ม.หอการค้าชี้ส่งออกโต 9.64 % เจอมรสุมศก.สหรัฐฯหด-บาทแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 11, 2007 11:03 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์การค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการคาดการณ์ภาวะส่งออก-นำเข้าสินค้าของไทยตลอดทั้งปี 2550 ว่า การส่งออกจะขยายตัว 9.64% หรือมีมูลค่า 142,473 ล้านดอลลาร์ ต่ำกว่าที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ว่าปีนี้จะขยายตัว 12.5% คิดเป็นมูลค่า 145,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้การส่งออกลดต่ำลง มาจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง
ทั้งนี้การแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบต่อการส่งออกและนำเข้า รวมถึงดุลการค้า กรณีเงินบาทแข็งค่า 1 บาท มูลค่าการส่งออกจะลดลงถึง 3.1% และการนำเข้าเพิ่มขึ้น 0.7% ซึ่งจากการคาดการณ์ว่า หากเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ 36.49 บาทต่อดอลลาร์การส่งออกทั้งปี 2550 จะมีมูลค่า 146,883 ล้านดอลลาร์หรือขยายตัว 13.03% หากค่าเงินบาทอยู่ที่ 35.49 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกขยายตัว 9.64% มีมูลค่า 142,473 ล้านดอลลาร์ และเงินบาทอยู่ที่ 34.49 บาทต่อดอลลาร์ การส่งออกจะขยายตัว 6.24% ทำให้การส่งออกแม้จะขยายตัว แต่จะขยายตัวอัตราที่ลดลง ขณะที่การนำเข้าปีนี้คาดว่ายังเติบโตไม่ต่ำกว่า 10.17% คิดเป็นมูลค่า 139,744 ล้านดอลลาร์ ทำให้เกินดุลการค้าเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2,729 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากปีก่อนที่เกินดุล 3,101 ล้านดอลลาร์
“เหตุผลหลักน่าจะมาจากปัญหาเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐและอีกหลายประเทศ ตลอดจนปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยว นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจต่อการท่องเที่ยวในประเทศ ส่งผลให้ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าจะมีการท่องเที่ยวคึกคัก ประชาชนอาจหวั่นวิตกเกิดเหตุระเบิด และอีกหลายปัจจัยที่สร้างความไม่มั่นใจต่อการลงทุนในประเทศ”
ในช่วงไตรมาส 2 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกประมาณ 33,140 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากไตรมาสแรก 0.81% เนื่องจากค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าอย่างต่อเนื่องราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 62.83 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลและทั้งปีจะอยู่ที่ 62.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตลอดจนภาวะการแข่งขันที่รุนแรงโดยเฉพาะการที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิก องค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) และมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (NTBs) ของประเทศคู่ค้ามีความเข้มงวดมากขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจของคู่ค้าชะลอตัวลง จึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย
สำหรับการนำเข้าไตรมาสสอง คาดว่าจะขยายตัวถึง 16.33% เนื่องจากนำเข้าสินค้าคงคลังมากขึ้น หลังจากชะลอการนำเข้าในช่วงต้นปี ประกอบกับได้มีการลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ทำให้คาดว่าจะมีการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น เพราะมีการลดภาษีหลายรายการ ส่งผลให้ดุลการค้าช่วงไตรมาส 2 จะขาดดุลประมาณ 3,589 ล้านดอลลาร์
ส่วนภาคบริการจะมีรายได้ลดลงจากไตรมาสแรกประมาณ 18.12% เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูที่นักท่องเที่ยวเข้ามาน้อยของการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันสถานการณ์ลอบวางระเบิดและความไม่สงบทำให้ประชาชนชะลอการท่องเที่ยวในช่วงสงกรานต์ และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติหันไปเที่ยว จีน เกาหลี มาเลเซีย และเวียดนาม ทำให้มีส่วนแบ่งตลาดมากขึ้นจึงคาดว่าดุลบริการจะเกินดุลเพียง 415 ล้านดอลลาร์ และทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาส 2 จะขาดดุลถึง 5,237 ล้านดอลลาร์
ขณะที่รายจ่ายภาคบริการจะมีมูลค่า 5,500 ล้านดอลลาร์ ลดลง 4.38% จากไตรมาสแรก เนื่องจากหน่วยราชการเดินทางไปดูงานต่างประเทศน้อยลงขณะที่ดุลบริการจะเกินดุล 415 ล้านดอลลาร์ โดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะขาดดุล 5,237 หลังจากไทยเกินดุลต่อเนื่องมา 3 ไตรมาส เนื่องจากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นและดุลบริการที่ลดลงเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลที่ลดลง
ประเด็นวิเคราะห์
จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และเมื่อดูการส่งออกในแต่ละตลาด โดยเฉพาะตลาดหลักมีอัตราที่ลดลงต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐ สหภาพยุโรป และตลาดอาเซียน แต่ไทยยังสามารถทำตลาดได้ดีขณะเดียวกัน ม.หอการค้าไทยคาดว่าในปี 2550 แม้ไทยจะเกินดุลการค้า 2,729 ล้านดอลลาร์ แต่ก็ขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นสูงถึง 9,425 ล้านดอลลาร์ จีน 2,758 ล้านดอลลาร์ และประเทศอื่นๆ อีก 7,532 ล้านดอลลาร์ ขณะที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ 11,384 ล้านดอลลาร์ สหภาพยุโรป 6,455 ล้านดอลลาร์ อาเซียน 2,904 ล้านดอลลาร์ และออสเตรเลีย 1,702 ล้านดอลลาร์
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ