นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังมีเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้เติบโตไปตามการขยายตัวของจีดีพี โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพี จากระดับ 16.8% เป็น 18% ภายในปีงบประมาณ 2551 และการจะเพิ่มสัดส่วนรายได้เทียบต่อจีดีพีให้ได้ 18% ตามเป้าหมายในปี 2551 นั้น จะต้องมีการปรับโครงสร้างอัตราการจัดเก็บภาษีใหม่โดยปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% ด้วยการทยอยเพิ่มขึ้นครั้งละ 1% โดยในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2550 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 307,013 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6%
นายสมหมาย ได้วิเคราะห์ให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ โดยเฉพาะโครงสร้างการส่งออก ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 64% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) หรือคิดเป็น 2ใน3 ของจีดีพี ในขณะที่ภาคการลงทุนและการบริโภคมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก ซึ่งในรายละเอียดของภาคส่งออกนั้นมากกว่า 80% เป็นการส่งออกโดยบริษัทข้ามชาติ(multi national corporate) ขณะที่บริษัทของคนไทยมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้นการให้ค่าเงินบาทอ่อนเพื่อส่งเสริมการส่งออก ดู ๆ ไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรกับการช่วยนักลงทุนต่างชาติ ที่ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกนั่นเอง ทั้งนี้ สินค้าส่งออก 10 อันดับแรกของไทย เริ่มจาก รถยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์ ส่วนใหญ่จะเป็นของบริษัทข้ามชาติแทบทั้งสิ้น
ประเด็นวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม นายสมหมายให้ความเห็นว่าการพึ่งพาการส่งออกมากอาจมองได้ว่าเราต้อง “เอาใจ” การส่งออกตลอดไป นอกจากนั้น การที่รัฐบาลหนุนการส่งออกโดยให้เงินบาทอ่อน จะส่งผลให้คนจนใช้ของแพงมากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องระวังคือการสนับสนุนส่งออกต้องไม่อยู่บนพื้นฐานที่ผลักภาระต้นทุนให้คนอื่น
ที่มา: http://www.depthai.go.th