สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่2(เมษายน—มิถุนายน)พ.ศ.2550 (เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 30, 2007 13:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

                                        เศรษฐกิจโลก(1) 
ภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงสามารถขยายตัวได้ เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดจีน อินเดีย และประเทศกำลังพัฒนาในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่เป็นปัจจัยขับดันที่สำคัญ ตรงข้ามกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาซึ่งเคยเป็นตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกที่ใหญ่ที่สุดกลับประสบภาวะชะลอตัวต่อเนื่อง สาเหตุหลักจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายของประชาชน การค้าปลีก และอุตสาหกรรมการผลิต
เศรษฐกิจของกลุ่ม Euro Zone ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคการก่อสร้างยังคงขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาสแรกของปี ประกอบกับการใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและบริโภคของภาคเอกชนขยายตัวสูง ตามแรงงานตลาดที่ขยายตัว
เศรษฐกิจจีนยังคงเติบโตอย่างร้อนแรงและมีแนวโน้มขยายตัวสูง เนื่องจากรายได้จากการส่งออก การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การลงทุนจากต่างประเทศ รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคของภาคเอกชนยังคงขยายตัวอยู่ในระดับสูง GDP ไตรมาส 2 ปี 2550 ขยายตัวถึงร้อยละ 11.9 อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนมีจุดมุ่งหมายลดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่เกิดจากการเกินดุลการค้าในระดับสูง รวมทั้งชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นและภาคอสังหาริมทรัพย์
เศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย ยุโรป ลาตินอเมริกาขยายตัวดี เช่น อินเดีย รัสเซีย และบราซิล
สถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกคาดว่าราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวอยู่ในระดับสูงและผันผวนขึ้นลง ขณะที่ OPEC ยังมีนโยบายควบคุมการผลิตน้ำมันดิบอย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาราคาน้ำมันดิบให้อยู่ในระดับสูง และแหล่งผลิตในเขต Gulf of Mexico ยังคงมีความเสี่ยงต่อความเสียหายจากพายุ Hurricane ส่งผลกระทบต่ออุปสงค์และอุปทานน้ำมันในตลาดโลก อย่างไรก็ตามอุปทานน้ำมันดิบขณะนี้ยังคงมีเพียงพอต่อความต้องการใช้
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา
ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 ปี 2550 GDP ขยายตัวร้อยละ 3.4 ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2549 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.5 การใช้จ่ายของภาคเอกชนที่ชะลอลงในไตรมาส 2 ปี 2550 ร้อยละ 1.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 4.2 นอกจากนี้ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่พื้นตัว เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
***********************************************************************************************************(1)ข้อมูลบางส่วนของบางประเทศล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ปี 2550 ประมาณ 2.6 สูงกว่าไตรมาส 1 ปี 2550 ซึ่งอยู่ที่ 2.4 ดัชนีราคาผู้บริโภคของสหรัฐฯ ขยายตัวชะลอลง เดือนมิถุนายนอยู่ที่ 0.2 เดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 0.7 เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วงเดือนก่อนอีกทั้งเศรษฐกิจที่ชะลอลงในช่วงที่ผ่านมาส่งผลให้การใช้จ่ายของประชาชนชะลอลง การบริโภคภาคเอกชนชะลอลง อันเป็นผลมาจากการชะลอของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งส่งผลต่อการจับจ่าย ใช้สอยโดยรวมของประชาชน
อัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยไตรมาส 2 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เท่ากับไตรมาส 1 ส่วนดัชนีการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ 55.0 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 54.9 จุด
การส่งออกขยายตัวชะลอลงจากที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาสก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอลงส่งผลให้การลงทุนผลิตสินค้าและบริการเพื่อขายทั้งในและต่างประเทศชะลอลงด้วย
ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2550 ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 5.25 เช่นเดิม โดยธนาคารกลางยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อที่ยังไม่ชะลอตัวมากที่สุด เนื่องจากไม่อยู่ในระดับที่เหมาะสมตามที่ธนาคารกลางได้คาดการณ์ไว้ ทั้งนี้ การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปจะขึ้นอยู่กับภาพรวมของอัตราเงินเฟ้อและการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคตเป็นปัจจัยสำคัญ
เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงชะลอตัว เนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงซบเซาลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ปัญหาในเรื่องของ Subprime ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจโดยรวม และส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
เศรษฐกิจจีน
ในไตรมาส 2/2550 เศรษฐกิจประเทศจีนมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/2550 ของปีก่อนซึ่งมีการขยายตัวที่ร้อยละ 11.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.2 ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจครึ่งแรกของปี 2550 เศรษฐกิจประเทศจีนขยายตัวถึงร้อยละ 11.5 และคาดว่าเศรษฐกิจจีนในปี 2550 จะมีการขยายตัวร้อยละ 11.1 จากร้อยละ 10.9 ในปี 2549 แม้ว่ารัฐบาลจีนจะได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ รวมทั้งการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้ง เพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจแล้วก็ตาม ซึ่งการใช้มาตรการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของประเทศจีนซึ่งได้มีการดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปีนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ
ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในส่วนของดัชนีผู้บริโภคในไตรมาสที่ 2/2550 ขยายตัวร้อยละ 4.4 โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงสุดในรอบ 33 ปี เกินเพดานร้อยละ 3 ที่ธนาคารกลางประเทศจีนได้ตั้งไว้นับเป็นระดับสูงสุดในปี 2547 สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อจีนเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากราคาสินค้าขายปลีกเพิ่มขึ้น เช่น ราคาอาหารสูงขึ้นร้อยละ 3 ,ราคาเนื้อสัตว์สูงขึ้นร้อยละ 26.5 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งการขยายการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพิ่มขึ้นจึงทำให้ภาวะเงินเฟ้อภายในประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อนี้ทำให้ประเทศจีนมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมระยะเวลา 1 ปี อีกร้อยละ 0.27 อยู่ที่ร้อยละ 3.33 และร้อยละ 6.84 ตามลำดับ เพื่อสกัดภาวะเงินเฟ้อและป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจประเทศจีนมีการเจริญเติบโตที่ร้อนแรงเกินไป
ด้านการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรต่าง ๆ ของประเทศจีนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2/2550 ร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการขยายตัวร้อยละ 23.7 ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.37 โดยการลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการลงทุนจากธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 28.5 ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศก็ได้มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งขยายตัวร้อยละ 12.2 การที่การลงทุนเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของสิ่งก่อนสร้างส่วนใหญ่ที่เป็นพื้นที่อยู่อาศัยในเมืองเป็นหลัก
สำหรับยอดจำหน่ายภายในประเทศของไตรมาสที่ 2/2550 ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 15.4 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2550 ที่มีการขยายตัวร้อยละ 14.5 และสาเหตุที่ทำให้ยอดการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น เนื่องจากประชาชนมีรายได้มากขึ้นจากการที่รัฐบาลให้เงินสนับสนุนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ทำให้การเพิ่มการใช้จ่ายในประเทศที่เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศต้องพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศมากนั้นทำให้ประชาชนในท้องถิ่นมีรายได้สูงขึ้นยอดการค้าปลีกจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยนั่นเอง
การค้ากับต่างประเทศในไตรมาสที่ 2/2550 ยังมีการเติบโตอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับความร้อนแรงทางด้านเศรษฐกิจ และการเกินดุลการค้ายังส่งผลให้มูลค่าการส่งออกในไตรมาส 2/2550 มีการขยายตัวขึ้นร้อยละ 27.6 ซึ่งลดลงจากไตรมาสที่ 1/2550 ที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 27.8 โดยที่การขยายตัวลดลง 0.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2550 สาเหตุที่ทำให้การส่งออกของประเทศจีนขยายตัวลดลงเนื่องจากประเทศจีนมีมาตรการควบคุมการส่งออก อาทิเช่น การออกระเบียบควบคุมการส่งออกสินค้า 1,853 รายการ เช่น พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ เป็นต้น และบริษัทที่จะทำการส่งออกจะต้องขออนุญาตจากกรมศุลกากรประเทศจีน รวมทั้งการที่สินค้าประเทศจีนถูกมาตรการกีดกันการค้าจากประเทศคู่ค้าทำให้การส่งออกของจีนขยายตัวลดลง
ประเทศจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถทำให้รายได้ของประชาชนในประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งการที่เศรษฐกิจประเทศจีนมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องนั้นส่งผลให้เงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศจีนในช่วงครึ่งปีแรกร่วมเพิ่มขึ้นสูงถึง 1.33 ล้านล้านดอลลาร์ สรอ. โดยครึ่งปีแรกนี้เพิ่มขึ้นสูงถึง 266.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการที่เพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศนี้เนื่องมาจากจีนมีเงินตราต่างประเทศไหลเข้าเป็นจำนวนมาก และจากการที่ประเทศจีนมีการได้เปรียบดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ซึ่งในไตรมาสที่ 2 ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศของประเทศจีนเพิ่มขึ้น 130.6 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งจากไตรมาสแรกเพิ่มขึ้น 135.7 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และอีกสาเหตุที่เป็นการทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของประเทศจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางของประเทศจีนได้พยายามควบคุมค่าเงินหยวน โดยการเข้าซื้อดอลลาร์ สรอ. ส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจากการเกินดุลการค้า การไหลข้าวของเงินทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการเกร็งกำไรค่าเงินนั่นเอง
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของจีนในไตรมาสที่ 2/2550 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 143.1 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับเดิมที่ 142.0 ในไตรมาสที่ 1/2550 ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจต่อเศรษฐกิจของประเทศจีนยังคงจะเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของธุรกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งธุรกิจค้าปลีก ค้าส่งที่มีความเชื่อมั่นมากที่สุด แต่ที่มีความเชื่อมั่นลดลงนั้นก็มีบ้าง โดยเฉพาะธุรกิจสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และซอฟแวร์ที่มีความเชื่อมั่นลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา
เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น(2)
เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 3.3 ซึ่งมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการขยายตัวของการลงทุนในภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่นและการเพิ่มยอดการจำหน่ายเครื่องจักรของประเทศเป็นจำนวนมากและยอดการใช้จ่ายของไตรมาสที่ 1 ของบริษัทชั้นนำในประเทศมียอดการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ และเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าประเทศญี่ปุ่นมีอัตราเงินเฟ้อลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อได้มีการปรับตัวลดลง เนื่องมาจากราคาของพลังงานที่มีการปรับตัวลดลง และการที่ลดการใช้พลังงานอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 จึงเป็นผลสืบเนื่องให้อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 1/2550
ทางด้านการค้าระหว่างประเทศของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 ซึ่งการส่งออกที่เพิ่มขึ้นได้แก่การส่งออกเพิ่มในหมวดของยานยนต์และชิ้นส่วนของรถยนต์แต่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 ซึ่งการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมัน ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติและผลิตภัณฑ์น้ำมันราคาสูงขึ้น รวมไปถึงการที่บริษัทต่าง ๆ เริ่มนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การนำเข้าสินค้าขยายตัวเพิ่มขึ้นนั่นเอง
***********************************************************************************************************
(2) ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาสที่ 1/2550 มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 60 ในสัดส่วนของ GDP และปัจจัยที่ส่งผลต่อการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนของดอกเบี้ยระยะสั้นที่ยังคงต่ำกว่าดอกเบี้ยระยะสั้นในประเทศอื่น ๆ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่าง ๆ ที่มีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และประสิทธิภาพของต้นทุนจากการจ่ายค่าจ้างแรงงานในประเทศญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ภาคอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีการขยายตัวลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งการขยายตัวลดลงของภาคอุตสาหกรรมในประเทศญี่ปุ่นนี้เป็นการลดลงในรอบ 6 ไตรมาส และ โดยส่วนใหญ่สินค้าที่มีการผลิตลดลงคือ การผลิตชิ้นส่วนและเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการสื่อสารโทรคมนาคมที่มีการชะลอตัวลง และการชะลอตัวลงของประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศญี่ปุ่นคือประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เศรษฐกิจภายในประเทศมีการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องทำให้ยอดการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศญี่ปุ่นลดลง
อัตราการว่างงานของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 1/2550 มีอัตราการว่างงานลดลงเหลือร้อยละ 3.8 ซึ่งเป็นการลดลงของอัตราการว่างงานในรอบ 9 ปี ของประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1/2541 การลดลงของอัตราการว่างงานเนื่องมาจากเริ่มมีการขยายตัวของการบริโภคในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น และต้นทุนในการจ้างแรงงานของประเทศญี่ปุ่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2/2550 มีภาวะชะลอตัวลงถึงแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายจากธนาคารกลางของประเทศญี่ปุ่นในการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่มีหลายปัจจัยทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ อาทิเช่น สินค้าคงคลังประเภท High — Tech และแนวโน้มการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างต่อเนื่อง และยังมีแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของราคาอีกด้วย
เศรษฐกิจสหภาพยุโรป(3)
เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย GDP ในไตรมาส1 ปี 2550 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2549 GDP อยู่ที่ร้อยละ 2.4 แต่ GDP ขยายตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2549 GDP อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เนื่องจากรายจ่ายเพื่อการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวสูง แต่รายจ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลง
***********************************************************************************************************
(3) ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
ระดับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกลุ่มประเทศยุโรป ไตรมาส 1 ปี 2550 ร้อยละ 1.8 ไตรมาส 2 ปี 2550 ร้อยละ 1.9 ซึ่งอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ปี 2550 ยังคงอยู่ในเป้าหมาย ซึ่งอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) กำหนดไว้ไม่เกินร้อยละ 2 แต่ (ECB) ได้มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากเดิมร้อยละ 3.75 โดยปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 4.00 เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2550 เนื่องจาก ECB กังวลภาวะเงินเฟ้อในระยะยาวที่อาจสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และต้นทุนการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันและค่าจ้างแรงงาน
อัตราการว่างงาน ไตรมาส 1 ปี 2550 ร้อยละ 7.3 แสดงให้เห็นว่าภาวะตลาดแรงงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การจ้างงานขยายตัวดีขึ้น โดยอัตราการว่างงานในเดือนเมษายน อยู่ที่ร้อยละ 7.1 และเดือนพฤษภาคมอยู่ที่ร้อยละ 7.0 ลดลงตามลำดับ
ค่าเงินยูโรโดยเฉลี่ยแข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ โดยในไตรมาส 2 ปี 2550 ค่าเงินยูโรเฉลี่ยอยู่ที่ 46.6857 ดอลลาร์สหรัฐ:ยูโร เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินยูโรก็ตาม
เศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเซีย(4)
ฮ่องกง
ภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 1 ปี 2550 GDP ขยายตัวร้อยละ 5.6 และขยายตัวต่ำกว่าไตรมาส 4 ปี 2549 โดยในไตรมาส 4 ปี 2549 GDP ขยายตัวอยู่ที่ 7.3 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2549 ขยายตัวลดลง GDP ของไตรมาส 1 ปี 2549 ขยายตัวร้อยละ 8.1 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวชะลอลง เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 2 ของฮ่องกงรองจากจีนชะลอลง ส่งผลให้รายได้จากการส่งออกลดลง นอกจากนี้การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของภาคเอกชนยังชะลอลงเหลือเพียง 3.9 จาก 9.4 ในไตรมาสก่อน
อัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 ปี 2550 1.3 ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2550 1.7 การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 1 ปี 2550 5.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2549 5.4 ไตรมาส 1 ปี 2549 5.1
การส่งออกในไตรมาส 1 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 8.3 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปี 2549 อยู่ที่ร้อยละ 10.4 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจฮ่องกงยังคงได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวค่อนข้างดีอยู่ที่ร้อยละ 5.6 ทั้งนี้การลดภาษีรายได้บุคคล (Salaries Tex) เป็นเวลา 1 ปีงบประมาณ และลดภาษีอสังหาริมทรัพย์ (Property Rate) เป็นเวลา 2 ไตรมาส ตามแผนงบประมาณของรัฐบาลปีนี้ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศให้แข็งแกร่งขึ้นในระยะต่อไป
(4) ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้(5)
ในไตรมาสที่ 2/2550 เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้มีการขยายตัวถึงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากที่ไตรมาสที่ 1/2550 มีการขยายตัวร้อยละ 4 และเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ประเทศเกาหลีใต้มีการขยายตัวร้อยละ 1.7 การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้ เนื่องมาจากรายได้จากการส่งออกและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสที่แล้ว ประกอบกับรัฐบาลประเทศเกาหลีใต้มีการบริหารจัดการด้านการคลังอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ในประเทศเกาหลีเหนือได้มีความคลี่คลายไปในทางที่ดี
ด้านการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศเกาหลีใต้มีการลงทุนที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศมีการเกินดุลถึง 60 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งนับเป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในรอบ 6 เดือนของประเทศเกาหลีใต้ และการเกินดุลนี้ยังรวมไปถึงการเพิ่มขึ้นของปริมาณการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมของประเทศเกาหลีใต้
ภาคการค้าต่างประเทศในไตรมาสที่ 2/2550 มีการขยายตัวร้อยละ 14.6 ซึ่งการส่งออกขยายตัวเป็นอย่างดี และในเดือนกรกฎาคมมีการขยายตัวสูงถึงร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงสุดในรอบ 1 ปี นับตั้งแต่ ไตรมาสที่ 2 ปี 2549 และมูลค่าการส่งออกของประเทศเกาหลีใต้ในเดือนกรกฎาคมมีการส่งออกขยายตัวร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 30.93 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 ทำให้การส่งออกยังขยายตัวได้ดีแม้ว่าเงินวอนจะแข็งค่าขึ้น และปัจจัยที่ช่วยทำให้การส่งออกขยายตัวด้วยคือ ความต้องการบริโภคของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน และการขยายตัวของการบริโภคภายในประเทศเกาหลีใต้เองที่เพิ่มสูงขึ้น และสินค้าส่วนใหญ่ที่มีการส่งออกคือสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานพาหนะเป็นสินค้าส่งออกที่มีสัดส่วนสูงถึงประมาณร้อยละ 45 ของการส่งออกทั้งหมด
ด้านการนำเข้าในเดือนกรกฎาคม ปี 2550 ประเทศเกาหลีใต้มีการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 29.37 พันล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งสูงขึ้นจากเดือนมิถุนายนร้อยละ 9.3 ถึงแม้ว่าเงินวอนจะแข็งค่าขึ้น แต่ปริมาณการนำเข้าของประเทศเกาหลีใต้ไม่ได้เพิ่มสูงกว่าการส่งออกทำให้ประเทศเกาหลีใต้มียอดการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้น 1.56 พันล้านดอลลาร์ สรอ. โดยสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นคือการนำเข้าสินค้าทุน
ทางด้านภาคอุตสาหกรรมประเทศเกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 2/2550 มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 สาเหตุเนื่องมาจากภาคการส่งออกมีการขยายตัวร้อยละ 14.6 ทำให้ภาคการผลิตของประเทศมีการผลิตเพิ่มมากขึ้น และในเดือนกรกฎาคม ปี 2550 มีการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น คือ การผลิตภาคอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จอแอลซีดี เซมิคอนดัคเตอร์ และการผลิตรถยนต์นั่ง ที่มีการขยายตัวสูงสุด
การบริโภคภาคภายในประเทศเกาหลีใต้ ในเดือนกรกฎาคม ปี 2550 มีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การบริโภคภายในประเทศมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องมาจากการขยายตัวของการบริโภคภาคอสังหาริมทรัพย์และราคาสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ และการขยายตัวของปริมาณเงินที่เพิ่มมากขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 4.75 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในรอบ 6 ปี และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในรอบ 11 เดือน
(5)ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
เศรษฐกิจอาเซียน
สิงคโปร์
เศรษฐกิจสิงคโปร์ในไตรมาสที่ 2/2550 ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 6.4 ในไตรมาสที่ 1/2550 โดยเป็นผลจากปัจจัยในเรื่องการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่หดตัวในไตรมาสที่แล้ว รวมถึงการบริโภคที่เพิ่มขึ้น และภาคบริการด้านการเงินที่ยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ภาวะเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2/2550 อยู่ที่ร้อยละ 1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 1/2549 ที่ร้อยละ 0.5 เนื่องมาจากผลด้านลบจากราคาต้นทุนในการสือสารและการขนส่ง การรักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น แต่มีผลด้านราคาอาหารและการก่อสร้างที่ลดลงแต่ไม่มีผลมากนัก
ด้านภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 2/2550 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่ 1/2549 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เหตุที่เพิ่มขึ้นเนื่องมาจากการผลิตในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มมากกว่าไตรมาสที่แล้วซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 23 อุตสาหกรรมการต่อเรือมีอัตราหการขยายตัวสูงขึ้นโดยขยายตัวที่ร้อยละ 45 อุตสาหกรรมการต่อเครื่องบินขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 22 อันเนื่องมาจากความต้องการทางด้านคมนาคมเพิ่มสูงขึ้น ด้านอุตสาหกรรมชีวะเคมีมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่แล้วซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.1 ด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมีและอุตสาหกรรมด้านอุปกรณ์การแพทย์ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 8.4 และ 24 ตามลำดับ
ด้านการส่งออกในไตรมาส 2/2550 รวมน้ำมันมีการขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันจากปีก่อน ขยายตัวลดลงจากไตรมาสที่แล้วซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 เนื่องจากการส่งออกที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งลดลงร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่แล้วซึ่งลดลงร้อยละ 11 ทั้งนี้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในการส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์โดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องมาจากมีการส่งออกไปยังประเทศกลุ่ม EU มากขึ้น นอกจากนี้ในสินค้าผลิตภัฒฑ์แผ่นดิสบรรทึกข้อมูลขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง โดยขยายตัวที่ร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการส่งออกมากขึ้นในประเทศไทย จีน และญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกน้ำมันมีอัตราการขยายตัวที่น้อยโดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้านการนำเข้ามีการขยายตัวเพียงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบเดือนเดียวกันกับปีก่อน ลดลงจากไตรมาสที่แล้วซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2 เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ IC ลดลง
ฟิลิปปินส์(6)
เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 1/2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งขยายตัวสูงกว่าไตรมาสที่แล้วโดยขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.5 ในไตรมาสที่ 4/2549 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่สูงที่สุดในรอบ 17 ปี เนื่องมาจากมีการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการลงทุนและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นนอกจากนี้ภาครัฐได้มีการใช้จ่ายในการลงทุนมาก ซึ่งสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ภาวะผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในไตรมาส 1/2550 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบในไตรมาส 1/2550 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มสูงขึ้นโดยขยายตัวที่ร้อยละ 30.1 จากความต้องการในก๊าซธรรมชิของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่มีการขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการมีอัตราการขายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองแร่นิกเกิ้ลเพิ่มขึ้นสูงถึงร้อยละ 120.1 เนื่องมาจากความต้องการจากตลาดต่างประเทศเช่นจีน อุตสาหกรรมอาหารขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องประตกแต่ง ขยายตัวที่ร้อยละ 38.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นมากกว่าไตรมาสที่แล้วซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.8
(6)ข้อมูลบางส่วนล่าสุดยังเป็นข้อมูลในไตรมาสที่ 1 ปี 2550
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ