สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่4 (ตุลาคม—ธันวาคม) พ.ศ.2549(เศรษฐกิจไทย)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 14, 2007 13:36 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                                  เศรษฐกิจไทย
จากการประมาณการอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติรายไตรมาสของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 4.7 เทียบกับร้อยละ 5.0 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 และร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 และหากพิจารณาค่า GDP ที่ปรับฤดูกาลในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ซึ่งขยายตัวจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2548 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.1
ในส่วนของ GDP สาขาอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 สาขาอุตสาหกรรมมีการขยายตัวร้อยละ 5.4 เทียบกับร้อยละ 5.7 ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 และร้อยละ 6.5 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2548 โดยสาขาอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวได้ดีประกอบด้วยอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2549 เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 5.0 เนื่องจากปริมาณการส่งออกชะลอตัว แต่ปริมาณการนำเข้าเร่งตัวมากขึ้นและการลงทุนไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และคาดว่าในปี 2550 เศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 4.0 — 5.0 โดยในปี 2550 มีข้อจำกัดด้านการส่งออกและการลงทุนที่จะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่อัตราการว่างงานยังต่ำ
สำหรับตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยจะเห็นว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและ เครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาล และเมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออก มูลค่าการส่งออกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีสินค้าที่ติดอันดับต้น ๆ ได้แก่ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า
ในส่วนของการลงทุนภาคเอกชนก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยเพิ่มขึ้นในปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ประกอบกับการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค พบว่า เครื่องชี้วัดที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในปี 2549 ตัวเลขชี้วัดทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2548 แต่เป็นการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงในหลาย ๆ ตัวชี้วัด เนื่องจากในปี 2549 มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่เข้ามากระทบ เช่น ภาระอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ ปัญหาอุทกภัย และการแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม
จากรายงานดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index : MPI) ที่จัดทำโดย สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 167.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (168.8) ร้อยละ 0.5 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (161.0) ร้อยละ 4.2
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ดอกไม้ประดิษฐ์, เครื่องประดับเทียม) เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันจากพืช น้ำมันจากสัตว์ และไขมันจากสัตว์ เป็นต้น
ในปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 6.6 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ดัชนีการส่งสินค้า
ดัชนีการส่งสินค้า (Shipment Index) แสดงทิศทางของระดับการขนส่งสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าอยู่ที่ระดับ 167.0 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (166.1) ร้อยละ 0.5 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (159.9) ร้อยละ 4.4
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รวมทั้งน้ำดื่มบรรจุขวด เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันจากพืช น้ำมันจากสัตว์และไขมันจากสัตว์ และอุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ เป็นต้น
ในปี 2549 ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 5.5 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง
ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง (Finished Goods Inventory Index) แสดงทิศทางหรือระดับการเพิ่มขึ้น หรือลดลงของการสำรองสินค้าเพื่อไม่ให้สินค้าขาดตลาด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) โดยครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ระดับ 177.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (190.1) ร้อยละ 6.4 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (163.8) ร้อยละ 8.6
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม เป็นต้น
ในปี 2549 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 10.1 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตมอลต์ลิกเคอและมอลต์ และอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต
อัตราการใช้กำลังการผลิตเป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (ตารางที่ 1) ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 66.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (68.0) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (67.8)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิต ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากาการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ในปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงเล็กน้อยจากปี 2548 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
ดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค
ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จัดทำโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แบ่งออกเป็น 3 ดัชนี ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ และดัชนีเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต (ตารางที่ 2) พบว่า ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ทั้ง 3 ดัชนีมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 และหากพิจารณาเป็นรายเดือนพบว่า ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ทั้ง 3 ดัชนีปรับตัวลดลงมาโดยตลอด สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายได้ ได้แก่ ผู้บริโภคมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาทจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออกและระบบเศรษฐกิจ ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีค่า 77.7, 77.2 และ 76.5 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่าผู้บริโภคขาดความมั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยว่าจะขยายตัวอยู่ในระดับที่ดี เนื่องจากยังคงมีปัจจัยลบหลายปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภควิตกกังวล
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีค่า 78.4, 78.1 และ 77.4 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับภาวะการจ้างงานโดยรวมของไทย โดยเห็นว่าโอกาสในการหางานทำยังไม่ดีมากนัก ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีค่า 94.4, 94.2 และ 93.2 ตามลำดับในแต่ละเดือน การที่ดัชนีปรับตัวอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 แสดงว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตของตนเอง
ในช่วงปี 2549 ทั้ง 3 ดัชนีดังกล่าว ปรับตัวลดลงจากปี 2548 เนื่องจากผู้บริโภคมีความวิตกกังวลในปัจจัยลบต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
จากการสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ตารางที่ 3) พบว่า ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีโดยรวมยังคงมีค่าต่ำกว่า 50 แสดงว่าความเชื่อมั่นทางธุรกิจยังไม่ดี ผู้ประกอบการยังคงมองว่าภาวะการณ์ด้านธุรกิจในอนาคตยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้น สำหรับดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา คือ ผลประกอบการของบริษัท การจ้างงาน และการผลิตของบริษัท
ในปี 2549 ดัชนีโดยรวมปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับปี 2548
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม (Thai Industries Sentiment Index : TISI)
จัดทำโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (ตารางที่ 4) พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีโดยเฉลี่ยมีค่า 90.7 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา (87.9) แต่ปรับตัวลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (97.6) การที่ค่าดัชนีอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นต่อภาวการณ์ด้านอุตสาหกรรมอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม 2549 ดัชนีมีค่า 85.9 เนื่องจากปริมาณการผลิตปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เป็นผลจากยอดคำสั่งซื้ออยู่ในแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อในประเทศ แสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ต่อสินค้าภายในประเทศโดยรวมเคลื่อนไหวในทิศทางที่ไม่ดี
ในปี 2549 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี 2548
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจ (Leading Economic Index : LEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือในการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจ ในอีก 3-4 เดือนข้างหน้า ปรากฏว่าดัชนีชี้นำเศรษฐกิจในเดือนธันวาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 122.4 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 0.8 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 123.4 โดยเครื่องชี้ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ปริมาณ M2a ดัชนีราคาตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าส่งออกสินค้า ณ ราคาคงที่ สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีค่าเฉลี่ย 123.1 ปรับตัดลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 124.2
ดัชนีพ้องเศรษฐกิจ
ค่าประมาณการเบื้องต้นของดัชนีพ้องเศรษฐกิจ (Coincident Economic Index : CEI) จัดทำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ในเดือนธันวาคม 2549 อยู่ที่ระดับ 126.3 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 0.5 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 125.7 ตามการเพิ่มขึ้นของเครื่องชี้วัด ได้แก่ มูลค่าการนำเข้าสินค้า ณ ราคาคงที่ และปริมาณการจำหน่ายรถยนต์รวม
สำหรับดัชนีในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีค่าเฉลี่ย 125.9 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ผ่านมาที่มีค่า 126.0
การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (Expenditure on private consumption) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ทั้งนี้ เครื่องชี้สำคัญที่ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ ปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ และภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในปี 2549 การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2548 ตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคอื่นชะลอตัวจากปี 2548 เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
การลงทุนภาคเอกชน
การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม (ตารางที่ 6) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 พิจารณาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ ยอดการขายซีเมนต์ในประเทศ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในประเทศ และยอด การนำเข้าสินค้าทุน พบว่า ดัชนีการลงทุนในภาคเอกชนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ปรับตัวลดลงจากไตรมาส ที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548
หากแยกตามรายการสินค้าพบว่า ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ยอดการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ในปี 2549 การลงทุนภาคเอกชนโดยรวม ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2548 โดยเป็นการชะลอตัวลงของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ และมูลค่าการนำเข้าสินค้าทุน ณ ราคาคงที่
ภาวะราคาสินค้า
จากการสำรวจดัชนีราคาผู้บริโภค (ตารางที่ 7) และดัชนีราคาผู้ผลิต (ตารางที่ 8) โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส ที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ซึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ตามราคาผักและผลไม้ ข้าว และเนื้อสัตว์
ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิตในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยราคาในหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา แต่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 สำหรับในหมวดผลผลิตเกษตรกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 และราคาในหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมืองปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2548
ในปี 2549 ดัชนีผู้บริโภคและดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2548
แรงงานในภาคอุตสาหกรรม
จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชาชนในปี 2549 (ตัวเลขเดือนธันวาคม) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 36.99ล้านคน เป็นผู้ที่มีงานทำ 36.58 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 98.89 ของกำลังแรงงานทั้งหมด และมีผู้ว่างงาน 0.36 ล้านคน (คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.0)
สำหรับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในปี 2549 มีจำนวน 5.10 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 13.94 ของผู้มีงานทำทั้งหมด
ทางด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ณ สิ้นเดือนธันวาคมของปี 2549 มีจำนวนผู้ประกันตนทั้งสิ้น 8,537,801 คน และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้รับแจ้งจำนวนลูกจ้าง ที่ถูกเลิกจ้างในในปี 2549 มีจำนวน 191,790 คน โดยเป็นการเลิกจ้างในอุตสาหกรรมการผลิตจำนวน 98,562 คน อุตสาหกรรมที่มีการเลิกจ้างมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยุ โทรทัศน์และการสื่อสาร มีจำนวน 16,846 คน รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม มีจำนวน 11,821 คน อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางและผลิตภัณฑ์พลาสติก จำนวน 8,342 คน อุตสาหกรรมการฟอกและการตกแต่งหนังสัตว์ รวมทั้งการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ อานม้าและเครื่องลากเทียมสัตว์และรองเท้า จำนวน 7,985 คน อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งรถพ่วง จำนวน 7,106 คน และการผลิตเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมีจำนวน 6,996 คน
ส่วนสถานประกอบการที่เลิกกิจการมีจำนวน 22,058 แห่ง ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีจำนวนสถานประกอบการเลิกกิจการมากที่สุดคือ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ รถพ่วง และรถกึ่งรถพ่วง 968 แห่ง รองลงมาคืออุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 704 แห่ง อุตสาหกรรมก การผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ ยกเว้นเครื่องจักร และอุปกรณ์ จำนวน 526 แห่ง (ตารางที่ 9)
การค้าต่างประเทศ
สถานการณ์การค้าในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีทิศทางลดลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2549 โดยในไตรมาสที่ 4 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 65,199.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 34,331.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 30,867.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ -2.1 และการนำเข้าลดลงร้อยละ -7.6 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.1 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดุลการค้าเกินดุล 3,464.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 เมื่อพิจารณาเป็นรายเดือน พบว่ามีมูลค่าการส่งออกกว่า 11,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯทุกเดือน โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายน มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดคือ 11,871.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
- โครงสร้างการส่งออก
การส่งออกในปี 2549 ประกอบด้วย สินค้าอุตสาหกรรม 100,136.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 77.17) สินค้าเกษตรกรรม 12,967.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 9.99) สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร 7,877.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 6.07) สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 6,863.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 5.29) และสินค้าอื่นๆ 1899.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.46)
เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว มูลค่าการส่งออกของสินค้าทุกหมวดมีอัตราการขยายตัวที่เพิ่มขึ้น โดยสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.4 อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 สินค้าแร่ธาตุและเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 และสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.1
สินค้าส่งออกที่สำคัญ 10 รายการหลักในปี 2549 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ซึ่งมีมูลค่าการส่งออกสูงสุดคือ 14,876.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ รองลงมาคือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 9,540.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แผงวงจรไฟฟ้า 7,028.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ยางพารา 5,393.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เม็ดพลาสติก 4,500.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ อัญมณีและเครื่องประดับ 3,644.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูป 3,634.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหล็กและเหล็กกล้า 3,527.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ 3,177.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเคมีภัณฑ์ 3,443.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออก 10 รายการหลักรวมกันเท่ากับ 59,051.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 45.51 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด
- ตลาดส่งออก
ในปี 2549 การส่งออกไปยังตลาดหลัก ซึ่งได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น มีสัดส่วนการส่งออกรวมคิดเป็นร้อยละ 61.5 ของการส่งออกของไทยไปยังทั่วโลก โดยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกของประเทศไทยเพิ่มขึ้นในทุกตลาดหลัก โดยในตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83 ตลาดญี่ปุ่นร้อยละ 8.83 ตลาดสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.46 และตลาดสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.05
- โครงสร้างการนำเข้า
การนำเข้าในปี 2549 ประกอบด้วย สินค้าวัตถุดิบมีมูลค่าสูงสุด 52,227.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 41.18) รองลงมาเป็นนำเข้าสินค้าทุน 35,095.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 27.67) น้ำมันเชื้อเพลิง 25,284.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 19.94) สินค้าอุปโภคบริโภค 8,983 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 7.08) สินค้าหมวดยานพาหนะ 3,895.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 3.07) และสินค้าอื่นๆ 1,345.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (คิดเป็นร้อยละ 1.06)
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว พบว่าสินค้าทุกหมวดมีมูลค่าการนำเข้าขยายตัว โดยน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.86 สินค้าทุนนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 สินค้าวัตถุดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.33 สินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.84 และสินค้าหมวดยานพาหนะลดลงร้อยละ 4.38 สินค้าหมวดอื่นๆลดลงร้อยละ 7.72
- แหล่งนำเข้า
การนำเข้าจากแหล่งนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ญี่ปุ่น, อาเซียน, สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2549 มีสัดส่วนนำเข้ารวมร้อยละ 53.59 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกัน ของปี 2548 พบว่าการนำเข้าจากกลุ่มประเทศอาเซียน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.08 สหภาพยุโรป ร้อยละ 1.43 ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 , สหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07
- แนวโน้มการส่งออก
ทางกระทรวงพาณิชย์ได้หารือกับภาคเอกชน สมาคม และผู้ประกอบการส่งออกสินค้าสำคัญ ในเบื้องต้นคาดการณ์ว่าการส่งออกในปี 2550 จะขยายตัวร้อยละ 12.5 ตามการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดียังมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญได้แก่ ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินการเจาะและขยายตลาดเชิงรุก ความต้องการสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดใหม่ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้กำหนดแผนส่งเสริมการส่งออกเพื่อเร่งรัดผลักดันการส่งออกที่สำคัญ เช่น การส่งเสริมส่งออกเป็นกรณีพิเศษในตลาดใหม่ ๆ โดยเฉพาะ อาเซียน จีน อินเดีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา การส่งเสริมธุรกิจบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น การวางรากฐานการส่งออกในระยะกลาง/ยาว (เพิ่มผู้ส่งออกรายใหม่มากขึ้น พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการและส่งเสริมธุรกิจไทยสู่สากล ส่งเสริมพัฒนา Trade Mart และส่งเสริม/พัฒนาผลิตภัณฑ์) สนับสนุนการลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น
การลงทุนจากต่างประเทศ
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน มีมูลค่ารวม 29,514 ล้านบาท โดยในเดือนตุลาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 7,337 ล้านบาท และเดือนพฤศจิกายน 22,177 ล้านบาท
ในช่วง 2 เดือนแรกของไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 สาขาอุตสาหกรรมเป็นสาขาที่มีการลงทุนมากที่สุด คือ 23,056 ล้านบาท โดยในสาขาอุตสาหกรรมมีการลงทุนสุทธิในหมวดเครื่องจักร มากที่สุด เป็นเงินลงทุนสุทธิ 8,437 ล้านบาท รองลงมาคือหมวดเครื่องใช้และอุปกรณ์ไฟฟ้า 5,955 ล้านบาท และหมวดอื่นๆ 3,553 ล้านบาท
ประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในประเทศไทยมากที่สุดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2549 คือ ประเทศสหราชอาณาจักรมีเงินลงทุนสุทธิ 33,911 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศญี่ปุ่น มีเงินลงทุนสุทธิ 18,763 ล้านบาท
สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 324 โครงการ ลดลงร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีเงินลงทุน 103,800 ล้านบาท ลดลงร้อยละ —27.6 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100 % จำนวน 104 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 32,900 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 99 โครงการ เป็นเงินลงทุน 36,200 ล้านบาท
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ