ไอเอ็มเอฟเผยเป้าประมาณการณ์เศรษฐกิจโลกเติบโตเร็วกว่าคาด จีน-อินเดียยังแรงช่วยขับเคลื่อนการเติบโต แต่สหรัฐฯยังไม่ฟื้น ด้านเอดีบีชี้เศรษฐกิจเอเชียพุ่งแรง แต่ไม่ควรประมาทการไหลเข้าของเงินทุนที่มีมาต่อเนื่องแนะให้ปรับนโยบายค่าเงินแบบยืดหยุ่นและเปิดเสรีเงินทุนให้ไหลออกได้เสรีป้องกันตลาดช็อก
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีพ.ศ. 2550-2551 ในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกโดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ ร้อยละ5.2จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 4.9 เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นปัจจัยขับดันที่สำคัญ เพียงแค่จีนประเทศเดียวมีสัดส่วนสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจโลกมากถึง 1 ใน 4 ของการเติบโตโดยรวมทั้งหมดในปีนี้ และถือเป็นครั้งแรกที่จีนซึ่งคาดว่าจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้อยู่ที่ร้อยละ 11.2 และ 10.5 ในปีหน้า
ตรงข้ามกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่ใหญ่ที่สุดกลับประสบภาวะชะลอตัวต่อเนื่องโดยถูกปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ลงไปอยู่ที่ร้อยละ 2 และเพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยเป็นร้อยละ 2.8ในปีหน้า
หากแต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่งผนวกกับภาวะตึงตัวในภาคการผลิตอาจสร้างความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อและการบีบรัดทางเศรษฐกิจนำไปสู่แนวโน้มว่าธนาคารกลางทั่วโลกจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อไป ทั้งยังประเมินว่าราคาสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลังงานในปีนี้จะขยับสูงขึ้นเนื่องจากปัญหาภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและการหันมาใช้วัตถุดิบจากพืชผลิตเป็นพลังงานทางเลือก ส่วนภัยเสี่ยงจากราคาน้ำมันพุ่งสูงที่เคยเป็นปัจจัยคุกคามการเติบโตก็ยังคงมีต่อไป
ส่วนรายงานวิเคราะห์เศรษฐกิจล่าสุดด้วยเช่นกัน โดยปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียไปอยู่ที่ร้อยละ 8.1 จากเดิมที่คาดไว้ที่ ร้อยละ7 เนื่องจากการเติบโตต่อเนื่องในจีนที่ส่งผลต่อภูมิภาค รวมทั้งการขยายตัวของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออกที่อยู่ในระดับปานกลาง แต่สำหรับปีหน้าคาดว่าเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงมาเล็กน้อยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 7.9 เนื่องจากการส่งออกของภูมิภาคเติบโตเพียงปานกลางอันเป็นผลมาจากการขยายตัวของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมเข้าสู่จุดอิ่มตัว ทั้งยังคาดว่าราคาสินค้าส่งออกอาจปรับตัวลงตามด้วยเช่นกัน
เอดีบีเตือนว่าเงินทุนไหลเข้าที่มากเป็นประวัติการณ์โดยมีมูลค่าสูงถึง 269 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปีพ.ศ. 2549 ที่ผ่านมาอาจสร้างปัญหาให้กับภูมิภาค จึงควรที่ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านการเงินต้องเลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมเพื่อควบคุมผลกระทบจากเงินทุนดังกล่าวและเพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับคงที่
ที่มา: http://www.depthai.go.th