นายวีระชัย วีระเมธีกุล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะทำงานเพื่อจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 คณะรัฐมนตรีได้พิจารณารายงานประเมินผลการดำเนินการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานเพื่อจัดทำรายงานประเมินผลการดำเนินการของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยที่แต่งตั้งตามมาตรา 92 แห่งพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 แล้ว มีมติให้ความเห็นชอบให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยคงอยู่เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อไป
คณะทำงานฯ ได้ประเมินผลการดำเนินการของ บสท. ใน 3 ด้านหลัก คือ 1) ด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ 2) ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และ 3) ด้านประสิทธิผลตามแนวนโยบายของรัฐ ครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่เริ่มจัดตั้งจนถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2547 พบว่า บสท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคืบหน้าไปมาก และการดำเนินการของ บสท. ทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงควรคง บสท. ไว้เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อไป กล่าวคือ บสท. ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 15,904 ราย คิดเป็นมูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 778,677 ล้านบาท และได้มีการบริหารจัดการจนมีข้อยุติตามการอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร บสท. แล้วทั้งสิ้นจำนวน 9,155 ราย เป็นมูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 753,321 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 96.74 ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนทั้งสิ้น
ขั้นตอนต่อไป บสท. จะมุ่งติดตามให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนลูกหนี้รายที่ไม่สามารถหาข้อยุติในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ บสท. จะต้องบังคับหลักประกันและจำหน่ายสินทรัพย์หลักประกันต่อไป โดยยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในส่วนนี้กลับมาเจรจาใหม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหนี้และสินทรัพย์หลักประกันมีโอกาสกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีข้อเสนอแนะบางประการเพื่อให้การดำเนินการมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ได้เสนอให้มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ รวมทั้ง ปรับปรุงงบการเงินและระบบการรายงานทางบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการองค์กรและสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงการจัดทำแผนโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างอัตรากำลังเพื่อรองรับภารกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ส่งข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ ดังกล่าวให้ บสท. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 เพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต่อไปด้วยแล้ว
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 1/2548 7 มกราคม 2548--
คณะทำงานฯ ได้ประเมินผลการดำเนินการของ บสท. ใน 3 ด้านหลัก คือ 1) ด้านประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ 2) ด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และ 3) ด้านประสิทธิผลตามแนวนโยบายของรัฐ ครอบคลุมข้อมูลตั้งแต่เริ่มจัดตั้งจนถึง ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2547 พบว่า บสท. ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพคืบหน้าไปมาก และการดำเนินการของ บสท. ทั้งในด้านการบริหารจัดการองค์กร การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และการดำเนินการตามกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก็มีประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงควรคง บสท. ไว้เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพต่อไป กล่าวคือ บสท. ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงินและบริษัทบริหารสินทรัพย์ทั้งของรัฐและเอกชน รวมทั้งสิ้น 15,904 ราย คิดเป็นมูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 778,677 ล้านบาท และได้มีการบริหารจัดการจนมีข้อยุติตามการอนุมัติของคณะกรรมการบริหาร บสท. แล้วทั้งสิ้นจำนวน 9,155 ราย เป็นมูลค่าทางบัญชีเท่ากับ 753,321 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 96.74 ของสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่รับโอนทั้งสิ้น
ขั้นตอนต่อไป บสท. จะมุ่งติดตามให้ลูกหนี้ปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ส่วนลูกหนี้รายที่ไม่สามารถหาข้อยุติในการปรับโครงสร้างหนี้ได้ บสท. จะต้องบังคับหลักประกันและจำหน่ายสินทรัพย์หลักประกันต่อไป โดยยังเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ในส่วนนี้กลับมาเจรจาใหม่ได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ลูกหนี้และสินทรัพย์หลักประกันมีโอกาสกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้มีข้อเสนอแนะบางประการเพื่อให้การดำเนินการมีความสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น ได้เสนอให้มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหนี้ด้อยคุณภาพ รวมทั้ง ปรับปรุงงบการเงินและระบบการรายงานทางบัญชีให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสถาบันการเงินเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการองค์กรและสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น รวมถึงการจัดทำแผนโครงสร้างองค์กรและโครงสร้างอัตรากำลังเพื่อรองรับภารกิจที่จะเปลี่ยนแปลงไปให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เหลืออยู่ นอกจากนี้ ยังได้มีข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สิน ซึ่งกระทรวงการคลังได้ส่งข้อเสนอแนะของคณะทำงานฯ ดังกล่าวให้ บสท. เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2547 เพื่อใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต่อไปด้วยแล้ว
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 1/2548 7 มกราคม 2548--