แนะรองเท้าไทยหาตลาดส่งออกใหม่ ๆ มากขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 6, 2007 11:33 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ความเห็นว่าอุตาหกรรมรองเท้ากีฬาเป็นอีกอุตาหกรรมหนึ่งที่มีผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงเนื่องจากผลกระทบของค่าเงินมาก  ในระยะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมรองเท้ากีฬาต้องประสบปัญหาตั้งแต่การขาดแคลนแรงงาน  การปรับเพิ่มอัตราค่าแรงงานราคาวัตถุดิบสูงขึ้นรวมทั้งปัญหาจากการส่งออกชะลอตัวลงเพราะประเทศผู้นำเข้าหันไปสั่งซื้อจากจีนและเวียดนามซึ่งมีข้อได้เปรียบไทยในด้านต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย
ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตส่งออกรองเท้าสำคัญอันดับ 5 ในภูมิภาคเอเชียหรืออันดับที่ 15 ของโลกด้วยสัดส่วนร้อยละ 1.38 ของมูลค่าการส่งออกในตลาดโลก แต่มูลค่าการส่งออกรองเท้าของไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 6 เดือนแรกปี พ.ศ.2550 มีมูลค่า 494.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.06 รองเท้าที่ไทยส่งออกประกอบด้วยรองเท้ากีฬาร้อยละ 51.76
ปัจจุบันจีนเป็นฐานการผลิตการตลาดรองเท้ากีฬาใหญ่อันดับหนึ่งของโลกส่งผลกระทบต่อการส่งออกรองเท้ากีฬาของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ เป็นอย่างมากเพราะสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรองเท้ากีฬาอันดับหนึ่งของไทยซึ่งปัจจุบันลดลงต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (นายสันติ วิลาศศักดานนท์) ให้ความเห็นว่าโดยภาพรวมแล้วอุตสาหกรรมรองเท้าของไทยยังค่อนข้างดีเพราะยังมีกลุ่มผู้ประกอบการรายใหญ่อย่างเครือสหพัฒน์ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดส่งออกถึงร้อยละ 80 มียอดส่งออกประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาทและปัจจุบันมีคำสั่งซื้อมากกว่ากำลังการผลิตถึงร้อยละ 15 แม้ค่าเงินบาทจะผันผวนก็ไม่กระทบมากนัก
เมื่อไปดูสถิติการนำเข้าใน 30 ประเทศแรกของโลกพบว่า
1. มีตลาดนำเข้าที่มีสถิติการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงหลายตลาดด้วยกัน โดยเฉพาะตลาดรัสเซียนำเข้าจากตลาดโลกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 103 ในปี 2549 หรือมูลค่า 1,170.66 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการนำเข้าจากไทยอันดับที่ 14 สัดส่วนร้อยละ 0.79 และในช่วง มค.-มีค. 2550 นำเข้าจากไทยอันดับที่ 11 สัดส่วนร้อยละ 1.22 มูลค่า 5.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 170.61 ส่วนตลาดอื่นที่ไทยยังมีสัดส่วนน้อยแต่มีแนวโน้มดียังมีอีกหลายตลาดเช่น ตะวันออกกลาง เม็กซิโก เอเชียใต้ ละตินอเมริกา เป็นต้น การกระจายตลาดส่งออกไปยังตลาดใหม่ให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเป็นแนวทางหนึ่งที่ต้องดำเนินการ
2. จากการประมวลข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ พบว่าแม้ทั้งไนกี้และอาดิดาส ย้ายฐานการผลิตไปจ้างโรงงานในเวียดนามและจีน แต่หากประสบปัญหาคุณภาพสินค้าและระยะเวลาการส่งมอบไม่ตรงจะมีผลให้บางส่วนต้องกลับมาสั่งจากโรงงานในประเทศไทยอีก
ดังนั้น หากผู้ผลิตส่งออกของไทยสามารถพัฒนาคุณภาพการผลิตให้ได้มาตรฐานและมีการส่งมอบได้ตรงเวลาก็จะสามารถรักษาตลาดไว้ได้ แต่อย่างไรก็ตามปัจจุบันการแข่งขันมีค่อนข้างสูงการที่จะมีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องลำบาก ดังนั้นการไปลงทุนในประเทศที่มีภาระต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น หรือเป็นแนวทางหนึ่งในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันอีกด้วย
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ