คำต่อคำ:: นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเปิด'อภิปรายพระราชกำหนดระเบียบบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548'

ข่าวการเมือง Wednesday August 24, 2005 14:13 —พรรคประชาธิปัตย์

          ท่านประธานที่เคารพกระผมอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์  การบริหารราชการในสถานการฉุกเฉิน พุทธศักราช 2548  ในวันนี้กระผมถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่รัฐบาลได้ตราขึ้นในรูปแบบของพระราชกำหนดในช่วงของการปิดสมัยประชุมสภาที่ผ่านมา  และเป็นกฎหมายที่รัฐบาลหวังจะใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบในพืนที่ในจังหวัดภาคใต้ และเป็นกฎหมายที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน  นักวิชาการ และกลุ่มต่าง ๆ  
ซึ่งกระผมมีความจำเป็นที่จะต้องกราบเรียนท่านประธานในเบื้องต้นเสียก่อนว่าการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวันนี้ ผมอยากให้เป็นไปด้วยความเข้าใจอันดีในเรื่องบทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่ายในสังคม ผมเสียดายว่าท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้เข้ามาร่วมประชุมในบ่ายวันนี้ เพื่อรับฟังสิ่งที่เป็นความคิดเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนของปวงชนชาวไทย ซึ่งจะมีข้อคิดความเห็นที่น่าจะเป็นประโยชน์ในการที่จะทำให้รัฐบาลนั้นนำไปปรับปรุงในเรื่องของการบังคับใช้กฎหมาย และที่กระผมจะได้กราบเรียนต่อไปก็คือว่าในความเป็นไปได้ที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้เบื้องต้น
กระผมต้องกราบเรียนท่านประธานจริง ๆ ว่าผมเชื่อครับว่าพวกเราที่นั่งอยู่ตรงนี้ล้วนแล้วแต่มีความประสงค์ที่จะเห็นความสงบเกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่าเราทุกคนก็เศร้าสลดใจ สะเทือนใจทุกครั้งที่เห็นผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของการกระทำที่รุนแรง ผมเชื่อว่าพวกเราพร้อมที่จะประนามการใช้ความรุนแรงในลักษณะนั้น และผมเชื่อเหนือสิ่งอื่นใดว่าพวกเราจะมีความสำนึกและมีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่ทรงเหน็ดเหนื่อยกับการแก้ปัญหา หรือบรรเทาปัญหาความไม่สงบมาโดยตลอด และในวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา พระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ก็เป็นขวัญกำลังใจเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนน้อมรับใส่เกล้าใส่กระหม่อมเพื่อที่จะมาช่วยกันในการที่จะแก้ไข้ปัญหาต่อสู้เพื่อให้ได้ความสงบกลับคืนมา แต่อย่างไรก็ตามกระผมกราบเรียนว่าความเห็นของเราอาจจะมีความแตกต่างกันบ้างว่าวิธีการการใด แนวทางใด ซึ่งจะนำไปสู่ความสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา
กระผมจึงอยากจะกราบเรียนว่าผมหวังว่าบรรยากาศในวันนี้คงไม่มีใครตั้งคำถามว่าฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกับตนนั้นจะมีความประสงค์ร้าย หรือไม่มีความสนใจ ใส่ใจในการที่จะดูแลรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือการคุ้มครองประชาชนผู้บริสุทธิ์ และกระผมกราบเรียนว่าแม้พวกเราเป็นพรรคฝ่ายค้าน แต่สิ่งใดก็ตามที่จะเป็นประโยชน์ เครื่องมือใดก็ตามที่เราเชื่อว่าจะช่วยแก้ไขปัญหานำความสงบกลับคืนมา รักษาชีวิตของคนที่บริสุทธิ์เราไม่มีความลังเลใจที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาล และพร้อมที่จะแสดงออกให้เห็นว่ากระบวนการทางการเมืองนั้นไม่ได้เห็นแตกต่างกันทุกเรื่อง แต่วันนี้กระผมจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นยืนอภิปรายเพื่อจะกราบเรียนท่านประธานว่าพรรคฝ่ายค้านคงไม่สามารถลงมติอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้ ด้วยเหตุผลหลัก ๆ ก็คือ
ข้อแรก เรามองว่าการตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเป็นการตรากฎหมายขึ้นมาบนพื้นฐานความคิดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริงของปัญหา เราคิดว่าฐานความคิดและที่มาของกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ยอมรับความเป็นจริงของสาเหตุของปัญหา และการบังคับใช้กฎหมายที่มาจากพื้นฐานความคิดนี้ก็มีความสุ่มเสี่ยง นอกเหนือจากการแก้ไขไม่ได้แล้วยังอาจจะทำให้ปัญหามีความรุนแรงขึ้น
ข้อที่ 2 คือทั้งในกระบวนการของการตรากฎหมายฉบับนี้รวมไปถึงบทบัญญติต่าง ๆ ปรากฏอยู่ในตัวกฎหมายเองสะท้อนให้เห็นถึงความคิดที่สับสน เกี่ยวกับระบบกฎหมาย เกี่ยวกับผลกระทบที่มีต่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญในฐานะกฎหมายสูงสุดของประเทศ ซึ่งมีไว้เพื่อคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทย
ข้อที่ 3 ซึ่งเชื่อมโยงกับ 2 ข้อแรกก็คือว่าช่องโหว่ช่องว่าง ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความผิดพลาดของการบังคับใช้กฎหมายนั้นเสี่ยงอย่างยิ่งต่อการเพิ่มเติมเรื่องของความหวาดระแวง เรื่องความกลัว และความแตกแยกที่จะมีขึ้นทั้งในสังคมและในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง เพราะกราบเรียนโดยสรุปก็คือว่าพื้นฐานความคิดและที่มาของกฎหมายฉบับนี้ดูจะแตกต่างโดยสิ้นเชิง กับบรรยากาศในห้องประชุมแห่งนี้เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่รัฐบาลได้เปิดประชุมรัฐสภาเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้สมาชิกของรัฐสภาได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ที่กระผบกราบเรียนอย่างนี้เพราะว่าวันนั้นสิ่งที่พวกเราได้นำเสนอไปนั้น รวมทั้งตัวกระผมเอง ท่านนายกฯได้ลุกขึ้นตอบว่าแม้ในรายละเอียดบางเรื่องเราอาจจะมีความคิดที่แตกต่างกัน แต่วันนั้นดูท่านจะยอมรับ ยอมรับคำท้วงติงของกระผมและเพื่อนสมาชิกว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาในช่วงก่อนหน้านี้ 2-3 ปี เดินไปในทิศทางที่ผิดพลาด เพราะไปเข้าใจว่าปัญหาเหล่านี้แก้ได้ด้วยความรุนแรง แก้ได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการละเลยในเรื่องของนิติรัฐ นิติธรรม และในเรื่องของสิทธิเสรีภาพขอประชาชนที่ประสงค์จะได้รับความเป็นธรรม แต่วันนี้กฎหมายที่รอการอนุมัติจากสภาหวนกลับไปอยู่บนพื้นฐานความเชื่อในเรื่องของการใช้อำนาจในการแก้ไขปัญหา
ท่านประธานที่เคารพครับพื้นฐานความคิดที่ต่างจากความคิดของพวกเราในซีกฝ่ายค้านตรงนี้ คือที่มาที่ไป เราคงไม่สามารถที่จะอนุมัติพระราชกำหนดได้ แต่จะอย่างไรก็ตามกระผมกราบเรียนว่าที่ผ่านมาเราก็เข้าใจดีว่ารัฐบาลก็ประสงค์จะมีเครื่องมือบางสิ่งบางอย่างที่มาช่วยแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น และเราก็เข้าใจความรู้สึกของพี่น้องประชาชนจำนวนมาก ที่เมื่อมีข่าวสารรัฐบาลกำลังจะมีเครื่องมือชิ้นใหม่ และพี่น้องประชาชนเองก็มีความรู้สึกอึดอัด หงุดหงิดกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่ไม่จบไม่สิ้น จึงมีการขานรับมีการตั้งความหวังไว้สูงว่ากฎหมายฉบับนี้จะเป็นคำตอบ พวกกระผมในฐานะนักการเมืองฝ่ายค้านในฐานะพรรคการเมืองก็ได้ติดตามและดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความระมัดระวัง แม้อย่างที่กระผมกราบเรียนท่านประธานแล้วว่าความคิดพื้นฐานตรงนี้เราคงจะแตกต่างกันค่อนข้างมาก และการตรากฎหมายฉบับนี้ในรูปของพระราชกำหนดก็หมายความว่าเราไม่เคยได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการร่วมคิดร่วมทำ
ที่จริงต้องกราบเรียนท่านประธานครับว่ามีการอ้างถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง และมีการอ้างถึงว่าในกรณีที่เหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นในต่างประเทศมักจะเห็นความร่วมมือของนักการเมืองทุกพรรค ทุกฝ่าย รวมไปถึงสือมวลชน และประชาชนโดยทั่วไป กระผมกกราบเรียนท่านประธานว่าที่เราได้ดำเนินการมาก็อยู่บนพื้นฐานความเข้าใจของความต้องการที่จะเห็นความร่วมมือตรงนี้ แต่ต้องกราบเรียนท่านประธานว่าวิธีการที่รัฐบาลดำเนินการเรื่องนี้ก็ต่างจากต่างประเทศโดยสิ้นเชิง ผมยกตัวอย่างให้ท่านประธานเห็นว่าวันที่เกิดเหตุที่กรุงลอนดอนประเทศอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษก็ต้องการมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่รัฐบาลอังกฤษไม่ได้ตราพระราชกำหนดเป็นสิ่งแรก รัฐบาลอังกฤษโดยนายกรัฐมนตรี ประกาศทันทีทันใดว่าจะเดินหน้าเพื่อขอความเห็นจากทั้งฝ่ายค้าน จากทั้งประชาชน จากทั้งชุมชนชาวมุสลิมว่าควรจะมีเครื่องมือเครื่องไม้กฎหมายในลักษณะใดเพื่อมาแก้ไขปัญหานี้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีของประเทศไทยแทบจะเรียกได้ว่าการมีส่วนร่วมของพวกเรา การจะได้ไปร่วมคิดร่วมทำเพื่อหาทางออกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายเป็นเครื่องมือที่ระดมพลังอย่างแท้จริงของสังคมนั้น เราไม่ได้รับโอกาสนี้จากรัฐบาลเลย
กระผมกราบเรียนว่าเชื้อของกฎหมายฉบับนี้มาจากการที่รัฐบาลมีดำริเดิมอยู่แล้วที่บอกว่าพูดกันหลวม ๆ ว่าจะเลิกใช้กฎอัยการศึก ความหมายไม่ได้หมายความว่าจะไปยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก แต่หมายความว่าต้องการที่จะเลิกประกาศการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ กระผมทบทวนความจำรัฐบาลและท่านประธานว่าก่อนที่เราปิดสมัยประชุมไปไม่กี่วันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายค้านคุณองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประทานโทษที่ต้องเอ่ยนามท่านจึงได้มาตั้งกระทู้ถามในที่นี้ สภาแห่งนี้ว่าความคิดเรื่องการจะยกเลิก หรือการยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นอย่างไร วันนี้ท่านรัฐมนตรีกลาโหมมาตอบที่จริงแล้วเป็นกระทู้ถามท่านนายกฯท่านรัฐมนตรีกลาโหมมาตอบว่ามันเป็นเพียงแนวความคิด และกฎหมายที่จะมาใช้แทนกฎอัยการศึกนั้น รัฐบาลก็ยังไม่มีข้อยุติใดๆทั้งสิ้น มหาดไทยเห็นอย่าง กลาโหมเห็นอย่าง รองนายกฯ เห็นอย่าง ผู้ตั้งกระทู้ตั้งกระทู้ถามต่อว่าถ้านายกฯ มาตอบนายกฯ จะตอบเราได้ไหม ว่าทิศทางเรื่องนี้เป็นอย่างไร กระผมจำได้ว่ารัฐมนตรีตอบในที่ประชุมว่าถึงท่านนายกฯ มาท่านก็ตอบไม่ได้เพราะท่านไม่รู้
กระผมกราบเรียนเรื่องนี้เพื่อจะบอกว่าหลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นที่จังหวัดยะลา กลับปรากฏว่ารัฐบาลตราพระราชกำหนดฉบับนี้ออกมาอย่างเร่งรีบ และเนื้อหาสาระต่างๆนั้น ความจริงหากรัฐบาลได้ใสใจกับการทำงานของสภาตรงนี้ ในการมาชี้แจงกระบวนการการจัดทำกฎหมายที่ได้ทำไว้ ผมเชื่อว่าวันนี้ข้อท้วงติงหลายอย่างคงไม่จำเป็น
แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพระราชกำหนดฉบับนี้ประกาศออกมา กระผมก็เป็นผู้หนึ่งที่ให้ความเห็นว่าเป็นสิทธิของรัฐบาลเมื่อต้องการจะมีเครื่องมือพิเศษขึ้นมา และเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนก็ตราขึ้น ผมประกาศตั้งแต่แรกว่าพวกเราตรงนี้จะไม่เข้าชื่อกันเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญมาตีความว่าการตราพระราชกำหนดชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะตระหนักและเข้าใจถึงความจำเป็นและบรรยายกาศในขณะนั้นว่ารัฐบาลต้องการสื่อสารถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องมือพิเศษ แต่ที่สำคัญกว่านี้คือเพราะตระหนักว่าไม่ต้องการสร้างความไม่แน่นอนให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติ เพราะกรณีที่เราส่งตีความหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะส่งผลให้พระราชกำหนดไม่มีผลบังคับใช้แต่ต้น ซึ่งจะเป็นปัญหามากกับการทำงานของรัฐบาล เราจึงตัดสินใจว่าวันนั้นเราจะไม่ดำเนินการที่จะเข้าชื่อกันส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ
ขณะเดียวกันประเด็นปัญหาซึ่งเราห่วงใย เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของตัวบทบัญญัติต่างๆ สิ่งที่เราได้ดำเนินการก็คือว่าเราได้ส่งข้อห่วงใยเหล่านั้นไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งเรายอมรับว่าเป็นองค์กรอิสระมีความเป็นกลางทางการเมืองและอาจจะใช้อำนาจ ในฐานะองค์กรเดียวที่มีอำนาจเหลืออยู่ในการที่จะช่วยติดตามตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายฉบับนี้ การออกประกาศตามกฎหมายฉบับนี้ หรือการกระทำการใดๆตามกฎหมายฉบับนี้ และในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อรัฐบาลเผชิญกับเสียงวิจารณ์ต่างๆ ก็มีบุคคลในรัฐบาล ตั้งแต่รัฐมนตรี บางครั้งท่านนายกฯ เองก็เคยให้สัมภาษณ์ ว่าพร้อมที่จะให้มีการแก้ไปกฎหมายฉบับนี้ ความจริงขณะนั้นก็ไปสร้างความสับสน แม้กระทั่งถึงวันนี้ยังมีผู้คนบางส่วนสับสนว่าวันนี้จะมีการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้หรือไม่ ที่จริงวันนี้เราไม่มีอำนาจแก้ไขอะไรเลยทั้งสิ้น รับหรือไม่รับ อนุมัติหรือไม่อนุมัติเท่านั้น
เมื่อทางรัฐบาลกล่าวอย่างนั้น กระผมได้เสนอว่ารัฐบาลคิดอย่างนี้เป็นโอกาสที่ดีแล้ว ที่เราจะได้ระดมทุกภาคส่วนในสังคมมาช่วยกันปรับปรุงช่องโหว่ช่องว่างที่มีอยู่ ซึ่งกระผมจะได้กราบเรียนต่อไป ในการมาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้ ผมบอกควรจะปล่อยให้เป็นกระบวนการทางการเมือง แล้วจะเกปัญหาว่าฝ่ายค้านเสนอ หรือรัฐบาลเสนอ รัฐบาลจะยอมรับหรือเห็นด้วยกับฝ่ายค้านหรือไม่อย่างไร กระผมได้เสนอว่ารัฐบาลเป็นเจ้าภาพจัดเวที จัดกรรมการพิเศษมาทำเรื่องนี้ ให้สมาชิกวุฒิสภา ให้สภาผู้แทนราษฎร ให้องค์กรภาคประชาชน ให้นักวิชาการ เข้าไปร่วมด้วย
แต่น่าเสียดายนายกฯได้ปฏิเสธแนวทางนี้โดยสิ้นเชิง ทั้งๆที่กระผมกราบเรียนว่าฝ่ายรัฐบาลเองเป็นฝ่ายพูดว่าพร้อมที่จะให้มีการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายฉบับนี้ ถามว่าเมื่อเป็นอย่างนี้ วันนี้สิ่งที่ง่ายที่สุดสำหรับฝ่ายค้านคืออะไร คำตอบคือว่า วางเฉย แล้วก็บอกว่า ในเมื่อรัฐบาล คิดเอง ทำเอง ก็ปล่อยให้รัฐบาลทำไป และบางที่บางคนวิจารณ์ว่าตรากฎหมายฉบับนี้แล้ว ขีดเส้นท่านนายกฯไหม 90 วันหากแก้ปัญหาไม่ อย่าไปใช้เงื่อนเวลากดดันนายกฯ อย่าไปใช้เวลากดดันรัฐบาล แล้วไปสร้างปัญหาเพิ่มเติมในพื้นที่ หรือมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น
ฉะนั้นวันนี้กระผมทราบไม่งายที่จะอธิบายประเด็นที่เป็นรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเป็นข้อห่วงใยสำหรับพี่น้องประชาชนจำนวนหนึ่ง แต่ว่ามีความจำเป็นที่พวกกระผมในฐานะผู้แทนประชาชนจะต้องทำ กระผมจึงต้องกราบเรียนท่านประธานว่าสิ่งที่กระผมตั้งไว้เป็นข้อแรกที่บอกว่า พวกกระผมไม่สามารถอนุมัติ กฏหมายฉบับนี้ได้ก็คือ กฎหมายฉบับนี้มันไม่ตรงกับสภาพของปัญหา กระผมยืนยันว่าปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะมีเชื้อของปัญหาในประวัติศาสตร์มายาวนาน มันมารุนแรงขึ้นใน 2-3 ปีที่ผ่านมา
1. จากปัจจัยภายนอก สภาพของพัฒนาการของการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในโลก และ
2. คือความผิดพลาดในเรื่องของนโยบาย
สรุปง่ายๆ ประสบการณ์หลายแห่งทั่วโลก สอนให้พวกเราเข้าใจว่าเมื่อเกิดปัญหาในลักษณะนี้เกิดขึ้น หัวใจสำคัญคือการสร้างความไว้วางใจกันระหว่างประชาชนกับประชน ระหว่างประชาชนกับรัฐ และขณะเดียวกันแน่นอนที่สุดบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ 2 ส่วนนี้ต้องไม่แยกออกจากกัน ผมไม่สบายใจทุกครั้งที่ได้ยินว่ากรรมการสมานฉันท์ก็ทำไป แต่บังคับใช้กฎหมายก็ทำไปอีกด้านหนึ่ง แต่ความจริงไม่ใช่เป็นคนละเรื่อง การสร้างความสมานฉันท์ที่จะเกิดขึ้นได้ไม่ได้ขัดกันกับการใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ แต่จะขัดกับการใช้กฎหมายอบ่างไม่ถูกต้อง ไม่เคร่งครัด ตามหลักของกฎหมาย และสภาพปัญหาที่รุนแรงขึ้นมาตามลำดับ มันบ่งบอกชัดว่าไม่ใช่เหตุที่มาจากการที่รัฐบาลขาดอำนาจหรือไม่มีกฎหมายใช้ แต่ที่เป็นช่องว่าง ความหวาดระแวง ความไม่วางใจที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่บางส่วนไม่เคารพกฎหมายซึ่งอาจเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล
ฉะนั้นวันนี้เราจึงต้องมาพูดกันให้ชัดว่ารัฐบาลเชื่อมั่นจริงหรือว่าบทบัญญัติอำนาจตามกฎหมายมีไม่เพียงพอ ผมพยายามฟังคำชี้แจงจากรัฐบาลมาเป็นระยะเวลาเป็นเดือน เราจะได้ยินแต่ว่ากฎหมายเก่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินก็ดี กฎอัยการศึกก็ดี เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมานานแล้ว ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เราไม่เคยได้ยินเลยที่ท่านจะระบุได้ชัดเจนว่าบทบัญญัติไหนที่เป็นปัญหา เป็นอุปสรรค สถานการณ์ไหนที่กฎหมาย 2 ฉบับที่บังคับใช้อยู่ไม่สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาเหล่านั้นได้
วันนี้ผมพลิกดูคู่มือรวมคำถามคำตอบข้อกฎหมายก็ยังเป็นคำอธิบายที่ผมได้กราบเรียนแล้วกว้างๆว่ากฎหมายเก่ามันล้าสมัย สิ่งนี้คือสิ่งที่ผมยืนยันว่าเป็นความแตกต่างทางด้านความคิด ที่เราคิดว่าหัวใจของการแก้ปัญหาไม่ใช่เพราะว่าท่านขาดอำนาจ แต่ว่าถ้าท่านจะใช้อำนาจ ให้ประชาชนมั่นใจในความเป็นธรรม และความปลอดภัยแล้ว นั้นต่างหากเป็นกุญแจแห่งความสงบสุขและความสันติสุขในจังหวงัดภาคใต้กระผมจึงแสดงความห่วงใยว่ากฎหมายฉบับนี้ ถ้ารัฐบาลไม่ระมัดระวังมันจะดึงทุกอย่างเข้าไปอยู่ในวงจรแห่งการตอบโต้กันไปมา
และถ้าหากว่าวงจรของความรุนแรงนั้นระบาดขึ้นและการใช้กฎหมายเป็นไปโดยไม่มีความระมัดระวังยิ่งส่งผลกระทบในแง่ไปเดินตามทิศทางของฝ่ายผู้ไม่หวังดี ที่เขาทำอะไรก็ได้
การสร้างความเชื่อมั่นเพื่อให้เกิดบรรยากาศของการใช้ชีวิตอย่างปกติ ผมสนับสนุนอย่างเต็มที่ รายละเอียดของโครงการ เรื่องของการจัดตลาดซื้อขายของถูกอะไรผมไม่วิจารณ์ เพราะผมถือว่าถ้าเป้าหมาย คือต้องการสร้างขวัญ กำลังใจ ต้องการให้ชีวิตของพี่น้องที่นั่นเป็นไปตามปกติ ผมสนับสนุน แต่การใช้กฎหมายฉบับนี้ รัฐบาลคงต้องไปดูด้วยความระมัดระวังว่าจะขัดกับแนวทางในเรื่องของการสร้างบรรยากาศของชีวิตที่ปกติในพื้นที่หรือไม่
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมเข้าใจดีว่า ข้อห่วงใยที่เกี่ยวข้องกับฐานความคิดเรื่องการใช้อำนาจความรุนแรงมันมาจากความคิดที่เราพูดถึงเรื่องของสิทธิเสรีภาพ และพวกกระผมก็เข้าใจดีว่าในสถานการณ์พิเศษ หรือปัญหาบางปัญหา เราก็ต้องยอมรับการกำจัดสิทธิเสรีภาพอยู่บ้าง คนที่ไม่เห็นด้วยกับพระราชกำหนดไม่ได้หมายความว่า ไม่ยอมที่จะยอมให้มีการจำกัดสิทธิเสรีภาพเลย มาตรการหลายอย่างกำจัดสิทธิเสรีภาพ ผมเชื่อว่าพวกเราตรงนี้ก็สนับสนุน
เช่น ผมยกตัวอย่างว่า ที่จะติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตามที่ต่างๆ ที่เป็นที่สาธารณ บางคนก็บอกว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพ แต่ผมเห็นว่าการละเมิดสิทธิเสรีภาพนั้นต้องยอมรับได้ในสถานการณ์ที่เราต้องช่วยกันแก้ไข แต่ว่าหลายเรื่องที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายฉบับนี้มันไปไกลกว่านั้นมาก และเป็นฐานความคิดที่มาจากเรื่องของการเชื่อในเรื่องของการใช้อำนาจความรุนแรง ซึ่งกระผมกราบเรียนย้ำอีกครั้งว่า ถ้ารัฐบาลไม่ระมัดระวังตรงนี้ ผมยืนยันว่าที่มาที่ไปของกฎหมายนี้จะทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ตรงจุด นั่นคือข้อแรกที่ผมอยากจะกราบเรียนท่านประธานในเรื่องของเหตุผลที่ไม่สามารถอนุมัติพระราชกำหนดฉบับนี้ได้
เหตุผลประการที่ 2 ก็คือว่าตัวกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นที่น่าห่วงใยเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบกฎหมายโดยรวม และมีประเด็นซึ่งจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงของประเทศ กฎหมายฉบับนี้จากคำชี้แจงของรัฐบาลก็คือว่าเป็นความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์พิเศษ โดยยกเลิกกฎหมายไป 1 ฉบับ คือพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2495 กับ 2. ไม่ต้องการที่จะใช้กฎอัยการศึก แต่ว่าท่านประธานครับถ้าเราเปรียบเทียบก็เหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้นอกจากจะมาแทนกฎหมายในเรื่องของสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับเดิมแล้ว ก็เหมือนกฎหมายที่มาแก้กฎอัยการศึก แต่กฎอัยการศึกมีสถานะพิเศษครับท่านประธาน
ท่านประธานจะเห็นว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 222 ได้รับรองพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกไว้อย่างชัดเจน บัญญัติเอาไว้ว่าพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้ และเลิกใช้กฎอัยการศึกตามลักษณะและวิธีตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการเร่งด่วนเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก นั่นคือรัฐธรรมนูญได้บัญญัติเอาไว้ชัดแจ้งว่า ในยามที่เป็นศึกสงครามสถานการณ์ที่คับขันอนุญาตให้มีกฎอัยการศึก ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เขารับผิดชอบเต็ม ๆ ดำเนินการ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศและเลิกใช้กฎอัยการศึก แต่ในสถานการอื่น ๆ กฎหมายทั้งหลายต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ วันนี้รัฐบาลตรากฎหมายขึ้นมาอีกฉบับเหมือนแก้ไขเพิ่มเติม และมาใช้แทนกฎอัยการศึก แต่มีหลักของการยกเว้นเจตนารมณ์และบทบัญญติของรัฐธรรมนูญไว้มาก
เหตุผลหนึ่งที่รัฐบาลพยายามจะชี้แจงก็คือว่าคำว่ากฎอัยการศึกน่ากลัว โดยเฉพาะในสายตาของชาวต่างประเทศ แต่กระผมก็กราบเรียนท่านประธานว่าที่จริงแล้วก็แล้วแต่มุมมองในแง่หนึ่ง การดึงเอาอำนาจออกมาจากฝ่ายทหารบอกว่ามาอยู่ในมือของฝ่ายบริหารทั่วไปคือนักการเมือง ซึ่งมีความจำเป็น และมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนนั้นก็ดูว่าจะมีความโปร่งใสมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันในอีกมุมหนึ่งก็เสมือนกับว่าขณะนี้รัฐบาลทำงานเหมือนกับมีรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ เลือกใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในสถานการณ์หนึ่ง แต่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อไรมีรัฐธรรมนูญอีกฉบับซึ่งความรับผิดชอบต่าง ๆ ก็ไม่ปรากฎชัดเจน และสิ่งสำคัญก็คือว่าสิ่งที่น่ากลัวในเรื่องของกฎอัยการศึกมันคงไม่ใช่ชื่อ มันต้องอยู่ที่เนื้อหาสาระ บางเรื่องกฎหมายฉบับนี้อาจปรับปรุงดีขึ้น แต่อีกหลายเรื่องกลับมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดยิ่งกว่า และเราจะไปคิดว่าชาวต่างประเทศเขาดูผิวเผินแค่ว่ามันไม่ใช่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Martial Law แปลว่ากฎหมายไม่น่ากลัว ไม่ใช่หรอกครับ 1 สัปดาห์หลังจากที่รัฐบาลตรากฎหมายฉบับนี้นิตยสารต่างประเทศฉบับหนึ่งเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า Martial Law Plus คือกฎอัยการศึกบวก ๆ
ตรงนี้เป็นประเด็นที่ผมคิดว่ารัฐบาลจะต้องใส่ใจเพื่อให้การใช้รูปแบบของกฎหมายเข้ามาทดแทนกฎอัยการศึกซึ่งมีสถานะที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้อย่างชัดแจ้งเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร และพึงใช้ด้วยความระมัดดระวังเป็นอย่างยิ่ง นอกเหนือจากประเด็นในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับตัวกฎหมายฉบับนี้ที่เข้ามาทดแทนการใช้กฎอัยการศึกแล้วมีบทบัญญัติหลายมาตราซึ่งผมจำเป็นที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่ามันสะท้อนถึงสภาพปัญหาที่หลายฝ่ายได้แสดงความเป็นห่วง เช่น ในกรณีที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินรุนแรงรัฐบาลก็สามารถที่จะใช้มาตรา 11 ของกฎหมายฉบับนี้ได้ ซึ่งมาตรา 11 มีทั้งหมด 10 วงเล็บ ท่านประธานดูวงเล็บ 6 ว่าให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศห้ามมิให้กระทำการใด ๆ หรือสั่งให้กระทำการใด ๆ เท่าที่จำเป็นแก่การรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยของประเทศ หรือความปลอดภัยของประชาชน
เราไม่ทราบเลยครับให้กระทำการใด ๆ ที่ห้ามหรือที่สั่งให้ทำ จะเป็นอะไรอย่างไรบ้างและกฏหมายฉบับอื่น ๆ ก็จะหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการให้อำนาจอะไรลอย ๆ ไว้อย่างนี้ และในสังคมประชาธิปไตยถ้าจะต้องมีอำนาจอย่างนี้ จะต้องมีคำตอบที่ชัดเจนด้วย แล้วจะต้องมีการตรวจสอบมีการจำกัดขอบเขตหรือมีการแสดงความรับผิดชอบอย่างไรตรงนี้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนะครับว่าในประเทศในสังคมที่เป็นประชาธิปไตย บทบัญญัติอย่างนี้ไม่น่าจะมีอยู่ ในระบบกฏหมายของเรา
บทบัญญัติถัดมาซึ่งอยากจะกราบเรียนก็คือ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสื่อมีทั้งกรณีที่รัฐบาลโดยท่านนายกสามารถออกข้อกำหนดได้ในสถานการณ์ฉุกเฉินคือ มาตรา 9 (3) ที่เกี่ยวข้องกับการห้ามเสนอข่าวการจำหน่ายหรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว นอกนั้นก็เป็นเรื่องของการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ และ ก็มีทั้งในเรื่องของมาตรา 11(5) ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจออกคำสั่งตรวจสอบหนังสือสิ่งพิมพ์ โทรเลข โทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใด ตลอดจนการสั่งระงับ หรือยับยั้งการติดต่อสื่อสารใดเพื่อป้องกันหรือระงับเหตุการณ์ร้ายแรงโดยต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ โดยอนุโลม
คำถามก็คือว่า ตรงนี้ มันขัดกับมาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ซึ่งมาตราดังกล่าวได้รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นการพูดการเขียนการพิมพ์การโฆษณาและการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น แน่นอนครับ การจำกัดเสรีภาพตรงนี้ทำได้ ตามวรรค 2 ของมาตรา 39 เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐแต่ขณะเดียวกัน วิธีการใช้กฏหมายฉบับนี้ท่านจะเลี่ยงไม่ให้กระทบกับสิทธิตามวรรค 4 ได้จริงหรือ นั่นก็คือ วรรค 4 ของรัฐธรรมนูญมาตรา 39 บัญญัติไว้ชัดว่า การให้นำข่าว หรือบทความ ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจก่อนนำไปโฆษณาในหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง หรือวิทยุโทรทัศน์ จะกระทำมิได้ แม้จะมีข้อยกเว้นไว้ แต่ก็บัญญัติไว้ชัดว่า จะต้องทำในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงครามหรือการรบ ไม่ได้ใช้ถ้อยคำเหมือนมาตราอื่น ที่พูดถึงสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้พูดถึงมาตราอื่นที่พูดถึงความมั่นคงของรัฐอย่างเดียว ใช้ได้เฉพาะกรณีที่ประเทศอยู่ในการสงครามหรือการรบ
วันนี้ท่านรัฐมนตรีเข้าไปชี้แจงอยู่ว่า อย่างมาตราที่เกี่ยวกับสื่อไม่ใช่ไปห้ามเสนอข่าวปกติ ต้องเป็นข่าวเฉพาะที่เห็นว่าจะเกิดความเสียหาย คำถามก็คือว่า ท่านจะรู้ว่าเสียหายหรือไม่เสียหายท่านไปตรวจก่อนหรือเปล่า ถ้าไม่ตรวจก่อนท่านจะทราบได้อย่างไร ถ้าตรวจก่อนมันก็ไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กระผมเข้าใจดีครับว่า เรื่องของการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ กระผมเข้าใจดีว่าเราไม่ต้องการจะเห็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารใดที่นำไปสู่ความแตกแยก หรือทำให้ปัญหาแก้ได้ยากขึ้น แต่กระผมก็เชื่อว่าสังคมของเราวันนี้ มาไกลเพียงพอที่จะสามารถใช้วิธีการบริหารตามปกติ ขอความร่วมมือจากสื่อสารมวลชนต่าง ๆ ได้ มีองค์กรวิชาชีพ มีองค์กรที่เขาต้องดูแลกันเองที่จะช่วยเหลือแก้ไขหรือให้ความร่วมมือในเรื่องเหล่านี้ได้
กระผมกราบเรียนว่า ถ้าเราเริ่มที่จะคิดอย่างนี้ มันก็จะเริ่มไปไกลละครับว่า รัฐบาลก็เริ่มสร้างกรอบเอาเองแล้วว่า ใครจะพูดอะไรได้ หรือไม่ได้ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสภาพปัญหาต่าง ๆ และผมย้ำว่าหลายเรื่องที่เริ่มมีการแสดงออกมาเนี่ย ผมก็คิดว่ารัฐบาลกำลังตั้งอยู่บนฐานของความเข้าใจที่ผิดอีกเช่น บอกว่าทุกคนต้องหยุดพูด เรื่องการละเมิดสิทธิซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ในอดีตที่ผ่านมา ถ้าเราไม่พูด เราจะเยียวยา ได้ไหมครับ
ถ้าเราไม่เอาความจริงมา เพื่อนำไปสู่การแก้ไข เราจะแก้ไขปัญหาได้ไหมครับ ผมเชื่อว่า คนที่นำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังว่าจะต้องเสนอบนพื้นฐานของความละเอียดอ่อนของข้อมูล ซึ่งตัวกระผมเองก็ได้ทำมาโดยตลอด แต่ถ้าจะบอกว่าวันนี้กระผมไม่มีสิทธิพูด เหตุการณ์ตากใบ หรือกรณีของทนายสมชาย ผมไม่คิดหรอกครับว่าการแก้ไขปัญหามันจะทำได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะถ้าสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในใจของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะฉะนั้นการจำกัดสิทธิเสรีภาพตรงนี้ ก็เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่งและกระผมก็ยืนยันว่า รัฐบาลทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องมีบทบัญญัติเหล่านี้ ที่จริงท่านประธานก็จะสังเกตนะครับว่า บทบัญญัติที่กระผมท้วงติงทั้งหมด รัฐบาลก็ตัดสินใจที่จะยังไม่ประกาศใช้ ทั้งในมาตรา 9 ทั้งในมาตรา 11
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ