กรุงเทพ--27 ส.ค--กระทรวงการต่างประเทศ
ระหว่างวันที่ 5 — 15 กรกฎาคม 2550 คณะผู้แทนไทย นำโดย นางจิตริยา ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศมอริเตเนีย และโมร็อกโก เพื่อรับทราบความต้องการในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อหาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความนิยมไทยให้เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกา เพื่อเป็นการปูทางสู่การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป
ในการเยือนมอริเตเนีย คณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กระทรวงประมง และหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน (เทียบเท่ากระทรวง) ซึ่งจากการหารือดังกล่าวทราบว่าฝ่ายมอริเตเนีย มีความต้องการรับความช่วยเหลือจากไทยในด้านต่าง ๆ คือ ด้านการเกษตร เนื่องจากเป็นประเทศแห้งแล้ง ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร แต่ในแหล่งเพาะปลูกข้าวทางภาคใต้มีแม่น้ำเซเนกัลอยู่ จึงประสงค์ให้ไทยสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเพาะปลูกข้าว การชลประทาน การวิจัยด้านการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ ด้านการลงทุน มอริเตเนียมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง ทองคำ ฟอสเฟต แร่เหล็ก จึงประสงค์ให้ฝ่ายไทยไปลงทุน โดยอาจร่วมทุนกับคนในท้องถิ่น หรือจะลงทุนเองทั้งหมดฝ่ายมอริเตเนียก็ไม่ขัดข้อง ด้านสาธารณสุข ขอความร่วมมือพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งเครื่องใช้ อุปกรณ์และรถพยาบาล และการสร้างเครือข่ายการรักษาพยาบาลระหว่างเมืองใหญ่และชนบท การต่อสู้โรคมะเร็ง เบาหวาน และ HIV/AIDS ด้านพลังงาน มอริเตเนียเป็นแหล่งพลังงานใหม่ (น้ำมัน) ของโลกและยังมีก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่ขุดพบแล้วและคาดว่าจะสามารถพบได้อีก จึงต้องการรู้วิธีที่จะนำขึ้นมาผลิตไฟฟ้า และต้องการพัฒนาศักยภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย รวมทั้งประสงค์จะหาคู่ร่วมมือในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซรายใหม่ด้วย เนื่องจากในปัจจุบัน มีคู่ร่วมมือเพียงบางประเทศจากยุโรปและมาเลเซียเท่านั้น ด้านประมง ประสงค์จะขอความร่วมมือด้านประมงน้ำจืด ประมงน้ำลึก การป้องกันมลภาวะและการดูแลคุณภาพน้ำ
สำหรับการหารือกับผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานต่าง ๆ ของโมร็อกโก 9 หน่วยงาน ได้ผลสรุปว่าฝ่ายโมร็อกโกมีความต้องการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในหลายด้านจากไทย ได้แก่ ด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในชนบท แก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างงานให้ชุมชน การส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สิ่งที่ต้องการเรียนรู้จากไทย คือ การปลูกข้าว เทคโนโลยีการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การเพาะพันธุ์ปลา micro-finance, OTOP การพัฒนาฝีมือแรงงาน การฝึกอบรมสัตวแพทย์ และการเลี้ยงไหม ด้านการศึกษาและฝึกอบรม ฝ่ายโมร็อกโกสนใจที่จะให้ไทยสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงาน และฝ่ายไทยเสนอให้ทุนฝ่ายโมร็อกโก ภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 5 ทุน และสนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบไตรภาคี เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา ด้านการท่องเที่ยว สนใจที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศไทยด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าหัตถกรรม นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศโมร็อกโกได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการทูตของประเทศทั้งสอง รวมทั้งขอให้มีการจัดประชุมระดับปลัดกระทรวงของทั้งสองประเทศ เนื่องจากมีการลงนามย่อในพิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศโมร็อกโกแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2545 โดยขอเชิญปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปประชุมที่โมร็อกโก หรืออาจจัดการประชุมที่ประเทศไทย
ฝ่ายไทยโดย สพร. เห็นว่า เนื่องจากความต้องการความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีจำนวนมาก และมีความหลากหลาย ในการดำเนินการขั้นต่อไปจึงเห็นควรสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับกลางที่เป็นผู้เสนอนโยบายของโมร็อกโกและมอริเตเนียเดินทางมาดูงานในประเทศไทย เพื่อหารือกำหนดสาขาและแนวทางความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในการนี้ สพร. ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศทั้งสองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนของไทยทราบด้วยแล้ว
การหารือร่วมกันระหว่างไทยและมอริเตเนีย และระหว่างไทยและโมร็อกโก ในครั้งนี้ มีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นอย่างมากในการทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแอฟริกา โดยเฉพาะศักยภาพของไทยด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร ฯลฯ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการในกรอบ Look West Policy ของกระทรวงการต่างประเทศอีกด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-สส-
ระหว่างวันที่ 5 — 15 กรกฎาคม 2550 คณะผู้แทนไทย นำโดย นางจิตริยา ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (สพร.) กระทรวงการต่างประเทศ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของประเทศมอริเตเนีย และโมร็อกโก เพื่อรับทราบความต้องการในสาขาต่าง ๆ รวมทั้งสำรวจข้อเท็จจริงเพื่อหาแนวทางความร่วมมือทางวิชาการร่วมกัน ซึ่งจะเป็นการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคแอฟริกา สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและความนิยมไทยให้เกิดขึ้นในประเทศแอฟริกา เพื่อเป็นการปูทางสู่การขยายความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันต่อไป
ในการเยือนมอริเตเนีย คณะผู้แทนไทย ได้เข้าพบหารือกับรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและปศุสัตว์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ กระทรวงประมง และหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน (เทียบเท่ากระทรวง) ซึ่งจากการหารือดังกล่าวทราบว่าฝ่ายมอริเตเนีย มีความต้องการรับความช่วยเหลือจากไทยในด้านต่าง ๆ คือ ด้านการเกษตร เนื่องจากเป็นประเทศแห้งแล้ง ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตร แต่ในแหล่งเพาะปลูกข้าวทางภาคใต้มีแม่น้ำเซเนกัลอยู่ จึงประสงค์ให้ไทยสนับสนุนเรื่องการบริหารจัดการน้ำ การเพาะปลูกข้าว การชลประทาน การวิจัยด้านการเกษตร และการเลี้ยงสัตว์ ด้านการลงทุน มอริเตเนียมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง ทองคำ ฟอสเฟต แร่เหล็ก จึงประสงค์ให้ฝ่ายไทยไปลงทุน โดยอาจร่วมทุนกับคนในท้องถิ่น หรือจะลงทุนเองทั้งหมดฝ่ายมอริเตเนียก็ไม่ขัดข้อง ด้านสาธารณสุข ขอความร่วมมือพัฒนาบุคลากรทางด้านสาธารณสุข รวมทั้งเครื่องใช้ อุปกรณ์และรถพยาบาล และการสร้างเครือข่ายการรักษาพยาบาลระหว่างเมืองใหญ่และชนบท การต่อสู้โรคมะเร็ง เบาหวาน และ HIV/AIDS ด้านพลังงาน มอริเตเนียเป็นแหล่งพลังงานใหม่ (น้ำมัน) ของโลกและยังมีก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่ขุดพบแล้วและคาดว่าจะสามารถพบได้อีก จึงต้องการรู้วิธีที่จะนำขึ้นมาผลิตไฟฟ้า และต้องการพัฒนาศักยภาพในเรื่องที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย รวมทั้งประสงค์จะหาคู่ร่วมมือในการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซรายใหม่ด้วย เนื่องจากในปัจจุบัน มีคู่ร่วมมือเพียงบางประเทศจากยุโรปและมาเลเซียเท่านั้น ด้านประมง ประสงค์จะขอความร่วมมือด้านประมงน้ำจืด ประมงน้ำลึก การป้องกันมลภาวะและการดูแลคุณภาพน้ำ
สำหรับการหารือกับผู้บริหารระดับสูงในหน่วยงานต่าง ๆ ของโมร็อกโก 9 หน่วยงาน ได้ผลสรุปว่าฝ่ายโมร็อกโกมีความต้องการแลกเปลี่ยนความร่วมมือในหลายด้านจากไทย ได้แก่ ด้านการเกษตรและการพัฒนาชนบท ซึ่งเป็นสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในชนบท แก้ไขปัญหาความยากจน เพิ่มผลผลิตทางการเกษตร สร้างงานให้ชุมชน การส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สิ่งที่ต้องการเรียนรู้จากไทย คือ การปลูกข้าว เทคโนโลยีการเกษตร การบริหารจัดการน้ำ การเพาะพันธุ์ปลา micro-finance, OTOP การพัฒนาฝีมือแรงงาน การฝึกอบรมสัตวแพทย์ และการเลี้ยงไหม ด้านการศึกษาและฝึกอบรม ฝ่ายโมร็อกโกสนใจที่จะให้ไทยสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของหน่วยงาน และฝ่ายไทยเสนอให้ทุนฝ่ายโมร็อกโก ภายใต้กรอบความร่วมมือทางวิชาการกับประเทศกำลังพัฒนา จำนวน 5 ทุน และสนใจที่จะศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการความร่วมมือภายใต้กรอบไตรภาคี เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา ด้านการท่องเที่ยว สนใจที่จะเรียนรู้ประสบการณ์จากประเทศไทยด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าหัตถกรรม นอกจากนี้ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศโมร็อกโกได้เสนอให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างสถาบันทางการทูตของประเทศทั้งสอง รวมทั้งขอให้มีการจัดประชุมระดับปลัดกระทรวงของทั้งสองประเทศ เนื่องจากมีการลงนามย่อในพิธีสารว่าด้วยความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศไทยและกระทรวงการต่างประเทศโมร็อกโกแล้วตั้งแต่พฤษภาคม 2545 โดยขอเชิญปลัดกระทรวงการต่างประเทศของไทยไปประชุมที่โมร็อกโก หรืออาจจัดการประชุมที่ประเทศไทย
ฝ่ายไทยโดย สพร. เห็นว่า เนื่องจากความต้องการความร่วมมือของทั้งสองประเทศมีจำนวนมาก และมีความหลากหลาย ในการดำเนินการขั้นต่อไปจึงเห็นควรสนับสนุนให้ผู้บริหารระดับสูงหรือระดับกลางที่เป็นผู้เสนอนโยบายของโมร็อกโกและมอริเตเนียเดินทางมาดูงานในประเทศไทย เพื่อหารือกำหนดสาขาและแนวทางความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ในการนี้ สพร. ได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและลู่ทางการลงทุนในประเทศทั้งสองให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชนของไทยทราบด้วยแล้ว
การหารือร่วมกันระหว่างไทยและมอริเตเนีย และระหว่างไทยและโมร็อกโก ในครั้งนี้ มีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์ประเทศไทยเป็นอย่างมากในการทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในแอฟริกา โดยเฉพาะศักยภาพของไทยด้านการท่องเที่ยว การศึกษา การสาธารณสุข การเกษตร ฯลฯ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ทุกประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นการดำเนินการในกรอบ Look West Policy ของกระทรวงการต่างประเทศอีกด้วย
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-สส-