1. เวียดนามเป็นประเทศอาเซียนที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากญี่ปุ่นเล็งเห็นถึงศักยภาพของเวียดนามที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องโดยในช่วงปี 2002-2005 เศรษฐกิจเวียดนามเติบโตในอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปีและในปี 2006 IMF คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามจะขยายตัวร้อยละ 7.8
2. เพื่อรองรับการขยายตัวของการค้าและการลงทุนในเวียดนาม ญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือในการ พัฒนา (Official Development Assistance : ODA) อย่างต่อเนื่องล่าสุดในปี 2005 การให้ความช่วยเหลือ มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเยน สูงสุดในบรรดาประเทศที่ให้ความช่วยเหลือแก่เวียดนาม โดยเงินดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น ทางด่วน และ high speed railways เป็นต้น
3. นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีแผนที่จะจัดทำ EPA กับเวียดนาม โดยทั้งสองฝ่ายได้ประกาศการจัดทำ Japan-Vietnam Economic Partnership Agreement (JVEPA) เมื่อเดือนตุลาคม 2006 และการเจรจารอบแรกจะมีขึ้นในเดือนมกราคม 2007 โดยทั้งสองฝ่ายคาดว่า JVEPA จะทำให้การค้าทวิภาคีขยายตัวจาก 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2005 ไปสู่ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2010 นอกจากนี้ JVEPA ยังมุ่งส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยมุ่งเน้นกำหนดแนวทางปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนในเวียดนาม เพื่อรองรับการขยายตัวของการลงทุนจากญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงประเด็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้วย
4. ในอาเซียน ญี่ปุ่นได้จัดทำ EPA แล้วกับสิงคโปร มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และคาดว่าจะสามารถลงนามความตกลงฯ กับไทย
อินโดนีเซีย และบรูไนฯ ได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2007 การที่ญี่ปุ่นเร่งจัดทำ ความตกลงฯ กับสมาชิกอาเซียนรายประเทศก็เพื่อเร่งกระบวนการจัดทำ CEP ระหว่างญี่ปุ่นกับอาเซียน โดยจะนำข้อผูกพันรายประเทศมาเป็นภาคผนวกของ CEP ต่อไป เพื่อที่ว่า ญี่ปุ่นจะสามารถคงศักยภาพ ทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ได้ในระยะยาว เนื่องจากญี่ปุ่นต้องการใช้อาเซียนเป็นฐานการผลิตหลัก นอกเหนือจากจีนซึ่งมีความน่าสนใจน้อยลงเพราะค่าแรงที่สูงขึ้น ความไม่โปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมายการค้าและการลงทุนและประเด็น China Risk
5. ที่ผ่านมา การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเวียดนามขยายตัวเป็นอย่างมาก แม้ว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจากเวียดนามไปยังญี่ปุ่นจะยังไม่สูงมากนักหากเทียบกับการส่งออกจากไทยไปยังญี่ปุ่น แต่สัดส่วนการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูงโดยในปี 2005 การส่งออกจากเวียดนามไปยังญี่ปุ่นมีมูลค่า 4,538.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวถึงร้อยละ 19.13 ในขณะที่การส่งออกสินค้าจากไทยไปยังญี่ปุ่นในปี 2005 อยู่ที่ 15,589.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 7.37 โดยสินค้าเวียดนามที่เป็นคู่แข่งกับสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นและมีส่วนแบ่งตลาดสูงกว่าเช่น กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เฟอร์นิเจอร์และ ส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม รองเท้า และกระเป๋า ลวดและสายเคเบิ้ล เป็นต้น
6. ในด้านการลงทุน Mr. Hiroyuki Sakai นักวิจัยเกี่ยวกับประเทศในเอเชีย เห็นว่าเวียดนามมีศักยภาพ ในการเลียนแบบความสำเร็จของไทยเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากญี่ปุ่นเห็นถึงโอกาสของการลงทุนในเวียดนามเพราะแรงงานมีความขยันขันแข็งและมีความรู้ค่าแรงต่ำเมื่อเทียบกับจีนและไทย นอกจากนี้การลงทุนยังเวียดนามจะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่าการเลือกลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นหลัก
7. ล่าสุด บริษัทญี่ปุ่น เช่น ฮอนด้าได้ขยายกำลังการผลิตรถจักรยานยนต์ในเวียดนามถึงร้อยละ 30 ในช่วงครึ่งหลังของปี 2006 และมีแผนที่จะตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในเวียดนามในอนาคต ในขณะที่ Sumitomo Corporation ได้มีแผนสร้าง Industrial Park ณ ชานกรุงฮานอย และ Secom Co., Ltd. ได้ก่อตั้งบริษัทหลักทรัพย์ขึ้นที่เวียดนามแล้ว
ความเห็นและข้อสังเกต
1) เมื่อพิจารณาโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่าภาพลักษณ์ของเวียดนามนั้นอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วยปัจจัย เชิงบวกดังที่ได้กล่าวมาแล้วในขณะที่ตลอดช่วงปี 2006 ไทยได้รับผลกระทบจากปัจจัยเชิงลบมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ที่เรื้อรังมาหลายปี การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลโดยการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน และการลอบวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ที่ผ่านมา
2) พัฒนาการเชิงบวกของเวียดนามย่อมส่งผลกระทบต่อไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ โดยในด้านการค้าด้วยต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าเนื่องจากค่าแรงราคาถูก และหากมีการลดภาษีนำเข้าสินค้าภายใต้ JVEPA ในอนาคต จะทำให้สินค้าเวียดนามมีโอกาสแข่งขันด้านราคากับสินค้าไทยในตลาดญี่ปุ่นได้ดีขึ้น
3) ในด้านการลงทุนเวียดนามมีจุดแข็งในเรื่องค่าแรงที่ต่ำรวมถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองและ สังคม แต่มีจุดด้อยในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและ local suppliers ในสายตาของนักลงทุนญี่ปุ่นตามข้อมูลของ JETRO อย่างไรก็ดีจุดด้อยเหล่านี้นับวันจะลดลง เพราะญี่ปุ่นได้ให้ความช่วยเหลือการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานในเวียดนามอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม นอกจากนี้รูปแบบการจัดการ การผลิต และการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมเวียดนามก็น่าที่จะมีความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เนื่องจาก การเข้ามาของ suppliers ญี่ปุ่น ในอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องทั้งต้นน้ำและปลายน้ำของ supply chain ใน แต่ละอุตสาหกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหากมีการจัดทำ JVEPA ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายการลงทุน ของบริษัทยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นในเวียดนาม
4) โดยที่ทั้งไทยและเวียดนามต่างได้รับสิทธิ AFTA ในฐานะสมาชิกอาเซียน ดังนั้น ไม่ว่าจะเลือกลงทุน ผลิตสินค้ายังประเทศใด
ญี่ปุ่นก็ยังคงโอกาสการได้รับสิทธิ AFTA ในการส่งออกสินค้าไปยังประเทศอาเซียนอื่นๆ (หากสินค้านั้นได้แหล่งกำเนิดสินค้าในอาเซียน) ดังนั้น การที่เวียดนามมีค่าแรงต่ำ การเมือง และสังคมมีเสถียรภาพ และโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมมากขึ้นจะทำให้ไทยอยู่ในสถานะลำบากยิ่งขึ้นในการแข่งขันกับเวียดนามเพื่อดึงดูดการลงทุนในสาขาใหม่ๆ จากญี่ปุ่น นอกเหนือจากสาขายานยนต์ที่ไทย
เป็นฐานการผลิตหลักของญี่ปุ่นในภูมิภาคเอเชีย ณ ปัจจุบัน
5) ด้วยเหตุผลดังกล่าว ไทยจำต้องปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น โดยสินค้าที่จะส่งออก มายังตลาดญี่ปุ่นควรให้ความสำคัญด้านมาตรฐานสุขอนามัยสำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร และในเรื่อง คุณภาพ การออกแบบ และประโยชน์ใช้สอยสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภค มากกว่าที่จะแข่งขันด้านราคา กับสินค้าจากเวียดนาม สำหรับด้านการลงทุน การพัฒนาบุคลากรไทยให้มีความรู้และทักษะสูงขึ้นเพื่อ รองรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงจากญี่ปุ่นน่าจะเป็นหนทางที่จะช่วยดึงดูดการลงทุนจากญี่ปุ่นได้ เนื่องจากปัจจุบัน ไทยยังคงมีความพร้อมในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน และ supporting industries เหนือกว่าเวียดนาม แต่วิศวกรและผู้ประกอบวิชาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีกลับมีไม่เพียงพอ ต่อความต้องการส่งผลให้ค่าแรงของบุคลากรเหล่านี้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
6) JTEPA ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะเป็นปัจจัยเสริมความได้เปรียบและสนับสนุนให้การค้าและ การลงทุนไทย-ญี่ปุ่นสามารถขยายตัวได้ต่อไป เพราะนอกจากจะเพิ่มโอกาสการส่งออกสินค้ามายังญี่ปุ่น เนื่องจากสินค้ามีราคาต่ำลงรวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้าที่ลดลง เพราะวัตถุดิบที่นำเข้าจากญี่ปุ่นมีราคาต่ำลง ตามพันธกรณีภายใต้ JTEPA แล้ว ไทยยังมีโอกาสจากการเปิดตลาดภาคบริการของญี่ปุ่น โดยเฉพาะ ธุรกิจ SMEs ในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ รวมถึงบุคลากรไทยที่จะมีโอกาสเข้ามาทำงานในญี่ปุ่นได้ง่ายขึ้น ตลอดจนโอกาสจากความร่วมมือในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น เรื่อง ความร่วมมือด้านสุขอนามัย และสุขอนามัยพืชเพื่อพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และการยอมรับหน่วย ตรวจสอบของไทยโดยไม่ต้องตรวจซ้ำที่ญี่ปุ่นในผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนด เป็นต้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th