นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเปิดเผยผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ครั้งที่ 4/36 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นที่โรงแรม Sofitel Central Plaza กรุงเทพฯ สาระสำคัญของการประชุมเป็นการหารือการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจภายในของอาเซียน สรุปได้ ดังนี้
1. การรวมกลุ่ม 11 สาขาสำคัญของอาเซียน (11 Priority Sectors) ที่ประชุมหารือเรื่อง การรวมกลุ่มสาขาสำคัญของอาเซียน ซึ่งที่ประชุมให้ความสำคัญกับการติดตามการดำเนินงาน เพื่อที่จะขยายการค้าในกลุ่มอาเซียนให้มากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นด้านนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของอาเซียนเพื่อการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ และเห็นชอบให้มีการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสสมัยพิเศษ (Special SEOM) ในช่วงเดือนมกราคม 2549 ต่อเนื่องกับการประชุม SEOM 1/37 เพื่อหารือ/เจรจาเกี่ยวกับข้อเสนอแนะมาตรการใหม่ๆ (Phase II) ได้แก่ การเพิ่มขอบเขตสินค้าใน 9 สาขาสำคัญที่จะเร่งลดภาษี การปรับระยะเวลาการดำเนินงานในบางมาตรการให้เร็วขึ้นและมีความชัดเจนมากขึ้น และการมอบหมายหน่วยงานที่เหมาะสมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน โดยจะนำเสนอผลการเจรจาให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาในช่วงการประชุม AEM Retreat ในเดือนเมษายน 2549 และเห็นควรให้พิจารณานำผลการศึกษาเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน (ASEAN Competitiveness Study) ที่ได้จากการว่าจ้างบริษัท McKinsey ทำการศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2546 มาใช้ประกอบการดำเนินงานในระยะต่อไปด้วย
สำนักเลขาธิการอาเซียนยังได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ขณะนี้ อยู่ระหว่างการคัดเลือกทีม ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการศึกษาและให้ข้อเสนอแนะต่อการรวมกลุ่มในสาขาเกษตร สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ของอาเซียน นอกจากนี้ World Bank ยังแสดงความสนใจที่จะให้ความช่วยเหลือในสาขาสุขภาพและสาขาการบิน ในขณะที่ UNIDO ประสงค์จะให้ความช่วยเหลือในสาขาประมงและสาขาผลิตภัณฑ์ไม้
2. การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว (ASEAN Single Window) ขณะนี้ การดำเนินงานมีความคืบหน้าไปมาก โดยไทยได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ไทยและฟิลิปปินส์จะเริ่มโครงการนำร่องภายในปลายปีนี้ และจะเริ่มใช้ระบบ Pre-customs clearance และ Risk Management System ระหว่างกันด้วย นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาร่างความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียว ซึ่งจะเป็นกรอบแนวทางการดำเนินงานให้กับประเทศสมาชิก โดยกำหนดเป้าหมายให้การดำเนินงานเสร็จสมบูรณ์แบบ ภายในปี 2010 ซึ่งในเบื้องต้น จะเน้นการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออก โดยเฉพาะด้านการออกใบอนุญาตต่างๆ สำหรับประเทศไทย กรมศุลกากรจะได้เชื่อมโยงระบบกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ก่อนที่จะเชื่อมโยงระบบกับประเทศสมาชิกอื่นเพื่อพัฒนาเป็น ASEAN Single Window ในระยะต่อไป โดยจะนำเสนอให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจลงนามในความตกลงฯ ในช่วงการประชุมสุดยอด อาเซียน ครั้งที่ 11 ในเดือนธันวาคม 2548 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
3. การปรับใช้เวลาเดียวกันของอาเซียน (ASEAN Common Time) ที่ประชุมพิจารณาเรื่อง การปรับใช้เวลาเดียวกันของอาเซียนที่มาเลเซียผลักดันให้เป็นประเด็นที่จะเสนอต่อผู้นำในช่วงปลายปี 2548 ขณะนี้ ประเทศบรูไนฯ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และบางหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ใช้เวลา GMT+8 ในขณะที่ไทย กัมพูชา ลาว เวียดนาม และบางหมู่เกาะของอินโดนีเซีย ใช้เวลา GMT+7 โดยหลายประเทศเห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนกับสภาพการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารมีความก้าวหน้าไปมาก ความแตกต่างด้านเวลาจึงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจนัก และควรเป็นเรื่องของแต่ละประเทศเองที่จะพิจารณา เพราะบางประเทศใช้เวลาของตนมาเป็นเวลาหลายสิบปี นอกจากนี้ ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐก็ยังมีเวลาที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่สหภาพยุโรปที่การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจมีความคืบหน้าไปมาก ประเทศสมาชิกภายในก็ยังมีเวลาที่แตกต่างกัน ดังนั้น ที่ประชุมจึงไม่เห็นความจำเป็นที่อาเซียนจะต้องปรับใช้เวลาเดียวกัน ซึ่งมาเลเซียก็พร้อมที่จะพิจารณาตัดวาระดังกล่าวออกจากการประชุมสุดยอดอาเซียนในปลายปีนี้หากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะปรับเวลาของตนให้สอดคล้องกับอีกฝ่ายหนึ่ง
4. กลไกการระงับข้อพิพาทของอาเซียน อาเซียนได้เริ่มใช้พิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาท ฉบับใหม่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 ขณะนี้ ประเทศสมาชิกอยู่ระหว่างการเสนอชื่อผู้แทนเพื่อเข้าร่วมในคณะผู้พิจารณา (Panel) ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีความรอบรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของอาเซียน โดยเฉพาะพันธกรณีต่างๆ ที่ระบุไว้ภายใต้พิธีสารนี้ และสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ซึ่งจะต้องเป็นผู้มีความรู้ในด้านกฎหมายระหว่างประเทศเป็นอย่างดี และไม่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐบาล ในส่วนของไทย อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อเข้าร่วมเป็นผู้แทนดังกล่าว นอกจากนี้ เพื่อให้ การดำเนินงานด้านกระบวนการยุติข้อพิพาทของอาเซียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ที่ประชุมเห็นชอบให้สมาชิกองค์กรอุทธรณ์พบปะหารือเป็นประจำทุกปี เพื่อทบทวนและเสนอแนะข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงาน โดยใช้งบประมาณสนับสนุนการประชุมดังกล่าวจาก ASEAN Development Fund ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักเลขาธิการอาเซียน
5. การดำเนินการภายใต้กรอบอาฟตา ที่ประชุมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นถึงความจำเป็นที่อาเซียนควรต้องปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้าให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับความต้องการของเอกชน เช่น การใช้กฎการแปรสภาพอย่างเพียงพอ (Substantail Transformation) และการเปลี่ยนพิกัดศุลกากร (Change of Customs Classification) นอกจากวิธี 40% value added ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบัน เพื่อสร้างศักยภาพในการแข่งขันของอาเซียนให้ทัดเทียมกับประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น จีน เป็นต้น ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการรวบรวมวิธีการที่จะได้แหล่งกำเนิดสินค้าที่เหมาะสมสำหรับแต่ละชนิดสินค้า เพื่อใช้เป็นท่าทีในการเจรจากับประเทศคู่เจรจา และเนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าอาเซียนมีการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ยังมีการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้อาฟตาไม่มากนัก จึงจำเป็นจะต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนรับทราบการดำเนินงานของอาฟตาให้มากขึ้น
นอกจากนั้น ที่ประชุมได้พิจารณาถึงปัญหาในการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้อาฟตาของบางประเทศสมาชิก ซึ่งความตกลงอาฟตายังไม่มีมาตราที่เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจการเงินอย่างรุนแรง ได้มีความยืดหยุ่นในการปรับขึ้นอัตราภาษีอาฟตาได้ภายในกรอบกำหนด ที่ประชุมเห็นว่า ประเด็นนี้ มีความสำคัญต่อการดำเนินงานในอนาคตของอาเซียน เห็นควรที่ประเทศสมาชิกพิจารณาหาข้อสรุปให้ได้โดยเร็วเพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะมนตรีเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA Council ที่จะมีขึ้นปลายเดือนกันยายน 2548 ณ กรุงเวียงจันทน์ พิจารณา
6. การดำเนินงานของภาคเอกชนอาเซียน ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานของสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN BAC) ซึ่งขณะนี้ มีข้อเสนอโครงการลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตเส้นใยจากปาล์มน้ำมัน (Oil Palm Fiber Technology) ซึ่งเป็น ข้อเสนอโครงการร่วมลงทุนระหว่างมาเลเซีย ไทย และสิงคโปร์ รวมถึงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีจากเยอรมัน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเป็นแผนงานหนึ่งภายใต้กรอบ ASEAN Pioneer Project Scheme (APPS) ซึ่งเป็นกรอบการดำเนินงานที่มุ่งให้ภาคเอกชนมีบทบาทนำในการดำเนินงานและภาครัฐให้การสนับสนุน ซึ่งจะเริ่มต้นโครงการนำร่องใน 2 สาขาหลักก่อน ได้แก่ สาขาเกษตร และสาขาการท่องเที่ยว ซึ่งประเทศสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะต้องศึกษาในรายละเอียดของโครงการ รวมถึงข้อเสนอที่ขอรับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจ (AEM) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป
7. กลไกการดำเนินงานเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งกลไกด้านสถาบัน (Institutional Mechanism) เพื่อเป็นหน่วยงานดูแล FTA ที่อาเซียนจัดทำกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ ภายหลังจากการเจรจาเสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งอาจจำเป็นจะต้องจัดตั้งขึ้นในลักษณะของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee) ระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ เพื่อดูแล กำกับ ประสานงาน และทบทวนการดำเนินงานต่างๆ ตามกรอบความตกลงฯ สำหรับรูปแบบคณะกรรมการที่เหมาะสมและขอบเขตการดูแลรับผิดชอบ ที่ประชุมได้มอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียนศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติมว่า ควรจะมีคณะเดียว หรือแยกเป็นรายประเทศคู่เจรจา และระดับของ เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าร่วมในคณะกรรมการดังกล่าว รวมถึงบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบที่ชัดเจน เพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
ทั้งนี้ ในวันที่ 24-27 สิงหาคม 2548 จะเป็นการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจของอาเซียน (SEOM) กับประเทศคู่เจรจา ซึ่งกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจะได้รายงานผลเผยแพร่ ต่อไป
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อาคาร ค ถ.ราชดำเนินกลาง แขวงบวรนิเวศน์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200 โทรศัพท์ (66) 2282-6171-9 แฟกซ์ (66) 2280-0775
-พห-