ความท้าทายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 25, 2007 14:45 —กรมส่งเสริมการส่งออก

          รายงานการสำรวจสภาวะเศรษฐกิจและสังคมของเอสแคปประจำปี 2007 ระบุว่า ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคกำลังจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตของสภาพเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2549 เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิค ขยายตัวมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ ของโลก ด้วยอัตราการเติบโต 7.9% เพิ่มจาก 7.6% ในปี 2548 
สำหรับการคาดการณ์ในปี 2550 ระบุว่าเศรษฐกิจของเอเชีย-แปซิฟิคในปีนี้ เติบโตที่ระดับ 7.4% เนื่องจากปัจจัยภายนอกภูมิภาคไม่เอื้อต่อการเติบโต โดยเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของตลาดสหรัฐฯ ดังนั้น จึงคาดการณ์ว่าในปีนี้ว่า ประเทศที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิค จะมาจากจีน อินเดีย และ ญี่ปุ่น เป็นหลัก ทั้งนี้ ปัจจัยความเสี่ยงในปี 2550 ที่อาจจะมีผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคในปีนี้ ได้แก่ วิกฤติราคาน้ำมัน ตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ซบเซาอย่างฉับพลันในสหรัฐฯ ความไม่สมดุลของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก การตีกลับของภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น สภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวมากเกินไปในจีน และการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก
สำหรับประเทศไทย เอสแคประบุว่า ปี 2549 ตัวเลขจีดีพีของไทยขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงเวลาเดียวกัน แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราถึง 5% ซึ่งมากกว่าปี 2548 (4.5%) ก็ตามส่วนปี 2550 คาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะยิ่งต่ำกว่าปีที่แล้ว โดยจะอยู่ที่ระดับ 4.7% เท่านั้น เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองยังคงตึงเครียด ไม่แน่นอน ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในระดับมหภาคจึงมีปัจจัยลบและความเสี่ยงมากกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ อย่างไรก็ตามเอสแคประบุถึงแนวโน้มเชิงบวกของไทย ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อซึ่งในระยะสองปีที่ผ่านมาคงอยู่ที่ระดับประมาณ 4.6% คาดว่าปีนี้จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 3.6 %
สิ่งที่เป็นความท้าทายมากที่สุดสำหรับประเทศไทยในปีนี้คือ การจัดการกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งคาดว่าแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นจะยังคงมีอยู่ตลอดปี 2550 ทั้งนี้ รายงานได้ระบุว่า ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกประสบภาวะการใช้จ่ายภายในประเทศลดลง (ยกเว้นจีน) นับตั้งแต่ที่ภูมิภาคนี้ประสบวิกฤติทางการเงิน แต่ไทยลดลงมากที่สุด โดยระหว่างปี 2543-2549 การใช้จ่ายภายในประเทศของไทยลดลงถึง 19 % เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤติ สาเหตุหลักมาจากภาคการลงทุน ไม่ใช่ภาคการใช้จ่ายของผู้บริโภค เนื่องจากพบว่า การลงทุนของภาคเอกชนไทยลดลงอย่างมาก และยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติการเงิน โดยลดลงเกือบ 50 % นับว่าลดมากเป็นอันดับสองภายในภูมิภาคนี้ รองจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ยังแนะนำเกี่ยวกับความท้าทายจากจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกคู่แข่งกับไทยในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มว่า จีนกำลังจะได้รับประโยชน์จากการยกเลิกระบบโควตาของสหรัฐฯและสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2551
ประเด็นวิเคราะห์
รายงานระบุว่า รัฐบาลไทยควรใช้มาตรการใด ๆ ก็ตามที่จะช่วยปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชน ทั้งนี้มี 3 ประเด็นสำคัญได้แก่
1. การสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งหมายรวมถึงด้านนโยบาย ความน่าเชื่อถือ และความชัดเจน แน่นอน
2. การตระเตรียมโครงสร้างพื้นฐานรองรับให้เพียงพอ
3. การใช้หลักธรรมาภิบาล
ที่มา: http://www.depthai.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ