รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคประเทศ ประจำเดือน เม.ย.50

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 8, 2007 14:05 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือน เมษายน 2550
กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2550 โดยสรุปจากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 373 รายการ ครอบคลุมหมวดอาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่ม เคหสถาน การตรวจรักษา บริการส่วนบุคคล ยานพาหนะ การขนส่ง การสื่อสาร การบันเทิง การอ่าน การศึกษา ฯลฯ เพื่อนำมาคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป ได้ผลดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2550
ในปี 2545 ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนเมษายน 2550 เท่ากับ 116.4 สำหรับเดือนมีนาคม 2550 เท่ากับ 115.3
2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
2.2 เดือนเมษายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.8
3. ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนเมษายน 2550 เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ดัชนีลดลงติดต่อกัน 4 เดือนนับจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 (มีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.7) สาเหตุสำคัญมาจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 เป็นการสูงขึ้นของราคาผักสดบางชนิด เนื้อสุกร และไก่สด นอกจากนี้ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 โดยเป็นการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นปัจจัยหลัก ถึงแม้จะมีการประกาศยกเลิกการห้ามกักตุนสินค้า (คปค) แต่ไม่มีผลกระทบต่อราคาสินค้าอุปโภค - บริโภค ยกเว้นนมสดทุกชนิดที่ได้รับอนุมัติให้ปรับราคาขึ้น
3.1 ดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 1.5 (มีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ0.7) ปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาผักและผลไม้ร้อยละ 4.7 ผักสดบางชนิดได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้งได้แก่ ผักชี มะนาว ผักคะน้า ต้นหอม และส้มเขียวหวาน เป็นช่วงปลายฤดูการผลิต นอกจากนี้ดัชนีหมวดเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 1.3 จากการบริโภคที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยการสูงขึ้นของดัชนีราคาเนื้อสุกรร้อยละ 2.7 ไก่สดร้อยละ 1.5 ไก่ย่างร้อยละ 7.1
3.2 ดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.6 สาเหตุหลัก
มาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาน้ำมันเชื้อเพลิงร้อยละ 4.9 ตามภาวะราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศปรับสูงขึ้น 3 ครั้ง ๆ ละ 40 สตางค์ ทั้งน้ำมันเบนซินและดีเซล
4. ถ้าพิจารณาเทียบกับเดือนเมษายน 2549 ดัชนีราคาสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงร้อยละ 1.8 (เดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.0) จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 3.3 เป็นผลจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาผักและผลไม้ร้อยละ 9.7 ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้งร้อยละ 9.4 (ข้าวสารเหนียว) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ร้อยละ 3.5 (น้ำอัดลม) และเครื่องประกอบอาหารร้อยละ 2.1 (น้ำมันพืช) ส่วนดัชนีราคาเนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ ลดลงร้อยละ 1.1 (ราคาเนื้อสุกรในช่วงรอบปีลดลงร้อยละ 12.5)
สำหรับดัชนีหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้นร้อยละ 0.9 จากการสูงขึ้นของดัชนีหมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารร้อยละ 1.4 (ค่าโดยสารสาธารณะสูงขึ้นร้อยละ 6.2) ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล ร้อยละ 2.0 ของใช้สำหรับทำความสะอาดร้อยละ 1.9 และค่ากระแสไฟฟ้าร้อยละ 1.8 เป็นต้น
5. ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศ (คำนวณจากรายการสินค้าและบริการ 266 รายการ) คือ ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และสินค้ากลุ่มพลังงานจำนวน 107 รายการ ซึ่งคิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด
ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนเมษายน 2550 เท่ากับ 105.4 เมื่อเทียบกับ
5.1 เดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นร้อยละ 0.2
5.2 เดือนเมษายน 2549 สูงขึ้นร้อยละ 1.2
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ