สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2549 และแนวโน้มปี 2550(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 24, 2007 15:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                        เศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจของโลกในปี 2549 ยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยในไตรมาสแรกของปี 2549 เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาขยายตัวอยู่ในระดับที่สูง แต่เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลกยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป และ เศรษฐกิจของญี่ปุ่น เริ่มฟื้นตัวต่อเนื่อง เศรษฐกิจจีนยังคงขยายตัวในอัตราที่รวดเร็ว โดยมีอัตราการขยายตัวของผลผลิตในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 สูงกว่า 10 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ของเอเชียก็ยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง
ถึงแม้ว่าสภาพการเงินในช่วงครึ่งแรกของปีจะขาดสภาพคล่อง แต่ยังคงมีปัจจัยอื่นที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การเติบโตของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกที่ยังทรงตัว และราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่สูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่มนระดัยสูง ทำให้ธนาคารกลางของหลายประเทศต้องควบคุมสภาพคล่องทางการเงิน โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อไม่ให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงไปกว่าเดิมมากนัก โดยอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา ปรับขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 5.25 และดอกเบี้ยของญี่ปุ่นปรับตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.25 ซึ่งถือเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าศูนย์เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
ในญี่ปุ่น ระดับราคาภายในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งสะท้อนจากดัชนีราคาผู้บริโภคที่ไม่รวมสินค้าหมวดอาหารและพลังงาน ยังคงลดลงเล็กน้อย ส่วนการเติบโตของอัตราค่าจ้างที่เป็นตัวเงิน (Nominal wage) ค่อยๆลดลง หลังจากการขยายตัวอยู่ในอัตราที่เป็นบวกมานานถึง 18 เดือน แม้ว่าตลาดส่งออก และผลกำไรของธุรกิจญี่ปุ่นจะเป็นปัจจัยเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงพึ่งพาการใช้จ่ายภาคครัวเรือนเป็นตัวขับเคลื่อนหลัก
ทางด้านสหภาพยุโรป มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยอันเป็นผลมาจากการขยับลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกช่วงหลังของปี ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับร้อยละ 2 แม้ว่าจะมีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศเยอรมนี ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจ(Stagflation) ภายในสหภาพยุโรปได้ ในช่วงปี 2550 โดยในอีก 2 ปีข้างหน้า คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ EU จะสูงขึ้นเล็กน้อย และมีอัตราเงินเฟ้อค่อนข้างต่ำ ภายใต้ข้อจำกัดของการชะลอตัวทางด้านอุปสงค์ภายในสหภาพยุโรป
สำหรับการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกให้ยั่งยืนนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหลัก 2 ประการ ได้แก่ การรักษาสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ และการแก้ไขปัญหาการกระจายตัวอย่างไม่สมดุลระหว่างองค์ประกอบภายในประเทศ (เช่น การบริโภค การลงทุน) และองค์ประกอบต่างประเทศ (เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัด อัตราแลกเปลี่ยน) ในปัจจุบัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขาดดุลการค้ากับประเทศกำลังพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น แม้ว่าจะมีการดำเนินนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพระหว่างอุปสงค์และอุปทานภายในประเทศ แต่จะทำให้เกิดความไม่สมดุลในดุลบัญชีเดินสะพัด
ในกรณีของสหรัฐฯ ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีการใช้นโยบายเพื่อชดเชยความอ่อนแอของอุปสงค์ภายนอก โดยพยายามสร้างความเข้มแข็งให้อุปสงค์ภายในประเทศ จากการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุล ที่สอดคล้องกับนโยบายทางการเงินเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ ผ่านทางภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งทำให้สหรัฐฯมีเสถียรภาพทางด้านการผลิตมากขึ้น หลังจากเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2543 และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านตลาดที่อยู่อาศัย ยังมีบทบาทในการปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์ภายในประเทศและอุปสงค์ต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น สหรัฐฯ จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลดความร้อนแรงในตลาดที่อยู่อาศัย
แม้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตลาดที่อยู่อาศัยจะมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ระดับราคาในตลาดที่อยู่อาศัยของประเทศหลักๆ ได้ปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราว เมื่อระดับราคาเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับหนึ่ง ตลาดที่อยู่อาศัยจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนความเข้มงวดของนโยบายทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ในหลายประเทศ ภาคครัวเรือนได้มีการปรับตัวให้ตอบสนองต่อผลลัพธ์จากการชะลอตัวของตลาดที่อยู่อาศัย โดยบัญชีภาคครัวเรือนอยู่ในภาวะที่ดี ส่วนการปล่อยกู้ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง แม้ว่าครัวเรือนในกลุ่มรายได้ระดับล่างจะมีหนี้สินค่อนข้างสูงก็ตาม
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกายังคงเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก ถึงแม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจอเมริกาคาดว่าจะชะลอตัวลงจากที่คาดการณ์ไว้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2549 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.25 ในช่วงไตรมาสแรก และเริ่มชะลอตัวลง โดยในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 และไตรมาสที่ 3 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 IMF คาดการณ์ไว้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯจะชะลอตัวจากที่จะขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 2549 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ในปี 2550 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลงทำให้ การใช้จ่ายด้านการลงทุนและการบริโภคในภาคดังกล่าวลดลง อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคธุรกิจยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงที่มีปัจจัยบวกอย่าง ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง การได้รับผลประกอบการที่ดี และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะยาวที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้การดำเนินงานภาคการคลังของรัฐบาลได้ผลดีกว่าที่คาดหมายไว้ ทั้งนี้ทางรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสามารถลดการขาดดุลให้เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง ได้เร็วกว่าที่กำหนด
ในไตรมาสที่ 3 การบริโภคภาคเอกชนของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 การลงทุนที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.0 ในขณะที่ การลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลงร้อยละ 18 การส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 การนำเข้าสินค้าและบริการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.3 การใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 โดยแบ่งเป็น การใช้จ่ายที่ไม่ใช่เพื่อการป้องกันประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการป้องกันประเทศลดลงร้อยละ 1.1
ดัชนีราคาผู้บริโภคในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงมาจากร้อยละ 4.0 ในไตรมาสที่ 2 ตามราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง
เศรษฐกิจจีน
เศรษฐกิจจีนในปี 2549 ยังคงขยายตัวอย่างรวดเร็วไม่หยุดยั้ง โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจเฉลี่ยของจีนใน 3 ไตรมาสแรกของปี ขยายตัวร้อยละ 10.6 โดยการลงทุน การบริโภคและการส่งออกยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทางด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรมีมูลค่าประมาณ 910 พันล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ ใน 9 เดือนแรกของปี เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การค้าปลีกใน 3 ไตรมาสแรก รวมมูลค่า 5.5091 ล้านล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่สูงเกินร้อยละ 10 ทำให้ดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ1.3 ในช่วง 9 เดือนแรก
ภาวะเงินเฟ้อของจีนในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.4 ส่วนดัชนีราคาสำหรับหมวดอาหาร สินค้าที่ไม่ใช่อาหาร สินค้าเพื่อการบริโภค และภาคบริการ ขยายตัวร้อยละ 2.2 ร้อยละ 1.0 ร้อยละ 1.4 และร้อยละ 1.5 ตามลำดับ และเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกันยายน ดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนตุลาคมขยายตัวจากเดือนกันยายน ร้อยละ 0.1 ซึ่งจะเห็นได้ว่าราคาสินค้าหมวดอาหารเพิ่มขึ้นมากที่สุด เนื่องจากผลกระทบจากไข้หวัดนก ทำให้ราคาไข่เพิ่มสูงขึ้น และผู้บริโภคหันมาบริโภคเนื้อสัตว์อื่นมากขึ้น
เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนอยู่ที่ระดับ 987.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อสินเดือนกันยายนเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปีซึ่งอยู่ที่ระดับ 169 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของจีนในช่วง 9 เดือนแรก เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านเหรียญดอลล่าร์สหรัฐฯ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แรงกดดันต่อการควบคุมค่าเงินหยวนในช่วงหลัง ทำให้รัฐบาลจีนยอมผ่อนปรน โดยปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้สหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง ลดภาษีนำเข้าให้แก่สินค้าจีน
ด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังคงเป็นปัญหาหลักของเศรษฐกิจจีน ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 31.3 ในไตรมาสที่ 2 ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบสามปี การลงทุนที่เพิ่มมากเกินไปนี้ สะท้อนในการเพิ่มขึ้นของยอดเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ โดยธนาคารจีนได้อนุมัตริเงินกู้เพิ่มขึ้นถึง 2.3 ล้านล้านหยวนในครึ่งปีแรก เศรษฐกิจที่ร้อนแรงมากเกินไปของจีน ทำให้รัฐบาลประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเพิ่มอัตราเงินสำรองของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ ยังได้ประกาศกฎหมายใหม่ด้านการขายที่ดิน โดยการเพิ่มภาษี และเพิ่มค่าชดเชยในการเวรคืนที่ดิน นักวิเคราะห์ได้เตือนรัฐบาลกลางให้ระมัดระวังนโยบายการควบคุมการลงทุนว่า รัฐบาลไม่ควรหวังผลสูงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้การลงทุนที่ถูกสะกัดกั้นกลับมาพุ่งสูงขึ้นจนส่งผลให้เศรษฐกิจร้อนแรงจนอาจเป็นสาเหตุของภาวะฟองสบู่ในที่สุด
อย่างไรก็ตามในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 10.48 และคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 9.25 ในปี 2550 และจะทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 2553 เนื่องจากทางรัฐบาลจีนมีนโยบายควบคุมไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วจนเกินไป
เศรษฐกิจญี่ปุ่น
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2549 ยังคงขยายตัวอยู่ในระดับที่ชะลอตัว แต่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวโดยมีภาคการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 0.5 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นร้อยละ 2.0 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนที่ไม่ใช่อสังหาริมทรัพย์ และภาคการส่งออกเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ดี ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนภาครัฐยังคงซบเซา
ในภาคการบริโภค ภาวะซบเซาของการบริโภคภาคเอกชนสะท้อนถึงการหดตัวของรายได้ภาคครัวเรือน ในขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของผู้บริโภคยังคงทรงตัว ในระยะสั้นคาดหมายว่าการบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัว หากภาวะการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นก็จะนำไปสู่การปรับตัวเพิ่มขึ้นของรายได้ภาคครัวเรือน อย่างไรก็ตามการลงทุนภาคเอกชนยังขยายตัวดี เนื่องจากปัจจัยบวกของผลประกอบการที่ดีและปริมาณของอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
จากการสำรวจของธนาคารกลางของญี่ปุ่นพบว่าความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของนักลงทุนในปีงบประมาณ 2549 ยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีของภาคธุรกิจในอนาคต ภาคการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยการส่งออกสินค้าไปภูมิภาคเอเชียขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในหมวดเคมีภัณฑ์ และหมวดเหล็กและโลหการ ในขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังทรงตัว ภาพรวมของปริมาณการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นในปริมาณที่ไม่มากนัก มีเฉพาะการนำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรจากสหรัฐอเมริกาที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
สำหรับภาคการผลิตยังคงขยายตัว เนื่องจากการลงทุนในภาคธุรกิจยังขยายตัวได้ดี โดยภาพรวมสภาพการประกอบกิจการธุรกิจและผลประกอบการยังคงขยายตัว ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ช่วยให้ภาวะการจ้างงานรวมถึงรายได้ภาคครัวเรือนปรับตัวเพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นสูงขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเผชิญแรงงกดดันทางด้านราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตามในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.6
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป
เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในปี 2549 ขยายตัวมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา ตลอดทั้งปีคาดว่าเศรษฐกิจสหภาพยุโรปจะขยายตัวร้อยละ 2.8 และอัตราการจ้างงานในช่วงปี 2549 — 2551 จะมีมากถึง 7 ล้านอัตรา ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ไว้ว่าจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ในปี 2551
ในช่วงปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจสหภาพยุโรปขยายตัวได้อย่างมีดุลยภาพ กอปรกับนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจจะช่วยให้ เศรษฐกิจของภูมิภาคเจริญเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2549 ภาคการลงทุนของสหภาพยุโรปขยายตัวขึ้นร้อยละ 6 โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือและอุปกรณ์ขยายตัวได้มากกว่าร้อยละ 5 การลงทุนในปีนี้ยังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีก เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิต ผลประกอบการ และสภาพการเงินโดยรวม อยู่ในระดับที่ดีและมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น สำหรับภาคการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดีเนื่องจากยังมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากเศรษฐกิจโลก
ภาวะการจ้างงานในครึ่งปีแรกของสหภาพยุโรปขยายตัวขึ้นในอัตราเร่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของนโยบายการปฏิรูปโครงสร้างของตลาดแรงงานและตลาดผลผลิต ซึ่งถือเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ โดยการคาดการณ์อัตราการจ้างงานในช่วงปี 2549 ถึง 2551 จะมีมากถึง 7 ล้านอัตรา ซึ่งจะทำให้อัตราการจ้างงานในปี 2551 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 65.5 จากเดิมในปี 2548 ที่อยู่ที่ร้อยละ 63.75
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ค่อนข้างที่จะคงที่โดยตลอดทั้งปี คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ร้อยละ 2.3 และคาดว่าจะลดลงไปอยู่ที่ต่ำกว่าร้อยละ 2 ในปี 2551
สำหรับภาคการคลังของรัฐปีนี้มีเสถียรภาพดี ส่วนหนึ่งมาจาก การที่รัฐบาลสามารถเก็บภาษีนิติบุคคล (revenue tax) ได้มากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ตลอดทั้งปี คาดว่าภาคการคลังจะขาดดุลอยู่ที่ร้อยละ 2 ของ GDP
เศรษฐกิจอาเซียน
ภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียโดยรวมยังคงขยายตัว แต่มีแรงกดดันมากขึ้นในด้านเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ในช่วงครึ่งปีแรก ทั้งนี้ ธนาคารกลางหลายประเทศยังคงดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวต่อเนื่องจากช่วงก่อนหน้าเพื่อดูแลเสถียรภาพของเงินเฟ้อในประเทศ อย่างไรก็ตามแรงกดดันจากราคาน้ำมันเริ่มลดลงหลังจากที่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง ทำให้การบริโภคและการลงทุนภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อของภูมิภาคเอเชียอยู่ในลักษณะผสม แต่ส่วนใหญ่ได้รับแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนเนื่องจากราคาสินค้าในหมวดพลังงานและหมวดอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับเศรษฐกิจกลุ่มเอเชียยังมีแนวโน้มขยายตัวได้สูงขึ้นเนื่องจากได้รับแรงส่งของเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 จากปัจจัยการสนับสนุนด้านสนับสนุนด้านการส่งออก และคาดว่าความร่วมมือทางการค้าของกลุ่มอาเซียนจะทำให้การค้าในภูมิภาคขยายตัวมากขึ้น
สิงคโปร์
เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2549 มีการขยายตัวที่ดีในไตรมาสแรก และ เริ่มชะลอตัวลงตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา เนื่องจากปริมาณอุปสงค์ในต่างประเทศเริ่มชะลอตัวลง ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอตัว
เศรษฐกิจของสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 8.2 ในไตรมาสที่ 2 ภาคการผลิตสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจคือ ภาคอุตสาหกรรม ซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.0 โดยมีการผลิตด้านวิศวกรรมการขนส่งขยายตัวสูงถึงร้อยละ 39 และการค้าปลีกและการค้าส่ง ซึ่งขยายตัวร้อยละ 11.0
สำหรับภาวะการจ้างงานในช่วงไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้น 41,600 อัตรา โดยภาคบริการมีสัดส่วนการจ้างงานมากที่สุดถึง 24,600 อัตรา รองลงมาคือภาคอุตสาหกรรม และภาคการก่อสร้าง มีจำนวน 11,300 และ 5,500 อัตรา ตามลำดับ ทำให้อัตราการว่างงานลดลงจากร้อยละ 2.8 ในเดือนมิถุนายน เหลือเพียงร้อยละ 2.7 ในเดือนกันยายน
มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ปรับตัวลดลงจาก ร้อยละ 17 จากไตรมาสก่อน มูลค่าการนำเข้าสินค้าที่ไม่ใช่น้ำมันขยายตัวในอัตราร้อยละ 8.6 ปรับตัวลดลงจากร้อยละ 14.0 ในไตรมาสก่อนหน้า
ดุลการชำระเงินของของสิงคโปร์สิ้นสุดไตรมาสที่ 3 เกินดุล 4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงจากไตรมาสก่อนที่เกินดุล 5.1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 16 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ
อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ของสิงคโปร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หมวดสินค้าสำคัญที่ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องแต่งกาย และอาหาร
อย่างไรก็ตาม ในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวได้ร้อยละ 7.5 — 8.0
มาเลเซีย
เศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2549 ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ ถึงแม้จะเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจคือ การบริโภคภายในประเทศ
เศรษฐกิจของมาเลเซีย ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยภาคเกษตรขยายตัวร้อยละ 6.2 ปรับตัวขึ้นจากร้อยละ 5.6 จากไตรมาสก่อน สินค้าสำคัญของภาคเกษตร ได้แก่ น้ำมันปาล์มซึ่งขยายตัวร้อยละ 10.0 และยางซึ่งขยายตัวร้อยละ 8.0 ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.1 โดยอุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคภายในประเทศขยายตัวได้ดีกว่าอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก สำหรับภาคการบริการขยายตัวร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่ 3 โดยการบริการด้านการเงิน อสังหาริมทรัพย์ และภาคธุรกิจขยายตัวได้ร้อยละ 7.5
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 6.8 ในขณะที่การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวร้อยละ 8.3 ส่วนการลงทุนรวมในประเทศขยายตัวร้อยละ 3.5 การส่งออกขยายตัวร้อยละ 10.5 โดยสินค้าส่งออกหลักยังคงเป็น ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.4
ดัชนีราคาผู้บริโภคตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนตุลาคมของปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของราคาของ ภาคการขนส่ง อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ และภาคสาธารณูปโภค
ในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวร้อยละ 6.0
ฟิลิปปินส์
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ในปี 2549 ยังขยายตัวได้ดี ถึงแม้จะมีการชะลอตัวตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 เป็นต้นมา เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็น การบริโภคภายในประเทศและภาคการส่งออก
เศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 4.8 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 โดยภาคบริการมีการขยายตัวร้อยละ 5.6 เทียบเท่ากับปีที่แล้ว ภาคเกษตรขยายตัวดีขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 4.1 จากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 และภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.0 จากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 5.3
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.9 ในปี 2548 โดยการบริโภคอาหาร รวมทั้งการขนส่งและการสื่อสาร เพิ่มขึ้น ในขณะที่ การบริโภคพลังงาน ไฟฟ้าและน้ำ ตลอดจน เสื้อผ้าและรองเท้าลดลง นอกจากนี้การใช้จ่ายภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงร้อยละ -1.1 จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.0 ในปี 2548
การส่งออกสินค้าขยายตัวร้อยละ 10.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.0 เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่การนำเข้าสินค้าขยายตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ลดลงจากร้อยละ 8.0 ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการที่ค่าเงินเปโซแข็งค่าขึ้นเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0
อินโดนีเซีย
เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2549 เริ่มฟื้นตัวจาก วิกฤตการณ์ค่าเงินรูเปียที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2548 โดยปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคือ การบริโภคภายในประเทศ และภาคการส่งออก สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐบาลชะลอตัวลงตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึงเดือนกันยายน ชะลอตัวลงอย่างมาก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากตัดงบประมาณของรัฐบาลเพื่อนำไปใช้จ่ายด้านการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค ในขณะที่ภาคการลงทุนยังคงซบเซาต่อเนื่อง
ในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 5.5 โดยการบริโภคภาคเอกชนที่เป็นสัดส่วนหลักของ GDP ขยายตัวร้อยละ 3.0 ซึ่งเป็นผลมาจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง โดยธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมให้เหลือร้อยละ 10.25 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549
การส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 12.1 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งโดยภาพรวมการส่งออกของอินโดนีเซียในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 มีการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีมาก สินค้าเด่นในภาคการส่งออก ได้แก่ ถ่านหิน ยางและผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งน้ำมันปาล์มดิบ
อย่างไรก็ตามในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5 - 6
เศรษฐกิจในประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย
ไต้หวัน
เศรษฐกิจไต้หวันในปี 2549 ยังขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ ถึงแม้ว่าจะเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่ภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเสรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกสินค้าประเภทเครื่องจักรไฟฟ้า
เศรษฐกิจของไต้หวัน ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 5.02 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการส่งออกเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และ ยอดจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศยังคงชะลอตัว
ในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวประมาณร้อยละ 4.14
ฮ่องกง
เศรษฐกิจของฮ่องกงในปี 2549 ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง ถึงแม้ว่าจะเริ่มชะลอตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีเป็นต้นมา เนื่องจากต้องเผชิญกับแรงงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น โดยปัจจัยหลักที่ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศยังคงเป็น การส่งออกและการบริโภคภายในประเทศ
เศรษฐกิจของฮ่องกง ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการส่งออกในไตรมาสที่ 3 เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว ร้อยละ 8.9 ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน และเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลง ในขณะที่ การส่งออกภาคบริการขยายตัวร้อยละ 8.6 โดยภาคการขนส่ง ภาคการเงิน และบริการประกัน ขยายตัวได้ดี
อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.4 ในไตรมาสที่ 3 ซึ่งเป็นผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น ตลอดจนภาวะการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับการลงทุนในไตรมาสที่ 3 ขยายตัวได้ถึงร้อยละ 12.7 นับเป็นการขยายตัวที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2543 เป็นต้นมา
ในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัวประมาณร้อยละ 6.5
เกาหลีใต้
เศรษฐกิจเกาหลีใต้ในปี 2549 เริ่มชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบจากราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้การชะลอตัวภาคอสังหาริมทรัพย์ยังอาจส่งผลกระทบระยะกลางต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
เศรษฐกิจของเกาหลีใต้ในไตรมาสที่ 3 ขยายตัว ร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ภาคเอกชนเพิ่มการลงทุน และการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี โดยมูลค่าการส่งออกในเดือนพฤศจิกายนสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยอยู่ที่ร้อยละ 19.8 เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว หรือคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยอดการส่งออกไปยังประเทศจีนขยายตัวถึงร้อยละ 19.9 และยอดการส่งออกไปประเทศญี่ปุ่นขยายตัวร้อยละ 14.5
เงินสกุลวอนของเกาหลีใต้แข็งตัวขึ้นใกล้เคียงกับค่าที่เคยแข็งที่สุดในรอบ 9 ปี โดยไต่มาอยู่ที่ระดับ 928.05 วอน ต่อ ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตลอดทั้งปี 2549 เงินสกุงวอนแข็งค่าขึ้นราวร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินที่แข็งขึ้นนี้จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของประเทศในอนาคต
การลงทุนภาคเอกชนและการส่งออกในปีนี้ขยายตัวได้ดี ตรงข้ามกับการบริโภคภาคเอกชนที่ชะลอตัวลงเนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยในปีนี้ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมด 3 ครั้ง จนถึงปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยได้ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5
อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.0
สรุปภาวะเศรษฐกิจโลกปี 2549 และแนวโน้มปี 2550
IMF ได้คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2549 ว่าจะเติบโตได้ราวร้อยละ 5 ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะชะลอตัวลง แต่ เศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและเศรษฐกิจญี่ปุ่น ขยายตัวได้ดีกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจของเอเชียที่ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปี 2548 เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ปัจจุบันราคาน้ำมันได้ปรับตัวลดลง และคาดว่าจะลดลงอีกพอสมควรในอนาคต โดยเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อน่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5 ในปี 2550
สำหรับแนวโน้มในปีหน้า Europa คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4.5 อยู่เล็กน้อย โดย เศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจะยังคงชะลอตัวลง แต่เศรษฐกิจในส่วนภูมิภาคอื่นของโลกจะขยายตัวดีขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกน่าจะยังคงเป็น เศรษฐกิจขาลงของสหรัฐ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และความไม่สมดุลของดุลบัญชีเดินสะพัดของโลก สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีหน้าคือ การค้าของโลกที่ยังสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคเอเชีย ยิ่งถ้าตลาดแรงงานปรับตัวดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ จะทำให้การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลก
เศรษฐกิจไทย
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ