รายงานผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปี 2550 สำหรับงวดสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 22, 2007 10:32 —กระทรวงการคลัง

          นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่จำนวน 17  แห่ง ประจำปี  2550  สำหรับงวดสิ้นสุดวันที่  30  มิถุนายน  2550  และมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ จำนวน  11  แห่ง เร่งรัดและติดตาม      การเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้  เนื่องจากผลการเบิกจ่ายสะสม 9 เดือน    (ตุลาคม  2549 — มิถุนายน  2550)  อยู่ในอัตราต่ำกว่าที่ประมาณการไว้มาก  รายละเอียดปรากฏ ดังนี้
1. ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ จำนวน 17 แห่ง ในปี 2550
ในปีงบประมาณ 2550 รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ จำนวน 17 แห่ง ได้รับอนุมัติงบลงทุนทั้งสิ้น 329,337.52 ล้านบาท การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมระหว่างเดือนตุลาคม 2549 — มิถุนายน 2550 สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้จริง 105,558.42 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 32.05 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม 2550 ที่สามารถเบิกจ่ายได้เพียงร้อยละ 28.58 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1.1 รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณ จำนวน 11 แห่ง ในปีงบประมาณ 2550 ได้รับอนุมัติงบลงทุนทั้งสิ้น 191,178.66 ล้านบาท การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 9 เดือน (1 ตุลาคม 2549 — 30 มิถุนายน 2550) สามารถเบิกจ่ายจริงได้ทั้งสิ้น 72,729.59 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.04 ของงบลงทุนสะสม 6 เดือน (1 มกราคม 2550 — 30 มิถุนายน 2550) สามารถเบิกจ่ายจริงได้ทั้งสิ้น 32,828.83 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.76 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ
1.2 รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีปฏิทิน จำนวน 6 แห่ง ในปีงบประมาณ 2550 ได้รับอนุมัติงบลงทุนทั้งสิ้น 138,158.86 ล้านบาท การเบิกจ่ายงบลงทุนสะสม 6 เดือน (1 มกราคม 2550 — 30 มิถุนายน 2550) สามารถเบิกจ่ายจริงได้ทั้งสิ้น 32,828.83 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.76 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ
2. รัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ ในปีงบประมาณ 2550 ที่เบิกจ่ายได้ต่ำกว่าแผนเป็นจำนวนมาก คือ
2.1 การทางพิเศษแห่งประเทศไทย สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 1,355.19 ล้านบาท จากยอดอนุมัติทั้งสิ้น 25,348.10 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.35 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ เนื่องจาก โครงการทางพิเศษสายบางพลี — สุขสวัสดิ์ ที่มีแผนการเบิกจ่ายงบลงทุนในเดือนกรกฎาคม 2550 จำนวน 18,243.47 ล้านบาท ไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งนี้หากโครงการดังกล่าวสามารถเบิกจ่ายได้ตามแผน จะทำให้อัตราการเบิกจ่ายของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 71
2.2 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 220.46 ล้านบาท จากยอดอนุมัติทั้งสิ้น 15,553.35 ล้านบาท หรือ เท่ากับร้อยละ 1.42 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด เนื่องจาก โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงบางใหญ่ — บางซื่อ โครงการรถไฟฟ้าสาย สีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง — บางแค และช่วงบางซื่อ — ท่าพระ ต้องรอการจัดจ้างที่ปรึกษาใหม่อีกครั้ง จึงยังไม่สามารถดำเนินการได้
2.3 บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 4,040.55 ล้านบาท จากยอดอนุมัติทั้งสิ้น 16,672.29 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 24.24 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ โดยแจ้งว่า โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในส่วนที่เหลือไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องด้านงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้าง และความล่าช้าในโครงการพัฒนาท่าอากาศยานเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้าง
2.4 การรถไฟแห่งประเทศไทย สามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 4,120.30 ล้านบาท จากยอดอนุมัติทั้งสิ้น 26,361.67 ล้านบาท หรือเท่ากับร้อยละ 15.63 ของงบลงทุนที่ได้รับอนุมัติ เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงอยู่ระหว่างกระบวนการจัดหาบริษัทผู้ดำเนินการก่อสร้าง และโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออกช่วงสถานีฉะเชิงเทรา — ศรีราชา — แหลมฉบัง โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ในเดือนกันยายน 2550 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ รัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีงบประมาณทั้ง 11 แห่ง มีเวลาเหลืออีกเพียง 3 เดือน ก่อนสิ้นปีงบประมาณในการเบิกจ่ายงบลงทุนให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ แต่เนื่องจากผลการเบิกจ่ายสะสม 9 เดือน (ตุลาคม 2549 — มิถุนายน 2550) อยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าที่ประมาณการไว้มาก ซึ่งเห็นสมควรมอบหมายให้กระทรวงเจ้าสังกัดที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจเร่งรัด และติดตามอย่างใกล้ชิด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ