สศอ.ชี้ขีดแข่งขันอุตฯลดฉุดส่วนแบ่งตลาดติดลบ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 14, 2007 15:40 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงขีดความสามารถแข่งขันอุตสาหกรรมรายสาขา ช่วงไตรมาสแรกและแนวโน้มสิ้นปี 2550 ว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมไทยน่าเป็นห่วง เพราะความสามารถแข่งขันลดลงต่อเนื่อง เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีแนวโน้มชะลอตัว โดยไตรมาสแรก ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม อยู่ที่ 168.7 ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 8.7% เช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังผลิตก็มีทิศทางลดลงต่อเนื่อง ทำให้สศอ.ต้องปรับตัวเลขการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จาก 5.5-6.5% เหลือ 5%
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาภาวะอุตสาหกรรมรายสาขาที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ พบว่าแม้ไตรมาสแรกอุตสาหกรรมหลายกลุ่มยังขยายตัวได้ดี เช่น การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เหล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องปรับอากาศ แต่เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่าขยายตัวในอัตราลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมที่ดัชนีผลผลิตลดลงชัดเจน ได้แก่ สิ่งทอต้นน้ำ โทรทัศน์ วัสดุก่อสร้าง และรถยนต์
"กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายเร่งกระตุ้นภาคเอกชนเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน และสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดและผลักดันการขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ เพิ่มขีดแข่งขันของประเทศ โดยทุ่มงบประมาณกว่า 1,100 ล้านบาทให้ผู้ประกอบการกว่า 4,000 โรงงาน เพื่อนำร่องและกระตุ้นให้เอกชนรายอื่นให้ความสำคัญที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจได้อย่างถาวร"
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวถึงขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ที่ลดจากอันดับ 29 ปี 2549 มาอยู่ที่อันดับ 33 ในปีนี้ จากการจัดอันดับของสถาบันไอเอ็มดี ว่า ประสิทธิภาพของภาครัฐและประสิทธิภาพภาคเอกชนลดลง จึงฉุดรั้งอันดับขีดความสามารถแข่งขันของไทย ขณะที่ความสามารถด้านโครงสร้างพื้นฐานก็ลดลงต่อเนื่องจากจากอันดับ 37 มาอยู่อันดับ 48 มีเพียงความสามารถแข่งขันด้านเศรษฐกิจที่อันดับดีขึ้นจากอันดับ 19 อยู่ที่อันดับ 15
สำหรับขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจที่ดีขึ้นนั้น มีสาเหตุจากการส่งออกเพิ่มขึ้น และแม้เศรษฐกิจในภาพรวมชะลอตัว แต่ในประเทศยังมีการบริโภคอยู่ ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศยังมีเงินทุนไหลเข้ามาต่อเนื่อง นอกจากนี้ นโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อยังทำได้ดี
ประเด็นวิเคราะห์
อย่างไรก็ดี (สศช.) เชื่อว่าปี 2551 อันดับความสามารถการแข่งขันของไทยจะดีขึ้น เพราะรัฐบาลวางนโยบายระยะยาวช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น
1. การจัดทำแผนแม่บทเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม
2. การวางแผนแม่บทพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา ที่เชื่อมโยงไปสู่การวิจัยและพัฒนาและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
3. การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนนั้น รัฐบาลมีแผนดำเนินการและกำหนดเวลาชัดเจนแล้ว หากดำเนินการได้ตามที่ประกาศไว้ จะทำให้อันดับโครงสร้างพื้นฐานของไทยดีขึ้น ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์และส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ เช่น การสร้างความมั่นใจให้เอกชน และส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบริการ
4. ด้านเศรษฐกิจนั้น ปี 2550 รัฐบาลตั้งเป้าให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4% ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสม เพราะอัตราการจ้างงานอยู่ในระดับเกือบเต็มที่แล้ว ส่วนอัตราเงินเฟ้อน่าจะลดลงได้อีก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกผ่อนคลายกว่าปีที่แล้ว และนโยบายการเงินที่มีการลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลดีต่อการลงทุนและการบริโภคของเอกชน ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลดีต่อเนื่องถึงปี 2551 และทำให้อันดับของไทยดีขึ้น
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ