1. สหรัฐฯ เป็นตลาดนำเข้าสำคัญอันดับ 1 ของโลกในปี 2549 มูลค่าการนำเข้าประมาณร้อยละ 10.79 ของการนำเข้าในตลาดโลก มีมูลค่าการนำเข้า 1,853,938.475 ล้านเหรียญสหรัฐ
2. การค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในช่วงเดือนม.ค.-เม.ย. 2550 มีมูลค่า 969,900.966 ล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้มีมูลค่าส่งออก 362,730.493 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.67 ด้านการนำเข้ามีมูลค่า 607,170.473 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.64 โดยนำเข้าจากแหล่งผลิตสำคัญดังนี้
1. แคนาดา ร้อยละ 16.64 มูลค่า 101,025.227 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 0.01
2. จีน ร้อยละ 15.75 มูลค่า 95,647.916 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.68
3. เม็กซิโก ร้อยละ 10.70 มูลค่า 64,952.475 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.97
4. ญี่ปุ่น ร้อยละ 8.02 มูลค่า 48,697.766 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.01
5. เยอรมนี ร้อยละ 4.94 มูลค่า 29,983.482 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.35
18.ไทย ร้อยละ 1.17 มูลค่า 7,130.626 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.91
ดุลการค้า สหรัฐฯ เสียเปรียบดุลการค้ากับทั่วโลกในเดือน ม.ค.-เม.ย.2550 มูลค่า 244,439.980 ล้านเหรียญ สหรัฐลดลงร้อยละ 3.18 โดยขาดดุลกับประเทศจีนสูงเป็นอันดับหนึ่งคือ มูลค่า 76,324.287 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.49 รองลงมาเป็นการขาดดุลกับญี่ปุ่น แคนาดา เม็กซิโก และเยอรมนี เป็นต้น ส่วนกับประเทศไทยสหรัฐขาดดุลการค้าเป็นอันดับที่ 15 มูลค่า 4,605.601 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.87
3. เศรษฐกิจ ของสหรัฐฯในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า ผู้บริโภคในสหรัฐจะจำกัดการใช้จ่ายลง เพราะประสบปัญหาเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ แต่ขณะเดียวกันด้านการผลิตในอุตสาหกรรมโดยรวมฟื้นตัวโดยจะขยายตัว 3.2 % ในไตรมาสที่ 2, 2.8% ในไตรมาสที่ 3 และ 3.1% ในไตรมาสที่ 4 หลังจากที่ขยายตัวเพียง 0.9 % เมื่อสิ้นปี 2549
4. ในช่วง มค.-เม.ย.2550 สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทยโดยมีสัดส่วนส่งออกไป ตลาดนี้ร้อยละ 13.00 หรือมูลค่า 5,939.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.35 คิดเป็นร้อยละ 30.38 ของเป้าหมายการส่งออกที่มูลค่า 19,546 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.0
5. สินค้าไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ปี 2550 (มค.-เม.ย.) มีโครงสร้าง ดังนี้
- สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง) ร้อยละ 7.60
- สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ร้อยละ 8.70
- สินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 80.55
- สินค้าแร่ เชื้อเพลิง และอื่นๆ ร้อยละ 3.16
จากสถิติโครงสร้างการส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯปี 2550 (มค.-เม.ย.) จะเห็นว่าสินค้าแต่ละกลุ่มมีสถิติเพิ่มขึ้นในระดับที่แตกต่างกัน โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ .73 เกษตรกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.63 และอุตสาหกรรมการเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.89
7.1 การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปสหรัฐฯ ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) มีมูลค่า 451.19 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.63 เมื่อเทียบกับ 404.16 ของปี 2549 ในช่วงระยะเดียวกัน
สินค้าเกษตรกรรมสำคัญส่งออกไปสหรัฐฯ ได้แก่
- ยางพารา ร้อยละ 34.26
- กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 31.31
- ข้าว ร้อยละ 15.45
- ปลา ร้อยละ 3.61
- ปลาหมึก ร้อยละ 2.21
ยางพารา : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่หนึ่งซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 154.57 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2550 (มค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.47 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-เม.ย.2550 พบว่าสหรัฐฯ นำเข้ายางพารา (ยางธรรมชาติ) (HS 4001 NATURAL) จากตลาดโลกเป็นมูลค่า 663.307 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42
กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง : เป็นสินค้าเกษตร (ประมง)สำคัญอันดับสองที่ไทยส่งออกไปสหรัฐฯ ได้เป็นมูลค่า 141.25 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้ากุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง (HS.030613 SHRIMP, PRAWN FROZEN) ในประเทศสหรัฐฯ ช่วง ม.ค.-เม.ย.2550 ซึ่งมีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 24.33 มูลค่า 192.832 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.86 รองลงไปเป็นการนำเข้าจาก เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และเวียดนามสัดส่วนร้อยละ 14.19 , 12.91 และ 10.99 ตามลำดับ
ข้าว : เป็นสินค้าเกษตรสำคัญอันดับที่สาม ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 69.70 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.35 เมื่อเทียบกับ 53.88 ของปี 2549 ในช่วงระยะเดียวกัน และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าข้าว (Hs.1006 Rice) ของสหรัฐฯ พบว่าในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2550 มีการนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 126.934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.77 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 57.11 มูลค่า 72.487 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงไปเป็นการนำเข้าจาก จีน อินเดีย ในสัดส่วนร้อยละ 20.578 และ 17.002 ตามลำดับ
ปลา : เป็นสินค้าเกษตร (ประมง) ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ (ปี 2550 มค.-เม.ย.) อันดับที่สี่ มูลค่า 16.27 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.47 และเมื่อดูจากสถิติการนำเข้าปลา (แช่เย็นแช่แข็ง)(HS 0304 FISH FILLET, OTHER FISH MEAT) ในประเทศสหรัฐฯ พบว่าในช่วง ม.ค.-เม.ย.2550 สหรัฐฯ นำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 1,119.475 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.65 มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 13 สัดส่วนร้อยละ 1.19 มูลค่า 13.267 ล้านเหรียญสหรัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.74 ในขณะที่การนำเข้าจากจีน ชิลี เป็นอันดับ 1 และ 2 สัดส่วนร้อยละ 33.28 และ 26.92 ตามลำดับ
ปลาหมึก : เป็นสินค้าเกษตร (ประมง) สำคัญอันดับที่ 5 ซึ่งไทยส่งออกไปสหรัฐฯ โดยมีมูลค่า 9.95 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.18 ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) ในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-เม.ย. 2550 มีการนำเข้าจากตลาดโลก (HS.030741 SQUID, ETC, LIV, FR/CH) มูลค่ารวม 0.535 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.01 มีการนำเข้าจากจีน อินเดีย และอุรุกวัย เป็นหลักส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 2 สัดส่วนร้อยละ 15.63 มูลค่า 0.084 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.00
สินค้าเกษตรส่งไปสหรัฐฯ ที่มีความสำคัญรองลงไปคือ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และใบยาสูบ เป็นต้น
7.2 สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรไปสหรัฐฯ ปี 2550 (มค.-เม.ย.) ที่สำคัญ 5 อันดับแรก ได้แก่
- อาหารทะเลแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 31.31
- ผลไม้กระป๋องและแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 25.02
- อาหารสัตว์เลี้ยง สัดส่วนร้อยละ 4.64
- ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ สัดส่วนร้อยละ 3.88
- ผักกระป๋องและแปรรูป สัดส่วนร้อยละ 2.48
อาหารทะเลแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 161.84 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2550 (มค.-เม.ย.) ลดลงร้อยละ 7.64 แต่ในด้านสถิติการนำเข้าของสหรัฐฯ มีการนำเข้า
- (HS 1604 FISH AND CAVIAR) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปในช่วง ม.ค.-เม.ย.2550 สหรัฐฯนำเข้าจากตลาดโลก มูลค่า 322.081 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.61 นำเข้าจากไทย เอกวาดอร์ และแคนาดา เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับหนึ่ง สัดส่วนร้อยละ 30.90 มูลค่า 99.533 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 6.26
- (HS 1605 CRUSTACEAN, MOLLUSCS) ปู กุ้ง ปลาหมึก บรรจุภาชนะอัดลม (อาหารทะเลแปรรูป) ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2550 สหรัฐฯ นำเข้าจากตลาดโลก มูลค่า 546.250 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.01 มีการนำเข้าจากไทย จีน และอินโดนีเซียเป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่หนึ่งสัดส่วนร้อยละ 32.75 มูลค่า 178.882 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ17.54
ผลไม้กระป๋องและแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ มูลค่า 129.34 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.29 ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) และในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ (ม.ค.-เม.ย. 2550 )ในรหัส HS 2008 OTHER FRUIT, NUT มีมูลค่า 450.248 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.36 มีการนำเข้าจากจีน ไทย และเม็กซิโก เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 27.16, 18.59 และ 11.25 ตามลำดับส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับ 2 สัดส่วนร้อยละ 18.59 มูลค่า 83.698 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.06
อาหารสัตว์เลี้ยง : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 23.97 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.86 ในปี 2550 (มค.-เม.ย.)ส่วนในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ ในช่วง ม.ค.-เม.ย. 2550 ในรหัส HS 23 FOOD WASTE : ANIMAL FEED มีการนำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 323.747 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.49 โดยนำเข้าจากแคนาดา จีน และสหราชอาณาจักร เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 49.38, 16.99 และ 8.28 ตามลำดับส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่อันดับที่ 4 สัดส่วนร้อยละ 6.72 มูลค่า 21.766 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.27
ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 20.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) เทียบกับ 15.99 ล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงเดียวกันของปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.58 และเมื่อไปดูสถิติการนำเข้าในรหัส HS 1901 MALT EX : PREP OF FLOUR (ม.ค.-เม.ย 2550) พบว่าสหรัฐฯ นำเข้าจากตลาดโลกมูลค่า 138.863 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.20 มีการนำเข้าจากแคนาดา เม็กซิโก และเดนมาร์ก เป็นหลักในสัดส่วนร้อยละ 80.13, 3.01 และ 2.02 ตามลำดับส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 7 สัดส่วนร้อยละ 0.97 มูลค่า 1.350 เพิ่มขึ้นร้อยละ 272.02
ผักกระป๋องและแปรรูป : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 12.80 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 5.40 ในปี 2550 (มค.-เม.ย.) และในด้านการนำเข้าของสหรัฐฯ (ม.ค.-เม.ย 2550) ในรหัส HS 2005 OT PREP VEG, NOT FRZEN) จากตลาดโลกมีมูลค่า 280.527 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.57 มีการนำเข้าจากสเปน เม็กซิโก และกรีซ เป็นหลักในสัดส่วนร้อยละ 28.03, 13.26 และ 10.80 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับ 10 สัดส่วนร้อยละ 2.04 มูลค่า 5.712 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.89
สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมที่สำคัญรองลงไปซึ่งไทยส่งไปสหรัฐฯ ได้แก่ สิ่งปรุงรสอาหาร และผลิตภัณฑ์ข้าว เป็นต้น
7.3 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปสหรัฐฯ ปี 2550 (มค.-เม.ย.) 5 อันดับ ได้แก่
- เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 22.14
- เครื่องใช้ไฟฟ้า สัดส่วนร้อยละ 15.90
- สิ่งทอ สัดส่วนร้อยละ 12.61
- อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วนร้อยละ 5.36
- เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ สัดส่วนร้อยละ 5.16
เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ ปี2550 (มค.-เม.ย.)มูลค่า 1,059.30 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.13 ส่วนในด้านการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ (HS 8471 COMPUTER AND COMPONENTS) ของตลาดสหรัฐฯ (ม.ค-เม.ย 2550 ) มีมูลค่า 17,982.781 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.78 โดยนำเข้าจากจีน มาเลเซีย และเม็กซิโก เป็นหลัก ในสัดส่วนร้อยละ 48.15, 16.17 และ9.59 ตามลำดับ ส่วนการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 5 สัดส่วนร้อยละ 5.29 มูลค่า 950.393 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.22
เครื่องใช้ไฟฟ้า : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ ในปี2550 (มค.-เม.ย.) เป็นมูลค่า 760.78 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 13.71 แต่เมื่อไปดูสถิติการนำเข้าสินค้าในรหัส HS.85 ELECTRICAL MACHINERY ของประเทศสหรัฐฯ ในช่วงม.ค.-เม.ย 2550 พบว่ามีการนำเข้าจากตลาดโลกรวม 75,470.602 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.68 นำเข้าจากประเทศจีนเม็กซิโก และญี่ปุ่น เป็นหลัก ในสัดส่วน 28.83, 21.96 และ 9.03 ตามลำดับส่วนการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 9 สัดส่วนร้อยละ 2.30 มูลค่า 1,736.274 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 1.21
สิ่งทอ : ไทยส่งสินค้านี้ออกไปสหรัฐฯ ปี2550 (มค.-เม.ย.) เป็นมูลค่า 603.47 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.87 ส่วนในด้านการนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอในตลาดสหรัฐฯ (ม.ค.-เม.ย 2550) ในรหัส สินค้า (HS 63 MISC TEXTILE ARTICLES) จากตลาดโลกมีมูลค่า 3,280.190 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.22 โดยนำเข้าจากจีน ปากีสถาน และอินเดีย เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอันดับที่ 10 สัดส่วนร้อยละ 1.26 มูลค่า 41.292 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 16.65
อัญมณีและเครื่องประดับ : ไทยส่งสินค้านี้ไปสหรัฐฯ ปี2550 (มค.-เม.ย.) มูลค่า 256.66 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 284.83 ของปี 2549 ในช่วงระยะเดียวกัน ลดลงร้อยละ 9.89 ในด้านการนำเข้าจากตลาดโลกของสหรัฐฯ (ม.ค.-เม.ย 2550) ในรหัสสินค้า (HS 71 PRECIOUS STONES, METALS) เป็นมูลค่า 14,924.100 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.00 นำเข้าจากอิสราเอล อินเดีย และอัฟริกาใต้ เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 9 สัดส่วนร้อยละ 2.86 มูลค่า 426.794 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.06
เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ : ไทยส่งออกสินค้านี้ไปสหรัฐฯ ปี2550 (มค.-เม.ย.) มูลค่า 247.04 ล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับ 377.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ของปี 2549 ในช่วงระยะเดียวกันลดลง ร้อยละ 34.52 ในด้านการนำเข้าจากตลาดโลกของสหรัฐฯ (ม.ค-เม.ย 2550) ในรหัสสินค้า (HS 8529 TV/ RAD APP PTS ) มีมูลค่า 1,516.169 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 18.78 โดยนำเข้าจากจีน ญี่ปุ่น และ เม็กซิโก เป็นหลัก ส่วนการนำเข้าจากไทยอยู่ในอันดับที่ 11 สัดส่วนร้อยละ 1.32 มูลค่า 20.00 ล้านเหรียญสหรัฐลดลงร้อยละ 52.77
สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปสหรัฐฯ ที่สำคัญรองลงไป ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร ในครัวและบ้านเรือน เป็นต้น
ข้อคิดเห็น
1. เกี่ยวกับการต่อสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ให้กับประเทศไทย ซึ่งสหรัฐฯจะพิจารณาในวันที่ 1 กรกฎาคม 2550 ในครั้งนี้มีสินค้าที่อยู่ในข่ายที่จะถูกตัดสิทธิพิเศษอยู่ 4 รายการด้วยกัน ได้แก่ โพลิเอทิลีนกาเรฟทาเลต ยางเรเดียล เครื่องรับโทรทัศน์ และเครื่องประดับอัญมณีทำจากโลหะมีค่าซึ่งกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ให้ข้อมูลไปครบถ้วนแล้วจึงอยู่ระหว่างการรอประกาศ แต่ในขณะที่รออยู่นี้ไทยได้รับผลกระทบด้านจิตวิทยาคือ ผู้นำเข้าในสหรัฐฯได้ชะลอการสั่งซื้อจากประเทศไทยเพราะยังไม่แน่ใจว่าไทยจะได้รับผลกระทบต่อสิทธิพิเศษหรือไม่ จึงมีผลให้ยอดการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปสหรัฐฯหดหายไปประมาณร้อยละ 15-20 อย่างไรก็ตามหากไทยจะได้รับพิจารณาต่อสิทธิพิเศษต่อไปก็จะทำให้สามารถส่งออกไปตลาดสหรัฐได้ตามเป้าหมาย แต่หากไม่ได้รับการต่อสิทธิพิเศษไทยจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้มากขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า เพื่อกระจายการส่งออกไปยังตลาดอื่นให้มากยิ่งขึ้นเป็นการทดแทน
2. การส่งออกกุ้งของไทย ปัจจุบันพึ่งพาตลาดสหรัฐฯเป็นหลักในสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมมีผลให้สหรัฐฯตั้งแง่กีดกันโดยชาวประมงกุ้งในมลรัฐหลุยเซียนากังวลต่อการนำเข้ากุ้งจากไทยว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมกุ้งในสหรัฐฯได้จึงตั้งข้อกล่าวหาให้ผู้แทนทำการสอบสวนว่าอุตสาหกรรมกุ้งไทยใช้แรงงานเด็ก การจำหน่ายกุ้งในราคาต่ำเป็นต้น ทั้งที่ไทยมิได้ทำเช่นนั้นการเกิดกรณีเช่นนี้นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกแล้วยังส่งผลกระทบลงไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งอีกด้วย ดังนั้น กรมประมงและกระทรวงพาณิชย์จึงมีแผนร่วมกันในการส่งเสริมให้มีการกระจายการส่งออกกุ้งไปยังตลาดอื่นให้มากขึ้นอาทิ ญี่ปุ่น รัสเซีย แคนาดา และตะวันออกกลางเป็นต้น การที่ภาครัฐมีแผนเช่นนี้จะส่งผลดีต่ออนาคตของกุ้งไทยในระยะยาว
3. กรณีที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าเป็นมูลค่าสูงโดยเฉพาะกับจีนเป็นมูลค่าสูงอย่างต่อเนื่อง และมีข้อขัดแย้งทางการค้ากับจีนรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้สหรัฐฯพยายามกดดันจีนให้พิจารณาปรับค่าเงินหยวนให้สูงขึ้นเพราะเห็นว่าเงินหยวนอ่อนกว่าที่ควรจะเป็นประมาณร้อยละ 20-40 ในกรณีนี้เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2550 วุฒิสภาอาวุโสเสนอให้ร่างกฎหมายเพื่อลงโทษจีน เนื่องจากบิดเบือนค่าเงินหยวนอ่อนกว่าปัจจัยพื้นฐาน สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1.) ด้านรัฐสภาพรรคเดโมแครต ซึ่งมีเสียงข้างมากจะผลักดันให้มีกฎหมายจัดการกับการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับจีนโดยเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯพิจารณาการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าและประเมินว่าประเทศนั้น ๆ เป็นประเทศที่ใช้กลไกตลาดเสรีหรือไม่ ในกรณีนี้ประเทศจีนจะอยู่ในข่ายเพราะเป็นประเทศสังคมนิยม ซึ่งหากอยู่ในฐานะที่ไม่เป็นประเทศที่ใช้กลไกตลาดเสรีก็จะมีโทษรุนแรงกว่าในกรณีการฟ้องร้องว่าขายสินค้าต่ำกว่าทุนเพื่อทุ่มตลาดสหรัฐฯ ในประเด็นนี้จะก่อให้เกิดสงครามการค้าได้เพราะผู้ผลิตสินค้าในสหรัฐฯจะฟ้องต่อกระทรวงพาณิชย์ให้เรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าจากจีนนับพันรายการเพราะรัฐสภาสหรัฐฯได้กล่าวไว้ก่อนหน้าแล้วว่าเงินหยวนอ่อนกว่าความเป็นจริง 20-40 % ก็เท่ากับว่าจะต้องเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดอีก 20-40% เช่นกัน
2.) หากการดำเนินการดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จภายใน 1 ปี ให้ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) นำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก (WTO) และให้กระทรวงการคลังสหรัฐฯร่วมกับธนาคารกลางหามาตรการแทรกแซงค่าเงินสหรัฐฯเพื่อตอบโต้การค้าไม่เป็นธรรมกับจีน
แม้เงื่อนไขในร่างกฎหมายนี้จะพุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนแต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อประเทศอื่นรวมทั้งไทยด้วย
ที่มา: http://www.depthai.go.th