ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2550 (ณ เดือนสิงหาคม 2550)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 24, 2007 10:23 —กระทรวงการคลัง

          นางพรรณี สถาวโรดม ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้แถลงข่าวรายงานประมาณการเศรษฐกิจ 
ณ เดือนสิงหาคม 2550 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี (โดยมีช่วงคาดการณ์อยู่
ที่ร้อยละ 3.8-4.3 ต่อปี) โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐที่เร่งตัวขึ้นเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ในขณะที่ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวระดับสูงในช่วงที่
ผ่านมาคาดว่าจะขยายตัวชะลอลงในช่วงที่เหลือของปี ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในปี 2550 คาดว่ายังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ในปี 2550 คาดว่า
จะเกินดุลอยู่ที่ร้อยละ 5.1 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5) ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ
ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5 ต่อปี) โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจไทยในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 4.0 ต่อปี เท่ากับที่คาดการณ์ไว้เดิม ณ เดือนพฤษภาคม 2550
โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาครัฐที่แท้จริงที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 9.0-13.0 ต่อปี)
เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 10.8 ต่อปี และการลงทุนภาครัฐที่แท้จริงที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ
0.7-4.7ต่อปี) เพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี เนื่องจากรัฐบาลสามารถเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 93 ของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 จำนวน 1.57 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ การปรับเพิ่มกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2551 (ตุลาคม 2550-กันยายน 2551) อีกร้อยละ 6.0 ต่อปี มาอยู่ที่ 1.66 ล้านล้านบาท รวมทั้งการปรับขึ้นเงินเดือนภาครัฐอีกร้อยละ 4 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2550 คาดว่าจะช่วยให้การใช้จ่ายภาครัฐเร่งตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2550
ในด้านการใช้จ่ายภาคเอกชน สศค. คาดว่า การบริโภคภาคเอกชนในปี 2550 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี
(ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5 ต่อปี) ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี เนื่องจากการบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี
2550 ขยายตัวชะลอลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมค่อนข้างมาก ส่วนการลงทุนภาคเอกชน คาดว่า อาจมีแนวโน้มไม่ขยายตัวในปีนี้ โดยมีช่วง
คาดการณ์ที่ร้อยละ (-0.5)-(0.5) ต่อปี เนื่องจากการลงทุนภาคเอกชนในไตรมาสแรกของปี 2550 หดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐและนโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้น
ในช่วงปลายปี น่าจะช่วยให้การใช้จ่ายภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550
ในด้านอุปสงค์จากภายนอกประเทศ สศค. คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงจาก
ที่คาดการณ์เดิมเล็กน้อย ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่า
จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 6.0-7.0 ต่อปี) ลดลงจากการคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 8.1 ต่อปี ในขณะที่ปริมาณการนำ
เข้าสินค้าและบริการในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.2-3.2 ต่อปี) สอดคล้องกับอุปสงค์
จากภายนอกประเทศและการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ลดลง
2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศในปี 2550 ยังอยู่ในระดับมั่นคงโดยคาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ GDP ในปี 2550 จะยัง
คงเกินดุลประมาณร้อยละ 5.1 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5) โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูงขึ้นมาจากดุลการค้าที่
คาดว่ายังคงเกินดุลต่อเนื่อง ตามมูลค่าการส่งออกสินค้าที่คาดว่าจะขยายตัวสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สศค. คาดว่า
มูลค่าส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 12.5 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 12.0-13.0 ต่อปี) แต่มูลค่า
นำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2550 คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 6.9 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 6.4-7.4 ต่อปี)
สำหรับด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศในปี 2550 นั้น คาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2550 จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ
ที่ร้อยละ 2.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.5-2.5 ต่อปี) เนื่องจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก จะช่วยบรรเทาแรง
กดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเล็กน้อย ในขณะเดียวกันการชะลอตัวของการใช้จ่าย
ในประเทศจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อทางด้านอุปสงค์ด้วยอีกทางหนึ่ง
รายละเอียดสรุปผลการประมาณการเศรษฐกิจปรากฏตามเอกสารแนบ
ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2550 (ณ เดือนสิงหาคม 2550)
2549 2550 f (ณ พฤษภาคม) 2550 f (ณ สิงหาคม)
เฉลี่ย ช่วง เฉลี่ย ช่วง
สมมติฐานหลัก
สมมติฐานภายนอก
1) อัตราการขยายตัวของ 11 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี) 4.5 3.9 3.7-4.2 3.9 3.7-4.2
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล) 61.5 62 60.0-64.0 65.5 64.0-68.0
สมมติฐานด้านนโยบาย
3) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) 38 35 34.5-35.5 34.75 34.25-35.25
4) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี) 5 3.5 3.25-3.75 3.25 3.00-3.25
5) รายจ่ายรัฐบาลปีงบประมาณรวมงบเหลื่อมปี (พันล้านบาท) 1,395 1,576 1,560-1,593 1,576 1,576-1,593
ผลการประมาณการ
1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี) 5 4 3.8 - 4.3 4 3.8 - 4.3
2) อัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาครัฐ
- การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.4 10.8 8.8-12.8 11 9.0-13.0
- การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 4.5 2.2 0.2-4.2 2.7 0.7-4.7
3) อัตราการขยายตัวของการใช้จ่ายภาคเอกชน
- การบริโภคภาคเอกชน ( ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.1 2.3 1.8-2.8 2 1.5-2.5
- การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี) 3.9 0.5 0.3-0.7 0 (-0.5)-(0.5)
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 8.5 8.1 7.6-8.6 6.5 6.0-7.0
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี) 1.6 5.2 4.7-5.7 2.7 2.2-3.2
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 2.2 9.4 8.4-10.4 9.6 8.6-10.6
- สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี) 17.4 13.7 13.2-14.2 12.5 12.0-13.0
- สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ (ร้อยละต่อปี) 7 8.3 7.8-8.8 6.9 6.4-7.4
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) 3.2 11.9 10.9-12.9 12 11.0-13.0
- ร้อยละของ GDP 1.5 4.9 4.5-5.5 5.1 4.5-5.5
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี) 4.7 2.8 2.5-3.0 2 1.5-2.5
f = forecast โดย สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ