สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่3(กรกฎาคม—กันยายน)พ.ศ.2549(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 16, 2007 15:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจไทย
จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 4.9 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาซึ่งขยายตัวร้อยละ 6.1 แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 ทำให้ครึ่งปีแรกของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5.5 สูงกว่าร้อยละ 3.9 ในครึ่งปีก่อน โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราการขยายตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อัตราเงินเฟ้อสูง การเพิ่มอัตราดอกเบี้ย การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอตัวลงเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมาก และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายในประเทศ
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 5.8 เทียบกับร้อยละ 7.8 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2549 และร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 มีการชะลอตัวลงในทุกอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมเบา อุตสาหกรรมวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมสินค้าทุนและเทคโนโลยี เนื่องจากความต้องการในประเทศและการส่งออกสินค้าเริ่มชะลอลง โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรม เครื่องหนัง อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมโทรทัศน์และวิทยุ และอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 4.2 — 4.7 โดยมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งหลังของปี 2549 เนื่องจากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนของ สถานการณ์ภายในประเทศ อย่างไรก็ตามการท่องเที่ยวและการส่งออกยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชอลอตัวลงกว่าในครึ่งแรกของปี 2549
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยจะเห็นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยเพิ่มขึ้นในปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ และยอดการนำเข้าสินค้าทุนประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า เครื่องชี้วัดที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในปลายปี 2549 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ได้แก่ ปัญหาอุทกภัย ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง และสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ แต่ยังคงมีปัจจัยบวกที่จะช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ เช่น ราคาน้ำมันที่มีการปรับตัวลดลง จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อและต้นทุนการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลง และการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ จะช่วยให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 168.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา 161.5) ร้อยละ 4.6 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (160.0) ร้อยละ 5.5
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรม การผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.6 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชี และเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอ และมอลต์ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุม อุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 166.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (158.3) ร้อยละ 5.1 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (156.5) ร้อยละ 6.3
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 6.0 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 189.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (168.5) ร้อยละ 12.7 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (160.4) ร้อยละ 18.4
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขึ้นมูลฐาน เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขึ้นมูลฐาน เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ร้อยละ 10.6 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 68.0 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา (67.8) แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (68.9)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล อุตสาหกรรมการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรม การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เป็นต้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมการผลิต เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ยกเว้นปุ๋ยและสารประกอบไนโตรเจน
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ทั้ง 3 ดัชนีมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ได้แก่ ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาน้ำมันยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ผ่านมา ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงและสถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีค่า 74.2, 73.2 และ 76.4 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี แต่ดัชนีในเดือนกันยายน 2549 กลับมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกว่าในเดือนสิงหาคม 2549 แม้ว่าจะยังคงมีปัจจัยลบที่ผู้บริโภควิตกกังวลอยู่หลายประการ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีค่า 75.6, 74.8 และ 77.3 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อกาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามดัชนีในเดือนกันยายน 2549 กลับมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกว่าในเดือนสิงหาคม 2549
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีค่า 90.2, 89.3 และ 92.7 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีมีค่าต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเอง อย่างไรก็ตามดัชนีในเดือนกันยายน 2549 กลับมีความเชื่อมั่นมากขึ้นกว่าในเดือนสิงหาคม 2549
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าวปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2548 เนื่องจากความวิตกกังวลของผู้บริโภคในปัจจัยลบต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวะการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท คำสั่งซื้อ การลงทุน การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปี 2548
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย(ตารางที่ 4) พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 อยู่ที่ 87.93 ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามดัชนีในเดือนกันยายน 2549 ได้ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 96.8 โดยพิจารณาดัชนีในเดือนกันยายน 2549 จัดการแบ่งข้อมูลออกเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนการปฏิรูปการปกครองของคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วันที่ 19 กันยายน 2549 กับช่วงหลังการปฏิรูปการปกครอง โดยก่อนการปฏิรูปการปกครอง ค่าดัชนีอยู่ที่ 89.1 แต่หลังการปฏิรูปการปกครองอยู่ที่ระดับ 100.8 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ทางการเมืองที่คลี่คลายและคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น นอกจากนี้การปรับตัวเพิ่มขึ้น ของดัชนีในเดือนกันยายน 2549 เป็นผลจากการปรับตัวดีขึ้นของความเชื่อมั่นในด้านต่าง ๆ เช่น ต้นทุนการประกอบการ ยอดขายและยอดคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การจ้างงาน การใช้กำลังการผลิต การลงทุนของกิจการ สภาพคล่องทางการเงินของกิจการ ความสามารถในการแข่งขัน สภาวะโดยรวมของธุรกิจ เป็นต้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้นโยบายด้านเศรษฐกิจต่าง ๆ มีความชัดเจนและมีผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนกันยายน 2549 อยู่ที่ระดับ 123.9 ลดลงร้อยละ 0.6 จากเดือนสิงหาคม 2549 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 124.6 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณเงิน Mza ณ ราคาคงที่ จำนวนนักท่องเที่ยว ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าการส่งออกสินค้า ณ ราคาคงที่ การลงทุนของบริษัทจดทะเบียนใหม่
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีค่าเฉลี่ย 124.2 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 126.2
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนกันยายน 2549 อยู่ที่ระดับ 125.4 ลดลงร้อยละ 0.9 จากเดือนสิงหาคม 2549 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 126.6 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ภาษีมูลค่าเพิ่ม มูลค่าการนำเข้าสินค้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีค่าเฉลี่ย 125.9 ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 125.6
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on Private Consumption) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (ตารางที่ 5) ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ที่เริ่มกลับมาค่อนข้างทรงตัวจากราคาน้ำมันที่ลดลง
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการใช้กระแสไฟฟ้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง การนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ยอดการนำเข้าสินค้าทุน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเครื่องชี้สำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดการนำเข้าสินค้าทุน
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่มตามราคาข้าวและเนื้อสัตว์ ส่วนราคาสินค้าในหมวดอื่น ๆ ที่ไม่รวมอาหารและเครื่องดื่ม ก็เพิ่มขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของราคาค่าขนส่งและการศึกษา
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยราคาในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมและหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 สำหรับราคาหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในไตรมาสที่สามของปี 2549 (ตัวเลขเดือนกันยายน) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 36.25 ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 35.74 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.60 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.42 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในไตรมาสที่สามปี 2549 มีจำนวน 5.41 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 15.14 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ เดือนตุลาคมปี 2549 มีจำนวนผู้ประกันตนทั้งสิ้น 8,568,778 คน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับแจ้งจำนวนลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างในระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 2549 ( ข้อมูล ณ วันที่ 25 กันยายน 2549 )มีจำนวน 125,121 คน โดยเป็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 65,315 คน อุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์และการสื่อสารมีจำนวน 14,845 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 6,625 คน และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มจำนวน 6,484 คน
ส่วนสถานประกอบการที่เลิกกิจการมีจำนวน 14,862 แห่ง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีการเลิกกิจการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งรถพ่วง 703 แห่ง รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 514 แห่ง อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักรและอุปกรณ์ จำนวน 355 แห่ง
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีทิศทางเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 68,451.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 35,058.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 33,392.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.10 และการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.36 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.10 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.40 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ดุลการค้าเกินดุล 1,666.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการเกินกว่า 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือน ก.ย. 2549 มีมูลค่าการส่งออกถึง 12,048.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
-โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกใน 9 เดือนแรกของปี 2549 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 73,706.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.08) สินค้าเกษตรกรรม 9,512.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.94) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 5,775.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.04) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 5,213.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.45) และสินค้าอื่นๆ 1,408.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.47)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าบางหมวดมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.51 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 และสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.42
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2549 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 10,705.0ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 6,929.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 5,190.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 4,002.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 3,347.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 2,783.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 2,694.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 2,604.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ 2,562.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เคมีภัณฑ์ 2,443.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 43,261.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 45.24 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
- ตลาดส่งออก
ในช่วง 9 เดือนแรก ปี 2549 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 62.0 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า ในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.71 ตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.94 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.50 และตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.56
- โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในระยะ 9 เดือนแรก ของปี 2549 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 39,358.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 41.01) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 26,724.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.84) น้ำมันเชื้อเพลิง 19,211.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 20.02) สินค้าอุปโภคบริโภค 6,739.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.02) สินค้าหมวดยานพาหนะ 2,892.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.01) และสินค้าอื่นๆ 2,033.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.10)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.94 สินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.39 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.83 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 16.03 และสินค้าหมวดยานพาหนะลดลงร้อยละ 5.58 สินค้าหมวดอื่นๆลดลง ร้อยละ 1.13
- แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มีสัดส่วนการนำเข้าคิดเป็นร้อยละ 53.52 เมื่อเทียบกับมูลค่าการนำเข้ารวม และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2548 พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.51 สหภาพยุโรปเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.63 ญี่ปุ่นลดลงร้อยละ 2.01 , สหรัฐอเมริกาลดลงร้อยละ 1.24
- แนวโน้มการส่งออก
จากการหารือกับผู้ส่งออกสินค้าสำคัญล่าสุดของกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 11-16 ตุลาคม 2549 ทำให้เชื่อมั่นว่า การส่งออกทั้งปี 2549 จะขยายตัวใกล้เคียงกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 17 แม้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะชะลอลง แต่คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2549 มากนัก เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวที่ดี เช่น ยุโรป จีน อินเดีย เป็นต้น และในไตรมาสที่ 3 เป็นช่วงฤดูสั่งซื้อ และส่งมอบสินค้าในเทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการมาตรการเชิงรุก เพื่อขยายการส่งออกและเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ อาทิ การผลักดัน SMEs และกลุ่มอินเตอร์เทรดเดอร์ทีมีศักยภาพสู่ต่างประเทศ รวมทั้งผลักดันธุรกิจบริการ เช่น สปา อาหาร การศึกษา การรักษาพยาบาล เป็นต้น
สินค้าสำคัญที่คาดว่าจะสามารถส่งออกได้สูงกว่าเป้าหมาย คือ สินค้าเกษตร ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และ ยางพารา รวมทั้ง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง และ ของเล่น ส่วนสินค้าสำคัญที่คาดว่าจะสามารถส่งออกได้ตามเป้าหมายหรือใกล้เคียง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้สด แช่แข็งกระป๋องและแปรรูป วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง และ ผลิตภัณฑ์เภสัช
การลงทุนจากต่างประเทศ
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ