นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท) เปิดเผยว่า ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 ส.อ.ท.จะนำผู้ส่งออกรายใหญ่ของประเทศ 12 รายจากสมาคม ต่าง ๆ เช่น สมาคมข้าว สมาคมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม สมาคมยางสมาคมแช่เยือกแข็ง และสมาคมอาหาร เป็นต้น เข้าพบนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อขอให้บังคับใช้มาตรการกันสำรอง 30% ต่อไป ไม่ให้มีการยกเลิก เนื่องจากผู้ส่งออกยังไม่มั่นใจว่าค่าเงินจะกลับมาผันผวนรุนแรงอีกหรือไม่ แม้ว่าขณะนี้จะมีเสถียรภาพมากขึ้นก็ตาม แต่หากกลุ่มใดได้รับผลกระทบก็ให้ใช้มาตรการผ่อนผันแทน เหมือนกับที่ได้ผ่อนผันไปแล้ว
ทั้งนี้ การเข้าพบผู้ว่าการ ธปท.จะไม่ขอให้มีการปรับลดดอกเบี้ย เพราะทิศทางอัตราดอกเบี้ยก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นช่วงขาลง ขณะนี้เอกชนก็พอใจกับมาตรการแก้ปัญหาค่าเงินบาทของรัฐบาล จึงไม่มีการเสนอมาตรการอื่นต่อ ธปท. แต่จะรายงานผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กช็อป) เรื่องค่าเงินบาทของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เมื่อเร็วๆ นี้ ก่อนจะมีข้อเสนออย่างไร ส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐช่วยดูแลค่าเงินบาทไม่ให้สูงกว่าประเทศคู่แข่งมากจนเกินไป เพราะแม้ว่าค่าเงินจะเริ่มมีเสถียรภาพ แต่ก็ยังแข็งค่ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง จีน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือเกาหลี ไทยก็ยังแข็งค่ากว่า 4%
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังคงไม่ยกเลิกการใช้มาตรการสกัดกั้นการเก็งกำไรค่าเงินบาท โดยการกันสำรอง 30%สำหรับการลงทุนในตราสารระยะสั้น หลังจากที่ได้ผ่อนผันมาตรการดังกล่าวไปแล้ว โดยให้นักลงทุนเลือกระหว่างการกันเงินสำรองในระดับ 30% หรือการทำการป้องกันความเสี่ยงด้วยการวางเงินประกันเท่ากับจำนวนเงินและระยะเวลาการชำระคืนเงินกู้ ในรูปของการทำสัญญาซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า ซึ่งถือว่านักลงทุนมีทางเลือกในการดำเนินการแล้ว ดังนั้น ธปท.จึงยังไม่จำเป็นต้องยกเลิกมาตรการดังกล่าว แต่หากค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่เหมาะสมแล้ว ก็อาจจะพิจารณายกเลิกมาตรการดังกล่าวได้
นอกจากนี้ เงินบาทที่อ่อนค่าลงในช่วงนี้นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความคาดหมายอยู่แล้ว และในขณะนี้ค่าเงินบาทในตลาดต่างประเทศ(ออฟชอว์)กับตลาดในประเทศ(ออน ชอว์)ก็เริ่มที่จะมีส่วนต่างที่แคบลงมาแล้ว จากเดิมที่มีส่วนต่างที่มากถึง 2.50 บาท จึงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้ คงจะไม่สามารถบอกได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ แต่ส่วนต่างในตลาดออฟชอว์และออนชอว์ที่ลดลงเรื่อยๆ ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะทำให้เราสามารถดูแลค่าเงินบาทได้ง่ายขึ้น
ประเด็นวิเคราะห์
ความเห็นของผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่มั่นใจว่าหากมีการยกเลิกมาตรการนี้ไปแล้ว จะมีการเข้ามาเก็งกำไรอีกหรือไม่ และ การจะนำกลับมาใช้ใหม่คงเป็นเรื่องยาก จึงอยากให้ ธปท.ใช้ต่อไป เพื่อให้การส่งออกขยายตัวเป็นไปตามเป้าหมาย 12.5%
ความเห็นของ ธปท. การพิจารณายกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นั้น ดูที่ระดับของค่าเงินบาทที่เหมาะสม เนื่องจากผลกระทบของมาตรการที่เกิดขึ้นกับตลาดเงิน ตลาดทุนนั้น แบงก์ชาติได้ผ่อนผันไปแล้ว โดยการให้ทางเลือกระหว่างการกันสำรองกับการทำป้องกันความเสี่ยง ซึ่งเท่าที่ผ่านมานักลงทุนจะเลือกใช้วิธีการป้องกันความเสี่ยงเป็นส่วนใหญ่
ที่มา: http://www.depthai.go.th