บทสรุปที่ควรได้จากการอภิปรายผลงานรัฐบาล
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
24 พฤษภาคม 2550
บทความนี้คงจะปรากฎในเวปไซต์ของพรรคฯ ในวันเวลาเดียวกับที่ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดา สนช. คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ซักถามข้อข้องใจ และเสนอแนะรัฐบาลในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ
เรื่องนี้กล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่ท่าน สนช. ทั้งหลายรอคอยกันมานาน ซึ่งก็เคยมีความพยายามถึงขนาดที่จะเข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่เห็นว่าล้มเหลวมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะฉะนั้นบรรยากาศของการอภิปรายคงจะเต็มไปด้วยความร้อนแรงตามควรแก่กรณี ซึ่งเมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็มีข่าวปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการลับดาบกันอยู่แล้วหลายราย
ผมเองก็ได้เคยเสนอความเห็นเอาไว้ในทำนองเดียวกันนี้ ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา อันเป็นวาระที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศมาได้ 6 เดือนพอดี ซึ่งก็มีการประเมินผลงานผ่านทางสื่อมวลชนกันมากมาย บ้างก็ให้รัฐบาลสอบได้ บ้างก็ให้รัฐบาลสอบตก และผมก็ให้รัฐบาลหวิดตก คือเกือบตก โดยมีเหตุผลว่า รัฐบาลยังไม่ค่อยจะตระหนักว่าเป็นรัฐบาลในภาวะวิกฤต ภารกิจที่รัฐบาลทำจึงไม่ค่อยตอบสนองต่อปัญหาและสถานการณ์ ยังขาดความแน่วแน่ในการร่วมมือกันชำระล้างการทุจริต คอร์รัปชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีความกระตือรือร้นในการสนับสนุน คตส. เท่าที่ควร และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับปัญหาประชาชนที่ค้างเก่า และเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ และที่สำคัญก็คือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนับวันแต่จะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น จนภาคเอกชนเองขาดความมั่นใจ และประเมินผลว่ารัฐบาลสอบตก ซึ่งในช่วงเวลาที่ว่านี้ถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่คะแนนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ ตกต่ำลงอย่างน่าวิตก
ผมจึงได้แสดงความเห็นเอาไว้ในเวลานั้นว่า รัฐบาลควรจะได้ใช้โอกาสขอรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุม สนช. ในปัญหาสำคัญ ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งก็มีแต่จะเป็นประโยชน์แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้เวลาในช่วงนั้นให้เป็นประโยชน์และรั้งรอไว้จนมาถึงช่วงเวลานี้ ในขณะที่ปัญหาเดิม ๆ ที่เป็นเหตุให้มีการประเมินผลว่ารัฐบาลสอบตกหรือหวิดตกยังคงอยู่และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเท่าที่ควร และสถานการณ์โดยทั่วไปกลับดูจะตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า ทั้งรัฐบาลและ สนช. ก็ควรที่จะได้มีความตั้งใจและมีความอดทนที่จะใช้โอกาสของการแถลงผลงานของรัฐบาล และการอภิปรายปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการแก้ไขปัญหาชาติ ซึ่งดูจะวิกฤตมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นจะพูดจาว่ากล่าวกันในสภาด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเพียงใดหรือไม่ก็สุดแท้แต่ แต่เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลงแม้จะไม่มีการลงมติในปัญหาที่อภิปรายก็ตามสิ่งที่ควรได้เกิดมีขึ้นตามมา ก็คือ บทสรุปในเรื่องที่รัฐบาล ควรจะได้ถือเป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในตอนปลายปีนี้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ซึ่งอย่างน้อย ควรจะประกอบด้วยภารกิจที่สำคัญ ๆ ดังนี้
1. รัฐบาลต้องเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการร่วมในลักษณะสามประสานระหว่าง รัฐบาล คมช. และ สนช. ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลักเพื่อการกอบกู้วิกฤต และป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรวมทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ตามที่ปรากฎอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการปฏิบัติงานของ คตส. และหน่วยงานตรวจสอบอื่นอย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งดำเนินการให้มีกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตของ คตส.
3. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่าง ๆ เป็นการด่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน นักลงทุนและต่อประชาชนโดยทั่วไปเพื่อมิให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พร้อม ๆ กับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวเท่าที่สามารถจะทำได้ในช่วงเวลาอันจำกัด
4. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และการปฏิรูปการเมืองที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างค่านิยมพื้นฐานที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะได้ทำเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ จึงควรจะได้มีรัฐมนตรีพร้อมทีมงานรับผิดชอบอย่างเป็นสัดส่วน
5. รัฐบาลต้องจัดดำเนินการให้มีการใช้สื่อของรัฐ ในการเสริมสร้างบรรยากาศของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นข้อขัดแย้งต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อสร้างความเข้าใจและความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อลดความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
6. เพื่อให้การยืนยันของนายกรัฐมนตรีที่จะให้มีการเลือกตั้งในตอนปลายปี 2550 มีน้ำหนัก มิใช่เป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อลดความร้อนแรงทางการเมือง รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญที่จะประกาศให้การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นวาระแห่งชาติ พร้อม ๆ กับการให้การสนับสนุนส่งเสริม กกต. และองค์กรเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิองค์กรกลางได้มีความพร้อมเพื่อการนี้อย่างเต็มที่ และจัดให้มีการเสริมสร้างบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งไปพร้อม ๆ กัน
เหล่านี้ควรจะเป็นภารกิจหลัก ๆ ที่รัฐบาลนี้ พึงจะได้ปฏิบัติอย่างเร่งรัดและจริงจัง ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามที่ว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ได้ประกาศไว้ ซึ่งหากรัฐบาลมีความเข้มแข็ง อดทนทำได้จริงตามนี้ การส่งผ่านประชาธิปไตยก็จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นตามสมควร และประเทศก็จะผ่าวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ายังเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ อยู่เหมือนเดิม อนาคตก็คงน่าเป็นห่วงอย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน.
*******************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 24 พ.ค. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
24 พฤษภาคม 2550
บทความนี้คงจะปรากฎในเวปไซต์ของพรรคฯ ในวันเวลาเดียวกับที่ นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีแถลงผลงานรัฐบาลในรอบ 6 เดือน ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อเปิดโอกาสให้บรรดา สนช. คือ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ซักถามข้อข้องใจ และเสนอแนะรัฐบาลในปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารประเทศ
เรื่องนี้กล่าวได้ว่า เป็นเรื่องที่ท่าน สนช. ทั้งหลายรอคอยกันมานาน ซึ่งก็เคยมีความพยายามถึงขนาดที่จะเข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายแสดงความคิดเห็นในปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ที่เห็นว่าล้มเหลวมาก่อนหน้านี้แล้ว เพราะฉะนั้นบรรยากาศของการอภิปรายคงจะเต็มไปด้วยความร้อนแรงตามควรแก่กรณี ซึ่งเมื่อวันสองวันที่ผ่านมาก็มีข่าวปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า มีการลับดาบกันอยู่แล้วหลายราย
ผมเองก็ได้เคยเสนอความเห็นเอาไว้ในทำนองเดียวกันนี้ ตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคม ที่ผ่านมา อันเป็นวาระที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศมาได้ 6 เดือนพอดี ซึ่งก็มีการประเมินผลงานผ่านทางสื่อมวลชนกันมากมาย บ้างก็ให้รัฐบาลสอบได้ บ้างก็ให้รัฐบาลสอบตก และผมก็ให้รัฐบาลหวิดตก คือเกือบตก โดยมีเหตุผลว่า รัฐบาลยังไม่ค่อยจะตระหนักว่าเป็นรัฐบาลในภาวะวิกฤต ภารกิจที่รัฐบาลทำจึงไม่ค่อยตอบสนองต่อปัญหาและสถานการณ์ ยังขาดความแน่วแน่ในการร่วมมือกันชำระล้างการทุจริต คอร์รัปชั่นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีความกระตือรือร้นในการสนับสนุน คตส. เท่าที่ควร และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดีขึ้นได้ เช่นเดียวกับปัญหาประชาชนที่ค้างเก่า และเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ และที่สำคัญก็คือปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งนับวันแต่จะเป็นปัญหามากยิ่งขึ้น จนภาคเอกชนเองขาดความมั่นใจ และประเมินผลว่ารัฐบาลสอบตก ซึ่งในช่วงเวลาที่ว่านี้ถือได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่คะแนนความเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อนายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ ตกต่ำลงอย่างน่าวิตก
ผมจึงได้แสดงความเห็นเอาไว้ในเวลานั้นว่า รัฐบาลควรจะได้ใช้โอกาสขอรับฟังความคิดเห็นของที่ประชุม สนช. ในปัญหาสำคัญ ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาปรับปรุงแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งก็มีแต่จะเป็นประโยชน์แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า รัฐบาลไม่ได้ใช้เวลาในช่วงนั้นให้เป็นประโยชน์และรั้งรอไว้จนมาถึงช่วงเวลานี้ ในขณะที่ปัญหาเดิม ๆ ที่เป็นเหตุให้มีการประเมินผลว่ารัฐบาลสอบตกหรือหวิดตกยังคงอยู่และไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเท่าที่ควร และสถานการณ์โดยทั่วไปกลับดูจะตึงเครียดมากขึ้นกว่าเดิมเสียอีก
อย่างไรก็ตาม ผมมีความเห็นว่า ทั้งรัฐบาลและ สนช. ก็ควรที่จะได้มีความตั้งใจและมีความอดทนที่จะใช้โอกาสของการแถลงผลงานของรัฐบาล และการอภิปรายปัญหาสำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดินในครั้งนี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อการแก้ไขปัญหาชาติ ซึ่งดูจะวิกฤตมากยิ่งขึ้นทุกที เพราะฉะนั้นจะพูดจาว่ากล่าวกันในสภาด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเพียงใดหรือไม่ก็สุดแท้แต่ แต่เมื่อการอภิปรายสิ้นสุดลงแม้จะไม่มีการลงมติในปัญหาที่อภิปรายก็ตามสิ่งที่ควรได้เกิดมีขึ้นตามมา ก็คือ บทสรุปในเรื่องที่รัฐบาล ควรจะได้ถือเป็นภารกิจหลักที่จะต้องดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในตอนปลายปีนี้ตามที่รัฐบาลได้ประกาศไว้ซึ่งอย่างน้อย ควรจะประกอบด้วยภารกิจที่สำคัญ ๆ ดังนี้
1. รัฐบาลต้องเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการร่วมในลักษณะสามประสานระหว่าง รัฐบาล คมช. และ สนช. ในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์หลักเพื่อการกอบกู้วิกฤต และป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรวมทั้งที่เป็นยุทธศาสตร์เพื่อการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ ตามที่ปรากฎอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
2. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจัง ด้วยการสนับสนุนส่งเสริมการปฏิบัติงานของ คตส. และหน่วยงานตรวจสอบอื่นอย่างเต็มที่ รวมทั้งเร่งดำเนินการให้มีกฎหมายเพื่อให้ความคุ้มครองการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตของ คตส.
3. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการต่าง ๆ เป็นการด่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจ และสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคเอกชน นักลงทุนและต่อประชาชนโดยทั่วไปเพื่อมิให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ พร้อม ๆ กับการเสริมสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวเท่าที่สามารถจะทำได้ในช่วงเวลาอันจำกัด
4. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการตามนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง และการปฏิรูปการเมืองที่ได้แถลงไว้ต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติอย่างจริงจัง เพื่อเสริมสร้างค่านิยมพื้นฐานที่เข้มแข็ง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และโดยที่เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ควรจะได้ทำเต็มพื้นที่ทั้งประเทศ จึงควรจะได้มีรัฐมนตรีพร้อมทีมงานรับผิดชอบอย่างเป็นสัดส่วน
5. รัฐบาลต้องจัดดำเนินการให้มีการใช้สื่อของรัฐ ในการเสริมสร้างบรรยากาศของการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นข้อขัดแย้งต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อสร้างความเข้าใจและความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อลดความขัดแย้งอย่างสร้างสรรค์
6. เพื่อให้การยืนยันของนายกรัฐมนตรีที่จะให้มีการเลือกตั้งในตอนปลายปี 2550 มีน้ำหนัก มิใช่เป็นเพียงการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อลดความร้อนแรงทางการเมือง รัฐบาลต้องมีความกล้าหาญที่จะประกาศให้การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นวาระแห่งชาติ พร้อม ๆ กับการให้การสนับสนุนส่งเสริม กกต. และองค์กรเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มูลนิธิองค์กรกลางได้มีความพร้อมเพื่อการนี้อย่างเต็มที่ และจัดให้มีการเสริมสร้างบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งไปพร้อม ๆ กัน
เหล่านี้ควรจะเป็นภารกิจหลัก ๆ ที่รัฐบาลนี้ พึงจะได้ปฏิบัติอย่างเร่งรัดและจริงจัง ในช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งตามที่ว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ได้ประกาศไว้ ซึ่งหากรัฐบาลมีความเข้มแข็ง อดทนทำได้จริงตามนี้ การส่งผ่านประชาธิปไตยก็จะดำเนินไปได้ด้วยความราบรื่นตามสมควร และประเทศก็จะผ่าวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน แต่ถ้ายังเรื่อย ๆ มาเรียง ๆ อยู่เหมือนเดิม อนาคตก็คงน่าเป็นห่วงอย่างแน่นอนเช่นเดียวกัน.
*******************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 24 พ.ค. 2550--จบ--