กรมฯ ศึกษาโคนมญี่ปุ่นหาแนวทางปรับใช้กับไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 24, 2007 14:01 —กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ

          นางสาวชุติมา  บุณยประภัศร  อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่สินค้าโคนมเป็นสินค้าตัวหนึ่งที่เกษตรกรไทยได้รับผลกระทบจากการทำ FTA กรมฯ จึงได้ศึกษาเปรียบเทียบกับสินค้าโคนมของญี่ปุ่น เนื่องด้วยมีลักษณะการเลี้ยงคล้ายไทยแต่มีศักยภาพในการผลิต และการบริหารจัดการที่ดีกว่า   และเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา กรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปเมืองโอบิฮิโร ซึ่งเป็นเมืองเกษตรกรรมที่สำคัญของญี่ปุ่น เพื่อหารือแลกเปลี่ยนกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม บริษัทผู้ผลิตนม เกี่ยวกับแนวนโยบายและการพัฒนาการบริหารจัดการคุณภาพนม โคนม รวมถึงวงจรทางด้านการจำหน่ายและการจัดการด้านสหกรณ์ 
ทั้งนี้ จากการพบกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และบริษัทผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์ เห็นว่าสหกรณ์ของญี่ปุ่นมีความเข้มแข็งมาก โดยดำเนินการในรูปของบริษัทเอกชนทั้งหมด แม้จะเป็นการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการรายย่อยแต่ก็จดทะเบียนเป็นบริษัท ทำให้มีระบบการจัดการและการบริหารที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร โดยเกษตรกรโคนมเข้าเป็นสมาชิกสหกรณ์กว่าร้อยละ 96 (ที่เหลือมักเป็นผู้ประกอบการที่มีตลาดเฉพาะ) เนื่องจากเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถขายนมหรือแปรรูปนมได้ด้วยตนเอง เพราะไม่มีความต้องการในตลาดท้องถิ่น ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดจะต้องกระจายไปขายในจังหวัดหรือเกาะอื่นๆ ด้วย
กิจกรรมหลักของสหกรณ์ ได้แก่ การให้สินเชื่อ ศูนย์กลางรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกร ศูนย์กลางในการรับการอุดหนุนจากสมาพันธ์สหกรณ์ ศูนย์กลางขายสินค้าให้สมาชิก (น้ำมัน/ปัจจัยการผลิต) ตลอดจนเป็นศูนย์กระจายข้อมูลข่าวสารและความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการตลาด บางสหกรณ์มีความเข้มแข็งและสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของสหกรณ์ไปขายต่างประเทศโดยตรง ทั้งนี้ ปัจจัยความสำเร็จของสหกรณ์ญี่ปุ่นที่สำคัญเกิดจาก 2 ประการ คือ 1. ประวัติความเป็นมาในอดีตที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างเหนียวแน่น และ 2. การสนับสนุนจากรัฐบาล
สำหรับจุดแข็งของอุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของญี่ปุ่น คือการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ชัดเจน มีสิ่งอำนวยความสะดวกและสาธารณูปโภคที่ครบครัน ความเข้มแข็งในระบบการจัดการบริหารของสหกรณ์ รวมถึงเกษตรกรมีความรู้และความสามารถรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรอง ตลอดจนการสร้าง Economy of scale ได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งการรักษามาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหารก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นมีความมั่นใจที่จะบริโภคสินค้าภายในประเทศตน
“จากการที่ไทยทำความตกลงJTEPA และได้บรรจุเรื่องความร่วมมือด้านสหกรณ์ระหว่างญี่ปุ่นกับไทยไว้ ย่อมเป็นโอกาสดีในการเชื่อมโยงกับสหกรณ์ญี่ปุ่น ที่จะทำให้สหกรณ์ไทยมีความเข้มแข็งขึ้น จากการได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์จากระบบสหกรณ์ญี่ปุ่น นอกจากนี้การค้าระหว่างสหกรณ์โดยตรงจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค มูลค่าการค้าสินค้าเกษตรที่ผลิตโดยสหกรณ์ก็จะมีสูงขึ้นตามไปด้วย” นางสาวชุติมากล่าว
เมืองโอบิฮิโร เป็นเมืองที่ผลิตนมที่ใหญ่ที่สุดในเกาะฮอกไกโด โดยในปี 2006 มีปริมาณผลิตนม 985,000 ตัน คิดเป็นร้อยละ 2.7 จากปริมาณการผลิตนมของฮอกไกโด 3.6 ล้านตัน ที่เมืองนี้มีบริษัทผู้ผลิตนมและผลิตภัณฑ์นมรายใหญ่แห่งหนึ่ง คือ โยทซึบะ (Yotsuba Dairy Industry) ซึ่งโรงงานแห่งนี้เป็นแห่งเดียวที่มีการผลิตถึง 3 ผลิตภัณฑ์ คือ นมสำหรับดื่ม, skimmed milk ครีม เนย และ ชีส โดยบริษัทนำน้ำนมมาใช้ในการผลิตถึงปีละ 542,000 ตัน หรือ 1,500
ตันต่อวัน ซึ่งบริษัทจะรับซื้อนมจากเกษตรกร สำหรับราคาในการรับซื้อน้ำนมดิบของบริษัทจากเกษตรกร จะมีการคิดราคากลาง (ราคาเฉลี่ยของนมที่มีการถ่วงจากนมสำหรับดื่ม Skimmed milk ชีส ครีมและเนย) ได้ราคากลาง 65 เยนต่อกิโลกรัม และเกษตรกรจะได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลอีก 10 เยนต่อกิโลกรัม (โดยปริมาณนมที่จะได้รับเงินสนับสนุนจะต้องไม่เกิน 2 ล้านตัน ซึ่งระบบนี้นำมาใช้หลังปี 2000 แต่เดิมรัฐบาลจะตั้งราคานำกับราคาประกันไว้ ส่วนต่างรัฐจะจ่ายให้ ปัจจุบันไม่มีการตั้งราคานำกับราคาประกันแล้ว) แต่อย่างไรก็ตามราคาที่บริษัทซื้ออาจจะต่ำกว่าราคากลางได้ขึ้นอยู่กับการเจรจาของบริษัทกับเกษตรกร
นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรที่ผลิตนม premium คือ Country Farmers ที่ตั้งอยู่ในเขต Shikaoi นมจากที่นี่เป็นนม NON-GMO คือ อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงโคนมเป็นอาหารทำจากพืชที่ไม่มีการตัดแต่งพันธุกรรม ฟาร์มนี้มีวัว 120-130 ตัว วัวนม 1 ตัวสามารถผลิตนมได้เฉลี่ยวันละ 28-30 กิโลกรัม จะมีการรีดนมวันละ 2 ครั้ง ซึ่งฟาร์มนี้สามารถผลิตนมได้วันละ 65 ตัน นมที่นี่จะมีการควบคุมคุณภาพ ความสะอาดและอุณหภูมิ โดยจะมีคนมาเช็คคุณภาพนมและวัวเดือนละ 1 ครั้ง นอกจากนมแล้วที่โอบิฮิโรยังมีบริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตชีสด้วย คือ บริษัทสโนว์แบรนด์ ที่นี้มีการผลิตชีสถึง 53 ชนิด โดยมีผลิตภัณฑ์หลัก คือ Gouda Cheese , Camembert Cheese และ Fresh cheese นอกจากนี้ยังมีการผลิตหางนมเพื่อนำไปใช้ในการทำเบเกอรี่ด้วย โรงงานนี้สามารถผลิตชีสได้วันละ 70,000 — 75,000 ชิ้น
สำหรับตัวเกษตรกรของญี่ปุ่นจะมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มสหกรณ์ เช่น กลุ่มสหกรณ์เขต Taiki ที่มีสมาชิกจำนวน 212 คน ที่นี้มีการทำการเกษตรปลูกพืชและทำฟาร์มสัตว์ โดยมีพื้นที่ฟาร์มวัว 10,794 เฮกเตอร์ เป็นสัดส่วนการเลี้ยง ปศุสัตว์ วัวนม 17,122 ตัว วัวเนื้อ 5,467 ตัว และม้าที่ใช้ในการแข่งขัน ขนาดน้ำหนัก 1,000 กิโลกรัม จำนวน 138 ตัว มีฟาร์มโคนม 116 ฟาร์ม ขนาดพื้นที่การเลี้ยงจำนวน 350 เฮกเตอร์ แต่ละฟาร์มแยกเป็นพื้นที่ขนาด 50 เฮกเตอร์ มีวัวนม 60 ตัว ขณะนี้มีจำนวนสมาชิกในสหกรณ์ 12 ครอบครัว โดยเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ 3 แห่ง ลักษณะการดำเนินงานจะเป็นการตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น สมาชิกในครอบครัวดูแลฟาร์มเอง ในส่วนของการดำเนินงาน การขยายกิจการ หรือการซื้อเครื่องจักร เกษตรกรจะได้รับการช่วยเหลือจากสหกรณ์ที่จะสามารถกู้ยืมเงินได้ โดยได้ระยะเวลาในการชำระหนี้ยาวถึง 20 ปี นอกจากนี้สหกรณ์ยังเป็น sub-contract ในการขนส่งเพื่อการขายผลผลิตให้เกษตรกรด้วย
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630
-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ