สรุปภาวะการค้าไทย-จีนปี 2550 (ม.ค.-มิ.ย.)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 6, 2007 11:09 —กรมส่งเสริมการส่งออก

1. เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลง ในปี 2550 จากการอ่อนตัวลงของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก รวมถึง
การแข็งค่าของเงินหยวน ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของจีนขยายตัวลดลง ประกอบกับทางการจีนมีการควบคุมการปล่อย
สินเชื่อเพื่อการลงทุนในหลายธุรกิจ เพื่อลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้การลงทุนมีแนวโน้มชะลอตัวลง อย่างไร
ก็ตามการบริโภคของจีนยังมีแนวโน้มขยายตัวอยู่ ทำให้การนำเข้าและการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคยังคงขยายตัว
ได้ดีและมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจีนจะยังคงเติบโตต่อไปเรื่อยๆ โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า
ปี 2550 เศรษฐกิจจีนจะขยายตัวประมาณ 11.2%
2. ภาวะการค้าของจีนกับตลาดโลก ในช่วงม.ค-มิ.ย มีมูลค่า 981,107.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.26
โดยแยกเป็นการส่งออก 546,922.76 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.63 การนำเข้ามีมูลค่า 434,184.52
ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.16
แหล่งผลิตสำคัญที่จีนนำเข้า ได้แก่
1. ญี่ปุ่น ร้อยละ 14.30 มูลค่า 62,086.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.07
2. เกาหลีใต้ ร้อยละ 10.89 มูลค่า 47,279.50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.33
3. ไต้หวัน ร้อยละ 10.20 มูลค่า 44,268.26 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.93
10.ไทย ร้อยละ 2.34 มูลค่า 10,172.89 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.23
จีนได้เปรียบดุลการค้ากับตลาดโลกเป็นมูลค่า 177,529.715 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2549 และในช่วง
ม.ค-มิ.ย 2550 ได้เปรียบดุลการค้าเป็นมูลค่า 112,738.24 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 84.61 ได้เปรียบ
ดุลการค้ากับสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 73,939.72 ล้านเหรียญสหรัฐ
3. ภาวะการค้าระหว่างไทย-จีน ในช่วงม.ค-มิ.ย 2550 มีมูลค่า 14,201.65 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ
24.30 ในจำนวนนี้แยกเป็นการส่งออกไปจีน 6,571.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.66 นำเข้าจาก
จีนเป็นมูลค่า 7,130.46 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลการค้าไทยเป็นฝ่ายเสียเปรียบดุลการค้ากับจีน เป็นมูลค่า 1,059.25
ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 6.28
4. จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าไทยสำคัญอันดัยที่ 3 โดยในช่วงม.ค-พ.ค 2550 มีสัดส่วนการส่งออกไปตลาดนี้ร้อยละ
9.18 หรือมูลค่า 6,571.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.66 คิดเป็นร้อยละ 44.89 ของเป้าหมายการ
ส่งออกไปตลาดจีนที่มูลค่า 14,636 ล้านเหรียญสหรัฐ
โครงสร้างสินค้าไทยส่งออกไปจีน มีสถิติดังนี้
มูลค่า:ล้านเหรียญสหรัฐ %เปลี่ยนแปลง สัดส่วนร้อยละ
สินค้า 2549 2549 2550 2549 2550 2549 2550
ม.ค-มิ.ย ม.ค-มิ.ย ม.ค-มิ.ย ม.ค-มิ.ย
สินค้าออกรวมทั้งสิ้น 11,708.88 5,147.56 6,571.22 27.72 27.66 100.00 100.00
สินค้าเกษตรกรรม 2,335.99 946.21 1,095.98 49.62 15.83 19.95 16.68
สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร 196.37 57.18 131.02 89.13 129.13 1.68 1.99
สินค้าอุตสาหกรรม 8,139.31 3,581.25 4,684.54 22.61 30.81 69.51 71.29
สินค้าแร่เชื้อเพลิง 1,003.95 548.21 644.40 21.86 17.55 8.57 9.81
อื่นๆ 33.26 14.70 15.27 -17.55 3.90 0.28 0.23
4.1 การส่งออกสินค้าเกษตรกรรมไปจีน (ม.ค-มิ.ย 2550) มีมูลค่า 1,095.98 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ
15.83 สินค้าเกษตรส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง
และแห้ง ปลาสดแช่เย็น แช่แข็ง ทั้ง 5 อันดับนี้เพิ่มขึ้น 3 รายการส่วนอีก 2 รายการคือข้าว และผลไม้สด ลดลง
ร้อยละ 21.20 และ 1.14 ส่วนสินค้าอื่นที่สำคัญรองลงไป คือ กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง ปลาหมึกสดแช่เย็น แช่แข็ง
เป็นต้น
4.2 การส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมไปจีน ม.ค-มิ.ย 2550 มีมูลค่า 131.02 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ
129.13 สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม 5 อันดับแรกส่งออกไปจีน ได้แก่ น้ำตาลทราย ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์
ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ผักกระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูปทั้ง 5 รายการนี้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุก
รายการ ส่วนสินค้าอื่นที่สำคัญรองลงไป ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ข้าว อาหารสัตว์เลี้ยง สิ่งปรุงรสอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น
4.3 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเป้าหมายไปจีน ม.ค-มิ.ย 2550 มีมูลค่า 4,684.54 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น
ร้อยละ 30.81 สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกไปจีน 5 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ
เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาง ทั้ง 5 รายการนี้มีสถิติที่เพิ่มขึ้นทุกรายการ ส่วนสินค้าอื่นที่
สำคัญรองลงไป ได้แก่ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ทองแดงและของที่ทำด้วยทองแดง เครื่องใช้ไฟฟ้า วงจรพิมพ์ เครื่องจักรกล
และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น
5. การแข่งขัน แม้การส่งออกสินค้าไทยไปจีนจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ แต่การแข่งขันมิได้หยุดนิ่งเนื่องจากผู้ประกอบ
การผลิตและธุรกิจการค้าทั่วไปต่างต้องเพิ่มขีดความสามารถของตนเองให้สูงขึ้นเป็นการสร้างโอกาสตลาดให้กว้างขวาง
ยิ่งขึ้นในตลาดนำเข้าของจีน
จากเปรียบเทียบไทยกับประเทศในกลุ่มอาเซียน พบว่า ไทยมีสัดส่วนการครองตลาดอันดับสามรองจาก
มาเลเซียและฟิลิปปินส์ ตามด้วยสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งสามารถเปรียบเทียบให้เห็นได้ดังนี้
เปรียบเทียบสถิตินำเข้าจากไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
ที่ ประเทศ มูลค่า:ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ %
2548 2549 2550 2549 2550 เปลี่ยนแปลง
7 มาเลเซีย 9,100.45 10,466.49 12,824.26 2.85 2.95 22.53
9 ฟิลิปปินส์ 5,535.60 7,785.07 10,514.63 2.12 2.42 35.06
10 ไทย 6,345.05 7,995.85 10,172.89 2.18 2.34 27.23
12 สิงคโปร์ 7,733.84 8,554.79 8,361.54 2.33 1.93 -2.26
16 อินโดนีเซีย 3,926.77 4,352.79 6,007.79 1.19 1.38 38.02
แหล่งข้อมูล : China Customs
จากข้อมูลสถิติเปรียบเทียบข้างต้นพบว่า จีนขยายการนำเข้าจากฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นในอัตรา
ที่สูงกว่าไทย และเป็นคู่แข่งในสินค้าไทยหลายรายการ เช่น เครื่องจักรต่างๆ แผงวงจรไฟฟ้าเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
ข้อคิดเห็น
1. ปัจจุบันจีนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก โดยจีดีพีของจีนในไตรมาสที่ 2 อยู่
ที่อัตรา 11% และคาดว่าจะคงที่อัตรานี้ต่อไปตลอดช่วงเวลาที่เหลือของปี 2550 ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายแขนงคาด
ว่าในปี ค.ศ. 2020-2025 เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มที่จะแซงหน้าสหรัฐฯ ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากหลังจากที่จีนเข้า
เป็นสมาชิกองค์การค้าโลกแล้ว จีนก็ค่อยๆ ไต่อันดับแซงหน้ามหาอำนาจรุ่นพี่ตั้งแต่อิตาลี ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
และกำลังจะล้ำหน้าเยอรมนี ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก นอกจากนี้จากรายงานของกองทุนการเงิน
ระหว่างประเทศ (IMF) ให้ความเห็นว่าจีนมีโอกาสแซงหน้าญี่ปุ่น หากสามารถรักษาอัตราการขยายตัวในระดับนี้ไปได้
ตลอด ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในลักษณะนี้ ถือว่าเป็นแบบก้าวกระโดดกำลังสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศที่มีประชากร
สูงมาก เช่น จีนและอินเดีย จะกลายมาเป็นพลังสำคัญในระบบเศรษฐกิจ มหาอำนาจชั้นนำอย่างสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และ
สหรัฐฯ กำลังมีความสำคัญลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจโลกจะเริ่มพึ่งพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ น้อยลง และเริ่มหัน
มาให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
จีนนอกจากจะก่อให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจจีนแล้วยังส่งผลกระทบหลายประการ อาทิ ความต้องการสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น
มีผลกระทบต่อการกระจายรายได้และระดับการศึกษาของประชาชน รวมถึงผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อน เป็นต้น รัฐบาลจีน
ก็มิได้นิ่งนอนใจ ได้พยายามหาวิถีทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ แต่ก็ยังคงไม่สามารถแก้ไขทุกปัญหาได้ โดยเฉพาะปัญหาด้าน
ความแตกต่างระหว่างรายได้ของ ประชาชน รวมทั้งระบบและโครงสร้าง ความไม่สมดุลในการค้าระหว่างประเทศ
เงินเฟ้อของราคาอาหาร รวมถึงเรื่องแรงกดดันเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งแม้จีนจะพยายามชะลอการขยายตัวทาง
เศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ผลที่ออกมาก็ยังไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ดีเท่าที่ควร
2. ธนาคารกลางแห่งประเทศจีน (พีบีโอซี)ได้ประกาศปรับเงินสำรองธนาคารพาณิชย์เพิ่มอีก 0.5% เป็น
12% ในวันที่ 15 สิงหาคม 2550 เพื่อตรึงเงินไว้ในระบบเพิ่มขึ้น โดยการปรับครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 6 ในรอบปี โดยแบงก์
ชาติจีนได้ให้เหตุผลว่า เพื่อเพิ่มการควบคุมสภาพคล่อง และควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็
ตามนักเศรษฐศาสตร์และประธานเจพี มอร์แกน ประจำประเทศจีนให้ความเห็นว่า แม้นในปี 2550 ธนาคารกลางจีน
ได้ออกนโยบายควบคุมเศรษฐกิจจีนอย่างต่อเนื่องอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทว่าจนถึงปัจจุบันสภาพคล่องของจีนก็ยัง
คงขยายตัวต่อไป
3. จีนเร่งออกแผนมาตรฐานอาหารปลอดภัย เพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสินค้าที่ผลิตขึ้น
จากประเทศจีน ซึ่งอยู่ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญอันดับต้นๆ ของโลก ภายหลังจากที่ประสบปัญหาจากการที่หลาย
ประเทศคู่ค้า อาทิ สหรัฐฯ ละตินอเมริกา และในบางประเทศของเอเซีย ออกประกาศห้ามนำเข้าสินค้าหลายประเภท
จากจีน เช่น อาหารทะเล ยาสีฟัน ของเล่น รวมถึงยางรถยนต์ ที่ผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากพบการปนเปื้อนของ
สารพิษและมีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งนี้การออกประกาศสั่งห้ามนำเข้า สินค้าจากจีนบางประเภทส่งผลให้รัฐบาลจีน
และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกกำหนดให้มีแผนงานด้านความปลอดภัยด้านอาหาร หรือ food safety ครอบคลุมระยะ
เวลา 5 ปี โดยแผนดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่จะยกระดับความปลอดภัยของสินค้าอาหารและยา เพื่อป้องกันความหละหลวม
ของการปรับใช้กฎระเบียบและระบบการตรวจสอบที่ยังไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนี้ยังเป็นการกอบกู้ความสัมพันธ์ทาง
การเมืองทั้งทวิภาคีและพหุภาคีกับประเทศที่สาม
4. การส่งออก-นำเข้าระหว่างไทยกับจีนขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องทุกปี โดยในช่วงปี 2547-2549
การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวในอัตราร้อยละ 25-28 ทุกปี ในขณะที่การนำเข้าของไทยขยายตัวประมาณร้อยละ
21-37 โดยไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับจีนอย่างต่อเนื่องทุกปี อย่างไรก็ตามจีนกลายเป็นประเทศขุมทรัพย์ทางการค้า
แห่งใหม่ ที่ทั่วทุกมุมโลกต่างก็มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าไปเปิดธุรกิจการค้าด้วย รวมถึงนักลงทุนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่
จากประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายว่าการทำการค้ากับจีนโดยเฉพาะเรื่องการลงทุนมิใช่เรื่องง่าย ซึ่งจีนจะมี
กระบวนการและกลไกทางการค้าที่เฉพาะตัวด้วยเหตุนี้ผู้ที่สนใจจะลงทุนจะต้องทำการศึกษาอย่างละเอียด ก่อนที่จะตัดสินใจ
ลงทุน
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ