ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือน มีนาคม 2550
กระทรวงพาณิชย์ รายงานความเคลื่อนไหว ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2550 โดยสรุปจากการสำรวจและประมวลราคาสินค้าที่เกษตรกรและผู้ประกอบการจำหน่ายทั่วประเทศ จำนวน 506 รายการ ครอบคลุม 3 หมวด คือ หมวดผลผลิตเกษตรกรรม หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และนำมาคำนวณเพื่อเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงราคาในรูปของดัชนี ดังนี้
1. ดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนมีนาคม 2550
ปี 2543 ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศ เท่ากับ 100 สำหรับเดือนมีนาคม 2550 เท่ากับ 136.5
2. การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2550 เมื่อเทียบกับ
2.1 เดือนกุมภาพันธ์ 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.0
2.2 เดือนมีนาคม 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.7
2.3 ไตรมาสแรกของปี 2550 (มกราคม-มีนาคม 2550 เทียบกับช่วงเดียวกัน ปี 2549) สูงขึ้นร้อยละ 2.6
3. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2550 โดยเฉลี่ยสูงขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ร้อยละ 1.0 ทั้งนี้จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาทุกหมวด โดย หมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.9 สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง และหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีสูงขึ้นในอัตราที่ใกล้เคียงกัน คือ ร้อยละ 0.5 และ 0.6 ตามลำดับ
3.1 หมวดผลผลิตเกษตรกรรม ดัชนีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม ร้อยละ 2.9 (เดือนกุมภาพันธ์ 2550 สูงขึ้นร้อยละ 2.1) จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ สุกร-ไก่มีชีวิต และไข่ไก่ จากมาตรการแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์ โดยรณรงค์ให้มีการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมทั้งเร่งรัดการส่งออก ส่งผลให้ราคาปรับสูงขึ้น พืชผัก เช่น แตงกวา ผักกาดหอม ผักชี โดยเฉพาะ มะนาว เป็นช่วงนอกฤดูกาล ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
3.2 หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาเดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นจากเดือนเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ร้อยละ 0.5 จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ คือ น้ำมันดิบ แร่ตะกั่ว และดีบุก
3.3 หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคาเดือนมีนาคม 2550 สูงขึ้นต่อเนื่องจาก เดือนกุมภาพันธ์ 2550 แต่ในอัตราที่ลดลง คือ ร้อยละ 0.6 (เดือนกุมภาพันธ์ 2550 สูงขึ้นร้อยละ 1.1) ส่วนหนึ่งมีผลจากการสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก คือ น้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอื่น ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร (เนื้อสุกร ไก่สด) ไม้อัด และไม้วีเนียร์
4. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศเดือนมีนาคม 2550 เทียบกับเดือนมีนาคม 2549 สูงขึ้น ร้อยละ 2.7 โดยดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 12.3 จากการสูงขึ้นของราคาผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวเปลือก ผัก และผลไม้ หมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีราคา สูงขึ้นร้อยละ 1.2 จากการสูงขึ้นของราคาข้าวสาร รำข้าวขาว ไม้ยางพารา ไม้วีเนียร์ พลาสติก เหล็กแท่ง เหล็กเส้น ของเล่นเด็ก และเครื่องประดับ สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 3.5 จากการลดลงของราคาปิโตรเลียม และก๊าซธรรมชาติ เป็นสำคัญ
5. ดัชนีราคาผู้ผลิตของประเทศไตรมาสแรกของปี 2550 เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2549 สูงขึ้นร้อยละ 2.6 จากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดผลผลิตเกษตรกรรม ร้อยละ 12.8 จากการสูงขึ้นของราคาพืชผัก และผลไม้เป็นสำคัญ สำหรับหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ดัชนีสูงขึ้นร้อยละ 1.0 จากการสูงขึ้นของดัชนีแทบทุกกลุ่ม ยกเว้น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ดัชนีราคาหมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ลดลงร้อยละ 2.2 จากการลดลงของราคา ก๊าซธรรมชาติ เป็นสำคัญ
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์