สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่1(มกราคม-มีนาคม)พ.ศ.2550

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday May 22, 2007 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

          ภาพรวมเศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอลงจากไตรมาสก่อน  เนื่องจากภาคบริการที่ชะลอตัวเศรษฐกิจกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากอุปสงค์ภายในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปขณะที่เศรษฐกิจเอเชียยังมีการขยายตัว  โดยเฉพาะอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งในไตรมาสที่  1 ปี 2550  GDP  ขยายตัวร้อยละ  11.1  อย่างไรก็ตามรัฐบาลจีนมีนโยบายลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ  ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ  มีแนวโน้มชะลอลง
สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2549 มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2548 โดยเป็นการชะลอตัวลงในการลงทุน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 2550 จะขยายตัวร้อยละ 4.0 — 5.0 โดยมีข้อจำกัดด้านการส่งออก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการลงทุนที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่
ภาคอุตสาหกรรมไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ตัวชี้วัดต่างๆ ส่วนใหญ่มีการขยายตัวที่ชะลอลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 เช่น อัตราการใช้กำลังการผลิต ที่จัดทำโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ซึ่งครอบคลุมอุตสาหกรรม 53 กลุ่ม ตามการจัดประเภทอุตสาหกรรมมาตรฐานสากล (ISIC) ในระดับ 4 หลัก การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งดัชนีความเชื่อมั่นธุรกิจและผู้บริโภค ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมก็ปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2549 เช่นกัน
ส่วนสถานการณ์การส่งออกในระยะ 3 เดือนแรกของปี 2550 มีมูลค่า 34,824.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.2 คิดเป็นร้อยละ 23.86 ของ เป้าหมายการส่งออก (สัดส่วนการส่งออกไตรมาสแรกเฉลี่ยของปี 2547 — 2549 เท่ากับร้อยละ 22.88)
ด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ มีมูลค่ารวม 54,716 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนร้อยละ -34.26 โดยในเดือนมกราคามีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 22,147 ล้านบาท และเดือนกุมภาพันธ์ 32,569 ล้านบาท สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 349 โครงการ ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีเงินลงทุน 176,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 65.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100 % จำนวน 123 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 58,700 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 101 โครงการ เป็นเงินลงทุน 68,900 ล้านบาท
ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา
เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตในสินค้าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยรวมของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.70 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.63 เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากของสินค้าในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าฮาร์ตดิสไดรฟ์ (HDD) และ IC ในขณะที่การผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวลดลงร้อยละ 2.78 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องรับโทรทัศน์สีขนาดเล็ก พัดลม สายไฟฟ้า และกระติกน้ำร้อน เป็นต้น
แนวโน้มของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2550 คาดว่าน่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณร้อยละ 10-12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้เกิดจากสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก ที่ประมาณการว่าจะเติบโตประมาณ 14-15% จากการขยายตัวในตลาดส่งออกของภูมิภาคอียูและเอเชีย ส่วนสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในช่วงไตรมาส 2 ปี 2550 คาดการณ์ว่าน่าจะทรงตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณร้อยละ 1-2% ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดใหญ่ และสินค้าตู้เย็น
เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี ผงซักฟอกและแชมพู : ผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายสินค้าได้ทยอยยื่นหนังสือขอปรับขึ้นราคามายังกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด ผู้ประกอบการผลิตสินค้าปุ๋ยเคมี ผงซักฟอก และแชมพูสระผม ได้ยื่นเสนอขอปรับขึ้นราคา ซึ่งในส่วนของปุ๋ยเคมีนั้น ผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งในอุตสาหกรรมการผลิตปุ๋ยเคมีจะต้องใช้สารเคมีบางชนิดที่ได้จากการกลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อนำน้ำมันมาใช้ในการผลิต ทำให้ต้นทุนแปรผันตามราคาน้ำมัน ส่วนผงซักฟอกและแชมพูมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากขบวนการผลิตผงซักฟอกค่อนข้างซับซ้อนและใช้พลังงานในการผลิตจำนวนมาก ส่วนสถานการณ์ของตลาดสีทาอาคารในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ค่อนข้างซบเซา ภาพรวมของตลาดสีปีนี้น่าจะทรงตัวเท่ากับปีก่อน ทำให้ผู้ผลิตสีทุกค่ายต้องงัดกิจกรรมการตลาด แคมเปญ และการเปิดตัวสีรุ่นใหม่ เพื่อมากระตุ้นกำลังซื้อในช่วงขาลง โดยเน้นไปที่กลุ่มลูกค้ารายย่อยหรือกลุ่มผู้บริโภค ที่เป็นผู้อยู่อาศัยในบ้านที่ต้องการจะปรับปรุงบ้าน
แนวโน้มอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ไตรมาสที่ 2 นั้น สหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมสารเคมีที่มีชื่อว่า REACH ( Registration , Evaluation, Authorisation and Restriction of Chemicals ) โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิถุนายน 2007 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยของสิ่งมีชีวิต และการรักษาสภาพสิ่งแวดล้อม เงื่อนไขหลักของการจดทะเบียนคือ เมื่อผู้ประกอบการมีการผลิต/นำเข้าสารเคมี ไปยังสหภาพยุโรป มากกว่าหรือเท่ากับ 1 ตัน/ปี และสารเคมีนั้นมีการแพร่กระจาย หรือคาดการณ์ได้ว่าสามารถแพร่กระจาย ขณะใช้งานปกติ เช่น ธูป , หมึกจากปากกา, สารในกระดาษสำหรับเช็ดทำความสะอาด เป็นต้น ดังนั้นผู้ประกอบการเคมีภัณฑ์ของไทยที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปจึงจำเป็นที่จะต้องปรับตัว เพื่อเตรียมพร้อมกับกฎระเบียบ REACH ที่จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการทั้งทางตรงและทางอ้อม
ปิโตรเคมี ไตรมาส 1 ปี 2550 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียค่อนข้างผันผวน กล่าวคือในเดือนมกราคมปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก โดยมีสาเหตุจากอุณหภูมิทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐฯ อบอุ่นกว่าปกติ ส่งผลต่อความต้องการใช้ heating oil มีไม่มาก อีกทั้งปริมาณสำรองน้ำมันดิบ gasoline และ distillate ของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ราคาน้ำมันดิบอยู่ในช่วงขาขึ้นมาโดยตลอดจนถึงปลายไตรมาส ส่งผลให้ราคาแนฟธาอยู่ในช่วงขาขึ้นตามไปด้วย สาเหตุประกอบด้วย 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ สาเหตุด้านการเมือง และ ด้านแผนการลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าภาวะเอทิลีนเอเชียจะตึงตัวมาก จากการที่หน่วยผลิตในประเทศไทยมีการปิดซ่อมบำรุงเอทิลีนแครกเกอร์ 2 หน่วย กำลังการผลิตรวม 685,000 ตัน/ปี ในช่วงกลางของไตรมาส อีกทั้งเกาหลีใต้มีการปิดซ่อมบำรุงเอทิลีนแครกเกอร์ ขนาดกำลังการผลิต 850,000 ตัน/ปี ในช่วงกลางไตรมาส ส่วนในช่วงเดือนมีนาคมราคาเอทิลีนเอเชียได้ปรับตัวลดลงอย่างมาก เนื่องจากอุปทานเอทิลีนในตลาดมีมากหลังจากที่เกาหลีใต้ขยายกำลังการผลิตเอทิลีนแครกเกอร์จาก 550,000 ตัน/ปี เป็น 850,000 ตัน/ปี และมีการคาดการณ์ว่าราคาเอทิลีนจะถูกกดดันจากอุปทานเอทิลีนในตลาดที่จะเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 2
เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนเนื่องจากขาดความเชื่อมั่นในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมือง ขณะเดียวกันผู้บริโภคชะลอการใช้จ่ายเนื่องจากยังคงมีความกังวลต่อสถานการณ์ต่างๆ ทั้งความไม่ชัดเจนทางการเมือง ความไม่สงบในภาคใต้ ภัยแล้ง รวมถึงราคาน้ำมันในประเทศที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น โดยเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง การผลิตชะลอตัวลง ร้อยละ 13.39 แต่เหล็กทรงแบน การผลิตขยายตัวขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 1.40
แนวโน้มสถานการณ์เหล็กโดยรวมในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2550 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดการณ์ว่าจะทรงตัว โดยการผลิตและการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาวคาดการณ์ว่าจะทรงตัวเนื่องจากธุรกิจภาคก่อสร้างโดยโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐยังไม่เริ่มดำเนินการในช่วงไตรมาสนี้ โครงการภาคเอกชนยังคงชะลอตัวอยู่ สำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้เหล็กทรงยาวเพิ่มมากขึ้นในงานที่เกี่ยวข้องในส่วนของโครงสร้างเหล็ก คาดการณ์ว่าจะมีการประมูลในช่วงไตรมาสที่ 3 จากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเช่นนี้ทำให้โรงงานผู้ผลิตเหล็กเส้นขนาดใหญ่ขยายตลาดส่งออกเพิ่มมากขึ้น สำหรับสถานการณ์เหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตจะขยายตัวขึ้นตามอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนี้ผู้ผลิตได้ขยายฐานการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จึงมีผลทำให้การผลิตเพิ่มมากขึ้น
ยานยนต์ ปริมาณการผลิตรถยนต์ของประเทศไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 มีจำนวน 293,635 คัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ซึ่งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ 288,273 คัน ร้อยละ 1.86 โดยเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ 5,686 คัน และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน 218,280 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.92 และ 3.89 ตามลำดับ แต่มีการผลิตรถยนต์นั่ง 69,669 คัน ลดลงร้อยละ 5.00 สำหรับปริมาณการผลิตรถยนต์ทั้งหมดแบ่ง เป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก 153,296 คัน หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 52.20 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ซึ่งจากจำนวนรถยนต์ที่ผลิตเพื่อการส่งออก 153,296 คัน คิดเป็นรถยนต์นั่งร้อยละ 23.30 และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน (รวมรถยนต์ PPV) ร้อยละ 76.70 และหากพิจารณาในไตรมาสแรกของปี 2550 เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ลดลงร้อยละ 3.54 โดยเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ รถยนต์นั่ง และรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน ลดลงร้อยละ 13.30, 6.64 และ 2.22 ตามลำดับ สำหรับรถยนต์นั่งที่มีการผลิตลดลงเป็นรถยนต์นั่งที่มีความจุของกระบอกสูบ 1,201-1,800 CC ในขณะที่การผลิตรถยนต์นั่งที่มีความจุของกระบอกสูบ 2,001 CC ขึ้นไป มีการผลิตเพิ่มมากขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2550 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอตัว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นและกำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอย การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัว ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และค่าเงินบาทแข็งค่ามากทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์ไปจำหน่ายในต่างประเทศที่ราคาเดิม แต่เมื่อมาแลกเป็นเงินบาทกลับได้เงินบาทน้อยลง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ซบเซามากนัก ได้แก่ การส่งออกที่ตลาดต่างประเทศยังสามารถขยายตัวได้ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการเพื่อเป็นการกระตุ้นยอดขาย และอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่สอง ปี 2550 คาดว่าการผลิตจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ในขณะที่การจำหน่ายในประเทศ คาดว่าได้รับผลดีจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการที่บริษัทรถยนต์จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นตลาด รวมถึงการส่งมอบรถให้แก่ลูกค้าที่สั่งจองในงาน “The 28th Bangkok International Motor Show” ด้วย
พลาสติก ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 การส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก มีมูลค่า 455.2 เหรียญสหรัฐ ฯ ซึ่งลดลงร้อยละ 2.53 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่ในส่วนของการนำเข้าในไตรมาสแรกของปี 2550 มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติก 572.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากตัวเลขนำเข้า — ส่งออก ของผลิตภัณฑ์พลาสติก พบว่าประเทศไทยขาดดุลการค้าอยู่ประมาณ 117.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 4,208 ล้านบาท ซึ่งประเทศไทยมีการขาดดุลอย่างต่อเนื่อง ( อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 35.82 บาท/$ คำนวณจากอัตราเฉลี่ยประจำเดือน ม.ค. — มี.ค. 50)
และจากการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นทำให้ต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ประกอบการต้องพยายามลดต้นทุนในการผลิตเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ นอกจากนี้การเปิดเขตเสรีทางการค้ายังส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากยิ่งขึ้นในขณะที่โครงสร้างอุตสาหกรรมพลาสติกของไทยยังอ่อนแออยู่ ดังนั้นอุตสาหกรรมพลาสติกจึงควรจะต้องมีนโยบายอย่างชัดเจนคือ จะต้องผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าและมีการส่งเสริมการส่งออกให้มากยิ่งขึ้น โดยพัฒนาการผลิตให้สามารถผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และ เป็นที่ต้องการของตลาด หรือ มุ่งเน้นที่จะหาผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของตลาดเพื่อที่จะได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่นำเงินตราเข้าประเทศต่อไปแนวโน้มการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทยในอนาคตจะขึ้นอยู่กับการปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์พลาสติกของไทย ให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มและมีการพัฒนาอย่างครบวงจร ตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำไปถึงปลายน้ำตลอดจนด้านการตลาดและการรักษาสิ่งแวดล้อม
รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่1 ปี 2550 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2549 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 27.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 8.2 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 10.3 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 35.6 ในส่วนกระเป๋า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่1 ปี 2550 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2549 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 111.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 3.0 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.5 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.0 และสำหรับรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 เทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2549 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 10.9 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 13.6 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.2
อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังของไทยในไตรมาสที่1 ปี 2550 มีการผลิตลดลง โดยอุตสาหกรรมฟอกหนังจากความเห็นภาคเอกชนต่อภาวะธุรกิจรวม ไม่ดีสูงถึงร้อยละ 50.0 และต่อเนื่องไปถึงเดือนเมษายน ภาวะรวมไม่ดีร้อยละ 28.6 จึงส่งผลต่อการลดกำลังการผลิตลง การผลิตรองเท้าเพิ่มขึ้น จากความเห็นภาคเอกชนต่อภาวะธุรกิจรวม ดีขึ้นร้อยละ 16.7 และต่อเนื่องไปถึงเดือนเมษายน ภาวะรวมดีขึ้นร้อยละ 22.2 อีกทั้งดัชนีการส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้น แนวโน้มอุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนังของไทยอาจมีแนวโน้มการผลิตที่ทรงตัว เนื่องจากการคาดการณ์ภาวะธุรกิจไม่ดีและทรงตัวมีผลรวมออกมาติดลบ อีกทั้งตลาดหลักที่นำเข้าอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศยุโรปมีภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและสถานการณ์การแข่งขันทางการค้าสูงมาก อีกทั้งค่าเงินบาทแข็งค่าส่งผลกระทบต่อการส่งออก
อาหาร ไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) มีการผลิตลดลงจาก
ไตรมาสก่อนร้อยละ 1.8 และลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2549 ร้อยละ 1.5 โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิต การบริโภค และการส่งออก เช่น ปัญหาการแข็งค่าของค่าเงินบาท ปัญหาการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันที่ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าขนส่ง ปัญหาการขาดแคลน
แรงงานและปัญหาแรงงานต่างด้าว และการขาดแคลนวัตถุดิบจากภัยธรรมชาติ รวมถึงการประกาศติดฉลากสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ของประเทศผู้นำเข้า การบังคับใช้มาตรฐานสุขอนามัยและสวัสดิภาพสัตว์ของ
สหภาพยุโรป และการพิจารณาห้ามนำเข้ากุ้งจากประเทศต่างๆ ของออสเตรเลียจากการตรวจพบเชื้อไวรัส ซึ่งจะกำหนดเป็นระเบียบปฏิบัติเพื่อตรวจสอบก่อนอนุญาตนำเข้า อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกที่ส่งผลดีต่อการผลิตเพื่อส่งออกของไทย ได้แก่ การที่สหรัฐฯ อนุมัติให้นำเข้าผลไม้สดจากประเทศไทย และข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อวัวบ้าในสหรัฐ และไข้หวัดนกในอินโดนีเซียและรัสเซีย เป็นต้น
แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอาหารไตรมาสที่ 2 ปี 2550 คาดว่าทั้งภาคการผลิตและการส่งออก
อุตสาหกรรมอาหารจะชะลอตัวลง โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋อง เช่น ปลาทูน่ากระป๋อง และอาหารทะเลแปรรูปมีแนวโน้มผลิตและส่งออกชะลอตัวลง เป็นผลจากการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ซึ่งผู้ประกอบการต้องพิจารณาปรับราคา นอกจากนี้ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้าอาหารทะเลในภาพรวม ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน การลดลงของผลผลิตกุ้งจากปริมาณฟาร์มในประเทศลดลง และการขาดแคลนปริมาณวัตถุดิบอย่างต่อเนื่องจากความสมบูรณ์ของทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลง รวมถึงราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งและการทำประมง ส่วนไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง มีแนวโน้มที่จะผลิตและส่งออกในปริมาณและมูลค่าที่ขยายตัวเล็กน้อย โดยจะทำการผลิตในลักษณะไก่แปรรูปประเภทไก่ต้มสุกและไก่พร้อมรับประทาน เช่น ไก่คาราเกะ และไก่ปรุงสำเร็จ เพื่อส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดญี่ปุ่น ในขณะที่ตลาดสหภาพยุโรปปรับมาใช้ระบบโควตาภาษีนำข้ำก่และผลิตภัณฑ์ ทำให้ขยายตลาดได้ยากขึ้น
ไม้และเครื่องเรือน ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ภาวะการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 มีปริมาณการผลิต 4.93 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.72 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้ออยู่ในช่วงขาลง สถานการณ์ทางการเมืองที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ไปได้ดี โดยเฉพาะในตลาดสหภาพยุโรปซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดหลักของไทยที่นิยมเฟอร์นิเจอร์จากวัสดุธรรมชาติ ในส่วนของตลาดหลักอื่นของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ชึ่งไทยกำลังประสบกับการแข่งขันอย่างรุนแรงของจีนและเวียดนามในตลาดเดียวกันนี้นั้น ผู้ประกอบการไทยควรเน้นนวัตกรรมการออกแบบเพื่อเจาะตลาดเฉพาะ (niche market) ในสหรัฐฯ เพื่อหนีจากตลาดล่าง และควรขยายฐานของตลาดต่างประเทศใหม่ๆ โดยเฉพาะอินเดียที่มีความต้องการเครื่องเรือนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศแถบตะวันออกกลางที่กำลังมีการเจริญเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย และออสเตรเลีย เป็นต้น
อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยยังประสบความเสี่ยงจากการที่ภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทยยังพื้นตัวไม่ดีนัก ตลอดจนค่าเงินบาทของไทยที่ยังแข็งตัว ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการส่งออกของไทย นอกจากนี้ จากแบบสำรวจของศูนย์สารสนเทศเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่าผู้ประกอบการเครื่องเรือนที่มีความเห็นว่าธุรกิจดังกล่าวอยู่ในภาวะทรงตัวมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 70 อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนมีโอกาสที่จะขยายตัวตามธุรกิจตลาดคอนโดมิเนียมภายในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตในขณะนี้
ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 มีปริมาณการผลิตยางแท่ง 187,225ตัน และมีปริมาณการผลิตยางแผ่น 72,227 ตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 0.35 และ 10.91 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 23.90 และ 15.78 ตามลำดับ เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ส่งผลกระทบให้ปริมาณยางพาราลดลงน้อยกว่าความต้องการของตลาด ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับซื้อยางพาราในราคาที่สูงขึ้น คือประมาณกิโลกรัมละ 70 — 85 บาท ส่วนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นที่สำคัญได้แก่ ยางนอกรถยนต์นั่ง จำนวน 3,593,452 เส้น ยางนอกรถจักรยานยนต์ จำนวน 5,531,172 เส้น ยางนอกรถจักรยาน จำนวน 5,031,681 เส้น ยางนอกรถแทรกเตอร์ จำนวน 43,792 เส้น และถุงมือยาง จำนวน 2,378 ล้านชิ้น ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.75, 8.35, 1.49, 9.68 และ 5.43 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงที่สำคัญ ได้แก่ ยางนอกรถกระบะ จำนวน 1,035,636 เส้น และยางนอกรถบรรทุกและรถโดยสารจำนวน 1,056,383 เส้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีการผลิตลดลงร้อยละ 7.24 และ 7.24 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากดัชนีการผลิตยางล้อโดยรวมของไตรมาสนี้จะพบว่าสูงกว่าไตรมาสก่อน แต่ต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีการผลิตผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ ลดลงเมื่อเทียบกับทั้งไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา และเป็นช่วงต้นยางผลัดใบ
ซึ่งเกษตรกรไม่สามารถกรีดยางได้ ส่งผลกระทบให้ปริมาณยางพาราลดลง เมื่อปริมาณยางพาราน้อยลง ในขณะที่ความต้องการในตลาดต่างประเทศสูงขึ้นทำให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต้องรับซื้อยางพาราในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ค่าเงินเยนอ่อนค่าสนับสนุนให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลสะท้อนกลับมาถึงราคายางในประเทศไทยด้วย รวมทั้งราคาน้ำมันดิบตลาดโลกก็ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่สภาพอากาศทั่วโลกมีอุณหภูมิลดลงส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความอบอุ่นมากขึ้น ส่งผลให้ยางสังเคราะห์และยางธรรมชาติมีราคาสูงขึ้นตาม โดยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2550 ราคายางพาราจะอยู่ที่ กิโลกรัมละ 70 — 85 บาท ทำให้ต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยางมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแนวโน้มของอุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 2 ปี 2550 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่องทั้งจากผู้ใช้ในประเทศและต่างประเทศ แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงในด้านของวัตถุดิบเนื่องจากปริมาณยางเข้าตลาดน้อย สาเหตุจากฝนตกหนัก
เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษ และกระดาษแข็ง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ดัชนีผลผลิต 129.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.9 เนื่องจากในไตรมาสก่อนมีปัจจัยสนับสนุนหลายตัวที่ส่งผลให้มีการขยายการผลิต เพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศและต่างประเทศ ช่วงเทศกาลคริสมาสต์ ปีใหม่และตรุษจีน ในการจัดทำปฏิทิน สมุดบันทึก กระดาษห่อของขวัญ การ์ด ต่าง ๆ กระดาษไหว้เจ้า และรายงานประจำปีของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สำหรับในไตรมาสนี้มีปัจจัยสนับสนุนเพียงปัจจัยเดียว คือ การจัดพิมพ์สมุด หนังสือและตำราแบบเรียน เพื่อรองรับการเปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา ประกอบกับมีปัจจัยลบในประเทศ อันเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้แนวโน้มการบริโภคชะลอตัวตาม อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้เยื่อกระดาษจากจีนยังมีปริมาณสูงต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวเศรษฐกิจ สำหรับภาวะการผลิตกระดาษลูกฟูก กระดาษแข็งลูกฟูก และการผลิตภาชนะที่ทำจากกระดาษและกระดาษแข็ง ในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ดัชนีผลผลิต 161.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และ 7.1 เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ต้องใช้บรรจุภัณฑ์กระดาษมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก เพื่อใช้ในการบรรจุ ห่อหุ้มและขนส่งสินค้า เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษและกระดาษ ในไตรมาสนี้ทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว และมีปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศเพียงปัจจัยเดียวคือ การผลิตสมุด หนังสือและตำราแบบเรียน เพื่อรองรับการเปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา สำหรับปัจจัยสนับสนุนภายนอกประเทศ คือ จีนมีปริมาณความต้องการใช้เยื่อกระดาษสูงต่อเนื่อง และการส่งออกสินค้าบางตัวของไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ทำให้มีความต้องการใช้กระดาษประเภทลูกฟูก เพื่อบรรจุ ห่อหุ้มและขนส่งสินค้า แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษ ในไตรมาสหน้าคาดว่าจะทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว การลงทุนภาคเอกชนขาดความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์การเมือง ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมีค่าแข็งขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลต่อการแข่งขันในต่างประเทศ เพราะจะทำให้ราคาสินค้าจากไทยสูงกว่าคู่แข่ง
ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมในไตรมาสแรกของปี 2550 มีปริมาณ 6,530 ตัน ขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3.3 โดยประเภทยาที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก คือ ยาครีม เนื่องจากในช่วงปลายปี 2549 ยาครีมมีปริมาณการจำหน่ายสูงมาก ทำให้ปริมาณสินค้าคงคลังลดลง ผู้ผลิตจึงทำการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นการบริหารสินค้าคงคลังให้มีปริมาณขั้นต่ำที่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตขยายตัว ร้อยละ 3.7 โดยประเภทยาที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ ยาผง เนื่องจากผู้ผลิตสามารถแก้ไขปัญหาเครื่องจักรและคุณภาพของสินค้าที่เกิดขึ้นในไตรมาสก่อน ทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและกลับมาสั่งซื้อสินค้าในช่วงต้นปี
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ