คมช. สอบผ่าน - รัฐบาลหวิดตก
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
22 มีนาคม 2550
เพียงเห็นหัวข้อเรื่องข้างต้นนี้ ก็ย่อมจะเป็นที่เข้าใจกันได้ในทันทีว่า เรื่องที่ผมจะเขียนถึง เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์สู่กันฟังก็คือ ผลงานของรัฐบาล และคมช. ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทั้งรัฐบาล และคมช. ต่างก็ได้ตั้งวงแถลงกันอย่างจริงจังเป็นพิเศษ
ภายหลังจากที่ได้แถลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาว่า จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทั้งโดยสื่อมวลชนและผู้สนใจ ซึ่งก็มีทั้งพอใจมาก พอใจน้อย รวมทั้งมีการให้คะแนนว่าสอบผ่านหรือไม่ผ่านด้วย ความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป
สำหรับความเห็นของผม คำตอบ ก็คือ ข้อความที่เป็นชื่อเรื่องของบทความนี้ คือ คมช. สอบผ่านแต่รัฐบาลหวิดตก
ผมให้ คมช. สอบผ่าน ด้วยเหตุผลของการพิจารณาว่า โดยข้อกล่าวอ้างของการที่ต้องมีการยึดอำนาจและเมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว ตั้งแต่ที่ยังเป็นคปค. คือ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฯ จนมาเป็น คมช. ได้มีการดำเนินการอย่างมีกระบวนการที่พอจะเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวอ้างได้มากน้อยเพียงใด ทั้งที่กระทำไปเพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงให้ปรากฎ และเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำซากขึ้นมาอีกได้ และที่สำคัญก็คือ เพื่อการกลับคืนสู่สภาวะการณ์ปรกติ โดยไม่มีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งผมเห็นว่าแม้หลายเรื่องจะเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ค่อยจะเป็นที่พอใจกันมากนัก แต่โดยกระบวนการและความพยายามเท่าที่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลัง ๆ ได้พยายามเร่งรัดดำเนินการกันมากขึ้น การสืบทอดอำนาจ ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนอย่างสำคัญ ก็ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุที่ชัดเจนพอ จึงพอที่จะอนุโลมให้สอบผ่านไปได้ แต่คะแนนก็คงจะไม่สวยงามเท่าที่ควร
ผมให้รัฐบาลหวิดตก ได้คะแนนคาบเส้นโดยได้วิเคราะห์ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในช่วงเวลาทั้งก่อนและภายหลังการแถลงซึ่งได้มีความคิดเห็นที่พอจะประมวลได้ว่าเป็นเพราะ
1. รัฐบาลดูจะยังไม่ได้ตระหนักมากนัก ว่าเป็นรัฐบาลในภาวะวิกฤตการทำงานและการแก้ปัญหาจึงมักจะขาดความรวดเร็วไม่ทันการ ที่สำคัญก็คือ คณะรัฐมนตรียังขาดความเข้าใจที่ตรงกัน ในภารกิจที่จะต้องสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีปรากฎอย่างชัดเจนในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นที่มาของข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าไม่ทำในเรื่องที่ควรทำแต่กลับทำในเรื่องที่ไม่ควรทำ
2. รัฐบาลยังขาดความแน่วแน่ ในอันที่จะร่วมมือกัน ชำระล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุอ้างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจ และก็เป็นที่มาของรัฐบาลเอง ดังจะสังเกตเห็นได้จากอุปสรรคข้อขัดข้องในการให้ความร่วมมือต่อ คตส. และเป็นเหตุให้งานของ คตส. ต้องล่าช้าไม่อาจเร่งรัดดำเนินการได้ในหลายกรณี จน คตส. ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำเป็นมติครม. ให้ผู้บริหาร ข้าราชการและพนักงานของรัฐต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้มีผลบังคับอย่างจริงจัง ซึ่งมาถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีมติครม. ดังกล่าว
3. รัฐบาลยังไม่สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซ้ำกลับมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที
4. การแก้ไขปัญหาประชาชนทั้งที่เป็นปัญหาค้างเก่า และทั้งที่เป็นปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการซึ่งกำลังจะกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองต่อรัฐบาล
5. ภาคเอกชนขาดความมั่นใจในรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถึงขั้นประเมินให้รัฐบาลสอบตกไม่ผ่าน เพราะยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงทุกขณะ ประชาชนขาดความเชื่อมั่น กำลังซื้อถดถอย มาตรการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานอกจากจะไม่เป็นผลแล้ว ยังเกิดผลกระทบเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย การส่งออกที่ยังบอกว่าดี ก็มีปัญหาเพิ่ม เพราะรัฐบาลยังไม่อาจแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้
เหล่านี้คือเหตุผลที่พอจะวิเคราะห์ได้ว่าล้วนเป็นปัญหาที่ฉุดคะแนนนิยมที่มีต่อรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ ให้ลดต่ำลงทุกขณะ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลในภาวะปกติที่มีรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้แล้วละก็ ผมเชื่อว่าคงมีการเข้าชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามโดยที่พิจารณาเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาเพียงกลางปีที่รัฐบาลนี้ ซึ่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารบ้านเมืองซึ่งอาจจะยังตั้งหลักไม่ทัน แต่ถ้ายังตั้งหลักช้าไปกว่านี้อีกก็คงจะแย่มากเหมือนกัน ผมจึงมีความเห็นว่าถ้าถึงกับให้คะแนนสอบตก ก็กระไรอยู่ ก็เอาเป็นว่าผ่านไปอย่างหวุดหวิด คือได้คะแนนคาบเส้น ก็แล้วกัน
ผมเชื่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายภายหลังจากที่รัฐบาลและคมช. ได้แถลงแล้ว คงจะเป็นเสียงสะท้อนที่รัฐบาลและคมช. คงจะได้รับฟัง และนำไปประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการมากขึ้น และก็อยากจะบอกทั้งรัฐบาลและคมช. อีกด้วยว่าจะมีปัญหารุมเร้ามากขึ้น กว่าที่ผ่านมาแล้วอย่างแน่นอน และอาจจะถึงขั้นที่จะก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีกได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและคมช. จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ตั้งแต่บัดนี้
ผมมีความเห็นว่า เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความรัดกุม รอบคอบในการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ใหม่ รวมทั้งเพื่อให้สังคมได้ผ่อนคลายความอึดอัด รัฐบาล คมช. และผู้เกี่ยวข้องควรจะได้ดำเนินการดังนี้
1. รัฐบาลควรจะได้ใช้โอกาสในช่วงนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติในปัญหาสำคัญ ๆ โดยใช้หลักการและวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือ นายกรัฐมนตรีควรแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติเพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นแทนที่จะปล่อยให้สมาชิกฯ ต้องเข้าชื่อกันเองเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป
2. รัฐบาลควรจะได้แสดงออกให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการร่วมมือกันทำลายล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยการจัดให้มีมติครม. ให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานของรัฐ ต้องถือเป็นหน้าที่ในการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ผู้ใดละเว้นไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ต้องถือว่ามีความผิดทั้งทางวินัย และทางกฎหมายว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
3. รัฐบาลและคมช. ควรจะได้ร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อประเมินปัญหาและสถานการณ์เป็นระยะ ๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหา และการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทันเกมการเมืองทั้งที่เป็นคลื่นใต้น้ำและเหนือน้ำ ซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่าจะโหมกระหน่ำรัฐบาล คมช. และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละด้านเพื่อสร้างแรงกดดัน
4. การจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดข้อขัดแย้งจนกลายเป็นวิกฤต ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ล้าหลังกว่าเดิมมีปัญหาแน่ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้เกิดพลังบวกระหว่างพลังก้าวหน้าที่ไม่อาจรับความล้าหลังได้ กับพลังเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่าที่จ้องจะคว่ำรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
5. เรื่องสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องใหญ่ที่คมช. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พฤติกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความระแวงแคลงใจได้ว่าจะมีการสืบทอดอำนาจต้องระงับยับยั้งเสียในทันที เพราะอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนมองเห็นได้ก็คือกรณียอมเสียสัตย์เพื่อชาติของ พลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2535 อันเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้ก็ด้วยความปรารถนาดีที่จะได้เห็นการเร่งฟื้นฟูประเทศ และประชาธิปไตยเป็นไปด้วยดี แม้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น และก็ยังปรารถนาที่จะได้มีโอกาสให้คะแนนเมื่อครบวาระในตอนปลายปีนี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความหวังว่าคณะของท่านจะไม่ถูกรีไทร์ไปเสียก่อน.
*************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 22 มี.ค. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
22 มีนาคม 2550
เพียงเห็นหัวข้อเรื่องข้างต้นนี้ ก็ย่อมจะเป็นที่เข้าใจกันได้ในทันทีว่า เรื่องที่ผมจะเขียนถึง เพื่อวิเคราะห์วิจารณ์สู่กันฟังก็คือ ผลงานของรัฐบาล และคมช. ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งทั้งรัฐบาล และคมช. ต่างก็ได้ตั้งวงแถลงกันอย่างจริงจังเป็นพิเศษ
ภายหลังจากที่ได้แถลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ย่อมเป็นธรรมดาว่า จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ตามมาทั้งโดยสื่อมวลชนและผู้สนใจ ซึ่งก็มีทั้งพอใจมาก พอใจน้อย รวมทั้งมีการให้คะแนนว่าสอบผ่านหรือไม่ผ่านด้วย ความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างกันออกไป
สำหรับความเห็นของผม คำตอบ ก็คือ ข้อความที่เป็นชื่อเรื่องของบทความนี้ คือ คมช. สอบผ่านแต่รัฐบาลหวิดตก
ผมให้ คมช. สอบผ่าน ด้วยเหตุผลของการพิจารณาว่า โดยข้อกล่าวอ้างของการที่ต้องมีการยึดอำนาจและเมื่อมีการยึดอำนาจแล้ว ตั้งแต่ที่ยังเป็นคปค. คือ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฯ จนมาเป็น คมช. ได้มีการดำเนินการอย่างมีกระบวนการที่พอจะเป็นเหตุเป็นผลเกี่ยวเนื่องกับข้อกล่าวอ้างได้มากน้อยเพียงใด ทั้งที่กระทำไปเพื่อพิสูจน์ความเป็นจริงให้ปรากฎ และเพื่อระงับยับยั้งความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายซ้ำซากขึ้นมาอีกได้ และที่สำคัญก็คือ เพื่อการกลับคืนสู่สภาวะการณ์ปรกติ โดยไม่มีการสืบทอดอำนาจ ซึ่งผมเห็นว่าแม้หลายเรื่องจะเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ค่อยจะเป็นที่พอใจกันมากนัก แต่โดยกระบวนการและความพยายามเท่าที่เห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลัง ๆ ได้พยายามเร่งรัดดำเนินการกันมากขึ้น การสืบทอดอำนาจ ซึ่งจะเป็นจุดอ่อนอย่างสำคัญ ก็ยังไม่มีสิ่งบอกเหตุที่ชัดเจนพอ จึงพอที่จะอนุโลมให้สอบผ่านไปได้ แต่คะแนนก็คงจะไม่สวยงามเท่าที่ควร
ผมให้รัฐบาลหวิดตก ได้คะแนนคาบเส้นโดยได้วิเคราะห์ความเห็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันในช่วงเวลาทั้งก่อนและภายหลังการแถลงซึ่งได้มีความคิดเห็นที่พอจะประมวลได้ว่าเป็นเพราะ
1. รัฐบาลดูจะยังไม่ได้ตระหนักมากนัก ว่าเป็นรัฐบาลในภาวะวิกฤตการทำงานและการแก้ปัญหาจึงมักจะขาดความรวดเร็วไม่ทันการ ที่สำคัญก็คือ คณะรัฐมนตรียังขาดความเข้าใจที่ตรงกัน ในภารกิจที่จะต้องสนองตอบต่อเจตนารมณ์ของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้น ทั้ง ๆ ที่มีปรากฎอย่างชัดเจนในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และในนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงเป็นที่มาของข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าไม่ทำในเรื่องที่ควรทำแต่กลับทำในเรื่องที่ไม่ควรทำ
2. รัฐบาลยังขาดความแน่วแน่ ในอันที่จะร่วมมือกัน ชำระล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้ง ๆ ที่เป็นเหตุอ้างสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองด้วยการยึดอำนาจ และก็เป็นที่มาของรัฐบาลเอง ดังจะสังเกตเห็นได้จากอุปสรรคข้อขัดข้องในการให้ความร่วมมือต่อ คตส. และเป็นเหตุให้งานของ คตส. ต้องล่าช้าไม่อาจเร่งรัดดำเนินการได้ในหลายกรณี จน คตส. ต้องเรียกร้องให้รัฐบาลจัดทำเป็นมติครม. ให้ผู้บริหาร ข้าราชการและพนักงานของรัฐต้องถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องให้ความร่วมมือ เพื่อให้มีผลบังคับอย่างจริงจัง ซึ่งมาถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีมติครม. ดังกล่าว
3. รัฐบาลยังไม่สามารถที่จะคลี่คลายปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย และความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซ้ำกลับมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นทุกที
4. การแก้ไขปัญหาประชาชนทั้งที่เป็นปัญหาค้างเก่า และทั้งที่เป็นปัญหาเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ของกระทรวงที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างล่าช้าไม่ทันการซึ่งกำลังจะกลายเป็นเงื่อนไขทางการเมืองต่อรัฐบาล
5. ภาคเอกชนขาดความมั่นใจในรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจถึงขั้นประเมินให้รัฐบาลสอบตกไม่ผ่าน เพราะยังแก้ปัญหาไม่ได้ จึงส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงทุกขณะ ประชาชนขาดความเชื่อมั่น กำลังซื้อถดถอย มาตรการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมานอกจากจะไม่เป็นผลแล้ว ยังเกิดผลกระทบเพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย การส่งออกที่ยังบอกว่าดี ก็มีปัญหาเพิ่ม เพราะรัฐบาลยังไม่อาจแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นได้
เหล่านี้คือเหตุผลที่พอจะวิเคราะห์ได้ว่าล้วนเป็นปัญหาที่ฉุดคะแนนนิยมที่มีต่อรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ ให้ลดต่ำลงทุกขณะ ซึ่งถ้าเป็นรัฐบาลในภาวะปกติที่มีรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้แล้วละก็ ผมเชื่อว่าคงมีการเข้าชื่อเพื่อขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจกันอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตามโดยที่พิจารณาเห็นว่ายังเป็นช่วงเวลาเพียงกลางปีที่รัฐบาลนี้ ซึ่งไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่าจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาลบริหารบ้านเมืองซึ่งอาจจะยังตั้งหลักไม่ทัน แต่ถ้ายังตั้งหลักช้าไปกว่านี้อีกก็คงจะแย่มากเหมือนกัน ผมจึงมีความเห็นว่าถ้าถึงกับให้คะแนนสอบตก ก็กระไรอยู่ ก็เอาเป็นว่าผ่านไปอย่างหวุดหวิด คือได้คะแนนคาบเส้น ก็แล้วกัน
ผมเชื่อว่า การวิพากษ์วิจารณ์ของหลายฝ่ายภายหลังจากที่รัฐบาลและคมช. ได้แถลงแล้ว คงจะเป็นเสียงสะท้อนที่รัฐบาลและคมช. คงจะได้รับฟัง และนำไปประกอบการพิจารณาในการปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการมากขึ้น และก็อยากจะบอกทั้งรัฐบาลและคมช. อีกด้วยว่าจะมีปัญหารุมเร้ามากขึ้น กว่าที่ผ่านมาแล้วอย่างแน่นอน และอาจจะถึงขั้นที่จะก่อให้เกิดวิกฤตขึ้นมาอีกได้ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและคมช. จะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวนี้ตั้งแต่บัดนี้
ผมมีความเห็นว่า เพื่อความไม่ประมาทและเพื่อความรัดกุม รอบคอบในการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ใหม่ รวมทั้งเพื่อให้สังคมได้ผ่อนคลายความอึดอัด รัฐบาล คมช. และผู้เกี่ยวข้องควรจะได้ดำเนินการดังนี้
1. รัฐบาลควรจะได้ใช้โอกาสในช่วงนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกสภานิติบัญญัติในปัญหาสำคัญ ๆ โดยใช้หลักการและวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 12 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว คือ นายกรัฐมนตรีควรแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติเพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อรับฟังความคิดเห็นแทนที่จะปล่อยให้สมาชิกฯ ต้องเข้าชื่อกันเองเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไป
2. รัฐบาลควรจะได้แสดงออกให้เห็นถึงความแน่วแน่ในการร่วมมือกันทำลายล้างการทุจริตคอร์รัปชั่น ด้วยการจัดให้มีมติครม. ให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และพนักงานของรัฐ ต้องถือเป็นหน้าที่ในการให้ความร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของ คตส. ผู้ใดละเว้นไม่ให้ความร่วมมือเท่าที่ควร ต้องถือว่ามีความผิดทั้งทางวินัย และทางกฎหมายว่าด้วยการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
3. รัฐบาลและคมช. ควรจะได้ร่วมปรึกษาหารือกันเพื่อประเมินปัญหาและสถานการณ์เป็นระยะ ๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหา และการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องทันเกมการเมืองทั้งที่เป็นคลื่นใต้น้ำและเหนือน้ำ ซึ่งน่าจะคาดหมายได้ว่าจะโหมกระหน่ำรัฐบาล คมช. และผู้เกี่ยวข้องในแต่ละด้านเพื่อสร้างแรงกดดัน
4. การจัดทำรัฐธรรมนูญ ต้องไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดข้อขัดแย้งจนกลายเป็นวิกฤต ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ล้าหลังกว่าเดิมมีปัญหาแน่ จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง ที่จะไม่ให้เกิดพลังบวกระหว่างพลังก้าวหน้าที่ไม่อาจรับความล้าหลังได้ กับพลังเครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่าที่จ้องจะคว่ำรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
5. เรื่องสืบทอดอำนาจเป็นเรื่องใหญ่ที่คมช. และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายพึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ พฤติกรรมใดที่อาจก่อให้เกิดความระแวงแคลงใจได้ว่าจะมีการสืบทอดอำนาจต้องระงับยับยั้งเสียในทันที เพราะอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ กรณีตัวอย่างที่ชัดเจนมองเห็นได้ก็คือกรณียอมเสียสัตย์เพื่อชาติของ พลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อปี 2535 อันเป็นที่มาของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก
ทั้งหมดนี้ก็ด้วยความปรารถนาดีที่จะได้เห็นการเร่งฟื้นฟูประเทศ และประชาธิปไตยเป็นไปด้วยดี แม้จะไม่ได้ผลเท่าที่ควรจะเป็น และก็ยังปรารถนาที่จะได้มีโอกาสให้คะแนนเมื่อครบวาระในตอนปลายปีนี้อีกครั้งหนึ่ง ด้วยความหวังว่าคณะของท่านจะไม่ถูกรีไทร์ไปเสียก่อน.
*************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 22 มี.ค. 2550--จบ--