รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมกราคม 2550

ข่าวเศรษฐกิจ Friday February 23, 2007 13:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                              สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนธันวาคม 2549
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม = 165.82 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2549 (167.46) รัอยละ 1.0 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (158.51) รัอยละ 4.6
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2549 ได้แก่ การผลิตยานยนต์ การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง การผลิตเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
- อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ย = 64.55 ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2549 (66.71) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน (66.42)
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2550
- อุตสาหกรรมอาหาร คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงในการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโควตาภาษีสินค้าไก่ของ EU และรอผลการพิจารณาระงับการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลีย ส่วนการจำหน่ายในประเทศจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากเพิ่งเลยช่วงจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสำคัญๆ และการระบาดของไข้หวัดนก
- อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในปี 2550 นั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบอยู่ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกได้รับผลกระทบก็ตาม แต่ปริมาณความต้องการของตลาดยังมีสูงอันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งภูมิภาคเอเชียในอนาคต สำหรับการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการนำเข้าทั้งจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม และเสื้อผ้าราคาปานกลางถึงสูงจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้มีรายได้สูงซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
- อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กในเดือน ม.ค. 2550 คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน เนื่องจากผู้ประกอบการได้เริ่มหันมาพัฒนาโครงการอาคารชุดซึ่งตั้งอยู่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ผลิตได้ขยายฐานการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลทำให้การผลิตเพิ่มมากขึ้น
- อุตสาหกรรมยานยนต์ ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2550 คาดว่าชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 โดยประมาณการจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการ แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45 และส่งออกร้อยละ 55
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ในเดือนมกราคมและเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออกคาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มดีขึ้นภายหลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 คาดว่าน่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2549 โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในกลุ่มเครื่องรับโทรทัศน์และเครื่องเสียง และสินค้าในกลุ่มเครื่องปรับอากาศและตู้เย็นปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยจะมีคำสั่งซื้อกลับเข้ามาในช่วงหน้าร้อน ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาส 1 ปี 2550 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันจากชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ประเภท HDD และ IC ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเป็นสำคัญ
สรุปประเด็นสำคัญ
ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 4 ปี 2549
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 167.9 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (168.8) ร้อยละ 0.5 แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (161.0) ร้อยละ 4.2
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการผลิตอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น (ดอกไม้ประดิษฐ์, เครื่องประดับเทียม) เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตน้ำตาล และอุตสาหกรรมการผลิตน้ำมันจากพืช น้ำมันจากสัตว์ และไขมันจากสัตว์ เป็นต้น
ในปี 2549 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากปี 2548 ร้อยละ 6.6 โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องจักรสำนักงาน เครื่องทำบัญชีและเครื่องคำนวณ (Hard Disk Drive) อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ และอุตสาหกรรมการผลิตหลอดอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 66.5 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (68.0) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 (67.8)
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อุตสาหกรรมการแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากาการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ และอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุและสินค้าที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
ในปี 2549 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 67.76 ลดลงเล็กน้อยจากปี 2548 (67.99) โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรมการจัดเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมถึงการทอสิ่งทอ เป็นต้น
สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม
พ.ย. 49 = 167.46
ธ.ค. 49 = 165.82
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนี ลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
- การผลิตอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น
- อัตราการใช้กำลังการผลิต
พ.ย. 49 = 66.71
ธ.ค. 49 = 64.55
โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่
- การผลิตยานยนต์
- การแปรรูปและการถนอมสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ
- การผลิตเครื่องรับโทรทัศน์และวิทยุ และสินค้าที่เกี่ยวข้อง
1.อุตสาหกรรมอาหาร
ภาวะการผลิตและการส่งออกเดือนหน้าคาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อย จากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวตามฤดูกาล แต่อาจได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น สำหรับการจำหน่ายในประเทศคาดว่าจะชะลอตัวเนื่องจากเพิ่งเลยช่วงจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสำคัญๆ และการระบาดของโรคไข้หวัดนก
1. การผลิต
ภาวะการผลิตโดยรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 1.5 และมีการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ร้อยละ 56.8 เป็นร้อยละ 59 โดยสินค้าสำคัญที่ผลิตเพื่อการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ แป้งมันสำปะหลังร้อยละ 23.3 สับปะรดกระป๋องร้อยละ 5.1 และไก่สด แช่เย็นแช่แข็งร้อยละ 4.8 สำหรับการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ ได้แก่ อาหารสัตว์ ผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และน้ำมันถั่วเหลือง ร้อยละ 9.9
2. การตลาด
1) ตลาดในประเทศ มูลค่าการจำหน่ายสินค้าอาหารเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.1 เนื่องจากมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล แต่ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อน
2) ตลาดต่างประเทศ ภาวะการส่งออกโดยรวม มีปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.9 และ 1.6 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็งมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 171.7 จากการนำเข้าของ EU เพื่อรองรับการประกาศปรับโครงสร้างโควตาภาษีไก่ ผลิตภัณฑ์ มันสำปะหลังร้อยละ 27.2 และน้ำตาลทรายร้อยละ 59.3 เป็นผลจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล
3. แนวโน้ม
คาดว่าการผลิตและการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยจากปริมาณคำสั่งซื้อสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงในการแข็งค่าของเงินบาท นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาโควตาภาษีสินค้าไก่ของ EU และรอผลการพิจารณาระงับการนำเข้ากุ้งของออสเตรเลีย ส่วน
การจำหน่ายในประเทศจะชะลอตัวลงบ้าง เนื่องจากเพิ่งเลยช่วงจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลสำคัญๆ และการระบาดของไข้หวัดนก
2.อุตสาหกรรมน้ำตาล (พฤศจิกายน)
1. น้ำตาลทราย
1.1 การผลิต
ตั้งแต่มีการปิดหีบอ้อยของฤดูการผลิตปี 2548/2549 เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 โรงงานน้ำตาลทั้ง 46 โรงงานในประเทศได้หยุดการผลิตน้ำตาลทรายดิบ แต่มีบางโรงงานได้นำน้ำตาลทรายดิบไปละลายเพื่อแปรสภาพเป็นน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายขาวบริสุทธิ์ โดยมีการผลิตน้ำตาลทรายรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-กันยายน 2549 (9 เดือน) จำนวนทั้งสิ้น 4,338,073.00 ตัน ในจำนวนนี้เป็นน้ำตาลทรายดิบ จำนวน 1,613,101.69 ตัน หรือ 37% ของผลผลิตน้ำตาลทั้งหมด ส่วนในเดือนพฤศจิกายนไม่มีการผลิตน้ำตาลทราย
1.2 การบริโภค
ในเดือนพฤศจิกายน 2549 มีการบริโภคน้ำตาลทรายในประเทศ จำนวน 189,365.45 ตัน เพิ่มขึ้น 1 % จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งมีการบริโภค จำนวน 186,830.08 ตัน สำหรับการบริโภคโดยรวม ตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 (11 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,096,262.62 ตัน เพิ่มขึ้น 2% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548
1.3 การส่งออก
ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ประเทศไทยมีการส่งออกน้ำตาลจำนวน 248,397.01 ตันเพิ่มขึ้น 17% จากเดือนตุลาคม 2549 ซึ่งส่งออกได้จำนวน 205,871.91 ตัน
การส่งออกน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 (11 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 2,014,991.67 ตัน เป็นการส่งออกน้ำตาลทรายดิบ 1,119,456.77 ตัน หรือ 56% ของปริมาณการส่งออกทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็นน้ำตาลทรายขาวและขาวบริสุทธิ์ โดยปริมาณการส่งออกน้ำตาลในช่วงดังกล่าวลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2548
1.4 การนำเข้า
ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 (11 เดือน) มีการนำเข้าน้ำตาลทราย จำนวนทั้งสิ้น 10,415.77 ตัน เป็นการนำเข้าในเดือนพฤศจิกายน 2549 จำนวน 0.14 ตัน ลดลง 77% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ปริมาณการนำเข้าน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 ยังคงไม่เกินโควตา นำเข้าภายใต้กรอบ WTO ซึ่งประเทศไทยผูกพันไว้ที่ จำนวน 13,760 ตัน ที่อัตราภาษีนำเข้า 65% ส่วนอัตราภาษีนอกโควตาอยู่ที่ 94%
2. กากน้ำตาล
ในเดือนพฤศจิกายน 2549 ไม่มีการผลิตกากน้ำตาล ส่วนผลผลิตกากน้ำตาลตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 (11 เดือน) มีจำนวนทั้งสิ้น 1,990,064.65 ตัน
การส่งออกกากน้ำตาลในเดือนพฤศจิกายน 2549 มีจำนวนทั้งสิ้น 9,489.33 ตัน หรือประมาณ 0.5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ส่วนการส่งออกตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2549 มีจำนวน 451,552.73 ตัน ลดลง 41% จากในช่วงเดียวกันของปี 2548 ซึ่งส่งออกได้ถึง 1,092,670.44 ตัน
3. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
“..การแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยผลักดันให้
ผู้มีรายได้สูงซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป”
1. การผลิต
ภาวะการผลิตเมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2549 การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และลดลงร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าค่อนข้างมากของเส้นใยสิ่งทอฯ ขณะที่การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 และ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 และ 5.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูปซึ่งคาดว่าตลาดยังมีปริมาณความต้องการที่สูง
2. การส่งออกและตลาดส่งออก
มูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเดือนธันวาคม 2549 ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 2.3 และร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียว กันของปีก่อน แต่เมื่อเทียบมูลค่าการส่งออกปี 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 โดยผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (+1.7%) , เครื่องยกทรงฯ (+11.1%) , ผ้าผืน (+1.9%) , เส้นใยประดิษฐ์ (+1.8%) , ผ้าปักและผ้าลูกไม้ (+18.5%) และผ้าแบบสำหรับตัดเสื้อฯ (+50.5%) สำหรับตลาดส่งออกหลักคือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียนและญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 29.1, 20.5, 12.5 และ 4.8 ตามลำดับ
3. การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอโดยรวมในเดือนธันวาคม 2549 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบมูลค่าการนำเข้าทั้งปี 2549 ด้ายทอผ้าฯ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน ผ้าผืนนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 ตลาดนำเข้าหลักคือจีน ไต้หวัน และ ญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง เสื้อผ้าสำเร็จรูป นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.8 ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และอิตาลี แต่ เครื่องจักรสิ่งทอ นำเข้าลดลงร้อยละ 5.7 ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น เยอรมนีและไต้หวัน
4. แนวโน้ม
การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ในปี 2550 นั้น แม้ว่าจะมีปัจจัยลบอยู่ ซึ่งส่งผลให้ภาพรวมของการส่งออกได้รับผล กระทบก็ตาม แต่ปริมาณความต้องการของตลาดยังมีสูงอันเนื่องมา จากการที่รัฐบาลส่งเสริมให้เป็นศูนย์กลางการผลิตแห่งภูมิภาคเอเชียในอนาคต สำหรับการนำเข้าเสื้อผ้าสำเร็จรูปเป็นที่น่าสังเกตว่ามีการนำเข้าทั้งจากประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่น จีน อินเดีย และเวียดนาม และเสื้อผ้าราคาปานกลางถึงสูงจากยุโรปและสหรัฐอเมริกา เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาทเป็นปัจจัยผลักดันให้ผู้มีรายได้สูงซื้อสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นจากภาระค่าใช้จ่ายที่ลดลง ส่งผลให้มีการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น
4. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
จากรายงานของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้านานาชาติ (IISI) พบว่าผลผลิตเหล็กดิบโลกในปี 2549 มีจำนวน 1,239 ล้านตัน ขยายตัวขึ้นร้อยละ 9 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าการเติบโตของผลผลิตส่วนใหญ่เป็นผลมาจากประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งในปี 2549 มีปริมาณการผลิต 665 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 54 ของปริมาณการผลิตโลก สำหรับ ประเทศจีนมีปริมาณการผลิตเหล็กดิบถึง 412.2 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ขณะที่ผลผลิตเหล็กดิบของประเทศบราซิลกลับลดลงเนื่องจากการหยุดพักเตา Blast Furnace
1.การผลิต
ภาวะการผลิตเหล็กในช่วงเดือน ธ.ค. 49 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงร้อยละ 10.11 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 125.13 เมื่อพิจารณารายผลิตภัณฑ์ พบว่าผลิตภัณฑ์เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 16.94 โดยเหล็กเส้นกลม ลดลง ร้อยละ 33.14 และ เหล็กลวด ลดลง ร้อยละ 32.42 เนื่องจากผู้ผลิตยังคงมีปริมาณสินค้าคงคลังอยู่จึงลดการผลิตลง ประกอบกับเป็นช่วงปลายปีซึ่งมีวันหยุดมากและโดยปกติผู้สั่งซื้อจะไม่ค่อยสต๊อกสินค้าไว้ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้สูงมาก ซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าภาวะอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในเดือนพฤศจิกายน 2549 ชะลอตัวลงโดยพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลทั้งประเทศลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่แล้วร้อยละ 15.94 เนื่องจากผู้บริโภคยังชะลอการตัดสินใจที่จะซื้อที่อยู่อาศัย สำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบนลดลง ร้อยละ 7.92 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 39.95 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 15.35 ขณะที่ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนการผลิตอยู่ในระดับทรงตัวโดยเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนเพียงร้อยละ 0.87 ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ภาวะการผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 2.21 โดยเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน มีการผลิตลดลง ร้อยละ 21.11 เหล็กเส้นกลม ร้อยละ 14.95 และลวดเหล็ก ร้อยละ 10.82
2.ราคาเหล็ก
การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมกราคม 2550 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ราคาโดยเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์เหล็กทุกตัวปรับตัวสูงขึ้นโดยเหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 406 เป็น 424 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.31 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 448 เป็น 456 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.82 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 505 เป็น 513 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.49 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 580 เป็น 585 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.86 และเหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 430 เป็น 433 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.58 เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของประเทศต่างๆ ของโลก ประกอบกับราคาวัตถุดิบเช่นสินแร่เหล็ก เพิ่มสูงขึ้น จึงมีผลทำให้ประเทศผู้ผลิตเหล็ก เช่น ประเทศจีน ประเทศในกลุ่ม CIS และในกลุ่มยุโรป ต่างขึ้นราคา
3. แนวโน้ม
สถานการณ์เหล็กในเดือน ม.ค. 2550 คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในส่วนของการผลิตเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็นผลมาจากการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของภาคเอกชน เนื่องจากผู้ประกอบการได้เริ่มหันมาพัฒนาโครงการอาคารชุดซึ่งตั้งอยู่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ผลิตได้ขยายฐานการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ เช่น ประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลทำให้การผลิตเพิ่มมากขึ้น
5. อุตสาหกรรมยานยนต์
รถยนต์
อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2549 การผลิตชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกขยายตัวได้ดี โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม ดังนี้
- การผลิตรถยนต์ จำนวน 91,751 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการผลิต 99,019 คัน ร้อยละ 7.34 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 9.26 โดยเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 56 และส่งออกร้อยละ 44
- การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 84,521 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 77,856 คัน ร้อยละ 8.56 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 46.23 เนื่องจากในช่วงนี้เป็นฤดูการขาย แล้วมีการจัดงาน Motor Expo 2006 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-11 ธ.ค. 49 ซึ่งภายในงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายรถยนต์จากหลากหลายยี่ห้อโดยมียอดจองรถยนต์ 17,106 คัน
- การส่งออกรถยนต์ จำนวน 54,896 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการส่งออก 38,303 คัน ร้อยละ 43.32 และเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 24.52 โดยมีการส่งออกรถยนต์กระบะ 1 ตัน (รวม PPV) ร้อยละ 77.47 รถยนต์นั่ง ร้อยละ 20.39 และรถยนต์พาณิชย์อื่นๆ ร้อยละ 2.14 ตลาดส่งออกรถยนต์ทุกประเภทของไทยที่มีการขยายตัวสูงได้แก่ แอฟริกา ยุโรป และประเทศแถบตะวันออกกลาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 80.83, 66.11 และ 33.14 ตามลำดับ
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2550 คาดว่าชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2549 โดยประมาณการจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการ แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 45 และส่งออก ร้อยละ 55
รถจักรยานยนต์
อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2549 การผลิตชะลอตัวเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่การจำหน่ายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม ดังนี้
- การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 152,582 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการผลิต 192,093 คัน ร้อยละ 20.57 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 1.97 โดยลดลงทั้งการผลิตรถจักรยนยนต์แบบครอบครัวและแบบสปอร์ต ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกำลังซื้อของกลุ่มลูกค้าที่ลดลง อันเนื่องจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจและภาวะอุทกภัยในช่วงหลายเดือนก่อน ซึ่งได้ส่งผลถึงปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ด้วย
- การจำหน่าย จำนวน 163,197 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการจำหน่าย 179,958 คัน ร้อยละ 9.31 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 2.17
- การส่งออกรถจักรยานยนต์ มีจำนวน 4,734 คัน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2548 ซึ่งมีการส่งออก 11,037 คัน ร้อยละ 57.11 และลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2549 ร้อยละ 23.01 ตลาดส่งออกที่มีการหดตัวได้แก่ ตลาดอาเซียน ยุโรปและญี่ปุ่น ลดลงร้อยละ 45.30, 38.64 และ 37.59 ตามลำดับ
- แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2550 คาดว่าจะทรงตัวจากเดือนธันวาคม 2549 โดยประมาณการจากแผนการผลิตของผู้ประกอบการ
6.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์
“การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออกลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านในแถบอาเซียนลดลง”
1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ
การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์
ในประเทศ เดือนธันวาคม 2549 เทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.01 และ 5.26 ตามลำดับ และ
เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตและ
การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.91 และ
10.17 ตามลำดับ การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างผู้ประกอบการเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ที่จะเพิ่มขึ้น
2.การส่งออก
มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์เดือนธันวาคม 2549 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 18.69 และ 19.84 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนลดลง
3.แนวโน้ม
ในเดือนมกราคม และเดือนกุมภาพันธ์ 2550 คาดว่าการผลิตและการจำหน่ายในประเทศจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง สำหรับการส่งออก
คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักมีแนวโน้มดีขึ้นภายหลังจากที่หดตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
7. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
- ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม 2549 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 264.15 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.84 เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.26 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ได้แก่ HDD และ Other IC เป็นต้น
ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ธ.ค. 2549
หน่วย : ล้านบาท
เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่า CPM CPY
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ 47,044 -10 3
IC 22,210 -3 -6
เครื่องปรับอากาศ 5,511 2 -1
อุปกรณ์ตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า 4,402 1 0
รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 125,279 -8 -2
ที่มา : สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1.การผลิต
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนธันวาคม 2549 ทรงตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 264.15 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.75 เป็นผลจากการชะลอตัวจากสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ที่มีดัชนีอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.45 สินค้าที่ปรับตัวลดลงได้แก่ โทรทัศน์สี < 21 นิ้ว สายไฟฟ้า และตู้เย็น เป็นต้น ขณะที่ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.84 เป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.26 โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ได้แก่ HDD และ Other IC เป็นต้น
2. การส่งออก
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ