ทุกฝ่ายต้องสนองกระแสพระราชดำรัสโดยช่วยกันแก้ปัญหาความเดือดร้อนหลังคดียุบพรรค
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐
www.abhisit.org
เมื่อคืนวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พสกนิกรชาวไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหา ของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคดียุบพรรค แนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทาน นอกจากจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ยังทำให้ประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในฐานะที่ผมเป็นผู้ถูกร้องในคดี จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆในลักษณะของการคาดการณ์เกี่ยวกับคดี และมิบังอาจตีความกระแสพระราชดำรัสไปในทางใดๆทั้งสิ้น
ในฐานะพสกนิกรคนหนึ่ง สิ่งที่ผมถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องปฏิบัติต่อไป คือการร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่พระองค์ท่านรับสั่งถึงว่าจะเกิดจากการตัดสินคดี ไม่ว่าผลของการวินิจฉัยคดีจะออกมาในทางใด
อย่างน้อยที่สุด ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะต้องช่วยกันทำ คือการดูแลไม่ให้เกิดความวุ่นวายในช่วงระยะเวลา ๔-๕ วันข้างหน้า เมื่อมีคำวินิจฉัยคดีออกมา ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า จะต้องมีผู้ที่ไม่พอใจไม่มากก็น้อย ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับคำวินิจฉัย และไม่ให้กระทำการใดๆอันอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายโดยเฉพาะความรุนแรงได้
ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมขอยืนยันว่าพรรค ซึ่งหมายถึงสมาชิกพรรคทุกคน จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะเป็นไปในลักษณะกดดัน หรือ รุนแรง และในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ก็จะมีเพียงคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ปรึกษาอาวุโสของพรรค และคณะทำงานด้านกฎหมายเท่านั้น ที่จะเดินทางไปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อฟังคำวินิจฉัย
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาความเดือดร้อนในขณะนี้ จะต้องมองไปไกลกว่า ๑ สัปดาห์ข้างหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่ยังดำรงความแตกแยก ปมปัญหาอีกหลายปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมไปถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบกับปากท้องของประชาชน ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้ยังคงมีความตึงเครียด ความไม่เชื่อมั่น ที่สะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็น และ บทวิเคราะห์วิจารณ์ที่ปรากฏอยู่ทุกวัน
ผมมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า การคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ การที่สังคมเดินกลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหมายถึงการเดินไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ภายใต้กติกา คือรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย มีแนวทางแก้ไขปัญหาการเมืองในอดีตที่ชัดเจน แม้ว่าทั้งรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะได้ยืนยันว่าจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งตามกำหนด คือ ภายในปลายปีนี้ แต่สังคมก็ยังขาดความมั่นใจ เพราะเหตุการณ์ เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆที่รออยู่ เช่น คดีความต่างๆ การจัดทำประชามติ ฯลฯ ยังคงมีการถกเถียง ขัดแย้ง หวาดระแวงกันอีกมาก
แต่สังคมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากที่ต้องดำเนินภารกิจนี้ให้สำเร็จ จึงจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากสากล ได้รับความเชื่อมั่นเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่ประชาชนไม่เดือดร้อน และ ความสงบสุข ทั้งใน ๓ จังหวัดภาคใต้ และที่อื่นๆจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้
เพื่อให้เราเดินไปสู่จุดหมายนี้ได้ ผมจึงขอเสนอทางออกที่คิดว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ให้ภารกิจนี้ นั่นคือ การระดมความร่วมมือจากกลุ่มบุคคลต่างๆที่มีบทบาทสำคัญในเวทีที่เป็นกลาง มาตกลงจุดยืนร่วม โดยให้องค์กรที่เป็นกลาง เชิญกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อยมาร่วม
๑. รัฐบาล เพราะรัฐบาลจะต้องเป็นผู้บริหารบ้านเมืองไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
หลังการเลือกตั้ง และเป็นผู้ที่จะต้องมีส่วนวางรากฐานทางการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้ง เป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม รวมไปถึงการหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาการเมืองในอดีต เช่น การทุจริต คอร์รัปชั่นย้อนกลับมา หากเห็นว่าการดำเนินการในด้านต่างๆจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย ก็อาจเชิญประธานและผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาด้วย
๒. คณะมนตรีความมั่นคงชาติ (คมช.) เพราะนอกจาก คมช. มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลงาน
ด้านความมั่นคงแล้ว อำนาจของคมช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ดี อำนาจในฐานะผู้ก่อรัฐประหารก็ดี เป็นจุดที่ทำให้ประเด็นข้อถกเถียงต่างๆ เช่น การสืบทอดอำนาจ ความหวาดระแวงเกี่ยวกับการรัฐประหารซ้ำ หรือ รัฐประหารซ้อน เป็นปัจจัยที่เป็นที่มาของความไม่นิ่งของสถานการณ์
๓. ประธานและผู้แทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสวงหาจุดยืนร่วมในหลักการสำคัญของ
ความเป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นชนวน หรือ เหตุของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
๔. นักการเมืองระดับแกนนำ เพราะไม่ว่าจะมีการยุบพรรคหรือไม่ และไม่ว่า
นักการเมืองจะดีจะเลวอย่างไร บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผู้สนับสนุน และ มีความสัมพันธ์กับประชาชนทั้งสิ้น จะอย่างไรการสื่อสารกับประชาชนโดยคนกลุ่มนี้ก็จะมีต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำประชามติ และช่วงที่มีการเลือกตั้ง หลายๆคนอาจจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง
๕. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง และ
การทำประชามติแล้ว ยังคงทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดพื้นที่พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของนักการเมืองอีกด้วย
การพบปะระหว่างผู้เกี่ยวข้องนี้ ควรจะสร้างความมั่นใจให้สังคมในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. แสดงจุดยืนให้บ้านเมืองเดินไปในแนวทางที่กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หาก
เป็นไปได้ กำหนดตารางเวลาที่ชัดเจน เกี่ยวกับวันที่จัดทำประชามติ และวันเลือกตั้ง (ทั้งในกรณีที่รัฐธรรมนูญผ่านและไม่ผ่านในขั้นตอนต่างๆ) โดยทุกฝ่ายยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ ฝ่ายการเมืองต้องยืนยันว่านอกจากจะไม่สนับสนุนการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงแล้ว จะเข้าไปช่วยปรามการกระทำทั้งหลายในลักษณะดังกล่าวด้วย
๒. สร้างความมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ
ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือของรัฐบาล/คมช. เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจใดๆ และเพื่อให้ความแตกต่างทางความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เหลือไม่เป็นเงื่อนไขในการสร้างวิกฤติในอนาคต
๓. เปิดพื้นที่การเคลื่อนไหวของนักการเมืองอย่างเหมาะสม เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่
ประชาชนมีทางเลือกอย่างแท้จริง ไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร และเพื่อให้นักการเมืองทำหน้าที่ๆควรจะทำ โดยฝ่ายการเมืองต้องยอมรับข้อจำกัดบ้างในบางประการในช่วงแรกเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นได้
๔. เรียกร้องให้สังคมยอมรับกระบวนการยุติธรรม โดยให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบต่างๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ละเว้นและไม่กลั่นแกล้งใคร โดยหากจำเป็นจะเชิญผู้แทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มาร่วมด้วยก็ได้
ผมเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากพอสมควร จุดร่วมที่เสนอไม่น่าจะเป็นปัญหากับฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ยังมีความยืดหยุ่นพอที่จะยังคงจุดต่าง ในเรื่องความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ เปิดทางให้ความแตกต่างในเรื่องอื่นๆคลี่คลายโดยการประชามติและการแข่งขันในการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง (รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่อาจจะเสนอตัวเข้ามา)
และแม้จะมีบุคคล หรือ กลุ่มคนที่มีวาระในการสร้างความวุ่นวายเหลืออยู่ จะเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือ ปกป้องผลประโยชน์ตัวเองก็แล้วแต่ แต่เชื่อว่าหากมีการแสดงจุดยืนร่วมโดยกลุ่มบุคคลทั้งหมดนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และผู้ที่หวังจะสร้างความเดือดร้อนจะไม่ได้รับความสนับสนุนหรือความสำเร็จใดๆ
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 27 พ.ค. 2550--จบ--
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๐
www.abhisit.org
เมื่อคืนวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ที่ผ่านมา เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พสกนิกรชาวไทยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ได้ทรงมีกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับปัญหา ของบ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับคดียุบพรรค แนวทางที่พระองค์ท่านพระราชทาน นอกจากจะเป็นประโยชน์ที่สุดต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ยังทำให้ประชาชนทั่วไปมีความมั่นใจในกระบวนการพิจารณาวินิจฉัยที่จะเกิดขึ้นต่อไป ในฐานะที่ผมเป็นผู้ถูกร้องในคดี จึงไม่ขอแสดงความคิดเห็นใดๆในลักษณะของการคาดการณ์เกี่ยวกับคดี และมิบังอาจตีความกระแสพระราชดำรัสไปในทางใดๆทั้งสิ้น
ในฐานะพสกนิกรคนหนึ่ง สิ่งที่ผมถือเป็นหน้าที่สำคัญที่จะต้องปฏิบัติต่อไป คือการร่วมคิดร่วมแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่พระองค์ท่านรับสั่งถึงว่าจะเกิดจากการตัดสินคดี ไม่ว่าผลของการวินิจฉัยคดีจะออกมาในทางใด
อย่างน้อยที่สุด ผมเชื่อว่าสิ่งที่จะต้องช่วยกันทำ คือการดูแลไม่ให้เกิดความวุ่นวายในช่วงระยะเวลา ๔-๕ วันข้างหน้า เมื่อมีคำวินิจฉัยคดีออกมา ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า จะต้องมีผู้ที่ไม่พอใจไม่มากก็น้อย ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ผมขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับคำวินิจฉัย และไม่ให้กระทำการใดๆอันอาจจะนำไปสู่ความวุ่นวายโดยเฉพาะความรุนแรงได้
ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผมขอยืนยันว่าพรรค ซึ่งหมายถึงสมาชิกพรรคทุกคน จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ที่จะเป็นไปในลักษณะกดดัน หรือ รุนแรง และในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ก็จะมีเพียงคณะกรรมการบริหารพรรค ที่ปรึกษาอาวุโสของพรรค และคณะทำงานด้านกฎหมายเท่านั้น ที่จะเดินทางไปที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเพื่อฟังคำวินิจฉัย
อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาความเดือดร้อนในขณะนี้ จะต้องมองไปไกลกว่า ๑ สัปดาห์ข้างหน้า สภาพปัญหาของสังคมที่ยังดำรงความแตกแยก ปมปัญหาอีกหลายปัญหาทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน รวมไปถึงเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ ตลอดจนปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบกับปากท้องของประชาชน ล้วนแล้วแต่มีส่วนทำให้ยังคงมีความตึงเครียด ความไม่เชื่อมั่น ที่สะท้อนผ่านการสำรวจความคิดเห็น และ บทวิเคราะห์วิจารณ์ที่ปรากฏอยู่ทุกวัน
ผมมีความเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า การคลี่คลายปัญหาเหล่านี้ได้ดีที่สุด คือ การที่สังคมเดินกลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย อย่างรวดเร็วและราบรื่นที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งหมายถึงการเดินไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริต เที่ยงธรรม ภายใต้กติกา คือรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย มีแนวทางแก้ไขปัญหาการเมืองในอดีตที่ชัดเจน แม้ว่าทั้งรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) จะได้ยืนยันว่าจะผลักดันให้มีการเลือกตั้งตามกำหนด คือ ภายในปลายปีนี้ แต่สังคมก็ยังขาดความมั่นใจ เพราะเหตุการณ์ เงื่อนไข และกระบวนการต่างๆที่รออยู่ เช่น คดีความต่างๆ การจัดทำประชามติ ฯลฯ ยังคงมีการถกเถียง ขัดแย้ง หวาดระแวงกันอีกมาก
แต่สังคมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากที่ต้องดำเนินภารกิจนี้ให้สำเร็จ จึงจะทำให้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากสากล ได้รับความเชื่อมั่นเพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับที่ประชาชนไม่เดือดร้อน และ ความสงบสุข ทั้งใน ๓ จังหวัดภาคใต้ และที่อื่นๆจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้
เพื่อให้เราเดินไปสู่จุดหมายนี้ได้ ผมจึงขอเสนอทางออกที่คิดว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ให้ภารกิจนี้ นั่นคือ การระดมความร่วมมือจากกลุ่มบุคคลต่างๆที่มีบทบาทสำคัญในเวทีที่เป็นกลาง มาตกลงจุดยืนร่วม โดยให้องค์กรที่เป็นกลาง เชิญกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้เป็นอย่างน้อยมาร่วม
๑. รัฐบาล เพราะรัฐบาลจะต้องเป็นผู้บริหารบ้านเมืองไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
หลังการเลือกตั้ง และเป็นผู้ที่จะต้องมีส่วนวางรากฐานทางการเมือง ที่จะทำให้การเลือกตั้ง เป็นไปอย่างสุจริต เที่ยงธรรม รวมไปถึงการหาแนวทางป้องกันไม่ให้ปัญหาการเมืองในอดีต เช่น การทุจริต คอร์รัปชั่นย้อนกลับมา หากเห็นว่าการดำเนินการในด้านต่างๆจำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับงานด้านกฎหมาย ก็อาจเชิญประธานและผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาด้วย
๒. คณะมนตรีความมั่นคงชาติ (คมช.) เพราะนอกจาก คมช. มีหน้าที่ที่จะต้องดูแลงาน
ด้านความมั่นคงแล้ว อำนาจของคมช. ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ดี อำนาจในฐานะผู้ก่อรัฐประหารก็ดี เป็นจุดที่ทำให้ประเด็นข้อถกเถียงต่างๆ เช่น การสืบทอดอำนาจ ความหวาดระแวงเกี่ยวกับการรัฐประหารซ้ำ หรือ รัฐประหารซ้อน เป็นปัจจัยที่เป็นที่มาของความไม่นิ่งของสถานการณ์
๓. ประธานและผู้แทนสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อแสวงหาจุดยืนร่วมในหลักการสำคัญของ
ความเป็นประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญ เพื่อมิให้ปัญหารัฐธรรมนูญเป็นชนวน หรือ เหตุของความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังการเลือกตั้ง
๔. นักการเมืองระดับแกนนำ เพราะไม่ว่าจะมีการยุบพรรคหรือไม่ และไม่ว่า
นักการเมืองจะดีจะเลวอย่างไร บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีผู้สนับสนุน และ มีความสัมพันธ์กับประชาชนทั้งสิ้น จะอย่างไรการสื่อสารกับประชาชนโดยคนกลุ่มนี้ก็จะมีต่อไป โดยเฉพาะในช่วงที่มีการทำประชามติ และช่วงที่มีการเลือกตั้ง หลายๆคนอาจจะมีส่วนร่วมในการบริหารประเทศหลังการเลือกตั้ง
๕. คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งนอกจากจะมีหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้ง และ
การทำประชามติแล้ว ยังคงทำหน้าที่เป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งมีบทบาทในการกำหนดพื้นที่พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของนักการเมืองอีกด้วย
การพบปะระหว่างผู้เกี่ยวข้องนี้ ควรจะสร้างความมั่นใจให้สังคมในประเด็นดังต่อไปนี้
๑. แสดงจุดยืนให้บ้านเมืองเดินไปในแนวทางที่กำหนดในรัฐธรรมนูญชั่วคราว หาก
เป็นไปได้ กำหนดตารางเวลาที่ชัดเจน เกี่ยวกับวันที่จัดทำประชามติ และวันเลือกตั้ง (ทั้งในกรณีที่รัฐธรรมนูญผ่านและไม่ผ่านในขั้นตอนต่างๆ) โดยทุกฝ่ายยืนยันเจตนารมณ์ร่วมกัน ที่จะไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงนอกรัฐธรรมนูญ ฝ่ายการเมืองต้องยืนยันว่านอกจากจะไม่สนับสนุนการยั่วยุให้เกิดความรุนแรงแล้ว จะเข้าไปช่วยปรามการกระทำทั้งหลายในลักษณะดังกล่าวด้วย
๒. สร้างความมั่นใจว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ
ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือของรัฐบาล/คมช. เพื่อยืนยันว่าจะไม่มีการสืบทอดอำนาจใดๆ และเพื่อให้ความแตกต่างทางความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่เหลือไม่เป็นเงื่อนไขในการสร้างวิกฤติในอนาคต
๓. เปิดพื้นที่การเคลื่อนไหวของนักการเมืองอย่างเหมาะสม เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งที่
ประชาชนมีทางเลือกอย่างแท้จริง ไม่ว่าผลของคดีจะเป็นอย่างไร และเพื่อให้นักการเมืองทำหน้าที่ๆควรจะทำ โดยฝ่ายการเมืองต้องยอมรับข้อจำกัดบ้างในบางประการในช่วงแรกเพื่อป้องกันความวุ่นวายที่อาจเกิดขึ้นได้
๔. เรียกร้องให้สังคมยอมรับกระบวนการยุติธรรม โดยให้ทุกฝ่ายมั่นใจว่าการดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบต่างๆ เป็นไปอย่างโปร่งใส เป็นธรรม ไม่ละเว้นและไม่กลั่นแกล้งใคร โดยหากจำเป็นจะเชิญผู้แทนคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.) มาร่วมด้วยก็ได้
ผมเชื่อว่าแนวทางนี้จะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นมากพอสมควร จุดร่วมที่เสนอไม่น่าจะเป็นปัญหากับฝ่ายใดทั้งสิ้น แต่ยังมีความยืดหยุ่นพอที่จะยังคงจุดต่าง ในเรื่องความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ และเรื่องอื่นๆ เปิดทางให้ความแตกต่างในเรื่องอื่นๆคลี่คลายโดยการประชามติและการแข่งขันในการเลือกตั้งที่เป็นธรรมและเปิดกว้าง (รวมถึงผู้มีอำนาจในปัจจุบันที่อาจจะเสนอตัวเข้ามา)
และแม้จะมีบุคคล หรือ กลุ่มคนที่มีวาระในการสร้างความวุ่นวายเหลืออยู่ จะเพื่อหวังผลทางการเมือง หรือ ปกป้องผลประโยชน์ตัวเองก็แล้วแต่ แต่เชื่อว่าหากมีการแสดงจุดยืนร่วมโดยกลุ่มบุคคลทั้งหมดนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศจะไม่ยอมให้เกิดความวุ่นวายขึ้น และผู้ที่หวังจะสร้างความเดือดร้อนจะไม่ได้รับความสนับสนุนหรือความสำเร็จใดๆ
ทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ 27 พ.ค. 2550--จบ--