ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยของรัฐ

ข่าวการเมือง Thursday July 8, 2010 07:44 —ข้อมูลหน่วยงานราชการ

คดีหมายเลขดำที่ อม. ๑ /๒๕๕๑

คดีหมายเลขแดงที่ อม. ๑๐ /๒๕๕๒

ในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์

ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

วันที่ ๓๐ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๕๒

ระหว่าง    คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)                     โจทก์

โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

ผู้เข้าเป็นคู่ความแทน

พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ที่ ๑ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ที่ ๒

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ ๓ นายจาตุรนต์ ฉายแสง ที่ ๔

นายกร ทัพพะรังสี ที่ ๕ ศาสตราจารย์ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ ที่ ๖

นายวิษณุ เครืองาม ที่ ๗ พลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกรู ณ อยุธยา ที่ ๘

ร้อยเอกสุชาติ เชาว์วิศิษฐ ที่ ๙ นายวราเทพ รัตนากร ที่ ๑๐

นายสนธยา คุณปลื้ม ที่ ๑๑ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ที่ ๑๒

นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ที่ ๑๓ นายเนวิน ชิดชอบ ที่ ๑๔

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ ๑๕ นายพิเชษฐ สถิรชวาล ที่ ๑๖

นายนิกร จำนง ที่ ๑๗ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ ๑๘

นายนายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ที่ ๑๙ นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ที่ ๒๐

นายอดิศัย โพธารามิก ที่ ๒๑ นายวัฒนา เมืองสุข ที่ ๒๒

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ที่ ๒๓ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ที่ ๒๔

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่ ๒๕ นางอุไรวรรณ เทียนทอง ที่ ๒๖

นายพินิจ จารุสมบัติ ที่ ๒๗ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ที่ ๒๘

พลตำรวจเอกประชา พรหมนอก ที่ ๒๙ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน ที่ ๓๐

นายสมใจนึก เองตระกูล ที่ ๓๑ นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ที่ ๓๒

นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ที่ ๓๓ นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ที่ ๓๔

นางสาวสุธีพร ดวงโต ที่ ๓๕ นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ที่ ๓๖

นายพรชัย นุชสุวรรณ ที่ ๓๗ นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ที่ ๓๘

นางสตรี ประทีปะเสน ที่ ๓๙ นาย บัณฑรู สุภัควณิช ที่ ๔๐

นายณัฐวัช อินทุภูติ ที่ ๔๑ นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ที่ ๔๒

พลตำรวจตรีสุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ที่ ๔๓ นายกำธร ตติยกวี ที่ ๔๔

พลตำรวจเอกสมบัติ อมรวิวัฒน์ ที่ ๔๕ นายอำนวยศักดิ์ ทูลศิริ ที่ ๔๖

          พลตำรวจโทอิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ที่ ๔๗                                           จำเลย

เรื่อง ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยของรัฐ

โจทย์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔๗ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ และเป็นเจ้าพนักงานและพนักงานตามกฎหมาย ได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๑ ซึ่งเป็นกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย และเป็นพนักงานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ ได้ร่วมกันมีมติในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลตามหน้าที่ ตามโครงการให้สำนักสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนิกการในหลักการ ๓ ประการ คือ (๑) ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) (๒) ให้นำรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการแล้วคืนสู่สังคม และ (๓) ให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และภาษีตามประมวลรัษฎากร การร่วมกันประชุมและมีมติของจำเลยดังกล่าว เป็นการกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำ โดยประสงค์ต่อผลต้องการให้มติทั้งสามประการนั้นเกิดผลเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินการ หลังจากนั้นจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ ได้นำเสนอมติดังกล่าวต่อกระทรวงการคลังเพื่อให้นำเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ต่อมาวันที่ ๘ กรกฏาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๑ ได้นำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ ในฐานะข้าราชการการเมืองซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติของกฎหมายในตำแหน่งของข้าราชการการเมือง และในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และได้ร่วมกันมีมติอนุมัติโครงการตามที่กระทรวงการคลังเสอนตามมติของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ และจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๖ (ที่ถูกที่ ที่ ๓๗) ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ มีมติข้อที่ ๑ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และเลขท้าย ๒ ตัว (หวยบนดิน) นั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและพนักงานตามกฎหมาย ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๕ และ ๙ เพราะไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในส่วนของจำเลยที่ร่วมประชุมในฐานะคณะรัฐมนตรีและมีมติอนุมัติให้ดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) นั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ทำให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เนื่องจากต้องใช้ทัรพย์สินและบุคลากรของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมาดำเนินการตามโครงการดังกล่าว และการอนุม้ติในข้อ ๑ เพื่อให้เกิดผลในข้อ ๒ เป็นการกระทำที่แสดงให้เห็นเจตนาว่า ต้องการแสวงหาประโยชน์ในการดำเนินงานตามมติข้อ ๑ ซึงเป็นประโยชน์ที่มีควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เป็นเจตนาทุจริตตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑ (๑) อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ ซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรี ได้เข้าประชุมโดยรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผล จึงถือว่าคณะรัฐมนตรีที่เข้าร่วมประชุมทุกคนที่มีมติตามข้อ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ สำหรับจำเลยที่เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และเป็นเจ้าพนักงานมีความผิดตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ส่วนจำเลยที่เป็นพนักงานมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓ และการร่วมกันมีมติให้เสนอโครงการออกสลากพิเศษแบบแลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัตินั้น ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ และการที่จำเลยซึ่งเป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอโครงการผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการคลังและเข้าที่ ประชุมคณะรัฐมนตรี จนคณะรัฐมนตรีมีมติ ถือว่าจำเลยดังกล่าวก่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติ และในขณะเดียวกันก็มีเจตนาร่วมกับคณะรัฐมนตรีที่จะให้มีการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ดังนั้น คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และคณะรัฐมนตรีมีมติเรื่องดังกล่าว ต่างเป็นทั้งตัวการร่วมกันและเป็นผู้ใช้ให้อีกฝ่ายกระทำความผิด โดยเป็นตัวการร่วมกันด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำ และในขณะเดียวกันคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลก็เป็นผู้ก่อให้คณะรัฐมนตรีกระทำความผิด และคณะรัฐมนตรีก็เป็นผู้ก่อให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลกระทำความผิด เพราะหากไม่มีมติคณะรัฐมนตรี คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ไม่ได้ แม้คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีเจตนากระทำความผิดร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันก็ตาม แต่คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานมิใช่เจ้าพนักงาน ก็ไม่สามารถเป็นตัวการในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาได้ ดังนั้น คณะรัฐมนตรีที่ร่วมประชุมในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ คือจำเลยที่ ๑ ถึงที ๓๐ และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ จึงต้องปรับบทความรับผิดในฐานะที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ และ ผู้สนับสนุน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔ และ ๘๖ ด้วย

การร่วมกันมีมติในข้อ ๒ ของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ และจำเลบที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๖ (ที่ถูก ที่ ๓๗)ที่ ๔๑ และ ๔๒ เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ. ๒๔๙๑ มาตรา ๔ และ ๑๓ และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๒๓ และ ๒๗ ที่ให้นำเงินที่ได้จากหน่วยงานของรัฐ หลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วจะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีซึ่งมีมติให้นำเงินของรัฐบาลออกไปใช้ โดยไม่มีสิทธิที่จะนำออกไปใช้ หรือมีมติให้นำออกไปใช้ได้นั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นการปฏิบัติหน้าที่ในการแสวงหาประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบอันเป็นการทุจริต เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และมติดังกล่าวก่อให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด จ่ายทรัพย์ไปโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อันมีลักษณะเป็นการเบียดบัง ยักยอกทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือของผู้อื่นโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗,๑๕๓ และ ๑๕๗ และก่อให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๔,๘,๙,๑๐ และ ๑๑ สำหรับจำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและจำเลยที่ ๙ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และจำเลยที่ ๑๐ ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๐๔ ที่จะต้องดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปร่วมมีมติให้นำรายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปจ่ายคืนสู่สังคม อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญ้ติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๒๓ และ ๒๗ เป็นการเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น เนื่องด้วยกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ อีกบทหนึ่ง และในส่วนของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานและพนักงานที่มีหน้าที่จัดการ หรือดูแลกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทีมีมติให้เสนอโครงการ และต่อมามีมติให้ดำเนินการจ่ายเงินตามมติคณะรัฐมนตรี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๒๓ และ ๒๗ นั้น ส่วนที่เป็นเจ้าพนักงานเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๒ ส่วนที่เป็นพนักงานเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๙,๑๐ และ ๑๑ และเป็นผู้ใช้ให้พนักงานซึ่งมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่าย เพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น ตามมาตรา ๔ และ ๑๐ ดังนั้น การทีมีมติในข้อ ๒ ในส่วนของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๒ (ที่ถูก ที่ ๓๑) ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ และที่ ๓๗ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๘๔,๘๖,๑๔๗,๑๕๒,๑๕๓,๑๕๗ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๐ ส่วนจำเลยที่ ๔๑ และที่ ๔๒ มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๙,๑๐ และ ๑๑ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา๘๓,๘๔,๘๖,๑๔๗,๑๕๒,๑๕๓ และ ๑๕๗

การที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ และจำเลยที่ ๓๑ ที๓๓ ที่๓๕ ที่ ๓๖ (ที่ถูก ที่๓๗) ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ ในฐานะคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ร่วมกันมีมติข้อ ๓ ที่ให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามพระราชบัญญัติการพนันพุทธศักราช ๒๔๗๘ และภาษีตามประมวลรัษฎากรนั้น เป็นการขัดต่อพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕ จตุทศ(๒) และฝ่าฝืนกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ หลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีแล้ว เมื่อสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการตามโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บและหักภาษี ณ ที่จ่ายนั้น ก็ได้ดำเนิกการโดยถือว่าโครงการดังกล่าวได้รับยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ ทั้งที่โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสลากการกุศลงวดพิเศษ แต่เป็นการออกสลากกินรวบ มติของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการก่อให้เกิดการละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากรของเจ้าพนักงาน หรือเจ้าพนักงานทีมีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๔ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ก่อนให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ในส่วนของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีมติให้เสนอโครงการลดหย่อนและยกเว้นภาษี และ คณะรัฐมนตรีไม่มีมติตามที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวเสนอผ่านกระทรวงการคลังคือจำเลยที่ ๓๑ ที ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่๔๑และที่ ๔๒ เป็นผู้ใช้ ผู้ให้การช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการเสนอความเห็น จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกก่อนที่การกระทำความผิด โดยการละเว้นไม่เก็บภาษีอากรตามที่กฎหมายกำหนด ถือเป็นผู้ใช้ร่วมกับคณะรัฐมนตรีให้มีการกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๔ และเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๔ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๑ และที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่๓๗ ซึ่งมีมติในข้อ ๓ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๘๔,๘๖,๑๕๔ และ ๑๕๗ และเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ ส่วนการกระทำของจำเลยที่ ๔๑ และที่ ๔๒ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๘๔,๘๖, และมาตรา ๑๕๔ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๙,๑๐ และ ๑๑ การกระทำของจำเลยดังกล่าวแม้จะมีต่อเนื่องกัน แต่กีมีเจตนาที่จะให้เกิดผลเป็นสามประการต่างกันตามปรเด็นทีมีมติ จึงถือเป็นการกระทำความผิดต่างกรรมกัน

ต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๙ จำเลยที่ ๓๑ ถึงที่๔๗ ซึ่งทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ได้เข้าร่วมประชุมอนุมัติเงินรายได้จากโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) คืนสู่สังคม ในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ เป็นเงิน ๒,๔๔๙,๘๓๑,๖๑๙ บาท ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ เป็นเงิน ๕,๘๒๖,๗๒๗,๐๔๕ และปีงบประมาณ ๒๕๔๙ เป็นเงิน ๕,๑๐๕,๔๒๒,๓๑๙.๗๙ บาท โดยในการร่วมประชุมดังกล่าวแต่ละครั้งจำเลยที่เป็นกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลในขณะรัฐบาลทีมีการประชุมได้เข้าร่วมมีมติให้จ่ายเงินรายได้ดังกล่าวคืนสู่สังคมโดยจำเลยที่ ๓๑ ร่วมประชุมและมีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๒,๘๘๒,๔๔๓,๒๓๘ บาท จำเลยที่ ๓๒ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๑๐,๗๙๗,๒๕๓,๕๖๔.๗๙ บาท จำเลยที่ ๓๓ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๖,๑๘๒,๐๔๕,๗๑๔ บาท จำเลยที่ ๓๖ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๔,๘๗๔,๘๓๕,๕๐๕.๗๙ บาท จำเลยที่ ๓๗ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๑๖๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓๘ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๒,๔๑๕,๕๖๒,๖๑๙ จำเลยที่ ๔๐ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๕,๓๑๔,๙๐๘,๒๕๕.๒๙ บาท จำเลยที่ ๔๑ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๑๑,๓๔๕,๑๒๗,๑๒๗.๗๙ บาท จำเลยที่ ๔๒ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๑๖๐,๕๐๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๔๓ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๑๓,๕๑๙,๐๙๖,๘๐๒.๙๗ บาท จำเลยที่ ๔๔ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๑๐,๖๔๒,๖๓๐,๖๙๐ จำเลยที่ ๔๕ มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๗,๒๔๗,๒๖๓,๖๑๒ บาท จำเลยที่ ๔๖มีมติให้จ่ายเงินจำนวน ๕,๗๙๕,๖๖๑,๐๖๙.๗๙ บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับความเสียหาย คือ เงินที่ได้รับอนุมัตินำไปจ่ายคืนสู่สังคม ๑๓,๖๗๙,๕๙๖,๘๐๒.๗๙ บาท จ่ายให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ๒,๓๔๗,๙๐๘,๔๓๓.๑๕ บาท รวมเป็นเงิน ๑๖,๐๒๗,๕๐๕,๒๓๕.๙๔ บาท ระหว่างการไต่สวนคดีนี้หน่วยงานที่ได้รับเงินไปแล้วได้คืนมาให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน ๑,๑๖๕,๒๕๐,๓๗๐ บาท คงเหลือส่วนที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียหายจำนวน ๑๔,๘๖๒,๒๕๔,๘๖๕.๔๙ บาท ซึงการนำเงินออกไปจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวนดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดแล้ว ส่วนการนำเงินไปใช้หลังจากการกระทำความผิดนั้นเป็นคนละส่วนกับการที่จำเลยทั้งสี่สิบเจ็ด ดำเนินการให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียหายโดยเจตนาทุจริต และทำให้กระทรวงการคลังเสียหายเนื่องจากการขาดภาษีอากรที่เจ้าหน้าที่มิได้๑.๐ ของรางวัลโดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๒) ภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลาก

(๓) ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากรสำหรับการขายสลาก

ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้หรือการขายนั้นจะได้รับหรือได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

จำเลยที่ ๑๐ ได้นำหนังสือของจำเลยที่ ๙ เสนอจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและไม่ได้ผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีและจำเลยที่ ๑ นำเรื่องเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ โดยนำเสนอเป็นวาระพิจารณาเพิ่มเติม คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอในสาระสำคัญ โดยสรุปมติเป็น ๓ ประการ คือ

๑. เห็นชอบในหลักการโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน)

๒. เห็นชอบให้นำรายได้ส่วนเกินของกองทุนเงินรางวัลหลังหักค่าใช้จ่ายในการบริหารงานและการจ่ายเงินรางวัลกลับคืนสู่สังคม

๓. เห็นชอบกรณีรายได้จากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลากเพื่อไปจำหน่ายของผู้แทนจำหน่าย ในระยะที่ ๒ ที่จำหน่ายด้วยเครื่องจำหน่ายสลากอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้รับสิทธิการยกเว้นภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕ จตุทศ (๒)

หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติดังกล่าวแล้ว ได้มีการนำหนังสือของกระทรวงการคลังที่มีถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีซึ่งนายกรัฐมนตรีได้นำเข้าคณะรัฐมนตรีและมีมติไปนั้น ไปลงรับที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ จากนั้นสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ จนถึงงวดที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ จึงได้ยกเลิก และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลงดการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ตั้งแต่งวดวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๔๙ เป็นต้นไป ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว รวมทั้งสิ้น ๘๐ งวด โดยในการดำเนินการเกี่ยวกับรายได้ของเงินที่ได้จากโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว คณะรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์สำหรับแก้ไขปัญหาเด็กยากจนและเด็กด้อยโอกาส โดยมีจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเงินรายได้ที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุนเงินรางวัลของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งต่อมาได้มีการนำเงินรายได้ส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าใช้จ่ายดำเนินการและจ่ายเงินรางวัลแล้วไปจ่ายคืนสู่สังคมตามมติของคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์และจ่ายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมเป็นเงินที่จ่ายไปจากรายได้ของการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ และ ๒ ตัว จำนวน ๑๖,๐๒๗,๕๐๕,๒๓๕.๙๔ บาท โดยมีการนำไปใช้จ่ายในโครงการแก้ไขปัญหาเด็กเร่รอน เด็กพิการ เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ขององค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์และหน่วยงานของรัฐโครงการเขียนเรียงความสำหรับเด็กและเยาวชนเพื่อขอรับทุนการศึกษาตามนโยบายของรัฐบาล การจัดซื้อรถพยาบาลฉุกเฉินระดับสูงของกระทรวงสาธารณสุข การประกันภัยแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติงานใน ๓ จังหวัดชายแดนใต้ โครงการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาบุตรธิดาอาสาสมัครสาธารณสุข และโครงการ ๑ อำเภอ ๑ ทุน ให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และจ่ายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นค่าตอบแทน ส่วนในเรื่องการยกเว้นและลดหย่อนภาษีอากรที่เกี่ยวข้องนั้น ได้ดำเนินการโดยยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๕๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๕๔๘ โดยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ทำหนังสือด่วนที่สุดฉบับลงวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๖ ถึงกระทรวงมหาดไทยขออนุมัติออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว โดยจำหน่ายตามความต้องการของผู้ซื้อเพื่อนำรายได้คืนสู่สังคมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป และลดหย่อนภาษีการพนันเหลือร้อยละ ๐.๕ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือด่วนที่สุดฉบับลงวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๔๖ อนุมัติให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ได้ตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป สำหรับการชำระภาษีการพนันเป็นไปตามข้อ ๑๒ (๓) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และในหนังสือของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวได้แจ้งให้ผู้ยื่นคำขอไปยื่นคำขอออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ต่อเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตประจำท้องที่ที่จะออกสลากดังกล่าวตามที่กำหนดไว้ในข้อ ๔ (๑) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนันพุทธศักราช ๒๔๗๘ โดยให้นำหนังสือของกระทรวงมหาดไทยไปแสดงด้วยทำให้ภาษีอากรในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มขาดไป ๘,๘๐๙,๑๕๕,๗๓๗.๓๘ บาท ภาษีหัก ณ ที่จ่ายของส่วนลดการจำหน่ายขาดไป ๑๖๑,๕๘๕,๐๘๕.๒๔ บาท ภาษีตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ข้อ ๑ (๔) ขาดไป ๑๒,๗๙๒,๑๕๒,๕๘๑,.๕๐ บาท และภาษีท้องที่ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ ข้อ ๑๒ ขาดไป ๓๓๖,๖๓๕,๕๙๔.๒๕ บาท

หลังจากที่ได้มีการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ถึงงวดวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๙ มีรายได้จากการออกสลากดังกล่าวรวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๒๓,๓๓๙,๘๙๐,๗๓๐ บาท โดยมีการจ่ายเงินให้แก่หน่วยงานที่ขอรับเงินสนับสนุนจากโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ในปีงบประมาณ ๒๕๔๗ จำนวน ๒,๔๔๙,๘๓๑,๖๑๙ บาท ปีงบประมาณ ๒๕๔๘ จำนวน ๕,๘๒๖,๗๒๗,๐๔๕ บาท ปีงบประมาณ ๒๕๔๙ จำนวน ๕,๑๐๕,๔๒๒,๓๑๙.๗๙ บาท ซึ่งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้อนุมัติให้จ่ายเงินคืนสู่สังคมและจ่ายเงินให้แก่หน่วยงานต่างๆ ตามมติคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ ส่วนการหักภาษี ณ ที่จ่าย จากการจ่ายเงินรางวัลจากโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว และรางวัลแจ๊กพ็อตในอัตราร้อยละ ๑ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๕ จตุทศ นำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ ๗ ของเดือนถัดไป

เงินรางวัลของสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว และเงินรางวัลแจ๊กพ็อตตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ ถึงงวดวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๙ แยกเป็นเงินรางวัล ๖๘,๑๑๕,๙๐๖,๗๐๐ บาท เงินรางวัลแจ๊กพ็อต ๑,๑๒๖,๙๒๒,๘๒๘.๒๘ บาท รวมเป็นเงินรางวัลทั้งสิ้น ๖๙,๒๔๒,๘๒๘,๕๒๘.๒๘ บาท ในการจัดสรรรายได้จากการจำหน่ายตามมติคณะรัฐมนตรีและมติคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้กำหนดดังนี้ ร้อยละ ๔.๕ เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ร้อยละ ๑๒ เป็นส่วนลดให้ผู้แทนจำหน่าย ร้อยละ ๓ เป็นค่าตอบแทนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ ๐.๕ เป็นค่าภาษีการพนันจ่ายให้กระทรวงมหาดไทย ส่วนที่เหลือร้อยละ ๘๐ สมทบเข้ากองทุนเงินรางวัลเพื่อนำไปใช้จ่ายสำหรับการจ่ายเงินรางวัลสลากและภายหลังจากการหักค่าบริหารกองทุนและการประกันความเสี่ยงในการจ่ายเงินรางวัลแล้ว หากกองทุนมีเงินส่วนเกินเหลือเหมาะสมเพียงพอแต่ละช่วงเวลาจะต้องจัดสรรรายได้ส่วนเกินดังกล่าวคืนสู่สังคม เงินรายได้จากการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ และ ๒ ตัว นอกจากที่แบ่งให้เป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลร้อยละ ๔.๕ แล้ว ไม่มีรายได้ในโครงการนี้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแต่อย่างใด

ก่อนเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่เคยดำเนินการออกสลากพิเศษ (ที่ไม่ใช่สลากการกุศลงวดพิเศษ) แต่ได้ออกสลากพิเศษตามมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๔ ครั้งแรกงวดประจำวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๕๔๔ โดยขออนุญาตกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และนำรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายไปใช้จ่ายตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดสรรเงินรายได้ของโครงการเพื่อการสาธารณประโยชน์จากรายได้โดยการออกสลากพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๕ ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕

การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอาจขาดทุนได้ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเคยขาดทุนรวม ๗ งวด คืองวดประจำวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๖ ขาดทุนจำนวน ๑๑๔,๙๘๐,๑๘๒.๐๙๙ บาท งวดประจำวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๗ ขาดทุน ๙๒,๙๕๖,๑๒๐.๔๘ บาท งวดประจำวันที่ ๒ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ขาดทุน ๒๘๘,๗๒๒,๘๖๙.๗๔ บาท งวดประจำวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๙ ขาดทุน ๑๒๗,๓๖๒,๓๖๕.๙๘ บาท งวดประจำวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๙ ขาดทุน ๔๙,๕๓๖,๓๘๑.๔๑ บาท งวดประจำวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๙ ขาดทุน ๙๔๓,๑๕๓,๗๗๓.๒๕ บาท งวดประจำวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๙ ขาดทุน ๕๑,๔๘๐,๓๖๗.๐๗ บาท รวม ๗ งวด ขาดทุนเป็นเงิน ๑,๖๖๘,๑๙๒,๐๖๐.๐๒ บาท สำหรับการออกสลากการกุศลงวดพิเศษที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเคยดำเนินการจะต้องเป็นเรื่องที่หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดต้องการใช้เงินเพื่อการกุศลโดยเฉพาะโดยผ่านกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณ ซึ่งหน่วยงานนั้นมีเงินไม่พอที่จะดำเนินการ จึงขออนุมัติและได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี นอกจากนี้สลากการกุศลงวดพิเศษที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เคยออกมามีเงื่อนไขในการจ่ายเงินรางวัลเป็นทำนองเดียวกับเงื่อนไขในการจ่ายเงินรางวัลของสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งจะไม่มีโอกาสขาดทุน และหลักการในการออกสลากการกุศลนั้นจะระบุชัดเจนว่าต้องเป็นสลากการกุศลงวดพิเศษซึ่งอาจจะไม่ใช่งวดเดียว แต่ต้องมีขอบเขตจำกัดในเรื่องจำนวนงวดหรือจำนวนเงินที่ต้องการนำไปใช้ในการกุศล ส่วนการออกสลากพิเศษเลขท้าย ๓ และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ไม่มีจำกัดงวด และไม่มีจำกัดเงิน

กระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือถึงประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่เป็นผู้ใช้ ตัวการและสนับสนุนในการกระทำความผิดอาญา คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนจำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดตามข้อกล่าวหาในคดีนี้ หลังจากนั้นกระทรวงการคลังและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้หารือปัญาหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งต่อมาได้มีความเห็นตามเรื่องเสร็จที่ ๕๖๘-๕๖๙/๒๕๔๙ สรุปได้ว่า การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการภายในกรอบวัตถุประสงค์ของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามมาตราดังกล่าวได้ ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติให้ส่งสำนวนการตรวจสอบไต่สวนให้อัยการสูงสุดเพื่อฟ้องจำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยังไม่สมบูรณ์ จึงได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาสำนวนร่วมกับผู้แทนของอัยการสูงสุดแต่ตกลงกันไม่ได้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) จึงแต่งตั้งทนายความยื่นฟ้องจำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดเป็นคดีนี้

พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยเป็นประการแรกว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยต่อสู้ว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าฝ่ายจำเลยกระทำความผิดอย่างไร ร่วมกับใคร แบ่งหน้าที่กันอย่างไร ใครสั่งการและบงการอย่างไร ปฏิบัติหน้าที่มิชอบและทุจริตอย่างไร แบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างไร ทรัพย์ที่ยักยอกเป็นของใครหรืออยู่ในความครอบครองของใคร ยักยอกไปเมื่อใด ทั้งคำฟ้องของโจทก์ขัดกันเองเนื่องจากโจทก์อ้างว่าการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับกล่าวหาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าไม่ดำเนินการนำส่งรายได้ให้เป็นไปตามกฎหมาย คำขอท้ายฟ้องไม่ระบุให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ใครหรือหน่วยงานใด เห็นว่า ข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๓ ข้อ ๘ วรรคหนึ่ง กำหนดว่า ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือมีข้อความตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ และต้องมีข้อความเป็นการกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องการร่ำรวยผิดปกติ การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น และต้องระบุพฤติกรรมที่กล่าวหาว่ากระทำความผิดพร้อมทั้งชี้ช่องพยานหลักฐานให้ชัดเจนพอที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไปได้ ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์ปรากฎว่า โจทก์บรรยายว่าจำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายโดยระบุรายละเอียดสถานะทางกฎหมายของจำเลยแต่ละคนอย่างชัดเจนว่าคนใดเป็นเจ้าพนักงานคนใดเป็นพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันในทางคดีอย่างไร ต้องรับผิดภายใต้กฎหมายและบทบัญญัติมาตราใดไว้อย่างชัดเจน โดยโจทก์บรรยายถึงความเป็นมาในคดีนี้ เริ่มต้นจากคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกอบด้วยจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ ร่วมจัดทำโครงการให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) เพื่อให้นำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการคืนสู่สังคม และให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามประมวลรัษฎากรและพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ เสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการดังกล่าว ทั้งที่โครงการดังกล่าวอยู่นอกกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและคณะรัฐมนตรีต่างเป็นตัวการร่วมที่แบ่งหน้าที่กันทำ และต่างเป็นผู้ก่อให้อีกฝ่ายกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ และ ๙ ทั้งการที่ฝ่ายจำเลยดังกล่าวร่วมกันมีมติให้นำเงินรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการคืนสู่สังคม ถือเป็นการเลี่ยงไม่นำเงินส่งเป็นรายได้แผ่นดิน เป็นการนำเงินออกไปใช้โดยไม่มีสิทธิก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ มาตรา ๔ และ ๑๓ และพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๒๓ และ ๒๗ กับเป็นการก่อให้เจ้าพนักงานที่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์ จ่ายทรัพย์ไปโดยไม่ถูกต้องอันเป็นการเบียดบังยักยอกทรัพย์เป็นของตนหรือผู้อื่นโดยทุจริต และก่อให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น และการที่จำเลยที่ ๙ และ ๑๐ ร่วมกันมีมติดังกล่าวถือว่าเข้าไปมีส่วนได้เสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นเนื่องด้วยกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ตนมีหน้าที่กำกับดูแลด้วยนอกจากนี้ การร่วมกันมีมติให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และภาษีตามประมวลรัษฎากร ก่อให้เกิดการละเว้นไม่เรียกเก็บภาษี เป็นความผิดต่อพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕ จตุทศ (๒) และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ อันเป็นการก่อให้เกิดการละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีของเจ้าพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เรียกเก็บ หรือตรวจสอบภาษีอากร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๔ และเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ โดยถือว่าจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ เป็นผู้ใช้ร่วมกับคณะรัฐมนตรีและสนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๔ ทั้งโจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓,๘๔,๘๖,๙๐,๙๑,๑๔๗,๑๕๒,๑๕๓,๑๕๔ และ ๑๕๗ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓, ๔, ๘, ๙, ๑๐ และ ๑๑ และขอให้จำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่จำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดมีมติอนุมัติให้จ่ายไปจากเงินของสำนักงานสลากกิบแบ่งรัฐบาลอันถึอว่าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ รวมจำนวน ๑๔,๘๖๒,๒๕๔,๘๖๕.๙๔ บาท ซึ่งคำขอท้ายนี้มุ่งหมายให้จำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเป็นเจ้าของเงินที่มีการอนุมัติให้จ่ายเงินออกไปนั้นเอง

ส่วนที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า คำฟ้องของโจทก์ขัดกันเองเนื่องจากโจทก์อ้างว่าการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่กลับกล่าวหาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่าไม่ดำเนินการนำส่งรายได้ให้เป็นไปตามกฎหมาย นั้น ก็เห็นว่าไม่ได้ขัดกันตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้าง เพราะเป็นการบรรยายฟ้องให้เห็นว่าแม้เงินรายได้จะมิได้เกิดจากการจำหน่ายสลากที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยก็มีหน้าที่นำส่งเงินนั้นเป็นรายได้แผ่นดินต่อไปดังนี้ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายการกระทำความผิดของจำเลยแต่ละคนมาอย่างชัดเจนโดยละเอียดแล้วว่าจำเลยคนใดกระทำความผิดร่วมกับจำเลยคนใด และจำเลยแต่ละคนมีความผิดอย่างไร โดยระบุข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่กล่าวหาว่ากระทำความผิดพอสมควรที่จะทำให้จำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดเข้าใจข้อหาได้ดี ทั้งอ้างมาตราในกฎหมาย ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดแล้ว ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๘ วรรคหนึ่ง แล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๓๙ และคำขอในส่วนแพ่งที่ให้จำเลยร่วมกันใช้เงินคืนอยู่ในเขตอำนาจศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๓๙ ต่อสู้ในปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ ๓๙ ไม่ได้กระทำความผิดในฐานะตัวการ ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐๘ และตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๗๕ วรรคสอง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓๙ จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เห็นว่า เนื้อความในหนังสือสำนักงบประมาณฉบับลงวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๔๗ ของจำเลยที่ ๓๘ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ถึงประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล นั้น มีนัยสำคัญแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ ๓๘ ประสงค์จะแต่งตั้งให้จำเลยที่ ๓๙ ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเข้าเป็นกรรมการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณแทนที่จำเลยที่ ๓๘ ซึ่งขอลาออกจาการเป็นกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้ว ทั้งข้อเท็จจริงยังปรากฎว่า ในการประชุมของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลตั้งแต่ครั้งที่ ๘/๒๕๔๘ เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๘ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่สำนักงบประมาณได้มีหนังสือดังกล่าวแจ้ง สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลแล้วเป็นต้นมา จำเลยที่ ๓๙ ก็ได้เข้าร่วมประชุมและร่วมลงมติอนุมัติให้มีการจ่ายเงินจากโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว หลายครั้ง รวมเป็นเงิน ๒,๕๓๖,๗๙๘,๖๕๙ บาท ย่อมถือได้ว่าการเข้าร่วมประชุมและลงมติให้มีการจ่ายเงินของจำเลยที่ ๓๙ เป็นการทำหน้าที่กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะผู้แทนสำนักงบประมาณโดยชอบแล้ว ทั้งการที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีจำเลยที่ ๓๙ เป็นกรรมการคนหนึ่ง ได้ประชุมและมีมติอนุมัติเงินรายได้จากโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว คืนสู่สังคมตามมติคณะรัฐมนตรี ถือว่าจำเลยที่ ๓๙ เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓๐ ซึ่งเป็นข้าราชการการเมืองกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙(๒)องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า คดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๓๙ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สำหรับคำขอในส่วนแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่ให้จำเลยทั้งสี่สิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้เงินตามจำนวนที่ได้จ่ายไปจากเงินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือว่าเป็นกรณีเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ ต้องคืนทรัพย์แก่ผู้เสียหายที่ต้องสูญเสียเงินไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ ดังนั้น เมื่อผู้เสียหายอ้างว่ามีสิทธิจะเรียกร้องทรัพย์สินหรือราคาที่ต้องสูญเสียไป เนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว โจทก์ซึ่งฟ้องคดีอาญานี้โดยใช้สิทธิฟ้องคดีแทนอัยการสูงสุด องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ด้วย คำขอในส่วนแพ่งจึงอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๘

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยฝ่ายจำเลยยกข้อต่อสู้ ดังนี้

ในข้อแรกฝ่ายจำเลยให้การต่อสู้ว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ หรือไม่ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้วินิจฉัยไว้แล้วในคำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๔๑ ว่าประกาศฉบับดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๒๑๖ วรรคห้า บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ดังนั้น ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ จึงไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์มีอำนาจตรวจสอบโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ซึ่งเกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๔ มิใช่บุคคลในคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๕๕ ซึ่งพ้นตำแหน่งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ (๑) และการร้องทุกข์กล่าวโทษ ไม่ชอบ เพราะสำนักงานสลากกิบแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้มีส่วนกระทำความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์และไม่มีเจตนาร้องทุกข์ เนื่องจากถูกบังคับหรือไม่ เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ กำหนดให้โจทก์มีอำนาจตรวจสอบการดำเนินงานหรือโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือเห็นชอบโดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นจากตำแหน่งโดยผลของการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะเป็นไปโดยทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบสัญญา สัญญาสัมปทานหรือการจัดซื้อจัดจ้างของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่เอกชนโดยมิชอบ หรือมีการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ตรวจสอบการปฏิบัติราชการใดๆ ของเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือ มีการกระทำที่ทุจริตหรือประพฤติมิชอบ รวมทั้งมีอำนาจตรวจสอบการกระทำของบุคคลใดๆ ที่เห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือหลีกเลี่ยงกฎหมายว่าด้วยภาษีอากร อันเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ นอกจากนี้ ประกาศฉบับนี้ยังให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจพิจารณาเรื่องใด ๆ ที่เห็นควรตรวจสอบ เรื่องที่มีผู้เสนอข้อมูล หรือเรื่องที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการของหน่วยงานอื่นด้วย โดยไม่ได้กำหนดว่าต้องมีการกล่าวโทษร้องทุกข์ก่อนอันเป็นการเปิดกว้างให้คณะกรรมการตรวจสอบสามารถตรวจสอบได้ทุกเรื่องที่เห็นควรตรวจสอบ ดังนั้น แม้ในทางไต่สวนจะได้ความดังที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้าวว่า โครงการนี้มิได้เกิดขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งพ้นตำแหน่งตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กระทรวงการคลัง และกระทรวงมหาดไทย ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์ และไม่มีเจตนาร้องทุกข์ก็ตาม แต่เมื่อคณะกรรมการตรวจสอบเห็นควรตรวจสอบโครงการนี้ ก็ย่อมมีอำนาจตรวจสอบโครงการนี้ได้ข้อต่อสู้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า อัยการสูงสุดยังไม่ได้มีความเห็นแตกต่าง และโจทก์ยังไม่ได้ไต่สวนเพิ่มเติมตามที่อัยการสูงสุดเสนอ และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ ไม่ได้ให้อำนาจโจทก์ยื่นฟ้องคดีต่อศาล แต่ให้อำนาจเพียงยื่นคำร้องกรณีร่ำรวยผิดปกติเท่านั้น เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ ระบุว่า กรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองผู้ใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่ ให้ส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธิพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ โดยให้ถือว่ามติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็นยืนยันความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิจารณา คดีนี้ แม้ฝ่ายจำเลยจะอ้างว่าอัยการสูงสุดเพียงแต่โต้แย้งว่าพยานหลักฐานข้อเท็จจริงในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบโจทก์ยังไม่สมบูรณ์ โดยยังไม่ได้มีความเห็นแตกต่างหรือมีมติว่าจำเลยคนใดกระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ยืนยันว่าพยานหลักฐานในสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบสมบูรณ์แล้ว ย่อมถือได้ว่าอัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่างกับโจทก์แล้ว โดย ไม่จำต้องมีความเห็นแตกต่างเฉพาะว่าจำเลยคนใจกระทำความผิดหรือไม่เท่านั้น และแม้ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ จะบัญญัติว่า ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง แต่คณะกรรมการตรวจสอบมีความเห็น ยืนยันตามความเห็นเดิม ให้คณะกรรมการตรวจสอบมีอำนาจดำเนินการให้มีการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมือง โดยไม่ได้ระบุให้มีอำนาจยื่นคำฟ้องด้วยก็ตาม แต่การระบุให้อำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวนั้นย่อมหมายถึงการยื่นคำฟ้องด้วย เพราะประกาศ ข้อ ๙ ดังกล่าวระบุถึงกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่างทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่หรือทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นความผิดทางอาญาด้วย มิใช่เฉพาะมีมติว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดร่ำรวยผิดปกติ อันจะทำให้มีอำนาจเฉพาะในการยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติดังที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างเท่านั้น และเมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ ให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบโจทก์ฟ้องคดีเองได้หากอัยการสูงสุดมีความเห็นแตกต่าง ดังนั้น ผู้ที่มีอำนาจฟ้องจึงหาต้องจำกัดเฉพาะอัยการสูงสุดหรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดังที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ไม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด ๑๔ วัน นับแต่วันตั้งคณะทำงานร่วมกับอัยการสูงสุดได้หรือไม่ และการฟ้องภายใต้อายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ เป็นอำนาจเฉพาะของอัยการสูงสุดเท่านั้น เห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์จะยื่นฟ้องเกิน ๑๔ วัน นับแต่วันที่ไม่อาจหาข้อยุติระหว่างอัยการสูงสุดกับคณะกรรมการตรวจสอบโจทก์ได้ แต่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๑ วรรคสอง ก็หาได้เป็นการตัดอำนาจฟ้องของโจทก์แต่อย่างใดไม่ เพราะโจทก์ได้ยื่นฟ้องภายในกำหนดอายุความตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ แล้ว นอกจากนึ้ การฟ้องคดีนี้ของโจทก์เป็นการฟ้องตามที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ ให้อำนาจไว้ แม้จะไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างอัยการสูงสุดและโจทก์ก็ตาม โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องตามประกาศดังกล่าวได้อยู่แล้ว ทั้งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ ก็มิได้ระบุบังคับไว้ว่ากรณีนี้คณะกรรมการตรวจสอบจะต้องฟ้องภายใน ๑๔ วัน เช่นนี้ คณะกรรมการตรวจสอบโจทก์จึงมีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้

ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์ลงชื่อในฟ้องไม่ครบ ๑๒ คน เป็นการชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๙ กำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบคณะหนึ่ง จำนวน ๑๒ คน ดังรายชื่อที่ระบุไว้ โดยในวรรคท้ายกำหนดต่อไปว่า กรณีที่มีกรรมการว่างลง ให้กรรมการที่เหลืออยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ แต่ต้องมีกรรมการเหลืออยู่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งผู้ที่เห็นสมควรเป็นกรรมการแทนกรรมการที่ว่างลง เช่นนี้ เมื่อนายจิรนิติ หะวานนท์ และนายสวัสดิ์ โชติพานิช กรรมการ ๒ คน ลาออกจากตำแหน่งกรรมการ กรรมการที่เหลืออยู่ ๑๐ คน ยังคงมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด และแม้คณะรัฐมนตรีมิได้ใช้อำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการแทนกรรมการที่ว่างลง กรรมการที่เหลืออยู่ก็ยังคงมีอำนาจปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะลงชื่อฟ้องคดีต่อไปได้ ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

มีปัญหาต่อไปว่า การไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนและคณะกรรมการตรวจสอบไม่ชอบ เพราะนำสำนวนของคณะอนุกรรมการตรวจสอบมาเป็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนโดยไม่ได้สอบพยานเพิ่มเติมหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.๒๕๔๙ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามข้อ ๕ แห่งประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ กำหนดว่า เมื่อปรากฏพฤติการณ์ว่าได้มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ คณะกรรมการอาจมีมติให้ตรวจสอบมูลคดีก่อน หรือให้ไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาแล้ววินิจฉัยมูลความผิดโดยไม่ต้องตรวจสอบก็ได้ ข้อ ๘ กำหนดว่า ในกรณีมีหลักฐานอันน่าเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ให้อำนาจคณะกรรมการตรวจสอบมีมติให้ไต่สวน โดยจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการไต่สวนแทนก็ได้ แล้วสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการเพื่อวินิจฉัยต่อไป ข้อ ๙ กำหนดว่า เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จแล้ว ให้จัดทำสำนวนเสนอต่อประธานกรรมการ ข้อ ๑๐ กำหนดให้ประธานกรรมการจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาโดยด่วน ข้อ ๑๑ กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาข้อกล่าวหาจากสำนวนแล้วมีมติว่ามีมูลหรือไม่ ข้อ ๑๒ กำหนดว่า หากคณะกรรมการมีมติว่าข้อกล่าวหาใดมีมูลความผิดให้ดำเนินการตามประกาศตรวจสอบ และข้อ ๓๒ วรรคสองกำหนดว่า ในกรณีที่ได้ใช้ระเบียบนี้ตรวจสอบและไต่สวนในเรื่องใด ให้ถือพยานหลักฐานตามสำนวนตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนไต่สวนด้วย ซึ่งหมายถึงให้ถือพยานหลักฐานทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารตามสำนวนการตรวจสอบเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการไต่สวนด้วย คดีนี้คณะกรรมการตรวสอบมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบตามคำสั่งที่ ๑/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๙ ต่อมาคณะอนุกรรมการตรวจสอบสรุปความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจสอบตามบันทึกลงวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๕๐ ที่ประชุมคณะกรรมการตรวจสอบเห็นชอบให้ดำเนินการกับพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร กับพวกรวม ๔๙ คน จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนที่มีนายอุดม เฟื่องฟุ้ง เป็นประธานคณะอนุกรรมการ ตามคำสั่งที่ คตส.๐๐๙/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ เมื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนไต่สวนแล้วเสร็จและเสนอต่อคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งตามข้อ ๙ ของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ กำหนดให้คณะกรรมการการตรวจสอบส่งรายงานเอกสารหลักฐานพร้อมทั้งความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการต่อไป ดังนี้ การดำเนินการของคณะอนุกรรมการไต่สวน และคณะกรรมการตรวจสอบจึงเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบข้างต้นแล้ว หาจำต้องให้พยานบุคคลมาให้การใหม่หรือมายืนยันตามคำให้การเดิมต่อคณะกรรมการตรวจสอบอีกไม่

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปเป็นไปตามคำร้องของจำเลยที่ ๒๗ ฉบับลงวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๑ ที่ขอให้วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า ความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบที่เสนอให้มีการไต่สวนโดยระบุการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐทุกข้อครอบคลุม แต่ไม่ระบุใหชัดเจนตามระเบียบคณะกรรมการตรวจสอบว่าด้วยการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ.๒๕๔๙ ข้อ ๒๑ วรรคสาม ทำให้จำเลยที่ ๒๗ ไม่ทราบว่าถูกตรวจสอบตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ ข้อ ๕ ในวงเล็บใด เห็นว่า การที่ระเบียบคณะกรรมการการตรวจสอบว่าด้วยการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พ.ศ. ๒๕๔๙ ข้อ ๒๑ วรรคสาม กำหนดว่า "ในกรณีที่มีความเห็นให้ไต่สวน ให้ระบุให้ชัดเจนว่าเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐในข้อใดและมีบุคคลใดตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาโดยมีพฤติการณ์และพยานหลักฐานเช่นใด" นั้น ถือเป็นข้อกำหนดภายในระหว่างคณะอนุกรรมการตรวจสอบกับคณะกรรมการการตรวจสอบ ที่กำหนดบทบาทของคณะอนุกรรมการตรวจสอบในการแสดงความเห็นต่อคณะกรรมการตรวจสอบในกรณีที่เห็นควรให้มีการไต่สวนต่อไป ว่าต้องระบุถึงเหตุผลและพฤติการณ์แห่งคดี รวมทั้งพยานหลักฐานต่างๆ ระเบียบข้อนี้หาได้มีผลบังคับให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบต้อง ปฎิบัติตามระเบียบข้อนี้ต่อผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้หากฟังได้ว่าความเห็นของคณะอนุกรรมการตรวจสอบจะไม่ระบุให้ชัดเจนตามที่จำเลยที่ ๒๗ ต่อสู้ ก็เป็นเรื่องที่คณะกรรมการตรวจสอบจะไปว่ากล่าวกับคณะอนุกรรมการตรวจสอบให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งตามระเบียบข้อดังกล่าวเอง ไม่มีผลให้การตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

ปัญหาต่อไปตามข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยมีว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนทำการไต่สวนข้อกล่าวหานอกเหนือหรือแตกต่างไปจากมติของคณะกรรมการตรวจสอบ ที่ให้ทำการไต่สวนดำเนินคดีเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑,๕๙,๖๔,๘๓,๙๐,๙๑ และ๑๕๗ กับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๐๒ มาตรา ๓,๘,๑๐ และ ๑๑ ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑,๕๙,๘๓,๙๐,๙๑ และ ๑๕๗ แต่คณะอนุกรรมการไต่สวนได้ไต่สวนเพิ่มเติมในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๖,๑๔๗,๑๕๒,๑๕๓ และ ๑๕๔ กับพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ มาตรา ๙ การไต่สวนจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นั้น เห็นว่า การที่คำสั่งคณะกรรมการตรวจสอบตามเอกสารหมาย จ.๗ แผ่นที่ ๓๘๔ ระบุว่า "ในการดำเนินการไต่สวนของคณะอนุกรรมการ หากพบว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดฐานอื่น นอกเหนือจากคำกล่าวหาร้องเรียนที่ระบุในคำสั่งหรือกรณีที่ปรากฎต่อมาภายหลังว่าการไต่สวนพาดพิงไปถึงบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีส่วนร่วมกระทำความผิดหรือเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดในเรื่องที่ไต่สวนนี้ ให้คณะอนุกรรมการตามคำสั่งนี้มีอำนาจดำเนินการไต่สวนต่อไป"แสดงให้เห็นว่าคณะกรรมการตรวจสอบได้มอบให้คณะอนุกรรมการไต่สวนมีอำนาจตรวจสอบไต่สวนการกระทำความผิดฐานอื่นนอกเหนือจากคำกล่าวหาร้องเรียนได้ด้วยหากมีการพาดพิงไปถึง แม้คำสั่งดังกล่าวจะลงนามโดยนายนาม ยิ้มแย้ม ประธานคณะกรรมการตรวจสอบเพียงคนเดียว ก็เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย การตรวจสอบไต่สวนของคณะอนุกรรมการไต่สวนจึงชอบด้วยกฎหมาย ส่วนที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าคณะกรรมการตรวจสอบโจทก์ไม่เคยสอบสวนหรือแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลยเกี่ยวกับการที่กรุงเทพมหานครขาดรายได้ภาษีท้องถิ่น ตามกฎกระทรวงฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) มาก่อน การไต่สวนจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ในชั้นไต่สวน โจทก์เพียงแต่แจ้งให้จำเลยทราบถึงพฤติการณ์แห่งคดีตามที่กล่าวหาก็เป็นการเพียงพอแล้ว โดยไม่จำต้องระบุเลขมาตราหรือกฎหมาย หรือการกระทำความผิดทุกกรรมหรือทุกกระทงความผิด ก็ถือว่าได้เป็นการแจ้งข้อกล่าวหาและไต่สวนโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยฟังไม่ขึ้น

มีปัญหาต้องวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องข้อสุดท้ายว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจเข้ามาเป็นคู่ความสวมสิทธิแทนโจทก์หรือไม่ เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังไม่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ มิได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เข้าเป็นคู่ความแทน เห็นว่า เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ยึดอำนาจการปกครองได้สำเร็จหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ย่อมมีอำนาจออกประกาศหรือคำสั่งอันถือเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับแก่ประชาชนได้โดยชอบ และเมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ ๑๙ ข้อ ๓ แต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๙ การแต่งตั้งย่อมมีผลมบูรณ์ตามกฏหมายนับแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับทั้งสำนักราชเลขาธิการก็ได้มีความเห็นยืนยันการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่ามีผลสมบูรณ์สามารถบังคับใช้ได้ตามกฎหมายแล้ว เนื่องจากคณะปฏิรูปการปกครองฯ มีฐานะเป็นรัฎฐาธิปัตย์ มีอำนาจเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว ปรากฎตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๙ ถึงเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง ของส่งเรื่องการขอพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติคืน เอกสารหมาย จ.๓๗๔ ส่วนที่ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับวันที่ ๓๐ มิได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เข้าเป็นคู่ความแทน นั้น เห็นว่า คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ โดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ใช้อำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่องการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ข้อ ๕ วรรคสาม (๒) และประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ดังกล่าว ข้อ ๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติให้มติของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ที่ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือบุคคลใดกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ หรือร่ำรวยผิดปกติ ถือเป็นมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีอำนาจเข้ามาสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)ซึ่งสิ้นสุดหน้าที่ไปหลังจากวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๕๑ ได้ ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๓๐ เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๙ พ.ศ.๒๕๕๐

ดังนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ มีมิติในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) นำเงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วคืนสู่สังคมกับให้ยกเว้นและลดหย่อยภาษีเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙ หรือไม่ นั้น เห็นว่า มาตรา ๕ และมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นเรื่องของกรอบวัตถุประสงค์ในการดำเนินการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลว่ามีขอบเขตมากน้อยเพียงใด ซึ่งมาตรา ๕ บัญญัติว่า "ให้จัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งขึ้นเรียกว่า"สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล" มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้

(๑) ออกสลากกินแบ่งรัฐบาล

(๒) จัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ

(๓) กระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล"

มาตรา ๙ บัญญัติว่า "ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจกระทำการต่างๆภายในขอบเขตแห่งวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึง การจัดซื้อ จัดหา จำหน่าย เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ แลกเปลี่ยน ถือกรรมสิทธิ์ ครอบครอง และการดำเนินกิจการเกี่ยวกับทรัพย์สินและการเรียกร้องสิทธิอื่นๆ ด้วย"

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ (๑) คือการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการดำเนินการเพื่อหารายได้เข้ารัฐ ซึ่งตามทางไต่สวนได้ความว่า สลากกินแบ่งรัฐบาล หมายถึง สลากที่รัฐบาลมอบให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้จัดให้เล่นและจำหน่ายเองโดยได้รับอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ผู้เล่นจะซื้อสลากและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะเป็นผู้ออกเลขเองโดยตรงด้วยวิธีการที่กำหนด ผู้เล่นซื้อสลากเพียง ๑ ฉบับ สามารถูกรางวัลได้หลายหมายเลขและรับรางวัลได้หลายรางวัลในเวลาเดียวกัน ส่วนเงินรางวัลต่างๆ เป็นไปตามที่กำหนดหลังสลาก หากจำหน่ายสลากได้ไม่หมด รางวัลอาจถูกลดลงได้ นอกจากนี้ กฎหมายยังได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลและวิธีจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายไว้อย่างชัดเจน ประการแรก สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตและประทับตราในการจำหน่ายตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ เนื่องจากได้รับยกเว้นตามมาตรา ๓๖ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ ประการที่สอง การจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัลไม่น้อยกว่าร้อยยี่สิบแปดเป็นรายได้แผ่นดิน และไม่เกินร้อยละสิบสองเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ประการที่สาม รายได้จากการจำหน่ายไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมและค่าภาษีใด ๆ ประการที่สี่ ผู้ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องจ่ายค่าอากรร้อยละ ๐.๕ ของเงินรางวัล และเมื่อพิจารณาการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลประกอบภาพรวมของบทบัญญัติต่างๆ ในพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ อันได้แก่ มาตรา ๒๒ ซึ่งบัญญัติถึงวิธีการจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายโดยให้นำเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๘ ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน มาตรา ๒๖ ซึ่งบัญญัติให้เงินที่จัดสรรไว้เพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลถ้ามีผู้สิทธิเรียกร้องเงินรางวัลไม่มาขอรับเงินรางวัลภายในกำหนดอายุความ ให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน มาตรา ๒๗ ซึ่งบัญญัติให้ค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน หากมีเหลือให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกันไว้เป็นเงินสำรองได้ไม่เกินร้อยละ ๕๐ ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และมาตรา ๓๕ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งเงินช่วยราชการที่ได้รับจากตัวแทนจำหน่ายเป็นรายได้แผ่นดินแล้วก็จะเห็นว่า บทบัญญัติของกฎหมายได้กำหนดรายรับรายจ่ายไว้เป็นการเฉพาะเพื่อให้เป็นไปโดยรัดกุม มุ่งหมายให้นำเงินรายได้ที่ได้รับส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ยิ่งไปกว่านั้น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่มีทางขาดทุนจากการจำหน่ายสลากได้เพราะรางวัลที่ต้องจ่ายจะลดลงตามจำนวนเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย แต่จากการไต่สวนเกี่ยวกับการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ข้อเท็จจริงได้ความว่า สลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เป็นการออกตามมติคณะรัฐมนตรี ในการออกจำหน่ายสลากต้องไปขออนุญาตและประทับตาสลากจากกระทรวงมหาดไทยตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ เงินรายได้จากการจำหน่ายไม่ได้กำหนดอัตราส่วนวิธีการจัดสรรเงินที่ได้รับจากการจำหน่าย เช่นเดียวกับมาตรา ๒๒ แต่กำหนดให้นำรายได้คืนสู่สังคม และกำหนดให้มีการยกเว้นและลดหย่อนภาษีไว้ ซึ่งแตกต่างกับวิธีการออกสลาก จำหน่ายและจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายของสลากกินแบ่งรัฐบาลโดยสิ้นเชิง ทั้งสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ยังมีโอกาสขาดทุนได้ ดังนั้น การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว จึงไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตามความหมายของพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ (๑)

ส่วนมาตรา ๕ (๒) ที่เป็นวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการจัดการโรงพิมพ์อันเป็นอุปกรณ์ในการพิมพ์สลากกินแบ่งรัฐบาล หรือพิมพ์สิ่งพิมพ์อื่นที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ และมาตรา ๕ (๓) ที่เกี่ยวกับกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนั้น ถือเป็นวัตถุประสงค์รองเพื่อให้การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการไปด้วยดี อย่างไรก็ดี กรณีวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ (๒) ไม่เป็นประเด็นในคดีนี้ส่วนมาตรา ๙ เป็นเพียงบัญญัติเสริมที่ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจกระทำการต่างๆ ภายในขอบวัตถุประสงค์ตามมาตรา ๕ เท่านั้น จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย สำหรับการพิจารณาว่าการกระทำใดเป็นกระทำการอื่นใดที่เกี่ยวเนื่องหรือที่เป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา ๕ (๓) หรือไม่นั้น เห็นว่า ต้องคำนึงถึงความเป็นมาและเจตนารมณ์ในการตรากฎหมายเป็นสำคัญด้วย ได้ความตามทางไต่สวนว่า พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ ตราขึ้นภายหลังเกิดเหตุการณ์วุ่นวายทางการเมือง และมีการเผาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ซึ่งแต่เดิมสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งในกระทรวงการคลัง ที่ดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ มีอำนาจออกสลากกินแบ่งรัฐบาลและสลากการกุศล โดยสามารถเก็บเงินส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ ๒๘ ไว้ใช้ในโครงการการกุศลที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเห็นสมควรอนุมัติ ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ จึงได้มีการออกพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยหมายเหตุแสดงเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ว่า "โดยที่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นกิจการที่ปฏิบัติเกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง และเป็นกิจการที่มีรายได้มากทั้งปริมาณและรายการ สมควรมีกฎหมายกำหนดให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งมีหน้าที่ในการนี้เป็นนิติบุคคล และกำหนดรายได้และรายจ่ายให้เป็นไปโดยรัดกุม เป็นกิจจะลักษณะและเหมาะสม" อันแสดงว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้มีหน่วยงานของรัฐดูแลรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อหาเงินเข้ารัฐเป็นได้รายแผ่นดิน โดยมีการจัดสรรรายรับรายจ่ายตามกรอบที่กฎหมายวางไว้ด้วยความรอบคอบโปร่งใส มิใช่ตามอำเภอใจของผู้บริหารหน่วยงานหรือของรัฐ เนื่องจากการดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเกี่ยวข้องกับประชาชนและเงินจำนวนมาก ดังนั้น การกระทำที่จะถือว่าเกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์แก่การดำเนินกิจการของสำนักงานกินแบ่งรัฐบาลนั้น จะต้องอยู่ภายใต้กรอบเจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับนี้ด้วย กล่าวคือ ต้องเกี่ยวเนื่องหรือเป็นประโยชน์แก่การดำเนินการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายนั่นเอง เพราะมิเช่นนั้นจะทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีอำนาจกระทำการใดๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัดและอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินกิจการหลักของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ต้องการกำหนดรายได้และรายจ่ายให้เป็นไปตามกรอบที่กฎหมายวางไว้เพื่อความรอบคอบโปร่งใสในการดำเนินการ คดีนี้ จำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และ ที่ ๔๒ เสนอโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว และมีการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว โดยมีวิธีการเล่นสลาก ๓ ตัว และ ๒ ตัว โดยอาศัยผลการออกรางวัลที่ ๑ และ เลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในแต่ละงวดเป็นตัวกำหนดรางวัลและการจ่ายเงินรางวัล ไม่มีการจำกัดวงเงินในการเล่นและไม่จำกัดวงเงินรางวัลที่จะจ่าย ทั้งเงินรายได้ก็ไม่นำไปส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินตามเจตนารมณ์ของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลในการออกสลากพิเศษนี้ยังอาจทำให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องเสี่ยงต่อการขาดทุน จึงได้มีการทำสัญญาขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารในวงเงินถึงสองหมื่นล้านบาท เพื่อสำรองไว้จ่ายเงินหากมีการถูกรางวัลเกินกว่าที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดสรรไว้ โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว จึงไม่ถือว่าเป็นการดำเนินการที่เกี่ยวเนื่องหรือเพื่อประโยชน์แก่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา ๕ (๓) แต่อย่างใด

ส่วนที่ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า สลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัวเป็นสลากการกุศล และหน่วยงานราชการอื่นจึงไม่มีวัตถุประสงค์ในการขอออกสลากเคยขออนุญาตคณะรัฐมนตรีออกสลากการกุศลมาแล้ว นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า เดิมเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๓๘ คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดหลักเกณฑ์การขอออกสลากการกุศลหรือสลากงวดพิเศษในเบื้องต้นไว้ว่า

๑. รายได้จากการออกสลากงวดพิเศษต้องนำไปใช้จ่ายในโครงการตามนโยบายรัฐบาลและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยส่วนราชการต้องจัดทำรายละเอียดค่าใช้จ่ายแต่ละรายการเช่นเดียวกับการเสนอขอให้งบประมาณแผ่นดินของโครงการต่างๆ

๒. โครงการตามข้อ ๑ มีความจำเป็นต้องดำเนินการแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการจากงบประมาณแผ่นดิน โดยมีความเห็นสำนักงบประมาณที่ไม่ให้การสนับสนุนงบประมาณประกอบมาด้วย

๓. ส่วนราชการเจ้าของโครงการที่ขอออกสลากงวดพิเศษต้องเสนอเรื่องผ่านกระทรวงเจ้าสังกัด พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลและเป้าหมายในการให้ชัดเจน โดยกระทรวงเจ้าสังกัดต้องควบคุมดูแล และการใช้จ่ายเงินตามโครงการต้องได้รับการตรวจรับรองจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินด้วย หากโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นต้องดำเนินการจัดซื้อจัดหาก็ให้ดำเนินการตามระเบียบของทางราชการ

๔. การออกสลากงวดพิเศษครั้งต่อไป ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องถือปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยเคร่งครัดคือ ทุกกรณีจะต้องส่งให้กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงบประมาณพิจารณาให้ความเห็นเสียก่อน ในกรณีเป็นแผงงานหรือโครงการ ต้องส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย ต่อมาปี ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบโครงการหารายได้เพื่อการสาธารณประโยชน์ด้วยการออกสลากพิเศษนอกจากนั้นกระทรวงการคลังยังได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาโครงการเพื่อการสาธารณะประโยชน์เพื่ออนุมัติและให้ความเห็นชอบในการใช้เงินรายได้ พร้อมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์การขอเงินรายได้ โดยออกระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดสรรเงินรายได้ของโครงการเพื่อการสาธารณะประโยชน์จากรายได้โดยการออกสลากพิเศษ พ.ศ.๒๕๔๕ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การขอออกสลากการกุศลเดิมที่หน่วยงานต่างๆ ขอออกสลากการกุศลที่ต้องขอออกสลากเป็นรายๆ ไปให้รัดกุมชัดเจนและเป็นระบบเดียวกัน โดยให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ เห็นว่า แม้โครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว จะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จัดสรรกลับคืนสู่สังคมและประชาชนโดยตรงในด้านการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคมและสาธารณประโยชน์อื่นๆ ก็ตาม แต่ลักษณะเนื้อหาและวิธีดำเนินการของโครงการแตกต่างจากโครงการหารายได้เพื่อการสาธารณประโยชน์ว่าด้วยการออกสลากพิเศษเมื่อโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการหารายได้ไว้ชัดเจน ทั้งรูปแบบการดำเนินการก็แตกต่างจากสลากการกุศลหรือสลากพิเศษตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเคยดำเนินการ และการออกสลากพิเศษดังกล่าวก็ไม่มีการจำกัดจำนวนงวดจำนวนเวลาและจำนวนเงินที่ต้องการดำเนินไว้ชัดเจน ดังนั้น สลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว จึงไม่ใช่สลากการกุศลตามที่ฝ่ายจำเลยอ้าง ยิ่งกว่านั้น การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว กลับเป็นการมอบภารกิจให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องดำเนินการเสมือนเป็นภารกิจหลักควบคู่กับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล อันเป็นการดำเนินการนอกวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อยังมิได้มีการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติมเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว จึงย่อมเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฉะนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จึงเห็นได้ว่า การที่จำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ มีมติในการประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเสนอโครงการต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เพื่อนำรายได้คืนสู่สังคม เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คณะรัฐมนตรีมติอนุมัติโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๒ ตัว (หวยบนดิน) ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙ หรือไม่ และการประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมืองในฐานะเจ้าพนักงานหรือไม่ เห็นควรวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมืองในฐานะเจ้าพนักงานหรือไม่เสียก่อน เห็นว่า นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี เป็นข้าราชการการเมืองตามพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายการเมือง พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๔ (๒)(๓)(๖) และมาตรา ๕ และการเข้าประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นหน้าที่ในการบริหารราชการ บริหารกิจการของบ้านเมือง ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๕ มาตรา ๑๐, ๑๑, ๑๒, ๑๕ และ ๑๘ และเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีในการประชุมคณะรัฐมนตรี ทั้งในการประชุมคณะรัฐมนตรีก็มีระเบียบว่าด้วยการเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ระเบียบว่าด้วยการประชุมของคณะรัฐมนตรี และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี การที่มีระเบียบของทางราชการออกมาเพื่อกำหนดหลักปฏิบัติในการดำเนินการและในการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งการดำเนินการบางอย่างในการบริหารราชการแผ่นดินจะกระทำได้ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน ทั้งตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินก็ยังกำหนดตำแหน่งของเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไว้ที่จะต้องรับผิดชอบต่อคณะรัฐมนตรี เมื่อนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นข้าราชการฝ่ายการเมือง และต้องเข้าทำหน้าที่ตามบทกฎหมายที่กำหนดให้ข้าราชการฝ่ายการเมืองจะต้องปฏิบัติ ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการการเมืองในฐานะเจ้าพนักงานตามกฎหมายแล้ว

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙ หรือไม่ เห็นว่า ได้วินิจฉัยไปแล้วข้างต้นว่าการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙ ทั้งการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่ใช่สลากการกุศล เพราะลักษณะเนื้อหาและวิธีดำเนินการขอโครงการแตกต่างจากโครงการหารายได้เพื่อการสาธารณประโยชน์ว่าด้วยการออกสลากพิเศษตามที่เคยดำเนินการมา ทั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะหารายได้ไปใช้ในการกุศล เนื่องจากวัตถุประสงค์หลักของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นมาก็เพื่อหาเงินรายได้ส่งเป็นรายได้แผ่นดิน และวางระบบเรื่องรายรับและรายจ่ายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอย่างชัดเจนและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้มีการนำเงินไปใช้จ่ายอย่างไม่เหมาะสม แม้ฝ่ายจำเลยจะอ้างว่า วัตถุประสงค์ของการออกสลากพิเศษแบบ ๓ ตัว และ ๒ ตัว สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการปราบปรามผู้อิทธิพลหรือเจ้ามือหวยใต้ดิน และการออกสลากดังกล่าวมีผลในเชิงปราบปรามผู้มีอิทธิพลและทำให้การขายหวยใต้ดินลดลงก็ตาม แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงหลักการกระทำทางปกครองต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว การที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติในออกมาซึ่งมีผลต่อการใช้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานใดของรัฐแล้ว มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบเจตนารมณ์ของกฎหมายนั้นด้วย ซึ่งในที่นี้คือเจตนารมณ์ตามพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ คณะรัฐมนตรีไม่อาจมีมตินอกกรอบเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของกฎหมายหรือฝ่าฝืนต่อกฎหมายได้ ที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า คณะรัฐมนตรีเพียงแต่เห็นชอบในหลักการของโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว หากจะต้องมีกฎหมายหรือแก้กฎหมายมารองรับก็เป็นเรื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต้องไปดำเนินการตามกฎหมาย ก็เห็นว่า มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในหลักการตามโครงการที่เสนอมานั้น ก็เทียบเท่ากับเป็นการอนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการที่เสนอมาดังกล่าว โดยให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐมนตรีดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) นำเงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วคืนสู่สังคมกับให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีแล้ว ทั้งหากคณะรัฐมนตรีเห็นว่าควรต้องมีการแก้ไขกฎหมายมารองรับก่อนก็ควรระบุไว้ในมติ ไม่ควรที่จะลงมติอนุมัติให้ดำเนินไปก่อน เพราะจะเป็นการขัดต่อกฎหมายได้ส่วนที่จำเลยที่ ๗ อ้างว่า มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เป็นรูปแบบที่ฝ่ายนโยบายสั่งลงไปยังสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี โดยเป็นรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากรูปแบบเดิมที่ฝ่ายปฏิบัติเป็นผู้เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนนั้น เห็นว่า แม้มติคณะรัฐมนตรีในเรื่องโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว จะเป็นการสั่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดำเนินการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาก่อนได้ หากคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของจำเลยที่ ๑ ไม่เห็นด้วยกับมติคณะรัฐมนตรีครั้งก่อน ก็สมควรที่จะมีมติยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงมติคณะรัฐมนตรีในครั้งก่อนเสียก่อนอันเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติของคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมา มาใช่มติได้โดยอำเภอใจ ไม่เคารพหลักเกณฑ์ที่ดำเนินการต่อเนื่องกันมาได้ ดังนี้ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า มติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติโครงการสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว (หวยบนดิน) ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๕ และมาตรา ๙

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติให้นำเงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการกลับคืนสู่สังคม ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ มาตรา ๔, ๑๓ และฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๒๓, ๒๗ หรือไม่ เห็นว่าพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ มาตรา ๔ บัญญัติว่า

"ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓ บรรดาเงินทั้งปวงที่พึงชำระให้แก่รัฐบาล ไม่ว่าเป็นภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินกู้ หรือเงินอื่นใด หัวหน้าส่วนราชการที่ได้เก็บหรือรับเงินนั้นมีหน้าที่ควบคุมให้ส่งเข้าบัญชีคงคลังบัญชีที่ ๑ หรือส่งคลังจังหวัดหรืออำเภอตามกำหนดเวลาและข้อบังคับที่รัฐมนตรีกำหนด โดยไม่หักเงินไว้เพื่อการใดๆ เลย

รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดข้อบังคับอนุญาตให้หัวหน้าส่วนราชการใดๆ หักรายจ่ายจากเงินที่จะต้องส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ ๑ หรือส่งคลังจังหวัดหรือคลังอำเภอได้ ในกรณีดังนี้

(๑) รายจ่ายที่หักนั้นเป็นรายจ่ายที่มีกฎหมายอนุญาตให้จ่ายได้

(๒) รายจ่ายที่จำเป็นต้องจ่ายตามระเบียบที่ได้รับความตกลงจากกระทรวงการคลังเพื่อเป็นค่าสินบนรางวัล หรือค่าใช้จ่ายในการจัดให้ได้มาซึ่งเงินอันพึงต้องชำระให้แก่รัฐบาล

(๓) รายจ่ายที่ต้องจ่ายคืนให้แก่บุคคลใดๆ เพราะเป็นเงินอันไม่พึงต้องชำระให้แก่รัฐบาล"

มาตรา ๑๒ บัญญัติว่า "องค์การใดๆ ของรัฐบาลที่ได้ตั้งขึ้นแล้วก่อนวันใช้พระราชบัญญัตินี้หรือที่จะตั้งขึ้นใหม่ บรรดาที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนนั้น ให้รัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และการนำทุนหรือผลกำไรเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ ๑"

ส่วนพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๒๒ บัญญัติว่า "เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลให้จัดสรรดังนี้

(๑) ร้อยละหกสิบเป็นเงินรางวัล

(๒) ไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบแปดเป็นรายได้แผ่นดิน

(๓) ไม่เกินกว่าร้อยละสิบสองเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย"

มาตรา ๒๓ บัญญัติว่า "เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับไว้นอกจากเงินที่ได้รับตามมาตรา ๒๒ ให้สมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหาร"

มาตรา ๒๗ บัญญัติว่า "ค่าใช้จ่ายในการบริหารตามมาตรา ๒๒ (๓) มาตรา ๒๓ และมาตรา ๒๔ ในปีหนึ่งๆ หากมีเหลือให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกันไว้เป็นเงินสำรองได้ไม่เกินร้อยละห้าสิบ ส่วนที่เหลือให้นำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน

เมื่อใดรัฐมนตรีเห็นว่าเงินที่กันไว้เป็นเงินสำรองตามวรรคหนึ่งมีจำนวนสูงเกินสมควรหรือเกินความจำเป็น รัฐมนตรีโดยลำพังหรือโดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ลดจำนวนเงินสำรองนั้นลงให้คงเหลือเท่าที่รัฐมนตรีเห็นสมควร ในกรณีดังว่านี้ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลนำส่งเงินที่สูงไปกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนดเป็นรายได้แผ่นดิน"

ในปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ นั้น เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ แล้ว จะเห็นว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมาย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับโดยทั่วไป และมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและมีผู้แทนจากหน่วยราชการอื่นเป็นกรรมการ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการภายใต้กรอบวัตถุประสงค์และตามที่กฎหมายของ "องค์กรใดๆ ของรัฐบาล" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓ แล้ว ทั้งยังได้ความจากพยานซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินการคลัง และมีประสบการณ์การทำงานเกี่ยวกับการเงินการคลังมาเป็นเวลาหลายสิบปี คือ ศาสตราจารย์พนัส สิมะเสถียร อดีตปลัดกระทรวงการคลังว่า เงินคงคลังมี ๒ บัญชี บัญชีที่ ๑ คือ บัญชีที่รับเงินจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดิน บัญชีที่ ๒ คือ บัญชีที่จ่ายเงินออกจากเงินคงคลัง และจากศาสตราจารย์อิสสระ นิติทัณฑ์ประภาส อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานประมาณว่า เงินคงคลังคือเงินเหลือจ่ายแต่ละปีของส่วนราชการต่างๆ ที่นำส่งให้แก่กระทรวงการคลัง รวมทั้งเป็นรายได้ของรัฐบาลจากการจัดเก็บภาษีอากร เงินรายได้อื่นๆ ที่ส่วนราชการรับไว้ และเงินภาษีอากรที่จัดเก็บได้หรือเงินรายได้ที่ได้มาจากผลกำไรในการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยนำส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งคำให้การของพยานดังกล่าวตรงตามที่มาตรา ๔ แห่ง พระราชบัญญัติเงินคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ บัญญัติไว้ว่า ให้นำเงินทั้งปวงที่พึงชำระให้แก่รัฐบาลหลังจากที่หักรายจ่ายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔ และข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงินที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกตามมาตรา ๑๓ แล้ว ส่งเข้าบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ ๑ นอกจากนี้ แม้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีบทบัญญัติในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ กำหนดเกี่ยวกับการบริหารการเงินการคลังที่เกิดจากรายได้ขององค์กรโดยเฉพาะก็ตาม แต่ก็เห็นว่ายังคงอยู่ภายใต้กรอบความหมายของ "ส่วนราชการ" ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ ที่มีความหมายทั่วไปกินความรวมถึง "องค์กรใดๆ ของรัฐบาล" ตามมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย เพราะพระราชบัญญัติฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายทั่วไปที่วางหลักเกณฑ์ในการจัดการเกี่ยวกับระบบบริหารการเงินการคลังของแผ่นดิน บทกฎหมายเฉพาะเช่นที่บัญญัติในพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ ไม่ได้มีผลเป็นการลบล้างการบังคับ ใช้บทกฎหมายทั่วไปด้วยแต่อย่างใด สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงมีหน้าที่ต้องนำเงินรายได้จากการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ส่งบัญชีเงินคงคลังบัญชีที่ ๑ ตามพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ มาตรา ๔ และ ๑๓ ที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า เงินรายได้จากการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่ได้เป็นเงินทั้งปวงที่พึงชำระให้แก่รัฐบาลตามความหมายในมาตรา ๔ เพราะบรรดาเงินทั้งปวงที่พึงจ่ายให้แก่รัฐบาล หมายถึงภาษีอากร ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ เงินกู้หรือเงินอื่นใด ซึ่งเงินอื่นใดหมายถึงเงินที่ไม่ใช่ภาษีอากรหรือค่าธรรมเนียมที่มีกฎหมายให้เรียกเก็บเช่นค่าปรับ หรือเก็บได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ก็เห็นว่าคำว่าเงินอื่นใดหมายถึงเงินใดๆ ที่ได้รับไว้แม้จะเป็นเงินที่เรียกเก็บโดยไม่มีกฎหมายให้เรียกเก็บก็ตาม เพราะหากองค์กรของรัฐที่ได้รับเงินมาโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ถ้าไม่ต้องส่งเป็นรายได้ให้แก่รัฐตามที่จำเลยอ้างแล้ว องค์กรของรัฐนั้นก็จะสามารถนำเงินไปใช้จ่ายอิสระตามอำเภอใจซึ่งผิดหลักการของการบริหารการเงินการคลังของประเทศ

ในปัญหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๒๓, ๒๗ นั้น เห็นว่า เมื่อสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว มิใช่เป็นสลากกินแบ่งรัฐบาลจะสลากการกุศลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว แต่โดยที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการออกสลากดังกล่าว ดังนั้น เงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากดังกล่าวจึงถือว่าเป็นเงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับนอกจากเงินที่ได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งมาตรา ๒๓ และ ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องนำมาสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน แต่หากมีเหลือในแต่ละปี ก็อาจกันเงินดังกล่าวเป็นเงินสำรองได้ไม่เกินร้อยละห้าสิบ แล้วต้องนำส่งส่วนที่เหลือเป็นรายได้แผ่นดิน ส่วนที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นเพียงผู้รับจ้าง ดำเนินการไม่ใช่ผู้รับประโยชน์จากการจำหน่ายสลาก รายได้จากการจำหน่ายสลากจึงไม่ใช่รายได้ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล และเงินดังกล่าวถือเป็นเงินนอกบัญชีการเงินเนื่องจากเป็นเงินรายได้ของกองทุนเงินรางวัลตามที่คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติให้ตั้งขึ้นนั้นเห็นว่า สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการโครงการออกสลากพิเศษแบบ ๓ ตัว และ ๒ ตัว มาตั้งแต่ต้น โดยคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติเสนอโครงการต่อกระทรวงการคลังเพื่อให้นำคณะรัฐมนตรี หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการแล้ว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้ดำเนินการออกสลากจำหน่ายโดยใช้ทรัพย์สินและบุคลากรของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งสิ้น ทั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลยังเป็นผู้มีอำนาจอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าว แม้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่สามารถใช้จ่ายรายได้จากการจำหน่ายสลากดังกล่าวได้โดยพลการก็ตาม แต่ก็เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว เงินดังกล่าวจึงเป็นเงินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล สำหรับการจัดตั้งกองทุนเงินรางวัลนั้น ก็ปรากฎว่าไม่มีกฎหมายบัญญัติขึ้นมารองรับและไม่อาจถือได้ว่ากองทุนเป็นเจ้าของเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว การบริหารจัดการเงินดังกล่าวจึงต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๓ และ ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ ดังนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า การที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติให้นำเงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการกลับคืนสู่สังคม เป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติเงินคงคลัง พ.ศ.๒๔๙๑ มาตรา ๔,๑๓ และ ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ มาตรา ๒๓,๒๗ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีโดยฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ ที่แก้ไขพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐)พ.ศ.๒๕๐๐ เพิ่มเติมเป็นมาตรา ๕ จตุทศ(๒) และฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗(พ.ศ.๒๕๐๓) และกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ หรือไม่ นั้น เห็นควรวินิจฉัยในปัญหาการได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินรางวัลและเงินได้จากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลากการกุศลงวดพิเศษตามประมวลรัษฎากรก่อน เห็นว่าพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๕ จตุทศ บัญญัติว่า "ให้ยกเว้นรัษฎากรดังต่อไปนี้แก่การออกสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

(๑)ภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินรางวัลซึ่งยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ ๑.๐ ของรางวัล โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืนหรือไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้นั้น ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

(๒)ภาษีเงินได้ตามส่วน ๒ และส่วน ๓ หมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลาก

(๓)ภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด ๔ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับการขายสลาก

ทั้งนี้ ไม่ว่าเงินได้หรือการขายนั้นจะได้รับหรือได้กระทำก่อนหรือหลังวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ"

จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นได้ว่า กรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลาก ต้องเป็นกรณีที่เป็นการออกสลากการกุศลงวดพิเศษที่คณะรัฐมนตรีมีมติว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเท่านั้น ซึ่งได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ไปแล้วว่า สลากพิเศษแบบ เลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่เป็นสลากการกุศล เพราะแม้โครงการดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้จัดสรรกลับคืนสู่สังคมและประชาชนโดยตรงในด้านการศึกษา การแพทย์ ศาสนา สังคมและสาธารณประโยชน์ อันถือว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนก็ตาม แต่ลักษณะเนื้อหาและวิธีดำเนินการของโครงการแตกต่างจากโครงการหารายได้เพื่อการสาธารณประโยชน์ว่าด้วยการออกสลากพิเศษ ทั้งรูปแบบการดำเนินการก็แตกต่างจากสลากการกุศลหรือสลากพิเศษตามที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเคยดำเนินการมา โดยเฉพาะโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว นี้ ไม่ได้กำหนดเป้าหมายการหารายได้ไว้ชัดเจน ไม่มีการจำกัดจำนวนงวด จำนวนเวลาในการดำเนินการและจำนวนเงินที่ต้องการไว้ให้แน่นอน ไม่มีการกำหนดให้จ่ายเงินรางวัลเป็นไปตามสัดส่วนของการจำหน่ายสลากได้ ซึ่งส่งผลให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีโอกาสขาดทุนจากการดำเนินการดังกล่าว อันเป็นการนำระบบการเงินการคลังของประเทศไทยไปเสี่ยงกับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในขณะดำเนินโครงการด้วย ยิ่งกว่านั้น การออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว กลับเป็นการมอบภารกิจให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องดำเนินการเสมือนเป็นภารกิจหลักควบคู่กับการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล อันเป็นการดำเนินการนอกวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้ฝ่ายจำเลยจะอ้างว่ามีเจตนาดีต้องการหารายได้เพื่อไปใช้ในกิจการสาธารณกุศลก็หาทำให้สลากพิเศษ แบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ดังกล่าวกลายเป็นสลากการกุศลอันจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลากตามประมวลรัษฎากรด้วยไม่

สำหรับในปัญหาการลดหย่อนภาษีการพนันนั้น กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔๓ (พศ. ๒๕๔๓) ซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธ ศักราช ๒๔๗๘ ข้อ ๑ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็น(๔)ของข้อ ๑๒ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๐๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ ดังนี้

"(๔)ผู้รับใบอนุญาตการเล่นสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศลโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เสียภาษีในอัตรา ๐.๕ แห่งยอดราคาสลากซึ่งมีผู้รับซื้อก่อนหักรายจ่าย"

ตามบทบัญญัติดังกล่าว เห็นได้ว่า กรณีที่จะได้รับการลดหย่อนภาษีการพนันนั้นจะต้องเป็นสลากกินแบ่งที่มีวัตถุประสงค์เพื่อนำรายได้ไปใช้ในกิจการสาธารณกุศล ซึ่งศาลได้วินิจฉัยในประเด็นก่อนแล้วว่า สลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่ใช่ทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและมิใช่สลากการกุศล อย่างไรก็ดี เนื่องจากการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัวและ ๒ ตัว มีวิธีการเล่นและเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัลเหมือนกับหวยใต้ดิน ที่มีการเล่นกันอยู่ทั่วไปจึงเห็นควรพิจารณาว่าสลากดังกล่าวเป็นสลากกินรวบหรือไม่ เห็นว่า คำว่า "สลากกินรวบ" ไม่มีการบัญญัติคำจำกัดความไว้เป็นการเฉพาะในบัญชี ข.๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ หรือกฎหมายอื่น แต่เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๓ อันเป็นที่มาของพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ แล้ว มีคำว่า "สลากกินรวบ" อยู่ในบัญชี หมาย ๒ หมายเลข ๑๖ ซึ่งไม่อยู่ภายในบังคับของมาตรา ๔ วรรคท้าย ของพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน ที่จะถูกกำหนดห้ามมิให้จ่ายรางวัลเป็นเงิน ซึ่งเป็นประเด็นเรื่องการจ่ายรางวัลของสลากกินรวบนี้ได้รับการยืนยันจากนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ในชั้นไต่สวนของศาลว่าสลากกินรวบอาจจ่ายรางวัลเป็นเงินหรือของก็ได้ นอกจากนี้ ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๙๕/๒๔๙๑ และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๙๘/๒๔๙๖ ว่า ทำเลขสลากขึ้นขาย เมื่อสลากกินแบ่งของรัฐบาลออก ผู้ซื้อสลากคนใดมีเลข ๓ ตัว ตรงกับเลขท้าย ๓ ตัว ของรางวัลที่ ๑ ผู้นั้นก็รับของไป ดังนี้ เป็นการพนันประเภทสลากกินรวบอยู่ในประเภท ข. ตามพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ และการจำหน่ายสลากโดยถือเอาเลขท้าย ๓ ตัว ของรางวัลที่ ๑ ของสลากกินแบ่งรัฐบาลที่จะออกเป็นเลขแพ้ชนะ ถ้าสลากที่ซื้อตรงกับเลขท้ายของสลากกินแบ่งรัฐบาล เจ้ามือจะเป็นผู้ใช้เงินให้ ศาลในคดีที่อ้างถึงจึงวินิจฉัยว่าจำเลยในคดีดังกล่าวเป็นเจ้ามือเล่นการพนันสลากกินรวบ นอกจากนั้น พันตำรวจเอกทัศนะ คล่องพยาบาล นายสมพร พรหมหิตาธร ผู้ชำนาญการพิเศษด้านกฎหมายการพนัน ก็ให้ความเห็นในทำนองเดียวกันว่า สลากกินรวบมีลักษณะการเล่นเสี่ยงโลขที่คล้ายคลึงกันกับการเล่นการพนันสลากกินแบ่ง โดยต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดจำหน่ายสลาก มีโอกาสถูกรางวัลได้เพียงหมายเลขเดียวเท่านั้น ส่วนสลากกินแบ่งมีโอกาสที่จะถูกรางวัลได้หลายรางวัล ทั้งตามความเข้าใจของประชาชนหรือชาวบ้านทั่วไปเมื่อพูดถึงคำว่า "หวย" ย่อมเข้าใจว่าหมายถึง "สลากกินรวบ" ด้วยในตัว ดังนั้น เมื่อสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว มีวิธีการเล่นและเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัลเหมือนกับหวยใต้ดินที่มีการเล่นกันอยู่ทั่วไป แม้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ จะให้ความหมายของคำว่า "สลากกินรวบ" ว่าเป็นเพียงสลากชนิดที่จำหน่ายแก่ผู้ถือเพื่อรับสิ่งของเป็นรางวัลในการเสี่ยงโชคโดยจำหน่ายรวบเงินค่าสลากไว้ทั้งหมดก็ตาม ก็หามีผลให้สลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่เป็นสลาก กินรวบตามความหมายของพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘ บัญชี ข. อันดับที่ ๑๖ แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น สลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับลดหย่อนภาษีการพนันได้ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่า การที่คณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลมีมติให้ยกเว้นและลดหย่อนภาษีจึงเป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามความในประมวล รัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร(ฉบับที่ ๓๑๐) พ.ศ.๒๕๔๐ ที่แก้ไขพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๐๐ เพิ่มเตอมเป็นมาตรา ๕ จตุทศ (๒) และฝ่าฝืนต่อกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๗ (พ.ศ.๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช ๒๔๗๘

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๒ ถึง ๓๐ ร่วมประชุมมีมติให้ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว และมีเจตนาร่วมกันกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ หรือต่างเป็นผู้ใช้ให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำความผิดต่อกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และมีเจตนาทุจริตหรือไม่ และจำเลยคนใดจะมีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องอย่างไรบ้าง ในเบื้องต้นเห็นควรพิจารณาในส่วนของจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ ซึ่งเป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ร่วมมีมติในการเสนอ โครงการดังกล่าวก่อน ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวน และจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ ๔๒ ตามเอกสารหมาย จ.๓๓๔ คำเบิกความจำเลยที่ ๗ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโร อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ประชุมเรื่องดังกล่าวตลอดมา ต่อมาจำเลยที่ ๑ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เรียกจำเลยที่ ๓๑ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังและประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และจำเลยที่ ๔๒ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปพบแล้วสั่งให้รีบดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้จัดให้มีการวิจัยสัมมนา ปรากฎว่าเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะนำหวยใต้ดินมาทำให้ถูกกฎหมาย ต่อมาในช่วงต้นปี ๒๕๔๖ รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลและเจ้ามือหวยใต้ดินให้หมดไปอย่างจริงจัง โดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลหรือผลกระทบทางการเมืองจำเลยที่ ๑ จึงสั่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจัดจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว โดยจัดพิมพ์สลากใบออกจำหน่าย ไม่ต้องรอเครื่องพิมพ์จำหน่าย พร้อมทั้งได้เชิญจำเลยที่ ๑๐ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง จำเลยที่ ๓๑ ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการคลังและประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล กับจำเลยที่ ๔๒ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ไปพบและสั่งการให้รีบดำเนินการออกสลากแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เพื่อนำเงินรายได้คืนสู่สังคมโดยด่วน คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกอบด้วยจำเลยที่ ๓๑ ที่ ๓๓ ที่ ๓๕ ที่ ๓๗ ที่ ๔๑ และที่ ๔๒ จึงได้ร่วมประชุมและมีมติอนุมัติให้ดำเนินการโครงการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๔๖ หลังจากนั้น จำเลยที่ ๙ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ทำหนังสือลงวันที่ ๘ กรกฎาคม ๓๕๔๖ เสนอโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เพื่อนำรายได้คืนสู่สังคมโดยอ้างถึงนโยบายรัฐบาลที่จัดให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจังในด้านการปราบปรามผู้มีอิทธิพลซึ่งกระทำผิดกฎหมาย จำเลยที่ ๑๐ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้นำหนังสือของจำเลยที่ ๙ เสนอจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและไม่ได้ผ่านรองนายกรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กลั่นกรองเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ โดยนำเสนอเป็นวาระพิจารณาเพิ่มเติม ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ หลังจากนั้นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ตั้งแต่งวดวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ จนถึงงวดวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๔๘ จึงได้ยกเลิก เห็นว่า จำเลยที่ ๓๑ เป็นประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และจำเลยที่ ๔๒ เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับงานของสำนักสลากกินแบ่งรัฐบาล ย่อมต้องมีความเข้าใจถึงกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งวัตุประสงค์ของการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและบทบาทภารกิจของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นอย่างดีว่า กฎหมายมีเจตนารมณ์ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อหาเงินเข้ารัฐเป็นรายได้แผ่นดิน โดยให้มีการจัดสรรรายรับรายจ่ายตามกรอบที่กฎหมายวางไว้ด้วยความรอบคอบโปร่งใส่ มิใช่กระทำตามอำเภอใจของผู้บริหารหน่วยงานหรือของรัฐ เนื่องจากการดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเกี่ยวข้องกับประชาชนและเงินจำนวนมาก และจะต้องทราบด้วยว่าการดำเนินการตามโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ไม่อาจกระทำได้เพราะอยู่นอกกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แม้ทางไต่สวนจะปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้เรียกจำเลยที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ไปพบและสั่งการให้รีบดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เพื่อนำรายได้คืนสู่สังคมโดยเร็วก็ตาม แต่จำเลยที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ในฐานะผู้ดูแลรับผิดชอบหน่วยงานของรัฐก็น่าจะทัดทานหรือทักท้วงการสั่งการที่มิชอบดังกล่าวเพื่อรักษาผลประโยชน์ของหน่วยงานของรัฐที่ตนดูแลรับผิดชอบ หรือเสนอแนะให้มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ให้รวมถึงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เสียก่อน แต่กลับหลีกเลี่ยงการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยวิธีการเทียบเคียบรูปแบบการออกสลากการกุศลที่ส่วนราชการอื่นเคยขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีมาแล้ว เพื่อให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลสามารถดำเนินการเองได้ เพื่อหาเงินมาใช้จ่ายตามวัถตุประสงค์ที่ต้องการโดยไม่ส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน อันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.๒๕๑๗ แม้จำเลยที่ ๓๑ และที่ ๔๒ จะอ้างว่าได้กระทำตามนโยบายรัฐบาลในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลและเจ้ามือหวยใต้ดินก็ตาม แต่จำเลยที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ในฐานะผู้บริหารระดับสูงย่อมต้องทราบดีว่าการดำเนินการใดๆ ของหน่วยงานของรัฐนั้นต้องอยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายที่จัดตั้งหน่วยงานของรัฐนั้น แม้นโยบายของรัฐจะเป็นนโยบายที่ดีมีประโยชน์ แต่หากไม่อยู่ภายใต้กรอบวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมายในการจัดตั้งหน่วยงานของรัฐนั้นแล้ว ย่อมไม่อาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ ยังได้ความว่าก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว นายคำนวณ ชโลปถัมภ์ ประธานคณะกรรมาธิการการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ได้มีหนังสือท้วงติงตามเอกสารหมาย จ.๒๒๗ แผ่นที่ ๖๕๗๘ ถึง ๖๕๘๒ ว่าการออกสลากพิเศษดังกล่าวอยู่นอกกรอบวัตถุประสงค์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพร้อมเสนอแนะให้ดำเนินการแก้ไขเพิ่มวัตถุประสงค์ของกฎหมายเสียก่อน ซึ่งจำเลยที่ ๔๒ ก็ได้รับทราบหนังสือนั้นแล้ว อีกทั้งนายธรรมนูญ ศรีวาลัย หัวหน้าฝ่ายกฎหมายในฐานะผู้กระทำการแทนจำเลยที่ ๔๒ ก็ได้มีหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ตามเอกสารหมาย จ. ๒๒๗ แผ่นที่ ๖๖๐๙ เห็นด้วยกับข้อเสนอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าว แต่จำเลยที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ก็หาได้มีการดำเนินการให้ถูกต้องแต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้ ในการดำเนินการตามโครงการดังกล่าว จำเลยที่ ๔๒ ย่อมทราบด้วยว่าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลอาจขาดทุนจากการดำเนินการดังกล่าว จึงได้เสนอให้มีการทำสัญญาขอเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารออมสิน ในวงเงินสูงถึงสองหมื่นล้านบาท จากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการยืนยันว่า จำเลยที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าโครงการดังกล่าวไม่อาจทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ยังฝืนดำเนินการเพื่อให้ได้เงินมาใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการโดยไม่ผ่านวิธีการงบประมาณแผ่นดินและเพื่อไม่ต้องนำเงินส่งเป็นนรายได้แผ่นดิน โดยไม่คำนึงว่าจะเป็นการนำระบบการเงินการคลังของประเทศไปเสี่ยงต่อความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากการขาดทุนในการจำหน่ายสลากดังกล่าวจำเลยที่ ๑๐ ที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว นั้น เห็นว่า ได้ความจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของจำเลยที่ ๔๒ ตามเอกสารหมาย จ.๓๓๔ คำเบิกความของจำเลยที่ ๗ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และคุณพรทิพย์ จาละ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า ช่วงต้นปี ๒๕๔๖ รัฐบาลมีนโยบายปราบปรามผู้มีอิทธิพลและเจ้ามือหวยใต้ดินให้หมดไปอย่างจริงจังโดยไม่เกรงกลัวอิทธิพลหรือผลกระทบทางการเมือง จำเลยที่ ๑ สั่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลพิจารณาการจัดจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว โดยการจัดสลากใบออกจำหน่ายก่อนโดยมิต้องรอเครื่องจำหน่ายและเชิญจำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ไปพบพร้อมกับได้สั่งการและมอบนโยบายให้รีบดำเนินการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เพื่อนำเงินรายได้กลับคืนสู่สังคมโดยเร่งด่วน ต่อมาวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ จำเลยที่ ๙ ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเสนอโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัวเพื่อนำรายได้คืนสู่สังคมต่อคณะรัฐมนตรี โดยมีจำเลยที่ ๑๐กับผู้แทนกระทรวงการคลังและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเข้าชี้แจงในที่ประชุม คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการดังกล่าวเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามทางไต่สวนว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีในเรื่องโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว นั้น เป็นการประชุมในวาระพิจารณาเพิ่มเติมโดยคณะรัฐมนตรีได้อ่านเอกสารการประชุมซึ่งแจกในระหว่างการประชุมนั้นเอง แม้จำเลยที่ ๑ จะเคยกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมาบ้างแล้วก็ตาม ก็เห็นว่าเป็นเพียงการปรารภในหลักการเท่านั้น ฉะนั้น ในส่วนของรายละเอียดของโครงการนั้น เชื่อว่าคณะรัฐมนตรีที่ไม่ได้รับผิดชอบในโครงการดังกล่าวโดยตรงไม่สามารถศึกษาได้ทัน ประกอบกับก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติ ผู้แทนกระทรวงการคลังและสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเข้าชี้แจงในที่ประชุมและยืนยันว่าทำได้ตามกฎหมาย ดังนั้น การมีมติของคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการมีมติไปตามธรรมเนียมปฏิบัติการของการประชุมคณะรัฐมนตรี และขาดเจตนาพิเศษในการกระทำความผิดร่มกับจำเลยที่ ๑๐ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำเลยที่ ๙ เพียงแต่ลงลายมือชื่อเสนอโครงการต่อคณะรัฐมนตรีเท่านั้น โดยไมได้เข้าไปมีส่วนรับรู้หรือเกี่ยวข้องกับโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่แรกด้วย พยานหลักฐานที่ได้ความตามทางไต่สวนจึงฟังไม่ได้ว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งประกอบด้วยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ และที่ ๑๑ ถึงที่ ๓๐ กระทำความผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ดังที่ได้วินิจฉัยไปแล้ว กรณีนี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ ๖, ที่ ๗, ที่ ๑๕, ที่ ๒๓, ที่ ๒๕, ที่ ๒๗, ที่ ๒๘ และที่ ๓๐ ว่าจำเลยดังกล่าวอยู่ในห้องประชุมคณะรัฐมนตรีและร่วมมีมติอนุมัติโครงการด้วยหรือไม่อีก ดังนั้นองค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก จำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และจำเลยที่ ๔๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ประกอบมาตรา ๘๖ และพระราชญัญัติดว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๑๑

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓๒ ที่ ๓๔ ที่ ๓๖ ที่ ๓๘ ที่ ๓๙ ที่ ๔๐ ที่ ๔๓ ถึงที่ ๔๗ ได้ร่วมกันประชุมและมีมติให้จ่ายเงินรายได้คืนสู่สังคมโดยทุจริตกับใช้ให้เจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จ่ายทรัพย์ จ่ายทรัพย์นั้นเกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือไม่ นั้น เห็นว่า ทางไต่สวนได้ความว่า จำเลยดังกล่าวต่างเป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งได้รับแต่งตั้งมาจากหน่วยงานต่างๆ ได้เข้าร่วมประชุมและมีมติอนุมัติจ่ายเงินรายได้จากโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว คืนสู่สังคม ตามที่คณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์พิจารณา และภายหลังจากที่ได้มีดำเนินการตามโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว ๒ ตัว ไปแล้ว โดยที่จำเลยดังกล่าวไม่ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการตั้งแต่ต้น แต่กลับเข้าใจว่าโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เป็นโครงการที่ชอบด้วยฏหมายเพราะผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผ่านมติคณะรัฐมนตรีมาแล้ว ประกอบกับการอนุมัติเบิกจ่ายก็เพื่อประโยชน์แก่เด็กยากจนและด้อยโอกาส และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการโดยไม่ปรากฎว่าจำเลยดังกล่าวมีเจตนาทุจริตในการอนุมัติให้จ่ายเงินดังกล่าวหรือยักยอกเงินดังกล่าวไปเป็นเงินของตนหรือของผู้อื่นโดยมิชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก การมีมติให้จ่ายเงินรายได้จากโครงการจำหน่ายสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว ของจำเลยที่ ๓๒ ที่ ๓๔ ที่ ๓๖ ที่ ๓๘ ที่ ๓๙ ที่ ๔๐ ถึงที่ ๔๗ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๔๖ ถึงวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๔๗ จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลผลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗, ๑๕๓, ๑๕๔ และมาตรา ๑๕๗ และพระราชบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๓,๔,๘,๙,๑๐,๑๑ ตามฟ้อง

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไป ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ และที่ ๔๒ เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม เห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ และที่ ๔๒ จะร่วมกันมีมติรวม ๓ ประการ คือ ให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย ๓ ตัว และ ๒ ตัว เพื่อนำเงินรายได้คืนสู่สังคม และให้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษี แต่ก็เป็นมติที่เกิดขึ้นจากการลงมติในคราวเดียว เพื่อวัตถุประสงค์ในการดำเนินการโครงการเดียวกัน และให้เกิดผลในคราวเดียวองค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า การกระทำของจำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ และที่ ๔๒ เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยเป็นประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ และที่ ๔๒ ต้องร่วมรับผิดคืนหรือชดใช้เงินตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๐ ที่ ๔๒ ไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่จัดการหรือรักษาทรัพย์เบียดบังเอาเงินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไปโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๗ องค์คณะผู้พิพากษาจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกให้จำเลยที่ ๑๐ ที่ ๓๑ ที่ ๔๒ ร่วมกันคืนทรัพย์สินหรือราคาแทนผู้เสียหายได้ตามประมวลกฎหมายวิพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๓ ประกอบพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๘ วรรคสอง

สำหรับประเด็นข้อต่อสู้อื่นที่ฝ่ายจำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างนั้น เห็นว่า ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสาระคำวินิจฉัยของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองดังได้วินิจฉัยมาข้างต้นแต่อย่างใด จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย

พิพากษาว่า จำเลยที่ ๑๐ และจำเลยที่ ๓๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๓ จำคุกจำเลยที่ ๑๐ มีกำหนด ๒ ปี และปรับ ๒๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๓๑ มีกำหนด ๒ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๓๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗, ๘๖ และพระราชบัญญํติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ การกระทำของจำเลยที่ ๔๒ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมาย หลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ การกระทำของจำเลยที่ ๔๒ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมาย หลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคามผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๐๒ มาตรา ๑๑ อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๒ ปี และปรับ ๑๐,๐๐๐ บาท จำเลยดังกล่าวไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบกับพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว เห็นสมควรให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑๐ จำเลยที่ ๓๑ และจำเลยที่ ๔๒ ไว้มีกำหนดคนละ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๙ จำเลยที่ ๑๑ ถึงที่ ๓๐ จำเลยที่ ๓๒ ถึงที่ ๔๑ และจำเลยที่ ๔๓ ถึงที่ ๔๗ สำหรับความผิดฐานอื่นและคำขออื่น นอกจากนี้ให้ยก

นายสบโชค สุขารมณ์

นายวีระศักดิ์ รุ่งรัตน์

นายวิธวิทย์ หิรัญรุจิพงศ์

นายองอาจ โรจนสุพจน์

นายพลรัตน์ ประทุมทาน

นายพงษ์เทพ ศิริพงศ์ติกานนท์

นายกำพล ภู่สุดแสวง

นายฐานันท์ วรรณโกวิท

นายไสว จันทะศรี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ