นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช อธิบดีกรมการประกันภัย ในฐานะหัวหน้าคณะผู้เจรจา ในส่วนของสาขาธุรกิจประกันภัยของไทย ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทย-สหรัฐฯ (รอบที่ 6 ) ในส่วนของสาขาธุรกิจประกันภัยที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17 — 18 พฤศจิกายน 2548 ณ สำนักงานส่งเสริมการค้าประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร
การเจรจา ในส่วนของสาขาธุรกิจประกันภัย จัดขึ้นร่วมกับการเจรจาใน ภาคการเงิน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกรมการประกันภัย โดยมีนริศ ชัยสูตร ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหัวหน้าคณะเจรจากลุ่มบริการด้านการเงินฝ่ายไทย
สำหรับภาพรวมของการเจรจาในภาคการเงินในรอบนี้ มีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมเจรจาจัดทำร่างความตกลงในสาขาบริการด้านการเงิน ซึ่งฝ่ายไทยยังคงยืนยันท่าทีที่ให้ใช้แนวทางการจัดทำแบบ Positive List Approach และได้ขอสงวนในบางประเด็นที่เห็นว่าอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรฐกิจ และพัฒนาการของตลาดการเงินในประเทศ ฝ่ายสหรัฐ ฯ ต้องการแบบ Negative List Approach คือเปิดเสรีเต็มรูปแบบ ยกเว้นส่วนที่ระบุไว้เป็นข้อสงวนความตกลง ฯ โดยในการนี้ ทั้งสองฝ่ายได้มีความเห็นสอดคล้องกันในหลักการในหลายประเด็น อาทิ เช่น เรื่องคำจำกัดความของการบริการด้านการเงิน ( financial Services) ซึ่งเป็นไปตามคำนิยามที่ไทยได้ยอมรับภายใต้กรอบองค์การค้าโลก การจัดตั้ง Financial Services Committee หรือคณะกรรมการร่วมด้านการเงิน เพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยประเด็นต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายหลังจากข้อตกลง ฯ มีผลบังคับใช้และการเปิดเผยข้อมูลกฎระเบียบที่มีความโปร่งใสซึ่งมีความคล้องกัน ยกเว้นในประเด็นที่กำหนดให้การพิจารณาอนุมัติเรื่องต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน ที่ฝ่ายไทยเห็นว่าควรเป็นระยะเวลาพอสมควร เพราะไม่สามารถอนุมัติได้ในบางรายการ เช่น การจัดตั้งบริษัทประกันภัยที่ต้องมีขั้นตอนการพิจารณา โดยเฉพาะในส่วนที่นอกเหนืออำนาจของนายทะเบียนประกันภัย คือ ในส่วนของการได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยจากรัฐมนตรีว่างการกระทรวงพาณิชย์ โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี
นอกจากนั้น ผู้แทนสหรัฐ ฯ ยังได้มีข้อซักถามเกี่ยวกับกฎระเบียบการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยของไทยในเรื่องต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งบริษัทประกันภัย และการจัดตั้งสาขาของบริษัทประกันภัยต่างประเทศ โดยอธิบดีกรมการประกันภัยได้ให้คำชี้แจงในเรื่องดังกล่าวและยืนยันถึงนโยบายที่ให้การสนับสนุนการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการและให้ความคุ้มครองที่เหมาะสมต่อผู้เอาประกันภัย
ที่มา: http://www.doi.go.th