กรุงเทพ--5 ก.ค--กระทรวงการต่างประเทศ
ในวันที่สองของการเสด็จฯ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานทหารนิรนาม ทอดพระเนตรโบสถ์เซนต์เบซิล จัตุรัสแดง หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่างๆ ในพระราชวังเครมลิน คือ โบสถ์อัสสัมชัญ พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธและพระคลังมหาสมบัติ อันเป็นสถานที่แห่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสเมื่อ ๑๑๐ ปีที่แล้ว ในตอนค่ำวันเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และนางสุกัญญา ธีรเกาศัลย์ ภริยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและคู่สมรส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต หลังจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกและภริยา ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต
วันนี้ (๓ ก.ค. ๕๐) เวลา ๑๓.๓๖ น. ตามเวลาท้องถิ่น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากที่ประทับในพระราชวังเครมลิน มาถึงอนุสรณ์สถานทหารนิรนาม สงครามโลกครั้งที่ ๒ (The Tomb of the Unknown Soldiers) ณ กำแพงพระราชวังเครมลิน ในสวนอเล็กซานเดอร์ ใกล้จัตุรัสแดง กรุงมอสโก เพื่อทรงวางพวงมาลาแสดงความเคารพแก่บรรดาทหารนิรนามแห่งสหภาพโซเวียต ที่สละชีพในสงครามโลกครั้งที่ ๒
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ผู้บัญชาการกองทหารกรุงมอสโกเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยนายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และอธิบดีกรมพิธีการทูตรัสเซีย ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานทหารนิรนาม ประทับยืนไว้อาลัยครู่หนึ่ง วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้ว กองทหารเกียรติยศรัสเซียสวนสนามถวายให้ทอดพระเนตร เวลา ๑๓.๕๐ น.ประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากอนุสรณ์สถานทหารนิรนาม ไปทอดพระเนตรจัตุรัสแดง (Red Square) และวิหารเซนต์เบซิล (St. Basil’s Cathedral)
จัตุรัสแดงเป็นลานหินยาว ๗๐๐ เมตร กว้าง ๑๓๐ เมตร ตั้งอยู่ใจกลางกรุงมอสโก ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวังเครมลิน มีมานานตั้งแต่สมัยพระเจ้าอีวานที่ ๓ มหาราช ประมาณห้าร้อยกว่าปีเศษมาแล้ว ทั้งนี้ คำว่า “แดง” ในภาษารัสเซีย สามารถหมายถึง “สวยงาม” หรือ “สง่างาม” ก็ได้ ชื่อจัตุรัสแดงจึงมีประวัติและความหมายว่าจัตุรัสที่สวยงาม มิได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ใดๆ ในสมัยหลัง
ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจัตุรัสแดงเป็นที่ตั้งวิหารเซนต์เบซิล หน้าวิหารเซนต์เบซิล เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์วีรบุรุษของชาวรัสเซีย ได้แก่ เจ้าชายดมิทรี โปซารสกี (Dmitry Pozharsky) และ คุซมา มินิน (Kuzma Minin) ซึ่งได้นำทัพรัสเซียขับไล่ทัพศัตรูที่ยึดวังเครมลินไว้ ออกไปจากกรุงมอสโกได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕
วิหารเซนต์เบซิลสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๙๘ ใช้เวลาสร้าง ๖ ปี สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอีวานที่ ๔ (หรือที่รู้จักกันว่า อีวานจอมโหด) เพื่อเป็นอนุสรณ์การที่รัสเซียสามารถยึดครองแคว้นคาซาน (Kazan) ของมองโกล มาเป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ และเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซียจนถึงปัจจุบัน
เยื้องกับวิหารเซนต์เบซิล ทางด้านกำแพงเครมลิน เป็นที่ตั้งของหอคอย สปาสกาย่า (Spasskaya) ซึ่งเป็นหอที่สูงที่สุดของพระราชวังเครมลิน สูง ๗๑ เมตร นาฬิกาที่หอแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม นาฬิกาเครมลิน มุมหนึ่งของจัตุรัสเป็นที่ตั้งของสุสานของนาย วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน ผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ทางการรัสเซียได้ใช้จัตุรัสแดงในการประกาศแสนยานุภาพทางทหารของชาติ คือเป็นที่สวนสนามฉลองชัยชนะแห่งการปฏิวัติ ในวันที่ ๗ - ๘ พฤษภาคมของทุกปี
เวลา ๑๔.๓๕ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากวิหารเซนต์เบซิล ไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่างๆ ในพระราชวังเครมลิน กล่าวคือ โบสถ์อัสสัมชัญ (Assumption Church) พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ (Armoury Chamber) และพระคลังมหาสมบัติ (Diamond Fund)
โบสถ์ Dormition หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โบสถ์อัสสัมชัญ (Assumption Church) เฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระแม่มารี เป็นวิหาร ๑ ใน ๓ แห่งที่สร้างอยู่ภายในเขตกำแพงพระราชวังเครมลิน โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอีวานที่ ๓ มหาราช ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เมื่อพระองค์มีพระบัญชาให้รื้อโครงสร้างของวังเครมลินเดิมเพื่อสร้างขึ้นใหม่ในรูปลักษณะปัจจุบัน โดยได้นำช่างฝีมือและสถาปนิกอิตาลีมาทำการก่อสร้าง และเป็นสถานที่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าซาร์ทุกพระองค์
หลังจากทอดพระเนตรโบสถ์ Assumption แล้ว เวลา ๑๕.๒๕ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถึงพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมแล้วทอดพระเนตรศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของกรุงมอสโก เป็นที่เก็บสมบัติอันล้ำค่าของกษัตริย์รัสเซียทุกยุคสมัย ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๕๑ เดิมทีเพื่อเป็นคลังแสงเก็บอาวุธ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑ สมเด็จพระจักรพรรดิ อเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงประกาศให้คลังแสงดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บรักษาสมบัติของพระราชวงศ์ที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงยุคอาณาจักรมัสโกวีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องใช้ในศาสนพิธี เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และฉลองพระองค์ของจักรพรรดิรัสเซียสมัยต่างๆ รถม้าทรง ฉลองพระองค์ชุดเกราะและพระแสงศาสตราวุธต่างๆ เป็นต้น
พระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๖๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช เพื่อใช้เป็นที่เก็บมงกุฎ เครื่องเพชร และอัญมณีต่างๆ ของพระราชวงศ์รัสเซีย โดยที่สมเด็จพระจักรพรรดิปีเตอร์ที่ ๑ มีพระราชประสงค์ให้กษัตริย์ทุกพระองค์ของรัสเซียรักษาเครื่องประดับอันมีค่าไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของประเทศ แต่เดิมตั้งอยู่ที่พระราชวังฤดูหนาวในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงมอสโกในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปัจจุบันพระคลังมหาสมบัติอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังรัสเซีย มีสมบัติล้ำค่าเช่น พระมหามงกุฎที่สมเด็จพระจักรพรรดินีแคเธอรีนที่ ๒ มหาราชินี ได้ทรงในพิธีบรมราชาภิเษก และเพชรออร์ลอฟ (Orlov) อันมีชื่อเสียงว่าเป็นเพชรเม็ดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งประดับบนยอดพระคทาของมหาราชินีพระองค์นั้น เป็นต้น
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสรัสเซีย ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังเครมลินนี้ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๔๐ และได้ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ พระคลังมหาสมบัติ และวิหารต่างๆ ภายในพระราชวังเช่นเดียวกัน อนึ่ง ทั้งจัตุรัสแดงและพระราชวังเครมลินได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อปี ๒๕๓๓
เวลา ๑๖.๔๖ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ กลับที่ประทับ
เวลา ๒๑.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากที่ประทับไปยังทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ณ ที่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และนางสุกัญญา ธีรเกาศัลย์ ภริยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและคู่สมรส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หลังจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกและภริยา ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ หลังจากเสร็จสิ้นงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ กลับที่ประทับ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-
ในวันที่สองของการเสด็จฯ เยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ ไปทรงวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานทหารนิรนาม ทอดพระเนตรโบสถ์เซนต์เบซิล จัตุรัสแดง หลังจากนั้นได้เสด็จฯ ไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่างๆ ในพระราชวังเครมลิน คือ โบสถ์อัสสัมชัญ พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธและพระคลังมหาสมบัติ อันเป็นสถานที่แห่งเดียวกับที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จประพาสเมื่อ ๑๑๐ ปีที่แล้ว ในตอนค่ำวันเดียวกัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และนางสุกัญญา ธีรเกาศัลย์ ภริยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและคู่สมรส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทที่ทำเนียบเอกอัครราชทูต หลังจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกและภริยา ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูต
วันนี้ (๓ ก.ค. ๕๐) เวลา ๑๓.๓๖ น. ตามเวลาท้องถิ่น สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากที่ประทับในพระราชวังเครมลิน มาถึงอนุสรณ์สถานทหารนิรนาม สงครามโลกครั้งที่ ๒ (The Tomb of the Unknown Soldiers) ณ กำแพงพระราชวังเครมลิน ในสวนอเล็กซานเดอร์ ใกล้จัตุรัสแดง กรุงมอสโก เพื่อทรงวางพวงมาลาแสดงความเคารพแก่บรรดาทหารนิรนามแห่งสหภาพโซเวียต ที่สละชีพในสงครามโลกครั้งที่ ๒
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง ผู้บัญชาการกองทหารกรุงมอสโกเฝ้าฯ รับเสด็จ พร้อมด้วยนายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และอธิบดีกรมพิธีการทูตรัสเซีย ทรงวางพวงมาลา ณ อนุสรณ์สถานทหารนิรนาม ประทับยืนไว้อาลัยครู่หนึ่ง วงดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี จบแล้ว กองทหารเกียรติยศรัสเซียสวนสนามถวายให้ทอดพระเนตร เวลา ๑๓.๕๐ น.ประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากอนุสรณ์สถานทหารนิรนาม ไปทอดพระเนตรจัตุรัสแดง (Red Square) และวิหารเซนต์เบซิล (St. Basil’s Cathedral)
จัตุรัสแดงเป็นลานหินยาว ๗๐๐ เมตร กว้าง ๑๓๐ เมตร ตั้งอยู่ใจกลางกรุงมอสโก ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของพระราชวังเครมลิน มีมานานตั้งแต่สมัยพระเจ้าอีวานที่ ๓ มหาราช ประมาณห้าร้อยกว่าปีเศษมาแล้ว ทั้งนี้ คำว่า “แดง” ในภาษารัสเซีย สามารถหมายถึง “สวยงาม” หรือ “สง่างาม” ก็ได้ ชื่อจัตุรัสแดงจึงมีประวัติและความหมายว่าจัตุรัสที่สวยงาม มิได้เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ใดๆ ในสมัยหลัง
ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจัตุรัสแดงเป็นที่ตั้งวิหารเซนต์เบซิล หน้าวิหารเซนต์เบซิล เป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์วีรบุรุษของชาวรัสเซีย ได้แก่ เจ้าชายดมิทรี โปซารสกี (Dmitry Pozharsky) และ คุซมา มินิน (Kuzma Minin) ซึ่งได้นำทัพรัสเซียขับไล่ทัพศัตรูที่ยึดวังเครมลินไว้ ออกไปจากกรุงมอสโกได้สำเร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๕
วิหารเซนต์เบซิลสร้างขึ้นในปี พ.ศ. ๒๐๙๘ ใช้เวลาสร้าง ๖ ปี สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอีวานที่ ๔ (หรือที่รู้จักกันว่า อีวานจอมโหด) เพื่อเป็นอนุสรณ์การที่รัสเซียสามารถยึดครองแคว้นคาซาน (Kazan) ของมองโกล มาเป็นเมืองขึ้นได้สำเร็จ นับเป็นสถาปัตยกรรมที่ยิ่งใหญ่ในคริสตศตวรรษที่ ๑๖ และเป็นอาคารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซียจนถึงปัจจุบัน
เยื้องกับวิหารเซนต์เบซิล ทางด้านกำแพงเครมลิน เป็นที่ตั้งของหอคอย สปาสกาย่า (Spasskaya) ซึ่งเป็นหอที่สูงที่สุดของพระราชวังเครมลิน สูง ๗๑ เมตร นาฬิกาที่หอแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันในนาม นาฬิกาเครมลิน มุมหนึ่งของจัตุรัสเป็นที่ตั้งของสุสานของนาย วลาดิมีร์ อิลยิช เลนิน ผู้ก่อตั้งสหภาพโซเวียต
ตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ทางการรัสเซียได้ใช้จัตุรัสแดงในการประกาศแสนยานุภาพทางทหารของชาติ คือเป็นที่สวนสนามฉลองชัยชนะแห่งการปฏิวัติ ในวันที่ ๗ - ๘ พฤษภาคมของทุกปี
เวลา ๑๔.๓๕ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งจากวิหารเซนต์เบซิล ไปทอดพระเนตรสถานที่สำคัญต่างๆ ในพระราชวังเครมลิน กล่าวคือ โบสถ์อัสสัมชัญ (Assumption Church) พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ (Armoury Chamber) และพระคลังมหาสมบัติ (Diamond Fund)
โบสถ์ Dormition หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โบสถ์อัสสัมชัญ (Assumption Church) เฉลิมฉลองการเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ของพระแม่มารี เป็นวิหาร ๑ ใน ๓ แห่งที่สร้างอยู่ภายในเขตกำแพงพระราชวังเครมลิน โบสถ์แห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าอีวานที่ ๓ มหาราช ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เมื่อพระองค์มีพระบัญชาให้รื้อโครงสร้างของวังเครมลินเดิมเพื่อสร้างขึ้นใหม่ในรูปลักษณะปัจจุบัน โดยได้นำช่างฝีมือและสถาปนิกอิตาลีมาทำการก่อสร้าง และเป็นสถานที่ประกอบพิธีบรมราชาภิเษกพระเจ้าซาร์ทุกพระองค์
หลังจากทอดพระเนตรโบสถ์ Assumption แล้ว เวลา ๑๕.๒๕ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ถึงพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เฝ้าฯ รับเสด็จ ทรงลงพระนามาภิไธยในสมุดเยี่ยมแล้วทอดพระเนตรศิลปวัตถุในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธเปรียบเสมือนขุมทรัพย์ของกรุงมอสโก เป็นที่เก็บสมบัติอันล้ำค่าของกษัตริย์รัสเซียทุกยุคสมัย ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และนับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย สร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๕๑ เดิมทีเพื่อเป็นคลังแสงเก็บอาวุธ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๑ สมเด็จพระจักรพรรดิ อเล็กซานเดอร์ที่ ๑ ทรงประกาศให้คลังแสงดังกล่าวเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อเก็บรักษาสมบัติของพระราชวงศ์ที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงยุคอาณาจักรมัสโกวีในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องใช้ในศาสนพิธี เครื่องราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค และฉลองพระองค์ของจักรพรรดิรัสเซียสมัยต่างๆ รถม้าทรง ฉลองพระองค์ชุดเกราะและพระแสงศาสตราวุธต่างๆ เป็นต้น
พระคลังมหาสมบัติ ซึ่งตั้งอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๒๖๒ ในรัชสมัยสมเด็จพระจักรพรรดิปีเตอร์ที่ ๑ มหาราช เพื่อใช้เป็นที่เก็บมงกุฎ เครื่องเพชร และอัญมณีต่างๆ ของพระราชวงศ์รัสเซีย โดยที่สมเด็จพระจักรพรรดิปีเตอร์ที่ ๑ มีพระราชประสงค์ให้กษัตริย์ทุกพระองค์ของรัสเซียรักษาเครื่องประดับอันมีค่าไว้เป็นสมบัติส่วนรวมของประเทศ แต่เดิมตั้งอยู่ที่พระราชวังฤดูหนาวในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่กรุงมอสโกในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๑ ปัจจุบันพระคลังมหาสมบัติอยู่ในความดูแลของกระทรวงการคลังรัสเซีย มีสมบัติล้ำค่าเช่น พระมหามงกุฎที่สมเด็จพระจักรพรรดินีแคเธอรีนที่ ๒ มหาราชินี ได้ทรงในพิธีบรมราชาภิเษก และเพชรออร์ลอฟ (Orlov) อันมีชื่อเสียงว่าเป็นเพชรเม็ดใหญ่ติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งประดับบนยอดพระคทาของมหาราชินีพระองค์นั้น เป็นต้น
เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสรัสเซีย ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังพระราชวังเครมลินนี้ เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๔๔๐ และได้ทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ พระคลังมหาสมบัติ และวิหารต่างๆ ภายในพระราชวังเช่นเดียวกัน อนึ่ง ทั้งจัตุรัสแดงและพระราชวังเครมลินได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ หรือยูเนสโก เมื่อปี ๒๕๓๓
เวลา ๑๖.๔๖ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากพิพิธภัณฑ์ศาสตราวุธ กลับที่ประทับ
เวลา ๒๑.๐๐ น. สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากที่ประทับไปยังทำเนียบเอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก ณ ที่นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชวโรกาสให้นายสุพจน์ ธีรเกาศัลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโก และนางสุกัญญา ธีรเกาศัลย์ ภริยา พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและคู่สมรส เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท หลังจากนั้น เอกอัครราชทูต ณ กรุงมอสโกและภริยา ถวายเลี้ยงพระกระยาหารค่ำ ณ ทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ หลังจากเสร็จสิ้นงานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำแล้ว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งออกจากทำเนียบเอกอัครราชทูตฯ กลับที่ประทับ
กองการสื่อมวลชน กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ โทร. 643-5170 โทรสาร. 643-5169 E-mail : div0704@mfa.go.th--จบ--
-พห-