แต่งตั้งสมคิด - ใครได้ใครเสีย
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
แม้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะได้ขอถอนตัวจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะได้นำมาวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อพิจารณาหาข้อสังเกตและบทเรียนที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรัฐบาลและคมช. ในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้
ที่ผมกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก็เพราะว่าเพียงเริ่มต้นก็มีทีท่าว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างขนานใหญ่ในบ้านเมืองกันอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ถึงขนาดที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลลาออกจากทีมงานประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการประท้วงคำสั่งแต่งตั้ง นายสมคิด ว่ามีที่มาอันไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีกลุ่มทุนผลักดันเข้ามาโดยมีวาระซ่อนเร้น และที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ อดีตแกนนำของกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติซึ่งได้เคยรวมตัวกันขับไล่ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ และยืนหยัดคัดค้านระบอบทักษิณมาโดยตลอด ได้รวมตัวกันคัดค้านการแต่งตั้งนายสมคิดอีกด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่านายสมคิดก็คือส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ และได้เรียกร้องให้นายสมคิด ลาออก ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะเริ่มมีประชาชนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกที
มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถามผมในวันที่อดีดแกนนำพันธมิตรกู้ชาติเขาประชุมกันและได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้งว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ผมตอบไปว่านายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์คงไม่ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งและผมคิดว่าในที่สุด นายสมคิดจะลาออกเอง เพราะอย่างน้อยที่สุดก็คงจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบที่พึงมีต่อนายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้งเพราะการปล่อยให้นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ต้องรับแรงเสียดทานไปนาน ๆ ผมเห็นว่าอันตราย ซึ่งในที่สุดนายสมคิดก็ได้ขอถอนตัวออกไปซึ่งก็คือการลาออกนั่นเอง แต่ก็เป็นการลาออกอย่างมีลีลา ตามประสาของนักการตลาดชั้นเยี่ยมด้วยการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงเวลาที่เหมาะสมในขณะที่การคัดค้านเริ่มพัฒนาไปสู่การแตกหัก
อะไรไม่สำคัญเท่ากับคำชี้แจงต่อสื่อมวลชนโดยไม่ยอมตอบคำถาม หากยืนกล่าวสุนทรพจน์อย่างเป็นกิจลักษณะด้วยวาทะที่จับใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพราะนักการตลาดมือดีเขาจะดูภาวะการณ์อย่างครบวงจร ซึ่งถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า เหตุการณ์ทุกอย่างดูจะสอดคล้องกันไปหมดนับตั้งแต่มีสื่อในต่างประเทศเขียนบทความโจมตีรัฐบาลไทยและคมช.อย่างรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือของ พ.ต.ท.ทักษิณ และบริษัทลอบบี้ยิสต์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจ้างแล้วก็นำมาสู่การอาสาช่วยรัฐบาลชี้แจงของนายสมคิด จนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งแต่นายสมคิดก็ลาออกในที่สุด ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้สื่อข่าวซึ่งก็คือต่อประชาชนนั่นเอง เพราะมีวิทยุและโทรทัศน์รายงานข่าวให้อย่างครบถ้วน
ผมคิดว่าใครก็ตามที่ได้มีโอกาสรับฟัง สุนทรพจน์ดังกล่าวของนายสมคิด แล้วละก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ชวนให้ประทับใจจริง ๆ จนต้องปรบมือให้ แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งได้อยู่หลายประเด็นก็ตาม
เพราะฉะนั้นถ้าจะมีคำถามว่าใครได้ ใครเสีย จากกรณีเหตุการณ์นี้ คำตอบก็คือนายสมคิดได้ไปเต็ม ๆ ทั้งในฐานะของผู้ขันอาสาช่วยชาติและยังเป็นผู้กู้ระเบิดแห่งความขัดแย้งให้สงบลง รวมทั้งยังได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์และแสดงผลงานในรอบ 6 ปีที่ทำงานในรัฐบาลทักษิณ ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบกันอย่างทั่วถึงเสียอีก ช่างสมกับที่เป็นจอมยุทธทางด้านการตลาดโดยแท้ และอาจเป็นอัศวินคลื่นลูกที่ 4 ต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็เป็นได้
สุนทรพจน์ของนายสมคิดในโอกาสที่ว่านี้ในอีกมุมมองหนึ่ง บอกได้ทีเดียวว่านี่คือการเปิดตัวของพรรคการเมืองที่นายสมคิดและกลุ่มสนับสนุนที่จะจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในคราวที่จะถึงนี้ หากนายสมคิดจะหลุดพ้นจากบ่วงกรรม คือกรณียุบพรรคไทยรักไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่รวมทั้งการพิจารณาชี้มูลความผิดโดย คตส. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกันเพราะฉะนั้นที่ยังมีข้อสงสัยกันว่านายสมคิดน่าจะเปิดตัวให้ชัดเจนเสียก่อนนั้น ผมขอบอกว่าบัดนี้เขาได้เปิดตัวอย่างชัดเจนแล้ว และก็เปิดอย่างได้จังหวะจะโคนเสียด้วย
หันมาดูทางด้านรัฐบาลและคมช. ซึ่งคมช.จะเกี่ยวข้องกับงานการแต่งตั้งนี้ด้วยหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่สำหรับรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์นั้น ผมคิดว่าแม้จะอ้างความตั้งใจดีที่จะมีคนมาช่วยงานแต่ก็นับได้ว่าเสียรังวัดไปมาก เสียรังวัดเพราะอ่านสถานการณ์ไม่ขาด ทำให้ความขัดแย้งเกิดคุกรุ่นขึ้นมาอีก โดยไม่จำเป้น อย่างไรก็ตามผมเห็นว่ามีข้อสังเกตอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีแต่งตั้งแล้วมีความขัดแย้งในคราวที่รัฐบาลและคมช.ควรจะได้นำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง ดังต่อไปนี้
1. ประชาชนจำนวนมากยังมีความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ ในการทำงานของรัฐบาลและคมช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกรณีของการที่จะชำระล้างความเลวร้ายอันเป็นเหตุอ้างของการยึดอำนาจ และยังคงค้างคาอยู่ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า และดูเสมือนว่ายังขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาครัฐบาลเอง ความรู้สึกอย่างนี้เป็นความรู้สึกที่อาจปะทุเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ทุกเวลา จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและคมช. พึงระมัดระวังมิให้เกิดความผิดหวังซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก
2. หากนายกรัฐมนตรียังเห็นความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไปอีก ซึ่งจะบอกว่าไม่จำเป็นก็คงไม่มีเหตุผลเพราะมิฉะนั้นแล้วจะแต่งตั้งนายสมคิดไปทำไม เพียงแต่การแต่งตั้งครั้งใหม่ควรจะได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ด้วยการหารือผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
3. รัฐบาลควรจะได้พิจารณาว่าได้มีความสับสนไม่เข้าใจในนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างน่าวิตกใน 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตามที่นายสมคิดได้กล่าวเอาไว้หรือไม่ ถ้าเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ควรจะได้พิจารณาหาทางแก้ไขเป็นการด่วน
4. โดยที่มีข้อความบางตอนในสุนทรพจน์ของนายสมคิด ที่แสดงต่อสื่อมวลชนและประชาชนถึงวิสัยทัศน์ และผลงานความสำเร็จในรอบ 6 ปีที่ทำงานในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งแสดงให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่า นายสมคิดไม่ได้คิดว่ามีความล้มเหลวเกิดขึ้นตามที่มีการกล่าวอ้างในการยึดอำนาจ คมช. จึงควรจะได้พิจารณาว่าน่าจะมีการทำความเข้าใจเพิ่มเติมต่อประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือไม่
5. มีการขานรับการแต่งตั้งนายสมคิดจากภาคธุรกิจพอสมควร แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการตลาดของนายสมคิด แต่รัฐบาลก็ควรจะได้พิจารณาด้วยว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความห่วงใยในภาวะเศรษฐกิจที่ชลอตัวลง รวมทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดบ่อยครั้งด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะได้ดำเนินการแก้ไขเป็นการด่วนเช่นเดียวกัน
....................................................................................................................................
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 22 ก.พ. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
แม้ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะได้ขอถอนตัวจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะได้นำมาวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อพิจารณาหาข้อสังเกตและบทเรียนที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรัฐบาลและคมช. ในฐานะที่เป็นผู้ใช้อำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้
ที่ผมกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ ก็เพราะว่าเพียงเริ่มต้นก็มีทีท่าว่าจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างขนานใหญ่ในบ้านเมืองกันอีกครั้งหนึ่งแล้วก็ถึงขนาดที่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลลาออกจากทีมงานประชาสัมพันธ์เพื่อเป็นการประท้วงคำสั่งแต่งตั้ง นายสมคิด ว่ามีที่มาอันไม่น่าไว้วางใจ เพราะมีกลุ่มทุนผลักดันเข้ามาโดยมีวาระซ่อนเร้น และที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ อดีตแกนนำของกลุ่มพันธมิตรกู้ชาติซึ่งได้เคยรวมตัวกันขับไล่ อดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ทักษิณ และยืนหยัดคัดค้านระบอบทักษิณมาโดยตลอด ได้รวมตัวกันคัดค้านการแต่งตั้งนายสมคิดอีกด้วย ด้วยเหตุผลที่ว่านายสมคิดก็คือส่วนหนึ่งของระบอบทักษิณ และได้เรียกร้องให้นายสมคิด ลาออก ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลายซึ่งก็เป็นไปได้ เพราะเริ่มมีประชาชนจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งอย่างรุนแรงมากขึ้นทุกที
มีผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งถามผมในวันที่อดีดแกนนำพันธมิตรกู้ชาติเขาประชุมกันและได้ออกแถลงการณ์คัดค้านการแต่งตั้งว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป ผมตอบไปว่านายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์คงไม่ทบทวนคำสั่งแต่งตั้งและผมคิดว่าในที่สุด นายสมคิดจะลาออกเอง เพราะอย่างน้อยที่สุดก็คงจะต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบที่พึงมีต่อนายกรัฐมนตรีผู้แต่งตั้งเพราะการปล่อยให้นายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์ต้องรับแรงเสียดทานไปนาน ๆ ผมเห็นว่าอันตราย ซึ่งในที่สุดนายสมคิดก็ได้ขอถอนตัวออกไปซึ่งก็คือการลาออกนั่นเอง แต่ก็เป็นการลาออกอย่างมีลีลา ตามประสาของนักการตลาดชั้นเยี่ยมด้วยการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ภายในช่วงเวลาที่เหมาะสมในขณะที่การคัดค้านเริ่มพัฒนาไปสู่การแตกหัก
อะไรไม่สำคัญเท่ากับคำชี้แจงต่อสื่อมวลชนโดยไม่ยอมตอบคำถาม หากยืนกล่าวสุนทรพจน์อย่างเป็นกิจลักษณะด้วยวาทะที่จับใจ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตระเตรียมการมาเป็นอย่างดี เพราะนักการตลาดมือดีเขาจะดูภาวะการณ์อย่างครบวงจร ซึ่งถ้าสังเกตดูให้ดีจะเห็นว่า เหตุการณ์ทุกอย่างดูจะสอดคล้องกันไปหมดนับตั้งแต่มีสื่อในต่างประเทศเขียนบทความโจมตีรัฐบาลไทยและคมช.อย่างรุนแรง ซึ่งส่วนหนึ่งก็น่าจะเกิดขึ้นด้วยฝีมือของ พ.ต.ท.ทักษิณ และบริษัทลอบบี้ยิสต์ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่าจ้างแล้วก็นำมาสู่การอาสาช่วยรัฐบาลชี้แจงของนายสมคิด จนนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งแต่งตั้งแต่นายสมคิดก็ลาออกในที่สุด ด้วยการกล่าวสุนทรพจน์ต่อผู้สื่อข่าวซึ่งก็คือต่อประชาชนนั่นเอง เพราะมีวิทยุและโทรทัศน์รายงานข่าวให้อย่างครบถ้วน
ผมคิดว่าใครก็ตามที่ได้มีโอกาสรับฟัง สุนทรพจน์ดังกล่าวของนายสมคิด แล้วละก็จะมีความรู้สึกว่าเป็นสุนทรพจน์ที่ชวนให้ประทับใจจริง ๆ จนต้องปรบมือให้ แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งได้อยู่หลายประเด็นก็ตาม
เพราะฉะนั้นถ้าจะมีคำถามว่าใครได้ ใครเสีย จากกรณีเหตุการณ์นี้ คำตอบก็คือนายสมคิดได้ไปเต็ม ๆ ทั้งในฐานะของผู้ขันอาสาช่วยชาติและยังเป็นผู้กู้ระเบิดแห่งความขัดแย้งให้สงบลง รวมทั้งยังได้มีโอกาสแสดงวิสัยทัศน์และแสดงผลงานในรอบ 6 ปีที่ทำงานในรัฐบาลทักษิณ ให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบกันอย่างทั่วถึงเสียอีก ช่างสมกับที่เป็นจอมยุทธทางด้านการตลาดโดยแท้ และอาจเป็นอัศวินคลื่นลูกที่ 4 ต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็เป็นได้
สุนทรพจน์ของนายสมคิดในโอกาสที่ว่านี้ในอีกมุมมองหนึ่ง บอกได้ทีเดียวว่านี่คือการเปิดตัวของพรรคการเมืองที่นายสมคิดและกลุ่มสนับสนุนที่จะจัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในคราวที่จะถึงนี้ หากนายสมคิดจะหลุดพ้นจากบ่วงกรรม คือกรณียุบพรรคไทยรักไทยที่ศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาอยู่รวมทั้งการพิจารณาชี้มูลความผิดโดย คตส. ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเช่นเดียวกันเพราะฉะนั้นที่ยังมีข้อสงสัยกันว่านายสมคิดน่าจะเปิดตัวให้ชัดเจนเสียก่อนนั้น ผมขอบอกว่าบัดนี้เขาได้เปิดตัวอย่างชัดเจนแล้ว และก็เปิดอย่างได้จังหวะจะโคนเสียด้วย
หันมาดูทางด้านรัฐบาลและคมช. ซึ่งคมช.จะเกี่ยวข้องกับงานการแต่งตั้งนี้ด้วยหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่สำหรับรัฐบาลโดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีพลเอกสุรยุทธ์นั้น ผมคิดว่าแม้จะอ้างความตั้งใจดีที่จะมีคนมาช่วยงานแต่ก็นับได้ว่าเสียรังวัดไปมาก เสียรังวัดเพราะอ่านสถานการณ์ไม่ขาด ทำให้ความขัดแย้งเกิดคุกรุ่นขึ้นมาอีก โดยไม่จำเป้น อย่างไรก็ตามผมเห็นว่ามีข้อสังเกตอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกรณีแต่งตั้งแล้วมีความขัดแย้งในคราวที่รัฐบาลและคมช.ควรจะได้นำไปพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้บ้าง ดังต่อไปนี้
1. ประชาชนจำนวนมากยังมีความรู้สึกอึดอัด คับข้องใจ ในการทำงานของรัฐบาลและคมช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกรณีของการที่จะชำระล้างความเลวร้ายอันเป็นเหตุอ้างของการยึดอำนาจ และยังคงค้างคาอยู่ซึ่งเป็นไปอย่างล่าช้า และดูเสมือนว่ายังขาดความร่วมมืออย่างจริงจังจากภาครัฐบาลเอง ความรู้สึกอย่างนี้เป็นความรู้สึกที่อาจปะทุเป็นความขัดแย้งอย่างรุนแรงขึ้นมาได้ทุกเวลา จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและคมช. พึงระมัดระวังมิให้เกิดความผิดหวังซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก
2. หากนายกรัฐมนตรียังเห็นความจำเป็นที่จะต้องแต่งตั้งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่อไปอีก ซึ่งจะบอกว่าไม่จำเป็นก็คงไม่มีเหตุผลเพราะมิฉะนั้นแล้วจะแต่งตั้งนายสมคิดไปทำไม เพียงแต่การแต่งตั้งครั้งใหม่ควรจะได้ดำเนินการอย่างรอบคอบ ด้วยการหารือผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อให้ได้บุคคลที่มีความเหมาะสมและไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก
3. รัฐบาลควรจะได้พิจารณาว่าได้มีความสับสนไม่เข้าใจในนโยบายของรัฐบาลไทยอย่างน่าวิตกใน 3 ประเทศคือ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ตามที่นายสมคิดได้กล่าวเอาไว้หรือไม่ ถ้าเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ควรจะได้พิจารณาหาทางแก้ไขเป็นการด่วน
4. โดยที่มีข้อความบางตอนในสุนทรพจน์ของนายสมคิด ที่แสดงต่อสื่อมวลชนและประชาชนถึงวิสัยทัศน์ และผลงานความสำเร็จในรอบ 6 ปีที่ทำงานในรัฐบาลทักษิณ ซึ่งแสดงให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่า นายสมคิดไม่ได้คิดว่ามีความล้มเหลวเกิดขึ้นตามที่มีการกล่าวอ้างในการยึดอำนาจ คมช. จึงควรจะได้พิจารณาว่าน่าจะมีการทำความเข้าใจเพิ่มเติมต่อประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนหรือไม่
5. มีการขานรับการแต่งตั้งนายสมคิดจากภาคธุรกิจพอสมควร แม้ว่าส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการตลาดของนายสมคิด แต่รัฐบาลก็ควรจะได้พิจารณาด้วยว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากความห่วงใยในภาวะเศรษฐกิจที่ชลอตัวลง รวมทั้งการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ในทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาดบ่อยครั้งด้วยหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลควรจะได้ดำเนินการแก้ไขเป็นการด่วนเช่นเดียวกัน
....................................................................................................................................
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 22 ก.พ. 2550--จบ--