ถึงเวลาประกาศวันเลือกตั้งจริงได้แล้ว
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
23 สิงหาคม 2550
แม้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะผ่านพ้นไปแล้วหลายวัน แต่ควันหลงคือการวิเคราะห์วิจารณ์ผลของการออกเสียงของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการออกเสียงไม่เห็นชอบ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสูงมากถึงเกือบ 11 ล้านเสียง น้อยกว่า เสียงเห็นชอบหรือรับร่างรัฐธรรมนูญเพียงประมาณ 4 ล้านเสียงเท่านั้นเอง และที่มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันมากที่สุด ก็คือ เสียงไม่เห็นชอบหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มากกว่า เสียงเห็นชอบหรือรับร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งภาค และในจังหวัดภาคเหนือถึง 7 จังหวัด
ย่อมจะเป็นความแน่นอนว่า การออกเสียงไม่เห็นชอบหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะเป็นไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่จากผลของการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ดูจะตรงกันก็คือว่า การออกเสียงไม่เห็นชอบหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นเพราะไม่ชอบใจหรือไม่พอใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแต่เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเช่นไม่ชอบ คมช. ไม่ชอบรัฐบาล และที่สำคัญคือ ความผูกพันที่มีต่อรัฐบาลเก่า หรือกลุ่มอำนาจเก่าอย่างที่เรียกกัน ซึ่งอาจจะด้วยเหตุที่เป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ทางการเมืองกันอยู่แล้วหรือด้วยเหตุจูงใจโดยอามิส สินจ้าง รางวัล อะไรอื่นก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ คมช. รัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กกต. ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และอาจถือเป็นกรณีศึกษา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่ช้าไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องเข้าใจว่า นี่คือการตัดสินใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องยอมรับ ส่วนการที่จะต้องติดตามดูแลเพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือศึกษาค้นคว้าเพราะเป็นกรณีศึกษา ก็จะต้องมีความระมัดระวังมิให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นผู้ร้าย หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้ามอันอาจกลายเป็นปัญหาให้มีการนำไปขยายผลทางการเมืองต่อไปอีกได้
ผมเห็นว่า เมื่อมาถึงขณะนี้ คือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับความเห็นชอบ โดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไปแล้ว แม้จะยังอยู่ระหว่างระยะเวลาที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่จะยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งก็ตามเพื่อลดความสับสน และเพื่อป้องกันการขยายผลมิให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองต่อไปอีกได้ดีที่สุดก็คือ การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน พร้อม ๆ กับการสร้างบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งเสียตั้งแต่บัดนี้
จริงอยู่ แม้ว่าขณะนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรีพลเอก สุรยุทธ และทั้งประธาน คมช. พลเอกสนธิ ต่างก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งในตอนปลายปีนี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาตอบคำถามสื่อมวลชนที่พยายามถามถึงความเป็นไปได้ และอุปสรรคข้อขัดข้องที่อาจจะทำให้ต้องล่าช้าออกไปอีก คำตอบที่ได้รับก็ดูจะยังลอย ๆ ขาดความหนักแน่น มิหนำซ้ำบางครั้งก็ยังอาจนำไปตีความเป็นอย่างอื่นได้อีก ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ ก็ได้เคยนัดหารือ ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องความพร้อมของการจัดการเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง ก็น่าจะได้ทำอีกสักครั้ง เป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ โดยขอเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งประธานสนช. ประธาน กกต. และประธาน คมช. มาหารือร่วมกัน เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันในการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนกันเสียที โดยพิจารณาถึงความพร้อมในขั้นตอนต่าง ๆ ที่เป็นไปได้อย่างครบถ้วน ทั้งขั้นตอนในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญทั้งขั้นตอนความแล้วเสร็จของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งความพร้อมของ กกต. ผู้จัดการเลือกตั้ง และบรรยากาศในประเทศที่เหมาะสม เช่นไม่ใช่วันเวลาที่ใกล้กันมากกับช่วงเวลาของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นงานใหญ่ของประเทศ เหล่านี้เป็นต้น กำหนดเสียให้ครบถ้วนทั้งวันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง วันสมัครรับเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันสมัครรับเลือกตั้งและวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งวันเวลาในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่จะได้มาจากการสรรหา แล้วดำเนินการประกาศอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กัน ดังนี้
1. ในวันเดียวกันกับวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้ประกาศวันที่จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง วันสมัครรับเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งวันเวลาในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่จะได้มาจากการสรรหา
2. ประกาศให้การจัดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นวาระแห่งชาติ พร้อม ๆ กับการจัดให้มีมติ ครม. ที่กำหนดให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐ ถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องสนับสนุนการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
3. จัดงบประมาณสนับสนุนให้ กกต. และองค์กรเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรประชาชนทุกองค์กรรวมทั้งมูลนิธิองค์กรกลางมีความพร้อมในการร่วมกันทำภารกิจ อันเป็นวาระแห่งชาติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
4. จัดดำเนินการให้มีการใช้สื่อของรัฐในการเสริมสร้างบรรยากาศของการเลือกตั้ง รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
ผมเชื่อว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนได้ดังที่กล่าวมานี้ บรรยากาศแห่งความขัดแย้ง และความสับสนทางการการเมืองจะลดน้อยลง พรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็จะรีบจดทะเบียนตั้งพรรคโดยไม่ชักช้า การเมืองก็จะเริ่มเข้าสู่ระบบการแข่งขันภายในระบบกรอบกติกาประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศหรือแม้แต่ภายในประเทศเองก็จะดีขึ้น ซึ่งก็คงจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ดีขึ้นตามมา ผมจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะได้ประกาศวันเลือกตั้งจริงกันเสียที.
******************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 23 ส.ค. 2550--จบ--
โดย บัญญัติ บรรทัดฐาน
23 สิงหาคม 2550
แม้การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะผ่านพ้นไปแล้วหลายวัน แต่ควันหลงคือการวิเคราะห์วิจารณ์ผลของการออกเสียงของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือการออกเสียงไม่เห็นชอบ หรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งสูงมากถึงเกือบ 11 ล้านเสียง น้อยกว่า เสียงเห็นชอบหรือรับร่างรัฐธรรมนูญเพียงประมาณ 4 ล้านเสียงเท่านั้นเอง และที่มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันมากที่สุด ก็คือ เสียงไม่เห็นชอบหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญที่มากกว่า เสียงเห็นชอบหรือรับร่างรัฐธรรมนูญในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกือบทั้งภาค และในจังหวัดภาคเหนือถึง 7 จังหวัด
ย่อมจะเป็นความแน่นอนว่า การออกเสียงไม่เห็นชอบหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะเป็นไปด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป แต่จากผลของการวิเคราะห์วิจารณ์ที่ดูจะตรงกันก็คือว่า การออกเสียงไม่เห็นชอบหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ไม่ใช่เป็นเพราะไม่ชอบใจหรือไม่พอใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญแต่เป็นเพราะเหตุผลทางการเมืองมากกว่าเช่นไม่ชอบ คมช. ไม่ชอบรัฐบาล และที่สำคัญคือ ความผูกพันที่มีต่อรัฐบาลเก่า หรือกลุ่มอำนาจเก่าอย่างที่เรียกกัน ซึ่งอาจจะด้วยเหตุที่เป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ทางการเมืองกันอยู่แล้วหรือด้วยเหตุจูงใจโดยอามิส สินจ้าง รางวัล อะไรอื่นก็แล้วแต่ แต่ก็เป็นเรื่องที่ คมช. รัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ กกต. ต้องติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งในฐานะที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง และอาจถือเป็นกรณีศึกษา ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในอีกไม่ช้าไม่นาน
อย่างไรก็ตาม ก็จะต้องเข้าใจว่า นี่คือการตัดสินใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ที่จะต้องยอมรับ ส่วนการที่จะต้องติดตามดูแลเพราะมีหน้าที่เกี่ยวข้อง หรือศึกษาค้นคว้าเพราะเป็นกรณีศึกษา ก็จะต้องมีความระมัดระวังมิให้ประชาชนมีความรู้สึกว่าเป็นผู้ร้าย หรือเป็นฝ่ายตรงกันข้ามอันอาจกลายเป็นปัญหาให้มีการนำไปขยายผลทางการเมืองต่อไปอีกได้
ผมเห็นว่า เมื่อมาถึงขณะนี้ คือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ได้รับความเห็นชอบ โดยเสียงข้างมากของผู้มาออกเสียงประชามติไปแล้ว แม้จะยังอยู่ระหว่างระยะเวลาที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะได้นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญ หรือแม้แต่จะยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จำเป็น เพราะเกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้งก็ตามเพื่อลดความสับสน และเพื่อป้องกันการขยายผลมิให้เกิดความขัดแย้งในบ้านเมืองต่อไปอีกได้ดีที่สุดก็คือ การประกาศกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอน พร้อม ๆ กับการสร้างบรรยากาศของการเตรียมการเลือกตั้งเสียตั้งแต่บัดนี้
จริงอยู่ แม้ว่าขณะนี้ ทั้งนายกรัฐมนตรีพลเอก สุรยุทธ และทั้งประธาน คมช. พลเอกสนธิ ต่างก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจะมีการเลือกตั้งในตอนปลายปีนี้แล้วก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาตอบคำถามสื่อมวลชนที่พยายามถามถึงความเป็นไปได้ และอุปสรรคข้อขัดข้องที่อาจจะทำให้ต้องล่าช้าออกไปอีก คำตอบที่ได้รับก็ดูจะยังลอย ๆ ขาดความหนักแน่น มิหนำซ้ำบางครั้งก็ยังอาจนำไปตีความเป็นอย่างอื่นได้อีก ซึ่งไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน
เพราะฉะนั้น โดยที่นายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ ก็ได้เคยนัดหารือ ผู้เกี่ยวข้องในเรื่องความพร้อมของการจัดการเลือกตั้งอยู่หลายครั้ง ก็น่าจะได้ทำอีกสักครั้ง เป็นครั้งสุดท้ายจริง ๆ โดยขอเชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งประธานสนช. ประธาน กกต. และประธาน คมช. มาหารือร่วมกัน เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกันในการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนกันเสียที โดยพิจารณาถึงความพร้อมในขั้นตอนต่าง ๆ ที่เป็นไปได้อย่างครบถ้วน ทั้งขั้นตอนในการประกาศใช้รัฐธรรมนูญทั้งขั้นตอนความแล้วเสร็จของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง รวมทั้งความพร้อมของ กกต. ผู้จัดการเลือกตั้ง และบรรยากาศในประเทศที่เหมาะสม เช่นไม่ใช่วันเวลาที่ใกล้กันมากกับช่วงเวลาของการจัดงานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นงานใหญ่ของประเทศ เหล่านี้เป็นต้น กำหนดเสียให้ครบถ้วนทั้งวันที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง วันสมัครรับเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันสมัครรับเลือกตั้งและวันเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งวันเวลาในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่จะได้มาจากการสรรหา แล้วดำเนินการประกาศอย่างเป็นทางการ พร้อมๆ กัน ดังนี้
1. ในวันเดียวกันกับวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญให้ประกาศวันที่จะมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง วันสมัครรับเลือกตั้ง และวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งวันเวลาในการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาที่จะได้มาจากการสรรหา
2. ประกาศให้การจัดการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรมเป็นวาระแห่งชาติ พร้อม ๆ กับการจัดให้มีมติ ครม. ที่กำหนดให้ข้าราชการและพนักงานของรัฐ ถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องสนับสนุนการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
3. จัดงบประมาณสนับสนุนให้ กกต. และองค์กรเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และองค์กรประชาชนทุกองค์กรรวมทั้งมูลนิธิองค์กรกลางมีความพร้อมในการร่วมกันทำภารกิจ อันเป็นวาระแห่งชาติดังกล่าวอย่างมีประสิทธิภาพ
4. จัดดำเนินการให้มีการใช้สื่อของรัฐในการเสริมสร้างบรรยากาศของการเลือกตั้ง รวมทั้งให้ความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม
ผมเชื่อว่า หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการให้ครบถ้วนได้ดังที่กล่าวมานี้ บรรยากาศแห่งความขัดแย้ง และความสับสนทางการการเมืองจะลดน้อยลง พรรคการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้นก็จะรีบจดทะเบียนตั้งพรรคโดยไม่ชักช้า การเมืองก็จะเริ่มเข้าสู่ระบบการแข่งขันภายในระบบกรอบกติกาประชาธิปไตย ความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศหรือแม้แต่ภายในประเทศเองก็จะดีขึ้น ซึ่งก็คงจะส่งผลให้ความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ดีขึ้นตามมา ผมจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่จะได้ประกาศวันเลือกตั้งจริงกันเสียที.
******************************************
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 23 ส.ค. 2550--จบ--