จะมีการเสนอเรื่องเพื่อให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้วก้ตาม แต่ก็ปรากฏจากบันทึกถ้อยคำของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีในขณะนั้นที่ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการไต่สวนว่า ตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สมควรเนื่องจากสัญญาสัมปทานในเรื่องดังกล่าวได้มีผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นนายรัฐมนตรีได้เข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐจึงให้ถอนเรื่องกลับคืนไป นอกจากนี้นายพิพัฒน์ ประทุมวงศ์ ผู้จัดการส่วนผลประโยชน์ในขณะนั้นก็เบิกความว่าการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวนี้น่าจะมีการส่งสัญญาณมาจากภายนอก เนื่องจากบริษัทเอไอเอสมิได้มีข้ออ้างในเรื่องที่จะให้บริการแก่ประชาชนในราคาที่ถูกลง แต่ต่อมากลับมีการให้เหตุผลเกี่ยวกับผลประโยชน์ของบริษัทเอไอเอสและประชาชนเพื่อสามารถที่จะดำเนินการอนุมัติให้ตามคำร้องขอของบริษัทเอไอเอสได้ นางปรียา ด่านชัยวิจิตร ผู้อำนวยการส่วนวางแผนการเงินก็เบิกความประกอบเอกสารหมาย ร. ๒๓๑ ว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ค่อนข้างรวดเร็ว และมีความพยายามที่จะเสนอเรื่องให้ทันในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๔๔ ที่มีการประชุมคณะกรรมการ ทศท. ดดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการกระทำอันไม่สมเหตุสมผลและมิชอบด้วยกฎหมายเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ผู้ถูกกล่าวหาในระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาตลอดดังที่ได้วินิจฉัยไปข้างต้น ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การดำเนินการทั้งห้ากรณีดังกล่าวเป็นผลมาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายรัฐมนตรีของผู้ถูกกล่าวหา องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยเสียงข้างมากว่า ผู้ถูกกล่าวหาใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของบริษัทชินคอร์ปตามคำร้อง
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า เงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่ต้องตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อผลของการดำเนินการทั้งหมดเป็นการเอื้อประโยชน์โดยตรงแก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอสกับบริษัทไทยคมซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ย่อมทำให้บริษัทชินคอร์ปได้รับประโยชน์ในรูปผลกำไรจากการประกอบการของตนเอง และเงินปันผลกำไรตามจำนวนหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัทเอไอเอสและบริษัทไทยคมนอกจากนี้ ยังเป็นการแสดงให้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไปถึงความมั่นคงของกิจการ อันก่อให้เกิดความเชื่อมั่นแก่ผู้สนใจลงทุนซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ทำให้มูลค่าหุ้นบริษัทชินคอร์ปเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เงินปันผลค่าหุ้นและเงินค่าขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กที่รับไว้ในนามผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ จึงเป็นทรัพย์สินที่ได้การปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหาในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สั่งให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ แต่โดยที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้ถูกกล่าวหา และผู้คัดค้านที่ ๑ได้รับเงินดังกล่าวมาในระหว่างสมรสกันตามกฏหมาย จึงเห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า ศาลจะสั่งให้เงินในส่วนของผู้คัดค้านที่ ๑ ตกเป็นของแผ่นดินได้หรือไม่ เห็นว่า การจะได้รับความคุ้มครองสิทธิตามกฏหมายในทรัพย์สินไม่ว่าฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวหรือเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้อื่นอันเนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันหรือเป็นสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่จะสามารถยกขึ้นยันต่อบุคคลอื่นได้นั้น ต้องได้ความว่าทรัพย์สินดังกลล่าวได้มาโดยชอบและในทางที่สมควร คดีนี้ได้ความาจากทางไต่สวนว่า ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทชินคอร์ป ซึ่งเดิมใช้ชื่อว่าบริษัทชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มาตั้งแต่ปี ๒๕๒๖ หุ้นที่ถูกกล่าวหาและคัดค้าที่ ๑ ถืออยู่รวมกันมีจำนวนมากและเป็นสัดส่วนที่สูง ทั้งยังร่วมดำเนินกิจการด้วยกันแบะมีประโยชน์ร่วมกันตลอดมา ดังที่ได้ความจากผูคัดค้านที่ ๓ ว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักบริหาร ส่วนผู้คัดค้านที่ ๑ ดูแลจัดการด้านการเงินและทรัพย์สินในช่วงเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาก่อตั้งบริษัทแอมเพิลริชแล้วขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปในส่วนของผู้ถูกกล่าวหาให้แก่บริษัทแอมเพิลริชก็ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ออกเงินจ่ายค่าซื้อหุ้นให้แก่ผูถูกกล่าวหาแทนบริษัทแอมเพิลริชไปก่อน จากนั้นผู้ถูกกล่าวหาจึงนำเงินที่ได้รับดังกล่าวคืนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๑ ในภายหลัง นอกจากนี้ ผุ้คัดค้านที่ ๑ ยังมีส่วนร่วมในการหลีกเลี่ยงข้อห้ามการเป็นผู้ถือหุ้นตามบทบัญญัติของกฏหมายที่เกี่ยวข้องด้วยการโอนหุ้นในส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๕ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการแสวงหาประโยชน์ร่วมกันตลอดมา เมื่อฟังว่าเงินปันผลค่าหุ้นและเงินที่ได้จากการขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปให้แก่กลุ่มเทมาเส็กเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถุกกล่าวหาอันเป็นการได้มาโดยไม่ชอบเสียแล้วผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ย่อมไม่อาจอ้างว่าเงินดังกล่าวเป็นสินสมรสหรือเป็นกรรมสิทธฺร่วมกันเพื่อรับการคุ้มครองสิทธิในส่วนของตนได้ ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้เงินในส่วนของผู้คัดค้าที่ ๑ ตกเป็นของแผ่นดินได้ด้วย ส่วนเงินดังกล่าวจะต้องตกเป็นของแผ่นดินเพียงใดนั้นเห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔ ให้ความหมายของคำที่เกี่ยวกับการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินไว้ ๒ กรณี ได้แก่ คำว่า "ทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ"ซึ่งหมายความว่า การที่ทรพย์สินหรือหนี้สินในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ได้ยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินลดลงผิดปกติ และคำว่า "ร่ำรวยผิดปกติ" ซึ่งหมายความว่า การมีทรัพย์สินมากผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ หรือการมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ หรือได้ทรัพยืสินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่รือใช้อำนาจหน้าที่ในตำแหน่งหน้าที่ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากความหมายของคำดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า มูลคดีของการร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน อาจแยกได้เป็น ๒ กรรี คือ เมื่อเปรียบเทียบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ยื่นเมื่อเข้ารับตำแหน่งกับที่ยื่นเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วพบว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีทรพย์สินเมมากขึ้นผิดปกติ หรือมีหนี้สินลดลงมากผิดปกติ กรณีหนึ่งกับการที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าตามหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อีกกรณีหนึ่ง ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ คัดค้านในทำนองว่า ก่อนผู้ถูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรก ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้าที่ ๑ มีทรัพย์สินตามรายการที่ระบุในบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินที่ถูกถูกกล่าวหายื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมูลค่ารวม ๑๕,๑๒๔,๐๐๐,๐๐๐ บาท จึงไม่อาจให้ทรัพย์สินส่วนนี้ตกเป็นของแผ่นดินได้ เห็นว่า คดีนี้ คตส. ดำเนินการไต่สวนและผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าวถึงการที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการของบริษัทชินคอร์ปโดยเป็นผู้ถือหุ้นแล้วปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่นายกรับมนตรีกระทำการต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ และทรัพย์สินที่ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามคำร้องก็มุ่งเฉพาะเงินปันผลและเงินที่จากการขายหุ้นเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีมูลคดีอยู่ในกรณีหลัง อีกทั้งทางไต่สวนของ คตส. และคำร้องของผู้ร้องก็ไม่ได้มีคำขอบังคับไปถึงทรัพย์สิอื่นจึงไม่มีข้อต้องพิจารณาต่อไปว่า เงินปันผลและเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สมควรหมดทั้งจำนวนหรือไม่ ในข้อนี้หากพิจารณาความหมายของคำว่า "ทรัพยืสินเพิ่มขึ้นผิดปกติ" และ "ร่ำรวยผิดปกติ" แล้วเห็นว่า ไม่ว่าสมูลคดีจะเป็นกรณีใดกรณีหนึ่งดังที่กล่าวมาทรัพย์สินอันจะนำมาพิจารณาว่าเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือไม่ ย่อมต้องเป็นทรัพย์สินนอกเหนือจาหที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอยู่แล้ว อันอยู่ในความหมายธรรมดาของการร่ำรวยผิดปกตินั่นเอง สำหรับเงินปันผลค่าหุ้นที่ได้รับจากบริษัทชินคอร์ปเป็นส่วนของกำไรที่ได้จากการประกอบกิจการของบริษัทชินคอร์ปเองบางส่วน ถือเป็นทรัพย์สินที่ได้มานอกเหนือจากที่มีอยู่แล้ว และต้องตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวน ส่วนเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นเงินมูลค่าเดิมของหุ้นรวมอยู่ด้วย ทรัพยืสินที่ถือว่าได้มานอกเหนือจากที่มีอยู่แล้สวคือราคาหุ้นที่เพิเมขึ้น การจะให้เงินค่าขายหุ้นตกเป็นของแผ่นดินทั้งจำนวนย่อมเป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้คะดค้านที่ ๑ และเมื่อพิจารราถึงเจตนารมณ์ของการห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นหรือคงไว้ซ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เข้าเป็นคู่สัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม หรือในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัญญาสัมปทานจากรัฐตามบทบัญญัติขแงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามทุจรติ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐๐ ประกอบพฤติการณ์ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ หาทางหลีกเลี่ยงข้อห้ามตามกฏหมายด้วยการให้ผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทชินคอร์ปไว้แทน รวมทั้งผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่และใช้แอนาจในตำแหน่งหน้าที่ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีและกระทการต่างๆ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือดังที่กล่าวมาแล้ว ย่อมไม่สมควรที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ จะได้รับประโยชน์ที่มีผลมาจากการที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฏหมายที่เกี่ยวข้องดังนั้น จะได้รับประโยชน์ที่มีผลมาจากการที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฏหมาที่เกี่ยวข้องดังนั้น จึงถือว่าประโยชน์จากราคาหุ้นบริษัทชินคอร์ปส่วนที่เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่วันก่อนรที่ผู้ภูกกล่าวหาจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระ คือวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป เป็นทรัพยืสินที่ได้มาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติตามหน้าที่หรือใช้อำนาจหรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของผู้ถูกกล่าวหา เพื่อพิจารณาเอกสารหมาย ศ.๗ ปรากฏว่า การซื้อขายหลักทรพย์ในตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ อันเป็นวันที่หุ้นบริษัทชินคอร์ปมีราคาซื้อขายเฉลี่ยหุ้นละ ๒๑๓.๐๙ บาท เป็นหุ้นละ ๑ บาทแล้ว เท่ากับราคาซื้อขายในวันดังกล่าวมีราคาเฉลี่ยหุ้นละ ๒๑ บาท ๓๐.๙.สตางค์ ครั้นคำนวณจากหุ้นจำนวน ๑,๔๑๙,๔๙๐,๑๕๐ หุ้น ที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธฺแล้ว คิดเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๐,๒๔๗,๙๑๕,๖๐๖.๓๕ บาท อันเป็นทรัพย์สินที่ผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ มีอยู่แต่เดิม และไม่อาจให้ตกเป็นของแผ่นดิน คงมีเฉพาะเงินปันผลค่าหุ้นจำนวน ๓๙,๔๗๔,๙๖๕,๓๒๕,๗๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔,.๗๐ บาท พร้อมดอกผลของเงินจำนวนดังกล่าว
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายมีว่า มีเหตุที่ศาลต้องเพิกถอนคำสั่งอายัดของ คตส. ตามคำคัดค้านของผู้คัดค้านทั้งยี่สิบสิงหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า สำหรับผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๔ และที่ ๑๙ ได้ความว่า ต่างยื่นคำร้อวขอพิสูจน์ต่อ คตส. และ คตส. มีคำสั่งให้เพิกถอนการอายัดทรัพย์สินแล้ว ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ คตส. ๐๓๖/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๕๐ ที่ คตส. ๐๓๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ ตุลาคม และที่ คตส.๐๑๔/๒๕๕๑ ลงวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๕๑ ผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ และที่ ๑๙ จึงไม่ได้ถูกโต้แย้งสิทธิและศาลไม่จำต้องพิจารณาคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๔ ที่ ๑๗ และที่ ๑๙ ต่อไป ส่วนผู้คัดค้านอื่นนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นเงินปันผลและเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นจำนวน ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔.๗๐ บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อพิจารณารายการทรัพย์สินที่ คตส. มีคำสั่งอายัดไว้ของผู้ถูกกล่าวหาผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สมรส และผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งถือหุ้นแทนดังที่วินิจฉัยมา ปรากฏว่ามีจำนวนเพียงพอกับจำนวนที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยให้ตกเป็นของแผ่นดินได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยคำคัดค้านของผู้คัดค้านอื่นที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของ คตส. อีกต่อไป
พิพากษา ให้เงินที่ได้จากการขายหุ้นและเงินปันผลหุ้นของบริษัทชินคอร์ปอเรชั่นจำกัด(มหาชน)จำนวน ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔.๗๐ บาท พร้อมดอกผลเฉพาะดอกเบี้ยที่ได้รับจากบัญชีเงินฝาก นับตั้งแต่วันฝากเงินจนถึงวันที่ธนาคารส่งเงินจำนวนดังกล่าวเป็นของแผ่นดินโดยบังคับเอาจากทรัพย์สินที่อายัดตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบ อันได้แก่บัญชีเงินฝากและหน่วยลงทุน ดังต่อไปนี้
คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส. ๐๑๖/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ บัญชีเงินฝาก
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๒-๓๗๒๘๗-๙ ชื่อบัญชีนางสาวพินทองทา ชินวัตร
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)สาขาราชวัตร บัญชีเลขที่ ๑๔๖-๒-๓๑๘๑-๒ ชื่อบัญชีนางสาวพินทองทา ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม บัญชีเลขที่ ๐๐๑-๑-๕๕๑๘๘-๒ ชื่อบัญชีนางสาวพินทองทา ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๔๑๕๒๔-๔ ชื่อบัญชีนางสาวพินทองทา ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๑๒๖๓๑-๓ ชื่อบัญชีนางสาวพินทองทา ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๒๒๒๒-๐ ชื่อบัญชีนางสาวพินทองทา ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน บัญชีเลขที่ ๐๑๔-๑-๑๑๓๐๐-๙ ชื่อบัญชีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาพหลโยธิน บัญชีเลขที่ ๐๑๔-๒-๔๑๓๓๕-๕ ชื่อบัญชีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๗๘๑๘๘-๑ ชื่อบัญชีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๑๑๘๘-๙ ชื่อบัญชีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๓๐๙๕-๖ ชื่อบัญชีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๒๗๗๒๒-๒ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๒-๓๗๓๔๒-๒ ชื่อบัญชีนายพานทองแท้ ชินวัตร
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารี บัญชีเลขที่ ๑๒๗-๒-๓๗๓๔๓-๐ ชื่อบัญชีนายพานทองแท้ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม บัญชีเลขที่ ๐๐๑-๑-๕๕๒๓๒-๕ ชื่อบัญชีนายพานทองแท้ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเซ็นจูรี่ บัญชีเลขที่ ๒๐๘-๑-๐๐๐๒๒-๙ ชื่อบัญชีนายพานทองแท้ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๒-๓๑๐๐๘-๘ ชื่อบัญชีนายพานทองแท้ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๓๐๙๒-๒ ชื่อบัญชีนายพานทองแท้ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๑๒๖๓๒-๑ ชื่อบัญชี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
หน่วยลงทุนของนางสาวพินทองทา ชินวัตร ในบัญชีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ตราสารหนี้ เลขทะเบียน ๑๑๑-๘-๐๒๒๖๕๙๑-๖ จำนวน ๑๓,๒๑๕,๘๔๓.๑๕๒๒ หน่วย
หน่วยลงทุนของนายพานทองแท้ ชินวัตร ในบัญชีกองทุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ตราสารหนี้ เลขที่ทะเบียน ๐๐๑-๘-๐๒๘๓๐๐๕-๗ จำนวน ๗๐,๘๑๕,๑๐๔.๗๗๒๙ หน่วย
ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส. ๐๑๗/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๐ บัญชีเงินฝาก
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาราชวัตร บัญชีเลขที่ ๑๔๖-๐-๖๓๙๓๐-๓ ชื่อบัญชีพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาชิดลม บัญชีเลขที่ ๐๐๑-๑-๕๕๐๓๑-๘ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๐๓๑๖๕-๗ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๐๓๑๖๕-๗ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักรัชโยธิน บัญชีเลขที่ ๑๑๑-๑-๐๔๑๒๙-๖ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาซอยอารีสัมพันธ์ บัญชีเลขที่ ๐๕๖-๒-๐๐๐๖๕-๑ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาถนนสุขสวัสดิ์ บัญชีเลขที่ ๑๖๔-๒-๒๘๓๘๘-๙ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาราชวัตร บัญชีเลขที่ ๑๔๖-๐-๔๔๘๓๙-๐ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย บัญชีเลขที่ ๐๑๓-๒-๐๘๒๒๙-๙ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยเพนนินซูล่า บัญชีเลขที่ ๒๐๒-๓-๐๐๓๓๐-๐ ชื่อบัญชีคุณหญิงพจมาน ชินวัตร
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสะพานควาย บัญชีเลขที่ ๑๐๘-๓-๐๙๗๖๑-๓ ชื่อบัญชีนางพจมาน ชินวัตร
ตามคำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส. ๐๒๙/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๕๐ บัญชีเงินฝาก
ธนาคารยูดอบี จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยถนนพหลโยธิน ๘ บัญชีเลขที่ ๐๘๔-๓-๐๒๑๑๘-๙ ชื่อบัญชีนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์
คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบที่ คตส.๐๒๘/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ หน่วยลงทุนของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ในบัญชีกองมุนเปิดไทยพาณิชย์สะสมทรัพย์ตราสารหนี้ เลขที่ทะเบียน ๐๐๑-๘-๒๖๖๐๑๖-๖ จำนวน ๕๗,๗๙๙,๔๕๘.๙๙๗๐ หน่วย
การบังคับเอาจากทรัพย์สินทรัพย์สินดังกล่าวหากไม่พอ ให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๕ ที่ คตส.มีคำสั่งอายัดไว้ หากได้เงินครบถ้วนตามคำพิพากษาแล้วก็ให้เพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาและผู้คัดค้านที่ ๑ ถึงที่ ๕ และให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ ๗ ที่ ๘ ที่ ๑๔ ที่ ๑๙ กับเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สินของผู้คัดค้านอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
(นายสมศักดิ์ เนตรมัย)
(นายพงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์)
(หม่อมหลวงฤทธิเทพ เทวกุล)
(นายไพโรจน์ วายุภาพ)
(นายธานิศ เกศวพิทักษ์)
(นายอดิศักดิ์ ทิมมาศย์)
(นายพิทักษ์ คงจันทร์)
(นายประทีป เฉลิมภัทรกุล)
(นายกำพล ภู่สุดแสวง)