เศรษฐกิจโลก*
สถานการณ์ของเศรษฐกิจโลกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 เริ่มฟื้นตัว หลังจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงมาตั้งแต่ช่วงต้นปีเริ่มผ่อนคลาย โดยเศรษฐกิจของตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ ในไตรมาสนี้ ฟื้นตัวเนื่องจากได้แรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนของประเทศ ในขณะที่ดุลการค้าในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวเกินดุล ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาวะดุลการค้าของสหรัฐฯ ที่ขาดดุลมาตลอด จนส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว สำหรับเศรษฐกิจของจีนยังคงเติบโตได้อย่างร้อนแรงในไตรมาสที่ 4 โดยมีการขยายตัวของประเทศในทุกๆ ด้านไม่ว่าจะเป็น การบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภายในประเทศ และดุลการค้ากับต่างประเทศ สำหรับเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ในไตรมาสที่ 4 คาดว่าจะมีการขยายตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า
ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางในประเทศหลักๆ ต่างตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง ทั้งสหรัฐฯ สหภาพยุโรป หรือแม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งเคยใช้นโยบายดอกเบี้ยศูนย์เปอร์เซ็นต์ ต้องเริ่มกำหนดอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำภายในประเทศ ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนดอลล่าร์สหรัฐฯ ยังคงอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค่าเงินยูโร และเยนเข็งค่าขึ้น
ความไม่สมดุลของการค้าโลกยิ่งเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น แม้ว่าสหรัฐฯจะสามารถลดการขาดดุลการค้าลงได้ แต่ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันในเอเชียยังคงคาดการณ์ราคาน้ำมันในระดับสูง และจีนยังคงมีส่วนเกินทางการค้าถึงร้อยละ 7 ใน GDP
เศรษฐกิจสหรัฐฯ (1)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของสหรัฐอเมริกาหรือ GDP ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ทำให้ GDP ของสหรัฐอเมริกาในปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 3.4 เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 โดยปัจจัยหลักที่ชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ขาลงของประเทศ โดยการลงทุนภาค ที่อยู่อาศัยหดตัวลดลงมากกว่าร้อยละ 19 ส่งผลให้ GDP ลดลงร้อยละ 1.2 ในขณะที่การลงทุนในส่วนที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก ทำให้ภาพรวมของการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 11 ในไตรมาสที่ 4/2549
*********************************************************************************************************
(* ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3)
(1) รวบรวมจาก www.bea.gov และ www.federalreserve.gov
**********************************************************************************************************
สำหรับปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้คือ การบริโภคของภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 ซึ่งนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.1 ของ GDP โดยปริมาณความต้องการบริโภคสินค้าคงทน (durable goods) ขยายตัวร้อยละ 6.0 ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค (nondurable goods) ขยายตัวร้อยละ 6.4 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทอาหาร สำหรับการใช้จ่ายด้านบริการ (service) ขยายตัวร้อยละ 2.9 อย่างไรก็ตามการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนทำให้อัตรา การออม (saving rate) ของภาคเอกชนติดลบติดต่อกันเป็นไตรมาสที่เจ็ด โดยการออมภาคเอกชนติดลบอยู่ระดับร้อยละ 1
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐในไตรมาสที่ 4/2549 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในทุกๆด้าน โดยภาคการใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลกลางขยายตัวร้อยละ 4.5 ในขณะที่การใช้จ่ายและการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นขยายตัวร้อยละ 3.3 สำหรับการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศขยายตัวร้อยละ 12 และการใช้จ่ายที่มิใช่เพื่อการป้องกันประเทศขยายตัวร้อยละ 9.3
เมื่อพิจารณาด้านดุลการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 4/2549 พบว่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 10.0 ขณะที่การนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ 3.2 ทำให้สัดส่วนของการส่งออกสุทธิในการเติบโต GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่ 4 เกินดุลโดยนับเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.6 ของ GDP การได้เห็นดุลการค้าเกินดุลใน ไตรมาสนี้นับเป็นสัญญาณที่ดีของความพยายามของสหรัฐฯ ในการลดช่องว่างระหว่างการนำเข้าและการส่งออก เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาสหรัฐฯ ประสบกับปัญหาการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว
ส่วนภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ พิจารณาจากอัตราเงินเฟ้อหลัก (Core Inflation) คือ เงินเฟ้อในกลุ่มสินค้าเพื่อการบริโภคกลุ่มหลัก ยกเว้นอาหารและพลังงาน พบว่าในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัว ร้อยละ 1.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 1.9 นับเป็นการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นหลักฐานสนับสนุนว่านโยบายการควบคุมระดับราคาสินค้ายังไม่มีความจำเป็นมากนักในตอนนี้
จากสถานการณ์ข้างต้น แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวจากภาวะซบเซาที่เป็นผลมาจากภาวะอสังหาริมทรัพย์ในประเทศที่หดตัวลงอย่างเห็นได้ชัดและการขาดดุลการค้าอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักที่กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯยังคงเป็นการขยายตัวที่ดีและต่อเนื่องของการบริโภคภายในประเทศ ประกอบกับการส่งออกที่เริ่มขยายตัวดีขึ้นส่งผลให้ดุลการค้าโดยรวมขาดดุลลดลง นอกจากนี้การที่อัตราเงินเฟ้อกลับมามีเสถียรภาพทำให้รัฐบาลคลายความกังวลในเรื่องของระดับราคาและสามารถวางแผนนโยบายเพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่อไปได้
เศรษฐกิจจีน
ในไตรมาสที่ 4/2549 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 8.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ทำให้โดยเฉลี่ยทั้งปี 2549 เศรษฐกิจจีนขยายตัวร้อยละ 8.9 ชะลอความร้อนแรงลงมาจากปีก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.9 แต่โดยภาพรวมเศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตได้อย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ ซึ่งทางรัฐบาลจีนได้เฝ้าจับตามองการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจและควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตเร็วจนเกินไป เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาฟองสบู่แตกได้
ภาวะเงินเฟ้อของจีนในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.0 ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้าที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 ทำให้ตลอดทั้งปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคของจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9
สำหรับภาคการผลิตของประเทศยังคงเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ผลผลิตทางการเกษตรเติบโตได้อย่างดีเยี่ยมในปี 2549 โดยผลผลิตที่ได้จากฝ้ายขยายตัวขึ้นสูงถึงร้อยละ 17.8 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในขณะที่สินค้าประเภทเนื้อและไข่คาดการณ?ไว้ว่าจะเติบโตร้อยละ 4.5 และ 3 ตามลำดับ สำหรับด้านอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมีปัจจัยดึงดูดคือผลประกอบการที่ดีขึ้น ทำให้ในปี 2549 มูลค่าผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมเติบโตร้อยละ 12.5 เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นการขยายตัวของกลุ่มอุตสาหกรรมหนักร้อยละ 17.9 และกลุ่มอุตสาหกรรมเบาร้อยละ 13.8 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมหลัก คาดว่าจะมีผลกำไรสูงถึง 1,878.4 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากปีก่อน
ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยขยายตัวถึงร้อยละ 24.0 โดยมีการลงทุนในเขตเมืองเป็นมูลค่ากว่า 9,347.2 พันล้านหยวน เติบโตคิดเป็นร้อยละ 24.5 เทียบกับปีก่อน ในขณะที่เขตชานเมืองมีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.3 เทียบกับปีก่อน สำหรับการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 21.8 เปรียบเทียบกับปีก่อน
สำหรับยอดจำหน่ายภายในประเทศของปี 2549 ยังคงร้อนแรง โดยมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 13.7 คิดเป็นมูลค่ากว่า 7,641 พันล้านหยวน โดยธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง เติบโตร้อยละ 13.7 อุตสาหกรรมที่อยู่อาศัยและอาหารขยายตัวร้อยละ 16.4 ยอดจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียมขยายตัวร้อยละ 36.2 ในขณะที่ยอดจำหน่ายยานพาหนะและยอดจำหน่ายสินค้าก่อสร้างและอุปกรณ์ตกแต่งขยายตัวร้อยละ 26.3 และ 24.0 ตามลำดับ ยอดจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารขยายตัวร้อยละ 22.0
การค้ากับต่างประเทศยังเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับการขยายตัวจากการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ มูลค่าการส่งออกในปี 2549 เพิ่มสูงถึง 969.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 27.2 จากปีก่อน ในขณะที่การส่งออกมีมูลค่าถึง 791.6 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.0จากปีก่อน ทำให้จีนได้ดุลการค้าในปี 2549 เป็นมูลค่า 177.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 75.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 4.5 คิดเป็นมูลค่า 63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมีสูงถึง 1,066.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 247.3 พันล้านสหรัฐฯ จากต้นปี 2549
เศรษฐกิจของจีนในปี 2549 เริ่มที่จะชะลอตัวลง แต่โดยรวมยังคงขยายตัวได้อย่างร้อนแรง โดยเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาทางด้านสังคม แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจจีนยังคงอยู่ที่ ภาคการเกษตรที่ยังมีรากฐานอ่อนแอ ซึ่งอาจจะทำให้การเตอบโตของผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรขาดเสถียรภาพ นอกจากนี้ความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคและการลงทุนยังขาดเสถียรภาพที่ดี
เศรษฐกิจญี่ปุ่น(2)
เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อน ทำให้ประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปี 2549 ปรับลดลงเหลือประมาณร้อยละ 2.5 โดยปัจจัยที่เข้ามามีอิทธิพลในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ การส่งออกที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนการขยายตัวของเศรษฐกิจคู่ค้า แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลง แต่การค้ากับภูมิภาคอื่นยังคงรักษาระดับอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ผลตอบแทนทางธุรกิจของผู้ประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่น่าพอใจ ทำให้การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของภาคธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการปรับตัวของผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่คำนึงถึงอุปสงค์ต่างประเทศและข้อจำกัดด้านการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น
*********************************************************************************************************
(2) ข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3 **********************************************************************************************************
การบริโภคภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ 0.7 ในไตรมาสที่ 3/2549 ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ในทำนองเดียวกันกับการบริโภคของภาคครัวเรือนในไตรมาสที่ 3/2549หดตัวร้อยละ 0.8 ขณะที่ไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.5 ทางด้านการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ขยับสูงขึ้นร้อยละ 0.1 จากที่ไตรมาสที่ 2/2549หดตัวลดร้อยละ 2.5 ทางด้านการลงทุนนอกภาคอสังหาริมทรัพย์ไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.5 ในขณะที่การเปลี่ยนแปลงในสินค้าคงคลังภาคเอกชน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ในไตรมาสนี้
ด้านการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก สินค้าหมวด IT ขยายตัวลดลง ซึ่งสะท้อนการปรับการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออก โดยในไตรมาสที่ 3/2549 การส่งออกสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.9 ในขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ 0.1 ขณะที่ไตรมาสก่อนขยายตัวร้อยละ 1.4 ทำให้ดุลการค้าของญี่ปุ่นอยู่ในแนวโน้มที่ดี อย่างไรก็ตาม การขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้านการค้าระหว่างประเทศของญี่ปุ่น ในกลุ่มเครื่องจักรและอุปกรณ์ และกลุ่มรถยนต์และชิ้นส่วน ขยายตัวสูงขึ้น อีกทั้งผลประกอบการของภาคธุรกิจยังคงอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมัน ทำให้ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการได้ในระดับที่น่าพอใจ และภาคครัวเรือนสามารถรักษาระดับการบริโภคได้
สำหรับภาวะเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนสิงหาคม 2549 ลดลงร้อยละ 0.5 จากค่าเฉลี่ยที่คาดการณ์เมื่อเดือนเมษายน เนื่องจากดัชนีราคาสินค้าคงทนอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสัดส่วนในการคำนวณมาก ส่วนสินค้าใหม่ที่นำเข้ามาใช้คำนวณ เช่น โทรทัศน์สีจอแบน มีระดับราคาลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เปลี่ยนสัดส่วนสินค้าที่นำมาคำนวณดัชนีราคา เช่น เครื่องชาร์ตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์เสริมอื่นๆ
ทางด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3/2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตของญี่ปุ่นไตรมาสนี้ อยู่ที่ระดับ 106.1 ขยายตัวร้อยละ 5.4 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาขาการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ขณะที่ไตรมาสก่อนหดตัวลงร้อยละ -1.3 สาขาการผลิตเครื่องจักรทั่วไปขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.0 สาขาการผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัวร้อยละ 19.6 ชะลอจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 20.8 สำหรับสาขายานยนต์และอุปกรณ์การขนส่งขยายตัวร้อยละ 7.1 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 3.1 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออก ตามการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
สำหรับปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อของเศรษฐกิจญี่ปุ่น คาดว่าปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางด้านราคาจะเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย เช่น ระดับการใช้ทรัพยากรจะเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะกำลังการผลิต และศักยภาพด้านแรงงาน อีกทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานต่อหน่วยมีแนวโน้มลดลง และคาดว่าศักยภาพในการผลิตจะเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตราบเท่าที่เศรษฐกิจยังคงขยายตัวได้ นอกจากนี้ ภาคครัวเรือนจะคาดการณ์เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นในระยะสั้น และระยะปานกลาง ทำให้ประชาชนต้องปรับตัวกับภาวะเงินเฟ้อ
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป(3)
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 0.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในไตรมาสนี้มาจากการเร่งตัวของการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 0.6 เทียบกับไตรมาสก่อน ในขณะที่การลงทุนขยายตัวร้อยละ 0.9 ด้านการส่งออกขยายตัวเท่าไตรมาสก่อนคือร้อยละ 1.5 และการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4
ในช่วงไตรมาสที่ 3/2549 บัญชีเดินสะพัดขาดดุล 21.7 พันล้านยูโร ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดดุลเป็นมูลค่า 17.9 พันล้านยูโร โดยดุลสินค้าขาดดุลเป็นมูลค่า 40.4 พันล้านยูโรและบัญชีการโอนเงินไปต่างประเทศขาดดุล 12.6 พันล้านยูโร ในขณะที่ดุลบริการเกินดุล 16.6 พันล้านยูโร ซึ่งมาจากการเกินดุลในหมวดการเงิน (6.9 พันล้านยูโร) หมวดการขนส่ง (4.7 พันล้านยูโร) หมวดการบริการข้อมูลข่าวสาร (2.5 พันล้านยูโร) การบริการและบัญชีรายได้เกินดุล 14.7 พันล้านยูโร
สำหรับภาวะเงินเฟ้อในปี 2549 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยดัชนีราคาผู้ผลิต ในเดือนธันวาคมลดลงร้อยละ 0.1 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 เทียบกับเดือนธันวาคมของปีที่แล้ว โดยราคาของสินค้าหมวดพลังงานปรับตัวลดลงร้อยละ 0.4 เทียบกับเดือนก่อน ในขณะที่ราคาของสินค้าทุน สินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1
*********************************************************************************************************
(3) ข้อมูลของประเทศญี่ปุ่นยังคงเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3 **********************************************************************************************************
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย
ฮ่องกง(4)
เศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง โดย GDP เติบโตถึงร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวเพียง ร้อยละ 5.5 สำหรับปัจจัยหลักที่กระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจได้แก่ การฟื้นตัวของภาคการส่งออก การขยายตัวของภาคการลงทุน และการบริโภคที่ยังขยายตัวต่อเนื่อง
ด้านการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 8.9 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 ซึ่งตลาดส่งออกหลักคือจีนแผ่นดินใหญ่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ตลาดอื่นอย่าง ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ และยุโรปยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันการส่งออกไปยังญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเริ่มชะลอตัว เนื่องค่าเงินสกุลเยนและดอลลาร์อ่อนค่า สำหรับการส่งออกภาคบริการในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยบริการภาคการเงินและภาคประกันขยายตัวมากกว่าร้อยละ 10 ในขณะที่ภาคการท่องเที่ยวชะลอตัวลง
การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมีการใช้จ่ายภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 4.4 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.1 โดยปัจจัยสนับสนุนได้แก่ การเพิ่มขึ้นของรายได้การจ้างงาน จำนวนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น และการชะลอตัวของอัตราดอกเบี้ย
ภาคการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 12.7 นับเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2543 โดยการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวสูงถึง ร้อยละ 22.4 ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจภายในประเทศ สำหรับการลงทุนในภาคการก่อสร้างยังคงซบเซา
อัตราเงินเฟ้อของฮ่องกงในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0
ในช่วง 3 ไตรมาสของปี 2549 เศรษฐกิจของฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 6.8 ตลอดทั้งปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงจะขยายตัวร้อยละ 6.5 ซึ่งถือได้ว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพและสามารถรองรับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยฉพาะอย่างยิ่งในส่วน ภาคการเงิน การค้าระหว่างประเทศ และระบบโลจิสติกได้เป็นอย่างดี
*********************************************************************************************************
(4) ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังคงเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3
**********************************************************************************************************
เกาหลีใต้(5)
GDP ของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 4.8 สาเหตุเนื่องมาจากการชะลอตัวของภาคการส่งออก และการชะลอตัวของการใช้จ่ายในภาคอสังหาริมทรัพย์ของประชาชน ทำให้ตลอดทั้งปี 2549 เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เติบโตร้อยละ 5.0 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่เติบโตร้อยละ 4.0
ทางด้านภาคอุตสาหกรรม ดัชนีอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัวร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ลดลงจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.8 ปัจจัยที่ทำให้ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลงคือ การชะลอตัวของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรม semi conductor และอุตสาหกรรมอุปกรณ์การขนส่งขยายตัว
ในไตรมาสที่ 4/2549 ภาคการบริการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคการขนส่ง การสื่อสาร การเงิน และอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของภาคการบริการของประเทศ
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัวร้อยละ 3.6 เนื่องมาจากการขยายตัวของสินค้าคงทน ในขณะที่ปริมาณการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง การลงทุนโดยรวมของประเทศขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย โดยภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ปรับตัวเป็นบวกจากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.6
ภาคการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 4/2549 เกาหลีใต้มีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 10.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.6 โดยมีสาเหตุมาจากการการส่งออกปิโตรเคมี และอุปกรณ์สื่อสารที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกันการนำเข้า
ขยายตัวถึงร้อยละ 10.3 แต่ดุลการค้ายังคงเกินดุลเล็กน้อย โดยกลุ่มสินค้าที่ยังส่งออกได้ดีต่อเนื่อง ได้แก่ semi conductor
*********************************************************************************************************
(5)รวบรวมจาก www.nso.go.kr
*********************************************************************************************************
เศรษฐกิจอาเซียน(6)
สิงคโปร์
กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์ได้ประกาศตัวเลขประมาณการ GDP ของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3/2549 เติบโตร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.1 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศในช่วง 3 ไตรมาสแรกเติบโตร้อยละ 8.6 โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจคือความต้องการภายในประเทศที่เติบโตร้อยละ 8.0 อันเป็นผลมาจากการใช้จ่ายภายเอกชนที่เพิ่มขึ้น กอปรกับความต้องการบริโภคสินค้าและบริการจากต่างประเทศที่ขยายตัวถึงร้อยละ 10.0
ภาวะเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3/2549 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 1.2 ในไตรมาสที่ 2/2549 โดยเงินเฟ้อหมวดเครื่องนุ่งห่มและอาหารเพิ่มขึ้นสูงสุดถึงร้อยละ 2.3 และ ร้อยละ 1.8 ตามลำดับ ส่วนในหมวดที่อยู่อาศัย การศึกษา และ การรักษาพยาบาล ขยายตัวเล็กน้อยที่ระดับร้อยละ 2.1 ร้อยละ 1.6 และร้อยละ 0.9 ตามลำดับ มีเพียงเงินเฟ้อหมวดการขนส่งและการสื่อสารที่ลดลงร้อยละ 1.7 เนื่องจากการเข้ามาเปิดตลาดของรถยนต์ราคาประหยัด
ด้านการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 11 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่เติบโตร้อยละ 13 เนื่องจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชะลอการขยายตัว ในขณะที่อุตสาหกรรมที่โดเด่นที่สุดยังคงเป็นอุตสาหกรรมการขนส่งซึ่งเติบโตสูงถึงร้อยละ 39 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ภาคการขนส่งและการสื่อสารมีการขยายตัวลดลงในไตรมาสที่ 3/2549 โดยขยายตัวร้อยละ 3.4 จากที่เติบโตร้อยละ 3.6 ในไตรมาสก่อน เนื่องจากการขนส่งทางอากาศมีการขยายตัวช้าลง แม้ว่าการขนส่งทางทะเลจะขยับสูงขึ้นก็ตาม ส่วนด้านการสื่อสารมีการขยายการให้บริการหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ การให้บริการโทรศัพท์ทางไกลต่างประเทศ และ จำนวนผู้ใช้บริการ internet Broadband เพิ่มขึ้น
ด้านการค้าต่างประเทศของสิงคโปร์มีการขยายตัวลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย จากร้อยละ 18 เหลือร้อยละ 13 โดยการส่งออกรวมขยายตัวร้อยละ 12 และการส่งออกสินค้าที่มิใช่น้ำมันมีการขยายตัวร้อยละ 6.3 จากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ร้อยละ 15 เนื่องจากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มชะลอตัว ขณะเดียวกันการนำเข้าสินค้าที่มิใช่น้ามัน (ไม่รวมเครื่องบินและเรือ) ขยายตัวร้อยละ 8.6 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 14
*********************************************************************************************************
(6)ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังคงเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 3
*********************************************************************************************************
มาเลเซีย
ในไตรมาสที่ 3/2549 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งน้อยกว่าไตรมาสแรกที่เติบโตร้อยละ 6.2 ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วง 3 ไตรมาสแรกขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยที่การบริโภคในประเทศในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 7.1 ซึ่งจำแนกเป็นการบริโภคภาครัฐขยายตัวร้อยละ 8.3 และการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 6.8 สำหรับการลงทุนในประเทศ ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ชะลอตัวลงมาจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวถึงร้อยละ 7.6
ด้านผลผลิตภาคเกษตรกรรมในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนมราขยายตัวร้อยละ 5.6 โดยไตรมาสที่ 3 ผลผลิตน้ำมันปาล์มขยายตัวร้อยละ 10.0 ผลผลิตยางขยายตัวร้อยละ 8.0 และผลผลิตเกษตรอื่นขยายตัวร้อยละ 3.1
ด้านผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 7.1 โดยที่ผลผลิต สินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในประเทศมากกว่าผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยที่อุตสาหกรรมสินค้าทำจากไม้และกระดาษเพื่อการพิมพ์เติบโตสูงถึงร้อยละ 13.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ไตรมาสที่สินค้าประเภทนี้สามารถขยายตัวได้เกินร้อยละ 10 ในขณะเดียวกันผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมประเภทโลหะเติบโตร้อยละ 9.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ 10.4
ด้านผลผลิตภาคบริการในไตรมาสที่ 3/2549 ขยายตัวร้อยละ 6.5 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 โดยในสาขาภาคการเงิน ภาคการประกันภัย ภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจบริการ ซี่งนับเป็นสัดส่วนใหญ่สุดของภาคบริการขยายตัวร้อยละ 7.5 และภาคการขนส่ง การกักเก็บสินค้าและการสื่อสารขยายตัวร้อยละ 7.1 ขณะที่ภาคการค้าส่งค้าปลีก และโรงแรมและภัตตาคาร ขยายตัวร้อยละ 5.8 ส่วนบริการภาครัฐขยายตัวร้อยละ 7.9 และการบริการอื่นๆขยายตัวร้อยละ 4.2
ด้านการค้าระหว่างประเทศในไตรมาสที่ 3/2549 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเติบโตดีมาก โดยการส่งออกเติบโตร้อยละ 10.5 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่มีการขยายตัวเพียงร้อยละ 4.9 โดยมีสินค้าส่งออกที่สำคัญได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การส่งออกขยายตัว ร้อยละ 7.4 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งก็ยังทำให้ดุลการค้ายังขยายตัวได้เพิ่มขึ้น
ฟิลิปปินส์
เศรษฐกิจของประเทศฟิลิปปินส์ในไตรมาสที่ 4/2549 ขยายตัวร้อยละ 4.8 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนซึ่งขยายตัวร้อยละ 5.7 โดยเป็นผลมาจากการภาคการค้า ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการบริการภาคเอกชนที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ในขณะที่ปัจจัยลบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ได้แก่ ปัญหาภัยพิบัติที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่นเข้าถล่มประเทศถึง 3 ลูก
(ยังมีต่อ)