อย่าทำรัฐธรรมนูญให้เป็นเรื่องยาก
โดยบัญญัติ บรรทัดฐาน
ผมมีความรู้สึกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เริ่มจะมีความยุ่งยากมากขึ้นทุกทีแล้ว วันก่อนโน้นก็มีเรื่องคณะกรรมาธิการยกร่างมีความขัดแย้งกันเองในเรื่องของประเด็นคำถามเพื่อรับฟังความเห็นแต่ผมก็เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถัดมาก็มีเรื่องกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นของบางจังหวัดลาออกซึ่งก็มีผลให้ผู้คนที่สนใจติดตามข่าวสับสนกันพอสมควร เรื่องคำถามเพื่อรับฟังความคิดเห็นที่เปลี่ยนแปลง เพิ่มเติมมากขึ้นประชาชนก็อาจสับสนเปลี่ยนคำตอบตามไม่ทัน และไหนจะยังมีข้อกำหนดบางเรื่องโดยความคิดของคณะกรรมาธิการยกร่างเอง ซึ่งถ้าเพียงแต่อาศัยหลักคิดหรือจินตนาการก็คงจะดูพอเป็นเหตุเป็นผล แต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริงผลที่เกิดขึ้นตามมาจะเป็นอีกเรื่องหนึ่งไปเลย ซึ่งในขณะนี้เท่าที่ฟังดูก็มีอยู่หลายเรื่อง
ความจริงการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ในคราวนี้คณะกรรมาธิการยกร่างอาจจัดทำให้ง่ายขึ้นได้ด้วยการทำให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ให้เป็นคำตอบของสถานการณ์และปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงประเด็น ตรงไปตรงมาซึ่งอาจจะทำได้ดังต่อไปนี้
1. คณะกรรมาธิการยกร่างต้องยอมรับความจริงว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากฉบับหนึ่ง เพราะในตอนจัดทำก็ได้ผ่านกระบวนการที่ค่อนข้างสมบูรณ์ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือกระบวนการในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน และกระบวนการมีส่วนร่วมซึ่งการจะจัดทำใหม่ในคราวนี้ด้วย เวลาที่ค่อนข้างจะมีจำกัดและเงื่อนไขทางการเมืองที่แตกต่างกันคงไม่สามารถทำได้สมบูรณ์ครบถ้วนดีเท่า
2. เมื่อยอมรับสมมติฐานเช่นนี้แล้วก็มาร่วมกับพิจารณาว่า สิ่งใดที่ยังไม่เป็นไปตามความมุ่งหมายของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 รวมทั้งที่เป็นประเด็นปัญหาเพราะอาจเบี่ยงเบนเจตนารมณ์ เป็นอย่างอื่นได้จนกลายเป็นเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ก็ต้องมาพิจารณาหาทางแก้ไขกัน ซึ่งผมเห็นว่า น่าจะมีเรื่องใหญ่ ๆ อยู่เพียง 3 เรื่องเท่านั้นคือ
2.1 เรื่องสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งมีกำหนดไว้มากที่สุด มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับใด ๆ ที่ผ่านมา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยจะมีผล มิหนำซ้ำกลับมีการละเมิดเป็นการใหญ่ไปเสียอีก ซึ่งแน่นอนเหตุปัจจัยหนึ่งก็คือ การบิดเบือนการใช้อำนาจของฝ่ายอำนาจรัฐ แต่ก็น่าจะต้องมาพิจารณากันว่าเป็นเพราะบทบัญญัติยังไม่ชัดเจนพอทำให้เกิดการตีความกันได้ และเป็นเพราะไปกำหนดไว้ให้เป็นไปตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติต่อไปด้วยหรือไม่ ซึ่งจนแล้วจนรอด กฎหมายที่จะบัญญัติต่อก็ยังไม่มี เลยทำให้สิทธิเสรีภาพที่พึงมีตามรัฐธรรมนูญก็เลยพลอยไม่มีไปด้วย หรือแม้แต่การที่ประชาชนจะเข้าถึงสิทธิเสรีภาพหรือการมีส่วนร่วมอย่างที่ว่าจำเป็นที่จะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนแล้วไม่มีองค์กรใดเป็นเจ้าภาพช่วยอำนวยบริการให้อย่างนี้ประชาชนก็คงจะได้รับความคุ้มครองให้เป็นจริงได้ยากจึงเป็นเรื่องที่ควรจะได้มาพิจารณากัน
2.2 เรื่องสถาบันทางการเมืองหลัก ๆ คือเรื่อง สว. สส. พรรคการเมือง รัฐบาล ฝ่ายค้าน ซึ่งควรจะได้มาพิจารณากันว่า บทบัญญัติที่มีอยู่มีความไม่เหมาะสมอย่างไร จึงทำให้ภาวะการณ์ของการเมืองในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา กลายเป็นการเมืองที่ขาดดุลยภาพอย่างยิ่ง ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ต้องการให้ฝ่ายบริหารมีเสถียรภาพ กลับมีเสถียรภาพมากเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญมุ่งหมาย ในขณะที่อำนาจการตรวจสอบและการถ่วงดุลย์อำนาจซึ่งเป็นหลักสาระสำคัญของระบบรัฐสภาได้ถูกทำลายให้อ่อนแอลง เป็นเหตุให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขนานใหญ่ และเกิดความระส่ำระสายในบ้านเมือง จนระบอบประชาธิปไตยต้องมีอันสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่งเหล่านี้จะแก้ไขกันอย่างไร
2.3 เรื่ององค์กรอิสระ ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กำหนดให้มีขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะให้เป็นทั้งองค์กรป้องกันและตรวจสอบ
ป้องกันคือป้องกันมิให้คนไม่ดีเข้าสู่อำนาจและตรวจสอบคือการตรวจสอบมิให้มีการใช้อำนาจในทางเสียหาย รวมทั้งลงโทษผู้ใช้อำนาจอันชั่วร้ายเหล่านั้น ซึ่งก็ปรากฎว่าองค์กรอิสระหลายองค์กรกลับถูกแทรกแซงและครอบงำจากฝ่ายการเมืองที่มีทั้งอำนาจรัฐและอำนาจทุนจนสูญเสียความเป็นกลางไปในที่สุด ความยุ่งเหยิง และระส่ำระสายก็เกิดขึ้นตามมา นี่ก็เป็นเรื่องที่จะต้องมาพิจารณาทำทางแก้ไขกันเสียใหม่
3. คณะกรรมาธิการยกร่างควรจะได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย ของข้อกำหนดในประเด็นสำคัญ ๆ ทั้งในเชิงวิชาการและผลกระทบอันเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติควบคู่กันไปเพื่อป้องกันมิให้เกิดความผิดพลาดได้ในภายหลัง เพราะหลายเรื่องหลายประเด็นเหตุผลในเชิงวิชาการอาจจะฟังดูดี แต่ในทางความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งให้เล็กลง โดยมี สส. 1 คน ใน 1 เขตเลือกตั้งซึ่งในทางวิชาการอาจมีข้อสรุปว่าจะใช้เงินน้อย เพราะผู้เลือกตั้งจะรู้จักผู้สมัครรับเลือกตั้งดี ผู้สมัครหน้าใหม่น่าจะสอดแทรกเข้ามาได้ง่ายแต่ในทางปฏิบัติที่เป็นจริง กลับต้องใช้เงินมากกว่า เพราะเมื่อเขตเลือกตั้งเล็กลงใช้ระบบอุปถัมภ์ให้ทั่วถึงได้ง่ายต่างก็ใช้ระบบอุปถัมภ์เข้าช่วยก็ต้องใช้เงิน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งมีผู้ชนะได้เพียงคนเดียว การแข่งขันก็เป็นไปอย่างเข้มข้น เกิดค่านิยมแพ้ไม่ได้ตามมาก็ใช้เงินทุ่มแข่งกัน ผู้สมัครหน้าใหม่ที่เห็นสอดแทรกเข้ามาได้ก็มักจะอาศัยเครือข่ายของระบบอุปถัมภ์เสียทั้งสิ้น ซึ่งในทางตรงกันข้ามในเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แบ่งเขตเลือกตั้ง โดยมี สส. เขตละไม่เกิน 3 คน และให้ผู้เลือกตั้งเลือกผู้สมัครได้ไม่เกินจำนวน สส. ที่มีในแต่ละเขต (ไม่ใช่เลือกได้เพียงคนเดียว ตามที่มีกรรมาธิการยกร่างบางคนคิด) กลับปรากฎว่ามี สส. หน้าใหม่ที่ไม่ใช้เงินมากสอดแทรกเข้ามาได้อยู่เสมอ
ประเด็นสำคัญ ๆ ทำนองเดียวกันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางการเมือง จึงเป็นเรื่องมีคณะกรรมาธิการยกร่างจะต้องพิจารณาทบทวนด้วย ความรอบคอบเป็นอย่างยิ่ง จะเพียงแต่อาศัยหลักคิดหรือจินตนาการจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้คงไม่ได้
4. การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นความมุ่งหมายของคณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่การสร้างความเข้าใจเพื่อประกอบการรับฟังก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นเพราะภายใต้ภาวะการณ์ของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นฐานการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นจริงของประชาชนแตกต่างกันไปมาก
การสร้างความเข้าใจเพื่อประกอบการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงควรจะได้เน้นหนักไปใน 3 เรื่อง หลักดังกล่าวในข้อ 2 เพราะจะทำให้ประชาชนได้มีความเข้าใจในปัญหาทั้งปัญหาการเมืองและปัญหารัฐธรรมนูญเข้าใจในเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและสาระสำคัญที่จะต้องมีเปลี่ยนแปลงแก้ไขซึ่งประชาชนจะเข้าใจได้ง่ายเพราะเป็นการสร้างความเข้าใจที่ต่อเนื่องกันมาจากฉบับปี 2540 ที่เคยผ่านการทำความเข้าใจมาก่อนแล้ว ที่สำคัญก็คือการได้รับคำตอบทั้งต่อปัญหาการเมืองและรัฐธรรมนูญในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อไปในขั้นตอนของการจัดทำประชามติอีกด้วย
5. การรับฟังความคิดเห็นของนักการเมืองหรือพรรคการเมืองก็เป็นเรื่องจำเป็น คณะกรรมาธิการยกร่างและผู้เกี่ยวข้องไม่ควรจะมีอคติต่อนักการเมืองจนเกินเหตุ นักการเมืองก็มีความเหมือนกันกับผู้คนในวงการต่าง ๆ ซึ่งย่อมมีทั้งดีมาก ดีน้อย เลวมาก เลวน้อย ปะปนกันไป ซึ่งคณะกรรมาธิการเองและผู้เกี่ยวข้องก็ไม่น่าจะอยู่นอกเหนือกฎเกณฑ์นี้ เพราะฉะนั้นเมื่อนักการเมือง หรือพรรคการเมืองเสนอความเห็น จึงไม่ควรจะไปทึกทักว่าคงเพื่อผลประโยชน์ของนักการเมือง หรือพรรคการเมืองเท่านั้น ควรรับฟังกันไว้ก่อน แล้วค่อยนำไปวิเคราะห์ วิจารณ์กันต่อว่าจะส่งผลให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ขึ้นหรือไม่
เมื่อตอนยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ผมเองก็ได้เคยเสนอความเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างอยู่หลายประเด็น ซึ่งคณะกรรมาธิการยกร่างในเวลานั้นไม่เห็นด้วย แต่บัดนี้ก็กลับมาเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอีกแล้ว เพราะเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ถ้าเชื่อผมเสียตั้งแต่คราวนั้นคราวนี้ก็อาจจะไม่จำเป็นต้องมานั่งถกเถียงกันให้เสียเวลา.
****************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 15 ก.พ. 2550--จบ--