รายงานดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ ประจำเดือน ก.ค.50

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 3, 2007 16:10 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน กรกฎาคม  2550 
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2550 โดยสรุปจากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนกรกฎาคม 2550
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนกรกฎาคม 2550 เท่ากับ 140.3
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมิถุนายน 2550 ลดลงร้อยละ 1.0
2.2 เดือนกรกฎาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.2
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2550 โดยเฉลี่ยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ร้อยละ 1.0 ทั้งนี้จากการลดลงของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม และหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 6.2 และ0.1 ตามลำดับ ขณะที่หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นร้อยละ 0.2
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาลดลงเป็นเดือนแรกในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 6.7 จากการลดลงของราคาผลผลิตการเกษตร ที่สำคัญ คือ ยางพารา (น้ำยางข้น ยางแผ่นดิบ เศษยาง) ทั้งนี้เพราะมีการคาดการณ์ว่าราคายางพาราจะลดลงจากการที่ผลผลิตทยอยออกสู่ตลาดมากขึ้น ผู้ใช้ยางทั้งในและต่างประเทศจึงชะลอการซื้อ ผักสด (มะนาว ผักคะน้า ถั่วฝักยาว) ปาล์มน้ำมัน ราคาเริ่มอ่อนตัวลงในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ตามราคาตลาดต่างประเทศ
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาเดือนกรกฎาคม 2550 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่ในอัตราที่ลดลง ร้อยละ 0.1 ที่สำคัญ คือ แร่สังกะสี
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาเดือนกรกฎาคม 2550 สูงขึ้น ร้อยละ 0.2 ส่วนหนึ่งจากการสูงขึ้นของราคาสินค้าอาหารบริโภค ที่สำคัญ คือ สุกรและไก่ เป็นผลจากมาตรการแก้ไขปัญหาด้านการตลาดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้ปริมาณสุกรและไก่เข้าสู่ตลาดน้อยและมีราคาสูงขึ้น สำหรับสินค้าอื่น ๆ ที่ราคาสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี เหล็กแท่ง และเหล็กแผ่น เป็นต้น
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนกรกฎาคม 2550 เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2549 ดัชนีราคายังคงสูงขึ้นต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ลดลง คือ ร้อยละ 1.2 เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 21.1 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ พืชน้ำมัน (ผลปาล์มสด ถั่วเหลือง) พืชผัก ไม้ตัดดอก และผลไม้ สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 13.8 จากการลดลงของราคาปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 1.6 จากการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ยาง
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ